Self-Interested Behavior – พฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

10 Sep 2021

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

พฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว คือ พฤติกรรมซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง หรือบางครั้งคือพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมไปด้วยพร้อมกัน โดยพฤติกรรมเหล่านี้มิได้มีรูปแบบตายตัวเสมอไป เป็นไปได้ทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง การรับความดีความชอบของผู้อื่น หรือแม้แต่การใส่ร้ายผู้อื่น โดยพฤติกรรมในลักษณะเช่นนี้บางครั้งไม่ได้ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย

 

พฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ศึกษากันค่อนข้างมากในอดีต ทั้งทางด้านพฤติกรรมภายในองค์กร สังคม รวมถึงพฤติกรรมต่อต้านสังคม แต่การสังเกตหรือตีความเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากความหลากหลายของรูปแบบพฤติกรรม หรือบางสถานการณ์ผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กัน การแสดงพฤติกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนตัวจึงถูกตีความได้ว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และบางกรณีพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวบางรูปแบบก็ไม่ได้ถูกสังคมมองว่าเป็นการละเมิดต่อกรอบของสังคม

 

 

อำนาจ กับ พฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว


 

หนึ่งในแนวคิดพื้นฐานเรื่องอำนาจ คือเมื่อบุคคลสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ตามต้องการ ส่งผลให้บุคคลมีความจำเป็นน้อยลงที่จะพึ่งพาความช่วยเหลือหรือไม่ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงทำให้อิทธิพลความกดดันต่าง ๆ จากบรรทัดฐานทางสังคมที่ต้องการให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่ดีนั้นลดน้อยลงไปด้วย

 

ความรู้สึกมีอำนาจจึงเพิ่มแนวโน้มที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการขณะนั้น โดยมีความยับยั้งชั่งใจน้อยลง จากการมีความตึงเครียด ความรู้สึกผิด และความตื่นตัวที่ลดลง ยิ่งไปกว่านั้น ความยับยั้งชั่งใจที่ลดลงยังทำให้บุคคลมีแนวโน้มตัดสินหรือแสดงความไม่พอใจต่อผู้อื่นอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้บุคคลที่รู้สึกมีอำนาจมักแสดงพฤติกรรม “พูดอย่างทำอย่าง” มากขึ้น โดยต่อว่าผู้อื่นที่ฝ่าฝืนบรรทัดฐานทางสังคม แต่ตนเองกลับเป็นผู้กระทำเสียเอง

 

นอกจากนี้ ความรู้สึกมีอำนาจได้เพิ่มความสำคัญต่อตัวบุคคลเอง (Self-Focus) นำไปสู่มุมมองที่มุ่งเป้าไปยังความต้องการของตนเอง การให้ความสำคัญต่อตนเองในระดับที่สูงขึ้นส่งผลให้บุคคลเข้าใจว่าตนเองสำคัญในสังคมมากกว่าคนอื่น ๆ นำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่นพร้อมกับลดการมองสิ่งต่าง ๆ ผ่านมุมมองของผู้อื่น (Perspective-Taking) ผลที่ตามมาคือการแสดงพฤติกรรมตอบสนองความต้องการของตนเองมากกว่าใส่ใจผู้อื่น และมีการแสดงพฤติกรรมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นน้อยลง

 

 

อำนาจ พฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และการรับรู้การถูกตรวจสอบ


 

นักจิตวิทยาเสนอว่า การเพิ่มการรับรู้ความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบส่งผลให้บุคคลลดการแสดงพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวลง โดยทำให้บุคคลเพิ่มการประมวลข้อมูล พร้อมกับประเมินตนเองผ่านมุมมองของผู้อื่นเพื่อรับมือการถูกโต้แย้ง

 

การประมวลข้อมูลที่ละเอียดขึ้นเป็นส่วนสำคัญในการลดอิทธิพลของการขาดความยับยั้งชั่งใจและความกล้าเสี่ยง พร้อมกับส่งผลให้บุคคลตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมาของการตัดสินใจ ในขณะที่การประเมินตนเองร่วมกับการเรียนรู้มุมมองของบุคคลอื่นมีส่วนช่วยให้ผู้ถืออำนาจลดการให้ความสำคัญต่อตนเองลง

 

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของอำนาจต่อพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว: การศึกษาอิทธิพลการป้องปรามของการรับรู้การถูกตรวจสอบเป็นตัวแปรกำกับ” โดย ติณณ์ โบสุวรรณ (2562) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64650

 

ภาพจาก https://ethicsunwrapped.utexas.edu/

แชร์คอนเท็นต์นี้