ในชีวิตประจำวันของคนเราปัจจุบัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากมาย ซึ่งข้อมูลข่าวสารนี้หมายรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่แวดล้อมตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ สิ่งของ แนวคิด นโยบาย การกระทำ ความคิด ความรู้สึกของคนอื่น และยังรวมถึงความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ความรู้สึกของตัวเราเองด้วย
บางครั้งที่เรายังไม่มีความคิดเห็น หรือยังไม่มีจุดยืนใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องบางอย่างเลย เมื่อได้รับข้อมูลมา เราอาจไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร คนเรามักหันไปมองคนรอบข้าง หรือคนส่วนใหญ่ ว่าเขาคิดอย่างไร ทำอย่างไร เราก็จะเชื่อและทำตาม เช่น พลังเงียบที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยกับกลุ่มทางการเมืองกลุ่มใด ก็อาจรอดูผลโพลว่าคนส่วนใหญ่สนับสนุนฝ่ายใด หรือรอดูจำนวนคนที่มาชุมนุมขับไล่ เปรียบเทียบกับจำนวนคนที่มาชุมนุมสนับสนุนนายกรัฐมนตรี แล้วจึงตัดสินใจตามกระแสคนส่วนใหญ่ หรือบางที เราก็ใช้ความคิดเห็นของบุคคลใกล้ชิด คนที่มีชื่อเสียง คนที่เราชอบหรือนับถือมาอ้างอิง และตัดสินใจไปตามเขา เช่น เมื่อเห็นว่าพ่อชื่นชอบนายกรัฐมนตรี ลูกก็อาจชื่นชอบนายกรัฐมนตรีไปด้วย เห็นพิธีกรที่เราชื่นชอบแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี เราก็มีแนวโน้มที่จะเออออตามไปด้วย เป็นต้น
ที่เป็นเช่นนี้ นักจิตวิทยาอธิบายว่า ธรรมชาติของคนเราไม่ชอบความขัดแย้งหรือความไม่สอดคล้องกลมกลืน เพราะภาวะเช่นนั้นจะทำให้อึดอัด ตึงเครียด ไม่สบายใจ ดังนั้น ขณะที่เรายังไม่มีจุดยืนหรือความคิดเห็นที่เข้มข้น หากคนที่เราชื่นชอบคิดอย่างไร เราก็มีแนวโน้มจะเห็นดีเห็นงามด้วยมากกว่าจะเริ่มจากการเห็นขัดแย้งกับเขา
ในกรณีที่เป็นการคล้อยความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ นอกจากเราจะมีความเชื่อว่าความเห็นของคนส่วนใหญ่น่าจะถูกต้องแล้ว การคล้อยตามเสียงส่วนใหญ่ยังช่วยให้เราไม่ต้องเผชิญหน้ากับการต้องเป็นคนเดียวที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคม หรือคนอื่นส่วนใหญ่
ทว่า หากเรามีจุดยืนอยู่แล้ว เราจะจัดการกับข้อมูลข่าวสารมากมาย ทั้งที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับจุดยืนของเราอย่างไร? และจะส่งผลอะไรกับความรู้สึกนึกคิดของเราบ้าง?
ข้อมูลมากมายจากหลายแหล่งที่เราได้รับในแต่ละวัน มีทั้งข้อมูลที่สอดคล้องไปกับจุดยืนเรา เช่น ฉันชอบนายกรัฐมนตรีคนนี้มาก เพื่อนฉันก็ชอบนายกรัฐมนตรีคนนี้เช่นกัน แต่ก็ย่อมมีโอกาสที่ข้อมูลมากมายที่เรารับรู้นั้น อาจขัดแย้งกับจุดยืนของเรา เช่น เราชอบนายกรัฐมนตรีคนนี้มาก แต่เพื่อนสนิทของเรากลับไม่ชอบ แถมยังไปชุมนุมขับไล่นายกอีกต่างหาก หรือเราเชื่อว่านายกรัฐมนตรีคนนี้เป็นคนดี แต่ก็มีคนนำข้อมูลทางลบของนายกมาเปิดเผยอยู่ทุกวัน เป็นต้น
แล้วการมีกรอบความคิด หรือจุดยืนอยู่ก่อนแล้วล่วงหน้า ส่งผลอย่างไรกับการรับรู้ข้อมูล ดังนี้ แนวคิดเรื่องธรรมชาติของคนเราที่ไม่ชอบความขัดแย้ง ไม่สอดคล้องกลมกลืนมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะนักจิตวิทยาพบว่า เมื่อใดก็ตามที่เรามีกรอบความคิดอยู่แล้ว เรามีแนวโน้มจะเลือกเปิดรับ ใส่ใจ และจดจำข้อมูลที่สอดคล้องกับกรอบความคิดหรือจุดยืนนั้น และหลีกเลี่ยง ไม่ใส่ใจ ปฏิเสธหรือบิดเบือนข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับกรอบความคิดของตนเอง
ประเด็นสำคัญตรงนี้ก็คือ เมื่อเรามีข้อมูลเดิม หรือจุดยืนบางอย่างอยู่ในใจ เราจึงไม่ได้เปิดรับข้อมูลต่าง ๆ ด้วยสมองที่ว่างเปล่าหรือเป็นกลางเสมอไป แต่เป็นการรับรู้ข้อมูลผ่านกรอบความคิดบางอย่าง ซึ่งกำกับควบคุมกระบวนการรับรู้ของเรา
ดังนี้ ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบภาวะขัดแย้ง ไม่สอดคล้องทางความรู้สึกหรือความคิดเห็น ดังนั้น เมื่อเรามีจุดยืนอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นกรอบในการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร โดยเรามักจะเปิดรับแต่ข้อมูลที่สอดคล้องกับจุดยืน และหลีกเลี่ยงการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งกับจุดยืนของตนเอง อีกทั้ง ยังมีการลำเอียงในการเลือกเปิดรับข้อมูล
เวลาเราเห็นความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกันทางความคิดเห็น เรามักเกิดความคิดว่า หากให้ข้อมูลในทิศทางตรงกันข้ามแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เขาก็คงจะเข้าใจเรา และหันมาเป็นพวกเรา แต่นักจิตวิทยาพบว่า ถึงแม้ว่าในที่สุดเราจะได้รับข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับจุดยืนของเรา เราก็มีแนวโน้มที่จะไม่ใส่ใจข้อมูลนั้น เพราะเมื่อใดที่ได้รับรู้ข้อมูลที่ขัดแย้งกับจุดยืนของตน คนเรามักเกิดความอึดอัด กระวนกระวาย ไม่สบายใจ ส่วนหนึ่งเพราะกลัวว่าจุดยืนที่เราเชื่อว่าถูกต้องจะถูกโจมตี ทำให้รู้สึกลังเลว่าจุดยืนที่ตนยึดถือนั้นถูกจริงหรือไม่ บ้างก็รู้สึกโกรธที่มีคนเห็นขัดแย้งกับตนเอง จนหลีกหนี ไม่ยอมใส่ใจกับข้อมูลเหล่านั้นอีก และหันไปหาข้อมูลที่สอดคล้องกับจุดยืนของตนเองแทน
นอกจากนี้ การได้รับฟังข้อมูลที่ขัดแย้งกับจุดยืนของตน ยังเป็นการกระตุ้นให้เราคิดหาเหตุผลมาหักล้างข้อมูลเหล่านั้นเพื่อปกป้องจุดยืนของตนไว้ ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลให้เรายิ่งเชื่อมั่นใจจุดยืนของตนเองมากขึ้นไปอีก
ดังเช่น ทุกวันนี้ ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะพูดสิ่งใด ทางฝ่ายต่อต้านก็จะหาเหตุผลมาหักล้าง ว่าสิ่งที่รัฐบาลพูดผิดอย่างไร หรือไม่น่าเชื่อถือตรงไหน ในทางกลับกัน ไม่ว่าทางฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพูดสิ่งใด ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็จะหาเหตุผลมาหักล้างว่าไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือ หรือมีเจตนาอื่นแอบแฝง ต่างฝ่ายต่างก็ไม่เกิดความคิดในด้านที่ว่า สิ่งที่ฝ่ายตรงกันข้ามพูดอาจจะถูกต้องตรงที่ใด เพราะเหตุใด ดังนั้น การให้ข้อมูลในทิศทางตรงกันข้าม หากไม่ชัดเจนมากเพียงพอ ก็จะกลายเป็นการกระตุ้นให้เขายึดติดกับจุดยืนเดิมมากขึ้น
นอกจากนี้ นักจิตวิทยาสังคมพบว่า โดยทั่วไป การมีคนอื่นอยู่ด้วย จะทำให้การตอบสนองที่เรามีความโน้มเอียงอยู่แล้วยิ่งเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เราอยู่ท่ามกลางคนที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกับเรา ที่มารวมกลุ่มกัน พบปะพูดคุยกัน แต่ละคนในกลุ่มจะยิ่งมีความคิดเห็นเข้มข้นขึ้นในทิศทางที่มีแนวโน้มอยู่แล้ว
ดังเช่น การทดลองของนักจิตวิทยาคนหนึ่ง พบว่า หลังจากจัดกลุ่มนักศึกษาผิวขาวให้พูดคุยกันเรื่องคนผิวดำ กลุ่มใดที่สมาชิกในกลุ่มมีเจตคติทางลบต่อคนผิวดำ หลังพูดคุยก็ปรากฏว่าแต่ละคนมีเจตคติทางลบต่อคนผิวดำมากกว่าเดิม ส่วนกลุ่มที่ประกอบไปด้วยนักศึกษาที่มีเจตคติทางบวกต่อคนผิวดำ เมื่อได้พูดคุยกันในกลุ่มแล้วก็มีเจตคติทางบวกต่อคนผิวดำมากขึ้น
ที่เป็นเช่นนี้ นักจิตวิทยาอธิบายว่าเกิดจากอิทธิพลของกลุ่ม 2 ประการ ได้แก่ อิทธิพลด้านข้อมูล และอิทธิพลด้านบรรทัดฐานของกลุ่ม
ประการที่ 1 คือ บุคคลได้รับอิทธิพลด้านข้อมูล ทำให้มีความคิดเห็นเข้มข้นขึ้น เช่น เดิมนาย ข ไม่ชอบนายกรัฐมนตรี เพราะมีข้อมูลทางลบอยู่ส่วนหนึ่ง เมื่อนาย ข เข้าไปพูดคุยกับคนอื่นในกลุ่ม ได้รับฟังคนอื่นที่มีข้อมูลทางลบด้านอื่นๆ ที่เขาไม่เคยรู้เพิ่มมากขึ้นอีก ทำให้นาย ข ยิ่งมีความรู้สึกไม่ชอบนายกยิ่งกว่าเดิม
ประการที่ 2 คือ อิทธิพลจากบรรทัดฐานของกลุ่ม เช่น นาย ค ชื่นชอบนายกรัฐมนตรี เมื่อได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านหลายสิบคนที่ชอบนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน ทำให้นาย ค รู้สึกว่า ใครๆ ก็ชื่นชอบนายกฯ เวลานาย ค แสดงความเห็นชื่นชมนายก เพื่อนบ้านต่างก็เออออสนับสนุน แถมบางคนยังแสดงความชื่นชอบนายกฯ มากกว่านาย ค เสียอีก นาย ค จึงมีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าที่ตนชื่นชอบนายกรัฐมนตรีนั้น ตนคิดถูกต้องแล้ว จึงกล้าแสดงความรู้สึกชื่นชอบที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม
โดยทั่วไป การที่คนมารวมกลุ่มกัน ก็มักมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันทำสิ่งใดสักอย่าง ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร คนในกลุ่มก็ต้องอภิปราย ปรึกษาหารือกัน แต่นักจิตวิทยาสังคมพบว่า การตัดสินใจของกลุ่มเพื่อทำอะไรสักอย่าง บางครั้งกลับเกิดความผิดพลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เราอาจจะเกิดข้อสังสัยได้ว่า ทำไมการตัดสินใจทำอะไรเป็นกลุ่มจึงนำไปสู่ความผิดพลาดได้ ยิ่งมีหลายคนยิ่งน่าจะช่วยกันพิจารณาแง่มุมต่างๆ อย่างทั่วถึง และรอบคอบ
ทว่า คนเราไม่ชอบข้อมูลที่ขัดแย้งกับจุดยืนของตนเอง เมื่อสมาชิกที่มีความคิดเห็นคล้าย ๆ กันมาอภิปรายร่วมกันเป็นกลุ่ม ก็มักพูดถึงแต่ว่า ความคิดเห็นของพวกตนน่าจะถูกต้องเพราะเหตุใด โดยไม่ได้คิดว่าความคิดเห็นของกลุ่มตนอาจจะผิด หรือความคิดเห็นของฝ่ายตรงกันข้ามอาจจะถูกต้องได้หรือไม่ เพราะสิ่งใด
นอกจากนี้ แม้จะมีสมาชิกบางคนได้รับข้อมูลใหม่ ๆ ที่อาจขัดแย้งกับกลุ่มมา ก็มักเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้านำเสนอ เพราะกลัวว่าจะทำให้คนอื่นในกลุ่มไม่พอใจ หรือแม้ตั้งใจจะนำเสนอ ก็อาจมีแกนนำกลุ่มบางคนพยายามขัดขวาง เพราะเกรงว่าจะทำให้คนในกลุ่มสับสนหรือหวั่นไหว ดังนั้นจึงเกิดภาพลวงตาขึ้นว่าทุกคนในกลุ่มเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์
การตัดสินใจกลุ่มที่ผิดพลาดเช่นนี้ มักเกิดขึ้นกับกลุ่มที่มีความสนิทสนมกลมเกลียวกันมากๆ เพราะจะมีแรงกดดัน ทำให้สมาชิกไม่กล้าเสนอความคิดหรือข้อมูลที่ขัดแย้ง นอกจากนี้ ยังมักเกิดกับกลุ่มที่มีผู้นำที่ชอบชี้นำ ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของสมาชิกในกลุ่ม และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นจากคนนอกกลุ่มที่ให้ความคิดเห็นจากมุมมองที่แตกต่างจากตน
ผลจึงมักปรากฏว่า คนในกลุ่มใช้เวลาพูดถึงแต่ข้อมูลที่รู้กัน และเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้ว มากกว่าจะพูดถึงแง่มุมอื่นที่ขัดแย้ง ทำให้เกิดการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด และตัดสินใจผิดพลาดเพราะการตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อมูลด้านเดียว จึงคิดว่าสิ่งที่กลุ่มตนทำนั้น ถูกต้อง เหมาะสมแล้ว
ท่ามกลางความขัดแย้งในปัจจุบันนี้ คนเรามีวิจารณญาณที่จะเลือกจุดยืนของตนเอง ส่วนแนวคิดจิตวิทยาที่อธิบายถึงกระบวนการ และปัญหาในการยึดถือจุดยืนแบ่งข้าง แบ่งฝ่ายนี้ หวังว่าคงจะมีประโยชน์ประกอบการตัดสินใจที่จะแสดงท่าทีของเราทุกคนเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย