นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาด้านอาชญากรรมและความรุนแรงทางเพศยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่บ่อยครั้ง ในการศึกษาจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับแนวคิดความเท่าเทียมทางเพศ (Feminist) ได้กล่าวถึงความเชื่อในการกล่าวโทษหรือโยนความผิดให้เหยื่อสำหรับการเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ (Sexual Violence) การข่มขืน (Rape) และการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ที่เกิดขึ้นในสังคมว่ามีผลมาจากการยอมรับมายาคติของการข่มขืน (Rape Myth Acceptance) (McMahon, 2007) โดยการโยนความผิดในเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นให้มีสาเหตุจากการแต่งกายของเหยื่อ (Payne, 1999) พฤติกรรม หรือการปฏิเสธที่ไม่ชัดเจนของผู้ถูกกระทำ (O’Byrne, 2008)
โดยในการศึกษาต่าง ๆ ได้ให้ความหมายของมายาคติของการข่มขืน (Rape Myth) เอาไว้ว่าเป็นความเชื่อ ความคิด หรือเจตคติที่ประกอบไปด้วยการกล่าวโทษเหยื่อของการข่มขืน การลดทอนความรุนแรงและผิดของผู้กระทำ ไปจนถึงการลดทอนความจริงจังของเหตุการณ์ตลอดจนผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ (Payne, 1999) เป็นความเข้าใจผิด ๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศหรือการข่มขืน อคติ และภาพเหมารวมที่เกิดขึ้นกับเหยื่อและผู้กระทำในการข่มขืน (Burt, 1980) ที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่อเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ หรืออาจหมายถึงเจตคติและความเชื่อที่แพร่กระจายอย่างไม่ถูกต้อง จนก่อให้เกิดการตัดสินเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่ผิดจากที่ควรจะเป็น (Lonsway & Fitzgerald, 1994) ซึ่งมักแสดงให้เห็นในรูปแบบชุดความคิดที่ว่า “เหยื่อพูดโกหก”, “เหยื่อเป็นคนเรียกร้องให้มีเพศสัมพันธ์”, “เหยื่อต้องการแบบนั้น” ซึ่งเป็นการโจมตีไปที่เหยื่อของการข่มขืน หรือในทางตรงข้ามคือการลดการกล่าวโทษผู้กระทำ อาทิ “ผู้กระทำไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น”, “ผู้กระทำไม่สามารถควบคุมตนเองได้เมื่อมีสิ่งเร้า” ตลอดไปจนถึงลดความรุนแรงของเหตุการณ์ อาทิ “เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย” หรือ “เหยื่อไม่ได้เจ็บปวดจากสิ่งที่เกิดขึ้น” (Bohner, 1998; Eyssel & Bohner, 2010; Lonsway & Fitzgerald, 1994)
- “ก็ไม่เห็นจะขัดขืนเลยนี่…จะเรียกว่าข่มขืนได้อย่างไร?”
- “แต่งตัวโป๊ขนาดนั้น ใครเห็นก็อดไม่ได้หรือเปล่า?”
- “จริง ๆ แล้วก็ชอบไม่ใช่เหรอ?”
- “ก็แค่ครั้งเดียว สมัยนี้แล้วก็ไม่ได้เสียหายอะไรนี่…”
แนวคิดของ Lonsway และ Fitzgerald นั้น ได้ถูกสะท้อนออกมาอย่างกว้างขวางจากคำพูด คำวิจารณ์ และการตัดสินทางสังคมของผู้คนทั่วไปที่มีต่อเหยื่อของการข่มขืน และแม้ว่าในปัจจุบันสื่อและสังคมออนไลน์ (Social Network) จะถูกใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้แขนงต่าง ๆ ข่าวสาร การวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดไปจนถึงประเด็นเรื่องพฤติกรรมทางเพศ และถูกใช้เพื่อการรณรงค์อย่างหลากหลายด้วยความมุ่งหวังในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม ยุติธรรม และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แต่ในทางกลับกัน การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นก็ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนมาก ถ้อยคำและตัวอักษรที่แสดงถึงการตัดสินจากมุมมองของผู้สังเกตการณ์ ไม่ต่างจากการกรีดซ้ำบาดแผลของเหยื่อที่ได้รับความทุกข์ทรมานในอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเหยื่อเลยแม้แต่น้อย
มายาคติที่เป็นความเชื่อและความเข้าใจที่ผิดเหล่านี้ ในความเป็นจริงแล้วอาจแก้ไขได้อย่างง่ายดายด้วยการทำความเข้าใจมุมมองของผู้ถูกกระทำให้มากขึ้น พิจารณาข้อเท็จจริง มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น และคำนึงถึงหลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนให้มากยิ่งขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้มุมมองของเรื่องราวต่าง ๆ เปลี่ยนไปได้ ตัวอย่างเช่น
มายาคติที่ 1 : ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะ เธอ / เขา ดื่มมากเกินไป
ข้อเท็จจริง : ไม่มีใครสมควรถูกข่มขืนหรือถูกทำร้าย ความมึนเมาไม่ใช่ข้ออ้างของการล่วงละเมิดทางเพศ และการดื่มสุราหรือของมึนเมาก็ไม่ใช่การเชิญชวนให้มีกิจกรรมทางเพศแต่อย่างใด
มายาคติที่ 2 : เธอ / เขา เป็นฝ่ายเรียกร้องเอง
ข้อเท็จจริง : ไม่มีใครเรียกร้องความรุนแรงหรืออาชญากรรมทางเพศ การให้ความยินยอมเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศนั้นสามารถเพิกถอนได้ทุกเมื่อหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความไม่สะดวกใจ หรือมีเหตุขัดข้องบางประการ
มายาคติที่ 3 : เธอ / เขา ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน
ข้อเท็จจริง : ในบางครั้ง ความเครียดและความตกใจที่รุนแรงอาจกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้เสมอไป การแสดงอาการนิ่งเฉยมักเกิดขึ้นเมื่อกลไกการป้องกันของสมองสั่งให้ร่างกายหยุดนิ่ง หรือที่เรียกว่าภาวะช็อค ส่งผลให้ไม่สามารถต่อสู่ขัดขืนได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ทำร้ายมีความแข็งแรงกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบหลีกหนี (Flight) โดยอัตโนมัติ
มายาคติที่ 4 : เธอ / เขา ไม่ได้ปฏิเสธ แล้วจะไม่ยินยอมได้อย่างไร?
ข้อเท็จจริง : การปฏิเสธที่ชัดเจน อาจไม่ใช่สิ่งที่เหยื่อสามารถกระทำได้ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือรู้สึกถึงภัยคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้กระทำอาจแสดงพฤติกรรมรุนแรงได้ทุกเมื่อ ก็อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัวในการเอ่ยปฏิเสธหรือขอความช่วยเหลือในขณะนั้น
มายาคติที่ 5 : หากร่างกายตอบสนอง นั่นก็ไม่ใช่การข่มขืน
ข้อเท็จจริง : ปฏิกิริยาทางกายภาพของร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกล้ามเนื้อเรียบและระบบประสาทที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นการหล่อลื่นตามธรรมชาติ การแข่งตัว หรือการถึงจุดสุดยอดก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกกระทำมีความสุขหรือยินยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นเพราะปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติตามกลไกธรรมชาติของร่างกายเพียงเท่านั้น
อาชญากรรมทางเพศคือสิ่งที่สามารถเกิดได้กับผู้คนทุกเพศและทุกวัย อาจเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์เกือบทุกรูปแบบไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะระมัดระวังตัวมากเพียงใด ในสถานการณ์ที่สร้างบาดแผลทางจิตใจอย่างโหดร้ายให้แก่เหยื่อที่ต้องเผชิญ การเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ความเห็นอกเห็นใจแค่เพียงเศษเสี้ยว ก็อาจเป็นการทำให้ผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเหล่านั้นกล้าที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือได้มากขึ้น ตลอดจนได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม
เพราะบาดแผลในจิตใจไม่เคยเป็นเรื่องเล็กสำหรับใคร การทำความเข้าใจและไม่ตัดสินจึงเป็นการรักษาความเจ็บปวดนั้นได้ไม่มากก็น้อย…ลองเพิ่มความเห็นอกเห็นใจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้คนที่มาบาดแผลกันนะคะ
Reference :
Ten Myth About Rape : https://clevelandrapecrisis.org/resources/resource-library-2/featured/rape-myths/
Lonsway, K. A., & Fitzgerald, L. F. (1994). Rape myths. In review. Psychology of women quarterly, 18(2), 133-164.
Rape Myths & Facts : https://rsvpcenter.washu.edu/get-informed/rape-myths-facts/
บทความโดย
คุณบุณยาพร อนะมาน
นักจิตวิทยาประจำศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO)