ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของความเครียดกันก่อนว่าความเครียดเกิดขึ้นได้อย่างไร
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นจะขอสรุปแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมปัญญานิยมที่อธิบายว่า ความเครียดของเรานั้นเกิดจากการที่เราคิดและตีความสภาพการณ์ที่ตนเองเผชิญอยู่ ถ้าเราคิดว่าสภาพการณ์ที่เราเผชิญอยู่นั้นสร้างปัญหาให้กับชีวิตของเราและเราไม่สามารถที่จะจัดการกับมันได้ เราก็จะเกิดความวิตกกังวลอันนำไปสู่ความเครียดในเวลาต่อมา จากแนวคิดนี้ทำให้เข้าใจได้ว่าเรานั้นจะเกิดความเครียดทุกวัน เป็นความเครียดที่เราเกิดความเคยชินจนเราไม่รู้สึกถึงความเครียดนั้น แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 แน่ใจได้เลยว่าเรานั้นย่อมต้องเกิดความเครียดอย่างแน่นอน แต่จะมากจะน้อยย่อมขึ้นอยู่กับการรับรู้สภาวะความเสี่ยงและความเข้าใจในธรรมชาติของไวรัส COVID-19 ตลอดจนความสามารถในการป้องกันตนเองของแต่ละคน ความเครียดที่เกิดขึ้นถ้าน้อยก็จะไม่ค่อยใส่ใจที่จะป้องกันตนเอง แต่ถ้าเครียดมากอาจจะมีอาการถึงขั้นวิตกจริตเลยก็ได้ จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น หงุดหงิด หุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นที่คิดว่าพวกเขาเป็นพาหะของไวรัส COVID-19 เป็นต้น
ความเครียดมีข้อดีเหมือนกัน คือถ้าเครียดน้อยจะทำให้เราหาแนวทางป้องกันตนเอง แต่ถ้ามากไปก็จะทำให้เกิดปัญหากับตัวเองและผู้อื่นได้ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว คำถามคือเรารู้ได้อย่างไรว่าเราเครียดมากในระดับที่ต้องจัดการแล้ว สังเกตง่าย ๆ ในเงื่อนไขต่อไปนี้ คือนอนมากไปหรือนอนไม่หลับ กินน้อยลงหรือกินมากขึ้น ท้องร่วงโดยไร้สาเหตุ หงุดหงิดเร็วเกินกว่าเหตุ หรือปวดศีรษะบ่อยครั้ง เป็นต้น
ถ้าพบว่าเครียดมากให้เริ่มจัดการดังนี้
เรารู้ว่าเมื่อคนเราเกิดความเครียดเราก็จะเกิดความตึงทั้งร่างกายและจิตใจ
การจัดการในขั้นแรกจึงไม่ยากเพียงแต่เราต้องจัดการกับความตึงทางร่างกายก่อน โดยอาจจะนวด และหรือออกกำลังกาย จากนั้นค่อยจัดการทางด้านจิตใจโดยเริ่มจากการผ่อนคลาย ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เช่นฟังเพลง ดูภาพยนตร์ เล่นโยคะ ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือเป็นต้น
ขั้นต่อมาเป็นเรื่องที่ยากขึ้นมาอีกนิด คือให้ปรับเปลี่ยนความคิดของตนเองไปเป็นทางบวกให้มากขึ้น เช่นคิดว่าไม่ใช่ทุกคนจะติดไวรัส COVID-19 และถ้าเราเกิดติดไวรัส COVID-19 ก็รักษาหายได้ อัตราการตายของคนไทยจากไวรัส COVID-19 มีถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 ทำให้เราได้อยู่บ้านกับครอบครัวมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น และเราก็ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ในการสื่อสาร และการทำงาน การมองโลกทางบวกจะทำให้ชีวิตและสุขภาพจิตเราก็จะดีขึ้น
คิดเสมอว่า ไม่มีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ ผลกระทบของปัญหามีสองด้านเสมอ คือ ด้านบวกและลบ เพียงแต่เราเลือกที่จะมองนั่นเอง ดังนั้นการแก้ปัญหาความเครียดทางด้านจิตใจ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการมองโลกหรือปัญหาในทางบวกนั่นเอง
บทความวิชาการ
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการส่งเสริมทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม
ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life-Di Center)
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย