Reverse culture shock

18 Jan 2017

อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

“ฉันนึกภาพไม่ออกเลยว่าฉันจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อย่างมีความสุขได้อย่างไร ฉันรู้สึกว่าฉันไม่เหมาะกับวิถีการใช้ชีวิตที่ประเทศนี้ ฉันไม่เหมาะกับที่นี่ ฉันเคยมีความสุขมากกว่านี้ รู้สึกดีต่อตัวเอง และรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายมากกว่านี้เมื่อครั้งที่ฉันอยู่ต่างประเทศ

 

ฉันรู้สึกหงุดหงิด สิ้นหวัง เศร้า โหยหาความรู้สึกสุข สนุกสนานที่เคยมี กลัวว่าจะไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นอีก ตอนนี้ฉันไม่รู้จะคุยกับใคร คงไม่มีใครที่จะเข้าใจและช่วยฉันได้ ฉันกลัวว่าหากฉันเล่าให้ใครฟัง เขาจะรำคาญหรือตัดสินไปว่าฉันอวดตัว หัวสูง เป็นเด็กนอก มากกว่าที่จะพยายามเข้าใจว่าฉันรู้สึกอย่างไร

 

แม้ว่าฉันจะรับรู้ว่าฉันยังโชคดีที่มีครอบครัว มีเพื่อน มีสังคมเดิมที่ต้อนรับฉันกลับมา แต่ความรู้สึกเชื่อมโยง ผูกพันที่ฉันเคยมีต่อคนเหล่านี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว อาจเปรียบเหมือนกับภาพต่อจิ๊กซอ ที่ชิ้นส่วนของฉันไม่สามารถที่จะต่อลงไปในช่องว่างแล้วเชื่อมกับจิ๊กซออื่นๆ ได้สนิทเหมือนเดิม ชิ้นส่วนจิ๊กซอของฉันได้เปลี่ยนรูปร่างไปแล้ว ฉันเปลี่ยนไปแล้ว”

 

ข้อความนี้เป็นข้อความที่อธิบายความคิด ความรู้สึกหนึ่งในหลาย ๆ ความรู้สึกของบุคคลที่อยู่ในภาวะ “Reverse culture shock” คุณผู้อ่านบางท่านอาจมีความรู้สึกร่วมไปกับข้อความนี้เช่นกัน หรืออาจจะคิดและรู้สึกต่างออกไป จึงอยากขอให้คุณผู้อ่านได้บอกเล่าประสบการณ์ ความรู้สึกของตนเองลงในความคิดเห็นได้เลยนะคะ บทความนี้จะเล่าถึงภาวะ Reverse culture shock และแนวทางที่จะช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในภาวะนี้อย่างคร่าว ๆ ค่ะ

 

ก่อนที่จะเล่าถึงภาวะ Reverse culture shock เราคงต้องมาคุยกันถึงภาวะ Culture shock กันก่อนค่ะ ภาวะ Culture shock อาจเป็นภาวะที่พวกเราคุ้นหูกันมากกว่า Reverse culture shock จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากปัญหาของภาวะ Reverse culture shock จะไม่ถูกพูดถึงหรือไม่ได้รับความสำคัญมากนัก

 

ภาวะ Culture shock คือ ภาวะที่บุคคลไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมใหม่แล้วรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก ในขณะที่ Reverse culture shock คือ ภาวะที่บุคคลกลับมาสู่สภาพแวดล้อมเดิมที่เคยอยู่ แต่ตนเองกลับรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก (Stowe, 2003)

 

เราอาจจะคุ้นกับคำว่า คิดถึงบ้าน หรือ Homesickness ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนซึ่งมีวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นเคยและยังไม่รู้สึกผูกพัน เราอาจจะเกิดภาวะ Culture shock ว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านของเรา ทำให้รู้สึกคิดถึงบ้าน อยากกลับบ้าน อยากกลับไปอยู่ในที่ที่เราคุ้นเคยกับคนที่เรารู้สึกผูกพันด้วย ในทำนองเดียวกัน บุคคลที่อยู่ในภาวะ Reverse culture shock ก็มีความรู้สึกคิดถึงบ้าน มีอาการ Homesickness แต่ “บ้าน” ที่เขาคิดถึงกลับไม่ใช่บ้านที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ แต่ “บ้าน” ของเขากลับเป็นประเทศที่สองที่เขาได้ลองเข้าใช้ชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ภาวะ Reverse culture shock คือ ภาวะ Culture shock ที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้นย้ายกลับเข้าสู่ถิ่นฐานวัฒนธรรมเดิมของตนเอง อย่างไรก็ตามการกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าภาวะทั้งสองมีอาการและความรุนแรงของอาการเหมือนกันทุกอย่าง

 

Welsh (2015) ศึกษาอาการของบุคคลที่อยู่ในภาวะ Reverse culture shock ในสหรัฐอเมริกาที่เคยไปใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาในประเทศอื่น พบว่า บางคนรู้สึกว่าตนเองไม่รู้สึกผูกพันหรือเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของความเป็นคนอเมริกันหลังจากกลับมาจากการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งความรู้สึกนี้มีมากในกลุ่มบุคคลที่เพิ่งกลับมาจากการศึกษาต่อเทียบกับกลุ่มที่กลับมาแล้วเกิน 5 ปี อีกประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษานี้คือ ด้านความสัมพันธ์ จำนวนมากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดรู้สึกว่า มีแค่คนที่เคยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเท่านั้นจึงจะเข้าใจความรู้สึกของตนเอง

 

กลุ่มตัวอย่างบางคนอธิบายว่า คนรอบข้างของเขาแสดงความเข้าใจและเห็นใจในอาการ Reverse culture shock ของตนในช่วงแรก แต่ต่อมาก็เหลือแต่เขาคนเดียวที่ยังคงวนเวียนและเผชิญอยู่ในภาวะนี้ “…and they move on, but you don’t” (Welsh, 2015:56) การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยวของผู้ที่อยู่ในภาวะดังกล่าว

 

Young (2014) เสริมว่า ภาวะ Reverse culture shock อาจรุนแรงกว่าภาวะ Culture shock เนื่องจากบุคคลที่เดินทางไปต่างประเทศอาจจะเตรียมใจกับความแตกต่างที่ตนเองกำลังจะเผชิญ ในขณะที่บุคคลที่กลับมาจากต่างประเทศอาจไม่ได้คาดการณ์ว่าตนเองจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบ้านเมืองเดิมของตนได้ ซึ่งหากเราพิจารณาข้อสังเกตนี้จะพบว่า ในกลุ่มนักเรียนไทยที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศจะได้เข้าโปรแกรมที่ช่วยเหลือให้นักเรียนไทยได้รู้จักกันและสามารถปรับตัวเมื่อไปอยู่ต่างประเทศได้ แต่กลับไม่มีโปรแกรมที่คอยช่วยเหลือนักเรียนไทยที่เรียนจบจากต่างประเทศแล้วกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย

 

เมื่อพูดถึงแนวทางการช่วยเหลือและวิธีการดูแลตนเองของบุคคลที่อยู่ในภาวะ Reverse culture shock สิ่งสำคัญที่สุดคือ บุคคลนั้นสามารถบอกเล่าและสะท้อนประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึกที่เกิดจากภาวะดังกล่าวได้ ดังนั้นบุคคลรอบข้างจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยรับฟังบุคคลนั้นอย่างเข้าใจ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากโดยเฉพาะพ่อแม่หรือบุคคลสำคัญที่มาคอยรับฟังคือ อย่าคิดว่าบุคคลที่อยู่ในภาวะนั้นไม่รักเรา หรือว่าเราไม่สำคัญเขาจึงไม่อยากอยู่ที่นี่ “อยู่กับเรา” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่เขาพูดว่าเขาไม่อยากอยู่ที่นี่ อยากกลับไปสู่ที่ที่จากมา ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รักเรา หรือไม่ได้แปลว่าเราไม่สำคัญพอที่จะทำให้เขาอยากอยู่ที่นี่ได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญมากนะคะที่คนรอบข้างต้องแยกแยะให้ได้ เพราะหากไม่สามารถทำได้ บุคคลนั้นอาจรู้สึกผิดและไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึกของเขาแก่เราได้อีก เพราะไม่อยากทำให้เราเสียใจ

 

นอกจากนี้ Young (2014) ได้ให้แนวทางในการดูแลตนเองของบุคคลที่อยู่ในภาวะ Reverse culture shock เช่น อย่าละทิ้งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ในต่างประเทศ แต่ให้พยายามมองสภาพแวดล้อมที่ตนกลับเข้ามาอยู่เป็นเรื่องท้าทายใหม่ที่น่าสนใจ มากกว่าที่จะมองว่าเป็นปัญหา ให้เวลากับตนเองในการปรับตัว และหาคนที่เข้าใจหรือมีประสบการณ์ร่วมกันเพื่อพูดคุยปรับมุมมอง

 

ท้ายที่สุดนี้จะขอฝากให้ทุกคนลองสังเกตตนเองและคนรอบข้างที่เพิ่งกลับมาหลังจากไปใช้ชีวิตศึกษาหรือทำงานในต่างประเทศว่ามีอาการของภาวะ Reverse culture shock หรือไม่ หากมีอาการ อย่าคิดว่าตนเองผิดปกติหรือบ้านะคะ เพราะภาวะนี้เป็นภาวะธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ สิ่งที่พึงกระทำคือ ลองสังเกตตนเอง พูดคุยกับคนรอบข้าง หรือนักจิตวิทยาที่จะสามารถช่วยรับฟัง และสะท้อนประสบการณ์ความคิด ความรู้สึกของเราได้ค่ะ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Stowe, G. P. (2003). The impact of meaningful roles and role partners on the experiences of culture shock and reverse culture shock (Doctoral dissertation, Fielding Graduate Institute).  https://www.proquest.com/openview/beb15ce80fcc344358554f319c9990c3/1?pq-origsite=gscholar&cbl=18750&diss=y

 

Welsh, A. E. (2015). Long term effects of reverse culture shock in study abroad (Doctoral dissertation, University of the Pacific). https://www.proquest.com/openview/856a4ff0c5c719b45e6ab47d32c0c9fd/1?pq-origsite=gscholar&cbl=18750

 

Young, G. E. (2014). Reentry: Supporting students in the final stage of study abroad. New Directions for Student Services, 2014: 59–67. https://doi.org/10.1002/ss.20091

 

ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/26781577@N07/15539992071

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้