การสื่อสารเพื่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดี

08 May 2019

ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

 

เราทุกคนคงไม่สามารถอยู่คนเดียวได้

 

เราต้องพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกัน เราต้องการความรัก ความอบอุ่นและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดี

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น บางครั้งเรามักเกิดความขัดแย้งหรือความก้าวร้าวต่อกันและกัน

 

 

เราลองมาดู “สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการของความขัดแย้งหรือความก้าวร้าว” ที่เกิดขึ้นกันค่ะ

 

ประการแรก บุคลิกภาพทั้งของตัวเราเองและผู้อื่น

 

บางครั้งเราอาจไม่ได้มองตัวเราเอง หรือเรามองเห็นตัวเราไม่ชัดเจน แต่เรามักจะมองเห็นผู้อื่นอย่างชัดเจน เรามักมีเหตุผลให้กับการกระทำของตนเองเสมอ เราทุกคนมักมีอีโก้ (ego) ไม่มากก็น้อย บางคนมีอีโก้มากเข้าขั้นบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง (narcissistic) กล่าวคือ ชอบคำชื่นชมอย่างมาก ไม่ชอบคำวิพากษ์วิจารณ์ มักแสดงความก้าวร้าวอย่างรุนแรงเมื่อไม่ได้อย่างใจ แต่ตนเองสามารถวิจารณ์คนอื่นได้ ไม่ให้เกียรติผู้อื่น และอาจถึงขั้นใช้ประโยชน์ผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ตนเอง

 

บุคคลประเภทนี้คงไม่มีใครอยากอยู่ใกล้มากนัก นอกจากคนที่ได้รับผลประโยชน์จากคนแบบนี้ บุคลิกภาพแบบนี้มักก่อให้เกิดความขัดแย้งและความก้าวร้าวรุนแรงได้

 

นอกจากนี้ บางคนก็อาจต้องการอำนาจและการควบคุมมากกว่าความรัก ความผูกพัน ทำให้คนที่อยู่ใกล้รู้สึกอึดอัดได้ เพราะเราทุกคนคงต้องการการให้เกียรติกันและกัน

 

ประการที่สอง การมีความนับถือตนเองต่ำ (low self-esteem)

 

ผู้เชี่ยวชาญบางท่านระบุว่า ผู้ที่นับถือตนเองต่ำจะต้องการความรักและการยอมรับจากผู้อื่น แต่ไม่สามารถให้ผู้อื่นได้เพราะตนเองยังรู้สึกไม่ปลอดภัย ในบางครั้งคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นจึงมีผลต่อบุคคลประเภทนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงควรสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง การเลี้ยงดูลูกหลานของเราสามารถมีผลเป็นอย่างมากที่จะทำให้ลูกหลานของเราสามารถรักตนเองและแบ่งปันความรักความอบอุ่นให้กับคนรอบข้าง

 

ประการที่สาม การติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน

บางครั้งเราจะได้ยินคำพูดที่ว่า “พูดไม่เข้าหู” นั่นหมายถึง คำพูดมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดสัมพันธภาพและความเข้าใจที่ดีระหว่างกัน นอกจากคำพูดแล้ว ท่าทางของเราก็มีผลต่อผู้อื่นไม่แพ้กัน

 

 

ในที่นี้ เรามาพิจารณา “แนวทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ” กันค่ะ

 

แนวทางการสื่อสารเพื่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดี 3 ประการ

 

ประการแรก ตั้งใจฟังคู่สนทนาของเรา

ฟังอย่างมีทักษะ เพื่อเข้าใจว่าผู้พูดต้องการบอกอะไรเรา นอกเหนือจากคำพูดที่ผู้พูดกล่าวออกมา

วิธีนี้จะทำให้เราเข้าใจความต้องการ ความรู้สึกของผู้พูดอย่างแท้จริง ถ้าไม่เข้าใจก็ให้ถามผู้พูดซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราสนใจฟังที่เขาพูด จากนั้นเราจึงสามารถตอบสนองความต้องการของผู้พูดได้อย่างเข้าใจซึ่งจะทำให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น

 

ประการที่สอง การร่วมรู้สึก (empathy)

เมื่อเราเข้าใจผู้ร่วมสนทนาอย่างแท้จริง เราจะสามารถแสดงความเข้าใจ ร่วมรู้สึก เห็นอกเห็นใจคู่สนทนาได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้คู่สนทนาเปิดใจรับเรามากขึ้น สัมพันธภาพระหว่างกันก็จะงอกงามมากขึ้น

นอกจากนี้ บางครั้งเราก็ต้องแสดงความรู้สึกของเราโดยใช้คำพูดที่เหมาะสม เช่น “ฉันรู้สึกไม่ค่อยดีเลยที่คุณมาสาย” ดีกว่าที่จะพูดตำหนิคนอื่นว่า “คุณแย่มากที่มาสาย” การที่เราเข้าใจความรู้สึกของเขา ไม่ตำหนิเขา เขาก็จะเปิดใจยอมรับเรามากขึ้น

 

ประการที่สาม แสดงความห่วงหาอาทร

เข้าใจเขา มีเจตคติหรือทัศนคติที่ดี มีน้ำเสียงที่อ่อนโยน แสดงความเข้าใจ บางครั้งเราก็ว่าเราพูดจาดีแล้ว แต่เจตคติหรือทัศนคติของเราอาจไม่สอดคล้องกับคำพูด ทำให้น้ำเสียงหรือท่าทีของเราที่มีต่อผู้อื่นอาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดได้

 

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสาเหตุบางประการของความขัดแย้งและแนวทางการพูดหรือการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น หากท่านผู้อ่านมีแนวทางในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีอื่นๆ ก็สามารถแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันนะคะ

 

รายการอ้างอิง

 

Burns, D. (2008). Feeling Good Together: The Secret of Making Troubled Relationships Work. New York: Crown Publishing Group

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้