อดเปรี้ยวไว้กินหวาน : ในเชิงจิตวิทยา

20 Apr 2020

รศ. ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์

 

“การชะลอการได้รับความพึงพอใจ” เป็นศัพท์ทางจิตวิทยาที่หมายถึง การที่มนุษย์สามารถควบคุมความต้องการของตนเองโดยเลือกที่จะปฏิเสธการรับรางวัลหรือสิ่งที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที เพื่อที่จะรับรางวัลหรือสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต อีกนัยหนึ่งก็คือ “การอดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ซึ่งสำนวนนี้มีความหมายเล็งถึง ผลไม้ที่เราเก็บมาจากสวนผลไม้บางชนิด เช่นมะม่วง ถ้าเรานำมารับประทานทันทีจะมีรสเปรี้ยว แต่ถ้าเราเก็บไว้สักระยะหนึ่ง มันจะสุกและมีรสชาติหอมหวาน น่ารับประทานมากกว่า ดังนั้นผู้ที่เก็บมะม่วงจากต้น จะต้องไม่ใจร้อน แต่ต้องรู้จักอดทน และรอคอยจนกว่าผลจะสุก เพื่อจะได้รับประทานผลไม้ที่มีรสหวานอร่อย ซึ่งจะคุ้มค่ากับที่ได้รอคอย

 

ในชีวิตของคนเรานั้น มีหลายเรื่องที่เราต้องรอคอย และต้องหักห้ามใจที่จะไม่รับผลตอบแทนที่มีคุณค่าน้อยในทันที เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ที่มากกว่าในอนาคต ในขณะที่รอคอย เราอาจจะรู้สึกคับข้องใจ เนื่องจากไม่สามารถได้รับสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของเราทันที หลายคนหมดความอดทนก็เลยเลือกที่จะรับผลตอบแทนที่น้อยกว่า เพื่อความสุขความพึงพอใจในปัจจุบัน ทำให้เสียโอกาสที่จะรับผลตอบแทนที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต

 

การปฎิเสธที่จะรับรางวัลหรือสิ่งตอบแทนที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที แต่เลือกที่จะรอคอยเพื่อรับสิ่งตอบแทนที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต เป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์พบกับความสุขความพึงพอใจ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถมีคุณลักษณะดังกล่าวได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสังคมปัจจุบันที่เน้นความรวดเร็ว และการตอบสนองอย่างทันอกทันใจ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การติดต่อสื่อสาร หรือการรับบริการต่าง ๆ ผู้คนในปัจจุบันมักให้ความสำคัญแก่ความสะดวดรวดเร็ว ในสมัยก่อนที่จะมีอินเตอร์เน็ต เราติดต่อสื่อสารกันทางจดหมาย ซึ่งต้องการใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 วันกว่าจะถึงผู้รับ อีกทั้ง ถ้าต้องการค้นหาข้อมูล ก็เดินทางไปที่ห้องสมุด หากในปัจจุบันเราสามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ภายในไม่กี่วินาที โดยผ่านทางจดหมายอิเลคทรอนิกส์ และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ทันทีจากฐานข้อมูลทั่วโลกโดยนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ถึงกระนั้นหลายคนยังรู้สึกไม่พอใจ และหงุดหงิดกับการรอคอยเพียงสองสามนาทีในกรณีอินเตอร์เน็ตขัดข้อง หรือมีคนใช้บริการมาก

 

ทั้งนี้ บริษัทต่าง ๆ ได้แข่งขันกันพัฒนาโปรแกรมที่ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารและทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ได้ทันที โดยไม่ต้องรอคอย จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลย ที่เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคนี้จะขาดความสามารถในการอดทนและรอคอย เนื่องจากในชีวิตประจำวัน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวดรวดเร็วให้มากมาย

 

หากสิ่งสำคัญในเรื่องของชีวิตและจิตใจนั้น เราไม่อาจจะเร่งรัดให้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ไปได้อย่างรวดเร็ว ชีวิตต้องการเวลาในการหล่อหลอม การปลูกฝัง และการทะนุบำรุงให้งอกงาม ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ การที่จะรู้จักกัน การผูกพันรักใคร่กันได้นั้นต้องอาศัยเวลา ไม่ใช่เพราะได้รู้จักอย่างผิวเผินผ่าน “แชทรูม” ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้วัยรุ่นหลายคนได้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี และต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างอนาถมาแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรหันมาให้ความสนใจในการปลูกฝังคุณลักษณะด้านการอดทน และการรอคอยให้แก่บุตรหลานของตน

 

โดยนักจิตวิทยาได้ให้ความสนใจต่อความสามารถในการชะลอการได้รับความพึงพอใจของมนุษย์มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการชะลอการได้รับความพึงพอใจของเด็ก งานวิจัยส่วนใหญ่มักจะศึกษาปัจจัยที่ทำให้เด็กสามารถชะลอการได้รับความพึงพอใจได้เพิ่มขึ้น โดยที่ผู้วิจัยมักจะให้เด็กทำงานบางอย่าง เช่น ระบายสีรูปภาพ หรือร้อยลูกปัด เป็นต้น เมื่อเด็กทำงานเสร็จแล้วผู้วิจัยก็จะมีรางวัลให้ โดยเด็กจะเลือกรับรางวัลได้ 2 แบบคือ รับรางวัลที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที หรือรอที่จะรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต ซึ่งระยะเวลาที่เด็กต้องรอนั้นจะมีตั้งแต่เป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น เด็กสามารถเลือกรับช็อคโกแล็ต 1 แท่งทันที โดยกดกระดิ่งให้สัญญาณ หรือเลือกรับช็อคโกแล็ต 2 แท่งในวันรุ่งขึ้น หรือเลือกรับกล่องดินสอที่มี 6 สี ทันที หรือรับดินสอที่มี 12 สี ในอีกสองวันข้างหน้า เป็นต้น ผลจากการวิจัยทำให้นักจิตวิทยาสามารถสรุปปัจจัยที่ทำให้เด็กชะลอการได้รับความพึงพอใจหรือ รอคอยเพื่อรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าได้หลายข้อดังนี้

 

  1. เด็กจะสามารถชะลอการได้รับความพึงพอใจได้ดี ถ้ารางวัลนั้นไม่ได้อยู่ต่อหน้า นักวิจัยพบว่าเด็กอายุ 5-6 ปี จะรู้จักหาสิ่งของมาปิดรางวัลได้ แต่เด็กอายุ 8 ปี จะพยายามไม่มองไปที่รางวัล และพูดเตือนตนเองว่า “ถ้าฉันกดกระดิ่งเดี๋ยวนี้ฉันจะได้สิ่งนี้ แต่ถ้าฉันรอคอยฉันได้สิ่งนั้น”
  2. การเบี่ยงเบนความสนใจไปจากรางวัล นักวิจัยพบว่าเด็กอายุ 4-5 ปี พยายามทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับรางวัลในขณะที่รอคอย เช่น ร้องเพลงเบา ๆ ซบหน้ากับโต๊ะ ตบเท้าเป็นจังหวะ จับกระดิ่งสัญญาณเล่นพูดถึงเงื่อนไขการรอคอยออกมาดัง ๆ มองเพดานและอธิษฐานหรือไม่ก็นอนหลับไป เป็นต้น
  3. การชักชวนให้เด็กคิดถึงการตัดสินใจของคนอื่นที่ไม่เหมือนกับตน สามารถทำให้เด็กเปลี่ยนใจได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กในงานวิจัยตัดสินใจเลือกรับรางวัลที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที ผู้วิจัยก็จะบอกกับเด็กว่า มีเด็กอีกคนหนึ่ง สมมติว่าชื่อเด็กชาย ก เลือกที่จะรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าในวันรุ่งขึ้น แล้วถามเด็กว่า ทำไมเด็กชาย ก จึงเลือกเช่นนั้น เด็กส่วนมากก็จะตอบได้ว่า เพราะเด็กชาย ก ต้องการรางวัลที่มากกว่า ผลการวิจัยพบว่า การที่ให้เด็กได้คิดใช้เหตุผลเช่นนี้ ทำให้เด็กเปลี่ยนใจจากการเลือกรับรางวัลในทันทีเป็นการเลือกรับรางวัลที่มีค่ามากกว่าในวันรุ่งขึ้นได้ แสดงให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้เด็กคิดถึงการตัดสินใจที่ขัดแย้งกับตนสามารถทำให้เด็กปรับความคิดและตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ต้องรอคอยว่ามีมากกว่าจึงมีความคุ้มค่าที่จะรอคอย
  4. ความไว้วางใจที่มีต่อผู้วิจัยว่าผู้วิจัยจะให้รางวัลแก่เขาเป็นสองเท่าตามที่ได้สัญญาไว้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีคูปองมอบให้แก่เด็ก เพื่อให้เด็กนำมาแลกรับรางวัลในวันรุ่งขึ้น คูปองจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของรางวัลที่เด็กจะได้รับจริง และเด็กก็มักจะเก็บรักษาคูปองนั้นไว้เป็นอย่างดีและไม่ลืมที่จะนำมาให้ผู้วิจัยในวันรุ่งขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าเด็กเกิดความไม่แน่ใจว่าผู้วิจัยจะทำตามสัญญาหรือไม่ หรือเด็กที่เคยมีประสบการณ์กับผู้ใหญ่ที่ไม่รักษาคำพูดมาก่อน เด็กก็อาจจะตัดสินใจเลือกรับรางวัลในทันที แม้จะมีคุณค่าน้อยกว่า เพราะยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลยหากผู้วิจัยไม่ทำตามสัญญา ดังนั้น ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการสอนลูกให้รู้จักอดทนและรอคอย สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ การรักษาคำพูดหรือคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับเด็ก เช่น สัญญาว่าจะพาเด็กไปสวนสนุก ถ้าเด็กทำการบ้านเสร็จ เมื่อเด็กทำงานเสร็จแล้วพ่อแม่ก็ต้องทำตามที่ให้สัญญาไว้ เพราะเป็นการสอนให้เด็กเห็นคุณค่าและความคุ้มค่าของการทำการบ้านให้เสร็จเสียก่อน แต่ถ้าพ่อแม่ไม่รักษาสัญญาก็จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจในผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีอะไรอยู่เฉพาะหน้าก็ขอคว้าไว้ก่อน ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่ขาดความสามารถในการชะลอการได้รับความพึงพอใจนั่นเอง

 

อารมณ์ของเด็กก็มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกรับรางวัลในทันทีหรือรอรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต ในงานวิจัยเรื่องหนึ่ง ผู้วิจัยได้ให้เด็กบางคนคิดถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกมีความสุขมา 3 สิ่ง และให้เด็กบางคนคิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้ามา 3 สิ่ง ก่อนให้ตัดสินใจเลือกรับรางวัล ผลปรากฏว่าเด็กที่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าเลือกรับรางวัลแบบทันทีมากกว่าเด็กที่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข ทั้งนี้เป็นเพราะว่า เด็กเลือกรับรางวัลทันที เพื่อหยุดสภาวะไม่สบายใจที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ในขณะที่เด็กที่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข มีแนวโน้มที่จะคิดถึงคุณค่าของรางวัลที่มากกว่า ทำให้สามารถชะลอการได้รับความพึงพอใจได้ดีกว่า ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เวลาที่เราไม่สบายใจนั้น เราจะขาดความรอบคอบ ต้องการเพียงแต่หาอะไรบางอย่างที่สามารถทำให้เราสบายใจได้ทันที แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีคุณค่าน้อยหรือไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร ดังนั้น เราจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการตัดสินใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดความไม่สบายใจ

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้