ข่าวและกิจกรรม

ความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค – Adversity quotient

 

ความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค (Adversity quotient: AQ) เป็นแนวคิดที่ถูกเผยแพร่ในปี 1997 โดย Paul Gordon Stoltz ผู้เขียนหนังสือ “Adversity Quotient: Turning Obstacles into Opportunities”

 

Stoltz ได้นิยาม AQ ไว้ว่า เป็นความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรคและความยากลำบาก หรือความฉลาดในการฝ่าวิกฤต สามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทายในชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำนายการประสบความสำเร็จในชีวิต นอกเหนือจากความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)

 

 

 

Stoltz (2000) พัฒนามาตรวัดความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค (Adversity Response Profile; ARP) แบ่งการวัดออกเป็น 4 มิติ (CO2RE) ดังนี้

 

1. ด้านการควบคุมสถานการณ์ (C: Control)

 

หมายถึงความสามารถในการตระหนักรู้ว่าตนสามารถจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บุคคลที่มีลักษณะด้านนี้สูงเป็นบุคคลที่จะคิดเสมอว่าตนสามารถควบคุมสถานการณ์ในชีวิตได้ เชื่อว่าทุกปัญหามีทางแก้ไข มีความคิดเชิงรุกต่อปัญหา ไม่ย่อท้อ มีความหนักแน่น ไม่ลดละความตั้งใจ มีความกระฉับกระเฉงในการเผชิญปัญหาและพยายามหาทางออกอยู่เสมอ ส่วนบุคคลที่มีลักษณะด้านนี้ต่ำเป็นผู้รับรู้ว่าปัญหาอุปสรรคแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำลายความรู้สึกที่มีพลังอำนาจให้หมดไป เพิกเฉยและเย็นชาต่อปัญหา ไม่ดิ้นรน ไม่กระตือรือร้น

 

2. ด้านการรับรู้สาเหตุและความรับผิดชอบต่อปัญหา (O2: Origin and Ownership)

 

หมายถึง การวิเคราะห์ค้นหาสาเหตุของปัญหาว่าใครหรืออะไรคือสาเหตุ และตระหนักว่าเป็นความรับผิดชอบของตนมากน้อยเพียงใด เมื่อเป็นปัญหาของตนก็จะต้องหาทางแก้ไขให้ได้ ไม่ผลักภาระรับผิดชอบไปให้คนอื่น พิจารณาปัญหาจากตนเองและปัจจัยภายนอก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาด ตำหนิหรือโทษตนเองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การเสียใจและสำนึก ซึ่งถือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพลังหากนำมาใช้อย่างเหมาะสม เพราะจะนำมาซึ่งการปรับปรุงแก้ไข (แต่หากตำหนิตนเองมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดการเสียขวัญและทำลายพลังงาน ความหวัง และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย)

 

3. ด้านการรับรู้การแผ่ขยาย (R: Reach)

 

หมายถึงการรับรู้ของบุคคลว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นส่งผลหรือแผ่ขยายไปสู่ด้านอื่นของชีวิตมากน้อยเพียงใด ผู้ที่มีความสามารถด้านนี้สูงจะรับรู้ว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นส่งผลจำเพาะและจำกัด บุคคลจะแยกเรื่องเลวร้ายออกไปจากส่วนอื่นของชีวิต ทำให้สามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ มองว่าเรื่องร้ายๆ ไม่ใช่ความล้มเหลว ส่วนผู้ที่มีความสามารถด้านนี้ต่ำจะรับรู้ว่าอุปสรรคจะส่งผลแผ่ขยายไปครอบคลุมเรื่องต่างๆ ในชีวิต ขณะที่มองว่าสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่จำกัดและมีความจำเพาะ ไม่แผ่ขยายไปด้านอื่น

 

4. ด้านการรับรู้ความคงทนของอุปสรรค (E: Endurance)

 

หมายถึง การรับรู้ว่าอุปสรรคและสาเหตุของอุปสรรคนั้นจะคงอยู่นานเพียงใด ผู้ที่มีด้านนี้สูงจะมองว่าความสำเร็จเป็นสิ่งที่คงอยู่นาน และมองว่าอุปสรรคและสาเหตุของอุปสรรคเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่คิดว่าเกิดซ้ำอีก ส่งผลให้บุคคลมองโลกในแง่ดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาโดยไม่ย่อท้อ ส่วนผู้ที่มีด้านนี้ต่ำจะรุ้สึกว่าอุปสรรคและสาเหตุของมันคงอยู่เป็นเวลานาน ส่วนเหตุการณ์ที่ดีนั้นก็มองว่าเป็นเรื่องชั่วคราว ทำให้บุคคลมีแนวโน้มที่จะไม่กระทำการใดๆ เพื่อแก้ปัญหาที่ตนมองว่าไม่มีทางแก้ไขได้

 

 

การแบ่งประเภทของอุปสรรคและความยากลำบากในชีวิต


 

Stoltz เสนอว่าอุปสรรค ความยากลำบากและความทุกข์ในชีวิตของคนเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ

 

  1. อุปสรรคความยากลำบากระดับสังคม คือ ความทุกที่เกิดขึ้นภายในสังคมที่เราอาศัยอยู่ เช่น กลัวความไม่ปลอดภัยจากอาชญากรรม ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย ความอบอุ่นในครอบครัว ความเสื่อมทางศีลธรรมของคนในสังคม และการขาดศรัทธาในขนบธรรมเนียม รวมถึงระบบการศึกษา
  2. อุปสรรคและความไม่มั่นคงในงาน คือ ความไม่มั่นคงด้านอาชีพการงาน คนส่วนใหญ่มักไม่ทุ่มเทในงานเพราะในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อผู้ปฏิบัติงานมาก ไม่ว่าจะเป็นการรื้อระบบ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน การลดขนาดจำนวนคน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีสมมติฐานว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพขององค์การ แต่กระทบกับการจ้างงานซึ่งถือเป็นความไม่มั่นคงสำหรับคนทำงาน
  3. อุปสรรคในระดับบุคคล บุคคลจะได้รับความทุกข์ยากเป็นลำดับขั้น เริ่มมาจากสังคม ที่ทำงาน และระดับบุคคลตามลำดับ บุคคลจะสะสมความเครียดเอาไว้ จากสถิติพบว่าเด็กอายุ 6 ขวบจะหัวเราะเฉลี่ยวันละ 300 ครั้ง แต่ผู้หญิงจะหัวเราะเฉลี่ยวันละ 17 ครั้งเท่านั้น บ่งชี้ว่าเราต้องพบกับอุปสรรคและต้องฝ่าฟันความยากลำบากเพิ่มขึ้นตามวัยและความรับผิดชอบ

 

 

เทคนิคการพัฒนาความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรค


 

หนทางในการพัฒนาความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรค ในลักษณะที่เรียกว่า the LEAD Sequence คือ

 

L = listen to your adversity response

บอกให้ตนเองรู้ว่าขณะนี้เกิดปัญหาหรืออุปสรรคใดขึ้นกับตนเอง และต้องตอบสนองต่ออุปสรรคนั้นอย่างไร

 

E = Explore all origins and ownership of the result

สำรวจว่าสิ่งใดคือต้นตอและสาเหตุของอุปสรรคที่เกิดขึ้น ระบุให้ชัดเจนว่าตนเองต้องทำสิ่งใดที่เฉพาะเจาะจงลงไปเพื่อให้สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ตัดสินลงไปว่าสิ่งใดอยู่ในความรับผิดชอบ และสิ่งใดที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบหรือการตัดสินใจของเรา

 

A = Analyze the evidence

วิเคราะห์ให้เกิดความชัดเจน โดยการค้นหาหลักฐานหรือภาวะแวดล้อมมาสนับสนุนว่า สิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมีอะไรบ้าง อุปสรรคจะเข้ามาสู่ชีวิตอีกนานเท่าใด ทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้อุปสรรคหรือปัญหาอยู่ในชีวิตนานจนเกิดไป พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาด้วยศักยภาพของตนเอง

 

D = Do something

เลือกวิธีการและลงมือดำเนินการเพื่อให้อุปสรรคอยู่กับเราให้น้อยที่สุด ด้วยการหาข้อมูลที่จำเป็นและวิธีที่จะสามารถควบคุมไม่ให้อุปสรรคเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตเราเพิ่มเติม

 

 


 

 

 

ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์

 

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค การมองโลกในแง่ดีกับความเครียดของนิสิตนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และ 4” โดย ชลธิชา ศรีรุ่งเรือง, ณัฐเสฐ คมวงศ์วิวัฒน์ และ พันธุ์ทิพย์ เปาทอง (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47186

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการเผชิญปัญหาและฟันฝ่าอุปสรรค การสนับสนุนทางสังคม กับความเครียดในนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6” โดย รัชนู วรรณา, สกุลรัตน์ แสงจันทร์ และ สิรินาถ ชวาลตันติพิพัทธ์ (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47274

 

ภาพประกอบจาก http://www.josito.de/

 

Undergraduate Psychology Research Symposium 2024

 

วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 คณะจิตวิทยาจัดงานนำเสนอผลงานวิจัย Senior Project (Undergraduate Psychology Research Symposium 2024) ของนิสิตปริญญาตรีคณะจิตวิทยา ชั้นปีที่ 4 ทั้งภาคไทย และ JIPP ก่อนจบการศึกษา ณ โถงอเนกประสงค์ และ co working space ชั้น 3 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ

 

งานวิจัยนำเสนอมีทั้งสิ้น 48 ชิ้นงาน โดยจะมีการมอบรางวัลให้กับกลุ่มของนิสิตที่มี ผลงานดี 3 ลำดับแรก และรางวัล popular vote จากผู้ชมทั่วไปและนิสิต 2 รางวัล ซึ่งจะประกาศผลและมอบให้กับนิสิตในวันงานปัจฉิมนิเทศวันที่ 16 พฤษภาคม ด้วย

 

 

 

ภาพบรรยากาศงาน -> อัลบั้มภาพ

 

ข้อควรคำนึงในการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรมในผู้สูงวัยโรคซึมเศร้า

 

โรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ในกลุ่มผู้สูงวัย โดยความเสี่ยงของภาวะ นี้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อบุคคลมีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป (World Health Organization, 2021) การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (cognitive-behavior therapy; CBT) ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาอาการป่วย ซึมเศร้า ข้อดีของวิธีนี้คือเป็นการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม จึงไม่มีการใช้ยาระงับอาการต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และถูกกล่าวว่าดีกว่าแนวการบำบัดอื่น ๆ เช่น เทคนิคการผ่อนคลาย การบำบัดด้วยจิตวิเคราะห์ หรือแม้แต่การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย (Huang et al., 2015)

 

 

การบำบัดด้วย CBT ในผู้สูงวัยนั้น มีขั้นตอนในการบำบัดที่เหมือนกับการบำบัดในผู้ป่วยกลุ่มวัยอื่น ๆ แต่เนื่องจากผู้สูงวัยเป็นบุคคลในช่วงวัยที่ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย และมีความต้องการปรารถนาอันซับซ้อนแตกต่างจากกลุ่มวัยอื่น ๆ จึงมีข้อควรคำนึงถึงในการให้การบำบัดด้วย CBT กับกลุ่มผู้สูงวัย ดังนี้

 

ข้อแรก ความแตกต่างระหว่างวัย

 

ผู้ให้การบำบัดควรคำนึงถึงสภาพสังคม ความเชื่อ และแนวคิดที่ผู้สูงวัยถูกหล่อหลอมมา ว่ามีความแตกต่างจากคนอีกยุคสมัยหนึ่ง เช่น ผู้สูงวัยอาจจะไม่พูดหรือพูดเป็นนัยเกี่ยวกับปัญหาทางครอบครัวที่ตนเองประสบพบเจอ เนื่องจากเติบโตมาในสังคมที่ปลูกฝังว่าไม่ควรนำเรื่องครอบครัวไปพูดนอกบ้าน เมื่อมีความเข้าใจดังนี้แล้ว ผู้ให้การบำบัดจะประเมินความต้องการหรือนัยยะแฝงของผู้เข้ารับการบำบัดได้ดียิ่งขึ้น (Laidlaw et al., 2003; Laidlaw & McAlpine, 2008) นำไปสู่การหาข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวของผู้สูงวัยผ่านบุคคลรอบข้างเพิ่มเติมจากการสอบถามจากผู้สูงวัยโดยตรงเพียงอย่างเดียว

 

ข้อต่อมา บุคคลผู้มีอิทธิพลทางใจต่อผู้สูงวัย (เช่น ลูก หลาน เป็นต้น)

 

ในการบำบัดผู้สูงวัย บางครั้งผู้ให้การบำบัดต้องคำนึงถึงบุคคลผู้มีอิทธิพลต่อผู้เข้ารับการบำบัด เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าบุคคลดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบ่งชี้หนึ่งถึงความสำเร็จของการบำบัด (Koder et al., 1996; Laidlaw & McAlpine, 2008) ไม่ว่าจะโดยการพูดคุยเกลี้ยกล่อมให้ผู้สูงวัยเข้ารับการบำบัดจนครบกระบวนการ หรือการติดตามสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุเมื่ออยู่ในบ้าน

 

ข้อที่สาม การสร้างเป้าหมายของการบำบัด

 

เนื่องจากผู้สูงวัยอาจเผชิญความท้าทายจากการเสื่อมถอยของระบบการคิดวิเคราะห์ และพัฒนาการทางสมอง ซึ่งเป็นภาวะปกติที่พบได้ทั่วไปเมื่อบุคคลมีอายุที่มากขึ้น ในการบำบัดอาจจะเริ่มต้นที่การสร้างเป้าหมายเล็ก ๆ ที่สามารถวัดให้เห็นถึงความสำเร็จได้ชัด โดยเป้าหมายที่ตั้งในช่วงแรก ๆ ให้เน้นไปที่เป้าหมายเชิงพฤติกรรมมากกว่าเป้าหมายเชิงความคิด เพราะเป็นเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ทั้งนี้ควรเน้นให้มีการเสริมแรงที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และควรกระตุ้นให้เกิดการทบทวนหรือกระทำซ้ำบ่อย ๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างการแปรความจำระยะสั้นให้เป็นความจำระยะยาว (Koder et al., 1996; Mirowsky & Ross, 1992)

 

ข้อสุดท้าย ความสามารถทางด้านจิตปัญญา (Cognition) ของผู้สูงวัย

 

เนื่องจากผู้สูงวัยมีการเสื่อมถอยของการทำงานของร่างกายและสมอง ซึ่งส่งผลต่อการคิดวิเคราะห์และอารมณ์ของผู้สูงวัย ผู้บำบัดจะต้องออกแบบ โปรแกรมการบำบัดโดยคำนึงถึงความสามารถด้านพัฒนาการของผู้เข้ารับการบำบัดควบคู่ไปด้วย เนื่องจากปัจจัยนี้เป็นตัวบ่งชี้ตัวหนึ่งถึงความสำเร็จของการบำบัด โดยมีงานวิจัยพบว่าหากผู้สูงวัยมีความบกพร่องด้านการคิดวิเคราะห์ การบำบัดด้วย CBT จะส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ มากกว่าการเปลี่ยนความคิดของผู้สูงวัย (Simon et al., 2015)

 

 

นอกจากนี้ในการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรมควรมีการตระหนักถึงความท้าทายเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย เช่น

 

ประการแรก “ความเชื่อ” ว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการในผู้สูงวัย

 

ผู้สูงวัยที่มีความเชื่อดังกล่าว มักจะมีการรายงานถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะนี้มากกว่าความเป็นจริง งานวิจัยของ Mirowsky & Ross (1992) ระบุว่าผู้สูงวัยมักจะรายงานถึงอาการทั่วไป เช่น ปัญหาด้านการนอนหลับ หรือปัญหาด้านการมีสมาธิจดจ่อ ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่จะรายงานถึงความคิดฆ่าตัวตายสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งหากผู้ให้การบำบัดไม่คำนึงถึงจุดนี้ อาจจะมีการตอบสนองต่ออาการบางข้อมากเกินพอดี โดยละเลยที่จะสังเกตและค้นหาปัญหาด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ ผู้ให้การบำบัดจะต้องให้การระมัดระวังในการประเมินความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายของผู้เข้ารับการบำบัดเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ไม่ควรละเลยต่อปัญหาอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่

 

ประการที่สอง “ความเชื่อ” ว่า ผู้สูงวัยไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้

 

ความเชื่อดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ให้การ บำบัดมีความพยายามในการให้บริการน้อยลงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะทำให้อัตราความสำเร็จของการบำบัดนั้นลดน้อยลงไปด้วย ปัจจุบันมีการศึกษามากมายที่ออกมายืนยันแล้วว่าผู้สูงวัยสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ และการทำงานของสมองในผู้สูงวัยก็สามารถถูกพัฒนาได้เช่นกัน (Depp et al., 2012; Laidlaw et al., 2003).

 

ประการที่สาม ความต้องการ ความรัก การดูแลเอาใจใส่ และคนที่เข้าใจ

 

มนุษย์ทุกกลุ่มอายุต่างต้องการที่จะได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่ และมีคนที่เข้าใจด้วยกันทั้งนั้น ความต้องการนี้ไม่ใช่ข้อยกเว้นในกลุ่มผู้สูงวัย และเนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมน้อยลง อาจทำให้มีการสร้างความผูกพันกับผู้ให้การบำบัดง่ายกว่าบุคคลในช่วงวัยอื่น ๆ ความผูกพันและไว้เนื้อเชื่อใจนี้เป็นดาบสองคม ที่อาจผลส่งดีต่อกระบวนการระหว่างการบำบัด และอาจเป็นผลร้ายที่คาดไม่ถึงเมื่อการบำบัดสิ้นสุดลง เช่นผู้สูงวัยอาจจะย้อนกลับมามีอาการซ้ำอีกเพื่อให้ได้พบกับผู้บำบัดคนเดิม ทั้งนี้ ผู้ให้การบำบัดควรตั้งปณิธานและข้อตกลงระหว่างผู้ให้การบำบัดและผู้เข้ารับการบำบัดที่ชัดเจนตั้งแต่ก่อนเริ่มให้การบำบัด และปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นอย่างเคร่งครัด ด้วยมาตรฐานตามวิชาชีพใน ฐานะผู้บำบัดของตน (Laidlaw & McAlpine, 2008)

 

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า CBT นั้นมีข้อดีต่อการบำบัดอาการซึมเศร้าในผู้สูงวัย ทั้งในแง่ประสิทธิผลและการไม่ต้องกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการใช้ยา อย่างไรก็ตาม การให้การบำบัดความคิดและพฤติกรรมในผู้สูงวัยนั้นมีความละเอียดอ่อนและเฉพาะเจาะจงหลายประการ ผู้บำบัดหรือบุคคลในครอบครัวของผู้สูงวัยจึงควรทำงานร่วมกันกับนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านพัฒนาการ ความคิด และพฤติกรรมผู้สูงวัย เพื่อพัฒนาโปรแกรมการบำบัดเกิดประสิทธิผลและเหมาะสมกับวัยของผู้เข้ารับการบำบัด

 

 

หนังสือแนะนำ

 

Beck, J. S. (2011). Cognitive behavior therapy: Basics and beyond. The Guilford Press.

 

Laidlaw, K., Thomposom, L. W., Dick-Siskin, L., & Gallagher-Thompson, D. (2003). Cognitive Behaviour Therapy with Older People. John Wiley & Sons.

 

สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต (2562). ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 9.). สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 

References

 

Depp, C., Harmeell, A., & Vahia, I. V. (2012). Successful Cognitive Aging. Current Topics Behavior Neuroscience, 10(November 2011), 35–50. https://doi.org/10.1007/7854

 

Huang, T. T., Liu, C. B., Tsai, Y. H., Chin, Y. F., & Wong, C. H. (2015). Physical fitness exercise versus cognitive behavior therapy on reducing the depressive symptoms among community-dwelling elderly adults: A randomized controlled trial. International journal of nursing studies, 52(10), 1542-1552. https://doi.org/10.1016/j.ijnurstu.2015.05.013

 

Koder, D. A., Brodaty, H., & Anstey, K. J. (1996). Cognitive therapy for depression in the elderly. International journal of geriatric psychiatry, 11(2), 97-107. https://doi.org/10.3109/09638237.2014.971143

 

Laidlaw, K., & McAlpine, S. (2008). Cognitive Behaviour Therapy: How is it Different with Older People? Journal of Rational-Emotive & Cognitive-Behavior Therapy, 25, 250-262. doi: 10.1007/s10942-008-0085-6

 

Laidlaw, K., Thomposom, L. W., Dick-Siskin, L., & Gallagher-Thompson, D. (2003). Cognitive Behaviour Therapy with Older People. John Wiley & Sons.

 

Mirowsky, J., & Ross, C. E. (1992). Age and depression. Journal of health and social behavior, 187-205. https://doi.org/10.2307/2137349

 

Simon, S. S., Cordás, T. A., & Bottino, C. M. (2015). Cognitive behavioral therapies in older adults with depression and cognitive deficits: a systematic review. International journal of geriatric psychiatry, 30(3), 223-233. https://doi.org/10.1002/gps.4239

 

World Health Organization. (2021, October). Ageing and Health. World Health Organization. Retrieved May 10, 2022, from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ageingand-health

 

 


 

 

บทความโดย

นุสบา สมพานิช นิสิตดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา แขนงวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ และอาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ใจฉันอยู่กับเธอ..แต่ใจเธออยู่กับใคร : พิษภัยของพฤติกรรม Phubbing (ฟับบิ้ง)

 

เคยมั้ยคะ? เวลาคุณนั่งสนทนาอยู่กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว แล้วรู้สึกเหมือนพูดอยู่คนเดียว อีกฝ่ายไม่ตอบสนองใด ๆ เพราะมัวแต่กดเล่นโทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา

 

แน่นอนค่ะว่าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ในลักษณะนี้ คุณอาจรู้สึกไม่พึงพอใจ เหงา โดดเดี่ยว สงสัยในความสำคัญของคุณ ข้องใจในความสนิทสนมที่คุณมีต่ออีกฝ่าย หรือที่อีกฝ่ายมีต่อคุณ และถ้าคำตอบของคุณคือ ใช่! คุณเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้แล้วล่ะก็ คุณไม่ได้ตัวคนเดียวหรอกค่ะ เพราะในยุคปัจจุบันที่โลกออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ผู้คนจำนวนมากต่างก็ค้นหาข้อมูล ติดต่อสื่อสาร แสวงหากำลังใจ และอื่น ๆ อีกมากมาย ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนที่สุดแสนจะพกพาง่าย สะดวกสบาย และติดมือ! ทว่าสภาวะของการกดเล่นโทรศัพท์มือถือ จนไม่สนใจคนรอบข้าง หรือที่เรียกว่าPhubbing (ฟับบิ้ง) นี่เอง ที่สามารถบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของคุณกับผู้คนในชีวิตได้มากกว่าที่คุณคิด

 

 

Phubbing (ฟับบิ้ง) เป็นคำที่มาจากการผสมระหว่าง Phone และ Snubbing หมายถึงพฤติกรรมของการเบี่ยงเบนความสนใจจากบุคคลตรงหน้า ไปยังโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์โฟน แทนที่จะพูดคุยสนทนากับบุคคลที่พบเจอกันแบบเผชิญหน้าอยู่ (Pathak, 2013) ประหนึ่งว่า ฉันนั่งอยู่กับเธอ…แต่ใจเธอกลับลอยไปอยู่กับสมาร์ทโฟนได้ซะนี่! ผู้ที่แสดงพฤติกรรม Phubbing จึงมักสร้างความไม่สบายใจให้กับอีกฝ่าย ร้ายไปจนถึงทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่ได้รับความเคารพ จนทำให้ความสัมพันธ์ที่มีเสียหายลงได้ (Abeele, Antheunis & Schouten, 2016) และบ่อยครั้ง ผู้ที่กระทำพฤติกรรมเหล่านี้แทบไม่รู้ตัว

 

 

คำถามคือ แล้วเหตุใดคนจึงแสดงพฤติกรรม Phubbing ออกมา ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจว่า โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์มีความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเป็นพื้นฐาน (need to belong) และการที่บุคคลจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้นั้น คือการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ (Baumeister & Leary, 2017) ดังนั้น บุคคลจึงมีความต้องการที่จะพูดคุย ติดต่อสื่อสาร และท่วงทันต่อข้อมูลต่าง ๆ ของบุคคลอื่นในกลุ่มของตน กอปรกับความเข้าถึงง่ายของอุปกรณ์สื่อสารในปัจจุบัน และการเกิดขึ้นของโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ทำให้บุคคลมีความต้องการที่จะใช้งานอย่างต่อเนื่อง และสำหรับบางคนอาจมีความต้องการใช้งานอยู่เกือบตลอดเวลา

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า แนวโน้มที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรม Phubbing มักขึ้นอยู่กับระดับการเสพติดโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน รวมไปถึงการเสพติดการใช้สื่อสังคมออนไลน์ กล่าวคือ ยิ่งบุคคลเสพติดการใช้โทรศัพท์มาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรม Phubbing มาก จนทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด บุคคลก็จะให้ความสนใจแต่โทรศัพท์มือถือและช่องทางออนไลน์ที่ตัวเองชื่นชอบเพียงอย่างเดียว ยิ่งระบบการแจ้งเตือนของแอพพลิเคชั่นในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ถูกออกแบบมาเพื่อเรียกความสนใจจากบุคคลได้โดยง่าย (Al‐Saggaf & O’Donnell, 2019) ก็ยิ่งเร่งเร้าปฏิกิริยาการตอบสนอง

 

 

เป็นที่น่าสนใจว่า พฤติกรรม Phubbing มักเกิดขึ้นในกรณีที่บุคคลอยู่รวมกันเป็นกลุ่มแบบเผชิญหน้า ตั้งแต่สามคนขึ้นไป (Sun & Samp, 2021) ส่วนหนึ่งอาจเพราะเมื่อบุคคลอยู่รวมกันจำนวนมาก อาจคิดว่าบุคคลอื่นคงไม่ได้สังเกตหรือสนใจตนเองมากนัก จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อมีการนัดรวมตัวกันของกลุ่มคนจำนวนมาก ๆ เรามักสังเกตเห็นพฤติกรรม Phubbing ได้ง่ายมากขึ้น เช่น งานเลี้ยงรวมรุ่น หรืองานพบปะญาติสนิทมิตรสหายต่าง ๆ

 

ในฝั่งของผลเสียที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อผู้ที่ถูกกระทำ หรือถูก Phubbing งานวิจัยทางจิตวิทยาก็พบว่า นอกเหนือจากความไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์แล้ว ผู้ที่ถูกกระทำอาจเกิดความรู้สึกโกรธ โมโห ต่อผู้กระทำ และอาจนำไปสู่จุดจบของความสัมพันธ์ได้ (Zhan, Shrestha, & Zhong, 2022) หากพฤติกรรม Phubbing เกิดขึ้นในบริบทของคู่รัก หรือความสัมพันธ์แบบโรแมนติก บุคคลที่ถูกกระทำอาจเกิดความสงสัยในขั้นแรก จนบานปลายและเกิดความรู้สึกหึงหวง หวาดระแวงต่อคู่ของตนที่แสดงพฤติกรรม Phubbing อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ความไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ และตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ ในทำนองเดียวกัน หากเกิดขึ้นในบริบทของเพื่อน ก็เป็นไปได้ว่า เมื่อถูกเพื่อนแสดงพฤติกรรม Phubbing ใส่บ่อย ๆ บุคคลอาจตัดสินใจหลีกเลี่ยงที่จะสนทนา และลดระดับความสนิทสนมกับบุคคลนั้นลง

 

 

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า พฤติกรรม Phubbing นั้นก่อให้เกิดภัยมากกว่าประโยชน์ ดังนั้น จึงเป็นความสำคัญที่เราทุกคนควรหันมาช่วยกันหาแนวทางในการลดพฤติกรรมนี้ โดยอาจเริ่มต้นด้วยการเพิ่มความตระหนักและความสำคัญในการสื่อสารและการเชื่อมต่อกับคนรอบข้าง เช่น

 

  1. กำหนดเวลาที่จะไม่ใช้โทรศัพท์: ตั้งเป้าหมายในการลดการใช้โทรศัพท์ในบางช่วงเวลา เช่น เวลาที่กินอาหาร หรือเวลาที่ทำกิจกรรมร่วมกับคนรอบข้าง เพื่อให้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์และสร้างความสนใจต่อกันมากขึ้น
  2. ใช้โหมดเงียบหรือโหมดไม่รบกวน: การตั้งค่าโทรศัพท์ให้เข้าสู่โหมดเงียบหรือโหมดไม่รบกวนในบางช่วงเวลา เช่น เวลาที่คุณต้องการให้มีเวลาพักหยุดโทรศัพท์
  3. สร้างกฎในกลุ่ม: หากคุณอยู่ในกลุ่มที่มีพฤติกรรม phubbing กันอยู่ สร้างกฎหรือข้อตกลงกันว่าจะลดการใช้โทรศัพท์ในบางสถานการณ์
  4. เก็บโทรศัพท์: เวลาที่คุณมีกิจกรรมร่วมกับคนรอบข้าง เช่น การเจอหน้ากันหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ควรเก็บโทรศัพท์ไว้ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการรบกวน และเพื่อให้คุณได้ใส่ใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวแบบเต็มที่

 

ถึงบรรทัดนี้แล้ว ลองหันไปมองคนข้าง ๆ แล้ววางโทรศัพท์มือถือของคุณลงก็ดีนะคะ

 

 

อ้างอิง

 

Abeele, M. M. V., Antheunis, M. L., & Schouten, A. P. (2016). The effect of mobile messaging during a conversation on impression formation and interaction quality. Computers in Human Behavior, 62, 562-569. https://doi.org/10.1016/j.chb.2016.04.005

 

Al‐Saggaf, Y., & O’Donnell, S. B. (2019). Phubbing: Perceptions, reasons behind, predictors, and impacts. Human Behavior and Emerging Technologies, 1(2), 132-140. https://doi.org/10.1002/hbe2.137

 

Baumeister, R. F., & Leary, M. R. (2017). The need to belong: Desire for interpersonal attachments as a fundamental human motivation. Interpersonal development, 57-89. https://doi.org/10.1037/0033-2909.117.3.497

 

Pathak, S. (2013). McCann Melbourne made up a word to sell a print dictionary: New campaign for Macquarie birthed ’phubbing’. Retrieved from http://adage.com/article/news/mccann-melbourne-made-a-word-sell-a-dictionary.

 

Sun, J., & Samp, J. A. (2022). ‘Phubbing is happening to you’: examining predictors and effects of phubbing behaviour in friendships. Behaviour & Information Technology, 41(12), 2691-2704. https://doi.org/10.1080/0144929X.2021.1943711

 

Zhan, S., Shrestha, S., & Zhong, N. (2022). Romantic relationship satisfaction and phubbing: The role of loneliness and empathy. Frontiers in psychology, 13, 967339. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2022.967339

 

 

 


 

 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และอาจารย์ประจำแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

 

 

ขอเชิญทุกท่านร่วมเสนอชื่อศิษย์เก่า เพื่อเข้ารับรางวัล “ศิษย์เก่าดีเด่น” คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ประจำปี 2567

 

ขอเชิญทุกท่านร่วมเสนอชื่อศิษย์เก่าเพื่อเข้ารับการพิจารณาเป็น

 

“ศิษย์เก่าดีเด่น คณะจิตวิทยา” ประจำปี 2567


 

 

คุณสมบัติหลักของผู้รับรางวัล

 

  1. เป็นศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. เป็นผู้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และเป็นบุคคลที่หน่วยงาน สถาบัน สมาชิกของสถาบันให้การยอมรับ
  3. เป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ หรือสนับสนุนการทำงานทางด้านวิชาชีพจิตวิทยา แก่มหาวิทยาลัย คณะ หรือวิชาชีพ ตลอดจนสมาคมศิษย์เก่า อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเป็นรูปธรรม
  4. เป็นผู้ไม่เคยได้รับคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นมาก่อน
  5. ไม่เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการคัดเลือก

 

 

บุคคลและส่วนงานที่มีสิทธิเสนอชื่อ

 

  1. ศิษย์เก่าทุกระดับ ในส่วนบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทตั้งแต่รหัส 2539 เป็นต้นไป) (ปริญญาเอกตั้งแต่รหัส 2543 เป็นต้นไป) และขอสงวนสิทธิการเสนอชื่อตนเอง
  2. องค์กรหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีศิษย์เก่าปฏิบัติงานหรือเคยปฏิบัติงาน
  3. สมาคมวิชาชีพทางจิตวิทยา

 

 

รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

 

  1. นักจิตวิทยา หรือผู้ปฏิบัติการทางจิตวิทยา
    เป็นผู้มีผลงานด้านจิตวิทยาหรือการส่งเสริมสุขภาพจิตเป็นที่ประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับในสังคม มีการทำคุณประโยชน์ หรือสนับสนุนการทำงานทางด้านวิชาชีพ แก่มหาวิทยาลัย คณะ หรือวิชาชีพ ตลอดจนสมาคมศิษย์เก่า อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเป็นบุคคลที่หน่วยงาน สถาบัน สมาชิกของสถาบัน ให้การยอมรับ
  2. นักวิชาการ นักวิจัย
    เป็นผู้มีผลงานวิชาการดีเด่น เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และได้เผยแพร่ถ่ายทอดอันเป็นผลงานวิจัยและวิชาการสู่สาธารณะ เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป ทั้งในประเทศและ/หรือต่างประเทศ
  3. ผู้บริหาร ภาครัฐ/ภาคเอกชน/สถาบันการศึกษา
    เป็นผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร ที่ถูกเสนอชื่อเป็นผู้บริหารอยู่ในโครงสร้างนั้น และระบุด้วยว่าอยู่ในตำแหน่งใดของโครงสร้างองค์กร และต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงบริหารในองค์กรที่ประสบความสำเร็จ เป็นผู้มีธรรมาภิบาล มีผลงานดีเด่นในการบริหารเป็นที่ยอมรับ ได้รับการยกย่อง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป
  4. ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมประเภทอื่น ๆ
    เป็นผู้มีผลงานดีเด่น ทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยอุทิศตนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำคุณประโยชน์ต่อสังคมอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต จนประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปในชุมชนหรือสังคมอย่างกว้างขวาง

 

 

ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับประกาศนียบัตรและโล่รางวัล ในงานวันสถาปนาคณะ ประจำปี 2567 

 

 

 


 

แบบฟอร์มการเสนอชื่อ

 

กรุณาส่งแบบฟอร์มการเสนอชื่อและเอกสารข้อมูลประกอบมาที่ Sangdern.C@chula.ac.th

เสนอชื่อภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2567

 


 

 

สอบถามเพิ่มเติมติิดต่อ ฝ่ายกิจการนิสิต
คุณโต้ง แสงเดือน โทร 02-218-1170 อีเมล sangdern.c@chula.ac.th

 

 

 

ความสำคัญของการนอนหลับต่อการทำงานของสมอง

 

การนอนหลับเป็นกระบวนการที่จำเป็นสำหรับสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของสมอง ซึ่งเป็นส่วนควบคุมทุกระบบในร่างกายของมนุษย์ หากขาดการนอนหลับอย่างเพียงพอ สมองจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางปัญญาและอารมณ์ของเรา ความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับและการรู้คิดเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ ในจิตวิทยาสมัยใหม่ การนอนหลับซึ่งเป็นความจำเป็นทางชีวภาพส่งผลต่อกระบวนการการรู้คิดหลายประการ รวมถึงความจำ การให้ความสนใจ และการทำงานของผู้บริหาร แบบแผนการนอนหลับทั้งที่ดีและแย่ มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ ความทรงจำ และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมของเรา

 

ในช่วงการนอนหลับจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 90 นาที สมองจะผ่านรอบการนอนหลับ 4 ระยะ ได้แก่

 

1. ระยะหลับตื้น (NREM1; เริ่มง่วง)

เป็นช่วงที่เริ่มหลับ กล้ามเนื้อเริ่มผ่อนคลายและเคลื่อนไหวช้าลง เราอาจรู้สึกเหมือนกำลังจะหลับและตื่นขึ้นทันที

 

2. ระยะก่อนหลับลึก (NREM2; ผล็อยหลับหรือเคลิ้มหลับ)

เป็นช่วงที่ร่างกายเข้าสู่การนอนหลับอย่างเต็มที่ กล้ามเนื้อเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น หัวใจเต้นช้าลง และอุณหภูมิร่างกายลดลง การนอนหลับในช่วงนี้ช่วยให้ร่างกายพร้อมสำหรับการนอนหลับลึก

 

3. ระยะหลับลึก (NREM; ช่วงหลับลึก)

เป็นช่วงที่สมองทำงานช้าลง และเป็นช่วงที่ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง เช่น ซ่อมแซมกล้ามเนื้อ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

 

4. ระยะหลับฝัน (REM; REM sleep)

เป็นช่วงที่ดวงตาเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็วแม้จะยังหลับตาอยู่ ความฝันต่างๆ จะเกิดขึ้นในช่วงนี้เนื่องจากสมองตื่นตัวมากขึ้นกว่าช่วงอื่นๆ การเต้นของหัวใจและการหายใจเร็วขึ้นใกล้เคียงกับขณะตื่น แต่กล้ามเนื้อจะขยับตัวไม่ได้ชั่วคราวเพื่อป้องกันการตอบสนองทางร่างกายขณะเกิดความฝัน

 

 

The sleep cycle goes through stages of light sleep, deep sleep, and active REM sleep.

ภาพจาก https://www.sleepfoundation.org/sleep-calculator

 

 

การนอนหลับมีบทบาทสำคัญในการรวมข้อมูลใหม่เข้าสู่ความทรงจำระยะยาว ฮิปโปแคมปัสและนีโอคอร์เท็กซ์ทำงานร่วมกันในระหว่างการนอนหลับ โดยเฉพาะในช่วงระยะนอนหลับลึกและระยะหลับฝันเพื่อถ่ายโอนข้อมูลที่เรียนรู้ในระหว่างวันเข้าสู่การเก็บระยะยาว (Walker & Stickgold, 2004) ระยะนอนหลับลึก เป็นช่วงที่ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเติบโต (growth hormones) ซ่อมแซมเซลล์ สร้างภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างพลังงาน และฟื้นฟูสุขภาพจากความเครียดในช่วงระหว่างวันที่ผ่านมา และเกี่ยวข้องกับกระบวนการนำความรู้ใหม่ ความทรงจำใหม่ มาเก็บให้เป็นความทรงจำถาวรในสมองเป็นความทรงจำระยะยาว (memory consolidation) ในขณะที่การนอนหลับฝันจะช่วยเสริมสร้างความจำระยะยาว โดยนำประสบการณ์ต่างๆ มาจัดระบบและบันทึกลงในสมองส่วนความจำระยะยาว (Diekelmann & Born, 2010) การนอนหลับที่เพียงพอช่วยให้เรารักษาและเรียกข้อมูลได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้และประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเรา

 

การนอนหลับยังส่งผลต่อการให้ความสนใจและโฟกัสอีกด้วย ซึ่งเป็นฟังก์ชันการรู้คิดที่สำคัญในการทำกิจกรรมประจำวัน การนอนที่เพียงพอช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทในการประมวลผลข้อมูล ซึ่งมีผลต่อการสังเกตและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว นอกจากนี้การนอนหลับยังมีส่วนช่วยในการควบคุมอารมณ์และความเครียด ซึ่งสามารถลดความฟุ้งซ่านและทำให้เราสามารถให้ความสนใจ โฟกัสกับสิ่งต่างๆได้ง่ายมากยิ่งขึ้น (Banks et al., 2007) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการอดนอนแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถลดความตื่นตัว ความเร็วในการตอบสนอง และการให้ความสนใจที่ต่อเนื่องได้ (Lim & Dinges, 2010) การขาดการให้ความสนใจและโฟกัสส่งผลทำให้มีผลิตภาพ (productivity) ลดลง มีโอกาสที่จะตัดสินใจที่ผิดพลาดมากขึ้น และเสี่ยงในการทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น โดยเฉพาะในการทำงานที่เสี่ยงสูง เช่น การขับรถหรือการใช้เครื่องจักร

 

ดังนั้นหากเรานอนไม่พอจะส่งผลต่อการทำงานของสมอง การอดนอนระยะสั้นส่งผลต่อการทำงานของการรู้คิดทันที เช่น การให้ความสนใจ ความจำ และความสามารถในการแก้ปัญหา การนอนไม่พอเพียงหนึ่งคืนสามารถนำไปสู่การขาดการรู้คิดที่คล้ายกับการเมาแอลกอฮอล์ ทำให้เวลาตอบสนอง ความสามารถในการเรียกคืนความจำ และการตัดสินใจลดลง แต่หากเป็นการขาดการนอนหลับเรื้อรังสามารถนำไปสู่การขาดการรู้คิดในระยะยาวได้ งานวิจัยเชื่อมโยงการอดนอนเป็นเวลานานกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคความเสื่อมประสาท เช่น อัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากการสะสมของแผ่นเบต้าอะไมลอยด์ที่เพิ่มขึ้นจากการนอนหลับที่ไม่ปกติ ส่งผลทำให้สมองเสื่อมได้ มีปัญหาในการคิดวิเคราะห์ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ รวมถึงลดความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ (Ju et al., 2014) นอกจากนี้ การขาดการนอนหลับยังเกี่ยวข้องกับภาวะความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ ทางกายภาพ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะซึมเศร้า เนื่องจากการขาดการนอนหลับส่งผลต่อการควบคุมระดับฮอร์โมนและกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย

 

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าผู้ใหญ่ควรนอนหลับประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสมาธิจดจ่อ สร้างความทรงจำใหม่ ควบคุมอารมณ์ได้ดี และมีพลังงานเพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน

 

อ้างอิง

Banks, S., & Dinges, D. F. (2007). Behavioral and physiological consequences of sleep restriction. Journal of clinical sleep medicine : JCSM : official publication of the American Academy of Sleep Medicine, 3(5), 519–528. https://doi.org/10.5664/jcsm.26918

Diekelmann, S., & Born, J. (2010). The memory function of sleep. Nature reviews. Neuroscience, 11(2), 114–126. https://doi.org/10.1038/nrn2762

Ju, Y. E., Lucey, B. P., & Holtzman, D. M. (2014). Sleep and Alzheimer disease pathology–a bidirectional relationship. Nature reviews. Neurology, 10(2), 115–119. https://doi.org/10.1038/nrneurol.2013.269

Lim, J., & Dinges, D. F. (2010). A meta-analysis of the impact of short-term sleep deprivation on cognitive variables. Psychological Bulletin, 136(3), 375–389. DOI: 10.1037/a0018883

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร

ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาตรี นานาชาติ (JIPP) อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน และอาจารย์ประจำแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

 

 

ปรับความคาดหวังของพ่อแม่ : คาดหวังอย่างไรให้ลูกได้ดี

 

ความคาดหวังของพ่อแม่ (parental expectation) เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ได้รับการศึกษาในงานวิจัยทางจิตวิทยา จากงานวิจัยพบว่าความคาดหวังของพ่อแม่ก็เหมือนดาบสองคม พ่อแม่ที่ีตั้งความคาดหวังได้อย่างเหมาะสมตามความเป็นจริง มีความสัมพันธ์กับการประสบความสำเร็จในการเรียน และชีวิตของลูก แต่ความคาดหวังที่เกินความเป็นจริงกลับส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกได้

 

วันนี้ชวนผู้อ่านทุกท่านมาปรับ tune ความคาดหวังให้พอดี เพื่อพัฒนาการที่ดี และความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวกันค่ะ

 

 

ความคาดหวังของพ่อแม่ คืออะไร


 

ความคาดหวังของพ่อแม่ คือการตั้งเป้าหมายล่วงหน้าถึงชีวิตในด้านต่าง ๆ ของลูกในอนาคต

 

งานวิจัยพบว่าความคาดหวังของพ่อแม่จะกลายเป็นแรงผลักดันให้ลูกอยากที่จะเก่งขึ้น ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ตามที่พ่อแม่คาดหวัง เมื่อเขาทำได้ตามที่พ่อแม่คาดหวังก็เกิดเป็นความมั่นใจในตัวเองขึ้นมา เกิดเป็นวงจรที่ดี

 

แต่การที่พ่อแม่คาดหวังในสิ่งที่ยากเกินจะทำได้ แรงผลักดันนั้นก็จะกลายเป็นแรงกดดันที่ทับถมอยู่ในใจลูก ว่าเขาทำไม่ได้ตามที่พ่อแม่คาดหวัง ไม่เคยได้รับคำชม น้อยครั้งนักที่พ่อแม่จะรู้สึกพึงพอใจในตัวเขา ซึ่งความกดดันที่กดทับอยู่นี้อาจนำไปสู่การไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง วิตกกังวลเมื่อต้องทำอะไรด้วยตัวเอง ความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเองและความวิตกกังวลเหล่านี้ ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของเขา และความสัมพันธ์ในครอบครัว เกิดเป็นวงจรที่ไม่ดี

 

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจจะมีคำถามว่า แล้วการไม่คาดหวัง หรือคาดหวังแค่น้อย ๆ จะดีกว่าไหม คำตอบคือ น่าจะดีกว่าความกดดัน และสุขภาพจิตที่เสียของลูกเมื่อพ่อแม่คาดหวังมากเกินไป แต่การที่พ่อแม่คาดหวังน้อยเกินกว่าความสามารถของเด็กก็เหมือนกับการเสียโอกาสที่ลูกจะได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ หรือพูดง่าย ๆ ว่า “เสียดายของ”

 

ดังนั้นแล้วความคาดหวังของพ่อแม่ในเรื่องที่เหมาะสม ในระดับที่ถูกที่ควรจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขอเปรียบว่าความคาดหวังของพ่อแม่เหมือนกับคาถาวิเศษที่มีส่วนสรรค์สร้างให้เด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จได้

 

 

ภาพจาก Canva

 

 

 

หลักการตั้งความคาดหวัง 5 ข้อ


 

1. ตั้งความคาดหวังโดยคำนึงถึงพัฒนาการที่ดี

 

เมื่อพ่อแม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการแต่ละช่วงวัยก็จะสามารถตั้งความคาดหวัง และเตรียมความพร้อมตามพัฒนาการของลูกได้ บางอย่างที่ลูกยังทำไม่ได้ อาจเพราะยังไม่ถึงวัย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรอให้ถึงวัยก่อนแล้วค่อยส่งเสริม

 

เช่น เด็กเรียนรู้ภาษาจากสภาพแวดล้อม ถึงแม้ลูกอายุน้อยกว่า 1 ขวบจะยังพูดไม่ได้ และดูเหมือนจะยังไม่เข้าใจภาษา แต่การที่พ่อแม่คาดหวังให้ลูกพูดคุยสื่อสารได้จะนำไปสู่ความพยายามในการกระตุ้นภาษาของลูก โดยการการคุยกับลูกบ่อย ๆ โต้ตอบกับลูกเมื่อลูกส่งเสียงอ้อแอ้ อ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่แบเบาะ และเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พ่อแม่ที่เข้าใจพัฒนาการจะทราบว่า เพื่อนกลายมาเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตลูก นอกจากความคาดหวังเรื่องการเรียน พ่อแม่ควรคาดหวังให้ลูกคบเพื่อนที่ดี เป็นที่รักของเพื่อน ๆ ได้ทำกิจกรรมและใช้เวลาร่วมกับเพื่อนตามความเหมาะสม ซึ่งพ่อแม่ที่มีความคาดหวังเช่นนี้ จะมีความใส่ใจเกี่ยวกับเพื่อนของลูก สนับสนุนให้ลูกและเพื่อนของลูกได้มีกิจกรรมที่เหมาะสมทำร่วมกัน ซึ่งจะส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการทางสังคมที่ดี พัฒนาพฤติกรรมที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงช่วยให้วัยรุ่นพัฒนาอัตลักษณ์ของตัวเองที่ดีตามขั้นพัฒนาการด้วย

 

2. ตั้งความคาดหวังย่อย ๆ เอาไว้

 

ปูทางไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ความคาดหวังย่อยนี้ให้เป็นสิ่งที่เด็กยังทำไม่ได้ แต่เกือบจะทำได้ และอย่าลืมชื่นชม สนับสนุน และให้กำลังใจในความพยายามและความสำเร็จของลูกในแต่ละขั้นย่อย ๆ เน้นใส่ใจไปที่ความพยายาม ความกัดฟันสู้ และการเรียนรู้ของลูก คาดหวังให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และทำได้ดีขึ้นในทุกวัน ไม่ควรเปรียบเทียบกับใคร แต่ให้เปรียบเทียบกับตัวลูกในเมื่อวาน

 

3. เผื่อความคาดหวังว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ

 

ไม่มีชีวิตใครจะโรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเวลา การจะทำสิ่งใดให้สำเร็จเป็นเรื่องยาก และต้องอาศัยหลายปัจจัยในชีวิต ในหลายครั้งก็รวมถึงโชคด้วย ความผิดพลาดล้มเหลวล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ เมื่อผิดพลาดก็เรียนรู้ปรับปรุง พยายามใหม่ในครั้งต่อไป อย่างไรก็ตามไม่ควรฝืนชมเชยส่ง ๆ ถ้าหากยังทำได้ไม่ดี ไม่เต็มที่ แต่ควรสนับสนุนการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

 

4. ปรับเปลี่ยนความคาดหวังให้สอดคล้องกับลูกและปัจจุบัน

 

ความคาดหวังควรมีการปรับเปลี่ยนในขณะที่ลูกเติบโต ผ่านการแลกเปลี่ยนและรับฟังเพื่อให้เขาได้กำหนดความคาดหวังของตัวเอง โดยมีพ่อแม่เป็นกองเชียร์ และสนับสนุน นอกจากนี้โลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เคยดีและเหมาะสมในอดีต อาจไม่ได้ดีเท่าที่เคยในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อพ่อแม่เปิดใจ เปิดรับแนวทางชีวิตใหม่ ๆ คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสนับสนุนชีวิตของลูกได้อย่างเท่าทันโลก และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของลูก และครอบครัว

 

5. มีความคาดหวังที่ดีอยู่เสมอ

 

การคาดหวังสิ่งที่ดีแก่ตัวลูกอยู่เสมอเปรียบเสมือนพรวิเศษ เมื่อพ่อแม่มีความคาดหวังที่ดี ปรับเปลี่ยนความคาดหวังให้เข้ากับตัวลูก และไม่หมดหวังในตัวลูก ลูกก็จะไม่หมดหวังในตัวเองเช่นกัน เมื่อไม่หมดหวัง การเรียนรู้พัฒนาตัวเองก็ยังดำเนินต่อไปได้

 

 

การตั้งความคาดหวังที่ความเหมาะสมจะช่วยในการวางแผนชีวิตที่ดีตลอดทุกขั้นพัฒนาการ และการปรับเปลี่ยนความคาดหวังให้เหมาะสมกับสถานการณ์จะช่วยให้สามารถวางใจได้ถูกที่ พัฒนาได้ถูกทาง ก้าวผ่านความผิดหวัง และปรับตัวได้ทันท่วงที

 

 

References:

 

Liu, M., Zhang, T., Tang, N., Zhou, F., & Tian, Y. (2022). The Effect of Educational Expectations on Children’s Cognition and Depression. International journal of environmental research and public health, 19(21), 14070. https://doi.org/10.3390/ijerph192114070

 

Curran, T., & Hill, A. P. (2022). Young people’s perceptions of their parents’ expectations and criticism are increasing over time: Implications for perfectionism. Psychological bulletin, 148(1-2), 107–128. https://doi.org/10.1037/bul0000347

 

 


 

 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

 

โครงการ Enrichment Program for CU ปี 2567

 

โครงการ Enrichment Program for CU

 

โดยความร่วมมือระหว่างสำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์และศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย จุฬาฯ (Life Di) ขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพใจ ให้แก่บุคลากรชาวจุฬา โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่จะทำให้ทุกคนมาสนุกสนาน ผ่อนคลาย และได้ความรู้ในการดูแลใจทั้งตนเองและคนรอบข้างอย่างอัดแน่น กับกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่

 

 

1) การประเมินสุขภาวะทางใจ


 

เพื่อประเมินภาวะสุขภาพจิตของตนเอง และยังได้ความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพจิตจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสุขภาพใจอีกด้วย มีทั้งหมด 2 หัวข้อ ได้แก่

– ประเมินความสุข (CU Happiness)

– ประเมินภาวะสุขภาพจิต (DASS Assessment)

รับสมัครหัวข้อละ 150 คน (สายวิชาการ 75 คน / สายปฏิบัติการ 75 คน) เท่านั้น

 

 

 

2) กิจกรรม Workshop และการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพใจ 3 หมวด


 

หมวดที่ 1 “Upgrade สุขภาพใจ เติมไฟให้ใจฟู”

️เหมาะสำหรับบุคลากรทุกคน️

  • ความสุขสร้างได้ด้วย Positive Thinking
  • Mental Health 1st Aids และการดูแลสุขภาพใจ
  • การจัดการเวลาด้วยจิตวิทยา
  • กลวิธีการเผชิญปัญหาบนพื้นฐานของการมีสติ (Mindfulness-based coping)
  • Me & My Melody สัมผัสเสียงดนตรีในตัวคุณเพื่อปลดปล่อยและพักผ่อนใจ

 

หมวดที่ 2 “จุฬาฯ ฮีลใจ โสดอย่างไรให้ใจเป็นสุข”

️เหมาะสำหรับบุคลากรที่โสดหรือคนที่กำลังมองหาความสัมพันธ์ดี ๆ️

  • จิตวิทยาการสร้างความสัมพันธ์
  • อยู่เป็นโสดอย่างเป็นสุข
  • จิตวิทยาการเลือกคู่

 

หมวดที่ 3 “เลี้ยงลูกสมวัย สร้างสายใยครอบครัว”

️เหมาะสำหรับบุคลากรที่มีครอบครัว️

  • การเลี้ยงลูกเชิงบวกเพื่อดูแลสุขภาพใจของตนเอง บุตรหลาน และครอบครัว (Positive Parenting)
  • ลูกน้อยสมวัย พ่อแม่มีสุข (เด็กอายุ 1-3 ปี)
  • EF for Parent & Child (เด็กอายุ 4-6 ปี)

 

 

หมายเหตุ:

  1. บุคลากร 1 ท่านสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในทั้ง 3 หมวดได้เพียง 2 กิจกรรมเท่านั้น
  2. ลงทะเบียนก่อนมีสิทธิ์ก่อน โดยจะค่อย ๆ ทยอยเปิดรับสมัคร
  3. ติดตามรายละเอียดกิจกรรม การรับสมัครต่าง ๆ ได้ที่ เพจ Facebook : HR CHULA หรือแอปพลิเคชัน CUNEX STAFF

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ น.ส.ธมลวรรณ สร้อยนาค (น้ำทิพย์)

โทร. 02-2180148

E-Mail: thamonwan.s@chula.ac.th

ปฏิทินโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา ปี 2567

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา สำหรับบุคคลทั่วไป

โดยงานบริการวิชาการกลาง คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2567

 

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ เวลาจัดอบรม ช่วงเวลารับสมัคร สถานะ
แนวทางการบริการจัดการความหลากหลายในองค์กร
สำหรับผู้ดูแลและจัดการทรัพยากรบุคคล
(Diversity Management in Organizations for Human Resources)
23 มีนาคม 2567 กุมภาพันธ์ 2567 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว
ทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด
(Theories of Counseling and Psychotherapy)
8 มิถุนายน –
3 สิงหาคม 2567
เม.ย. 67 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว
พื้นฐานทางจิตวิทยาพัฒนาการ ประจำปี 2567 17 – 28 มิถุนายน 2567 เม.ย. – มิ.ย. 67 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว
สถิติเบื้องต้นสำหรับการวิจัยทางจิตวิทยา ประจำปี 2567 1 – 15 กรกฎาคม 2567 เม.ย. – มิ.ย. 67 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว
พื้นฐานจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ประจำปี 2567 24 มิถุนายน –
25 กรกฎาคม 2567
พ.ค. – มิ.ย. 67 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว
เทคนิคพื้นฐานการเจรจาต่อรอง รุ่นที่ 3 27 กรกฎาคม 2567 พ.ค. – มิ.ย. 67 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว
จิตวิทยาสำหรับประชาชนทั่วไป ประจำปี 2567 พฤศจิกายน –
ธันวาคม 2567
1 ตุลาคม 2567 ลิงค์โครงการ

 

 

 

 

การเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง – Self-enhancement

 

 

 

 

การเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง หมายถึง การมีมุมมองต่อตนเองในทางบวกเกินจริง ซึ่งเป็นการรับรู้ว่าตนสามารถควบคุมชีวิตตนเองได้มากเกินจริง และมองตนในแง่ดีเกินกว่าความเป็นจริง

 

การเพิ่มคุณค่าให้ตนองเป็นส่วนหนึ่งของภาพลวงตาทางบวก (positive illusion) คือกระบวนการในการหลอกตนเอง ทั้งยังเป็นกระบวนการป้องกันตนเอง บุคคลที่มีการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองจะมองว่าตนเองดีกว่าค่าเฉลี่ยของบุคคลทั่วไป และมีการปกป้องตนเองเพื่อรักษาความมั่นคงในจิตใจตนเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่จะเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง

 

Fiske (2004) กล่าวว่า ในความเป็นจริงบุคคลมักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับตนเอง ส่งผลให้ไม่สามารถดึงเอาแรงผลักดันพื้นฐานของบุคคลออกมาได้ เช่น ไม่กล้าทำในสิ่งที่ท้าทาย แต่ถ้าเมื่อใดบุคคลรู้สึกดีต่อตนเอง เขาจะมีความรู้สึกในทางบวกต่อตนเองเพียงพอที่จะก่อให้เกิดความต้องการและพยายามสร้างความรู้สึกที่ดี และมีอารมณ์ร่วมกับสมาชิกในกลุ่มได้ การที่บุคคลมีความต้องการที่จะมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองจึงเป็นการรวมเอาทั้งการนับถือตนเอง และการพัฒนาตนเองเอาไว้ด้วยกัน Baumeister และ Leary (1995) เสนอว่าบุคคลมีการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองในแนวทางที่ต่างกันตามแต่วัฒนธรรม (Individualism vs Collectivism) เช่น บางคนจะรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อรู้สึกพิเศษกับตนเอง บางคนจะภาคภูมิใจเมื่อเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นสมาชิกที่ดีของกลุ่ม หรือมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของกลุ่ม การนับถือตนเองจะช่วยให้บุคคลมองเห็นว่าตนเองได้ทำในสิ่งที่ดีเทียบเท่าสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่ม

 

ในด้านสุขภาวะ การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองยังสามารถเป็นตัวป้องกันความเครียดทางด้านร่างกายได้ และยังทำให้มีสภาพจิตที่ดี มีงานวิจัยพบว่าการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองสามารถลดภาวะซึมเศร้าและลดความเครียดได้อีกด้วย โดยพบว่าผู้ที่เพิ่มคุณค่าให้ตนเองสูงจะมีระดับการเต้นของหัวใจน้อยกว่า และร่างกายจะหลั่งสารคอติซอล (cortisol) ซึ่งเป็นสารความเครียดน้อยกว่าผู้ที่เพิ่มคุณค่าให้ตนเองต่ำ อย่างไรก็ดี ผู้ที่เพิ่มคุณค่าให้ตนเองมากเกินไปจะถูกคนอื่นมองในด้านลบ เช่น อวดดี เป็นปฏิปักษ์ อาจทำให้เกิดความอึดอัดหรือไม่น่าพึงปรารถนาในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้ผู้ที่เพิ่มคุณค่าให้ตนเองเสี่ยงจะเจอการปฏิบัติแบบเหินห่าง เช่น หลีกหนี เป็นที่ซุบซิบนินทา ได้รับการตอบสนองทางลบ เป็นที่ไม่ไว้วางใจ และถูกขับออกจากกลุ่ม ผลเสียในระยะยาวก็รุนแรงได้เช่นกัน ผู้ที่ชอบเพิ่มคุณค่าให้ตนเองบ่อย ๆ ในอนาคตจะมีระดับการเห็นคุณค่าในตนเองและสุขภาวะทางจิตต่ำ และอาจไม่พึงพอใจและละทิ้งการงานที่ตนประกอบอาชีพ

 

 

 

ประเภทของการเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง

 

การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองแบ่งเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยแต่ละงาน เช่น

 

1. การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองแบบง่าย (Simple self-enhancement) เป็นกระบวนการที่บุคคลพยายามให้ผู้อื่นรับรู้เกี่ยวกับตนเองในทางบวก

 

2. การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองแบบป้องกัน (Compensatory หรือ Defensive self-enhancement) เป็นแรงจูงใจที่มีแรงขับมากที่สุด แบ่งเป็น

2.1 ความน่าพึงปรารถนาของสังคม (socially desirable)

2.2 การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองแบบอวดตน (grandiose self-enhancement) ทั้งนี้ แบบแรกไม่สัมพันธ์กับความหลงตนเอง ส่วนแบบที่สองสัมพันธ์กับความหลงตนเอง

3. การเพิ่มคุณค่าให้ตนเองแบบเปรียบเทียบ (Comparative self-enhancement) แบ่งเป็น

3.1 กลยุทธ์แบบเปรียบเทียบ คือ การเปรียบเทียบตัวตนที่น่าพึงปรารถนาของตนเองกับผู้อื่น นั่นคืออคติเข้าข้างตนเอง (self-serving bias) คือการรับความดีความชอบเมื่อผลลัพธ์ของงานประสบความสำเร็จ และโทษสถานการณ์หรือผู้อื่นเมื่อผลลัพธ์ไม่ประสบความสำเร็จ

3.2 กลยุทธ์แบบไม่เปรียบเทียบ คือ การไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น แต่ประเมินที่ความสำคัญของงาน คือ การประเมินว่างานมีความสำคัญเมื่อประสบความสำเร็จ และประเมินว่างานไม่สำคัญเมื่อล้มเหลว

 

 

มาตรวัดการเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง

 

มาตรวัดการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองมีด้วยกันหลายมาตร แล้วแต่แนวคิดและขอบเขตในการศึกษา ตัวอย่างเช่น

1. มาตร Contingencies of Self-worth Scale ของ Crocker และคณะ (2003) เป็นมาตรที่วัดจากผลที่ตามมาของการประเมินคุณค่าในตนเอง แบ่งเป็นองค์ประกอบด้านคุณค่าของตนเองภายนอก 4 องค์ประกอบ และคุณค่าของตนเองภายใน 3 องค์ประกอบ รวมเป็น 7 องค์ประกอบ ดังนี้

  • (1) การยอมรับจากผู้อื่น (Other’s approval) คือการเห็นคุณค่าในตนเองอยู่บนพื้นฐานของการได้รับการเห็นด้วยและการยอมรับจากผู้อื่น โดยบุคคลเชื่อว่าผู้อื่นมองตนในแง่บวกมากกว่าที่ผู้อื่นมองจริง ๆ
  • (2) รูปลักษณ์ (Appearance) คือการให้ความสำคัญกับคุณค่าของตนเองในด้านรูปลักษณ์ภายนอก (เป็นตัวทำนายที่หนักแน่นที่สุดในการทำนายการเห็นคุณค่าในตนอง)
  • (3) การแข่งขัน (Competition) คือการเห็นคุณค่าในตนเองซึ่งมาจากการที่ตนเหนือกว่าผู้อื่น ทำได้ดีกว่าในการแข่งขัน และถือว่าตนดีกว่าผู้อื่น
  • (4) ความสามารถ (Competencies/Performance) คือการเห็นคุณค่าในตนเองที่มาจากการประเมินความสามารถในการแข่งขัน หรือจากความสามารถทั่ว ๆ ไปของตนเอง
  • (5) การสนับสนุนของครอบครัว (Family support) คือการเห็นคุณค่าในตนเองจากความรู้สึกเป็นที่รักของตนใกล้ชิด รู้สึกว่าตนมีคุณค่าที่ผู้อื่นจะดูแลเอาในใจและสนับสนุน มีความผูกพันแบบมั่นคง โดยได้รับการเห็นด้วย ยอมรับ หรือความรักจากสมาชิกในครอบครัว
  • (6) ศีลธรรม (Virtue) คือการเห็นคุณค่าในตนเองจากการมีคุณธรรม จริยธรรม หรือมีศีลธรรม ยึดติดกับกฎเกณฑ์ทางจริยธรรม ทำให้ตัดสินว่าตนเองเป็นคนดี มีคุณธรรม และมีคุณค่า
  • (7) ความรักของพระเจ้า (God’s love) คือการเห็นคุณค่าในตนเองจากความศรัทธาทางศาสนา เชื่อในเรื่องพระเจ้าหรือพระผู้มหิทธานุภาพ เชื่อว่าตนเป็นที่รัก มีคุณค่าและพิเศษไม่เหมือนใครในสายตาของพระเจ้า

 

2. มาตร Self-enhancement and Self-protection Strategy ของ Hepper และคณะ (2010) มาตรนี้แบ่งการเพิ่มคณค่าให้ตนเองออกเป็น 4 ด้าน โดยมองว่าคนเรามีแรงจูงใจที่จะเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง (รักษาหรือเพิ่มมุมมองต่อตนเองในทางบวก) และปกป้องตนเอง (ขัดขวางหรือกำจัดมุมมองต่อตนเองในทางลบ) ดังนี้

  • (1) การน้อมรับคำนิยม (positivity embracement) คือการหาผลตอบรับทางบวกจากผู้อื่น และแนวโน้มที่บุคคลจะขอความคิดเห็นเชิงบวกจากคนอื่น ๆ เช่น เลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีแนวโน้มที่จะให้ข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็นเชิงบวก จะระมัดระวังการนำเสนอตนเองให้อยู่ในภาพลักษณ์ที่ดีที่สุด
  • (2) การตีความเข้าข้างตนเอง (favorable construal) คือการสร้างความรู้ความเข้าใจทางบวกให้ตนเองเกี่ยวกับสิ่งทั่วไป เช่น การเชื่อว่าตนเองมีค่าเฉลี่ยของบุคลิกภาพสูงกว่าบุคคลทั่วไป มีอนาคตที่ดีกว่าบุคคลทั่วไป และจะแปลความหมายของข้อเสนอแนะที่มีความกำกวมเป็นไปในทางบวกต่อตนเอง
  • (3) การสะท้อนกลับของการยืนยันตนเอง (Self-affirming reflections) คือการตอบสนองต่อภัยคุกคามตนเองด้วยการยืนยันตนเอง หรือเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ซึ่งเป็นการรักษาความมั่นคงในตนเอง เช่น นึกถึงคุณค่าของตนเองเมื่อประสบปัญหา เปรียบเทียบตนเองในอดีตกับปัจจุบัน หรือสร้างความคิดที่ตรงข้ามหรือเลวร้ายกว่าความเป็นจริงเพื่อเป็นทางเลือกในการคงไว้ซึ่งความมั่นคงของจิตใจตนเอง
  • (4) การปกป้องตนเอง (defensiveness) คือแนวโน้มที่จะทำให้ตนเองเสียเปรียบและตอบสนองต่อความคิดเห็นทางลบในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมทางด้านพฤติกรรมและการโน้มเอียงทางความคิด เพื่อรับผลตอบรับเชิงบวกและเพิกเฉยต่อผลตอบรับเชิงลบ โดยจะระบุความล้มเหลวเกิดจากปัจจัยภายนอก จะประเมินสถานการณ์ หลังจากนั้นจะพยายามหาข้อแก้ตัวหรือพยายามลดความรู้สึกของความล้มเหลวนั้น

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“บทบาทของการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองในการส่งผ่านความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างความหลงตนเองและวัตถุนิยม” โดย วันวิสาข์ เอกกรณ์พงษ์ (2551) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58569

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ความเหงา การเพิ่มคุณค่าให้ตนเอง และพฤติกรรมการกดถูกใจในเฟชบุ๊ก” โดย ชัญญมน ดิษกุลนรภัทร, วศิมน พรพัฒนกูล และ วัชชาภรณ์ ไร่ทิม (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47865

 

“อิทธิพลของความนิยมความสมบูรณ์แบบต่อวัตถุนิยมโดยมีการนำเสนอตนเองด้วยความสมบูรณ์แบบและการเพิ่มคุณค่าให้ตนเองเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย มิฬา แซ่ซ่ำ (2558) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/50894

 

ภาพประกอบ https://pixabay.com