Teasing – การล้อเลียน

09 Nov 2021

คำศัพท์จิตวิทยา

 

การล้อเลียนเป็นพฤติกรรมหนึ่งของการข่มเหงรังแก (bully) แต่การล้อเลียนมีลักษณะซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงมากกว่าพฤติกรรมข่มเหงรังแกทั่วไป เนื่องจากการล้อเลียนจะต้องคำนึงถึงจุดประสงค์ของผู้ล้อเลียน และการตีความของผู้ที่ถูกล้อเลียนร่วมด้วย

 

เวลาบุคคลกระทำการล้อเลียน การแสดงออกของพฤติกรรมมักมีความกำกวมต่อการตีความอยู่เสมอ เมื่อคนแสดงการล้อเลียนไปแล้วและไม่เห็นว่ามีการตอบสนองกลับมา จึงอาจคิดว่าผู้ที่ถูกล้อเลียนไม่ได้คิดมากอะไร ทำให้ผู้ล้อเลียนยังคงแสดงการล้อเลียนต่อไปในอนาคต แต่ในความเป็นจริงคนที่ถูกล้อเลียนอาจรู้สึกไม่ดีในใจ แต่ไม่ได้แสดงออกมา ทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริงและนำมาสู่การมองข้ามปัญหาความรุนแรงที่มาจากการล้อเลียน

 

 

 

 

 

เรื่องที่พบในการล้อเลียนแบ่งเป็น 5 เรื่อง ได้แก่

 

1. การแสดงออก (Performance)

2. คุณลักษณะทางด้านการเรียน (Academic Characteristics)

3. พฤติกรรมสังคม (Social Behavior)

4. ภูมิหลังครอบครัว (Family Background)

5. รูปร่างลักษณะ (Appearance)

 

แม้การล้อเลียนจะถูกระบุว่าเป็นการสบประมาททางวาจาเพื่อให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรู้สึกโดนเหยียดหยาม อับอาย แต่การล้อเลียนยังสามารถพบได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ บางครั้งมีการใช้ความสนุกสนาน การเล่น หรือความขบขันเข้ามาประกอบกับการสื่อสาร จึงทำให้เกิดทางเลือกในการตีความของสารที่ได้รับมา

 

 

การล้อเลียนในครอบครัวและโรงเรียน

 

การล้อเลียนพบได้ทั่วไปในสังคมจากทั้งครอบครัวและโรงเรียน โดยวัยรุ่นหญิงจะถูกล้อเลียนมากกว่าวัยรุ่นชาย งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าเด็กวัยรุ่นเผชิญกับการล้อเลียนในโรงเรียนมากที่สุด มาจากกลุ่มเพื่อนเป็นอันดับหนึ่ง อาจเพราะเป็นช่วงวัยที่อยู่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน และมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ดังนั้นกลุ่มเพื่อนจึงเป็นสังคมที่ส่งอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น แหล่งการล้อเลียนถัดมาที่พบคือครอบครัว โดยพบในกลุ่มที่น้องของวัยรุ่นเป็นอันดับที่สอง และลำดับท้ายสุดคือผู้ปกครอง งานวิจัยรายงานว่าวัยรุ่นจะถูกล้อเลียนจากพี่ชายคนโตมากที่สุด และในกลุ่มผู้ปกครองจะพบการล้อเลียนจากมารดามากกว่าบิดา โดยมารดาจะมีเนื้อหาการล้อเลียนในเชิงของการเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพของวัยรุ่น ส่วนบิดาจะมีเนื้อหาการล้อเลียนในเชิงโจมตีรูปร่างลักษณะทางลบของวัยรุ่นมากกว่า

 

สาเหตุของการล้อเลียน

 

การล้อเลียนในโรงเรียนเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของวัยรุ่น เช่น การเรียนรู้เรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล และการเรียนรู้เรื่องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและนอกกลุ่ม วัยรุ่นบางคนล้อเลียนเพื่อนร่วมชั้นเพราะเกิดจากความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าสิ่งใดที่ทำให้วัยรุ่นที่ถูกล้อเลียนมีลักษณะแตกต่าง หรือพิเศษมากกว่าคนอื่นในห้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและการเป็นคนนอกกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงการล้อเลียนเพื่อต้องการได้รับความสนใจ แม้ว่าจะเป็นความสนใจทางลบ แต่เด็กกลุ่มนี้กลับคิดว่าก็ยังดีกว่าการไม่ได้รับความสนใจเลย เนื่องจากมองว่าการล้อเลียนคนอื่นเป็นเรื่องเท่และเจ๋ง โดยแสดงออกมาเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนและได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

 

 

การเผชิญกับการล้อเลียน

 

การล้อเลียนสามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่การเผชิญกับการล้อเลียนในวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่มีลักษณะที่แตกต่างกัน เด็กและวัยรุ่นจะตีความการล้อเลียนในทางลบมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กและวัยรุ่นจะประสบกับการถูกล้อเลียนอยู่เป็นประจำและต่อเนื่อง รวมทั้งความสามารถในการจัดการของตัวเด็กต่อการล้อเลียนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับช่วงผู้ใหญ่ ในวัยผู้ใหญ่แม้ว่าจะประสบกับการถูกล้อเลียนอยู่บ้างแต่มุมมองที่มีต่อการล้อเลียนมีแนวโน้มไปในทิศทางบวกมากกว่า โดยมองว่าการล้อเลียนเป็นสิ่งที่สนุกสนานและช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อน โดยใช้การหัวเราะ ยิ้ม และอารมณ์ทางบวกเข้ามาประกอบการตีความการล้อเลียน

 

 

จะเห็นได้ว่าการตีความของคนที่ถูกล้อเลียนและจุดประสงค์ของคนล้อเลียนเป็นสิ่งสำคัญในปรากฎการณ์ การจะรับรู้ว่าบุคคลที่ถูกล้อเลียนนั้นมีความรู้สึกอย่างไรเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ด้วยปัญหาความกำกวมในการตีความ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้การล้อเลียนยังคงอยู่และพบได้ทั่วไปในสังคม

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการล้อเลียนกับความซึมเศร้าและความวิตกกังวลในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น โดยมีคุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความสามารถในการฟื้นพลังเป็นตัวแปรกำกับ” โดย ณัฐพล ชัยกิตติพรเลิศ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59835

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

แชร์คอนเท็นต์นี้