มหกรรมกีฬา Olympic Games 2024 ณ กรุง Paris ได้เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว…นักจิตวิทยาเกี่ยวข้องกับการกีฬาอย่างไรบ้าง
ตัวอย่างงานวิจัยของคณาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมบุญ จารุเกษมทวี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ พร้อมคณะวิจัย เรื่อง Relationships between Mindfulness, Self-Compassion, and Grit among Thai National Athletes: The Mediating Role of Self-Regulation ซึ่งได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารนานาชาติ International Journal of Sport and Exercise Psychology ปี 2021
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาปัจจัยทางจิตวิทยาที่สัมพันธ์กับความมั่นหมาย (Grit) อันเป็นคุณลักษณะที่แสดงออกในสิ่งที่ตนสนใจและมีความเพียรพยายามที่จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายระยะยาว ซึ่งความมั่นหมายเป็นคุณลักษณะพบในนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก โดยการศึกษาครั้งนี้เก็บข้อมูลกับนักกีฬาทีมชาติไทยจากกีฬาประเภทต่าง ๆ จำนวน 320 คน
ผลการศึกษาพบว่า 1) การมีสติ (mindfulness) คือ การตระหนักรู้ในความคิด ความรู้สึกและการกระทำของตน 2) ความเมตตากรุณาต่อตนเอง (Self-Compassion) คือ การปลอบโยนตนเองและการไม่ตำหนิตนเองเมื่อเผชิญความทุกข์ยาก และ 3) การกำกับตนเอง (Self-Regulation) คือ การกำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตนเอง เพื่อเอื้อให้บรรลุเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ ทั้งสามคุณลักษณะนั้นสัมพันธ์ทางบวกกับความมั่นหมายของนักกีฬา
ผลวิจัยนี้ยังระบุว่า ภาวะสติร่วมกับความเมตตากรุณาต่อตนเอง ส่งผลต่อการกำกับตนเองอันเป็นตัวแปรส่งผ่านไปสู่การมีความมั่นหมายของนักกีฬา โดยสติยังส่งผลโดยตรงกับความมั่นหมายของนักกีฬาอีกด้วย
นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้เสนอแนะว่าโปรแกรมทางจิตวิทยา อาทิ เช่น Mindfulness-Acceptance-Commitment (MAC) Programสามารถพัฒนาและบ่มเพาะความมั่นหมายของนักกีฬาให้เกิดขึ้นได้
ผู้เขียน
งานวิจัย
Jarukasemthawee, S., Pisitsungkagarn, K., O’Brien, W., Manley, H., & Pattanamontri, C. (2021). Relationships between mindfulness, self-compassion, and grit among Thai national athletes: the mediating role of self-regulation. International Journal of Sport and Exercise Psychology, 1-21. https://doi.org/10.1080/1612197X.2021.2010230