แนวพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานไว้ให้ปวงชนชาวไทย ในเรื่องต่าง ๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นที่ประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ จนประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ให้การยอมรับ และได้น้อมนำไปปรับใช้ในการพัฒนาจนเห็นผลและเกิดประโยชน์ขึ้นมากมาย
นอกเหนือจากการที่คนทั่วไปได้นำหลักการทรงงานที่ทรงพระราชทานไปใช้ในเรื่องของการพัฒนาชนบทหรือเกษตรกรรมแล้ว ในฐานะที่เกิดมาเป็นคนไทยคนหนึ่งในรัชกาลของพระองค์ จึงขอมีส่วนในการน้อมนำแนวทางที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ไว้ มาปรับใช้และขยายความโดยศาสตร์ทางจิตวิทยา ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในการพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ ให้ได้มากยิ่งขึ้น
จากหนังสือ “หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประชาชน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร., 2552) เราสามารถนำแนวทางที่พระองค์ทรงพระราชทานไว้มาประยุกต์หรือปรับใช้ในการบริหารให้มีทุกคนที่มีส่วนร่วม มีความสุขได้ตามลำดับดังนี้
ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
ก่อนที่เราจะเริ่มบริหารงาน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข กำหนดนโยบายหรือทำอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ครบถ้วน เช่น ในเรื่องที่กำลังสนใจอยู่นี้ มีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง มีข้อมูลอะไรที่จำเป็นต้องรู้บ้าง และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อมูลที่มีนั้นเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้
ในเรื่องนี้พระองค์ท่านได้ลงมือทำให้เห็นด้วยการออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทั้งยังสอบถามทั้งจากข้าราชการ นักวิชาการ ราษฎรในพื้นที่ ตลอดจนข้อมูลจากแผนที่ต่างๆ เพื่อให้รายละเอียดอย่างครบถ้วนก่อนที่จะพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและตรงความต้องการ
ดังนั้นการที่ผู้นำจะกำหนดนโยบายอะไร ย่อมจะต้องลงพื้นที่หาข้อมูลความต้องการจำเป็นที่แท้จริง ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อย่างครบถ้วน ฟังให้มาก เพื่อที่จะวางแผนการทำงานได้รัดกุมและรอบคอบมากยิ่งขึ้น หากผู้นำมองเฉพาะความต้องการของตนหรือเฉพาะเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึงเป็นสำคัญแต่เพียงอย่างเดียว ย่อมจะพัฒนาไปได้อย่างยากลำบากและทำให้ทั้งผู้นำและผู้ตามมีความสุขในการทำงานน้อยลง
ระเบิดจากข้างใน
พระองค์ทรงตรัสว่า เรื่องการพัฒนาคน ต้องระเบิดจากข้างใน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่เราจะไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำความเจริญจากบุคคลภายนอกเข้าไปหาชุมชนที่ยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว
จากหลักการนี้ เราสามารถนำไปประยุกต์ในการบริหารหรือพัฒนาองค์การ โดยการให้ความสนใจกับคนในองค์การ ต้องพัฒนาให้เขามีความรู้ความเข้าใจ มีความพร้อม สร้างให้เขามีความสามารถและกระตุ้นให้เขาเกิดความอยากที่จะเปลี่ยนและพัฒนาด้วยตนเอง ด้วยให้เขาระเบิดจากข้างใน ศัพท์ทางจิตวิทยาเราจะใช้คำว่า แรงจูงใจภายใน หรือแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะต้องใช้เวลาบ้างสักหน่อย แต่หากผู้นำสามารถทำได้ ย่อมจะทำให้การบริหารงานในองค์การนั้นมีความสุขมากยิ่งขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจากสมาชิกทุกคนในองค์การ
แก้ปัญหาที่จุดเล็ก
จากแนวคิดที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ไว้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ นั้น พระองค์ทรงมองในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ (Micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออก เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน (Micro) มันไม่ได้เป็นการแก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้ (Macro)”
จากหลักการนี้สามารถนำไปประยุกตในการทำงานของผู้นำได้ โดยการมองปัญหาของผู้นำนั้น โดยทั่วไปแล้วผู้นำมักจะจับที่เป็นปัญหาที่สำคัญ ถือเป็นประเด็นเร่งด่วน ต้องทำให้ได้ จนบางครั้งทำให้ละเลยปัญหาที่ดูเหมือนเล็กน้อยของคนในองค์การ แล้วปล่อยให้คนองค์การนั้นๆ แก้ปัญหาของตัวกันเอง ซึ่งส่งผลให้ปัญหาที่สำคัญก็แก้ไม่ได้ เพราะปัญหาเล็กๆ เฉพาะหน้าของคนในองค์การนั้นไม่ได้รับการแก้ไข แต่ก็พูดอะไรไม่ได้ เนื่องจากเกรงจะได้รับผลกระทบ
ดังนั้นหากเราจะประยุกต์หลักการทรงงานข้อนี้มาใช้ ผู้นำควรต้องทำตัวให้เป็นที่เข้าถึงได้ง่าย ลงไปหาคนในองค์การ ฟังสิ่งที่เป็นปัญหาเล็กๆ ของเขาเหล่านั้นแล้วช่วยกันประคับประคองแก้ไข เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถจะลุกขึ้นยืนและก้าวไปกับผู้นำเพื่อจะแก้ปัญหาใหญ่ๆ ขององค์การให้ได้
ทำตามลำดับขั้น
พระองค์จะทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน ใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด”
จากหลักการนี้ เราสามารถนำไปประยุกต์ในการบริหารหรือพัฒนาองค์การได้ โดยเริ่มการพัฒนาในสิ่งที่จำเป็นที่สุดของคนในองค์การเสียก่อน ด้วยวิธีการเติมเต็มสิ่งที่ขาดอย่างเหมาะสม ถูกวิธีและถูกหลักวิชาการ ให้เขามีศักยภาพที่จะทำงานในส่วนที่เขารับผิดชอบเพิ่มขึ้น ทำให้เขามองเห็นเป้าหมายในการที่จะก้าวไปพร้อมกับองค์การ และก้าวไปยังเป้าหมายที่สูงขึ้นอย่างเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน การพัฒนาอย่างเป็นลำดับขั้นที่กล่าวมานี้ย่อมจะทำให้องค์การค่อยๆ พัฒนา เจริญขึ้นอย่างเป็นลำดับและมั่นคง ไม่ใช่เจริญอย่างรวดเร็ว แต่พอหมดคนที่จะกระตุ้นหรือกำกับดูแล องค์การที่คิดว่าพัฒนาไปแล้วนั้นก็อาจจะล้มลงอย่างน่าเสียดาย
ต้องคำนึงถึงภูมิสังคม
คำว่า “ภูมิสังคม” เป็นคำใหม่ที่พระองค์ทรงพระราชทานให้กับพวกเราชาวไทย และพระองค์ทรงใช้หลักการทรงงานที่เน้นภูมิสังคมนี้เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ การคำนึงถึงภูมิสังคม หมายถึง การคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไรและสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน
การนำหลักการทรงงานข้อนี้มาใช้ สามารถทำได้โดยการที่ผู้นำต้องรู้ถึงลักษณะของคนในองค์การว่ามีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านความคิด จิตใจ นิสัยใจคอ ตลอดจนมุมมองและทัศนคติ ความเชื่อ วัฒนธรรมในการใช้ชีวิต ดังนั้นในการที่เราจะบริหารคนที่แตกต่างกันแต่อยู่ในองค์การเดียวกัน ให้มีเป้าหมายตรงกันคือพัฒนาองค์การให้ก้าวไปข้างหน้า จึงต้องอาศัยความเข้าใจในการใช้คน การกระตุ้น การจูงใจ การสร้างศรัทธาและรวมใจคนที่ต่างกันให้หันมาร่วมใจกันเพื่อพัฒนาองค์การ เป็นการยากที่ผู้นำจะไปเปลี่ยนนิสัยคนที่ต่างกันให้เหมือนกันเพื่อที่จะทำงานด้วยกัน แต่จะง่ายกว่าหากผู้นำจะเข้าใจเขาหล่านั้น ด้วยความรัก เชื่อใจ ให้คุณค่ากับความแตกต่างของคนที่ต่างกัน และพาเขาเหล่านั้นให้พัฒนาเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชูพงศ์ ปัจมะวัต
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย