มันน่าจะทำให้เรามีความสุข

08 May 2018

รศ.สักกพัฒน์ งามเอก

 

คนทุกคนย่อมมีสิ่งที่อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นของชิ้นใหญ่ ๆ ตั้งแต่บ้านที่อยู่อาศัย หรือรถคันใหม่ หรือเป็นเพียงแค่ของชิ้นเล็ก ๆ เช่น กระเป๋าใบใหม่ หรือเสื้อผ้าตัวใหม่

เราทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่า เมื่อเราได้ครอบครองสิ่งนั้นแล้ว เราน่าจะมีความสุขมากขึ้น

 

เราน่าจะมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านหลังใหม่ เมื่อได้ขับรถคันใหม่ เมื่อได้ใช้กระเป๋าใบใหม่ หรือได้ใส่เสื้อผ้าตัวใหม่

 

ลองนึกถึงเมื่อเรากำลังจะซื้อรถคันใหม่ เราบอกกับตัวเองถึงข้อดีต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับรถคันนั้น อาจจะเปรียบเทียบกับรถคันเดิมของเรา หรืออาจจะเปรียบเทียบกับชีวิตของเราเมื่อครั้งที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถ

 

รถคันใหม่ทันสมัยกว่า ประหยัดน้ำมันมากกว่า เครื่องยนต์แรงกว่า และตัวถังสวยกว่ารถคันเก่า หรืออาจจะคิดว่า เมื่อเรามีรถ ชีวิตเราจะสะดวกสบายว่าเมื่อก่อนครั้งที่เรายังไม่มีรถส่วนตัวมากเพียงใด

 

เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว เรามักจะสรุปว่า การซื้อรถคันใหม่ย่อมทำให้เรามี “ความสุข” มากขึ้นได้แน่นอน

 

บางคนอาจจะคิดว่าในการซื้อรถคันใหม่ นอกจากจะทำให้เกิดความสุข หรืออารมณ์ทางบวกที่เกิดจากความพึงพอใจแล้ว อาจจะยังทำให้เกิดความทุกข์ได้กับปัญหาหลาย ๆ ประการที่อาจจะตามมา

 

การซื้อรถคันใหม่สักคัน อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การประกันภัย ไปจนถึงการซ่อมบำรุงประจำปี สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาซึ่งความทุกข์หรือทำให้ความสุขของเราลดลงได้

 

การได้มีประสบการณ์กับสิ่งของใหม่ ๆ ที่เราซื้อมานั้น จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ตามที่เราได้คาดเอาไว้ก่อนแล้วหรือไม่?

 

เราสามารถคาดการณ์ “ประสบการณ์” ของตัวเองได้ดีแค่ไหน แล้วถ้าประสบการณ์นั้นเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องการด้วยแล้ว เราจะสามารถบอกได้ถูกต้องแม่นยำเพียงใดว่า เราจะมีความสุขมากเพียงใดเมื่อเราได้สิ่งนั้นมาครอบครอง ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้จะมีด้วยกัน 3 แบบ คือ

 

  • แบบแรก ความสุขที่เราได้รับเมื่อ “ใช้” รถนั้น พอ ๆ กับระดับของความสุขที่เราคิดเอาไว้เมื่อตอนกำลังที่จะซื้อรถ
  • แบบที่สอง ความสุขที่เราได้รับนั้น มากกว่าที่เราคิดเอาไว้
  • และแบบสุดท้าย ความสุขที่เราได้รับนั้น น้อยกว่าที่เราคิดเอาไว้

 

ในความเป็นจริง เรามักจะคาดการณ์ระดับความสุขมากเกินความเป็นจริงเมื่อเรากำลังตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ มีคำอธิบายและทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมีอยู่สามคำอธิบายที่น่าสนใจ

 

 

1. ความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์

 

มนุษย์เรามีความสามารถในการปรับตัวที่น่าเหลือเชื่อมาก เมื่อพูดถึงความสามารถในการปรับตัว หลายคนอาจจะนึกไปถึงการที่มนุษย์ไปอาศัยอยู่ ในที่ที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวจัด หรือร้อนจัด หรืออาจจะนึกไปถึงการที่ต้องปรับตัวในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น คนเราสามารถปรับตัวในเรื่องความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความสุข ความทุกข์ ได้เช่นเดียวกัน หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งคือ เรา “เคยชิน” ได้เร็วนั้นเอง

เราอาจจะนึกไปถึงคนรู้จักที่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ตึงเครียด หรือน่าหดหู่ แต่ถ้าลองสังเกตดู พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รู้สึกเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา หรืออย่างน้อย ระดับความทุกข์ของเขานั้นก็ไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อพิจารณาตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ความสุขก็เช่นเดียวกัน เมื่ออยู่ในสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คนเรามีความสุขมาก ๆ เราก็ไม่ได้มีความสุขตลอดเวลา ความสุขของเรานั้นก็อาจจะไม่ได้มากเท่าที่ควรจะเป็น

 

นักจิตวิทยาตั้งสมมติฐานว่า คนเรามี “จุดสมดุลของความสุข” ซึ่งจุดสมดุลนี้เปรียบเสมือนระดับความสุขพื้นฐานของบุคคล

 

ถ้าเรามีระดับความสุขมากหรือน้อยกว่าระดับความสุขพื้นฐานนี้ เราก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวให้ระดับความสุขของเราใกล้เคียงกับระดับพื้นฐานมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมคล้ายเดิมก็ตาม

 

การปรับตัวเข้าสู่ระดับสมดุลนี้เองเป็นคำอธิบายประการหนึ่งสำหรับคำตอบที่ว่า คนเรามักจะคาดการณ์ “ระดับความสุข” ของตัวเองมากเกินกว่าระดับที่พวกเขาจะมีเมื่อได้รับประสบการณ์จริง

 

ในการซื้อรถคันใหม่ เมื่อเราเริ่มใช้รถไปสักพัก แน่นอนว่าระดับความสุขของเรา จากที่เคยมีมากและห่างจากจุดสมดุลของความสุข มันก็จะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ เข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น กลายเป็นว่าระดับความสุขหลังจากนั้นน้อยกว่าระดับความสุขที่เรา “คาด” ว่าจะมีก่อนซื้อรถ

 

อาจจะมีการเข้าใจกันผิดไปว่า “ความสุข” ของคนเรานั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนยาวนานได้ เพราะเรามีจุดสมดุลของความสุขที่คงที่ จุดสมดุลของความสุขนี้เปลี่ยนแปลงได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน จะค่อยเป็นค่อยไปเสียมากกว่า และจะเกิดจากการที่บุคคลมีความคิด มุมมอง และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป มากกว่าที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมโดยตรง

การปรับระดับของความสุขเข้าสู่จุดสมดุลนี้ทำให้นักจิตวิทยาบางคนมองว่า กระบวนการนี้ นอกจากจะทำให้เราประเมินความสุขในอนาคตผิดไปแล้ว ยังทำให้เราพยายามออกแรงหาสิ่งต่างๆ มาทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลที่ได้นั้นมักจะไม่คงทนยาวนาน

 

 

2. การให้ความสนใจของบุคคล

 

ในชีวิตแต่ละวันของเรา มีสิ่งมากมายที่เราจะต้องให้ความสนใจ ตั้งแต่ตื่นนอนในตอนเช้า ไปจนถึงเข้านอนในตอนกลางคืน ทั้งเรื่องการทำงาน การเรียน การเงิน สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

เนื่องจากความสนใจเป็นทรัพยากรที่เรามีจำกัด เราจึงจำเป็นต้องจัดสรรการให้ความสนใจไปยังสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม

 

คำถามคือ แล้วการแบ่งความสนใจนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า เราจะสามารถคาดการณ์ระดับความสุขได้แม่นยำเพียงใดเกี่ยวกับการบริโภคสิ่งต่าง ๆ

 

ตอนที่เรากำลังตัดสินใจเลือกซื้อของ เรามุ่งความสนใจส่วนใหญ่ไปกับการเปรียบเทียบตัวเลือกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของที่เรากำลังจะซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบรถคันใหม่กับรถคันเก่า หรือจะเป็นการเปรียบเทียบรถยี่ห้อต่าง ๆ หรือรถรุ่นต่าง ๆ กัน เราจะต้องมุ่งความสนใจไปที่เรื่องราคา เครื่องยนต์ รูปลักษณ์ของตัวถัง การบริการหลังการขาย และอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าในความสนใจของเราในขณะนั้น จะมีแต่ “ชีวิต” ของเราในขณะที่ใช้รถคันใหม่ เราจะให้ความสนใจแต่ว่า การใช้รถคันใหม่ของเรานั้นจะทำให้เรามีความสุขมากกว่าการใช้รถคันเก่าเพียงใด หรือจะทำให้เรามีความสุขมากกว่าชีวิตตอนที่เราไม่มีรถใช้เพียงใด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ความสนใจจากประสบการณ์การใช้รถคันใหม่ของเราจริง ๆ แล้วจะค่อนข้างแตกต่างกันอยู่มากทีเดียว

 

ลองนึกถึงเวลาที่เรากำลังจะเลือกซื้อรถคันใหม่ ช่วงนั้นในหัวของเราจะมีแต่เรื่องรถ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบตัวเลือกต่าง ๆ หรือจะเป็นการนึกไปถึงประสบการณ์ที่มีความสุขของเราขณะขับรถคันใหม่

 

จากการให้ความสนใจอย่างมากนี่เอง ที่อาจจะทำให้เราคิดไปเองว่า เราน่าจะมีความสุขมากจากการใช้รถคันนี้ จนลืมคิดไปว่าในชีวิตจริงของเรานั้น ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายที่เราจะต้องให้ความสนใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการงาน การเรียน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจของเรานี้อาจจะทำให้เราไม่สามารถเปรียบเทียบระดับความสุขเมื่อคิดถึงแต่การซื้อรถและได้ขับรถคันใหม่เพียงอย่างเดียว กับระดับความสุขเมื่อมีเรื่องอื่น ๆ เข้ามาดึงความสนใจของเราออกจากประสบการณ์การใช้รถคันใหม่ได้อย่างถูกต้องแม่นยำนักนี่ยังไม่รวมไปถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาจากการซื้อรถ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่ติดขัด อุบัติเหตุ การขโมย หรือแม้แต่การบริการหลังการขาย สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่ได้คิดคำนึงตั้งแต่ตอนที่เรากำลังตัดสินใจซื้อรถ อาจจะทำให้ประสบการณ์ที่เราได้รับนั้นมีความสุขน้อยลงไปกว่าที่เราได้คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้

 

ซึ่งความสำคัญของเรื่องเหล่านี้คือ การคาดการณ์ที่เกินกว่าระดับที่เป็นจริงอาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดได้ การตัดสินใจผิดในที่นี้หมายถึงการใช้เงินลงทุนในการหาความสุขให้กับตัวเองผิดไป

 

เราอาจจะคิดว่ารถที่มีขนาดหรือเครื่องยนต์แตกต่างกันจะนำความสุขมาให้เราแตกต่างกัน ซึ่งการคิดเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่าเราให้ความสนใจกับประสบการณ์ใช้รถเพียงอย่างเดียว จนลืมไปว่าในชีวิตจริงแล้ว ความสุขที่เราจะได้รับนั้นอาจจะไม่แตกต่างกันมากนักเพราะเรามักจะมีเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตอีกมากมายมาดึงความสนใจของเราไป เป็นผลให้เราอาจจะเลือกใช้เงินอย่างไม่เหมาะสมในการซื้อสินค้าที่อาจมีราคาสูงเกินไป

 

 

3. ความแตกต่างระหว่างการคาดการณ์และการได้รับประสบการณ์

 

พูดง่าย ๆ คือว่า เวลาเราตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเราคาดการณ์ผลของมันจากการเปรียบเทียบตัวเลือกต่าง ๆ แต่การมีประสบการณ์ในการใช้สินค้านั้นมักจะเกิดขึ้นเดี่ยว ๆ และมักจะไม่มีการเปรียบเทียบเกิดขึ้น

 

ความแตกต่างระหว่างการคาดการณ์ที่มีการเปรียบเทียบ และประสบการณ์ที่ไม่มีการเปรียบเทียบอาจจะทำให้เราไม่ได้มีความสุขมากเท่ากับที่คิดไว้ หรือถ้าแย่ไปกว่านั้น คืออาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดได้

 

สมมติว่าเรากำลังจะซื้อบ้าน และตัดสินใจเลือกระหว่างบ้านสองหลัง บ้านทั้งสองหลังนี้มีทุกอย่างเหมือนกันยกเว้นอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือบ้านหลังแรกมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าบ้านหลังที่สอง อย่างที่สองคือบ้านหลังแรกตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อาจจะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ง่าย เช่น อาจจะตั้งอยู่ใกล้กับพืชพรรณบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ส่วนที่ตั้งของบ้านหลังที่สองไม่มีปัญหาดังกล่าว ในการเลือกซื้อเรามักจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างบ้านทั้งสองหลัง แต่ในการอยู่อาศัยเราจะไม่มีการเปรียบเทียบที่เห็นได้ชัด ถ้าเราลองถ่วงน้ำหนักดูและเปรียบเทียบว่าบ้านหลังไหนจะทำให้เรามีความสุขมากกว่ากัน แล้วพบว่าเราให้ความสำคัญกับขนาดพื้นที่ใช้สอยมากกว่าเรื่องที่ตั้งที่อาจจะทำให้เราเกิดอาการภูมิแพ้ เราอาจจะตัดสินใจเลือกบ้านหลังแรก แต่ประสบการณ์เมื่อเราอยู่อาศัยนั้นเรามักจะพบว่า ความแตกต่างระหว่างขนาดพื้นที่ใช้สอยที่แตกต่างกันไม่ได้ทำให้เรามีระดับความสุขที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในการอยู่อาศัยจริง เราไม่มีการเปรียบเทียบกับตัวเลือกที่เราไม่ได้เลือก ความแตกต่างเรื่องความสุขจึงไม่เด่นชัดนัก ในทางกลับกันพื้นที่ตั้งที่อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้นั้น น่าจะมีผลกระทบต่อระดับความสุขจากการอยู่อาศัยของเรามากกว่า และสิ่งนี้มีข้อดีและข้อเสียอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะมีการเปรียบเทียบเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม เพราะว่าเราต้องอยู่ในบ้านหลังนั้นพร้อมกับอาการภูมิแพ้ ที่อาจเกิดขึ้นเป็นบางครั้ง อาการภูมิแพ้ที่เราเป็นนั้น เป็นข้อเสียที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบใด ๆ

 

จากทั้งหมดนี้ สิ่งที่อยากจะให้ทุกคนทราบเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อสิ่งต่าง ๆ คือ เวลาจะตัดสินใจซื้อให้นึกถึง “ประสบการณ์” ของเราในการใช้ของสิ่งนั้นในระยะยาว โดยไม่มีการเปรียบเทียบ และให้นึกว่าความสุขที่เกิดขึ้นจริง มักจะน้อยกว่าที่เราคิดไว้เสมอ

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้