รับมือกับความเครียดจากการตกงาน

13 Apr 2020

ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

 

ด้วยสภาพเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา องค์การหรือบริษัทจึงต้องการบุคลาการที่มีทักษะพร้อมและเหมาะสมกับตลาดแรงงานมาสร้างผลผลิตให้แก่องค์การอย่างเต็มศักยภาพเพื่อความอยู่รอด อีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องมีพนักงานเก่าหลายรายที่อาจมีคุณสมบัติไม่เป็นตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องเผชิญกับการถูกบีบให้ออกจากงานอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้

 

หลังจากถูกไล่ออกจากงาน คนส่วนใหญ่มักรู้สึกสะเทือนใจ และตกใจจนเกิดความสงสัยว่าทำไมต้องเป็นตนเอง หรือบางคนก็รู้สึกเหมือนถูกทรยศ “ว่านี่หรือคือสิ่งที่ฉันควรได้รับจากการที่จงรักภักดีต่อองค์การมายาวนาน” โดยคนที่ถูกไล่ออกนั้นมักรู้สึกสับสนว่า “ฉันจะทำอย่างไรต่อไป ชีวิตของฉันจะเป็นอย่างไรหากไม่มีงานนี้” และคนที่ถูกไล่ออกส่วนมากมักรู้สึกอับอาย คิดว่าตนไม่เป็นที่ต้องการ และเป็นคนล้มเหลว หรือบางคนก็เครียดจัดจนจบชีวิตตนเองลง

 

 

การถูกไล่ออกจากงานและผลกระทบด้านจิตใจ


 

การสูญเสียงานนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจที่รุนแรง 3 ประการ ได้แก่

 

ประการแรก คือการสูญเสียงานทำให้คนเราสูญเสียความเป็นตัวตน หรือ identity ของตนไป

กล่าวคือ คนเรามักระบุความเป็นตัวตนของเรากับงานที่เราทำ เช่น ฉันเป็นนักการตลาด ฉันเป็นนักร้อง ฉันเป็นหมอ เป็นต้น บางคนอาจจะรู้สึกผูกพันอย่างแนบแน่นกับอาชีพของตน เช่น ภูมิใจว่าตนเองเป็นหัวหน้าฝ่ายขาย บางคนอาจให้ความสำคัญแก่บทบาทการเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว หรือการเป็นคนที่พึ่งพาตนเองได้มากกว่า ดังนั้น การสูญเสียงานไปอาจทำให้บุคคลนั้นรู้สึกสูญเสียส่วนหนึ่งของตนเองไปด้วย

 

ประการที่สอง คือ การสูญเสียจุดมุ่งหมายในชีวิต

เมื่อคนเราสูญเสียงาน ก็มักรู้สึกว่าชีวิตของไร้จุดหมาย เช่น “วันนี้ฉันจะทำอะไร พรุ่งนี้ฉันจะทำอะไร” หลายคนที่ทำงานมักมีจุดมุ่งหมายในสายอาชีพของตน ต่างต้องการที่จะก้าวหน้าในงาน ได้รับการเลื่อนขั้น จึงทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าหากมีเหตุที่ทำให้ต้องลาออกจากงาน หรือโดนไล่ออก ก็จะรู้สึกสงสัยถึงจุดหมายในชีวิตของตนเอง และเริ่มประเมินว่าอะไรเป็นสิ่งที่ตนต้องการต่อไปหลังจากที่สูญเสียงานไป

 

หากบางคนโชคดี มีโอกาสและเวลาทบทวน มองย้อนกลับไปว่าตนเองต้องการอะไรในชีวิต ก็อาจค้นพบจุดหมายใหม่ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และพบความหมายในชีวิตของตน เช่น หลังจากตกงาน บางคนก็ตัดสินใจออกเดินทางเพื่อพักผ่อนจิตใจชั่วคราว ใช้เวลาอยู่กับตนเอง คิดย้อนทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ จนทำให้ค้นพบความต้องการที่แท้จริงของตน หรือบางคนอาจจะขอบคุณที่ตนถูกไล่ออกจากงานเก่า เพราะทำให้ตนได้ทบทวนความสามารถ ความถนัด และคุณลักษณะของตนว่าจริง ๆ แล้ว ตนเหมาะกับอะไร จนทำให้พบเจอทางเลือกใหม่หรืองานใหม่ที่เติมเต็มชีวิตของตนมากกว่าเดิม

 

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรทิ้งช่วงนานเกินไปในการหยุดพักเพื่อทบทวนตนเอง เพราะอาจทำให้ออกห่างจากโลกแห่งความเป็นจริง จนจะกลายเป็นหนีความจริงไปตลอด และก็มักจมอยู่กับความรู้สึกผิด เสียใจกับคำถามวน ๆ ว่า “ถ้าหากฉันทำอย่างนั้น ฉันก็จะไม่เป็นอย่างนี้”

 

ประการที่สาม คือ การรู้สึกสูญเสียการเห็นคุณค่าในตนเอง

เมื่อเกิดข้อผิดพลาด ล้มเหลวในการทำสิ่งใด เช่น สอบเลื่อนขั้นไม่ผ่าน ถูกปฏิเสธจากงาน บุคคลมักรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า และไร้ความสามารถ โดยเฉพาะการอาศัยอยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับการมุ่งมานะทำงานอย่างหนักเพื่อผลผลิต และความสำเร็จในอาชีพการงาน ดังนั้นการเห็นคุณค่าในตนเองนั้นมักขึ้นอยู่กับความสำเร็จและผลผลิตที่เราได้มาจากการทำงาน หากเราทำงานสำเร็จ ได้รับคำชมเชยจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน เราก็จะรู้สึกว่าเราเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าและมีความสามารถในองค์การ

 

คนส่วนใหญ่ที่ถูกไล่ออกมักรู้สึกผิด วิตกกังวล อับอาย หรือบางรายถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า จึงทำให้กลายเป็นคนปลีกตัวจากสังคม ปฏิเสธความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพราะกลัวการถูกมองว่าเป็นคนไร้ความสามารถ ไม่เอาไหน ความวิตกกังวลด้านอารมณ์และการเงินมักก่อให้เกิดความเครียดในความสัมพันธ์กับผู้อื่นและครอบครัว ความรู้สึกไม่มั่นคงหลังถูกไล่ออกทำให้คนขาดสติ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ บางคนก็หันเข้าหายาเสพย์ติดหรือดื่มเหล้าเพื่อผ่อนคลายความเครียด ซึ่งเป็นชนวนไปสู่การมีปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอีกด้วย

 

 

วิธีการรับมือกับความเครียดหลังตกงาน


 

หลังจากศูนย์เสียการทำงาน คนเรามักสูญเสียความเป็นตัวตน ขาดจุดหมายในชีวิต ขาดความมั่นใจ และรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า จึงทำให้เผชิญกับปัญหาด้านอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกผิด อับอาย วิตกกังวล และซึมเศร้า ซึ่งถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้น โดยการรับมือกับอารมณ์ทางลบ คือ การมีความเมตตากรุณาให้แก่ตนเอง หรือเรียกว่า “self-compassion” คือการหันมาดูแลใส่ใจตนเอง ยอมรับความเป็นจริง เผชิญหน้ากับความล้มเหลว ซึ่งการสูญเสียงานที่เรารัก หรือเราอาจทำสิ่งใดผิดพลาดไป แต่ทั้งหมดก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ ย่อมสามารถทำในสิ่งที่ถูก ผิด พลั้งพลาดได้ อีกทั้ง ควรเปิดใจยอมรับและเข้าใจความรู้สึกเจ็บปวด หรือความล้มเหลวของตัวเราเอง มากกว่าที่จะตำหนิตนเอง โดยการมีความกรุณาให้แก่ตนเองจะช่วยให้รู้สึกดีและปรับตัวต่อเหตุการณ์ได้ดี ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

ความมีเมตตากรุณาให้แก่ตนเองนั้นสามารถทำได้ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจว่าความไม่สมบูรณ์แบบ ความล้มเหลว และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็หลีกหนีไม่ได้ ดังนั้นควรเผชิญกับมันมากกว่าที่จะโกรธแค้นโชคชะตา คนเราไม่สามารถได้สิ่งที่ตนต้องการเสมอไป ดังนั้น เราจึงไม่ควรปฏิเสธความจริง เพราะการพยายามปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมก่อให้เกิดความเครียด ความคับข้องใจ และการตำหนิตนเอง

 

ต่อมาเราต้องมีสติที่รับรู้ถึงอารมณ์ของตนเองตามจริง ไม่พยายามหลอกตนเองว่า “ฉันไม่เครียดสักนิดที่ตกงาน” หรือว่าแสดงอารมณ์ลบเกินความจริงที่ตนรู้สึก การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ไม่ได้หมายความว่าให้ตัดสินหรือประเมินตนเอง แต่ให้สังเกตสภาวะอารมณ์ของตนเองอย่างเปิดใจ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจตนเองมากขึ้น

 

นอกจากความมีเมตตากรุณาเข้าใจตนเองจะช่วยให้ฟื้นตัวจากความเครียดหลังตกงานได้ หากแต่ยังมีสิ่งที่ควรหลีกเหลี่ยงหลังจากตกงาน เพื่อที่สามารถรับมือกับความเครียดได้ ดังนี้

 

ข้อแรก คือ พยายามอย่าตื่นตระหนก เห็นได้จากงานวิจัยพบว่าการวิตกกังวลในระดับปานกลางจะเป็นตัวสร้างแรงจูงใจที่ดีในการทำสิ่งต่าง ๆ แต่การตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลขั้นสุดจะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ยิ่งแย่ลง เพราะเมื่ออยู่ในสภาวะตื่นตระหนก จะไม่สามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องเหมาะสมได้

 

ข้อสอง คือ หลีกเลี่ยงการปลีกตัว หลายคนเมื่อเผชิญกับความเจ็บปวด มักจะปลีกตัวไปเยียวยารักษาตนเอง และการให้เวลากับตนเองเพื่อทบทวนสิ่งที่ผ่านมา เพื่อวางแผนอนาคตใหม่หลังจากตกงาน ซึ่งก็อาจจะมีประโยชน์ หากแต่ไม่ควรปลีกตัวจากคนที่รักและห่วงใย

 

ข้อสาม คือ อย่าปล่อยให้อารมณ์ลบมาครอบงำ หลังจากตกงาน คนทั่วไปมักรู้สึกโกรธ ขมขื่น และเศร้าหมอง การจมอยู่กับอารมณ์เหล่านี้จะทำให้เสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ในการนำเวลาและพลังกาย พลังใจ มาคิดหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตนเอง

 

ข้อสี่ คือ เลี่ยงการคิดอยู่ในกรอบ หลาย ๆ คนอาจคิดว่าการหางานชั่วคราว หรือ part-time อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ แต่หากเงินเป็นปัจจัยสำคัญ พอตกงานก็ย่อมกระทบต่อการใช้ชีวิต ดังนั้นควรที่จะมองทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ด้วย ไม่ควรคิดอยู่ในกรอบว่าต้องทำงานที่คล้าย ๆ กับงานที่เคยทำอยู่เพียงเท่านั้น

 

ข้อสุดท้ายที่ควรหลีกเหลี่ยง คือ ไม่ควรตั้งคำถาม “ถ้าหาก หรือ what ifs” ยกตัวอย่างเช่น “ถ้าหากฉันไม่ถูกไล่ออก ฉันก็คง หรือ ถ้าหากฉันทำโปรเจคงานนั้นสำเร็จ ฉันก็คง….” ในเมื่ออดีตไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ไม่ควรไปเสียเวลา ทว่าควรที่จะหันมาพิจารณาถึงเป้าหมายต่อไปในชีวิต

 

กล่าวโดยสรุป หลายคนอาจมองว่าการถูกไล่ออกจากงานเป็นจุดจบในชีวิตแล้ว จึงทำให้ตกเป็นเหยื่อของความเครียดและปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นเราควรมีสติ มีความเมตตาให้กับตนเอง มองว่าเราเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งมีผิดพลาดได้ อีกทั้งอย่าปฏิเสธความหวังดีและช่วยเหลือจากคนรอบ ๆ ข้างเรา คนที่เขารักและหวังดีต่อเรา เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราฟื้นตัวจากความผิดหวังในชีวิตได้

 

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร. ประพิมพา จรัลรัตนกุล

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้