การตั้งเป้าหมายการออมเงิน

01 Aug 2022

อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล

การวางแผนการเงินเป็นพฤติกรรมที่จำเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากสภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรค สภาวะทางการเมือง และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคง ความไม่แน่นอน
ดังนั้นเพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆ การคิดก่อนซื้อ การจัดสรรเงิน และการออมเงิน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

 

พฤติกรรมการออมเงิน (Saving behavior) คือ การเก็บเงินส่วนหนึ่งที่ได้แบ่งมาจากค่าใช้จ่าย ที่จะช่วยให้เรามีเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งพฤติกรรมการออมเงินเป็นหนึ่งในพฤติกรรมทางการเงิน (Financial behavior) โดยการออมเงินจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามี

  1. ความสามารถที่จะออม หรือก็คือ มีเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายและยังคงมีเงินส่วนหนึ่งที่เหลือไว้สำหรับออมได้
  2. มีเจตคติที่ดีต่อการออม คือเรามองว่าการออมเงินนั้นเป็นประโยชน์ต่อตัวเองหรือไม่
  3. มีความเต็มใจที่จะออม หรือเลือกที่จะออมเงินด้วยตนเอง
  4. เรามีแรงจูงใจที่จะออม หรือมีเป้าหมายที่คิดไว้ว่าเราจะออมเงินเพื่ออะไร ซึ่งเป้าหมายนี้จะกลายมาเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เรามีความพยายามที่จะออมเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ

 

แรงจูงใจ (Motivation) เป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เราทำพฤติกรรม เปรียบเสมือนแรงผลักที่ทำให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะสำเร็จในสิ่งที่คาดหวัง

 

Maslow ได้เสนอทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ ซึ่งบอกว่าเราทุกคนมีความต้องการอยู่ 5 ขั้นด้วยกัน ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดพฤติกรรม โดยความต้องการทั้ง 5 ขั้น ได้แก่

 

  1. ความต้องการด้านร่างกาย เป็นความต้องการสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายเพื่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำ อากาศ
  2. ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย คือเราอยากให้ตัวเราและทรัพย์สินของเราปลอดภัย เช่น เราอยากมีบ้านที่มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย บ้านคือที่ที่เราสามารถนอนหลับได้สนิท ไม่ต้องกลัวว่าจะมีอันตรายใด ๆ เกิดขึ้นกับเรา
  3. ความต้องการความรักหรือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม คือเราอยากที่จะเป็นที่รักของใครสักคน หรือ อยากได้รับการยอมรับจากคนอื่น ๆ
  4. ความต้องการที่จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า คือเราอยากจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีประโยชน์ มีความสามารถ รวมไปถึงอยากให้คนอื่น ๆ เห็นคุณค่าในตัวของเราด้วย
  5. ความต้องการที่จะเข้าถึงศักยภาพของตนเอง คือการที่เราอยากจะรู้จักตนเองอย่างแท้จริงว่า อะไรที่ทำให้เรามีความสุข เรารักที่จะทำในสิ่งใด และอยากที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้ไปถึงสิ่งนั้น

 

Front view of plant growing from golden coins

 

 

ทั้งนี้ Maslow ได้เสนอไว้ว่า เราจะพยายามเติมเต็มความต้องการในขั้นแรก ๆ ก่อน หากเรารู้สึกพอใจกับความต้องการในขั้นแรก ๆ แล้ว เราจึงจะมีความต้องการในขั้นต่อไปได้

 

ความต้องการทั้ง 5 ขั้นนี้ถูกนำมาใช้ในการอธิบายพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ว่า เพราะเรากำลังมีความต้องการหรือมีเป้าหมาย เราจึงตัดสินใจทำพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อให้ความต้องการนั้น ๆ ได้รับการเติมเต็ม หรือทำให้เรารู้สึกพอใจ เช่นเดียวกันกับพฤติกรรมการออมเงิน

 

มีงานวิจัยที่ศึกษาเป้าหมายของการออมเงิน (Saving goal) ที่เป็นไปตามลำดับขั้นความต้องการ 5 ขั้นของ Maslow ในผู้ใหญ่วัยเริ่ม (อายุประมาณ 20-25 ปี) ที่มีงานทำ ผู้ใหญ่ในกลุ่มนี้ได้ให้ตัวอย่างเป้าหมายของการออมเงินในแต่ละขั้นไว้ ดังนี้

 

  1. การตั้งเป้าหมายการออมเงินเพื่อความต้องการด้านร่างกาย เช่น ออมเงินเพื่อซื้อของจำเป็นในบ้าน ออมเงินเพื่อซื้อยารักษาโรค
  2. การตั้งเป้าหมายการออมเงินเพื่อความต้องการความมั่นคงปลอดภัย เช่น ออมเงินไว้เผื่อตกงานกะทันหัน ออมเงินเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน
  3. การตั้งเป้าหมายการออมเงินเพื่อความต้องการความรัก เช่น ออมเงินไว้สำหรับการดูแลครอบครัว ออมเงินเพื่อเลี้ยงดูบุตร
  4. การตั้งเป้าหมายการออมเงินเพื่อความต้องการที่จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เช่น ออมเงินเพื่อซื้อของใช้เสริมความงาม ออมเงินไว้เพื่อเรียนต่อหรือหาประสบการณ์เพิ่มเติม และ
  5. การตั้งเป้าหมายการออมเงินเพื่อความต้องการที่จะเข้าถึงศักยภาพของตนเอง เช่น ออมเงินไว้เพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง เพื่อจะได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำหรือได้ทำในสิ่งที่รัก

 

จากเป้าหมายการออมเงินทั้ง 5 ขั้นนี้ การที่เราตัดสินใจว่า เราจะอดใจ ไม่ใช้เงินบางส่วนเพื่อออมเงินส่วนนั้นไว้ใช้กับเป้าหมายบางอย่าง หรือ ออมเงินไว้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการอะไรบางอย่าง เป้าหมายของการออมเงินในรูปแบบไหนล่ะ มีคุณค่าเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เราตัดสินใจออมเงินบางส่วนไว้ โดยไม่เผลอใช้ไปเสียก่อนได้…

 

จากงานวิจัยพบว่า เป้าหมายที่อาจจะสามารถกระตุ้นให้เรามีพฤติกรรมการออมเงินได้ คือ การตั้งเป้าหมายการออมเงินเพื่อความต้องการที่จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และ การตั้งเป้าหมายการออมเงินเพื่อความต้องการที่จะเข้าถึงศักยภาพของตนเอง หรือก็คือ หากเรามีเป้าหมายไว้ว่า เราอยากจะเรียนต่อเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อให้เรามีความสามารถมากขึ้น (สะท้อนถึงความต้องการที่จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า) หรือ ความฝันของเราคือการได้เปิดร้านขายขนมเป็นของตัวเองสักร้าน การได้ทำขนมคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข (สะท้อนถึงความต้องการที่จะเข้าถึงศักยภาพของตนเอง) เป้าหมายในลักษณะนี้จะกระตุ้นให้เราพยายามที่จะออมเงินได้มากขึ้น

 

นั่นอาจเป็นเพราะการตั้งเป้าหมายในลักษณะนี้ช่วยสร้างความสุข ความรู้สึกดีให้กับตัวเราเอง ช่วยทำให้เรารู้สึกได้ถึงความสามารถที่เราสามารถพัฒนาเองได้ ความมีอิสระที่เราสามารถตัดสินใจทำตามความฝันของเราเองได้ หรือได้ทำในสิ่งที่เรารักและมีความสุขด้วยตัวของเราเอง

 

ดังนั้น หากอยากจะเริ่มต้นออมเงินสักก้อน ลองมองหาเป้าหมายที่ช่วยสร้างความรู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง ความสามารถในตนเอง หรือ เป้าหมายที่สะท้อนถึงความรักและความฝันที่เราอยากจะมี เป้าหมายลักษณะนี้อาจจะเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้เราสามารถออมเงินได้สำเร็จ และได้นำเงินก้อนนั้นไปใช้ได้อย่างที่หวัง

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

กอข้าว เพิ่มตระกูล. (2562). ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางการเงินและเป้าหมายการออมในผู้ใหญ่วัยเริ่ม [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69648

 

Gudmunson, C. G., & Danes, S. M. (2011). Family financial socialization: Theory and critical review. Journal of Family and Economic Issues, 32(4), 644-667. https://doi.org/10.1007/s10834-011-9275-7

 

Otto, A. (2013). Saving in childhood and adolescence: Insights from developmental psychology. Economics of Education Review, 33, 8-18. https://doi.org/10.1016/j.econedurev.2012.09.005

 

 


 

บทความวิชาการ
โดย อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

แชร์คอนเท็นต์นี้