ทำไมยิ่งโต ยิ่งดื้อ – วิธีการฝึกวินัยให้เจ้าตัวน้อย

06 Jan 2023

คุณเวณิกา บวรสิน

ทำไมยิ่งโต ยิ่งดื้อ – วิธีการฝึกวินัยให้เจ้าตัวน้อย

 

 

“ทำไมยิ่งโต ยิ่งดื้อ” ประโยคนี้พ่อแม่หลายบ้านต้องเคยพูดมาแล้วใช่ไหมคะ จริง ๆ แล้ว คำว่า “ดื้อ” นั้น เป็นการแสดงพัฒนาการของเด็กอย่างหนึ่ง วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจ และหาวิธีรับมือกับเรื่องนี้กันค่ะ

 

ที่บอกว่าเป็นพัฒนาการของเด็ก เพราะว่าเด็กในวัย 1.5 ปี ขึ้นไป จะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มเดินได้ เริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เด็กอยากทดลอง เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว และที่สำคัญเด็กจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้การจัดการอารมณ์ของเด็กไม่คงที่ ยิ่งพอโตขึ้นการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์รอบตัวที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้เด็กต้องจัดการกับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการต้องไปโรงเรียน การมีเพื่อนวัยเดียวกัน และการคาดหวังจากพ่อแม่ที่มากขึ้นตามวัย ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่เด็กจะมีพฤติกรรมที่พ่อแม่หลายบ้านรู้สึกว่า ดื้อ เอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์

 

Free photo i don't know what to do. exhausted young mom feeling tired while trying to stop her children from screaming and fighting at home

Image by tonodiaz on Freepik

 

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากเด็กแต่เพียงฝ่ายเดียวค่ะ การเลี้ยงดูก็มีส่วนที่จะทำให้ดีกรีของพฤติกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละบ้านด้วย เช่น ถ้าบ้านไหนทนไม่ได้กับการร้องไห้ของเด็ก ให้เด็กทุกอย่างเมื่อเด็กร้องไห้ บ้านนั้นก็จะได้เด็กเจ้าอารมณ์ ขี้งอแง เพราะเด็กจะเรียนรู้จากวิธีที่ผู้ใหญ่ตอบสนองต่ออารมณ์ที่เขาแสดงออก และเจ้าตัวน้อยก็จะพัฒนาเชื่อมโยงเอาสิ่งเหล่านี้ไปใช้กับเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่เขาต้องการนั่นเอง

 

ดังนั้นการสอนและฝึกวินัยให้กับเด็กจึงเป็นสิ่งที่ควรเริ่มทำตั้งแต่เด็ก บางบ้านมักบอกว่ายังเล็กอยู่เลย เดี๋ยวโตค่อยสอนก็ได้ แต่การฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่เด็กจะทำให้เด็กได้เรียนรู้การควบคุมตนเอง และเป็นการปลูกฝังให้เด็กมั่นใจว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ วัยที่เหมาะสมจะฝึกวินัยให้กับเด็กก็คือวัยอนุบาลไปจนถึงวัยประถม เพราะเด็กจะสามารถเรียนรู้จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ และพร้อมที่จะตัดสินใจเรื่องที่เข้ามาในชีวิต ท่ามกลางความปลอดภัยและการสนับสนุนที่พ่อแม่ยังคอยดูแลให้อยู่ รวมถึงเด็กต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ทำให้ยินยอมที่จะเรียนรู้และทำตามสิ่งที่พ่อแม่สอน หากปล่อยให้ไปถึงวัยรุ่นแล้วจะไม่ทัน เพราะในวัยนั้นเด็กจะเริ่มต้องการการยอมรับจากเพื่อนไม่ใช่พ่อแม่ ทำให้ยากที่จะฝึกวินัยให้เด็กแล้วค่ะ

 

 

 

เรามาดูวิธีที่จะสอนและฝึกวินัยให้ลูกกันค่ะ

 

 

1. กำหนดกฎเกณฑ์ให้ลูกอย่างเหมาะสมตามวัย และให้ลูกมีส่วนร่วมในการช่วยกำหนดกฎเกณฑ์นั้น

 

การเรียนรู้และทดลองต่าง ๆ ของเด็กสามารถทำได้โดยที่พ่อแม่ต้องตกลงกับลูกก่อนว่า ทำได้ในขอบเขตแค่ไหน และเพราะอะไร ทางที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน พ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ให้คำอธิบายถึงข้อดี ข้อเสียของสิ่งที่จะเกิดขึ้น บอกกติกาอย่างชัดเจน เช่น ลูกสามารถเล่นในสนามเด็กเล่นได้อย่างอิสระ แต่ไม่ออกไปเกินพื้นที่ตรงไหน เพราะอะไร ที่สำคัญที่สุดอย่าใช้คำสั่ง การบังคับ และห้ามไม่ให้ทำ เพราะนั่นจะเป็นการท้าทายให้เด็กอยากจะทำมากยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดให้เด็กเข้านอนตอน 2-3 ทุ่ม ควรมีการพูดคุยกับเด็กก่อนว่า หนูต้องนอนพักผ่อนเพื่อที่ตัวจะได้สูง ๆ หนูอยากเข้านอนตอน 2 ทุ่ม หรือ 3 ทุ่มคะ แม่ให้หนูเลือกเอง ซึ่งตัวเลือกที่จะให้เด็กเลือกนั้นควรระบุให้ชัดเจนค่ะ (เวลาตกลงกับเด็กอย่าให้เลือกว่า เอาหรือไม่เอา นะคะ เพราะพอเด็ก ๆ เลือกไม่เอา แล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ เด็กจะสับสนว่าแล้วให้เลือกทำไม ในเมื่อเขาเลือกแล้ว พ่อแม่ก็ไม่สนใจความต้องการของเขา)

 

2. ใช้คำพูดที่เป็นทางบวกและเข้าใจง่าย ในการสื่อสารความต้องการและอธิบายสิ่งต่าง ๆ กับเด็ก

 

คำว่า “อย่า…นะ” สำหรับเด็กเล็ก จะไม่เป็นผลเท่าที่ควร เพราะเด็กต้องแปลความหมายก่อน และมักจะไม่ทันกับการกระทำที่เด็กกำลังทำอยู่ เช่น การที่แม่บอกลูกว่า “อย่าวิ่งนะ อันตราย” กับการบอกลูกว่า “ลูกเดินข้าง ๆ แม่นะคะ แม่อยากให้หนูเดินเป็นเพื่อนแม่” ประโยคแรกเด็กต้องแปลความหมาย ในขณะที่ประโยคหลังเด็กสามารถเข้าใจได้ทันทีเมื่อได้ยิน ในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ กับเด็กก็เช่นกัน หากเราใช้คำที่ง่าย (แต่ต้องเป็นความจริง อย่าหลอกเด็ก) เด็กจะสามารถเข้าใจได้ตามวัยของเขาค่ะ

 

3. คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ

 

เด็ก ๆ มักจะเลียนแบบตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัวค่ะ ดังนั้นพ่อแม่จึงเป็นต้นแบบที่เด็กสามารถเห็นได้ตลอดเวลา ถ้าอยากให้เด็กเป็นอย่างไร ทำให้ลูกดูคือสิ่งที่ง่ายที่สุดค่ะ และที่สำคัญควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กยอมรับและจดจำได้ เช่น อยากให้เด็กไหว้ทักทายผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องไหว้ทักทายคนอื่น ๆ ให้เด็กเห็นเป็นประจำ

 

4. ให้ลูกรู้จักรอคอย

 

การตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างรวดเร็วเกินไปจะทำให้เด็กคอยไม่เป็น อยากได้อะไรต้องได้ทันที พ่อแม่จึงควรฝึกให้เด็กรู้จักรอคอย เช่น “หนูอยากกินขนมที่ซื้อมาเมื่อวานใช่ไหมคะ รอแม่ทำกับข้าวเสร็จแล้วแม่ไปหยิบให้นะคะ” หรือแม้แต่การพาเด็ก ๆ ไปต่อคิวซื้ออาหาร ต่อคิวจ่ายเงินในร้านสะดวกซื้อ ก็เป็นการฝึกการรอคอยที่ดีค่ะ นอกจากนี้การซื้อของเล่นให้เด็กตามวาระโอกาสที่เหมาะสม ก็สามารถฝึกการรอคอยได้เช่นกันค่ะ เช่น ตกลงกับเด็กว่าจะซื้อของเล่นให้ในโอกาสวันเกิด วันปีใหม่ วันเด็ก เท่านั้น หากอยากได้ของเล่นในโอกาสอื่น ๆ จะต้องมีข้อตกลง เช่น เก็บดาวความดีที่แม่ให้ครบ … ดวง จึงจะซื้อของเล่นพิเศษได้ 1 ชิ้น เป็นต้น

 

5. ปฏิบัติกับเด็กด้วยการยอมรับความต้องการ เข้าใจ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

เด็กต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ค่ะ ดังนั้นการรับฟังเด็กว่าเขารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร แล้วพูดคุยกันด้วยเหตุผลว่าเหตุใดจึงได้ เหตุใดจึงไม่ได้ จะช่วยให้เด็กรับรู้ว่าพ่อแม่รับฟังเขา ยอมรับความต้องการของเขา การเอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์ ก็จะลดลง (ถึงจะไม่ได้อย่างที่ต้องการก็ตาม) แต่ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องปฏิบัติกับเด็กให้เหมือนกันค่ะ เช่น ถ้าคุณแม่บอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้นะคะ คุณพ่อก็ต้องตอบเหมือนกัน เพราะถ้าคนหนึ่งไม่ให้ คนหนึ่งใจอ่อนให้ เด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งใดได้ สิ่งใดไม่ได้ การสอนก็จะไม่ได้ผล

 

 


 

บทความโดย

เวณิกา บวรสิน

ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ คณะจิตวิทยา

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้