ข่าวและกิจกรรม

ความเหงากำลังระบาด?

 

ความเหงากำลังระบาด?

 

มีใครในช่วงนี้กำลังรู้สึกเหงาบ้างไหม? เมื่อองก์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่าความเหงากำลังเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพ มีผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ในบทความนี้อยากจะชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับ “ความเหงา” เพื่อทำความเข้าใจความเหงา และวิธีการจัดการกับความเหงา

 

ความเหงา (Loneliness) เป็นความรู้สึกหนึ่งของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ว่าตนขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยกว่าที่ตนต้องการ เรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้และตีความสถานการณ์ในความสัมพันธ์ของตน เช่น การที่คนคนหนึ่งมีเพื่อนหลายคน ไปพบและเจอเพื่อนบ่อย แต่ก็อาจจะเกิดความรู้สึกเหงาได้จากการรับรู้ว่าความสัมพันธ์ที่ตนมีนั้นไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงกับความคาดหวัง ในขณะเดียวกันคนที่มีเพื่อนน้อย แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ สามารถแบ่งปันประสบการณ์ในชีวิตและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ก็อาจจะไม่ได้มีความเหงาเกิดขึ้น

 

 

ประเภทของความเหงา


 

ความเหงาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคร่าวๆได้ ดังนี้

 

  1. ความเหงาแบบชั่วคราว (Transient Loneliness) หรือจะเรียกว่า ความเหงาในชีวิตประจำวัน (Everyday Loneliness) ก็ได้ เป็นความเหงาที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว เป็นความเหงาประเภทที่พบได้บ่อยที่สุดแต่อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก
  2. ความเหงาจากสถานการณ์ (Situational Loneliness) เป็นความเหงาที่มักจะเกิดขึ้นหลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิต เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การหย่าร้าง การจบความสัมพันธ์กับใครสักคน หรือการย้ายถิ่นฐานของคนที่มีความผูกพันต่อกัน
  3. ความเหงาแบบเรื้อรัง (Chronic Loneliness) เป็นความเหงาที่มักจะเกิดขึ้นในเวลาที่เราเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่นเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกัน และไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ ความเหงาประเภทนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีปัญหาในด้านการปรับตัว

 

สาเหตุของความเหงา


 

ความเหงาสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคล การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น รวมถึงประสบการณ์ในอดีตอาจทำให้บุคคลมีความคาดหวังต่อความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่น ทำให้เกิดการรับรู้และตีความว่าตนเองกำลังรู้สึกเหงาขึ้นมาได้ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่

 

  1. ลักษณะบุคลิกภาพของบุคคลที่มีความแตกต่างกัน เช่น บุคลิกภาพแบบขี้อาย (shyness) หรือการขาดทักษะทางสังคม ก็อาจจะทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความรู้สึกเหงาได้ง่ายกว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบมั่นใจ (confident)
  2. ค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสังคม เช่น วัฒนธรรมของคนตะวันตกเน้นให้บุคคลพึ่งพาตนเองสูงและพยายามทำเป้าหมายให้สำเร็จลุล่วงด้วยตนเอง ก็อาจจะมีแนวโน้มที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาได้มากกว่า วัฒนธรรมของคนเอเชียที่เน้นการอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกันภายในสมาชิกของครอบครัว
  3. สถานการณ์ทางสังคมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น ความเครียดของคนว่างงาน ความรู้สึกไม่พึงพอใจในสถานภาพสมรส การสูญเสียคนรัก การเปลี่ยนแปลงจากการย้ายที่อยู่ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลให้บุคคลรู้สึกเหงาได้

 

 

ผลกระทบของความเหงา


 

ความเหงาไม่ได้ส่งผลกระทบกับสุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตด้วย ผลกระทบของความเหงา ได้แก่

 

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
  • ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้มีคุณภาพในการนอนไม่ดี และรบกวนการนอนหลับ
  • ส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล
  • ส่งผลให้มีความพึงพอใจในชีวิตต่ำ

 

 

วิธีป้องกันและรับมือกับความเหงา


 

  1. กลับมาทบทวนความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตน ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้น คือความเหงา ความเศร้า ความโดดเดี่ยว หรือเป็นความรู้สึกอะไร เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความรู้สึกที่เกิดขึ้น
  2. กลับมาทบทวนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มองหาความสัมพันธ์ที่ตนเองต้องการหรือความสัมพันธ์ที่มีคุณค่า ปริมาณของความสัมพันธ์อาจไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของความสัมพันธ์ที่มีอยู่
  3. พัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพของตน บอกเล่าความรู้สึก เรื่องราวในชีวิตประจำวันกับความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจ
  4. เปิดโอกาสให้ตนได้เรียนรู้ที่จะมีความสัมพันธ์ใหม่ ๆ และไม่ปิดกั้นตัวเองในการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบๆข้าง
  5. หากิจกรรม งานอดิเรกทำเพิ่มเติม การกลับมาอยู่กับตัวเอง ให้เวลาตัวเอง บางครั้งสามารถทำให้ความเหงาชั่วครั้งชั่วคราวลดลงได้
  6. เลี้ยงสัตว์เลี้ยง การมีสัตว์เลี้ยงสักตัวจะทำให้เกิดความผูกพัน เกิดความสัมพันธ์ที่มีความหมายและช่วยลดความเหงาลงไปได้
  7. พูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยา เพื่อหาวิธีรับมือกับความเหงาเพิ่มเติม

 

 

รายการอ้างอิง

 

Beutel, M. E., Klein, E. M., Brähler, E., Reiner, I., Jünger, C., Michal, M., Wiltink, J., Wild, P.S., Münzel, T., Lackner, K. J., & Tibubos, A. N. (2017). Loneliness in the general population: prevalence, determinants and relations to mental health. BMC psychiatry, 17, 1-7. https://doi.org/10.1186/s12888-017-1262-x

 

Cacioppo, J. T., Hughes, M. E., Waite, L. J., Hawkley, L. C., & Thisted, R. A. (2006b). Loneliness as a specific risk factor for depressive symptoms: Cross-sectional and longitudinal analyses. Psychology and aging, 21(1), 140-151. https://doi.org/10.1037/0882-7974.21.1.140

 

Caspi, A., Harrington, H., Moffitt, T. E., Milne, B. J., & Poulton, R. (2006).Socially Isolated Children 20 Years Later: Risk of Cardiovascular Disease. Archives of pediatrics & adolescent medicine, 160(8) ,805-811. https://doi.org/10.1001/archpedi.160.8.805

 

Gardner, W., Gabriel, S., & Diekman, A. B. (2000). Interpersonal processes. In J. Cacioppo, L. Tassinary, & G. Berntson (Eds.), Handbook of psychophysiology (pp.643-664). Cambridge University Press.

 

Hawkley, L., Thisted, R., Masi, C., & Cacioppo, J. (2010). Loneliness Predicts Increased Blood Pressure:5-Year Cross-Lagged Analyses in Middle-Aged and Older Adults. Psychology and aging, 25(1), 132-141. https://doi.org/10.1037/a0017805

 

Kong, F., & You, X. (2013). Loneliness and Self-Esteem as Mediators Between Social Support and Life Satisfaction in Late Adolescence. Social Indicators Research, 110(1), 271-279. https://doi.org/10.1007/s11205-011-9930-6

 

Ladd, G. W., & Ettekal, I. (2013). Peer-related loneliness across early to late adolescence: Normative trends, intra-individual trajectories, and links with depressive symptoms. Journal of Adolescence, 36(6), 1269-1282. https://doi.org/10.1016/j.adolescence.2013.05.004

 

Peplau, L. A., & Perlman, D. (1982). Loneliness: A sourcebook of current theory, research and therapy. Wiley-Interscience.

 

Richard, A., Rohrmann, S.,Vandeleur, C. L., Schmid, M., Barth, J., & Eichholzer, M. (2017). Loneliness is adversely associated with physical and mental health and lifestyle factors: Results from a Swiss national survey. PLOS ONE, 12(7), e0181442. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0181442

 

Schultz, N. R., & Moore, D. (1988). Loneliness: Differences Across Three Age Levels. Journal of Social and Personal Relationships, 5(3), 275-284. https://doi.org/10.1177/0265407588053001

 

Vanhalst, J., Goossens, L., Luyckx, K., Scholte, R. H. J., & Engels, R. C. M. E. (2013). The development of loneliness from mid-to late adolescence: Trajectory classes, personality traits, and psychosocial functioning. Journal of Adolescence, 36(6), 1305-1312. https://doi.org/10.1016/j.adolescence.2012.04.002

 

Weiss, R. S. (1973). Loneliness: The experience of emotional and social isolation. The MIT Press.

 

 


 

 

 

บทความโดย
คงพล แวววรวิทย์
นักจิตวิทยาประจำศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ความสุขไม่ได้อยู่ที่สิ่งภายนอก แต่อยู่ที่ตัวเราเอง

 

ความหมายของความสุข


 

ความสุข เป็นคำที่มีความหมายกว้างและซับซ้อน แต่ละคนอาจให้ความหมายของความสุขแตกต่างกันไป โดยทั่วไปแล้ว ความสุขอาจหมายถึงความรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย ความพึงพอใจ ความสำเร็จ ความรัก ความผูกพัน ความหมายของชีวิต เป็นต้น

 

ความสุข เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความสุขได้เสมอไป บางครั้งเราอาจรู้สึกเศร้า เหงา ผิดหวัง หรือทุกข์ทรมาน สาเหตุของความทุกข์อาจมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาชีวิต โรคภัยไข้เจ็บ หรือปัจจัยภายใน เช่น ความคิด ความรู้สึก ทัศนคติของเราเอง

 

ทำอย่างไรจึงมีความสุข


 

  • ด้านสุขภาพจิต ความสุขมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพจิตของเรา ผู้ที่มีความสุขจะมีสุขภาพจิตที่ดี มีความมั่นคงทางอารมณ์ ปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับความเครียด ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคเครียด ดังนั้น เราควรดูแลสุขภาพจิตของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น ฝึกสมาธิ ฝึกสติ หลีกเลี่ยงการเสพสื่อที่ก่อให้เกิดความเครียด เป็นต้น
    นอกจากนี้ ควรมองโลกในแง่ดี คิดบวก ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น รู้จักปล่อยวาง รู้จักให้อภัย รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่นทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า และมีความสุข
  • ด้านความสัมพันธ์ ความสุขสัมพันธ์กับความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของเรา คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างจะมีแนวโน้มที่จะมีความสุขมากกว่าคนที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ดังนั้น เราควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เช่น ใช้เวลากับคนที่เรารัก ความรักเป็นพื้นฐานสำคัญของความสุข การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่เรารักทำให้เรารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และมีความสุข
  • ด้านเป้าหมายในชีวิต คนที่มีเป้าหมายในชีวิตมักจะมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ดังนั้น เราควรตั้งเป้าหมายในชีวิตและพยายามทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น เช่น ตั้งเป้าหมายในการทำงาน ตั้งเป้าหมายในการเรียน ตั้งเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อชีวิตที่มีความหมาย เป็นต้น
  • ด้านสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมรอบตัวก็มีส่วนสำคัญต่อความสุขของเรา สภาพแวดล้อมที่ดีและน่าอยู่จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น ดังนั้น เราควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีรอบตัว เช่น ตกแต่งบ้านให้น่าอยู่ ปลูกต้นไม้รอบบ้าน เป็นต้น
  • ด้านภายใน ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่สิ่งภายนอก แต่อยู่ที่ตัวเราเอง ความสุขที่แท้จริงเกิดจากความสงบภายใน ความสงบภายในเกิดจากการที่เรารู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และยอมรับตัวเอง ดังนั้น เราควรฝึกฝนตนเองให้รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และยอมรับตัวเอง เช่น ฝึกการเจริญสติ ฝึกการยอมรับ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรทำในสิ่งที่เรารัก การทำในสิ่งที่เรารักทำให้เรารู้สึกสนุก เพลิดเพลิน และมีความสุข

 

ความสุข ไม่ได้อยู่ที่สิ่งภายนอก แต่อยู่ที่ตัวเราเอง เพียงแค่เรารู้จักมองหาและใส่ใจความสุขเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว เราก็จะมีความสุขมากขึ้นได้

 

ตัวอย่างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน

  • การได้ตื่นนอนมาเห็นแสงแดดยามเช้า
  • การได้กินอาหารอร่อย ๆ
  • การได้ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนฝูง
  • การได้ทำงานหรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ
  • การได้ช่วยเหลือผู้อื่น
  • การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ

 

คำแนะนำในการแสวงหาความสุข


 

ในการแสวงหาความสุข เราควรทำอย่างสม่ำเสมอ และควรเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ใกล้ตัวก่อน ไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบก่อนจึงจะเริ่มแสวงหาความสุข เพียงแค่เรารู้จักมองหาและใส่ใจความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัว เราก็จะมีความสุขมากขึ้นได้

 

ตัวอย่างกิจกรรมที่ส่งเสริมความสุข

 

นอกจากแนวทางในการแสวงหาความสุขที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมความสุข เช่น

 

  • การใช้เวลากับธรรมชาติ เช่น การเดินป่า นั่งสมาธิ ฟังเสียงนกร้อง ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และมีความสุข
  • การสร้างสรรค์ผลงาน เช่น การวาดรูป เขียนหนังสือ แต่งเพลง ทำให้เรารู้สึกภูมิใจ ประสบความสำเร็จ และมีความสุข
  • การช่วยเหลือผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่นทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า และมีความสุข

 

ขอให้ทุกคนมีความสุขนะคะ

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม

 

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับ รศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล ที่ได้รับกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในระดับรองศาสตราจารย์

 

คณะจิตวิทยาขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสที่ได้รับกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในระดับรองศาสตราจารย์ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565

ภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรง – Post-traumatic stress disorders

 

 

ความสะเทือนใจ (trauma) คือ ความรู้สึกตกใจหรือสั่นสะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจเป็นเวลานาน

 

ภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรง (Post-traumatic stress disorders) คือ ภาวะกระทบกระเทือนใจอันเนื่องมาจากความกลัว ความตกใจ ความฝังใจจากเหตุการณ์วิกฤตที่รุนแรง หรือความสูญเสียอย่างกะทันหัน ผลอันเกิดจากความสะเทือนใจซึ่งอาจสังเกตได้ไม่เด่นชัด แต่มีผลเรื้อรังในระยะยาวทั้งต่อสภาวะจิตใจ ทัศนคติ การมองโลก รวมถึงการปรับตัวและการมีสุขภาวะที่เหมาะสมในสังคม

 

ภายหลังเหตุการณ์วิกฤตหรือเหตุการณ์ความสูญเสียที่รุนแรงต่าง ๆ บุคคลจะมีความรู้สึกสะเทือนใจนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งใน คู่มือวินิจฉัยทางจิตเวช 4 (DSM-IV) กำหนดว่าเป็นภาวะความสะเทือนใจอย่างรุนแรงเฉียบพลัน แต่ในฉบับปรับปรุง (DSM-IV-TR) ได้เปลี่ยนแปลงและเรียกอาการในระยะ 3 เดือนแรกว่า trauma หรือความสะเทือนใจ ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าวจะฟื้นตัวได้ภายในช่วง 3 เดือนแรก และเรียกอาการความสะเทือนใจที่คงอยู่นานหลัง 3 เดือนว่าเป็น Post-traumatic stress disorders (PTSD) ซึ่งใน DSM-IV ฉบับก่อนหน้านี้กำหนดว่าเป็นภาวะความสะเทือนใจเรื้อรัง

 

 

อาการ


 

เกณฑ์การวินิจฉัยอาการทางจิตเวชในคู่มือการวินิจฉัยได้จำแนกอาการของภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรงไว้ 3 กลุ่มอาการคือ

 

  1. การย้อนเห็นภาพเหตุการณ์ (Intrusion) การคิดถึง ย้อนระลึกถึงซ้ำ ๆ ฝันร้ายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกทุกข์ใจอย่างยิ่งเมื่อพบสิ่งที่สะกิดใจหรือทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ
  2. การหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์และหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ (Dissociation) บางทีก็เรียกลักษณะนี้ว่าการตัดความรู้สึกหรือการหลีกเลี่ยงความรู้สึก มีการหลีกหนี ไม่เผชิญหรือพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน มีการระงับไม่รับรู้และแสดงความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการผ่านเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ พยายามหลีกเลี่ยงผู้คนหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกัน
  3. มีปฏิกิริยาไวในการระแวดระวังและตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เกินระดับปกติ (Hyperarousal) โดยแสดงอาการตื่นตัว สะดุ้งบ่อยกว่าปกติ นอนหลับยาก ตั้งสมาธิลำบาก และมีอารมณ์หงุดหงิดแปรปรวนง่าย

 

 

สาเหตุของอาการ


 

 

1. ปัจจัยภายนอกตัวบุคคล

 

คือลักษณะเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่อยู่นอกวิสัยที่พบได้ตามปกติ เช่น สงคราม ที่มีทหารผ่านศึกหลายนายที่ทนทุกข์จากภาวะสะเทือนใจรุนแรง (แต่ทหารส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอาการนี้) รวมถึงเหตุวิกฤตซึ่งเกิดเป็นปกติในช่วงชีวิต เช่น การหย่าร้าง การตายของคู่ชีวิต ความล้มเหลวในงาน การแท้งบุตร ความเจ็บป่วย และเหตุการณ์วิกฤตรุนแรงอื่น ๆ เช่น ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ไฟไหม้ วินาศกรรม อุบัติเหตุ อาชญากรรม เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า ภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรงเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์หลากหลายเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง ไม่คาดฝัน และก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินในระดับต่าง ๆ ต่อผู้ประสบเหตุการณ์

 

2. ปัจจัยภายในตัวบุคคล

 

คือ ปฏิกิรยาตอบสนองส่วนตัวของผู้ประสบเหตุการณ์ หากผู้ประสบเหตุการณ์มีความรู้สึกโดยส่วนตัวอย่างเข้มข้นว่าเหตุการณ์นั้นคุกคามต่อชีวิตและร่างกาย อาจทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บได้ รู้สึกหวาดกลัวและตกใจอย่างที่สุด ประจวบกับความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ ไร้ทางออก การรับรู้เช่นนี้มีความสัมพันธ์กับภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรงในระดับสูง

 

ทั้งนี้ มีงานวิจัยจำนวนมากที่พยายามศึกษาถึงปัจจัยเสี่ยงและตัวแปรต่าง ๆ ที่ส่งผลให้บุคคลได้รับผลจากเหตุการณ์วิกฤตและความสูญเสียลักษณะเดียวกันแตกต่างกัน พบว่า ตัวแปรที่ทำให้บุคคลมีความเสี่ยงต่ออาการดังกล่าว คือ ตัวแปรด้านบุคลิกภาพ และการคิด โดยปัจจัยด้านการคิดอย่างหนึ่งคือ ลักษณะการอนุมานสาเหตุ หรือลักษณะที่บุคคลมักใช้ในการหาเหตุผลเมื่อพบเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต อาทิ แนวโน้มคิดโทษตนเอง การมองว่าเหตุการณ์เลวร้ายจะคงอยู่เช่นนั้นต่อไป และคิดแผ่ขยายประสบการณ์ที่ไม่ดีไปสู่เหตุการณ์อื่น ๆ และด้านอื่น ๆ ในชีวิต แทนที่จะมองว่าเป็นความบังเอิญหรือเป็นเหตุการณ์เฉพาะ

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ประสบการณ์ความสะเทือนใจของผู้ประสบเหตุการณ์ไฟไหม้ : กรณีศึกษาชุมชนในเขตบางยี่ขัน” โดย ธีร์จุฑา จรัสโยธินนุวัฒน์ (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/78

 

Cognitive reserve: การป้องกันและชะลอผลกระทบที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อม

 

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว ประชากรในประเทศไทยประกอบไปด้วยผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เกิน 10% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 28% ภายใน 10 ปีข้างหน้า (WHO, 2023)

 

หนึ่งในโรคอันดับต้น ๆ ที่มักพบในผู้สูงวัยทั่วโลกคือโรคภาวะสมองเสื่อม (dementia) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมถอยของสมองในส่วนของการทำงานขั้นสูง ที่มีความรุนแรงมากจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการทำลายเซลล์สมอง ภาวะสมองเสื่อมส่งผลต่อกระบวนการรู้คิด (cognitive functions) ขั้นสูงในหลาย ๆ ด้านที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ความจำ (memory) การพูดและการเข้าใจภาษา (language processing) การรับรู้ระยะและทิศทาง (visuospatial processing) และการแสดงออกทางพฤติกรรม (behavior) และอารมณ์ (mood)

 

ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีทางการแพทย์ที่สามารถรักษาโรคภาวะสมองเสื่อมให้หายขาด สิ่งที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบของโรคนี้จึงเป็นการค้นหาวิธีที่จะเลื่อนเวลาของการดำเนินโรคภาวะสมองเสื่อม เพื่อขยายระยะเวลาที่บุคคลยังสามารถใช้กระบวนการรู้คิดของตนอย่างสมบูรณ์ให้นานที่สุดในช่วงระยะแรก ๆ ของการเสื่อมถอยของสมอง แม้ว่าสุดท้ายแล้วยังต้องเผชิญกับโรคนี้อยู่ดี

 

 

Cognitive reserve


 

งานวิจัยที่ศึกษาการการทำงานของสมองที่เปลี่ยนแปลงจากความชราหรือโรคทางระบบประสาทพบผลวิจัยที่น่าสนใจ คือ ผู้สูงวัยสองคนอาจมีภาวะเสื่อมถอยในสมองในระดับคล้าย ๆ กัน แต่ผู้สูงวัยสองคนนี้อาจมีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น ผู้สูงวัย ก. อาจมีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่เปลี่ยนไปอย่างมากหลังจากการเสื่อมถอยของสมอง ในขณะที่ผู้สูงวัย ข. อาจมีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสมองของแต่ละบุคคลมีสมรรถภาพในการรับมือกับการเสื่อมถอยของสมองในระดับที่แตกต่างกัน

 

การที่ผู้สูงวัยบางคนสามารถต้านผลกระทบของภาวะสมองเสื่อมได้ดีกว่าผู้สูงวัยคนอื่น ๆ อาจเป็นเพราะผู้สูงวัยเหล่านั้นมีสมรรถภาพสำรองของกระบวนการรู้คิด (cognitive reserve) ในปริมาณที่มากกว่าผู้อื่น (Stern, 2009, 2012) บุคคลที่มี cognitive reserve สูงจะมีลักษณะแตกต่างเมื่อเทียบกับบุคคลที่มี cognitive reserve ต่ำ ในสองประการหลักดังนี้ (ดังที่แสดงในภาพที่ 1)

  1. จุดเปลี่ยนของความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่ลดลงจากการเสื่อมถอยของสมอง จะเกิดขึ้นช้ากว่า ในบุคคลที่มี cognitive reserve สูง
  2. บุคคลที่มี cognitive reserve สูงจะได้รับการวินิจฉัยโรคภาวะสมองเสื่อมในเวลาที่ช้ากว่า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดความเสื่อมถอยของสมองที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว

 

 

ภาพที่ 1. ระดับ cognitive reserve มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างความเสื่อมถอยของสมองและความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลา

 

 

เนื่องจาก cognitive reserve ไม่สามารถวัดได้โดยตรง และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามประสบการณ์ตลอดช่วงชีวิต งานวิจัยส่วนมากศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยโรคภาวะสมองเสื่อมแล้ว และรวบรวมข้อมูลเชิงประชากรเพื่อวิเคราะห์หาตัวแปรที่สามารถทำนายการดำเนินโรคภาวะสมองเสื่อมและคะแนนความสามารถทางกระบวนการรู้คิดของบุคคลเหล่านี้ ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ ศึกษาผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีเป็นกลุ่มตัวอย่าง และวิเคราะห์ตัวแปรที่สามารถทำนายคะแนนความสามารถทางกระบวนการรู้คิด งานวิจัยเหล่านี้ทางระบาดวิทยาพบว่าปัจจัยทางวิถีการใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้านมีความสัมพันธ์กับปริมาณ cognitive reserve ของแต่ละบุคคล ปัจจัยเหล่านี้ร่วมช่วยชะลอผลกระทบต่อกระบวนการรู้คิดที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อม และอาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย

 

  1. ความสามารถทางสติปัญญา (IQ)
    ก่อนเกิดความเสื่อมถอยของสมอง บุคคลที่มีคะแนน IQ สูงมีความเสี่ยงน้อยกว่าต่อการเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีคะแนนน้อยกว่า งานวิจัยโดย Whalley และคณะ (2000) พบว่าคะแนน IQ ที่วัดเมื่ออายุ 11 ขวบ (ในปี 1932) สามารถทำนายโอกาสที่บุคคลเหล่านี้จะได้รับการวินิจฉัยโรคภาวะสมองเสื่อมในวัยชรา และบุคคลเหล่านี้มีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดในระดับที่ดีกว่าคาดคิดเมื่อเปรียบเทียบกับความเสื่อมถอยของสมอง ซึ่งชี้ว่าสมองของบุคคลที่มี IQ สูงสามารถต้านทานผลเสียของการเสื่อมถอยของสมองได้ดีกว่า
  2. ระดับการศึกษาและความสำเร็จด้านอาชีพ
    การศึกษาเป็นประสบการณ์ที่เสริมสร้างการเชื่อมโยงในเครือข่ายเซลล์สมอง และอีกหนึ่งประสบการณ์ชีวิตที่ท้าทายความสามารถของกระบวนการรู้คิดก็คือความสำเร็จด้านอาชีพ เช่น การทำอาชีพที่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษานอกเหนือจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนว่าทั้งสองปัจจัยนี้สามารถชะลอการดำเนินโรคภาวะสมองเสื่อม และมีงานวิจัยที่พบว่าผลประโยชน์นี้ไม่ได้จำกัดแค่ในผู้ที่มีการศึกษาระดับสูง แต่การศึกษาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถเพิ่มปริมาณ cognitive reserve ได้ (Farfel et al., 2013) การที่คุณสามารถอ่านบทความนี้ได้หมายความว่าคุณมีทักษะการอ่านเขียนที่ได้ฝึกฝนมาจากการศึกษาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งทักษะนี้มีส่วนช่วยส่งเสริม cognitive reserve ให้มีปริมาณที่สูงกว่าบุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถนี้ (Manly et al., 2003)
  3. การทำกิจกรรมนันทนาการในช่วงสูงวัย
    ก็มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณ cognitive reserve ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ท้าทายกระบวนการรู้คิด เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ การเล่นบอร์ดเกมส์ การเล่นเครื่องดนตรี และการเรียนหลักสูตรที่ส่งเสริมความรู้ในด้านต่าง ๆ และกิจกรรมทางสังคม เช่น การนัดเจอสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง โดยผู้สูงวัยที่ทำกิจกรรมเหล่านี้มากกว่าจะมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อม ประมาณ 38% เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยที่ทำกิจกรรมเหล่านี้น้อยกว่า (Scarmeas et al., 2001) และงานวิจัยนี้ก็พบว่าสิ่งที่สำคัญคือจำนวนและความถี่โดยรวมในการทำกิจกรรมทั้งสองหมวดนี้ การมุ่งทำเพียงกิจกรรมประเภทใดประเภทหนึ่งไม่ได้ส่งผลต่อโอกาสที่จะเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมในเวลาต่อมา
  4. การออกกำลังกาย
    โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เน้นการหายใจเข้าออกเพื่อให้หัวใจและหลอดเลือดเกิดการสูบฉีดอาจช่วยเพิ่มปริมาณ cognitive reserve ได้เช่นกัน ผู้สูงวัยที่ออกกำลังกายตามเกณฑ์ที่แพทย์แนะนำมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อม ประมาณ 20% เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยที่ออกกำลังกายน้อยกว่า (Cheng, 2016; Klil-Drori et al., 2022) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ที่อเมริกาแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่ออาทิตย์ เช่น การเดินเร็ว 30 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลา 5 วันต่ออาทิตย์

 

 

ข้อสรุป


สุขภาพของสมองและการทำงานของสมองของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ซึ่งรวมถึงปัจจัยที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น การมีพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อโรคภาวะสมองเสื่อม และ ความสามารถทางสติปัญญา อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือเราสามารถควบคุมวิธีการดำเนินชีวิตของเราที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพสมองของเราให้ดีที่สุด โดยการทำกิจกรรมที่กระตุ้นความสนใจ ความท้าทายทางสมอง การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งการกระตุ้นในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนจะช่วยสั่งสมปริมาณ cognitive reserve ที่เรามี

 

  • ทำกิจกรรมนันทนาการที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน อย่างต่อเนื่อง
  • ทำกิจกรรมที่ท้าทายสมอง รวมถึงการลงมือทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่คุณไม่เคยทำ
  • สานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับครอบครัวและเพื่อนฝูง หมั่นติดต่อกันและนัดพบกันอยู่เรื่อย ๆ
  • ออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพหัวใจและสุขภาพสมองไปในตัว

 

ไม่มีคำว่า ‘เร็วเกินไป’ หรือ ‘สายเกินไป’ ที่จะดูแลสุขภาพสมองของเราตามคำแนะนำเหล่านี้ และการทำกิจกรรมหลากหลายอย่างจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสมองเมื่อเทียบกับการทำกิจกรรมในด้านใดด้านเดียว สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ คนในการดูแลสุขภาพสมองของตนเอง เพื่อการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพและห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Barulli, D., & Stern, Y. (2013). Efficiency, capacity, compensation, maintenance, plasticity: emerging concepts in cognitive reserve. Trends in Cognitive Sciences, 17(10), 502-509.

 

Cheng, S. T. (2016). Cognitive reserve and the prevention of dementia: the role of physical and cognitive activities. Current Psychiatry Reports, 18, 1-12.

 

Farfel, J. M., Nitrini, R., Suemoto, C. K., Grinberg, L. T., Ferretti, R. E. L., Leite, R. E. P., … & Brazilian Aging Brain Study Group. (2013). Very low levels of education and cognitive reserve: a clinicopathologic study. Neurology, 81(7), 650-657.

 

Klil-Drori, S., Cinalioglu, K., & Rej, S. (2022). Brain health and the role of exercise in maintaining late-life cognitive reserve: a narrative review providing the neuroprotective mechanisms of exercise. The American Journal of Geriatric Psychiatry, 30(4), S72.

 

Manly, J. J., Touradji, P., Tang, M. X., & Stern, Y. (2003). Literacy and memory decline among ethnically diverse elders. Journal of Clinical and Experimental Neuropsychology, 25(5), 680-690.

 

Scarmeas, N., Levy, G., Tang, M. X., Manly, J., & Stern, Y. (2001). Influence of leisure activity on the incidence of Alzheimer’s disease. Neurology, 57, 2236–2242.

 

Stern, Y. (2009). Cognitive reserve. Neuropsychologia, 47(10), 2015-2028.

 

Stern, Y., (2012). Cognitive reserve in ageing and Alzheimer’s disease. The Lancet Neurology, 11(11), 1006-1012.

 

Whalley, L.J., Starr, J.M., Athawes, R., Hunter, D., Pattie, A., & Deary, I.J. (2000). Childhood mental ability and dementia. Neurology, 55, 1455–1459.

 

World Health Organization. (2023, February 9). Thailand’s leadership and innovations towards healthy ageing. https://www.who.int/southeastasia/news/feature-stories/detail/thailands-leadership-and-innovation-towards-healthy-ageing

 

 

 

บทความโดย

 

อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์

ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Chula Care 2566-2567 : สำหรับบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Chula Care : ทุกปัญหานักจิตวิทยา​ยินดีรับฟัง

*** ประชาสัมพันธ์สำหรับบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ***

 

 

ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการจัดโครงการบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับอาจารย์และบุคลากรจุฬาฯ (Chula Care) เพื่อดูแลสุขภาพภาวะทางจิตของบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ ภายใต้โครงการ CU Sustainable Well-Being: เสริมสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน โดยมีนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแก่บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถรับบริการฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มีระยะเวลาในการรับบริการตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567

 

 

 

 

บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนขอนัดหมายรับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทาง http://wellness.psy.chula.ac.th

 

สอบถามข้อมูลการรับบริการเพิ่มเติมได้ที่
“ศูนย์สุขภาวะทางจิต”
ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.
เบอร์โทรศัพท์ 082–329-8001
Line OA : @266wares (สแกน qr code ในรูป)
e-mail: contactchulacare@gmail.com

 

 


 

 

 

Chula Care News

 

 

 

 


 

 

การอบรมสำหรับบุคลากรจุฬาฯ (ฟรี) ในโครงการ Chula care

 

 

ความคิดสร้างสรรค์ – Creativity

 

 

 

 

ความคิดสร้างสรรค์ คือ ความสามารถในการคิดริเริ่มสิ่งแปลกใหม่ คิดอย่างกว้างไกล คิดได้หลายทิศทาง มีความคิดที่หลุดออกจากกรอบเดิม ๆ และมองเห็นความเชื่อมโยงกันของวัตถุรอบตัว ทำให้สามารถแก้ปัญหายุ่งยากที่พบเจอในชีวิตประจำวันให้หมดไป

 

 

องค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการของความคิดสร้างสรรค์ (Guilford, 1967)

 

1. ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency)

ความสามารถในการคิดได้อย่างรวดเร็วคล่องแคล่ว และมีจำนวนความคิดเป็นปริมาณมากในระยะเวลาจำกัด แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ

 

  • 1.1 ความคิดคล่องแคล่วด้านถ้อยคำ (Word Fluency) – ความสามารถของบุคคลในการใช้ถ้อยคำได้อย่างคล่องแคล่ว
  • 1.2 ความคิดคล่องแคล่วด้านการเชื่อมโยงสัมพันธ์ (Associational Fluency) – ความสามารถในการคิดหาคำที่เหมือนกันหรือคล้ายกันให้ได้มากที่สุดในระยะเวลาที่กำหนด
  • 1.3 ความคิดคล่องแคล่วด้านการแสดงออก (Expressional Fluency) – ความสามารถด้านการนำคำมาเรียงกันอย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้ประโยคที่ต้องการ เรียกว่าเป็นความสามารถด้านการใช้วลีหรือการใช้ประโยค
  • 1.4 ความคิดคล่องแคล่วในการคิด (Ideational Fluency) – ความสามารถที่จะคิดสิ่งที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด เช่น การบอกประโยชน์ของถ้วยกาแฟมาให้ได้มากที่สุดใน 1 นาที

 

2. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility)

ความสามารถในการคิดหาคำตอบได้หลายประเภทและหลายทิศทาง แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ

 

  • 2.1 ความคิดยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นทันที (Spontaneous Flexibility) – ความสามารถที่จะพยายามคิดสิ่งต่างๆ อย่างเป็นอิสระ เช่น คิดหาประโยชน์ของก้อนหินได้หลายทิศทาง
  • 2.2 ความยืดหยุ่นด้านการดัดแปลง (Adaptive Flexibility) – ความสามารถในการคิดดัดแปลงจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกหลายสิ่ง ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการติดซ้ำซ้อน และสามารถนำความคิดทั้งหมดที่ได้มาจัดเป็นประเภทต่างๆ

 

3. ความริเริ่ม (Originality)

ความสามารถในการคิดสิ่งที่มีลักษณะแปลกใหม่และแตกต่างไปจากธรรมดา เป็นความคิดที่หาได้ยาก ไม่มีใครนึกถึง และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เนื่องจากเป็นความคิดที่ยังไม่มีใครเคยคิดมาก่อน ผู้มีความคิดริเริ่มจึงต้องมีความกล้าที่จะคิด กล้าที่จะลอง เพื่อทดสอบความคิดใหม่ของตน ความริเริ่มบางครั้งมีพื้นฐานมาจากจินตนาการ แต่ต้องเป็นจินตนาการประยุกต์ คือ คิดริเริ่มและหาคิดหาทางสร้างผลงานจากความริเริ่มนั้นให้เป็นจริงให้ได้

 

4. ความละเอียดลออ (Elaboration)

ความสามารถในการพัฒนา แต่งเติม หรือขยายความคิดหลักให้ได้ความหมายที่สมบูรณ์และมีความแปลกใหม่ ความคิดที่แสดงออกมานั้นเป็นความคิดที่ละเอียด สามารถนำมาทำให้สมบูรณ์และประณีตต่อไปได้อย่างเต็มที่

 

แนวคิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ของนักจิตวิทยากลุ่มต่าง ๆ

 

1. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์ กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นผลมาจากความขัดแย้งภายใต้จิตสำนึกระหว่างแรงขับทางเพศและความรู้สึกรับผิดชอบทางสังคม และนักจิตวิเคราะห์แนวใหม่ได้นิยามว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่ในส่วนที่เรียกว่า จิตก่อนสำนึก

 

2. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงพฤติกรรมนิยม กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ โดยเน้นความสำคัญของการเสริมแรงกับสิ่งเร้า และยังเน้นความสัมพันธ์ทางปัญญา คือการโยงสัมพันธ์จากสิ่งเร้าหนึ่งไปยังสิ่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดความคิดใหม่

 

3. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงมนุษยนิยม กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด และผู้ที่สามารถดึงความสามารถส่วนนี้มาใช้ได้คือผู้ที่รู้จักตนเอง พอใจตนเอง และสามารถทำตนเองให้ปฏิบัติตนได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ มนุษย์จะสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ขึ้นอยู่กับสภาวะที่เอื้ออำนวยและมีบรรยากาศที่สำคัญในการสร้างสรรค์ ได้แก่ ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา ความมั่นคงของจิตใจ ความมุ่งมั่นต้องการที่จะเล่นกับความคิด และการเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ๆ

 

4. ทฤษฎี AUTA กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในตัวทุกคน และพัฒนาขึ้นไปได้อีก การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ตามทฤษฎีนี้ประกอบด้วย

  • 4.1 การตระหนัก (Awareness) ถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และตระหนักถึงความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตนเอง
  • 4.2 ความเข้าใจ (Understanding) อย่างถ่องแก้ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
  • 4.3 การรู้เทคนิควิธี (Techniques) ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ทั้งวิธีที่เป็นมาตรฐานทั่วไป หรือวิธีที่เป็นเทคนิคส่วนตน
  • 4.4 การตระหนักในความจริงของสิ่งต่างๆ (Actualization) อาทิ ตระหนักในตนเอง พอใจในตนเอง ใช้ตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับตัวได้เหมาะสม มีความคิดที่ยืนหยุด และตระหนักถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 


 

 

“ผลของอารมณ์ที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์” โดย ดวงรักษ์ พิสิฐศรัณยู และ ธนพร บัวขำ (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th.chula.idm.oclc.org/handle/123456789/44182

 

ภาพประกอบ https://www.maxpixel.net/

 

การเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดยทั่วไปลักษณะการเจรจาแบ่งได้กว้าง ๆ 2 ลักษณะ คือแบบได้-เสีย และแบบได้-ได้

 

แบบได้-เสีย ก็คือการเจรจาที่อยู่บนมุมมองว่าจะต้องมีฝ่ายหนึ่งได้ฝ่ายหนึ่งเสีย หรือการได้ประโยชน์ของฝ่ายหนึ่ง หมายถึงการที่อีกฝ่ายจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป ตัวอย่างเช่น การต่อรองกับแม่ค้าเพื่อซื้อเสื้อสักตัว ถ้าเราผู้ซื้อต่อได้ราคายิ่งต่ำมากเท่าไหร่ก็จะได้ประโยชน์ แต่ว่าแม่ค้าก็ยิ่งเสียประโยชน์ เพราะเขาจะได้เงินค่าเสื้อน้อยลง

 

ส่วนอีกแบบหนึ่งคือแบบได้-ได้หมายถึงการต่อรองจากมุมมองว่าทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมกันหาทางออกที่ต่างก็ได้ประโยชน์ตามต้องการ โดยไม่มีใครต้องเสียประโยชน์ให้ใคร

 

ถ้าเป็นไปได้ พวกเราก็คงจะเลือกอย่างหลังกันมากกว่า เพราะเป็นการต่อรองที่ลงเอยด้วยความพอใจของทุกๆ ฝ่าย งานวิจัยทางจิตวิทยาก็พบเช่นกันว่าการเจรจาแบบได้-ได้ ให้ผลดีทั้งในด้านข้อสรุปที่ได้ และการรักษาความรู้สึกความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคู่เจรจา

อย่างไรก็ดี ในการดำเนินชีวิตของเรานั้น หลีกเลี่ยงไม่พ้นการเจรจาทั้งสอบแบบ

 

 

เทคนิคการเจรจาต่อรองแบบได้-เสีย


 

การต่อรองแบบได้-เสีย คู่ต่อรองมักจะคิดว่าเรื่องราคาหรือผลประโยชน์ฝ่ายตนสำคัญที่สุด และต้องการตักตวงไปให้ได้มากที่สุด แล้วเราจะทำอย่างไรดีหากต้องต่อรองแบบได้-เสีย?

 

กฏข้อแรก คือ การต่อรองจะต้องมีการยอมลดเป็นครั้ง ๆ จากทั้งสองฝ่าย ดังนั้น หากเราเป็นผู้ขาย เราก็จะต้องตั้งราคาเผื่อการลดเมื่อผู้ซื้อยื่นข้อเสนอขอลดราคา

 

กฏข้อที่สอง คือ การได้เสนอราคาก่อนจะได้เปรียบ หมายความว่าหากเราเป็นผู้ขายให้เรากำหนดราคาสินค้าไว้เลยตั้งแต่แรก หากเราต่อรองเงินเดือนก็ต้องชิงจังหวะเป็นฝ่ายที่เรียกเงินเดือนก่อน

 

การได้เสนอราคาหรือตั้งตัวเลขก่อนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะราคาแรกที่เราเสนอนั้นจะเป็นตัวกำหนดว่าการต่อรองจะคุยกันที่ราคาสูงหรือต่ำเพียงใด หากเราปล่อยให้อีกฝ่ายเรียกราคามาก่อน เขาก็ย่อมเรียกราคาในแบบที่เขาต้องจ่ายน้อยที่สุด และหากเราหลวมตัวไปเจรจากับเขาที่ราคาต่ำๆ แล้วละก็ โอกาสก็คือเราจะกลายเป็นผู้เสียประโยชน์ ดังนั้นการตั้งราคาหรือเรียกราคาแรกให้ได้ประโยชน์ที่สุด คือการตั้งไว้สูงหรือต่ำในแบบที่จะให้ประโยชน์สูงสุดแก่ฝ่ายเรา

 

เคล็ดลับสุดท้าย คือ การหาตัวเลือกสำรอง หมายถึงการเตรียมตัวเลือกอื่น ๆ ไว้เพื่อเป็นทางออก หากเราตกลงกับคู่เจรจาคนนี้ไม่ได้ เช่น หากบริษัทนี้ไม่ยอมให้เงินเดือนสูงเท่าที่เราต้องการ เราจะมีบริษัทอื่นให้ไปสมัครงาน ที่ให้ประโยชน์แก่เราได้พอ ๆ กับบริษัทนี้หรือไม่ ตรงนี้สำคัญมากเพราะจะทำให้เรามีอำนาจการต่อรอง หรือเรียกง่ายๆ ว่าไม่ยอมอ่อนข้อง้อคู่เจรจาปัจจุบันมากเกินไป เพราะเรายังมีตัวเลือกอื่นรออยู่นั่นเอง

 

สรุปได้ว่าการต่อรองให้ได้ผลประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุดจะต้องมีการเตรียมตัวหาข้อมูลดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชิงเสนอราคาที่จะทำให้เราได้ประโยชน์สูงสุด และการหาทางเลือกอื่นสำรองไว้

 

 

เทคนิคการเจรจาต่อรองแบบได้-ได้


 

การต่อรองส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยผู้ชนะและผู้แพ้เสมอไป ทั้งสองฝ่ายสามารถช่วยกันหาทางออกให้เป็นผู้ชนะทั้งคู่ได้ ดังนั้นจุดสำคัญของการต่อรองลักษณะนี้คือการที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน จะต้องพูดคุยกันว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร เพราะอะไร ต้องพยายามเข้าใจความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าเขาก็มีสิทธิที่จะอยากได้ผลประโยชน์ที่เขาต้องการ และช่วยกันคิดว่าจะหาทางออกอย่างไรจึงจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งฝ่ายเขาและฝ่ายเรา

 

ตัวอย่างเช่น หากหน่วยงาน ก. ต้องการส่วนแบ่งงบประมาณมาก แต่หน่วยงาน ข. ก็ต้องการเช่นกัน เมื่องบประมาณแต่ละปีมีจำกัดก็ทำให้ต้องมีฝ่ายที่ผิดหวัง การต่อรองแบบได้-ได้ ก็คือเมื่อหน่วยงาน ก. และ ข. มานั่งคุยกันว่าต่างจะเอางบประมาณไปทำอะไร อาจจะพบว่า ต่างต้องการจะเอาไปลงทุนในสิ่งเดียวกัน ก็อาจจะสามารถร่วมมือกันและปรับข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายให้ลงตัวได้โดยไม่มีใครต้องยอมเสียผลประโยชน์
หรืออาจจะช่วยกันคิดหางบประมาณมาเพิ่ม เพื่อจะทั้งสองหน่วยงานจะได้ส่วนแบ่งตามต้องการ 100%

 

หรือหากสามีอยากไปเที่ยวภูเก็ตแต่ภรรยาอยากไปเที่ยวเชียงใหม่ ก็อาจลงเอยด้วยการหางบมาเพิ่มเพื่อให้สามารถไปเที่ยวได้ทั้งสองที่ เป็นต้น

 

การต่อรองแบบได้-ได้นั้น จุดสำคัญคือทั้งสองฝ่ายจะต้องเต็มใจและเปิดใจหารือกัน โดยมีเป้าหมายที่จะหาทางออกร่วมกัน หากเราต่อรองโดยคิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้าฝ่ายเราให้มากที่สุดโดยไม่นึกถึงฝ่ายเขา ก็จะไม่สามารถต่อรองแบบได้-ได้ให้ประสบความสำเร็จได้

 

เคล็ดลับต่อมาคือต้องให้เวลาพูดคุยกันอย่างเพียงพอไม่รีบร้อนหาข้อสรุป เพราะการหาทางออกที่ดีต่อทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ได้หากันเจอง่าย ๆ

 

เคล็ดลับสุดท้าย คือการเลียนแบบท่าทางของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก็คือการจัดท่านั่งท่ายืนของเราให้คล้ายกับคนที่เรากำลังต่อรองด้วยให้มากที่สุดโดยไม่ให้เขารู้ตัวว่าเรากำลังเลียนแบบเขา การเลียนแบบนี้มักทำให้บุคคลเป้าหมายรู้สึกชอบเรา เชื่อใจเรามากขึ้น เพราะเราแสดงความเหมือนกันกับเขา และเมื่อเขาชอบพอเรา ก็มักจะร่วมมือหารือกับเราอย่างดีในการเจรจา เทคนิคนี้จึงทั้งง่ายและได้ผลดี

 

ในประเด็นเรื่องการต่อรองแบบได้ประโยชน์ทั้งคู่ว่าทำอย่างไรให้ได้ผลดี นอกจากคู่เจรจาต้องใจเย็น ๆ และนั่งลงเปิดใจคุยกันแล้ว งานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมยังค้นพบเทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยให้การต่อรองแบบนี้ได้ผลดี

 

นั่นคือการคิดถึงเป้าหมายที่เราอยากจะได้หรือไปให้ถึงในการต่อรองแต่ละครั้งให้ชัดเจน

 

คำว่าเป้าหมายในที่นี้ นักจิตวิทยาเสนอว่าควรจะเป็นเป้าหมายในเชิงสร้างเสริม ซึ่งหมายถึงการนึกถึงสิ่งที่เราต้องการจะได้มา ต้องการจะให้เกิดขึ้น หรือต้องการจะให้ดีขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะคิดในทางระมัดระวังไม่ให้เกิดอะไรที่ไม่ดี หรือระวังไม่ให้การเจรจาล้มเหลว การคิดวางเป้าหมายแบบสร้างเสริมจึงเป็นการคิดในเชิงพัฒนาไปยังสิ่งที่ดีกว่านั่นเอง

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมพบว่าการคิดถึงเป้าหมายแบบสร้างเสริมก่อนการเข้าพบพูดคุยกับคู่เจรจาว่าเราต้องการได้อะไรจากการเจรจาครั้งนี้ จะช่วยให้เราเจรจาต่อรองได้โดยไม่หลุดจากเป้าหมาย ซึ่งในที่นี้ก็คือการต่อรองแบบได้ประโยชน์ทั้งคู่ หรือการหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่ายนั่นเอง การนึกถึงเป้าหมายแบบสร้างเสริมก่อนเจรจา จะทำให้เป้าหมายนั้นอยู่ในใจเราเสมอในระหว่างการพูดคุย และเพิ่มความมุ่งมั่นที่จะคุยกันให้ลงตัวมากขึ้น

 

วิธีการปฏิบัติง่ายๆ ในการใช้เทคนิคเป้าหมายแบบสร้างเสริมก็คือ ใช้เวลาสั้น ๆ สัก 1 นาทีก่อนการเริ่มเจรจา นึกให้ชัดเจนว่าเราต้องการให้ผลการเจรจาออกมาแบบพึงพอใจทั้งสองฝ่าย และเราอยากจะทำอะไร พูดอะไรบ้างในระหว่างการเจรจา เพียงแค่นี้เองเราก็น่าจะเข้าสู่การเจรจาได้ด้วยความมุ่งมั่นและมีโอกาสจะเจรจาได้สำเร็จมากขึ้น

 

นอกจากนี้นักจิตวิทยายังพบเทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยให้การเจรจาเป็นแบบได้ประโยชน์ทั้งคู่ นั่นคือการพยายามมองจากมุมของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก็คือการที่เราพยายามนึกให้ออกว่าคู่เจรจาของเราน่าจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์นี้ คิดว่าเขาน่าจะอยากได้หรือต้องการอะไรในการเจรจานี้ การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเรานี้จะช่วยให้เราเข้าใจเห็นใจอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น และทำให้เรารู้สึกอยากจะร่วมมือเพื่อทำให้เขาได้รับผลประโยชน์ที่เขาอยากได้มากขึ้น

 

 

ผู้หญิงเสียปรียบผู้ชายในเรื่องการเจรจาต่อรองจริงหรือไม่


 

ปิดท้ายบทความนี้ด้วยประเด็นความเชื่อเกี่ยวกับการเจรจาที่ว่าผู้ชายเป็นนักเจรจาต่อรองที่ดีกว่าผู้หญิง

 

ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าหากหน่วยงานของท่านจะเลือกตัวแทนไปเจรจาธุรกิจหรือผลประโยชน์กับฝ่ายตรงกันข้าม ท่านจะเลือกส่งผู้หญิงหรือผู้ชายไป

 

การวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่เลือกผู้ชายไปเป็นตัวแทนการเจรจา เพราะมองว่าการเจรจาต่อรองเป็นเรื่องของผู้ชาย เนื่องจากจะต้องมีการใช้เล่ห์เหลี่ยมชิงไหวชิงพริบ มีการใช้ความแข็งกร้าวไม่อ่อนข้อเพื่อรักษาผลประโยชน์ ซึ่งผู้ชายน่าจะทำได้ดีกว่าผู้หญิง

นอกจากนี้สังคมยังคาดหวังให้ผู้หญิงมีลักษณะเป็นช้างเท้าหลัง อ่อนหวานเป็นมิตร ใจดีชอบช่วยเหลือและทำเพื่อผู้อื่น มากกว่าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องผลประโยชน์ให้ตัวเอง ผู้หญิงเมื่อต้องเจอกับความคาดหวังแบบนี้ก็มักจะทำตัวลำบาก

 

งานวิจัยพบว่าผู้หญิงมักหลีกเลี่ยงการต่อรองทางธุรกิจ เช่น การต่อรองเงินเดือนของตนเองต่อหัวหน้า เพราะรู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองควรจะทำไหม หรือจะทำได้ประสบความสำเร็จได้หรือ และยังเป็นการฝืนความคาดหวังของคนรอบข้างว่าผู้หญิงควรจะอ่อนโยนใจดี

 

การวิจัยในต่างประเทศพบว่าเมื่อผู้หญิงใช้เทคนิคในการต่อรองแบบแข็งกร้าว เช่น การยื่นเรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่มสูงๆ ในระหว่างที่ได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง เช่น พูดชัดๆ ว่าชั้นขอเพิ่มอย่างน้อย 30% ของเงินเดือนเดิม ก็มักจะถูกมองจากเจ้านายผู้ชายในทางลบว่าเป็นคนที่ไม่อ่อนโยนน่ารักและยังเป็นคนชอบเรียกร้องอีกด้วย ที่สำคัญคือเจ้านายชายยังบอกว่าไม่อยากร่วมงานกับผู้หญิงคนนี้ในอนาคต ซึ่งหมายถึงโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งจริง ๆ อาจจะริบหรี่เสียแล้ว

 

แหม…เป็นผู้หญิงนี่จะเรียกร้องอะไรก็ออกจะลำบากสักหน่อย แต่นักจิตวิทยาช่วยในประเด็นนี้ได้

เทคนิคการต่องรองที่ได้ผลดีสำหรับนักธุรกิจหญิงหรือผู้หญิงโดยทั่วไปก็คือการใช้จุดแข็งด้านความอดทนและการเป็นผู้ฟังที่ดีนั่นเอง ดังนั้นก่อนคุณผู้หญิงจะเริ่มต้นเจรจาต่อรองกับใคร ให้ลองนึกถึงจุดแข็งเหล่านี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง นอกจากนี้การนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เราสามารถเจรจาหรือโน้มน้าวใจคนอื่นได้สำเร็จ ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักต่อรองหญิงได้เช่นกัน

 

 


 

 

บทสารคดีวิทยุรายการ “จิตวิทยาเพื่อคุณ” (พ.ศ 2557)

ออกอากาศทางสถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

 

 

ประกาศรับสมัครทุนยกเว้นค่าเล่าเรียนคณะ เทอมปลาย ปี 2566 (ขยายเวลารับสมัครถึงวันที่ 10 ม.ค. 67)

 

ประกาศรับสมัครทุนยกเว้นค่าเล่าเรียน เทอมปลาย ปีการศึกษา 2566

 

นิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ระดับปริญญาตรีทุกชั้นปี ที่มีความจำเป็น เดือดร้อนด้านทุนการศึกษา สนใจสมัครและขอรับใบสมัครทุนยกเว้นค่าเล่าเรียนเทอมปลาย ปีการศึกษา 2566 ได้ที่ฝ่ายกิจการนิสิต

 

  • ใบสมัครจะต้องมีลายเซ็นใบรับรองการขอทุนการศึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษา
  • ขอให้ใช้หลักฐานรับรองฐานะการเงินที่เป็นปัจจุบัน ไม่นำไฟล์เก่าของเดิมมาส่งเด็ดขาด
  • ส่งใบสมัครเอกสารฉบับจริงเท่านั้น ไม่รับเป็นไฟล์หรือส่งทางอีเมล

 

สามารถส่งใบสมัครได้ที่ฝ่ายกิจการนิสิต ห้อง 104/1 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 มกราคม 2567 ในเวลารายการ

 

>> ใบสมัครทุนยกเว้นค่าเล่าเรียน 2566 <<

 

** หากมีข้อสงสัยติดต่อพี่โต้ง 02-218- 1170 เวลาราชการ หรือสอบถามทางอีเมล Sangdern.C@chula.ac.th

 

ประกาศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566
ฝ่ายกิจการนิสิตคณะจิตวิทยา

 

 

 

 

 

ประกาศขยายเวลารับสมัครทุนยกเว้นค่าเล่าเรียนเทอมปลาย 2566

ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566

ฝ่ายกิจการนิสิตคณะจิตวิทยา