นักจิตวิทยาสังคมได้ศึกษาการรับรู้ภาพลักษณ์ของกลุ่มสังคมหรือภาพเหมารวมทางความคิด (stereotype) เป็นเวลานาน โมเดลหนึ่งที่ได้รับความสนใจคือ Stereotype Contents Model (Fiske, Cuddy, Glick & Xu, 2002) โมเดลนี้อธิบายว่ากลุ่มต่างๆ ในสังคมถูกจัดแบ่งตามการประเมินบุคลิกภาพ 2 มิติ ได้แก่ มิติความอบอุ่น (warmth dimension) และมิติความสามารถ (competence dimension)
มิติความอบอุ่นครอบคลุมลักษณะเกี่ยวกับความเป็นมิตร การชอบเข้าสังคมและการมีคุณธรรมจริยธรรม มิตินี้สะท้อนความเชื่อว่ากลุ่มนี้แนวโน้มในการร่วมมือเพียงใด เป็นตัวบ่งชี้ว่ากลุ่มใดจะเป็นมิตร กลุ่มใดจะเป็นศัตรู
มิติความสามารถครอบคลุมลักษณะเกี่ยวกับความรู้ ความฉลาด ทักษะต่างๆ มิตินี้สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับสถานะทางสังคมของกลุ่ม เป็นตัวบ่งชี้ระดับความสามารถในการแข่งขันของกลุ่ม
เมื่อใช้โมเดลนี้ศึกษาภาพลักษณ์ของกลุ่มสังคมในสหรัฐอเมริกา (Fiske et al., 2002) พบว่ากลุ่มต่างๆ ถูกประเมินว่ามีระดับความอบอุ่นและความสามารถที่ไม่เท่ากัน แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้
- กลุ่มที่ได้รับความนิยมชมชอบ (Admiration group) กลุ่มนี้มีสถานะทางสังคมที่สูงมาตั้งแต่อดีต มีอำนาจ เข้าถึงทรัพยากรของสังคมได้อย่างง่ายดาย ทำคุณประโยชน์ในสังคม จึงได้รับการประเมินว่าอบอุ่นสูงและมีความสามารถสูง เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นมิตร เอื้อเฟื้อ เก่ง มีความรู้ความสามารถ เป็นที่น่าไว้ใจของสังคม ชาวอเมริกาผิวขาวที่เกิดในประเทศ ชาวคริสต์ถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มนี้
- กลุ่มที่ได้รับการกดขี่ข่มเหง (Contemptuous group) เป็นกลุ่มคู่ตรงข้ามกับกลุ่มแรก คือเป็นกลุ่มที่มีสถานะทางสังคมต่ำมาตั้งแต่อดีต ไม่มีช่องทางในการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศ และไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้สังคมได้ จึงได้รับการประเมินว่าอบอุ่นต่ำและความสามารถต่ำ เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าไร้สมรรถภาพ เป็นปฏิปักษ์ ไม่น่าเข้าใกล้ เชื่อถือไว้ใจไม่ได้ กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนที่พึ่งพาสวัสดิการของรัฐ กลุ่มคนแอฟริกันอเมริกันถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้
- กลุ่มที่ได้รับการโอบอุ้ม (Paternalistic group) เป็นกลุ่มที่เข้าถึงทรัพยากรในสังคมได้อย่างจำกัด แต่ไม่ได้เป็นภยันตรายในสังคม เนื่องจากไม่มีพลังจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิใดๆ จึงได้รับการประเมินว่ามีความอบอุ่นมากกว่าความสามารถ เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นมิตรแต่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น กลุ่มผู้สูงวัยและผู้ป่วยทั้งทางกายและทางจิตเวชถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้
- กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ได้รับการเพ่งเล็ง (Envious group) เป็นกลุ่มที่มีอำนาจ มีสถานะสูง สามารถเข้าถึงทรัพยากรในสังคมได้ แต่เอารัดเอาเปรียบไม่แบ่งปันทรัพยากรของตนกับผู้อื่นในสังคม จึงได้รับการประเมินว่าความสามารถสูงกว่าความอบอุ่น ตรงข้ามกับกลุ่มที่ได้รับการโอบอุ้ม เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเก่ง ความสามารถสูง แต่เห็นแก่ประโยชน์ของตน ขาดจริยธรรม กลุ่มเศรษฐี ชาวเอเชี่ยนอเมริกันและชาวยิวถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้
ในสังคมไทยนั้นยังไม่ได้นำโมเดลนี้มาใช้ศึกษาการรับรู้ภาพลักษณ์ของกลุ่มอย่างเต็มระบบ มีเพียงงานวิจัยโดยนิสิตคณะจิตวิทยา หลักสูตรนานาชาติเมื่อปีที่แล้วเท่านั้น (กัณฑเดช ลาภพรหมรัตน และชัญญา ไช่, 2561) ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 146 คนรายงานภาพเหมารวมทางความคิดเกี่ยวกับแพทย์ คณาจารย์จุฬาฯ นิสิตจุฬาฯ นักการเมือง (โดยรวม ไม่ระบุพรรค) ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจิตเภท ผู้ป่วยซึมเศร้าและคนไร้บ้าน พบว่าแต่ละกลุ่มได้รับการประเมินว่ามีความอบอุ่นและความสามารถในระดับที่แตกต่างกันไป (คะแนนเฉลี่ย 3 ถึง 5.7 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน)
แพทย์และคณาจารย์จุฬาฯได้รับการประเมินว่าอบอุ่นและมีความสามารถสูงกว่ากลุ่มอื่น คะแนนความอบอุ่นใกล้เคียงกับคะแนนความสามารถ จึงจัดว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมชมชอบในสังคมไทยได้
ผู้สูงอายุได้รับการประเมินว่ามีความอบอุ่นมากกว่ามีความสามารถเล็กน้อยจึงค่อนข้างใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับการโอบอุ้ม
นักการเมืองได้รับการประเมินว่ามีความสามารถมากกว่าความอบอุ่นจึงกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการเพ่งเล็ง
คนไร้บ้านได้รับการประเมินว่าอบอุ่นและมีความสามารถต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ ประกอบกับคะแนนความอบอุ่นและความสามารถของกลุ่มนี้ที่สูงพอ ๆ กัน จึงใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับการกดขี่ข่มเหงที่สุดในกลุ่มที่ได้รับการศึกษาในครั้งนี้
สำหรับผู้ป่วยจิตเภทและซึมเศร้านั้น ได้รับการประเมินว่าอบอุ่นและมีความสามารถมากกว่าคนไร้บ้านแต่ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ คะแนนความอบอุ่นไม่ต่างกับคะแนนความสามารถ จึงค่อนข้างใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับการกดขี่ข่มเหง
จะเห็นได้ว่าสังคมไทยไม่ได้แบ่งแยกกลุ่มสังคมชัดเจนเท่าในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การศึกษานี้เป็นเพียงการศึกษานำร่อง กลุ่มที่ใช้ในการศึกษาไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มในสังคม อีกทั้งกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อย จึงควรมีการศึกษาต่อไป ผู้อ่านสามารถเสนอชื่อกลุ่มที่ท่านคิดว่ามีความอบอุ่นและความสามารถในระดับต่างกันในคอมเมนต์ได้เลยค่ะ
รายการอ้างอิง
Fiske, S. T., Cuddy, A. J., Glick, P., & Xu, J. (2002). A model of (often mixed) Stereotype Content: Competence and warmth respectively follow from perceived status and competition. Journal of Personality and Social Psychology, 82(6), 878-902.
DOI: 10.1037//0022-3514.82.6.878
Lappromrattana, K. & Tsai, C. (2018). Stereotype and Discrimination among Thais from Different Generations (Unpublished undergraduate research). Faculty of Psychology, Chulalongkorn University: Thailand.
บทความวิชาการ
โดย อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย