Vigor at work – ความกระปรี้กระเปร่าในงาน

08 Apr 2020

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

ความกระปรี้กระเปร่าเป็นอารมณ์ทางบวกชนิดหนึ่ง มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ

 

  • พลังทางกาย (physical strength) – ความสามารถของบุคคลที่แสดงออกทางร่างกาย
  • พลังทางอารมณ์ (emotional energy) – ความสามารถของบุคคลที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในความรู้สึกของบุคคลอื่น
  • พลังทางการรู้คิด (cognitive liveliness) – ขั้นตอนการทำงานของกระบวนการทางความคิด และความว่องไวทางด้านจิตใจ

 

ความกระปรี้กระเปร่าในงาน หมายถึง การตอบสนองต่ออารมณ์ทางบวกที่มีต่อบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กัน โดยมีองค์ประกอบสำคัญเกี่ยวกับงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วย ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกันของพลังทางกาย พลังทางอารมณ์ และพลังทางการรู้คิด

 

ความกระปรี้กระเปร่าในงานมีลักษณะใกล้เคียงกับสภาวะอารมณ์ (mood state) เพราะมีระยะเวลาที่คงอยู่ยาวนานกว่าความรู้สึก (emotion) ชั่วขณะ

 

เนื่องจากความกระปรี้กระเปร่าในงานเป็นอารมณ์ทางบวกชนิดหนึ่ง ซึ่งอารมณ์ทางบวกเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเจริญเติบโตของบุคคลและการเชื่อมต่อสังคม เพราะช่วยขยายขอบเขตของความคิดและการกระทำของผู้คน ลดความสนใจอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นทางจิตใจ ตลอดจนเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดี ดังนั้น ความกระปรี้กระเปร่าในงานจึงมีความสัมพันธ์กับการที่บุคคลเกิดความพึงพอใจในงาน มีผลปฏิบัติงานที่ดี มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

 

นอกจากนี้ ความกระปรี้กระเปร่าในงานเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการทำงานภายในองค์การ จึงพบว่าเป็นตัวแปรทำงานประสิทธิภาพขององค์การได้อีกด้วย

 

 

ทรัพยากรที่เป็นที่มาของความกระปรี้กระเปร่าในงาน


 

แบ่งเป็น 4 ระดับ

 

ทรัพยากรระดับองค์การ คือ การที่องค์การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีการให้รางวัล ให้พนักงานมีช่วงเวลาพักผ่อน องค์การให้พนักงานมีโอกาสเติมเต็มแหล่งพลังของพวกเขาในช่วงเวลาการทำงาน

 

ทรัพยากรระดับกลุ่ม คือ กลุ่มทำงานที่มีแนวโน้มถ่ายทอดอารมณ์ซึ่งกันและกัน เพราะการขัดเกลาทางสังคม ลักษณะขององค์การ การพึ่งพาซึ่งกันและกันในการทำงาน กฎระเบียบ และบรรทัดฐานที่มีร่วมกัน ทั้งนี้ ความกระปรี้กระเปร่าของพนักงานคนหนึ่งสามารถส่งต่อไปสู่คนอื่นได้

 

ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับงาน ได้แก่ เอกลักษณ์ของงาน ความสำคัญของงาน การได้รับข้อเสนอแนะ ข้อมูล ความคิดเห็นต่อการทำงานจากผู้อื่น และการประสบความสำเร็จในงาน

 

ทรัพยากรระดับบุคคล คือ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพนักงาน อำนาจที่เกิดจากความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ

นอกจากทรัพยากรทั้ง 4 ระดับนี้ ยังมีปัจจัยด้านพันธุกรรม สรีรวิทยา และปัจจัยด้านบุคลิกภาพ เช่น ความมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกทางบวก การมองในด้านบวก และการรับรู้ความสามารถของตน

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของการรับรู้การสนับสนุนจากองค์การต่อเจตนาในการประหยัดพลังงานในสถานที่ทำงาน : การศึกษาตัวแปรส่งผ่านของความกระปรี้กระเปร่าในงาน และความกตัญญู” โดย กวิตา พร้อมเพราะ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/54945

ภาพจาก https://graphiccave.com/

แชร์คอนเท็นต์นี้