การประเมินตนเสมือนวัตถุ
หมายถึง การที่บุคคลใช้รูปลักษณ์ตัดสินคุณค่าของตนเอง จนละเลยคุณค่าด้านอื่นหรือปัจจัยภายใน เช่น ความคิด อารมณ์ความรู้สึกหรือความต้องการทางร่างกายไป
การประเมินตนเสมือนวัตถุมีองค์ประกอบ 3 ด้าน ดังนี้
1. การเฝ้าสำรวจภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (Body surveillance)
หมายถึง การเฝ้าตรวจตราทางภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเองว่าเป็นไปตามค่านิยมของสังคมที่กำหนดหรือไม่ และมีการประเมินจากมุมมองของคนอื่น
2. ความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (Body shame)
หมายถึง ความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ของตนเองที่ภาพลักษณ์ของตนเองนั้นไม่ได้สวยงามและเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้วางเอาไว้
3. ความเชื่อเกี่ยวกับการควบคุมภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (Control belief)
หมายถึง ความเชื่อทางด้านภาพลักษณ์ในร่างกายของตนเองว่าตนเองนั้นสามารถควบคุมให้เป็นไปตามที่มาตรฐานของสังคมได้ตั้งไว้ได้
ด้วยปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม นักจิตวิทยาพบว่า เพศหญิง รวมถึงกลุ่มชายรักชาย มีแนวโน้มที่จะประเมินตนเสมือนวัตถุมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและอยู่ในระหว่างการค้นหาอัตลักษณ์และบทบาทแห่งตน
ผลกระทบของการประเมินตนเสมือนวัตถุ
บุคคลที่มีการเฝ้าสำรวจตนเองทางรูปลักษณ์มากเท่าไร ก็จะทำให้มีโอกาสเห็นข้อจำกัดทางด้านรูปลักษณ์ของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้บุคคลมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์และน้ำหนักของตนเองมาก จึงพยายามที่จะควบคุมน้ำหนักและรูปร่างของตนเองให้เป็นไปตามอุดมคติ เกิดเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติและมีอาการซึมเศร้าที่สูงขึ้นได้
รายการอ้างอิง
“ความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นคุณค่าในตนเอง การเปิดรับอิทธิพลจากสื่อ การประเมินตนเสมือนวัตถุ และความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายในชายรักชายและชายรักต่างเพศ” โดย พรรณทิพา ปัทมอารักษ์ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59684
ภาพจาก https://www.verywellmind.com/eating-disorders-awareness-prevention-4157248