“จิตวิทยาสังคม” หรือ “Social Psychology” เป็นจิตวิทยาสาขาหนึ่งในหลากหลายสาขาทางจิตวิทยา โดยจุดเน้นของจิตวิทยาสังคมคือ การศึกษาพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึกของคนเรา ที่ได้รับอิทธิพลจากคนอื่น ๆ รอบตัวเรา เพราะคนเราอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและเกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ อยู่เสมอ ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว ครูอาจารย์ เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนที่ทำงานและเจ้านาย หรือกระทั่งพนักงานขายอาหาร และคนแปลกหน้าที่เราพบเจอ หรือคนที่เราไปติดต่อธุระด้วยในแต่ละวัน
จิตวิทยาสังคมเป็นศาสตร์ที่ศึกษาว่า รูปร่างท่าทาง การกระทำต่าง ๆ การแสดงออกของคนเหล่านั้น ส่งผลต่อการตอบสนองของเราอย่างไรบ้าง และในทางกลับกัน ท่าทีและการกระทำของเราส่งผลอย่างไรต่อคนรอบข้างเรา
ยกตัวอย่างเช่น การที่เราแต่งตัวปอน ๆ เดินเข้าไปในร้านอาหาร อาจจะทำให้พนักงานบริการเราไม่ดี เทียบกับเมื่อเราแต่งตัวภูมิฐานเข้าไปใช้บริการ และการที่บริกรพูดกับเราไม่ดี ก็อาจจะทำให้เราตอบโต้ด้วยท่าทางไม่เป็นมิตร กลายเป็นวัฎจักรของการส่งอิทธิพลต่อกันและกันได้
นักจิตวิทยาสังคมจึงมีหัวข้อให้ศึกษามากมาย ตั้งแต่เรื่องการตีความและตัดสินบุคคลอื่น เช่น ในการสัมภาษณ์งานเราควรจะแต่งกายและนำเสนอตัวเองอย่างไร จึงจะสร้างความประทับใจได้ ความคิดความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเอง ส่งผลต่อการไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่นอย่างไร เช่น คนที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำอาจจะพยายามโพสต์แต่สิ่งดี ๆ เกี่ยวกับตัวเองให้คนอื่นเห็นในเฟซบุ๊ก ไปจนถึงเรื่องการโน้มน้าวใจผู้อื่น การคล้อยตาม และเทคนิคการขอร้องให้ได้ผล การตัดสินใจเกี่ยวกับผู้อื่น ความชอบ / ไม่ชอบสิ่งต่าง ๆ การช่วยเหลือกัน การทำร้ายกันหรือการแสดงความก้าวร้าว ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้ง พฤติกรรมในกลุ่ม ความรักและความชอบพอดึงดูดใจ การเป็นผู้นำหรือหัวหน้า เป็นต้น
จิตวิทยาสังคมมักจะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ
- การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่น
- การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น
- ความสัมพันธ์กับผู้อื่น
หัวข้อแรกคือ การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่นนั้น เป็นการศึกษาว่าคนเราตัดสินผู้อื่นและเรื่องต่าง ๆ อย่างไร ดูจากตรงไหน เราสรุปได้อย่างไรว่าคน ๆ หนึ่งน่าจะใจดีหรือไม่น่าไว้ใจ ข้อค้นพบที่น่าสนใจก็เช่น คนเราได้รับอิทธิพลจากเรื่องลบ ๆ หรือลักษณะที่ไม่ดีของอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าลักษณะดี ๆ ของเขา คนเรายังตัดสินคนจากประสบการณ์ในครั้งแรก ๆ หรือช่วงแรก ๆ ที่พบกัน หรือที่เรียกว่าความประทับใจแรกพบนั่นเอง แถมเรายังมีความลำเอียงในการตัดสินคนอื่น ๆ อีกหลายประการ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้โดยตรงในการสัมภาษณ์งานเพื่อคัดเลือกบุคคลหรือการประเมินบุคคลในสถานการณ์ต่าง ๆ
การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่นยังหมายถึง การที่เราตัดสินเหตุผลในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ของผู้อื่นและตัวเราเองด้วย เช่น เราสอบตก ตกเพราะอะไร ตกเพราะเราไม่เก่งหรือเพราะเราอ่านหนังสือไม่มากพอ การอธิบายเหตุการณ์สมหวังและผิดหวังนี้ อาจส่งผลถึงสุขภาพจิตของเราได้ การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่นยังรวมถึงเวลาที่เราตัดสินว่าอะไรดีไม่ดี สิ่งใดหรือสินค้าใดเข้าท่าน่าซื้อหรือไม่อีกด้วย เรียกว่าการศึกษาเจตคติ ซึ่งสามารถประยุกต์ไปใช้ในเรื่องการสร้างความชอบต่อสินค้าหรือโฆษณาในแวดวงการตลาด หรือแม้แต่การชอบพรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้
การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น ในหัวข้อนี้นักจิตวิทยาสังคมจะเน้นศึกษาว่า คนเราสามารถทำให้อีกคนหนึ่งเปลี่ยนใจ เปลี่ยนความเชื่อ หรือเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างไร และมีเทคนิคอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าวใจว่ามีทฤษฎีหรือขั้นตอนวิธีการให้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง การขอร้องให้คนอื่นทำอะไรให้เรา ควรจะพูดอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ เมื่อไรควรจะใช้พรีเซนเตอร์หรือผู้เชี่ยวชาญมาโฆษณาสินค้าของเรา ดังนั้น หัวข้อทางด้านการโน้มน้าวใจจึงเป็นที่นิยมและสามารถประยุกต์ใช้ได้ ทั้งในด้านการตลาด การสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์ และในทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น หันมาออกกำลังกายมากขึ้น เลิกสูบบุหรี่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือหันมาประหยัดพลังงาน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็ได้ การมีอิทธิพลต่อผู้อื่นยังรวมถึงเรื่องการคล้อยตามแรงกดดันของคนในกลุ่ม หรือผู้มีอำนาจ เพื่อศึกษาว่าคนเราจะยอมทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจเหนือกว่าหรือไม่ เมื่อใดเราจึงมักจะคล้อยตามผู้อื่น และยังศึกษาถึงการกระทำของคนเมื่ออยู่ในกลุ่ม เช่น เมื่อเราทำงานร่วมกับผู้อื่นคนเรามักจะอู้งาน นักจิตวิทยาสังคมจะศึกษาว่าทำไมคนเราอู้งาน และจะป้องกันการอู้งานได้อย่างไร ในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มยังอาจจะมีหัวหน้า นักจิตวิทยาสังคมก็จะศึกษาเรื่องการเป็นผู้นำ คืออะไร ผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าหัวข้อเหล่านี้ สามารถประยุกต์ไปใช้ประโยชน์ในบริบทต่าง ๆ ได้มาก โดยเฉพาะการทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นทีม การมีหัวหน้างานที่เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการออกแบบแคมเปญรณรงค์ให้คนไทยหันมาทำสิ่งดี ๆ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา หรือโตไปไม่โกง เป็นต้นค่ะ นี่คือหนทางหนึ่งที่นักจิตวิทยาสังคมสามารถช่วยสังคมแก้ปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ ได้
ความสัมพันธ์กับผู้อื่น แน่นอนว่าเราสามารถมีความรัก เกลียด ช่วยเหลือเกื้อกูล และทำร้ายผู้อื่นได้ นักจิตวิทยาสังคมศึกษาสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเพราะเป็นเรื่องที่ว่าด้วยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างคนกับคน นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเรื่องความรักและความสัมพันธ์ ตั้งแต่ความรักคืออะไร มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้คนเราชอบพอกัน การรักษาความสัมพันธ์ของคู่รักทำได้อย่างไร การแก้ไขปัญหาในความสัมพันธ์ทำได้อย่างไรบ้าง รักแล้วก็มีเกลียด นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเรื่องการรังเกียจกลุ่ม ซึ่งหมายถึงการไม่ชอบใครสักคนหรือกลุ่มคนสักกลุ่มเพียงเพราะเขามาจากกลุ่ม ๆ นี้อันเป็นการเหมารวมที่ไม่ยุติธรรม เช่น การดูถูกเพศหญิง อาจทำให้ผู้หญิงถูกกีดกันไม่ให้ขึ้นเป็นหัวหน้าในหน่วยงาน การดูถูกคนจากประเทศที่เรามองว่าด้อยความเจริญ เป็นต้น และแน่นอนว่านักจิตวิทยาสังคมศึกษาเทคนิควิธีที่จะเอาชนะการรังเกียจกลุ่ม ที่ช่วยให้คนเราลดอคติ และอยู่ร่วมกันได้แม้จะแตกต่างกัน
นักจิตวิทยาสังคมยังวิจัยว่าทำไมคนเราจึงช่วยเหลือกัน อะไรเป็นปัจจัยทำให้เราทำเพื่อผู้อื่น เช่น บริจาคเงิน ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท หรือเสี่ยงอันตรายช่วยเหลือคนอื่นในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสุดท้ายจิตวิทยาสังคมยังทำความเข้าใจ การจงใจทำร้ายผู้อื่นหรือการแสดงความก้าวร้าว ว่าทำไมคนเราจึงทำร้ายกัน เช่น ตกลงว่าการเล่นวีดีโอเกม ที่มีเนื้อหารุนแรงเช่นการต่อสู้และการฆ่ากันนั้น ส่งผลให้ผู้เล่นออกมาทำร้ายผู้อื่นโลกความจริง อันมักจะเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ นั้นเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า จะเห็นได้ว่าเนื้อหาของจิตวิทยาสังคมนั้นกว้างขวาง เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
นักจิตวิทยาสังคมสามารถเลือกศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคู่รัก การทำงานร่วมกันในกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ เทคนิคการโน้มน้าวใจที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแวดวงโฆษณาและการตลาดได้ ไปจนถึงการศึกษาเรื่องความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปกำหนดแนวนโยบายระดับสังคมได้
วิธีที่นักจิตวิทยาสังคมใช้ทำวิจัยพฤติกรรมต่าง ๆ มีลักษณะเน้นการทดลอง และใช้การศึกษาวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ รอบคอบและเป็นระบบ นักจิตวิทยาสังคมจึงมีทักษะทางด้านการวิจัยและสถิติอีกด้วย โดยทักษะเหล่านี้จะทำให้นักจิตวิทยาสังคม สามารถทำงานได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการในสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ผู้ออกแบบแคมเปญทางด้านการตลาดและนักวิจัยทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและการสร้างมาตรวัด ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน ผู้อบรมและพัฒนาทักษะด้านการโน้มน้าวใจและการเจรจาต่อรอง อีกทั้งยังสามารถเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามบริษัทต่าง ๆ เช่น การพัฒนาความเป็นผู้นำแก่หัวหน้าหน่วยงาน เป็นต้น นอกจากนี้ นักจิตวิทยาสังคมยังสามารถทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น การสอบปากคำผู้ต้องหา การชี้ตัวผู้ต้องหา การวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม เป็นต้น
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบ https://www.freepik.com/