นักจิตวิทยาบอก “ออกเดินทางไปเที่ยวกันเถอะ”

17 Sep 2019

ผศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

 

ปลายปีนี้มีวันหยุดยาวหลายวันติดต่อกัน หลายท่านคงมีการเริ่มวางแผนกันไว้แล้วใช่ไหมคะว่าจะเดินทางไปเที่ยวที่ไหนดี บางคนอาจวางแผนจะไปเที่ยวในที่เดิมที่คุ้นเคย ส่วนบางคนก็อาจวางแผนจะไปเที่ยวในที่แปลกใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน แต่ก็อาจมีบางคนก็ยังคิดไม่ออกหรือยังไม่ตัดสินใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ใดๆ ในช่วงวันหยุดปลายปีนี้

 

วันนี้ผู้เขียนบทความอยากจะมาเชิญชวนให้ทุกท่านออกไปเที่ยวกัน โดยเฉพาะการออกเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน เพราะการเดินทางออกไปเที่ยวนอกจากให้ความสุขแก่เราโดยตรงแล้วยังช่วยให้เราพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ได้อีกด้วย (Kashdan, 2018)

ดังนั้น จึงขอเชิญผู้อ่านมาดูกันว่าในมุมมองและงานวิจัยทางจิตวิทยา ข้อดีของการออกไปท่องเที่ยวนั้นมีอะไรบ้างค่ะ

 

 

การเดินทางไปเที่ยวช่วยให้มีความสุขมากขึ้น

 

การเดินทางท่องเที่ยวทำให้เราได้พาตัวเองออกมาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำให้เราไม่ต้องเจอกองเอกสารบนโต๊ะทำงานหรืองานที่ค้างคาและยังทำไม่เสร็จ ไม่ต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมที่จำเจที่พบเจออยู่ทุกวัน การไปเที่ยวเป็นการปล่อยให้ใจได้พักไปกับบรรยากาศใหม่ๆ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายส่งผลทำให้เรามีความสุขมากขึ้น

 

จากงานวิจัยของ Kumar และคณะ (2014) ศึกษาในกลุ่มนักศึกษาอเมริกัน พบว่าคนที่ใช้เงินไปกับการหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หลากหลายในชีวิต เช่น การออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เป็นคนที่มีความสุขมากกว่าคนที่ใช้เงินไปกับวัตถุสิ่งของต่างๆ เช่น การซื้อรถคันใหม่

 

นอกจากนี้ความสุขที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไปเที่ยวนั้น เป็นความสุขที่ไม่ได้เกิดแค่เพียงระหว่างการเดินทาง และหลังจากการเดินทางเสร็จสิ้นไปแล้วเท่านั้น ในระหว่างที่เรากำลังวางแผนการท่องเที่ยว หรือแม้แต่เพียงแค่คิดว่าจะได้เดินทางท่องเที่ยว ก็ทำให้คนมีความสุขได้แล้ว ซึ่งเป็นความสุขยืนยาวมากกว่าความสุขจากการที่ได้เป็นเจ้าของวัตถุชิ้นใหม่

 

เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Chen และคณะ (2013) ศึกษาในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน พบว่าการเดินทางไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ทำให้มีความสุขมากขึ้น ทำให้เรามีความพึงพอใจในชีวิต มีอารมณ์ทางบวก ไม่มีอารมณ์ทางลบ และความสุขนี้จะคงอยู่ยาวนาน

 

 

การเดินทางไปเที่ยวทำให้เรามีความยืดหยุ่น และอดทนต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น

 

การเดินทางไปในที่แปลกใหม่ หรือเดินทางไปยังประเทศที่ยังไม่เคยไปมาก่อน ทำให้เราต้องประสบพบเจอกับอะไรที่แปลกใหม่ เจอสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเป็นการช่วยให้เราก้าวออกจาก comfort zone ได้ง่ายขึ้น สามารถปรับตัว และปรับใจให้สอดคล้องไปกับสภาพแวลล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น การดูตารางรอบรถไฟผิดพลาด ทำให้เราตกรถไฟหรือขึ้นขบวนรถไฟผิด การได้เจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ในต่างประเทศ ก็จะทำให้เรายอมรับความผิดพลาดได้มากขึ้น ปรับใจให้มีสติ มีความอดทน และยืดหยุ่นกับแผนการเดินทางมากขึ้น

 

Kashdan (2018) กล่าวว่าการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศหรือเมืองใหม่ๆที่ไม่คุ้นเคย จะทำให้บุคคลต้องปรับตัว การปรับตัวนี้ส่งผลให้เรามีความอดทน และยอมรับต่อความไม่สะดวกสบายที่เกิดขึ้น รวมถึงมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองมากขึ้นในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน

 

 

การเดินทางไปเที่ยวทำให้เรารู้จักยอมรับความแตกต่าง ไม่ด่วนตัดสินผู้อื่น และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น

 

การเดินทางทำให้เราต้องพบเจอกับผู้คนที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะการเดินทางใปต่างประเทศ ทำให้เราพบปะผู้คนมีรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างจากเรา มีสีผิว สีผม ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ รูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันจากเรา การที่เราต้องใช้ชีวิตระหว่างการท่องเที่ยวร่วมกับผู้คนที่มีความแตกต่างจากเราอย่างมีความสุข ก็ยิ่งทำให้เราต้องเคารพและยอมรับในความแตกต่างนั้น

 

Crowne (2013) ศึกษาในกลุ่มนักศึกษาชาวอเมริกัน 485 คน พบว่าการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศทำให้คนเรามีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ในบางประเทศ การทานบะหมี่แล้วดูดเส้นบะหมี่ให้มีเสียง จะแสดงว่าบะหมี่นั้นรสชาติอร่อยมาก ในขณะที่วัฒนธรรมบ้านเรา หากทานบะหมี่แล้วมีเสียงดัง จะแสดงถึงการมีมารยาทไม่ดี

 

ดังนั้น การได้เรียนรู้วัฒนธรรม ความเชื่อ หรือวิถีการดำรงชีวิตของกลุ่มคนที่แตกต่างจากเรา ทำให้เราไม่ด่วนตัดสินใครจากภาพที่เห็น เคารพในการกระทำของแต่ละคน เพราะคนแต่ละชนชาติก็มีวิถีชีวิตที่ถูกต้องแล้วในแบบของตนเอง

 

 

การเดินทางไปเที่ยวช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

 

การเดินทางทำให้เราได้เจอกับสิ่งแปลกใหม่ ได้รู้จักผู้คนใหม่ๆ สิ่งนี้เองทำให้เราได้เรียนรู้หรือเห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่แตกต่างออกไปแต่สามารถแก้ไขปัญหาได้เช่นเดียวกัน การได้พบเจออะไรแปลกใหม่นี้ทำให้เราไม่ยิดติดกับกรอบความคิดเดิมๆ การเดินทางไปเที่ยวในที่แปลกใหม่จึงส่งเสริมให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดการแก้ปัญหาหรือการสร้างผลงานชิ้นใหม่ๆ ได้

 

Godart และคณะ (2015) ทำการศึกษาความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มคนทำงานด้านแฟชั่น พบความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างระดับของความคิดสร้างสรรค์กับเวลาที่ใช้ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยหลักที่จะช่วยกระตุ้นให้บุคคลได้สร้างจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น คือการเอาตัวเองไปอยู่อาศัยและใช้ชีวิตร่วมกับสมาชิกที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ (local culture) การเปิดใจกว้างให้ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ทำให้เรานำวิถีที่แตกต่างนี้มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ กับเหตุผลดีๆ ที่คุณควรออกเดินทางไปเที่ยวในมุมมองของนักจิตวิทยา ทุกท่านพร้อมเก็บกระเป๋าเดินทางกันหรือยังคะ ถ้าพร้อมแล้วก็วางแผนจองตั๋วกันเลยค่ะ แค่คิดว่าจะได้เที่ยวแค่นี้…ก็มีความสุขมากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ?

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Chen, Y., Lehto, X. Y., & Cai L. (2013). Vacation and well being: A study of Chinese tourists. Annals of Tourism Research, 42, 284-310.

 

Crowne, K. A. (2013). Cultural exposure, emotional intelligence, and cultural intelligence: An exploratory study. International Journal of Cross Cultural Management, 13(1), 5-22.

 

Godart, F. C., Maddux, W. W., Shipilov, A. V., & Galinsky, A. D. (2015). Fashion with a foreign flair: Professional experiences abroad facilitate the creative innovations of organizations. Academy of Management Journal, 58(1), 195-220.

 

Kumar, A., Killingsworth, M. A., & Gilovich, T. (2014). Waiting for merlot: Anticipatory consumption of experiential and material purchases. Psychological Science, 25, 1924-1931.

 

Kashdan, T. B. (2018, January). The mental benefits of vacationing of somewhere new. Harvard Business Review. Retrieved from https://hbr.org/2018/01/the-mental-benefits-of-vacationing-somewhere-ne

 

ภาพประกอบจาก https://news.unm.edu/news/campus-passport-center-available-for-walk-ins-and-appointments-for-holiday-travel

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้