จิตวิทยาเชิงปริมาณ (Quantitative Psychology) เป็นสาขาหนึ่งของศาสตร์จิตวิทยาที่เน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณ (เชิงตัวเลข) เพื่อศึกษาพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตใจของมนุษย์ และเนื่องจากงานวิจัยทางจิตวิทยาในปัจจุบันมักมาจากการวิจัยเชิงปริมาณ สาขานี้จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางจิตวิทยาในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial and Organizational Psychology) หรือสาขาอื่น ๆ ที่ใช้วิธีการเชิงปริมาณ
นิยาม
“จิตวิทยาเชิงปริมาณ” เป็นการศึกษาวิธีการในการออกแบบการวิจัย การวัดคุณลักษณะของบุคคล และการวิเคราะห์ข้อมูลทางจิตวิทยา นอกจากนี้ยังรวมถึงการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อศึกษากระบวนการทางจิตวิทยา (American Psychological Association [APA], 2009)
จากนิยามข้างต้น จิตวิทยาเชิงปริมาณสามารถแบ่งได้เป็น 4 ด้านหลัก ๆ ที่สัมพันธ์กัน โดยนักจิตวิทยาเชิงปริมาณคนหนึ่งอาจมีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องในด้านดังต่อไปนี้
1. การออกแบบการวิจัย (Research Design)
การออกแบบการวิจัย คือ การกำหนดวิธีการวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบของคำถามวิจัยที่ตั้งไว้ ยกตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องการศึกษาว่าการเข้ากลุ่มที่ใช้การเจริญสติช่วยลดความเศร้าได้หรือไม่ การตอบคำถามนี้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น สุ่มคนส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มที่ใช้การเจริญสติและอีกส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มที่ไม่ใช้การเจริญสติ จากนั้นเปรียบเทียบระดับความเศร้าของคนในสองกลุ่มนี้หลังจากการเข้ากลุ่ม
ในด้านการออกแบบการวิจัย นักจิตวิทยาเชิงปริมาณมีหน้าที่พัฒนาวิธีการวิจัยให้นักจิตวิทยาสามารถตอบคำถามวิจัยได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ นักจิตวิทยาเชิงปริมาณมักร่วมมือกับนักจิตวิทยาในสาขาอื่น ๆ ในการกำหนดรูปแบบการวิจัย การสุ่มตัวอย่าง การเลือกเครื่องมือ การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล
2. การวัด (Measurement)
เมื่อนักจิตวิทยารู้ว่าจะตอบคำถามวิจัยด้วยวิธีใดแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการวัด เช่น นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การต้องการวัดบุคลิกภาพของพนักงานเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล แต่ปัญหาที่มักพบคือ จะใช้การวัดแบบใด และการวัดที่ใช้จะสามารถบอกบุคลิกภาพของพนักงานได้จริงหรือไม่
ตัวอย่างบทบาทของนักจิตวิทยาเชิงปริมาณในด้านนี้ ได้แก่ การพัฒนาทฤษฎีการวัดและวิธีการวัดที่ทำให้สามารถวัดในสิ่งที่ต้องการจะวัดได้อย่างแม่นยำ นักจิตวิทยาเชิงปริมาณยังทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาสาขาอื่น ๆ ในการสร้างมาตรวัดและตรวจสอบคุณภาพของมาตรวัด
3. การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis)
การวิเคราะห์ข้อมูล คือ การนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาทำการวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบของถามวิจัย ตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาการศึกษาต้องการทราบว่าแรงจูงใจในการเรียนของนักเรียนลดลงหรือไม่หลังจากเปิดเทอม โดยเก็บข้อมูลจากนักเรียนกลุ่มเดียวซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาต่าง ๆ วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลจากการวัดซ้ำในลักษณะนี้มีหลายวิธีซึ่งแต่ละวิธีมีความเหมาะสมในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน บางวิธีเหมาะสมกับข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก แต่มีการวัดซ้ำหลายครั้ง ในขณะที่บางวิธีเหมาะสมกับข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ แต่มีจำนวนการวัดซ้ำน้อย
งานของนักจิตวิทยาเชิงปริมาณในด้านนี้ ได้แก่ การค้นหาวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในการวิจัยทางจิตวิทยา การเปรียบเทียบวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบต่าง ๆ การปรับแก้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น และการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลขึ้นมาใหม่ เป็นต้น
4. โมเดลทางคณิตศาสตร์และสถิติ (Mathematical and Statistical Modeling)
นอกเหนือจากการพัฒนาและตรวจสอบวิธีการวิจัยรวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล นักจิตวิทยาเชิงปริมาณยังใช้ความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์และสถิติในการสร้างโมเดลเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ โดยนักจิตวิทยาเชิงปริมาณจะนำเสนอปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางจิตวิทยาในรูปของสมการทางคณิตศาสตร์ เช่น การทำงานของสมอง กระบวนการคิดและการตัดสินใจ และการสร้างเครือข่ายทางสังคม อีกสิ่งหนึ่งที่นักจิตวิทยาเชิงปริมาณทำในด้านนี้คือการนำโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่มีอยู่แล้วจากสาขาวิชาอื่นมาประยุกต์ใช้กับจิตวิทยา
สรุป
จิตวิทยาเชิงปริมาณมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อศาสตร์จิตวิทยา นักจิตวิทยาเชิงปริมาณมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและตรวจสอบการออกแบบการวิจัย การวัด การวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ ด้วยความรู้เหล่านี้ นักจิตวิทยาเชิงปริมาณจึงมีบทบาทอย่างมากต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางจิตวิทยา
รายการอ้างอิง
American Psychological Association. (2009). Task force for increasing the number of quantitative psychologists. https://www.apa.org/science/leadership/bsa/quantitative
บทความโดย
อาจารย์ ดร.ศุภณัฐ ศรีอุทัยสุข
อาจารย์ประจำแขนงจิตวิทยาเชิงปริมาณ
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย