ข่าวและกิจกรรม

วุฒิภาวะทางจิตสังคม – Psychosocial maturity

 

 

 

 

วุฒิภาวะทางจิตสังคม (Psychosocial maturity) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการคิดตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมกับความเป็นผู้ใหญ่

 

วุฒิภาวะทางจิตสังคมเป็นตัวแปรทางจิตวิทยาที่แสดงให้เห็นถึงการมีบุคลิกภาพและสุขภาวะทางจิตที่ดี และยังเป็นตัวแปรด้านสังคมที่ทำให้บุคคลสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ วุฒิภาวะทางจิตสังคมอยู่บนพื้นฐานทฤษฎีของ Erikson กล่าวคือ ถ้าบุคคลสามารถผ่านช่วงวิกฤตของชีวิตไปได้ด้วยดีก็จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงวัยถัดไปได้อย่างประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังมีความสำคัญในการวัดการประสบความสำเร็จในชีวิต

 

 

วุฒิภาวะทางจิตสังคมมี 7 องค์ประกอบ


 

  1. ความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (Self-reliance) หมายถึง ความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ สามารถริเริ่มและเป็นที่พึ่งให้แก่คนรอบข้างได้
  2. การรู้จักตนเอง (Identity) หมายถึง การรู้จักอุปนิสัยของตนเอง อัตลักษณ์ ความสนใจหรือความต้องการของตนเอง และให้คุณค่ากับสิ่งนั้น
  3. ความรับผิดชอบในการทำงาน (Work responsibility) หมายถึง ความสามารถในความมุ่งมั่นต่อการทำงาน รับผิดชอบต่องานที่ตนเองได้รับมอบหมาย และแสดงความคิดเห็นระหว่างการทำงานได้อย่างเหมาะสม
  4. การคำนึงถึงผลกระทบในอนาคต (Consideration of future consequence) หมายถึง ความสามารถในการคาดคะเนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการกระทำหรือความคิดของตนเอง เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และวางแผนสู่เป้าหมายของตนเองในอนาคต
  5. การคำนึงถึงผู้อื่น (Consideration of others) หมายถึง ความสามารถในการคิดหรือเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมุมมองของผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ ไม่เห็นแก่ตัว และช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
  6. การควบคุมอารมณ์หุนหันพลันแล่น (Impulse control) หมายถึง ความสามารถในควบคุมอารมณ์ภายในของตนเอง ไม่หุนหันทำตามสัญชาตญาณ มีการคิดไตร่ตรองก่อนการกระทำเสมอ
  7. การยับยั้งความก้าวร้าว (Suppression of aggression) หมายถึง ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวของตนเองให้แสดงออกอย่างเหมาะสม ไม่ทำร้ายบุคคลรอบข้างเมื่อโกรธ

 

 

อายุมีความสัมพันธ์กับวุฒิภาวะทางจิตสังคม โดยงานวิจัยพบว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่จะมีวุฒิภาวะทางสังคมมากกว่า และตัดสินใจเข้าสังคมมากกว่ากลุ่มวัยรุ่น โดยวุฒิภาวะทางจิตสังคมอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปมาได้ในช่วงอายุ 16-19 ปี และจากการศึกษาเรื่องความคิดความเข้าใจ (cognition) และวุฒิภาวะทางจิตสังคม ใน 11 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย พบว่า ความคิดเข้าใจเข้าจะเกิดขึ้นราว ๆ อายุ 16 ปี แต่วุฒิภาวะทางจิตสังคมจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 18 ปี

 

ในการศึกษาระยะยาว (longitudinal study) ในวัยรุ่นอันธพาลและติดตามผลไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ พบว่า วัยรุ่นที่มีวุฒิภาวะทางจิตสังคมต่ำจะมีปัญหาพฤติกรรมในการแยกตัวจากสังคมสูง (antisocial behavior) และเมื่อติดตามผลไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ พบว่า บุคคลมีวุฒิภาวะทางจิตสังคมสูงขึ้นจะเริ่มมีการเข้าสังคมมากขึ้น กลับกันผู้ที่ยังคมมีวุฒิภาวะทางจิตสังคมต่ำ จะยิ่งขาดทักษะการควบคุมอารมณ์ มีความก้าวร้าว มุมมองความคิดไม่กว้างไกล และยังคงมีปัญหาพฤติกรรม

 

นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่พบว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่ มีความสัมพันธ์ทางบวกต่อวุฒิภาวะทางจิตสังคม กล่าวคือ หากลูกรับรู้ถึงการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่เหมาะสม ทั้งการได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่และการได้รับอิสระในการคิดหรือทำสิ่งต่าง ๆ จากพ่อแม่ จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีวุฒิภาวะทางจิตสังคม ทั้งยังช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยง ๆ ที่เป็นปัญหาได้อีกด้วย

 

 

 

 

ข้อมูลจาก

“ความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนบทบาท การเลี้ยงดูของพ่อแม่ และการรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ ต่อวุฒิภาวะทางจิตสังคม ในผู้ใหญ่แรกเริ่ม” โดย ณิชมน กาญจนนิยต (2562) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69650

 

 

 

พิธีตักบาตรของจุฬาฯ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2567

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2567 บุคลากรคณะจิตวิทยา นำโดย ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา เข้าร่วมพิธีตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 60 รูป เนื่องในโอกาสขึ้นพุทธศักราชใหม่ 2567 ณ ลานพระศรีมหาโพธิ์ หน้าอาคารจามจุรี 4

 

ในพิธีการนี้มีกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตัวแทนจากคณะ สถาบัน สำนักงาน ศูนย์ สำนัก และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมกันอย่างอบอุ่น โดย ศ.(กิตติคุณ) นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภามหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ได้กล่าวให้โอวาทและอวยพรปีใหม่แก่ประชาคมจุฬาฯ

 

 

สวัสดีปีใหม่ 2567 นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567 คณะจิตวิทยา นำโดย ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา เข้าพบนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.กิตติคุณ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล เพื่อสวัสดีปีใหม่ พุทธศักราข 2567

 

 

พิธีทำบุญตักบาตร วันสถาปนาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

 

 

เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567 คณะจิตวิทยา เข้าร่วมพิธีตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2567 และวันสถาปนาคณะอักษรศาสตร์ครบรอบ 107 ปี และร่วมแสดงความยินดีกับคณะอักษรศาสตร์ ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร

 

 

 

 

พิธีตักบาตรต้อนรับพุทธศักราชใหม่ พ.ศ. 2567 โดยกลุ่มคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ

 

 

เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2567 กลุ่มคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย คณะจิตวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีพิธีตักบาตรต้อนรับพุทธศักราชใหม่ พ.ศ. 2567 ณ ลานสนามหน้าอาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ โดยมีคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ในจุฬาฯ กว่า 20 หน่วยงาน เข้าร่วมพิธีตักบาตรกันอย่างอบอุ่น

 

 

 

 

 

 

 

เพลงจะพาวัยรุ่นเติบโตไปทางไหน?

 

จากการสำรวจในช่วงปี ค.ศ. 2004-2009 ของ Rideout และคณะ (2010) ได้ผลว่า วันรุ่นทั่วโลกใช้เวลาเฉลี่ยกับการฟังเพลง ประมาณ 3 ชม./วัน และเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยี 20 กว่าปีผ่านไป อินเทอร์เน็ตก็มี online streaming ก็มา น่าจะทำให้เพลงหาฟังได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาได้มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะตอนเดินทาง ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นเกม ปาร์ตี้สังสรรค์ ฯลฯ ก็น่าจะมีเพลงอยู่ร่วมด้วยไม่มากก็น้อย

 

ถ้าหากนึกถึงทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการอย่าง Psychosocial stages ของ Erikson ในช่วงวัยรุ่นที่เป็นขั้น Identity vs. Role Confusion ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมและประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้จะมีผลในการหล่อหลอม สร้างแบบแผนพฤติกรรม เรียนรู้ตัวเอง มากกว่าวัยอื่น ๆ ดังนั้นแล้วถ้าหากวัยรุ่นฟังเพลงเยอะกว่าวัยอื่น ๆ เพลงก็น่าจะมีบทบางอะไรบางอย่างกับพัฒนาการของวัยรุ่น ก็เลยจะมาชวนดูว่านักจิตวิทยาได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัยรุ่นกับเพลงในแง่ใดบ้าง

 

ในเชิงวิวัฒนาการมนุษย์ เพลง-ดนตรี มีบทบาทในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม บทบาทโดยทั่วไปของเพลงที่เกิดขึ้น ก็จะมีทั้งการกระตุ้นร่างกาย (physical arousal) สื่อสารอารมณ์ (communicating emotions) กำกับอารมณ์ (emotional regulation) แต่หากพูดถึงเพลงที่ได้รับในช่วงวัยรุ่น นักวิจัยบางส่วนเสนอว่ามีบทบาทเป็นตัวแบบในการสร้างกลุ่มพันธมิตร และพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี (mating) (Fu et al., 2023) ดังนั้นการจีบกันด้วยเพลง หรือใช้บทตามหนัง-ละคร ในช่วงวัยมัธยม ก็คือการทดลองตัวแบบหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ตัวตน เพื่อหาตัวตนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสัมพันธ์กับเป้าหมาย หรือตัวตนที่คิดว่าตรง/เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

 

ในช่วงวัยรุ่น “กลุ่ม” ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างตัวตน แต่ในสภาพแสดล้อมทั่วไปอย่างชั้นเรียน กลุ่มก็มักจะเป็น เพื่อนที่อยู่ในปีเดียวกัน อาจจะรวมตัวกันด้วยกิจกรรมการเรียน การเล่น การเดินทางกลับบ้าน ชมรม ฯลฯ การมีแนวเพลงหรือกิจกรรมดนตรีที่ชอบ นอกจากจะได้ตัวแบบเพิ่มเติมจาก แนวดนตรี-เนื้อหาของเพลง พฤติกรรมของตัวศิลปิน การที่วัยรุ่นระบุตัวตนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแฟนเพลง และได้มีปฏิสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทาง offline หรือ online การที่มีความชอบอย่างใดอย่างหนึ่งตรงกันแล้ว (ในที่นี้หมายถึงเพลง) ก็จะง่ายที่วัยรุ่นจะอนุมานไปยังค่านิยม หรือไลฟ์สไตล์ อื่น ๆ ที่น่าจะตรงกัน เมื่ออนุมานอย่างนั้นแล้วก็จะทำให้ผูกพันกันได้ง่าย เมื่อใช้เวลาและมีประสบการณ์ร่วมกันมากขึ้นก็จะมีรูปแบบการสื่อสาร หรือความเข้าใจเรื่องราว หรือมุกตลกเฉพาะกลุ่ม (Clark & Lonsdale, 2023)

 

ถ้านึกเล่น ๆ ปัจจุบันกลุ่มเกี่ยวกับดนตรีที่เป็นไปได้ในช่วงวัยรุ่นก็มีหลากหลาย กลุ่มดุริยางค์ กลุ่มดนตรีไทย-นาฏศิลป์ กลุ่มวง Band ที่พบเห็นได้ง่ายในโรงเรียน กลุ่มเต้นโคฟเวอร์ รวมไปถึงกลุ่มแฟนคลับ โอตะ ติ่ง ฯลฯ แต่ละกลุ่มก็จะมีผู้นำกลุ่มเป็นคนที่มีประสบการณ์มากกว่า อย่าง ครู-อาจารย์ รุ่นพี่ หรือกลุ่มคนที่พร้อมจะทุ่มเทเวลาในการทำกิจกรรมกลุ่มมากกว่าในการ คิด ทำ ประสาน ระดมทุน ทำโปรเจกต์ใด ๆ ให้ศิลปินที่ชื่นชอบ ก็จะมีกระบวนการคล้าย ๆ การทำงาน วัยรุ่นในกลุ่มที่ได้มีปฏิสัมพันธ์ สังเกตเรียนรู้ผู้คนในกลุ่มที่มีอายุหรือประสบการณ์มากกกว่า ก็มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานและอาชีพเพิ่มเติมด้วย

 

ตาม Social identity theory การที่มนุษย์สามารถบรรจุตัวเองเข้าไปในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แนวคิดของกลุ่มก็จะมีผลในการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (self-concept) ของสมาชิก (Tajfel & Turner, 1986) สมาชิกมักต้องการพัฒนาภาพลักษณ์ของตนเอง (self-image) ในรูปแบบที่เป็นที่ชื่นชอบยอมรับของกลุ่มที่สังกัด ซึ่งก็สามารถสร้าง การเห็นคุณค่าตัวเอง (self-esteem) ในวัยรุ่นได้ ในทางกลับกัน ถ้าศิลปินตัวแบบ หรือค่านิยมร่วมของกลุ่มถูกด้อยค่า จากสังคม หรือกลุ่มอื่น ก็มีโอกาสที่จะทำให้การเห็นคุณค่าตัวเองของวัยรุ่นลดลงง่ายกว่าช่วงวัยหลังจากนั้น

 

 

สำหรับบทความนี้ก็น่าจะขอจบแต่เพียงเท่านี้ โดยรวมก็คือ ดนตรีจะสร้างกลุ่มผู้ฟังหรือกลุ่มกิจกรรมดนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเป็นสมาชิกลุ่มและการได้รับการยอมรับจากกลุ่มก็เป็นพัฒนาการทั่วไปในช่วงวัยรุ่นอยู่แล้ว เพิ่มเติมคือสมาชิกกลุ่มมีหลายวัย และกลุ่มมีความซับซ้อนหลากหลายกว่ากลุ่มเพื่อนทั่วไปในโรงเรียน วัยรุ่นได้รับแบบอย่างจาก เนื้อหา-อารมณ์ของเพลง ตัวแบบจากศิลปิน ตัวแบบจากสมาชิกกลุ่ม ฯลฯ ในการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (self-concept) รวมถึงอาจมีโอกาสได้ตัวแบบเกี่ยวกับอาชีพที่หลากหลายจากสมาชิกในกลุ่มด้วยซึ่งก็สำคัญต่อพัฒนาการทางอาชีพ และการตัดสินใจเกี่ยวกับอาชีพที่เกิดกับวัยรุ่นในช่วง มัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยเช่นกัน

 

 

 

อ้างอิง

 

Clark, A. B., & Lonsdale, A. J. (2023). Music preference, social identity, and collective self-esteem. Psychology of Music, 51(4), 1119-1131.

 

Fu, J., Tan, L. K., Li, N. P., & Wang, X. (2023). Imprinting-like effects of early adolescent music. Psychology of Music, 03057356231156201.

 

Rideout, V. J., Foehr, U. G., & Roberts, D. F. (2010). Generation M2: Media in the lives of 8- to 18-year-olds. Henry J. Kaiser. Family Foundation. https://eric.ed.gov/?id=ED527859

 

Tajfel, H., & Turner, J. C. (1986). The social identity theory of intergroup behaviour. In S. Worchel & W. Austin (Eds.), Psychology of intergroup relations (pp. 7–24). Nelson-Hall.

 

 

 


 

 

บทความโดย

คุณณัฐนันท์ มั่นคง

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ตั้งเป้าหมายอย่างไร ให้ทำได้ดังใจหวัง

 

คุณเป็นอีกคนหนึ่งหรือเปล่า ที่ได้ตั้งเป้าหมายถึงสิ่งดี ๆ ที่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัวในปีใหม่ ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเล็กหรือใหญ่ ใกล้หรือไกลตัว ก็เป็นสิ่งดี ๆ ที่คุณอยากเติมเต็มให้กับตัวเองหรือส่วนรวม เช่น อยากดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง หรืออยากมีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม

 

สำหรับคุณที่ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายใด ๆ ในปีใหม่ปีนี้เลย ยังไม่สายไปนะคะที่จะตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง ขอเพียงแต่คุณแบ่งเวลาสักนิด เพื่อคิดทบทวนว่ามีอะไรในแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิต ที่คุณอยากเติมเต็มสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเองค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การพัฒนาตัวเอง การศึกษา การทำงาน หรือจะเป็นการทำประโยชน์ให้กับส่วนร่วม ความเชื่อ ศาสนา ปรัชญา ค่านิยมที่มี หรืองานอดิเรกและการพักผ่อนหย่อนใจ

 

งานวิจัยที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การมีเป้าหมายจะเป็นเสมือนหลักชัยในการใช้ชีวิต ช่วยให้แต่ละวันของคุณมีความหมาย เติมพลังให้ชีวิตตื่นเต้นท้าทายยิ่งขึ้น ลองทบทวนสักนิดนะคะ แล้วมาดูกันว่าเราจะมีวิธีตั้งเป้าหมายอย่างไร ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดี ๆ เหล่านี้ได้

 

 

ขั้นตอนที่จะทำให้ก้าวไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ง่ายยิ่งขึ้น


 

ขั้นแรก คือเมื่อคุณพบประเด็นที่อยากเติมเต็มให้กับตัวเองแล้ว ต้องหาทางพัฒนาให้ประเด็นนั้น ๆ กลายเป็นเป้าหมายกระจ่างชัดค่ะ ยิ่งชัดเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพื่อที่เราจะได้ทราบแน่ว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายนั้น อีกทั้งจะได้ประเมินความคืบหน้าของเป้าหมายได้สะดวกอีกด้วย

 

ดังนั้น แทนที่จะตั้งเป้าหมายลอย ๆ ว่า “อยากจะดูแลสุขภาพตัวเอง” ให้ระบุไปเลยว่าเป็นสุขภาพด้านใดที่อยากเน้น และการดูแลนั้นจะทำได้อย่างไร

 

หากเป็นสุขภาพทางกาย เช่น เรื่องการรับประทานอาหาร ก็น่าจะกำหนดไปเลยว่าจะรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และจะยิ่งดีหากจะบอกตัวเองเลยว่าอาหารที่ว่านั้นคืออะไร เป็นผักหรือผลไม้ จะรับประทานมากหรือน้อยเพียงใด และจะทานให้ได้กี่ครั้งภายในช่วงเวลาที่กำหนด

ดังนั้น จากเป้าหมายกว้าง ๆ ที่ว่า “อยากจะดูแลสุขภาพตัวเอง” คุณอาจจะตั้งเป้าหมายที่เจาะจงไปเลยว่า “จะรับประทานฝรั่งหรือแอปเปิลวันละหนึ่งลูก อย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์”

หรือหากคุณอยากเน้นเรื่องการออกกำลังกาย ก็อาจจะระบุว่า “จะไปฟิตเนสหลังเลิกงาน วันละครึ่งชั่วโมง สี่ครั้งต่อสัปดาห์” หากกำหนดชัดเจนได้ขนาดนี้จะช่วยให้คุณทราบแน่ชัดว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรง และง่ายต่อการทบทวนว่าคุณได้ทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่ มีอะไรที่ควรปรับปรุงเพื่อให้ทำได้ดีขึ้น

 

ประเด็นต่อมาก็คือ การตั้งเป้าหมายควรตั้งให้เหมาะสมกับตัวของคุณเอง แม้ฝรั่งหรือแอปเปิลจะเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ แต่หากไม่ใช่ผลไม้ที่คุณชื่นชอบ และคุณตั้งเป้าหมายว่าจะรับประทานเพียงเพราะได้ยินคำบอกเล่าถึงสรรพคุณจากเพื่อนฝูงว่ารับประทานแล้วดี ก็จะไม่ใช่เป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวคุณ ขอให้เลือกเป้าหมายที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับตัวคุณดีกว่าค่ะ

 

นอกจากนี้ เราควรตั้งเป้าหมายแบบค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งช่วงแรก ๆ ของการตั้งเป้าหมาย เราจะฮึกเหิมมากเกินไป อาจจะฟิตมาก ๆ ตั้งเป้าหมาย “จะไปฟิตเนสหลังเลิกงานวันละสองชั่วโมงทุกวัน” ทั้งที่ไม่เคยออกกำลังมาก่อนเลย หรือไม่ได้มีฟิตเนสใกล้กับที่ทำงาน แต่ต้องเดินทางฝ่าการจราจรเป็นชั่วโมงกว่าจะไปถึงได้ หากเป็นเช่นนั้น แม้เป้าหมายจะชัดเจนมากพอ แต่ความเป็นไปได้ในการที่จะประสบความสำเร็จก็จะลดลง

 

ค่อยเป็นค่อยไปเถอะนะคะ อย่ากดดันตัวเองในการตั้งเป้าหมายเลย ค่อย ๆ เริ่มจากเป้าหมายที่พอทำได้สะดวกก่อน แล้วค่อยทวีความเข้มข้นก็ยังได้ เช่น อาจจะเริ่มออกกำลังกายสัปดาห์ละครั้งสองครั้งก่อนสำหรับผู้ที่ไม่เคยคุ้น แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ไม่รวดเร็วทันใจ แต่เพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้ประสบความสำเร็จ เรียกว่า ช้า ๆ แต่มั่นคงจะดีกว่าค่ะ

 

ประเด็นที่ขอเพิ่มเติมก็คือ ในการตั้งเป้าหมายนั้นควรมุ่งเน้นถึงสิ่งที่ต้องการทำ หรือตั้งเป้าหมายทางบวก มากกว่าที่จะตั้งเป้าหมายทางลบ หรือพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำอะไร

 

ลองเปรียบเทียบตัวอย่างของเป้าหมายแต่ละประเภทดูดีไหมคะ ตัวอย่างของเป้าหมายประเภทแรกหรือเป้าหมายทางบวก ก็คือเป้าหมายที่เราเคยพูดคุยกัน เช่น “จะรับประทานฝรั่งหรือแอปเปิลวันละหนึ่งลูก อย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์” ในขณะที่เป้าหมายทางลบนั้นอย่างเช่น “จะไม่รับประทานขนมหวานหรือของทานจุบจิบในสัปดาห์นี้”

 

เมื่อเทียบกันแล้ว โอกาสที่คุณจะรับรู้ถึงความสำเร็จของเป้าหมายแบบแรก หรือการรับประทานผลไม้ให้ครบกำหนดว่าเกิดขึ้นง่ายกว่าค่ะ เมื่อเทียบกับการตั้งเป้าหมายแบบที่สองซึ่งเป็นเป้าหมายทางลบ ที่คุณจะต้องคอยรู้สึกเกร็ง ระมัดระวังไม่แตะต้องของทานต้องห้ามที่ระบุเอาไว้ และหากเผลอไปทานเข้าเพียงครั้งเดียวก็นับได้ว่าล้มเหลวในการทำตามเป้าหมายไปเสียแล้ว

 

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าปรากฏผลการวิจัยออกมาอย่างชัดเจนว่าการตั้งเป้าหมายในทางลบทำให้คนเราเกิดความรู้สึกวิตกกังวล และความรู้สึกนี้เองที่มีส่วนทำให้โอกาสที่เราจะทำตามเป้าหมายทางลบได้สำเร็จก็ยิ่งลดน้อยลงตามไปด้วย

 

เพราะฉะนั้นการตั้งเป้าหมายเพื่อจะทำสิ่งดี ๆ ในปีนี้ ขอให้คุณคิดว่าอยากจะทำอะไร แทนที่การคิดว่าจะห้ามตนเองไม่ให้ทำอะไรค่ะ แล้วคุณจะสามารถทำตามอย่างที่ตั้งใจไว้ได้ง่ายขึ้น

 

 

สุดท้ายนี้ เมื่อได้ตั้งเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โปรดอย่าหยุดแต่เพียงเท่านั้นค่ะ เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะหาทางให้ตัวเองทำตามเป้าหมายที่วางไว้

 

การให้รางวัลตัวเองเมื่อทำตามเป้าหมายได้สำเร็จนับเป็นวิธีหนึ่งที่ควรพิจารณา นอกเหนือจากความภาคภูมิใจที่คุณจะได้รับจากการทำตามเป้าหมายแล้ว การให้รางวัลตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างขวัญและกำลังใจค่ะ

 

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนถึงความคืบหน้าของเป้าหมายที่วางไว้อยู่เสมอ เพื่อที่จะได้หาทางปรับเปลี่ยนว่า มีสิ่งใดบ้างที่จะช่วยเสริมให้เป้าหมายที่วางไว้คืบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

อาจจะเป็นกำหนดเวลาทุก ๆ หนึ่งเดือนเพื่อถามตนเองว่า ตลอดเดือนนี้ฉันได้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จเพียงใด มีอุปสรรคอะไรบ้าง ที่ทำให้เราทำไม่ได้ในบางครั้ง และเราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร หรือถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดีแล้ว เราจะทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกดีหรือไม่ เพื่อให้ก้าวเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นไปอีก

 

 

 


 

 

 

บทสารคดีทางวิทยุ รายการ “จิตวิทยาเพื่อคุณ” (2559)
ออกอากาศทางสถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

 

 

Stereotype threat – การคุกคามจากภาพในความคิด

 

 

 

 

การคุกคามจากภาพในความคิด หมายถึง เหตุการณ์ที่บุคคลต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่กลุ่มของตนมีภาพในความคิดทางลบ และบุคคลรู้สึกตระหนักในตนว่าตนเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้น หรือเมื่อบุคคลรับรู้ว่าภาพในความคิดนั้นเกี่ยวของกับตน ซึ่งการคุกคามจากภาพในความคิดอาจส่งผลให้บุคคลแสดงออกได้ด้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น หรือแสดงออกได้ต่ำกว่าศักยภาพของตน

 

เช่น นักเรียนหญิงที่ถูกบอกว่าผู้หญิงคิดเลขไม่เก่งเท่าผู้ชาย เมื่อทำโจทย์เลข ก็ได้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบอกดังกล่าว

หรือกรณีที่ คนแอฟริกันอเมริกันมีภาพในความคิดว่าตนมีความสามารถทางปัญญาด้อยกว่าคนผิวขาว เมื่อให้เล่นกีฬากอล์ฟ กลุ่มที่ได้รับการบอกว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยปัญญา ได้คะแนนการตีกอล์ฟน้อยกว่า กลุ่มที่ได้รับการบอกว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยทักษะทางกีฬา

 

 

กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามจากภาพเหมารวม


 

กลไกที่สามารถอธิบายผลของการเกิดการคุกคามจากการเหมารวมมีหลายประการ เช่น การเกิดความวิตกกังวลในบุคคล และการรบกวนทางความคิด (cognitive interruption) หมายถึง การที่บุคคลคิดมากขึ้นในเรื่องความเกี่ยวข้องของตนเองกับการเหมารวม ทำให้บุคคลถูกดึงความสนใจออกไป ขาดแรงกระตุ้น จนทำให้ผลงานแย่ลงในที่สุด

 

การคุกคามจากการเหมารวมอาจทำให้ความพยายามของบุคคลในการทำงานลดลงอันเนื่องมาจากความคาดหวังที่ต่ำลง หรืออาจเกิดจากการใช้วิธีหักล้างตนเอง (self-defeating strategies) เช่น การไม่เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่กระตุ้นการเหมารวมของกลุ่มตนเอง หรือลดเวลาในการฝึกฝนหรือการทำงานลง

 

นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่พบว่าการคุกคามจากการเหมารวมทำให้บุคคลมีการควบคุมตนเองที่ลดลง คือทำให้ความสามารถในการควบคุมความสนใจและพฤติกรรมที่ตนต้องการลดน้อยลง เช่น เมื่อนักศึกษาผิวดำถูกเหยียดผิว พวกเขากำกับตนเองได้ยากขึ้นในการเรียน

 

 

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามจากการเหมารวม


 

การคุกคามจากภาพในความคิดนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น

 

  • ความยากง่ายของงาน : ในงานยากบุคคลจะเกิดความสงสัยในความสามารถของตน วิตกกังวลและคับข้องใจทำให้ผลงานแย่ลง
  • การประเมินผลงาน : งานที่มีการประเมินทำให้เกิดความกดดันสูงมากกว่างานที่ไม่มีการประเมิน
  • การเห็นคุณค่าในตนเอง รูปแบบการมองโลก และความตระหนักในความสามารถของตน : แต่ละคนมีความไวต่อการถูกคุกคามจากภาพในความคิดแตกต่างกัน หากเป็นบุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเองสูง หรือมองโลกในแง่ดี หรือเรื่องที่มาคุกคามนั้นเป็นเรื่องที่บุคคลมั่นใจในความสามารถ การคุกคามดังกล่าวจะไม่มีผลมากนักหรือไม่มีเลย
  • จำนวนบุคคลในกลุ่ม : หากบุคคลที่ถูกคุกคามจากการเหมารวมอยู่ตัวคนเดียวโดยถูกคาดหวังให้เป็นตัวแทนของกลุ่ม อิทธิพลของการคุกคามจากการเหมารวมจะมีมากขึ้นและผลงานที่แสดงออกจะด้อยลง เช่น เมื่อผู้หญิงทำข้อสอบกับผู้ชาย จะทำให้ทำได้แย่ลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพิ่มจำนวนผู้ชายที่เข้าสอบด้วย
  • ความเด่นชัดของการเหมารวม : เช่น เมื่อผู้หญิงถูกประเมินด้วยผู้ประเมินเพศชายที่มีความเหยียดเพศ

 

การลดการคุกคามจากการเหมารวม


 

งานวิจัยศึกษาอิทธิพลของการคุกคามจากการเหมารวมต่อความสามารถในหลายด้าน เช่น

 

  • การสนับสนุนให้บุคคลนึกถึงคุณค่าและความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง (self-identity) การยืนยันคุณค่าของตนเอง (valued-affirmation) รวมถึงการให้บุคคลเน้นภาพความคิดของตนในบทบาทอื่นมากกว่า
  • การให้ตัวแบบเชิงบวก (positive role model) โดยการเสนอมุมมองที่ทำให้บุคคลมองความสำเร็จของบุคคลตัวอย่างภายในกลุ่ม เช่น ผู้หญิงจะทำข้อสอบเลขได้ดีขึ้นเมื่อผู้คุมสอบเป็นผู้หญิง

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของการคุกคามจากภาพในความคิด การเห็นคุณค่าในตนเอง และรูปแบบการอนุมานสาเหตุต่อผลงานด้านคณิตศาสตร์ในนักเรียนหญิงระดับมัธยม ศึกษาตอนปลาย” โดย ธนรักษ์ คุณศรีรักษ์สกุล (2554) http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/32107

 

“อิทธิพลของการคุกคามจากการเหมารวมและการดูตัวแบบเชิงบวกต่อการรับรู้การคุกคามจากการเหมารวมและความเร็วในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของคนที่มีภาวะตาบอดสี” โดย อนุสรณ์ อาศิรเลิศสิริ (2563) https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/75702

 

 

Stereotype – ภาพในความคิด

 

 

 

 

ภาพในความคิด หมายถึง ความเชื่อที่บุคคลมีต่อคนกลุ่มหนึ่ง ว่าคนกลุ่มนั้นมีลักษณะหรือนิสัยใจคอบางประการเป็นสิ่งที่ค่อนข้างถาวร โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีในคนกลุ่มนั้น

 

เช่น ผู้หญิงต้องเก่งงานบ้าน, ผู้ชายต้องเข็มแข็ง, ครูต้องเจ้าระเบียบ, นักบัญชีต้องละเอียดรอบคอบ, คนจีนค้าขายเก่ง, คนญี่ปุ่นชอบทำงานหนัก

 

ภาพในความคิดเป็นวิธีการที่คนเรารับรู้บุคคลโดยแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อลดความซับซ้อนของข้อมูล กล่าวคือ แทนที่จะรับรู้ว่าบุคคลแต่ละคนเป็นอย่างไร เราจะมีการรับรู้ว่าสมาชิกของแต่ละกลุ่มมีลักษณะอย่างไร ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเก็บข้อมูลและการนำข้อมูลมาใช้ของบุคคล

 

ทั้งนี้ ที่มาของภาพในความคิดอาจเกิดจากการรับรู้ด้วยประสบการณ์ตรง หรือเกิดจากการรับรู้ผ่านสื่อ/บุคคลอื่นก็ได้ โดยภาพในความคิดเกิดจากการแผ่ขยายของการเรียนรู้ (generalization) ว่าสิ่งที่มีลักษณะเช่นตัวอย่างจะต้องมีลักษณะที่เหมือนกัน ข้อมูลที่สอดคล้องกับภาพในความคิดหรือความคิดเดิมของเราก็จะได้รับการจัดกลุ่มเข้ารวมกับภาพในความคิดนั้น ส่วนภาพในความคิดที่ไม่สอดคล้องก็จะไม่ได้รับการจดจำหรือถูกหักล้างเป็นข้อมูลที่สอดคล้องแทน ทำให้บางกรณีการแผ่ขยายนี้อาจจะเป็นไปมากเกินกว่าขอบข่ายของข้อมูลหรือข่าวสารที่มีอยู่จริงในขณะนั้น

 

ดังนั้น ภาพในความคิดที่บุคคลมีต่อคนอื่นหรือกลุ่มคนจึงอาจมีลักษณะนั้น ๆ อยู่จริงหรือไม่จริงก็ได้ กล่าวคือ ภาพในความคิดจำนวนมากมีพื้นฐานมาจากการรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มที่ถูกต้อง แต่ยังมีภาพในความคิดอีกจำนวนมากเช่นกันที่เกิดจากความสัมพันธ์ลวง (จากการที่ได้รับข้อมูล 2 เรื่องคู่กันบ่อยครั้ง จึงคิดว่าข้อมูล 2 เรื่องนั้นมีความสัมพันธ์กัน)

 

 

ผลจากการรับรู้ภาพในความคิด


 

การรับรู้ภาพในความคิดของกลุ่มบุคคลมีผลต่อการรับรู้ใน 2 ลักษณะ

ประการแรก การรับรู้ลักษณะบุคคลในกลุ่มจะสอดคล้องกับลักษณะภาพในความคิดของกลุ่ม แต่ถ้าเกิดพบว่ามีพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับภาพในความคิด เราก็จะตีความบุคคลนี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้การรับรู้มีการสอดคล้องกัน ตรงกับแนวคิดที่ว่าถ้ามีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับภาพในความคิดเข้าสู่การรับรู้ของเรา เราก็จะหาข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่สอดคล้องกับภาพในความคิดของเรามาหักล้าง

ประการที่สอง การรับรู้ภาพในความคิดระหว่างกันมีผลต่อพฤติกรรมระหว่างกลุ่ม ดังนั้นเราจึงสามารถเห็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอันเนื่องมาจากการมีภาพในความคิดทางลบระหว่างกันได้เสมอ ตั้งแต่ระดับนักเรียนต่างสถาบันที่ยกพวกตีกัน ไปจนถึงระดับสงครามอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ (ถ้าผู้นำหรือผู้กำหนดนโยบายของประเทศใดมีภาพในความคิดที่เลวร้ายต่ออีกประเทศหนึ่ง ก็มักกจะเลือกดำเนินนโยบาลที่ไม่เป็นมิตรต่อประเทศนั้น)

 

 

การเปลี่ยนแปลงของภาพในความคิด


 

ในการศึกษาระยะยาวหลาย ๆ การศึกษา พบว่า ภาพในความคิดของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และนอกจากการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาแล้ว ภาพในความคิดยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ภายหลังเกิดสงครามหรือข้อพิพาทระหว่างประเทศ ประชาชนจะมีภาพในความคิดต่อประเทศที่เป็นคู่กรณีในทางลบมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของภาพในความคิดเหล่านี้มาจากการเปลี่ยนแปลงไปตามการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายนอก การเปลี่ยนแปลงนี้มาจากกระบวนการเรียนรู้ในสองลักษณะ ได้แก่ การเรียนรู้โดยตรงด้วยตนเอง อาทิ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในกลุ่มบุคคลนั้น ๆ และการเรียนรู้ทางอ้อม คือการเรียนรู้ผ่านตัวแทนที่หลากหลาย อาทิ บิดามารดา เพื่อน ครู ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางศาสนา และสื่อสารมวลชน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม การรวมกันของวัฒนธรรม เป็นต้น ดังนั้นในโลกยุคปัจจุบันที่การรับรู้ข่าวสารเป็นไปอย่างแพร่หลาย มีการเผยแพร่วัฒนธรรมและข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย การเปลี่ยนแปลงของภาพในความคิดจึงเป็นไปได้โดยง่ายและรวดเร็ว

 


 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของการอภิปรายกลุ่มและการกระจายข้อมูลต่อภาพในความคิด” โดย ฑศพล รัตนภากร (2546) http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/11002

 

“ภาพในความคิดเกี่ยวกับคนสัญชาติต่างๆ ตามการรับรู้ของนิสิตนักศึกษาไทย” โดย ชลัมพล เถระกุล (2548) https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47643

 

“อิทธิพลของการกระตุ้นภาพในความคิดของความเป็นหญิงเป็นชาย และปฎิกิริยาทางจิตต่อการเกิดปฎิกิริยาต่อภาพในความคิดในการเจรจาต่อรอง” โดย รัตติกาล พาฬเสวต (2553) http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20206

 

ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ประกาศ
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 

ประกาศทุน

 

ด้วย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสรรทุนอุดหนุนการศึกษาสำหรับนิสิตระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต เพื่อดึงดูดผู้สมัครที่มีศักยภาพทางวิชาการและการวิจัยสูง ให้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิตของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผลิตผลงานวิชาการและผลงานวิจัยคุณภาพสูงร่วมกับคณาจารย์

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารคณะจิตวิทยา วาระพิเศษ ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 จึงกำหนดรายละเอียดการขอรับทุนอุดหนุนการศึกษา ไว้ดังนี้

 

 

1. ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567”

 

2. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป

 

3. ผู้มีสิทธิ์ขอรับทุน

 

3.1 วุฒิการศึกษา ตรงตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

 

3.1.1 จบการศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือ

3.1.2 กำลังศึกษาปีสุดท้ายในสาขาวิชาจิตวิทยาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือ

3.1.3 นิสิตปริญญาโทคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สอบวัดคุณสมบัติระดับปริญญาเอกผ่าน และเปลี่ยนระดับเป็นปริญญาเอกภายในปีการศึกษา 2566

 

3.2 มีผลการเรียนสะสมไม่ต่ำกว่า 3.50 ณ วันที่สมัคร และเมื่อสำเร็จการศึกษา

 

3.3 ต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ CU-TEP ตั้งแต่ 75 ขึ้นไป หรือ TOEFL ตั้งแต่ 550 ขึ้นไป หรือ IELTS ตั้งแต่ 6.5 ขึ้นไป หรือสำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาในหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ

 

3.4 นิสิตต้องมีโครงร่างวิทยานิพนธ์ โดยมีจำนวนคำ ไม่น้อยกว่า 1,000-1,500 คำ

 

3.5 นิสิตต้องมีอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตกลงรับเป็นอาจารย์ ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ตามแบบฟอร์ม

 

4. ผู้มีสิทธิ์รับทุน

 

4.1 มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 3 และ

 

4.2 คณะกรรมการบริหารหลักสูตรที่นิสิตสมัครเข้าศึกษาพิจารณาเห็นชอบให้ได้รับทุนนี้ และ

 

4.3 ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตของคณะจิตวิทยา ในปีการศึกษา 2567

 

5. เงื่อนไขการรับทุน

 

5.1 นิสิตผู้ได้รับทุนอุดหนุนการศึกษาก่อนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานทางด้านวิชาการหรือวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาของการรับทุน (โดยอาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องใส่ชื่อนิสิตร่วมในการตีพิมพ์บทความทางวิชาการด้วย)

 

5.2 นิสิตผู้ได้รับทุนอุดหนุนการศึกษาหลังสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานทางด้านวิชาการหรือวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา สัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง และต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ หรือได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์อย่างน้อย 1 ฉบับ อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 1 ปีหลังวันที่จบการศึกษา โดยผลงานดังกล่าวต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

 

(1) ผลงานวิจัยตีพิมพ์ต้องได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอยู่ในฐานข้อมูล ISI/SCOPUS จัดอยู่ในลำดับควอไทล์ที่ 2 หรือเหนือกว่า ตามประกาศฉบับล่าสุดในการจัดลำดับวารสารของ Journal Citation Report – Clarivate Analytics (JCR) หรือ Scimago Journal & country (SJR)

 

(2) ในบทความที่ตีพิมพ์ นิสิตต้องระบุชื่อนิสิตผู้รับทุนเป็นชื่อแรก อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักเป็น corresponding author และระบุสังกัดว่า สังกัดคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

5.3 นิสิตต้องรายงานความก้าวหน้าทางการศึกษา การทำวิทยานิพนธ์ และการทำวิจัย โดยผ่านการพิจารณาจากอาจารย์ที่ปรึกษา ต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ เพื่อพิจารณาการให้ทุนสนับสนุนในภาคการศึกษาถัดไป

 

5.4 นิสิตต้องระบุการได้รับทุนสนับสนุนการศึกษา ในกิตติกรรมประกาศ ดังนี้

 

กิตติกรรมประกาศ ในวิทยานิพนธ์ ระบุดังนี้ “ขอขอบพระคุณคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับการสนับสนุนทุนการศึกษา อันเป็นประโยชน์และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การศึกษาวิจัยในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี”

 

กิตติกรรมประกาศ ในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการทุกประเภท ระบุดังนี้ “บทความวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง………………………………………….. โดยได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

 

6. จำนวนเงินทุน และระยะเวลาการรับทุน

 

6.1 จัดสรรเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาก่อนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ จำนวน 3 ทุน เมื่อนิสิตเข้าศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรละ 1 ทุน โดยจัดสรรให้ไม่เกิน 4 ภาคการศึกษา ดังนี้

ค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย) 35,000 บาท

ค่าธรรมเนียมพิเศษ ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย) 50,000 บาท

ผู้ได้รับทุนสามารถลงทะเบียนเรียนในรายวิชาระดับบัณฑิตศึกษาในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีได้ โดยได้รับการยกเว้นการชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาผู้เข้าร่วมฟัง

 

6.2 จัดสรรเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาหลังสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ จำนวน 3 ทุน เมื่อนิสิตสอบผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถยื่นขอรับทุนได้ในภาคการศึกษาถัดไปจากที่ได้รับอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ โดยจัดสรรให้ไม่เกิน 2 ภาคการศึกษา ดังนี้

ค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย) 35,000 บาท

 

7. การระงับทุน คณะจิตวิทยาจะระงับการให้ทุน ดังนี้

 

7.1 พ้นสถานภาพการเป็นนิสิต

 

7.2 ทุจริตในการสอบหรือคัดลอกผลงานวิชาการ

 

7.3 อยู่ในระหว่างการลาพักการศึกษา

 

7.4 นิสิตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับทุนตามข้อ 5

 

7.5 คณะจิตวิทยา เห็นสมควรให้ระงับทุน

 

8. การสมัครขอรับทุน

 

ให้นิสิตติดต่อฝ่ายวิชาการ คณะจิตวิทยา นับตั้งแต่วันที่ประกาศ ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567

 

 

จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

 

ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
คณบดีคณะจิตวิทยา