ความรักในที่ทำงาน

02 Feb 2022

รศ. ดร.คัคนางค์ มณีศรี

 

ท่านผู้อ่านกำลังมีความรักอยู่หรือเปล่าคะ คนรักของท่านเป็นใคร ท่านกับเขาเจอกันยังไงคะ

 

หากเราถามคำถามนี้กับหนุ่มสาววัยทำงาน ท่านจะพบว่า คำตอบที่ได้จำนวนมากคือ เจอกันในที่ทำงาน ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ถ้าเราลองนับจำนวนชั่วโมงที่เราลืมตาตื่น ท่านคงไม่ปฏิเสธว่าเวลาที่ตื่นส่วนใหญ่ เราอยู่ในที่ทำงาน เราแทบจะไม่มีเวลาสำหรับเรื่องอื่น ๆ นอกจากไปทำงานแล้วก็กลับบ้านนอน ไม่นับชั่วโมงที่ติดอยู่บนท้องถนนนะคะ

 

อย่างไรก็ตามแม้เราจะยุ่งกับงานสักแค่ไหน แต่เราก็ยังอยากมีใครสักคนเป็นคนพิเศษที่เรารักและรู้ว่าเขาก็รักเรา เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะหาได้ที่ไหน ที่ทำงานจึงกลายเป็นที่สำหรับแสวงหาความรักที่สะดวกและดูจะเหมาะสมที่สุด

 

ในอดีตคนทั่ว ๆ ไปมักมีทัศนคติว่า “จงหลีกเลี่ยงการมีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน เพราะจะมีแต่ความยุ่งยาก” ผู้ที่ศึกษาเรื่องของความรักในที่ทำงานจะมุ่งเน้นแต่ผลทางลบจากความสัมพันธ์ของคนที่ทำงานอยู่ในที่เดียวกัน แต่ในเมื่อเราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน โรแมนซ์ในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะพบเห็นคู่รักในที่ทำงานและบางคู่ก็พัฒนาความสัมพันธ์จนถึงขั้นแต่งงานกันเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า โรแมนซ์ในที่ทำงานเป็นผลดีต่อหน่วยงานเสียด้วยซ้ำไป เมื่อไหร่ที่คู่รักผ่านพ้นช่วงหลงใหลใฝ่ฝันอีกฝ่ายจนไม่มีสมาธิกับเรื่องใด ๆ นอกจากรักครั้งแรกหรือรักครั้งใหม่นี้ จากการศึกษาพบว่า โรแมนซ์ในที่ทำงานกลับช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจแก่พนักงานที่เป็นคู่รักกัน และอาจขยายผลไปสู่เพื่อนร่วมงานในเชิงของบรรยากาศในที่ทำงาน กระตุ้นให้สร้างผลงาน พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น

ความรักเปลี่ยนแปลงคนนะคะ จากคนที่โดดเดี่ยวกลายเป็นคนที่เข้าสังคม จากคนขี้บ่นช่างวิพากษ์วิจารณ์เป็นคนที่ร่วมทีมงานกับผู้อื่นได้ และจากคนสะเพร่าไม่มีระเบียบกลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ

 

รู้อย่างนี้แล้ว ท่านที่ตั้งใจว่าจะไม่ยอมมีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานเดียวกัน จะเปลี่ยนใจไหมคะ

 

ดังที่ได้กล่าวว่าโรแมนซ์ในที่ทำงานเป็นสิ่งที่มีให้พบเห็นมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะคนยุคใหม่ใช้เวลาของชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงาน นอกจากนี้ ที่ทำงานก็มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการที่จะเกิดความดึงดูดใจระหว่างบุคคล คนที่ทำงานด้วยกัน ส่วนใหญ่มีบุคลิกลักษณะมุ่งมั่นและเป้าหมายหลายอย่างคล้าย ๆ กัน เมื่อทำงานด้วยกันนาน ๆ ก็เกิดความคุ้นเคย พึ่งพาอาศัยกัน เวลาที่มีเรื่องตื่นเต้น หรือเรื่องคับข้องใจ เขาก็มีประสบการณ์ร่วมกัน ร่วมกันฉลองชัยชนะและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในงาน เกือบจะเรียกได้ว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในระดับหนึ่งทีเดียวค่ะ

 


 

 

อะไรทำให้คนยุคใหม่ตกหลุมรักเพื่อนร่วมงาน

 

ปัจจัยแรกก็คือ ความใกล้ชิด นั่นเองค่ะ

 

หนุ่มสาวรักกันก็เพราะเพื่อนร่วมงานเป็นบุคคลที่อยู่ตรงหน้า นักจิตวิทยาบอกว่า ยิ่งคุณอยู่ใกล้กับใครสักคนนาน ๆ คุณจะยิ่งชอบเขามากขึ้น นานวันเข้า หากไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคอื่น ๆ เข้ามาขัดขวาง ความชอบนี้จะพัฒนาเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งขึ้น ความใกล้ชิดที่พูดถึงนี้ ครอบคลุมทั้งทางกายภาพ เช่น โต๊ะทำงานอยู่ใกล้กัน หรือ ความใกล้ในการทำงาน เช่น ทำโปรเจคเดียวกัน อาจจะเป็นเรื่องของความบังเอิญ เช่น เจอกันในลิฟต์ หรือร้านอาหาร หรืออาจจะถูกส่งเข้าประชุมหรือสัมมนาที่เดียวกัน การเจอกันบ่อย ๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกคุ้นเคย… ซึ่งนำไปสู่ความไว้วางใจ… ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ท่านพอจะเห็นภาพใช่ไหมคะ

 

ปัจจัยที่ 2 ที่ทำให้เกิดโรแมนซ์ในที่ทำงาน คือ ความปลอดภัย ค่ะ

 

ในสังคมที่มีความสับสนซับซ้อน แต่ละคนก็มีภูมิหลัง หรืออาจจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังต่าง ๆ กัน เราไม่รู้ว่าใครเป็นใครกันแน่ เพื่อนร่วมงานจึงเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย อย่างน้อย ๆ เราก็รู้ว่าเขาเรียนจบอะไรมา เขามีอุปนิสัยส่วนตัวอย่างไร ใจเย็นหรือใจร้อน ขี้เหนียวหรือฟุ่มเฟือย มีรสนิยมหรือไม่ใส่ใจ มีน้ำใจหรือชอบโดดเดี่ยว เขาแต่งงานหรือกำลังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใครหรือเปล่า และหากสนิทกันมาก ๆ คุณอาจได้รู้ปัญหาสุขภาพและปัญหาส่วนตัวของเขาเสียด้วยซ้ำไป ในเมื่อคุณสามารถมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาที่เชื่อถือได้ เพราะประสบกับตัวเอง คุณจึงสามารถใช้ข้อมูลนี้ประกอบการพิจารณาว่า เขากับคุณจะเดินเส้นทางเดียวกันไปได้ราบรื่นหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คุณจะเสี่ยงมีความสัมพันธ์กับคนนอกที่ทำงานที่คุณอาจไม่สามารถมีข้อมูลประกอบการพิจารณาได้ดีแบบนี้ทำไมกันคะ

 

ปัจจัยที่ 3 ที่นำมาสู่โรแมนซ์ในที่ทำงานคือ ความคล้ายคลึงกัน

 

ตามปกติเรามีแนวโน้มที่จะทำงานกับคนที่มีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพทางสังคมที่คล้ายคลึงกัน ระดับการศึกษา และรายได้ ความสนใจ ทัศนคติ และค่านิยม ซึ่งเรามีความเชื่อว่า คนที่เหมือนกันมักจะชอบกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนในที่ทำงานเดียวกันจะชอบกัน

ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องโรแมนซ์ในที่ทำงานกล่าวว่า การที่หน่วยงานคัดเลือกพนักงานที่มีคุณสมบัติตรงกับวัฒนธรรมขององค์การ หน่วยงานจึงได้ทำหน้าที่กลั่นกรองผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นคู่รักกันไปโดยปริยาย พูดง่าย ๆ ก็คือว่า หน่วยงานหรือบริษัทได้ทำหน้าที่บริการหาคู่ให้แก่พนักงานนั่นเอง

 

ปัจจัยที่ 4 คือ ความรู้สึกตื่นตัว

 

ที่ทำงานอาจจะเป็นที่ที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา รวมถึงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ หรือที่ทำงานอาจจะเป็นที่ที่น่าเบื่อ ห่างเหิน ว้าเหว่ หรือน่าหงุดหงิดใจ ไม่ว่าที่ทำงานจะเป็นแบบไหนก็ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้ความรักเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น เวลาที่สภาพแวดล้อมเคร่งเครียด ไม่ว่าจะเป็นเพราะความตื่นเต้น หรือเป็นเพราะความวิตกกังวลในปัญหาเรื่องงานที่เกิดขึ้น นักจิตวิทยาบอกว่า สถานการณ์แบบนี้ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว ซึ่งเป็นเพราะงาน แต่คนมักถ่ายโอนความรู้สึกตื่นตัวอันนี้ไปยังผู้หญิงหรือผู้ชายที่หน้าตาท่าทางดีที่อยู่ใกล้ ๆ ความตื่นตัวที่เกิดขึ้นนี้อาจมาจากเรื่องงาน เช่น ใกล้ถึงกำหนดส่งงาน การออกแรงทำอะไรสักอย่าง อากาศที่ร้อนไปหรือหนาวไป ลักษณะงานที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย การแข่งขัน หรือความวิตกกังวล แต่คนจะตีความการตื่นตัวนี้ผิด ไปเข้าใจว่าเป็นความตื่นตัวจากการอยู่ใกล้ชิดกัน เลยเกิดเป็นความรู้สึกพิเศษที่มีต่อเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิด

 

โรแมนซ์ในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่พบเห็นบ่อยครั้ง เมื่อคนต้องทำงานร่วมกันนาน ๆ ในสภาพกดดัน และบางครั้งอาจต้องพึ่งพากันและกันในเรื่องที่ถึงแก่ความเป็นความตาย

 

ปัจจัยที่ 5 ที่เป็นที่มาของโรแมนซ์ในที่ทำงานคือ ความสะดวก ค่ะ

 

หากนับจำนวนชั่วโมงในแต่ละวันว่าเราทำอะไรบ้าง เอาแค่เรื่องหลัก ๆ นะคะ เรานอน 6 ถึง 7 ชั่วโมง เดินทางไปทำงานทั้งขาไป-ขากลับ 3 ถึง 4 ชั่วโมง อยู่ที่ทำงาน 8 ถึง 10 ชั่วโมง มนุษย์บ้างานอาจอยู่ที่ทำงานถึง 12 ชั่วโมง นับกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ เช่น ซักผ้า ดูแลความสะอาดบ้านช่อง สัตว์เลี้ยง ซื้อของใช้จำเป็น แค่นี้ท่านก็เหลือเวลาสำหรับแสวงหาความรักเพียงประมาณวันละ 2 ถึง 4 ชั่วโมง นี่เราไม่ได้พูดถึงกรณีงานเร่งด่วนที่อาจต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ และทำแม้ในช่วงสุดสัปดาห์ก็ตาม

 

การแสวงหาคนพิเศษเป็นสิ่งที่ใช้เวลามากเหลือเกินค่ะ เพราะฉะนั้นการมองคนใกล้ชิดในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่สะดวก และดูสมเหตุสมผลดี คุณสามารถใช้เวลาร่วมกันช่วงพักเที่ยง หรือช่วงเบรค คุณสามารถเดินไปหาพูดคุยกับเขาที่โต๊ะทำงาน หรือการที่คุณทำงานโปรเจคเดียวกัน คุณก็ได้ใช้เวลาร่วมกัน ซึ่งแบบนี้น่าจะเข้าท่ากว่าการนัดคนนอกที่ต้องรอกันที่ร้านอาหาร หรือรอที่บ้านจนกว่าคุณจะเสร็จงานใช่ไหมคะ

 

นอกจากนั้นการมีคนรักอยู่ในที่ทำงานเดียวกันยังทำให้คนมีคนที่จะคอยเกื้อหนุนให้กำลังใจคุณในชั่วโมงทำงานด้วย เขาสามารถเป็นที่ปรึกษาให้คุณได้ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เพราะเขาน่าจะเข้าใจสถานการณ์ของคุณได้ดีกว่าคนนอก

 


 

จากการศึกษาคนวัยทำงานพบว่าโรแมนซ์ในที่ทำงานพัฒนาเป็นขั้น ๆ จำแนกได้เป็น 4 ขั้น

 

 

ขั้นแรก เป็นช่วงสร้างฝัน บุคคลเริ่มเกิดความสนใจในผู้ร่วมงาน จึงมีการปรุงแต่งโฉมเป็นพิเศษ มีการฝันกลางวัน และพยายามทำตนให้เป็นที่สนใจของอีกฝ่าย

 

ขั้นที่สอง เป็นขั้นดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ทั้งสองฝ่ายต่างรับรู้ว่ามีใจตรงกัน มีการนัดพบกันออกไปทานอาหาร ดูหนัง ฟังเพลง เริ่มต้นความสัมพันธ์ คู่รักอาจไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน เพราะมัวแต่มองหากันและกัน

 

ขั้นที่สาม เป็นขั้นความสัมพันธ์เข้าที่ คู่รักเริ่มแน่ใจในความสัมพันธ์ของตน หันกลับมาใส่ใจกับงาน และปฏิบัติตัวตามกิจวัตรปกติ

 

ขั้นที่สี่ เป็นขั้นตัดสินใจว่าจะผูกมัดกันจนถึงกับแต่งงานกันหรือตกลงใช้ชีวิตร่วมกัน หรือจะเลิกความสัมพันธ์

 

 

เราได้ทราบกันแล้วถึงสาเหตุที่คนในที่ทำงานเดียวกันมักจะกลายเป็นคู่ครองกันในที่สุด รวมถึงขั้นตอนความสัมพันธ์ของคู่รักในที่ทำงานว่าพัฒนาอย่างไรจนถึงขั้นแต่งงานกัน หรือเลิกร้าง

 


 

 

ข้อเตือนใจที่ควรระมัดระวังหากคุณกำลังคิดที่จะแสวงหาความรักในที่ทำงาน

 

ประการแรก การควงเจ้านาย การคบหาควงคู่ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง เป็นเรื่องที่อันตรายต่อชื่อเสียงและอาชีพของพนักงานที่สุด ความสัมพันธ์ลักษณะนี้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับหน่วยงาน ทั้งถูกวิพาษ์วิจารณ์ในทางเสื่อมเสียจากผู้ร่วมงานอีกด้วย และหากโชคร้ายยังสามารถเป็นเรื่องขึ้นศาลก็เป็นไปได้

 

หากความสัมพันธ์ยุติ คนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานต่ำกว่ามักจะถูกกดดันให้ลาออก หรือสมัครใจออกเองเพราะทนความกดดันจากการต้องทำงานภายใต้อดีตคู่รักไม่ได้ แต่ถ้าหากความสัมพันธ์ราบรื่น ทั้งคู่ก็จะเป็นที่จับตามองของคนในหน่วยงาน ความอิจฉาริษยา หรือไม่พอใจในหมู่เพื่อนร่วมงานอาจจะปรากฏให้เห็น หากคุณได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือมีความดีความชอบ เพื่อนร่วมงานอาจเหมาเอาว่าเขาถูกมองข้ามเพราะเขาไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายเหมือนอย่างคุณ

 

โรแมนซ์ในที่ทำงานตามอุดมคติ ควรจะเป็นคนโสดสองคนที่ทำงานต่างแผนกกัน และมีเส้นทางความก้าวหน้าในตำแหน่งคนละเส้นทางกัน

 

ประการที่ 2 ที่ต้องระวังคือ การมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่แต่งงานแล้ว เรื่องนี้เป็นสิ่งน่าอึดอัดใจอย่างยิ่งของบรรดาเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ที่รับรู้ และบางรายอาจเป็นที่ชิงชังของเพื่อนร่วมงาน การมีความสัมพันธ์กับคนที่แต่งงานแล้ว เป็นการทำลายอาชีพของคนทั้งคู่เพราะเพื่อนร่วมงานมองว่า คนคู่นี้ขาดจริยธรรมและจรรยาบรรณในการทำงาน

 

ประการที่ 3 คือ การเลิกราความสัมพันธ์ ตามปกติการยุติความสัมพันธ์กับคนรักเป็นสิ่งที่ยากลำบากอยู่แล้ว แต่การยุติความสัมพันธ์กับคนที่ทำงานในสถานที่เดียวกันยิ่งยากเป็นหลายเท่า การที่คุณต้องเห็นเขาวันแล้ววันเล่าเป็นสิ่งที่ทรมานใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของคุณ เวลาที่คู่รักเลิกรากัน บางครั้งทำให้ที่ทำงานกลายเป็นสมรภูมิรบย่อย ๆ ได้ เพราะเพื่อนร่วมงานมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ยิ่งกว่านั้นคู่รักที่เลิกรากันบางคู่ต่างแสดงธรรมชาติไม่ดีของตัวอออกมาเวลาเลิกรัก บางคนมีการตามตื้อและราวี ส่งผลกระต่องานที่ทำและบรรยากาศการทำงานโดยทั่ว ๆ ไป

 

 

เอาละค่ะ ท่านผู้อ่านมีข้อเตือนใจตัวเองแล้วนะคะ หากคิดจะค้นหารักในที่ทำงาน ขอให้ท่านโชคดีมีความสุขในความรักนะคะ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คัคนางค์ มณีศรี

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้