ในช่วงนี้ บางคนที่ต้อง work from home อาจประสบปัญหาความไม่สมดุลหลายอย่าง เช่น เรื่องต่าง ๆ ภายในบ้านรบกวนการทำงาน หรือการเผชิญกับความคาดหวังที่จะต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ครั้งนี้เราจะมาคุยกันว่า เราจะทำอะไรได้บ้างในสภาวะเช่นนี้
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า “ความสมดุล” นี้ เป็นเรื่องของใครของมัน บางคนอาจทำงานตลอดเวลาแต่ก็ยังรู้สึกว่าชีวิตตนเองสมดุลอยู่ หรือบางคนอาจชอบที่จะ “รวม” ชีวิตการทำงานเข้ากับชีวิตด้านอื่น ๆ อยู่แล้ว คนกลุ่มนี้เมื่อต้องทำงานที่บ้านก็อาจไม่ต้องปรับตัวอะไรมากนัก ในทางกลับกัน คนที่ชอบ “แยก” ชีวิตการทำงานออกจากชีวิตด้านอื่น ๆ เมื่อต้องทำงานที่บ้านก็อาจต้องปรับตัวมาก ดังนั้นประเด็นของบทความนี้คือ “คนที่เคยมีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน” แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้านแล้วรู้สึกว่า “ความสมดุลนั้นเสียไป” ซึ่งคนที่ประสบปัญหามากที่สุดน่าจะเป็นคนที่มีสไตล์การทำงานที่ค่อนข้างแยกเรื่องงานออกจากเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต
แนวทางสำคัญของการส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิต (ที่บ้าน) และการทำงาน คือ การพยายามทำให้การทำงานที่บ้าน ไม่แตกต่างจากการทำงานที่ทำงาน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ทำให้ทุกอย่างคล้ายกับการทำงานที่ทำงานมากที่สุด ตั้งแต่สภาพแวดล้อม การใช้เวลา ไปจนถึงการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากเวลาเราทำงานที่ทำงาน เราจะมี “ขอบเขต” ที่ค่อนข้างชัดเจน อย่างน้อยที่สุดก็คือระยะห่างระหว่างบ้านและที่ทำงาน ที่จะคอยช่วยกำหนดว่า สิ่งใดหรือใคร ที่จะผ่านขอบเขตนี้มาได้ แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้าน ขอบเขตที่เราเคยมีก็อาจเลือน ๆ ไป จนทำให้บางคนเผลอล้ำขอบเขตของเรา หรือแม้แต่ตัวเราเองที่ยังอาจสับสนกับการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงทำให้เราไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้อย่างสมดุลเหมือนแต่ก่อน สิ่งที่เราจะต้องทำ คือ พยายามทำให้ขอบเขตเดิมที่จริง ๆ มีอยู่แล้ว ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง
งานวิจัยของ Kreiner และคณะ (2009) พบเทคนิคที่น่าสนใจ 4 กลุ่ม ที่เราน่าจะนำมาปรับใช้ในกรณีนี้ได้
1. เทคนิคด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
ถ้าเรารู้สึกว่า เรื่องต่าง ๆ ของบ้านดึงความสนใจของเราในขณะที่กำลังทำงานอยู่มากเกินไป การจัดกระทำให้มีพื้นที่ “ที่ทำงาน” เป็นสัดเป็นส่วนและแยกออกจากพื้นที่ที่เราใช้พักผ่อน ก็จะช่วยให้เราแยกกิจกรรมการทำงานออกจากกิจกรรมอื่น ๆ ที่บ้านได้ระดับหนึ่ง พื้นที่เป็นสัดเป็นส่วนนี้อาจทำได้จากการเพิ่มระยะห่าง (ระหว่างโต๊ะทำงานและมุมพักผ่อน) การสร้างฉากกั้น หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น เครื่องเขียน) แยกกัน
2. เทคนิคด้านเวลา
ถ้าเราสามารถจัดตารางเวลาการทำงานแยกออกจากตารางเวลาที่เราทำกิจกรรมอื่น ๆ กับครอบครัว (หรือที่ทำคนเดียว) ได้ ก็จะช่วยให้เราทำงานที่บ้านได้อย่างสบายใจมากขึ้น ตารางเวลานี้อาจล้อไปกับตารางเวลาเดิมในช่วงที่เราทำงานที่ทำงาน แต่ถ้างานของใครไม่สามารถกำหนดหรือกะเกณฑ์ตารางเวลาได้อย่างชัดเจน เรายังสามารถใช้เทคนิค การออมเวลา (banking) ได้ สมมติว่า เราจำเป็นต้องทำงานช่วงกลางคืนทั้ง ๆ ที่เราน่าจะได้ใช้เวลาช่วงนี้กับครอบครัว เราสามารถ “เก็บออม” ช่วงเวลานี้ไว้แล้วไปหักลบกับเวลาทำงานช่วงอื่น ๆ ได้ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เรารู้สึกสมดุลในการใช้เวลามากขึ้น ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถทำงานยึดตามตารางเวลาที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกก็ตาม
นอกจากนี้ เราอาจจัดเวลาบางช่วงที่ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องงานและเรื่องในบ้านเลย สำหรับบางคนที่จะต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัว อยู่ที่ทำงานก็ต้องทำงานเต็มที่ อยู่ที่บ้านก็ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวเต็มที่เช่นกัน เมื่อก่อนเราอาจใช้เวลาระหว่างการเดินทางหรือการรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นช่วงเวลา “พักผ่อน” เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้านแล้ว ช่วงเวลาเหล่านี้หายไป กลายเป็นว่าเมื่อหันไปทางหนึ่งก็เป็นเรื่องงาน พอหันกลับมาอีกทางหนึ่งก็เป็นเรื่องในบ้าน ไม่มีเวลาพักหายใจเลย ดังนั้น การจัดเวลาบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องงานและเรื่องในบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน
3. เทคนิคเชิงพฤติกรรม
ประกอบไปด้วย (a) การกำหนดขอบเขตของ “การรวมกัน” ระหว่างกิจกรรมการทำงานและกิจกรรมอื่น ๆ อย่างยืดหยุ่นแต่ชัดเจน (b) การจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ (c) การใช้เทคโนโลยี และ (d) การหาตัวช่วย
โดยทั่วไป แต่ละคนชอบที่จะรวมหรือแยกกิจกรรมการทำงานและกิจกรรมอื่น ๆ ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่น้อยคนนักที่จะชอบแบบสุดโต่ง (ต้องแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด หรือสามารถรวมกันได้ทุกเรื่อง) ส่วนใหญ่แล้วจะมีความชอบอยู่ตรงกลาง คือ รวมกันบางเรื่องและแยกกันบางเรื่อง ดังนั้น เราควรจะกำหนดขอบเขตตั้งแต่แรกเลยว่า เมื่อต้องทำงานที่บ้าน เรื่องใดบ้างในการทำงานที่เราขอให้แยกออกจากการใช้เวลากับครอบครัวอย่างชัดเจน และเรื่องใดบ้างที่เรายอมให้มากินเวลาส่วนตัวได้ หรือใครบ้างที่สามารถติดต่อเราได้ทุกเวลา และใครบ้างที่ติดต่อเราได้เฉพาะเวลางานเท่านั้น และการกำหนดขอบเขตนี้ควรทำทั้ง 2 ทิศทาง คือ จากการทำงานมา (รบกวน) ที่บ้าน และจากที่บ้านไป (รบกวน) การทำงานด้วย
เทคนิคต่อไป คือ การจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ ในการทำงานที่บ้าน บางครั้งเราเผชิญกับปัญหาเรื่องงานและปัญหาเรื่องบ้านพร้อม ๆ กัน เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า เมื่อปัญหาเกิดขึ้น เราจะได้ลงมือจัดการตามลำดับความสำคัญที่เราได้กำหนดไว้แล้ว
เราสามารถดัดแปลงการใช้เทคโนโลยีให้ชีวิตที่บ้านและการทำงานมีความสมดุลมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่บ้านทำงาน เราอาจสร้าง user สำหรับการทำงานแยกออกมาเพื่อไม่ให้ไฟล์หรือโปรแกรมต่าง ๆ ผสมปนเปกัน หรือแม้แต่เราอาจใช้อีเมลสำหรับการทำงานและอีเมลส่วนตัวแยกกัน
เทคนิคสุดท้าย คือ การหาตัวช่วย ในที่นี้ก็คือ gatekeeper หรือบุคคลที่จะมาช่วยเรารับมือกับความต้องการต่าง ๆ ที่บางครั้งอาจถาโถมเข้ามาเกินพอดี ในกรณีที่เราทำงานที่บ้านและมีเพื่อนร่วมงานติดต่อมานอกตารางเวลางานที่ตกลงกันไว้ เราอาจให้ “คนอื่น” เป็นคนรับเรื่องและพิจารณาว่า เรื่องที่ติดต่อมานั้นมีความสำคัญและมีความเร่งด่วนมากพอที่จะสละเวลาส่วนตัวไปทำหรือไม่
4. เทคนิคด้านการสื่อสาร
เทคนิคสามกลุ่มแรกอาจไม่ประสบความสำเร็จถ้าเราไม่มีการสื่อสารที่ดีพอ ทั้งกับเพื่อนร่วมงานและกับสมาชิกในครอบครัว หัวใจของการสื่อสาร คือ การกำหนดความคาดหวังในเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของเราให้ชัดเจน เนื้อหาของการสื่อสารที่สำคัญ เช่น เราอาจต้องการลักษณะการทำงานที่เหมือนเดิมหรือคล้ายเดิม ทั้งเรื่องตารางเวลาและเรื่องการติดต่องาน สมมติว่า แต่เดิมเราตกลงกันไว้อย่างชัดเจนทั้งตารางเวลาทำงานและลักษณะการติดต่องาน เมื่อต้องทำงานที่บ้าน เราก็ควรจะสื่อสารให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจว่า เราต้องการคงตารางเวลาทำงานเดิมไว้และต้องการใช้การติดต่องานวิธีเดิม ซึ่งแน่นอนว่า ความคาดหวังนี้จะต้องสื่อสารกับทั้งเพื่อนร่วมงานที่ทำงาน และสมาชิกในครอบครัวที่บ้านด้วย ถ้าเราต้องการสมาธิในการทำงานอย่างเต็มที่ การสื่อสารความต้องการนี้กับสมาชิกในครอบครัวให้พวกเขาเข้าใจก็จะทำให้การทำงานที่บ้านราบรื่นมากขึ้น
เทคนิค 4 กลุ่มนี้ เป็นเทคนิคเบื้องต้นที่เราน่าจะนำไปใช้ได้ สำหรับบุคคลที่ต้องทำงานที่บ้านและรู้สึกว่า การทำงานที่บ้านทำให้สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเสียไป เมื่อเทียบกับสภาวะก่อนหน้าที่เราทำงานที่ทำงาน สำหรับบางคนที่ชีวิตไม่สมดุลอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะทำงานที่ทำงานหรือทำงานที่บ้านก็ตาม เทคนิคเหล่านี้ก็อาจพอช่วยได้บ้าง แต่อาจต้องมีการทำความเข้าใจอย่างหนักหน่วงและการสื่อสารที่ชัดเจนกับสมาชิกในทีม ทั้งทีมทำงานและทีมที่บ้าน เนื่องจากบางเทคนิคอาจได้ผลกับบางคนและในบางสถานการณ์ การทดลองใช้เทคนิคต่าง ๆ แล้วสังเกตดูว่า เทคนิคใดบ้างที่เหมาะสมกับเรา หรือลองปรับเทคนิคเหล่านี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะหน้าของแต่ละคน น่าจะทำให้ชีวิตที่บ้านและการทำงานกลับมามีความสมดุลเหมือนเดิมไม่มากก็น้อย
บทความวิชาการ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถสู่ความเป็นเลิศ
ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life-Di Center)
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย