Self-compassion – ความเมตตากรุณาต่อตนเอง

23 Mar 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

ความเมตตากรุณาต่อตนเอง หมายถึง การตระหนักรู้ถึงประสบการณ์ในแง่ลบที่ตนเองมีโดยไม่หลีกเลี่ยง บิดเบือน ปฏิเสธ หรือตัดสินตีความ หากแต่เข้าใจว่าประสบการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ อันส่งผลให้บุคคลปฏิบัติต่อตนเองเพื่อบรรเทาความทุกข์ด้วยความเมตตา

 

ทั้งนี้ ความเมตตากรุณาต่อตนเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว การสงสารตัวเอง หรือการยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากความเมตตากรุณาต่อตนเองมีพื้นฐานการมองโลกและชีวิตตามความเป็นจริงว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาจะต้องเจอทั้งสุขและทุกข์เหมือนกันหมดทุกคน ดังนั้น บุคคลที่มีความเมตตากรุณาต่อตนเองเมื่อต้องตกอยู่ในความทุกข์ยาก ความลำบาก ความผิดหวัง หรือความล้มเหลว เขาจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตของมนุษย์ทุกคน ซึ่งต่างจากความเห็นแก่ตัว การสงสารตัวเอง และการยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลาง เพราะบุคคลที่มีสิ่งเหล่านี้จะคิดเข้าข้างตนเอง คิดว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น จึงมักเปรียบเทียบ เมื่อเจอกับความผิดหวังจึงรู้สึกว่าตนเองน่าสงสาร โชคร้าย ทำให้เกิดเป็นความรู้สึกแปลกแยกออกมา

 

ความเมตตากรุณายังไม่ใช่การทำตามใจตนเอง หรือการทำเพื่อความสุขของตนเองเป็นหลัก เมื่อผ่านพ้นสถานการณ์ที่ตึงเครียด จะเห็นได้ว่ามีหลายคนเลือกที่จะชดเชยสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการให้รางวัลกับตัวเอง บางคนเลือกที่จะนอนดูโทรทัศน์ทั้งวัน ขณะที่บางคนเลือกกินไอศกรีมถ้วยใหญ่ หรือซื้อเสื้อผ้าข้าวของราคาแพง โดยคิดว่านี่คือการให้กำลังใจตนเอง ปฏิบัติต่อตนเองอย่างมีเมตตา ซึ่งแม้จริงแล้วการทำแบบนี้ไม่ใช่ลักษณะของความเมตตากรุณาต่อตนเอง เพราะความเมตตากรุณาต่อตนเองจะส่งเสริมให้บุคคลมีความปรารถนาที่จะเห็นตัวเองมีความสุขและสุขภาวะดีในระยะยาว ซึ่งการไปถึงจุดจุดนั้นอาจยากลำบากและไม่รู้สึกสะดวกสบาย เช่น การเลิกบุหรี่ การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย เป็นต้น

 

ความเมตตากรุณาต่อตนเองแตกต่างจากการเห็นคุณค่าในตนเองตรงที่ ความเมตตากรุณาต่อตนเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการประเมินคุณค่า และไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นเพื่อให้รู้สึกถึงคุณค่าในตนเองที่มีอยู่ อีกทั้ง ความเมตตากรุณาต่อตนเองยังไม่ขึ้นอยู่กับความพิเศษหรือจุดยืนที่แตกต่างของตนเองจากคนอื่น ๆ ความเมตตากรุณาต่อตนเองจึงไม่ส่งผลให้บุคคลหลงตนเอง อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ และบิดเบือนการรับรู้ที่มีต่อตนเองที่แท้จริง

 

 

องค์ประกอบของความเมตตากรุณาต่อตนเอง (Neff, 2003)


 

1. การมีความเมตตาต่อตนเอง

คือ การยอมรับได้ในสิ่งที่ตนเองเป็น สามารถปฏิบัติต่อตนเองด้วยความรักและความเข้าใจอย่างอ่อนโยน แม้ในยามที่ประสบกับความทุกข์ ความผิดพลาด และความล้มเหลว โดยไม่ประเมินคุณค่าของตนเองจากสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่กล่าวโทษตนเอง ตำหนิตนเอง และวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง

 

2. การรับรู้ว่าประสบการณ์ที่มีเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์

คือ การมีฐานความคิดและความเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องพบทั้งความสุขและความทุกข์ ความลำบาก ความผิดหวัง ความผิดพลาดเป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิตและเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคนเหมือนกัน ไม่ใช่แค่กับตนผู้เดียว ดังนั้นจึงไม่ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกจากคนอื่น

 

3. การมีสติระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ

เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์หรือภาวะอารมณ์ที่เป็นทุกข์ จะสามารถรับรู้และทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดได้อย่างเป็นกลาง สามารถควบคุมอารมณ์และการแสดงออกให้เป็นปกติ โดยไม่ผูกโยงหรือจมดิ่งกับอารมณ์ที่กำลังวูบไหวจนสูญเสียความยับยั้งชั่งใจ ขาดหลักเหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากอื่นๆ ตามมา

 

 

หลายงานวิจัยกล่าวตรงกันว่า ความเมตตากรุณาต่อตนเองเป็นคุณลักษณะที่เอื้อให้บุคคลมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความมั่นคงทางจิตใจมากขึ้น มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความยืดหยุ่นทางอารมณ์ การรับรู้ตนเองตามความเป็นจริง การมีพฤติกรรมใส่ใจผู้อื่น และมีความสัมพันธ์ทางลบกับการหลงตนเอง และการมีปฏิกิริยาโต้กลับด้วยความโกรธ อีกด้วย

 

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นคุณค่าในตนเอง ความเมตตากรุณาต่อตนเอง ค่าดัชนีมวลกาย การประเมินตนเสมือนวัตถุและความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายในสตรีวัยรุ่น” โดย พลอยชมพู อัตศรัณย์ (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42008

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความเครียดและความสุขในนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยมีความเมตตากรุณาต่อตนเองเป็นตัวแปรส่งผ่าน” วัชราวดี บุญสร้างสม (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42630

 

ขอบคุณภาพจาก http://www.imgbase.info

 

แชร์คอนเท็นต์นี้