การสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ – Successful Aging

17 Jul 2024

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

การประเมินการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จมี 2 รูปแบบ ดังนี้

 

  1. การประเมินแบบภววิสัย (Objective successful aging) คือ การใช้เกณฑ์จากทฤษฎีและงานวิจัยมาวิเคราะห์การสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งอิงปัจจัยที่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ (การคงไว้ซึ่งระบบร่างกายและสมองที่ทำงานได้อย่างปกติและการห่างไกลจากโรค) โดยเปรียบเทียบกันในกลุ่ม
  2.  การประเมินแบบอัตวิสัย (Subjective successful aging) คือ มุมมองจากตนเองว่ามีการรับรู้อย่างไรเกี่ยวกับการสูงวัยของตน มองเป็นการวัดแบบตอบข้อคำถามด้วยตนเอง (self-report)

 

การประเมินทั้งสองแบบมักมีส่วนที่ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากการมองการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จแบบภววิสัยมักมีองค์ประกอบเรื่องภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคและภาวะทุพพลภาพ ขณะที่การมองการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จแบบอัตวิสัย ปัจจัยทางกายภาพไม่มีอิทธิพลมากนัก ซึ่งเกิดจากกระบวนการปรับตัวของบุคคลต่อสถานการณ์ที่ตนประสบ จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่บุคคลนั้นพึงพอใจ ทำให้มีแนวโน้มการประเมินองค์ประกอบด้านสุขภาพในทางบวกมากกว่า

 

ดังการศึกษาหลายงานที่เปรียบเทียบการประเมินการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จทั้งแบบภววิสัยและแบบอัตวิสัย ผลปรากฏว่า มีผู้สูงวัยจำนวนมากที่ประเมินว่าตนเองสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ แม้ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินแบบภววิสัยหรือเกณฑ์เรื่องการไม่มีโรคและภาวะทุพพลภาพ

ในปี ค.ศ. 2008 Kanning และ Schlicht ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จที่ประกอบด้วยด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยมีความสุขเชิงอัตวิสัย (subjective well-being) เป็นเป้าหมายสำคัญ แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุเป็นหลัก เนื่องจากสามารถช่วยในเรื่องสุขภาพร่างกาย ระบบปัญญารู้คิด และสร้างเสริมความสุขเชิงอัตวิสัยในระหว่างทำกิจกรรมได้ และเชื่อว่าผู้สูงอายุสามารถกำหนดการมีความสุขเชิงอัตวิสัยด้วยตนเองได้ โดยตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับคุณค่าส่วนบุคคลหรือวัฒนธรรมของตนและไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ซึ่งความสัมพันธ์ของการตั้งเป้าหมาย การไล่ตามเป้าหมาย และความสุขเชิงอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลสามารถเติมเต็มความต้องการด้านจิตใจได้มากหรือน้อย ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายเพื่อไปสู่ความสุขเชิงอัตวิสัยนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางกายของผู้สูงอายุเองเท่านั้น ยังขึ้นอยู่กับการเตรียมการของแต่ละคน และข้อจำกัดของโครงสร้างทางสังคมอีกด้วย

 

การประเมินการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จในประเทศไทย ปี ค.ศ. 2013 สุทธิวรรณและคณะ ได้พัฒนาเครื่องมือวัดการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จโดยเน้นองค์ประกอบทางจิต เรียกว่า Successful Aging Inventory (SAI) โดยสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้สูงอายุชาวไทยที่สูงวัยอย่างประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ถึงองค์ประกอบของการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จและปัจจัยที่ช่วยส่งเสริม ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ระบุว่า สติ (mindfulness) ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว และการมีส่วนร่วมในสังคม เป็นปัจจัยสำคัญของการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ

 

มาตรวัด SAI จึงประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านสุขภาพ – การห่างไกลจากโรค สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้
  2. ด้านจิตใจและอารมณ์ – การรู้สึกถึงคุณค่าของตนและรู้สึกมีพลัง มีความพึงพอใจในชีวิต
  3. ด้านมองและปัญญารู้คิด – การมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่และส่งต่อความรู้ไปยังคนรุ่นหลังได้
  4. ด้านสังคม – การตระหนักว่าตนเองมีความสำคัญต่อครอบครัวและเพื่อนฝูง สามารถพูดคุยเรื่องต่าง ๆ และแบ่งปันความรู้สึกได้
  5. ด้านปัญญาในการดำเนินชีวิต – การมีความรู้และยอมรับความจริงว่าไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน (เป็นด้านที่เพิ่มเข้ามาเรื่องจากเป็นลักษณะของผู้สูงอายุชาวไทย)

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

วิทยานิพนธ์เรื่อง

 

“ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จของผู้สูงอายุตอนต้นและผู้สูงอายุตอนกลาง ที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร” โดย วิลาวัลย์ วาริชนันท์ (2562) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69654

 

แชร์คอนเท็นต์นี้