เชื่อว่าหลายท่าน หลายที่ทำงานได้พยายามจัดสรรตัวเองหรือบุคคลในที่ทำงานให้อยู่บ้าน หรือทำงานจากที่บ้าน (work from home) เพื่อช่วยลดปัญหาการแพร่ไวรัสนะคะ ทีนี้ตอนอยู่บ้านช่วงแรก ๆ ก็ยังพูดคุย รักกันปกติ แต่มีรายงานจากสื่อต่างประเทศ เช่นที่ New York สหรัฐอเมริกา และที่จีน ในช่วงการเก็บตัวว่า ในครอบครัวเกิดความหงุดหงิด อารมณ์เสีย แล้วแสดงออกต่อบุคคลในครอบครัว เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ เช่น ต่อการประพฤติตัวต่อไวรัสที่ไม่ตรงกัน ไม่เข้าใจกัน หนักว่านั้นคือ พบว่าคู่ของเรา กับเรานั้น ไม่มีความเหมือนกันเลย
การที่ต้อง Work from home ไหนจะงานที่มีอยู่แล้ว ไหนจะงานที่เพิ่มจากโควิด แต่แฟนหรือคู่สมรสกลับมองว่าอยู่บ้านแล้วแต่ไม่ใส่ใจกัน เกิดเป็นความไม่เข้าใจกันอีก เพิ่งมาเห็นว่าคู่ของเราดูไม่รู้จักเรา ไม่เข้าใจเรา หรือไม่รู้จักไม่เข้าใจลูกของเรา กลายเป็นความคาดหวัง ความเข้าใจไม่เหมือนเดิม
เราควรเตรียมตัวอย่างไร ให้การอยู่บ้านของเราและครอบครัวเป็นไปได้อย่างดี
ผู้เขียนมองแบบนี้นะคะว่า คู่ที่ทะเลาะ บางครั้งเมื่อเราแบกรับความเครียดต่อสิ่งอื่นมา แต่ไม่ได้ตระหนักรู้ว่าตัวเองเครียด (เช่น จากการทำงานที่ต้องเปลี่ยนแผน หรือลดรายจ่าย) จนกระทั่งเหมือนเราสาดอารมณ์ใส่คนข้าง ๆ เราโดยเราไม่รู้ตัว
เมื่อเห็นว่าคนในครอบครัวเราเครียด เราจะจัดการกับภาวะอารมณ์เขาได้อย่างไร
อาจจะเป็นการคุยกันบ้าง แต่หากเขาสาดอารมณ์ใส่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสาดอารมณ์กลับนะคะ จินตนาการภาพเขาอาจจะเหมือนคนที่กำลังจะจมน้ำอยู่ ที่ตะเกียกตะกาย เขาอาจจะสะบัดน้ำใส่เราบ้าง เขาอาจจะทำให้เรารู้สึกรำคาญใจ แต่หากเราเข้าใจเจตนาว่าเขามีภาวะความเครียดบางอย่างที่เขาจัดการไม่ได้ แล้วเราปลอบประโลมเขาด้วยคำพูด ก็จะทำให้ดูสงบลงได้ เช่น “ไม่เป็นไร เดี๋ยวตรงนี้เราดูให้นะ” “เดี๋ยวจัดการให้นะ คุณทำตรงนี้ไปก่อน”
แต่ต้องผลัดกันนะคะ ถ่อยทีถ่อยอาศัยกัน สามีและภรรยาต่างต้องเข้าใจในจุดนี้ว่าทุกคนต่างมีภาวะเครียดในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ อะไรที่เป็นความสบายใจของคุณตอนนี้ ฉันทำให้ได้ ฉันจะทำ
คนเรามักสื่อสารด้วย Second message หรือข้อความที่ 2 เช่น การพูดว่า “ทำไมคุณอยู่บ้านแล้วไม่ดูแลบ้านเลย” “ทำไมคุณอยู่บ้านแล้วไม่มีเวลาให้ฉันมากกว่านี้ ไม่สนใจฉันเลย สนใจแต่งาน” ข้อความนี้ฟังดูเหมือนการต่อว่านะคะ แต่ภายใต้ข้อความนี้คือ “ฉันน้อยใจแล้วนะ ฉันแค่อยากให้คุณมาสนใจฉันบ้าง” ซึ่งนั่นคือข้อความที่ 1 ถ้าคนฟังแล้วเข้าใจภาวะตรงนี้ สะท้อนกลับสักนิดว่า “คุณกำลังน้อยใจใช่ไหม โอเค ฉันจะสนใจคุณมากขึ้น” ปัญหาก็จะจบ แต่คนส่วนใหญ่มักตีความด้วยข้อความที่ 2 เพียงอย่างเดียว
สถานการณ์โควิดนี้เหมือนเป็นการพิสูจน์หลาย ๆ เรื่อง พอเราใกล้กันมากขึ้น มีภาวะความเครียด ถ้าเรายังสามารถจับมือผ่านไปได้ ด้วยการที่เราเข้าใจซึ่งกันและกัน และถ่อยทีถ่อยอาศัยกัน มันจะทำให้เรารู้เลยว่าคนที่อยู่ข้างเราก็ไม่ใช่ใคร คนในบ้านนี่เอง เขาคือความสบายใจที่เรามอบให้แก่กันได้ค่ะ
มองแนวคู่รักบำบัดนะคะ Personal space หรือ พื้นที่ส่วนตัวนั้นสำคัญมาก คนเราจะมีวงกลมเป็นของตัวเอง วงกลมของคุณ วงกลมของฉัน เราต้องแชร์วงกลมนี้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ทับซ้อนกันสนิท หมายถึงว่า เราจะมีพื้นที่เป็นของตนเอง พื้นที่นี้หมายความว่า
“ฉันอยากที่จะรู้สึกอย่างที่ฉันอยากที่จะรู้สึก”
“อยากที่จะพูดหรืออยากที่จะคิดอย่างที่ฉันอยากที่จะคิดหรือพูด”
โดยที่เขาต้องไม่มาตัดสินฉัน และฉันจะต้องไม่นำความเดือดร้อนไปให้เขา
ตัวอย่างในสถานการณ์โควิดนี้ ผู้เขียนออกไปทำงานนอกบ้าน และมีความคิดว่าเมื่อกลับมาเราต้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนชุด แยกเสื้อผ้าซักต่างหาก ซึ่งคนในบ้านอาจจะไม่เห็นด้วย แต่คนในบ้านเข้าใจว่าเรากังวลบางอย่าง ไม่สบายใจบางอย่าง นั่นคือ Personal space หรือ เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เราจะรู้สึกได้อย่างเต็มที่ คนในครอบครัวต้องเคารพในความรู้สึก หากสบายใจก็ให้ทำ นั่นคือการเคารพพื้นที่ส่วนตัวซึ่งกันและกัน ซึ่งมันสำคัญมากสำหรับการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหนึ่ง หรือการอยู่ด้วยกันเป็นคู่รัก โดยพื้นที่จริง ๆ ทางกายภาพจะมีส่วนน้อยนะคะ เมื่อพูดถึงเรื่องพื้นที่ส่วนตัว เราจะมองถึงพื้นที่ด้านจิตใจเป็นหลัก
ในส่วนของพื้นที่ทางกายภาพจริง ๆ เช่น เรา Work from home แล้วเราต้องการพื้นที่ ที่ไว้นั่งคิดงานของเรา มีพื้นที่ที่เราจะแสดงกริยาท่าทางไม่เหมาะสมโดยไม่มีใครมาตัดสินเรา ว่าทำไมคุณทำหน้าแบบนั้น หรือเราไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลว่าถ้าเราทำหน้าแบบนั้น ถอนหายใจแรง ๆ สบถคำบางคำออกมา แล้วมันจะไปมีผลต่อคนในบ้านว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร หรือเขาจะมองว่าฉันเป็นคนอย่างไร
แต่การมีพื้นที่ส่วนตัวนี้ ไม่ว่าจะในแง่จิตใจหรือทางกายภาพ ก็ควรอยู่บนพื้นฐานความสบายใจที่เรามอบให้แก่กัน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะนำมาอ้างเพื่อสาดอารมณ์หรือทำพฤติกรรมต่าง ๆ ที่สร้างความไม่สบายใจแก่กัน แล้วบอกว่านี่เป็นพื้นที่ของฉันนะคะ
บางทีเขาต้องการพื้นที่กว้าง ๆ เพราะเขาต้องการหลบหน้ากัน (แบบนี้ต้องพิจารณาความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกที) หรือบางทีฉันต้องการพื้นที่ส่วนตัว เพื่อต้องการแสดงออกบางอย่าง ถ้าอยู่ในพื้นที่บ้านเล็ก ๆ แล้วทุกคนไม่ตัดสินกัน คุณจะแสดงออกอย่างไรก็ได้ อันนั้นคือภาวะอารมณ์ของคุณ เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าบ้านจะแคบขนาดไหน คุณก็จะอยู่ได้อย่างสบายใจมากกว่าค่ะ
กล่าวโดยสรุปคือ
การเตรียมตัวเตรียมใจให้การอยู่บ้านของเราและครอบครัวเป็นไปได้อย่างดี มีปัจจัยหลัก 3 ด้าน
- การเคารพพื้นที่ส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญ โดยหมายรวมถึงความรู้สึกของเขาด้วยที่เราต้องเคารพ ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร เขาอยากจะแสดงออกยังไง เขาต้องมีพื้นที่ที่เขาจะเป็นตัวเอง
- เราต้องผลัดกัน take turn รู้จักการเป็นผู้รับและเป็นผู้ให้ บางทีเราอาจจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ตลอด เมื่อมีใครคนหนึ่งร้อน อีกคนก็ต้องเป็นน้ำเย็น เข้าใจ และให้อภัย และเมื่ออีกฝ่ายร้อนบ้าง อีกคนก็ต้องผลัดกันเป็นน้ำเย็นเช่นกัน
- มองลึกลงไปใน Message ที่สื่อสารกัน บางครั้งเราสื่อสารด้วย Second message ที่ดูเหมือนตำหนิต่อว่ากัน แต่ถ้าเรามองเห็นความรู้สึกน้อยใจ การต้องการความสนใจ เราก็จะทะเลาะกันน้อยลง
อีกนิดก่อนปิดท้าย การผลัดกัน take turn ดูแลใจกัน ไม่ได้หมายความว่าจะตั้งหน้าตั้งตารอ ที่จะคิดว่า “เมื่อวานคุณสาดอารมณ์ใส่ฉัน คราวนี้ตาฉันบ้างล่ะ” นะคะ เพราะเป้าหมายเราคือเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการรักษาบรรยากาศภายในบ้านให้ดีที่สุด อยากให้บ้านเป็นที่สบายใจ แล้วเมื่อเรามีเป้าหมายร่วมกันแบบนี้ มันก็จะออกมาดีค่ะ
บทความวิชาการโดย
คุณฐิตาภา ชินกิจการ
นักจิตวิทยาคลินิก
และ
อาจารย์ ดร.วิทสินี บวรอัศวกุล
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาทรัพยากรมนุษย์และการทำงาน คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย