ข่าวและกิจกรรม

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับประชาชนทั่วไป ประจำปี 2566

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับประชาชนทั่วไป ประจำปี 2566 ซึ่งจะจัดอบรมแบบออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 25 ธ.ค. 2566 (เฉพาะวันจันทร์ พุธ ศุกร์) เวลา 18.00 – 21.00 น. รวมใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมและสอบวัดผลทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง โดย คณาจารย์ประจำแขนงวิชาต่าง ๆ ของ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร

 

 

 

โครงการอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจศาสตร์ด้านจิตวิทยา เนื้อหาการอบรมจะเป็นการปูพื้นฐานให้ผู้ที่ไม่เคยศึกษาศาสตร์ทางด้านจิตวิทยามาก่อนได้เรียนรู้และเข้าใจกับคำว่า “จิตวิทยา” โดยมุ่งเน้นไปที่พื้นฐานในการศึกษากระบวนการแห่งการรู้สึก การรับรู้ การเรียนรู้ การจำ การคิด การจูงใจ บุคลิกภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยคาดหวังว่าผู้ที่ผ่านการอบรมไปนั้น จะสามารถนำศาสตร์ทางจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านจิตวิทยาให้แก่ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีพื้นฐานทางจิตวิทยาที่จำเป็น และสามารถนำไปต่อยอดในการศึกษารายวิชาที่กำหนดในหลักสูตรในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์การวัดผลของโครงการจะได้รับวุฒิบัตรเพื่อใช้ประกอบการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของคณะจิตวิทยาได้

 

 

 

เกณฑ์การวัดผล

 

  1. ต้องเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาการอบรม (21 ชั่วโมง)
  2. สอบวัดผลข้อเขียน โดยผ่านเกณฑ์การประเมิน 70% ขึ้นไป
  3. วันสอบเป็นวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 – 21.00 น. เท่านั้น (สอบออนไลน์) ไม่มีวันเวลาอื่น สามารถเข้าสอบสายได้ แต่จะเสร็จสิ้นการสอบที่เวลา 21.00 น.

 

 

หัวข้อการฝึกอบรม

 

 

หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแต่ละครั้ง ทางผู้จัดโครงการจะอัพโหลดไฟล์วิดีโอการอบรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเข้ามาดูย้อนหลังได้จนถึง
วันที่ 31 ธันวาคม 2566 (หากชมคลิปวิดีโอภายหลังช่วงเวลาสอบจะไม่นับเป็นเวลาเรียน)

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน

 

 

บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วมีสิทธิเปิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ

 

 

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

 

  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  2. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วัน
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี
อีเมล Wathinee.S@chula.ac.th
โทร 02-218-1307

 

กลไกการป้องกันตนเอง – Defense Mechanisms

 

ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรานั้น ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาหรือความขัดแย้งได้ และเพื่อที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ทางลบและความเครียดที่เกิดขึ้น หลายคนก็ได้ใช้วิธีจัดการกับปัญหาที่เรียกว่า “กลไกการป้องกันตนเอง”

 

Sigmund Freud ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาวิเคราะห์ได้กล่าวถึงกลไกการป้องกันตนเองว่าเป็นวิธีที่จะช่วยบรรเทาปัญหาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่จะไม่ได้ช่วยให้เราแก้ปัญหาที่สาเหตุ เปรียบเสมือนการใช้ยาแก้ปวดที่อาจจะทำให้เราหายปวดหลังได้ชั่วคราว แต่ยาที่ใช้นั้นก็ไม่ได้ไปรักษาที่สาเหตุของการปวดหลัง

 

ดังนั้นแม้ว่าการใช้กลไกการป้องกันตนเองจะมีประโยชน์อยู่บ้าง และเป็นพฤติกรรมปกติที่ผู้คนมักใช้กันอยู่ทั่วไปเราก็ไม่ควรจะใช้มากจนเกินไป เพราะจะทำให้เราเป็นคนที่ต้องป้องกันตนเองอยู่ตลอดเวลา และเริ่มหลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริงไป เพราะเราไม่ได้มองและแก้ปัญหาที่สาเหตุแต่กลับมีพฤติกรรมที่ทำให้เราหลีกหนีปัญหาเพื่อให้เกิดความสบายใจเพียงชั่วคราวเท่านั้น

 

“กลไกการป้องกันตนเอง” ที่ว่านี้คืออะไร และเราได้ใช้มันบ่อยแค่ไหน มาทำความรู้จักกับกลไกการป้องกันตนเองว่ามีอะไรบ้าง และแต่ละวิธีนั้นช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างไร

 

 

1. การอ้างเหตุผลเข้าข้างตนเอง หรือ Rationalization

 

เป็นวิธีที่เราจะใช้บ่อยที่สุดเพื่อพยายามให้เหตุผลหรืออธิบายความล้มเหลวบกพร่องของตนเอง ยกตัวอย่างเช่นผู้ที่ไม่สามารถผ่านการทดสอบคัดเลือกเพื่อทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง อาจให้เหตุผลปลอบใจตนเองว่าบริษัทนั้นให้เงินเดือนน้อยและงานที่ให้ทำก็น่าเบื่อ หรือเด็กที่ทำจานแตกก็จะอธิบายกับแม่ว่าเขาจะไม่ทำจานแตกเลยถ้าแม่ไม่เก็บไว้สูงอย่างนี้ จะเห็นได้ว่ากลไกการป้องกันตนเองวิธีนี้ก็คือวิธีที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “การแก้ตัว” นั่นเอง เราคงจะไม่ปฏิเสธว่าเคยใช้วิธีนี้มาบ้างแล้ว และมันก็ช่วยทำให้เรารอดจากการถูกตำหนิไปได้ แต่ Freud ได้เตือนว่าอย่าใช้มากเกินไป เพราะจะทำให้ผู้อื่นมองว่าเราเป็นนักแก้ตัวตัวยง ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนัก

 

2. การฉายสะท้อน หรือ Projection

 

เป็นการนำเอาความยุ่งยากหรือความล้มเหลวของตนไปไว้กับผู้อื่น เปรียบเสมือนการสะท้อนลักษณะอันไม่พึงประสงค์ของตนไปให้ผู้อื่น เช่น นักเรียนที่โกงการสอบโดยนำโพยข้อสอบเข้าไปในห้องและถูกจับได้ก็จะบอกกับครูว่านักเรียนคนอื่นในห้องก็โกงเหมือนกันหรือไม่ก็จะกล่าวโทษครูว่าไม่มีมาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบที่ได้ผล เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผู้ที่ใช้กลไกการป้องกันตนเองแบบนี้จะเบี่ยงเบนประเด็นความผิดหรือข้อบกพร่องของตนโดยการชี้ให้เห็นว่าคนอื่นก็มีความผิดแบบเดียวกัน เพื่อช่วยให้ตนเองรู้สึกผิดน้อยลงและมีความรู้สึกที่ดีขึ้น

 

3. การย้ายที่ หรือ Displacement

 

ซึ่งเป็นการถ่ายโอนความรู้สึกโกรธเคืองก้าวร้าวที่มีต่อผู้คนหรือสิ่งของไปยังบุคคลหรือสิ่งของที่มีอันตรายน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ถูกแม่ตีเพราะรังแกน้อง อาจจะมีความรู้สึกโกรธแม่ แต่ไม่สามารถตอบโต้แม่ได้ด้วยการตีกลับเด็กก็จะระบายความโกรธและความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นด้วยการเตะลูกบอลหรือขว้างปาหนังสือ ในการโต้เถียงกัน ฝ่ายที่ต้องยอมจำนนก็มักจะแสดงความไม่พอใจด้วยการกระแทกข้าวของ หรือปิดประตูเสียงดังซึ่งก็จะช่วยผ่อนคลายความรู้สึกเดือดดาลที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง คนที่ได้แสดงความไม่พอใจจะรู้สึกดีขึ้น เพราะไม่ต้องเก็บกดอารมณ์ทางลบไว้ แต่ก็อาจทำให้เกิดความไม่พอใจกับคู่กรณีหรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ ดังเช่นกรณีของเด็กที่ถูกทำโทษแล้ว ขว้างปาสิ่งของก็อาจจะถูกคุณแม่ตีซ้ำอีก ดังนั้นเด็กอาจจะแอบระบายความก้าวร้าวโดยไม่ให้ผู้ใหญ่เห็นด้วยการรังแกเพื่อนหรือสัตว์ที่อ่อนแอกว่า ถ้าผู้ใหญ่เป็นคนช่างสังเกตก็จะสามารถเข้าใจถึงสาเหตุของความก้าวร้าวนั้น และสามารถช่วยแก้ความก้าวร้าวของเด็กได้

 

4. การปฏิเสธความจริง หรือ Denial of reality

 

เป็นวิธีการที่หลายคนได้ใช้เมื่อความจริงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดอับอายให้แก่ตนเอง เช่น เด็กเล็ก ๆ บางคนจะปฏิเสธความจริงที่ว่าพ่อหรือแม่ที่รักของเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว หรือเด็กโตบางคนจะไม่ยอมรับว่าตนมีผลการเรียนที่ไม่ดี แม้จะสอบตกถึง 4 วิชาก็ตาม การปฏิเสธความจริงเป็นเหมือนหมอนกันความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เพื่อให้เรามีเวลาในการปรับตัวเพื่อยอมรับความจริงในที่สุด แต่คนที่ใช้กลไกการป้องกันตนเองด้วยการปฏิเสธความจริงอย่างพร่ำเพรื่อ ก็จะกลายเป็นที่คนที่หลอกตนเองและไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องได้

 

5. การชดเชย หรือ Compensation

 

เป็นวิธีการที่เราใช้เพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดตกบกพร่องของตนเอง เช่น คนที่เล่นกีฬาไม่เก่งก็อาจจะชดเชยด้วยการทำกิจกรรมด้านศิลปะหรือการแสดง หรือคนที่หน้าตาไม่สวยก็อาจจะชดเชยด้วยการแต่งตัวอย่างพิถีพิถัน มีพ่อแม่หลายคนได้ใช้กลไกการป้องกันตนเองวิธีนี้เพื่อตอบสนองความใฝ่ฝันหรือความทะเยอทะยานในวัยเด็กของตนเอง เช่น แม่ที่มีชีวิตขัดสนในวัยเด็กก็จะชดเชยความขาดแคลนของตนด้วยการซื้อข้าวของต่าง ๆ ให้กับลูกมากจนเกินจำเป็น หรือพ่อที่ขาดโอกาสในการศึกษาในระดับสูงก็จะพยายามส่งเสริมให้ลูกได้เรียนจนถึงระดับสูงสุด จะเห็นได้ว่าแม้การชดเชยจะมีประโยชน์อยู่บ้างที่สามารถตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ได้ แต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการนั้นอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของลูกเสมอไป การที่พ่อแม่เข้าไปบงการชีวิตของลูกมากเกินไป แม้ว่าจะมีความตั้งใจที่ดีเพียงใด ก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีแก่ลูกได้

 

6. การถดถอยกลับไปสู่วัยที่เล็กกว่า หรือ Regression

 

วิธีนี้จะพบได้บ่อยมากในกรณีที่เด็กมีน้องใหม่ คุณพ่อคุณแม่จะพบพฤติกรรมที่ถดถอยกลับไปสู่วัยที่เล็กกว่าในลูกที่เป็นพี่ เช่นเด็กที่เลิกใส่ผ้าอ้อมแล้วจะกลับปัสสาวะรดกางเกงอีก เคยดื่มนมจากถ้วยได้แล้วก็ขอกลับมาดูดนมจากขวดอีก หรือเคยเดินได้แล้วแต่กลับไปคลานอีกเป็นต้น พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เด็กทำไปพราะรู้สึกอิจฉาน้องและต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ ส่วนในคนที่โตแล้วแต่ชอบแสดงพฤติกรรมแบบเด็กโดยการแสดงว่าเป็นคนที่ช่วยตนเองไม่ได้ ตัดสินใจเองไม่ได้ ไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนคอยปกป้องดูแลอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นการใช้กลไกการป้องกันตนเองแบบหนึ่งเพื่อลดความรู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิตของตนเองลง

 

7. การแสดงปฏิกิริยาตรงกันข้าม หรือ Reaction Formation

 

วิธีนี้จะถูกใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ความปรารถนาที่ไม่เป็นที่ยอมรับได้ถูกแสดงออกโดยการแสดงปฏิกิริยาที่ตรงกันข้าม เช่น เด็กวัยรุ่นที่รู้สึกว่าตนต้องพึ่งพาพ่อแม่จะแสดงปฏิกิริยาก้าวร้าว โต้เถียงหรือขัดแย้งกับพ่อแม่โดยเฉพาะเวลาที่มีเพื่อนอยู่ด้วย หรือชายหนุ่มที่แอบรักหญิงสาวแต่ไม่มั่นใจว่าจะได้รับความรักตอบก็จะแสดงทีท่าที่ตรงกันข้ามกับความรักด้วยการว่ากล่าวติเตียนหรือพูดยั่วให้อีกฝ่ายหนึ่งโกรธ เพื่อกลบเกลื่อนหรือปิดปังความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง

 

8. การหลีกหนีและการถอนตัว หรือ Escape and withdrawal

 

เป็นกลไกการป้องกันตนเองที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถหลีกหนีจากสภาพการณ์ที่คุกคามหรือไม่เป็นที่พึงปรารถนาได้ชั่วขณะ ยกตัวอย่างเช่น การที่ลูกน้องผลัดวันประกันพรุ่งที่จะไปรายงานกับเจ้านายถึงความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานของตน หรือการที่ลูกเขยขอเลื่อนวันนัดไปกินข้าวกับแม่ยายออกไปโดยไม่มีกำหนด เป็นต้น

 

9.การทดเทิด หรือ Sublimation

 

เป็นกลไกการป้องกันตนเองซึ่งเบี่ยงเบนแรงจูงใจที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไปสู่การมีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ เช่น ผู้ที่มีความก้าวร้าวสูงก็จะหาทางออกโดยการมีอาชีพเป็นนักมวยซึ่งอนุญาตให้แสดงความก้าวร้าวต่อคู่ต่อสู้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หรือผู้ที่มีแรงจูงใจทางเพศสูงก็จะแสดงออกโดยการแต่งบทประพันธ์ ดนตรี หรือการสร้างสรรค์งานศิลปะ เป็นต้น จะเห็นได้ว่ากลไกการป้องกันตนเองวิธีนี้จะมีประโยชน์มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเลือกวิธีแสดงออกอย่างเหมาะสมซึ่งการแนะนำจากบุคคลใกล้ชิดที่มีความเข้าใจก็จะสามารถทำให้ดึงพลังที่มีอยู่ออกมาใช้ในทางที่สร้างสรรค์ได้

 

10. การไถ่โทษ หรือ Undoing

 

เป็นวิธีที่เราใช้เมื่อเรารู้สึกว่าได้ทำผิดต่อใครบางคน และหาทางทำดีเพื่อไถ่โทษ เช่น เมื่อเราผิดนัดกับเพื่อนก็รีบขอโทษด้วยการส่งช่อดอกไม้ไปให้ หรือสามีที่ออกไปรับประทานอาหารกลางวันกับหญิงอื่นสองต่อสองรู้สึกว่าได้ทำผิดต่อภรรยาก็จะเอาอกเอาใจภรรยาเป็นพิเศษ เพื่อทำให้ความรู้สึกผิดของตนลดลง เป็นต้น

 

 

กลไกการป้องกันตนเองที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นวิธีการที่ใช้เพื่อบรรเทาความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเท่านั้น แต่ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่สาเหตุได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้อย่างพร่ำเพรื่อ

 

 


จาก บทสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ – Cyberbullying

 

 

 

การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เป็นพฤติกรรมการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการคุกคาม ล่อลวง และรังแกผู้อื่นโดยเจตนา โดยมีการกระทำซ้ำ ๆ และผู้ถูกกระทำไม่สามารถแก้ตัวหรือปกป้องได้ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมักสื่อสารด้วยความรุนแรงหรือก้าวร้าว โดยตั้งใจที่จะทำร้ายหรือสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้อื่น

 

ช่องทางการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์สามารถเกิดขึ้นได้จาก 7 ช่องทางดังนี้

  • instant message,
  • email,
  • SMS,
  • social media,
  • chat room,
  • blog,
  • internet gaming

 

งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า Cyberbullying โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงมัธยมต้นซึ่งเป็นช่วงวัยรุ่น และมีวัยรุ่นประมาณร้อยละ 20-40 เคยเป็นเหยื่อการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เด็กที่ถูกข่มเหงรังแกมักมีปัญหาความวิตกกังวล ซึมเศร้า ความเหงา การไร้ความสุข และมีปัญหาด้านการนอน
การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์เป็นการข่มเหงที่ไม่ค่อยมีผู้สังเกตเห็น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กต่างเก็บซ่อนการข่มเหงรังแกจากคนที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ เช่น ผู้ปกครอง เพราะมองว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้พวกเขาได้ และยังอาจถูกระงับการใช้งานโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต

 

ด้วยเหตุนี้ การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ทำให้เด็กเหล่านี้ค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างช้า ๆ พวกเขากลายเป็นคนเงียบ ๆ เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่เข้าสังคมเหมือนก่อน แต่ไม่มีใครสังเกตเห็นเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ยากหากไม่ได้รับการใส่ใจเพียงพอ

 

 

แรงจูงใจในการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


 

ผู้รังแกมีแรงจูงใจในการก่อการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์โดยส่วนใหญ่เกิดจากความสะดวกและรวดเร็วในการข่มเหงรังแก ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านความมีอำนาจ ศักดิ์ศรี การได้แสดงออกถึงความก้าวร้าว การแก้แค้น ความอิจฉา การได้รับความสนใจ ดูเจ๋ง ดูแข็งกร้าว เป็นที่เกรงกลัวจากผู้จนโดยทั้งหมดนี้สามารถทำได้สำเร็จและไม่ค่อยถูกจับได้

 

นอกจากนี้ แรงจูงใจอื่นๆ อาจประกอบไปด้วย ความสนุกสนาน และการกระทำเพื่อลดความเบื่อหน่าย ทำเพื่อความรู้สึกตลกขบขัน โด่งดัง และมีอำนาจ หรือทำเพียงเพราะรู้สึกดีเฉย ๆ

 

มีงานวิจัยในนักเรียนมัธยมปลาย พบว่า การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์มักเกิดจากแรงจูงใจภายใน (เช่น เพื่อความสนุกส่วนตน) มากกว่าเป็นแรงจูงใจภายนอก เพราะการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ผู้รังแกมักไม่ได้รับผลกระทบอะไร เช่น ไม่ต้องเผชิญหน้ากับเหยื่อ นอกจากนี้ยังพบว่า วัยรุ่นตอนปลายมักใช้การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ให้ไปในทางที่ตนต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความสัมพันธ์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับความนิยม การมีชื่อเสียง และเรื่องทางเพศ

 

มีงานวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เคยมีประสบการณ์ในการเป็นผู้ถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อมาก่อน บางงานพบว่าการแก้แค้นหรือการเอาคืนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ทวีความรุนแรง

 

 

รูปแบบการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


(Willard, 2007; Kowalski et al., 2014)

 

  1. การปะทะคารม (Flaming) คือ การโต้เถียงไปมาระหว่างบุคคล จนก่อเกิดความรุนแรง มีการใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าว และมีการดูถูกเหยียดหยาม มักเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ (เช่น ตามกระทู้บอร์ดสนทนา) มากกว่าพื้นที่ส่วนตัว (เช่น อีเมล)
  2. การก่อกวน (Harassment) คือ การใช้ถ้อยคำหรือการกระทำใดๆ ที่สร้างความรำคาญใจและความทุกข์ใจต่อบุคคลหนึ่งโดยเจตนา โดยกระทำซ้ำๆ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ช่องสนทนาทาง Facebook
  3. การใส่ร้ายป้ายสี (Denigration) คือ การส่งต่อข้อมูลของบุคคลที่ไม่เป็นความจริง ผู้ส่งอาจนำข้อมูลไปเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะตามเว็บไซต์ต่างๆ รวมไปถึงพื้นที่ส่วนตัว
  4. การปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น (Impersonation) คือ การแอบอ้างเป็นบุคคลหนึ่งและกระทำสิ่งที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับบุคคลนั้น เช่น ใช้ถ้อยคำหยาบคายด่าว่ากล่าวผู้อื่น เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมให้กับผู้อื่น ข่มเหงรังแกบุคคลอื่น เป็นต้น การปลอมตัวเป็นบุคคลอื่นสามารถทำโดยการสร้างตัวตนเลี่ยนแบบบุคคลนั้นขึ้นมาใหม่ หรือขโมยรหัสผ่านของบุคคลนั้นเพื่อใช้ตัวตนบนโลกออนไลน์ของบุคคลนั้นทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม
  5. การเผยแพร่รูปภาพหรือข้อมูลส่วนตัว (Outing and trickery) คือ การเผยแพร่รูปภาพหรือข้อมูลส่วนตัวที่โดยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ก่อให้เกิดความอับอายของบุคคลหนึ่งแก่ผู้อื่น
  6. การขับออกจากกลุ่มหรือการคว่ำบาตร (Exclusion / ostracism) คือ การขับบุคคลหนึ่งออกจากกลุ่มในโลกออนไลน์ เช่น การไม่ตอบสนองข้อความใดๆ ก็ตามที่บุคคลส่ง หรือลบบุคคลออกจากกลุ่มใน Facebook หรือ Line และกีดกันไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม หรือการพูดคุยต่าง ๆ ในโลกออนไลน์
  7. การเฝ้าติดตามทางอินเทอร์เน็ต (Cyberstalking) คือ การกระทำที่มุ่งร้าย ก่อกวน สร้างความรำคาญให้กับบุคคลหนึ่งอย่างมาก ผ่านทางไซเบอร์ทั้งทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต จนทำให้เหยื่อรู้สึกกลัวว่าจะถูกทำร้ายหรือถูกทำอะไรที่ผิดกฎหมายทั้งต่อตัวเองและครอบครัว
  8. การถ่ายคลิปวิดีโอและนำไปเผยแพร่ลงบนอินเทอร์เน็ต (Video recording of assaults) คือ การนำคลิปวิดีโอไปเผยแพร่ตามที่ต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความอับอายให้บุคคลนั้น
  9. การส่งสิ่งที่มีความล่อแหลมทางเพศ (Sexting) คือ การส่งข้อความ รูปเปลือยหรือรูปกึ่งเปลือยที่มีความล่อแหลมทางเพศให้กับผู้อื่น

 

 

การข่มเหงรังแกแบบดั้งเดิม Vs การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


 

 

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


 

  • ผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจ

เหยื่อมักประสบปัญหาเรื่องความวิตกกังวลในการเข้าสังคม ซึ่งมีผลจากความหวาดระแวงที่ไม่รู้ว่าใครคือผู้ก่อการข่มเหงรังแก และมีใครบ้างมีพบเห็นหลักฐานการรังแกบนอินเทอร์เน็ต เช่น รูปตัดต่อที่สร้างความอับอาย เหยื่อจะเกิดความโกรธ ความหงุดหงิด ความเศร้า ไร้พลังอำนาจ เนื่องจากรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดหรือยุติการข่มเหงรังแกได้ เห็นคุณค่าในตนเองลดลงจากความรู้สึกอับอายหรือการถูกเกลียดชัง ส่งผลให้เกิดความกลัว ความสิ้นหวัง และเกิดภาวะซึมเศร้าได้

 

  • ผลกระทบทางพฤติกรรม

การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ส่งผลให้เหยื่อขาดความสามารถในการจดจ่อหรือตั้งสมาธิ เพราะมีความหมกมุ่นและวิตกกังวลกับการถูกรังแก จนอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน หรืออาจรู้สึกอับอายหวาดกลัวจนไม่กล้ามาโรงเรียน ส่งผลต่ออัตราการใช้ยาเสพติด การโกงข้อสอบ เพิ่มอัตราการเข้าสถานพินิจ การถูกพักการเรียน และการพกอาวุธเข้ามาในโรงเรียน และมีความคิดหรือพฤติกรรมเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในที่สุด

 

 

ลักษณะของเหยื่อที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


 

  1. บุคคลที่ปรับตัวเข้ากับคนอื่นไม่ได้ โดยเด็กที่มีความพยายามอย่างมากในการปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มเพื่อน ๆ ทางช่องทางสื่อสารในอินเทอร์เน็ตมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกข่มเหงรังแก
  2. บุคคลที่ชอบเล่นในเครือข่ายสังคมสังคมออนไลน์ นักเรียนที่เล่นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ 40% ขณะที่นักเรียนที่ไม่ได้เล่นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ 20% นอกจากนี้ วัยรุ่นที่ใช้ระบบการส่งข้อมูลทันทีหรือช่องสนทนาทางอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ซ้ำ ๆ มากกว่าบุคคลที่ไม่ใช้
  3. กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน อาทิ ชายรักชาย หญิงรักหญิง และ Bisexual มีแนวโน้มที่จะเป็นเป้าหมายของการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์เช่นเดียวกับการข่มเหงรังแกแบบดั้งเดิม มีงานวิจัยพบว่าคนกลุ่มนี้จะต้องเผชิญกับการเฝ้าติดตามทางอินเทอร์เน็ตและการส่งข้อความข่มขู่คุกคามจากคนแปลกหน้า

 

 

แนวทางการช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์


 

  1. การให้ความช่วยเหลือผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยการให้ความรู้ และข้อมูลต่าง ๆ ในการจัดการและรับมือเมื่อถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
  2. การให้ความช่วยเหลือผ่านทางโรงเรียน มีการสร้างนโยบายสำหรับการรับมือ มีการวางระบบการรายงานเมื่อเกิดเหตุ ออกแบบโปรแกรมที่สอนนักเรียนเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย สอนวิธีการหลีกเลี่ยงและการใช้เทคโนโลยีเป็นแนวทางในการป้องกันและลดแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
  3. การให้ความช่วยเหลือผ่านทางคุณครูและนักจิตวิทยาในโรงเรียน ครูต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับการข่มเหงรังแกและการช่วยเหลือนักเรียนในห้องเรียน ส่วนนักจิตวิทยาโรงเรียนอาจมีการจัดกิจกรรมหรือการอบรมให้เด็กนักเรียนทั้งตัวเหยื่อและผู้ก่อการข่มเหงรังแก และสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาดังกล่าวต่อตัวเด็กและผู้ปกครอง
  4. การให้ความช่วยเหลือผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เช่น www.isafe.org http://www.sticksnstones.co.nz/ http://www.childnet.com/resources/lets-fight-it-together ซึ่งประกอบด้วยวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ และมีชุดบทเรียนที่ช่วยให้นักเรียนได้อภิปรายร่วมกัน
  5. การให้ความช่วยเหลือผ่านนักจิตวิทยาการปรึกษา สำหรับเหยื่อ นักจิตวิทยาการปรึกษาจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับความชอกช้ำทางจิตใจและการฟื้นฟูทางจิตใจ สำหรับผู้ก่อการข่มเหงรังแก นักจิตวิทยาการปรึกษาจะมุ่งเน้นให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจากการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ จากนั้นจึงมุ่งเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเองและทักษะการเข้าสังคม รวมถึงทักษะการควบคุมอารมณ์ การจัดการอารมณ์โกรธ และวิธีการแสดงความรู้สึกที่เหมาะสม

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์” โดย พิมพ์พลอย รุ่งแสง (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58264

 

“อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018

 

 

จิตวิทยาไม่ใช่การอ่านใจ

 

ช่วงก่อนหน้านี้ หนังสือบนชั้นในร้านหนังสือจำนวนมากที่ถูกจัดให้อยู่ในหมวด “จิตวิทยา” มีชื่อเรื่องเกี่ยวกับการอ่านใจ (Mind reading) เพื่อระบุว่าใครเป็นอย่างไร ภายในการมองเพียงปราดเดียว หรือการฟังคำพูดเพียงไม่กี่คำ

 

เมื่อเข้าไปพิจารณาใกล้ ๆ บางเล่มเป็นหนังสือแปลที่ชื่อภาษาอังกฤษเป็นชื่ออื่น แต่เมื่อมาแปลงเป็นชื่อไทย ก็เติมคำว่า “อ่านใจ” “หยั่งรู้ใจคน” เอาไว้ข้างหน้า ประหนึ่งเพื่อใช้เป็นการดึงดูดความสนใจ และสื่อสารอย่างง่ายว่าฉันคือหนังสือจิตวิทยา

 

นั่นอาจสะท้อนมุมมองต่อความเข้าใจของคนในสังคมไทยว่าจิตวิทยาคืออะไร

 

แล้วจริง ๆ นักจิตวิทยาอ่านใจคนได้จริงหรือไม่?

 

ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราลองมาดูนิยามของคำว่าจิตวิทยากันก่อนนะคะ

 

จิตวิทยา คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางจิตของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ข้อความรู้หรือทฤษฎีต่าง ๆ ทางจิตวิทยาล้วนแล้วแต่ได้มาผ่านการศึกษาวิจัย สำรวจและทดลอง ด้วยวิธีการเดียวกันกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ ตั้งแต่การสังเกตปรากฏการณ์ ตั้งสมมติฐาน เก็บข้อมูล วิเคราะห์ด้วยสถิติ ไปจนถึงการอภิปรายผลโดยไม่มองข้ามความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้น และต้องระบุถึงข้อจำกัด ข้อยกเว้น และขอบเขตของการศึกษาว่าครอบคลุมถึงบริบทใด

 

ดังนั้นผู้ที่ศึกษาจิตวิทยาไปเรื่อย ๆ จะถูกฝึกให้มีทฤษฎีตั้งไว้ในใจ แต่ไม่ตัดสินอะไรด้วยข้อมูลผิวเผิน เช่น เอาการกระทำของคนไม่กี่คนเป็นตัวแทนประชากรทั้งหมด หรือใช้ข้อมูลที่ผ่านการตีความด้วยประสบการณ์และเจตคติส่วนตัวของบุคคล อันส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่มี bias หรือความลำเอียง

 

เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ยอมรับได้ นักจิตวิทยาต้องรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดและวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง โดยตระหนักถึงข้อจำกัดที่มีและความเป็นไปได้อื่น ๆ

 

กระบวนการเหล่านี้ย่อมใช้เวลา ดังนั้นหากการอ่านใจหมายถึง การพบเห็นคนแปลกหน้าไม่เกิน 5 นาที แล้วตัดสินจากสีหน้า ท่าทาง บุคลิก คำพูด ในช่วง 5 นาทีนั้น แล้วระบุว่าเขาเป็นคนอย่างไร มีนิสัยแบบไหน คิดอะไรอยู่ โกหกหรือไม่ การอ่านใจในความหมายนี้ไม่ใช่สิ่งที่นักจิตวิทยาทำได้

 

เช่นนั้นแล้วมีอะไรที่นักจิตวิทยาทำได้บ้าง เรียนตั้งมากจะไม่มีชุดความรู้ใดที่เอามาใช้งานในช่วงเวลาจำกัดได้เลยหรือ

 

มนุษย์เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนสูง แม้แต่ให้เราอธิบายตนเองหลายคนก็ยังใช้เวลานาน เราล้วนมีด้านมุมที่แตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ ช่วงเวลา และบริบทแวดล้อม ฉะนั้นในชั่วเวลาพริบตา การจะระบุว่า “ใครเป็นอย่างไร” นั้นไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทำได้ แต่การ “อ่านสถานการณ์” และ “อ่านอารมณ์” เป็นสิ่งที่เราพอจะทำได้ ไม่ใช่แค่นักจิตวิทยาอาชีพ นักจิตวิทยาสมัครเล่นและผู้ที่สนใจก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

มีงานวิจัยทางจิตวิทยาที่เสนอว่า ในเวลาเสี้ยววินาทีเราสามารถระบุอารมณ์ของคนจากการแสดงออกทางสีหน้าได้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไรในอารมณ์พื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ดีใจ ตื่นเต้น กลัว โกรธ รังเกียจ พอใจ ไม่พอใจ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสื่อสารกันของมนุษย์ และนอกจากสีหน้าแล้ว น้ำเสียง ท่าทาง และระยะห่าง ก็เป็นสิ่งที่คนเราสามารถตรวจจับได้เช่นกัน และมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าอวัจนภาษาทั้งหลายเหล่านี้สามารถเชื่อถือได้มากกว่าวัจนภาษา

 

อย่างไรก็ดี มีการศึกษามากมายที่พบว่า การระบุอารมณ์จากสีหน้าของคนไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ หากมีความคลาดเคลื่อนตามความแตกต่างทางภูมิหลังหรือวัฒนธรรมได้ และบ่อยครั้งคนเราก็อ่านอารมณ์ที่ซับซ้อนออกมาได้แตกต่างกัน เช่น ความสำนึกผิด กับ ความกลัวแต่ไม่ได้สำนึกผิด นอกจากนี้ หลายครั้งเราไม่สามารถระบุถึงเจตนาเบื้องหลังของการแสดงออกได้อย่างแม่นยำ เช่น ระดับของการประชดประชัน เสียดสี ล้อเล่น (โดยเฉพาะกับคนต่างวัฒนธรรม) รวมถึงการโกหก

 

ท่ามกลางบทวิเคราะห์และหนังสือจำนวนมากที่พยายามระบุ “วิธีจับโกหก” อย่างง่าย ว่าผู้ที่โกหกจะมีลักษณะอย่างไร เหลือบตามองทางใด ขยับแขนขยับขาอย่างไร พูดช้าหรือเร็ว นิ่งหรือลุกลี้ลุกลน งานวิจัยที่ทำโดยนักจิตวิทยา นักอาชญวิทยา ตลอดจนการถอดประสบการณ์ของนักปฏิบัติอย่าง FBI และ CIA ต่างก็ระบุว่าพฤติกรรมการโกหกมีการแสดงออกที่ซับซ้อนและแตกต่างหลากหลายไปตามเงื่อนไขที่ต่างกัน และไม่สามารถตัดสินได้โดยไม่มีพฤติกรรมปกติมาเปรียบเทียบ นักวิชาการและนักวิชาชีพจึงต้องวิเคราะห์และตัดสินอย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

นักจิตวิทยาถูกสอนและถูกฝึกให้สังเกต รับฟังอย่างตั้งใจ ชะลอการตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่พยายามหาทางลัดให้ได้คำตอบที่เร็วที่สุดเพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที เพราะแบบนั้น แม้แต่นักจิตวิทยาเองก็ไม่ได้จะสามารถฝืนธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ได้ตลอดเวลาในการมองสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ นอกจากนี้ ความรู้ใหม่ ๆ จากการศึกษาใหม่ ๆ ก็เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน บ้างก็มาต่อยอด เสริมรายละเอียดที่เรายังไม่รู้ บ้างก็มาล้มทฤษฎีหักล้างข้อค้นพบที่เคยเรียนกันมา สิ่งที่นักจิตวิทยาจำต้องมีจึงเป็นการเท่าทันตัวเองให้เก่ง ๆ ว่ากำลังด่วนตัดสินอะไรด้วยอคติอยู่หรือไม่ และชุดความรู้ที่มี outdate ไปแล้วหรือยัง

 

นักจิตวิทยาอาจจะไม่ได้อ่านใจคนได้ (mind reading) หรือทำนายนิสัยคนได้ด้วยระยะเวลาสั้น ๆ แบบในหนังในละคร แต่นักจิตวิทยาก็สามารถอธิบายได้ว่าพฤติกรรมนี้ของคนสามารถมาจากสาเหตุใดได้บ้าง บุคลิกภาพใดและพฤติกรรมใดจะนำไปสู่ผลลัพธ์แบบใด หากต้องการให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้จะต้องไปสร้างหรือไปปรับที่กลไกใด

 

อย่างเช่น

 

  • นักจิตวิทยาการปรึกษา สามารถประเมินจากสีหน้าท่าทางและคำพูดของผู้รับบริการได้ว่าเกิดความวิตกกังวลหรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยในระหว่างการให้คำปรึกษาหรือไม่ และมีวิธีจัดการกับภาวะเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง
  • นักจิตวิทยาพัฒนาการ ตอบได้ว่าเด็กที่มาเข้ารับการประเมิน มีพัฒนาการเป็นไปตามวัยหรือไม่ และหากล่าช้ากว่าวัยควรได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างไร
  • นักจิตวิทยาสังคม ทราบว่าพฤติกรรมแบบใดบ้างที่สะท้อนถึงการรังเกียจกลุ่ม หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ และจะมีวิธีปรับเจตคติและสร้างระบบหรือกลไกที่ลดการเลือกปฏิบัติได้อย่างไร
  • นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การ ทราบว่ามีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้พนักงาน burnout หรือมีผลการปฏิบัติงานที่ไม่ดี และจะให้องค์กรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างไรจึงจะได้ผล
  • นักจิตวิทยาปริชาน ค้นคว้ากระบวนการจำและการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ และสามารถสร้างโปรแกรมการพัฒนาศักยภาพของสมองหรือชะลอการเสื่อมของสมองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ได้

 

เป็นต้น

 

ยกตัวอย่างยาวสักนิดเพื่อให้เห็นภาพว่านักจิตวิทยาศึกษาอะไร มีชุดความรู้แบบใด และมีบทบาทอย่างไรในสังคมบ้าง เพราะการอ่านใจ อ่านอารมณ์ หรืออ่านสถานการณ์ เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของการศึกษาวิจัยด้านจิตวิทยาทั้งหมด ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะพอทำให้ผู้ที่สนใจเห็นภาพของนักจิตวิทยาได้ตรงกับความเป็นจริง และเห็นความหลากหลายขอบเขตการศึกษาในศาสตร์จิตวิทยามากขึ้น

 

 

สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่มีการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (lifelong learning) และการศึกษาไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในห้องเรียน จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่น่ารู้ศาสตร์หนึ่งที่ผู้เขียนรับประกันได้ว่าสามารถนำข้อความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานของทุก ๆ คน หากท่านพบเจอแหล่งการศึกษาที่ท่านเชื่อถือได้ มีหัวข้อที่ตรงกับความสนใจของท่าน การพัฒนาตนเองด้วย soft skill ด้วยศาสตร์ทางจิตวิทยาจะคุ้มค่ากับเวลาที่ท่านใช้ไปในการศึกษาอย่างแน่นอน และคนที่ท่านจะสามารถอ่านใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง (มากขึ้น) คนแรกจะเป็นตัวท่านเอง เมื่อท่านเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง ก็จะช่วยให้ท่านเข้าใจผู้อ่านได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นนั่นเอง

 

 


 

อ้างอิง

 

นักจิตวิทยาสามารถอ่านใจคนได้หรือไม่ (Psychologist is a Mind Reader?)
https://www.psychola.net/applied/-psychologist-is-a-mind-reader

 

How We Read Emotions from Faces
https://kids.frontiersin.org/articles/10.3389/frym.2017.00011

 

จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/psy-talk-2022-forensic-psy

 

ก่อนจะตัดสินใครว่านิสัยแย่ (สมองของคนเราชอบหาทางลัด)
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/attribution-error

 

 

ถ้าไม่ได้อยู่ที่จุดนั้นก็คงไม่มีวันที่จะเข้าใจกันได้ hot-cold empathy gap ช่องว่างระหว่างสภาวะที่เราเป็น

 

หลาย ๆ ครั้งเราคงอดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นตัวเราเอง เพื่อนเราหรือคนอื่น ที่มีพฤติกรรมที่เราต้องถามว่า “ทำไปได้อย่างไร” ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งเราสั่งอาหารมาจำนวนมากเวลาที่เราหิวเพราะอยากกินไปหมด พอกินไปได้สักพักเราต้องมานั่งมองว่าจะกินหมดนี่ได้อย่างไร หรือบางครั้งเราก็ซื้อเสื้อผ้ามาทั้ง ๆ ที่ชุดที่มีอยู่ในตู้ยังใส่ไม่หมดด้วยซ้ำ เผลอ ๆ ซื้อมาจะไม่มีที่เก็บซะด้วยสิ และเรื่องเหล่านี้ก็มักจะเกิดซ้ำ ๆ กับเราอยู่ตลอด

 

นั่นเป็นเพราะว่าเราประเมินอิทธิพลของแรงกระตุ้นภายใน (visceral drives) ของเราต่ำเกินไปหรือเราปล่อยให้ตัวเองถูกแรงกระตุ้นนี้เข้าไปอยู่พาเราเข้าไปอยู่ในสภาวะ (state) นั้น โดยที่เมื่อเรารู้สึก “หิว” มากนั่นเองจึงสั่งอาหารมาเกินกว่าปกติหรือกินแบบไม่ยั้งแล้วมารู้สึกผิดทีหลัง หรือกำลังเห็นโฆษณาชุดสวย มีโปรโมชั่นดี ของมีจำกัด และกลัวคนอื่นจะมาแย่งเราซื้อเลยตัดสินใจซื้อมาโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้ใส่หรือเปล่า

 

สิ่งเรานี้เกิดขึ้นเพราะว่าช่วงเวลาที่เราตัดสินใจนั้นอยู่ในสภาวะที่มีความอยาก (Hot State) ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อเราหลุดพ้นจากแรงกระตุ้นแล้วกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ (Cold State) เราก็อดหงุดหงิดตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ที่สำคัญคือเมื่อเราอยู่ในช่วง Cold State นั้นเราก็คงไม่สามารถประเมินได้หรอกว่าเวลาที่เราอยู่ในช่วง Hot State เราจะมีพฤติกรรมหรือการตัดสินใจอย่างไร สิ่งนี้คือ hot-cold empathy gap นั่นเอง

 

อธิบาย hot-cold empathy gap ง่าย ๆ ก็คือ มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจินตนาการได้ว่าเมื่อเราอยู่ในอีกสภาวะนึง เราจะตัดสินใจหรือมีพฤติกรรมอย่างไร เพราะการตัดสินใจทำอะไรหรือมีพฤติกรรมอะไรของเรานั้นขึ้นอยู่กับสภาวะที่เราเป็นอยู่นั่นเอง (แต่บางคนอาจเจอสิ่งที่ตัวเองเป็นบ่อยจนเริ่มควบคุมตัวเองไม่ให้ไปอยู่ในสภาวะ Hot State หรือเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็นในสภาวะ Hot State ได้บ้าง)

 

 

George Loewenstein และ Dan Ariely ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ hot-cold empathy gap เกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมทางเพศ โดยให้อาสาสมัครชาย 35 คน อายุ 18 – 21 ปี ตอบคำถามเกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมทางเพศหลายข้อในช่วงที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ (Cold State) และตอบคำถามเดิมอีกครั้งในช่วงที่มีความตื่นตัวทางเพศมาก (Hot State) นั่นคือช่วงที่กำลังช่วยตัวเองอยู่นั่นเอง โดยตอบผ่านแลปท็อปทั้งสองครั้งโดยให้คะแนนจาก 0 -100 ตัวอย่างของคำถาม (จริงถามหลายข้อแต่ขอยกตัวอย่างมาแค่นี้นะครับ) เช่น

 

คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอายุ 60 ไหม
คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม
หากคู่ของคุณชวนมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนกับผู้ชายอีกคนคุณจะยอมไหม

 

ในช่วง Cold State ได้คำตอบว่า

 

คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอายุ 60 ไหม “ตอบว่าได้ 7 %”
คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม “ตอบว่าได้ 53%”
หากคู่ของคุณชวนมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนกับผู้ชายอีกคนคุณจะยอมไหม “ตอบว่าได้ 19%”

 

ในช่วง Hot State ได้คำตอบว่า

 

คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอายุ 60 ไหม “ตอบว่าได้ 23 %”
คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม “ตอบว่าได้ 77%”
หากคู่ของคุณชวนมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนกับผู้ชายอีกคนคุณจะยอมไหม “ตอบว่าได้ 34%”

 

การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าเวลาที่เราอยู่ในภาวะ Hot State นั้น เรามีความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรมที่ต่างจากช่วง Cold State ไม่น้อยเลย

 

 

ความเข้าใจเรื่อง hot-cold empathy gap นี้ยังช่วยให้เราเข้าใจคนที่อยู่ในสภาวะที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติทั่วไปเช่น หิว เหงา กลัว หรือเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เราเข้าใจอีกว่าทำไมหลายครั้งที่เราวางแผนจะทำอะไรไว้เช่นแผนการควบคุมการกินอาหารเพื่อสุขภาพ แผนการนั้นถึงล้มไม่เป็นท่า เพราะเราวางแผนในช่วง Cold State ไม่ได้รู้สึกหิวอะไรหรือนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอยากกินอะไร แต่เมื่อเราเองไปอยู่ในช่วง Hot State การตัดสินใจเลือกกินอาหารถึงไปคนละทางกับที่วางแผนไว้

 

ความเข้าใจในเรื่องนี้ยังนำไปสู่การปรับปรุงหรือพัฒนาโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพต่างที่ช่วยในการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น หรือตัวโปรแกรมเองก็จะออกแบบให้ป้องกันผู้เข้าร่วมไปถึงสภาวะ Hot State เช่น การปรับลดอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงมี Cheat Period บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ไปถึง Hot State แล้วทำให้แผนที่วางไว้พังหมดจนเสียกำลังใจและเลิกล้มไปในที่สุด

 

 

 

อ้างอิง

 

Ariely, D., & Loewenstein, G. (2006). The heat of the moment: The effect of sexual arousal on sexual decision making. Journal of Behavioral Decision Making, 19(2), 87-98.

Loewenstein, G. (2005). Hot-cold empathy gaps and medical decision-making. Health Psychology, 24(Suppl. 4), S49-S56.

 

 


 

 

 

บทความโดย

คุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย

ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

Leader humility – ความถ่อมตนของผู้นำ

 

 

 

ความถ่อมตน (humility) ถูกรวมเป็นหนึ่งในคุณธรรมหลักขององค์การ ซึ่งเป็นรากฐานทางศีลธรรมขององค์การในสภาพแวดล้อมที่มีพลวัตและความเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น

 

มีนักทฤษฎีที่ให้ความเห็นว่าความถ่อมตนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาพแวดล้อมที่คาดเดาไม่ได้และเต็มไปด้วยความไม่รู้ ความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ผู้นำในศตวรรษที่ 21 ต้องมีความถ่อมตนมากขึ้นและลดความโอหังให้น้อยลง

 

 

Owens และคณะ (2012) อธิบายความถ่อมตนของผู้นำว่าเป็นพฤติกรรมที่


 

 

1. ผู้นำยอมรับข้อบกพร่องและข้อจำกัดของตนเอง

 

การยอมรับข้อบกพร่องและข้อจำกัดของตนเองแสดงถึงความต้องการของผู้นำที่ต้องการตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างถูกต้อง (accurate self-awareness) ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การตระหนักรู้นี้ทำให้เขารับรู้เกี่ยวกับทรัพยากรภายในตนเองอย่างถูกต้อง เช่น ความสามารถและข้อจำกัดที่แท้จริงของตนเอง

 

การยอมรับข้อผิดพลาดและการมองหาคำติชมอย่างตรงไหนตรงมาและเป็นจริงเกี่ยวกับตนเอง มีแนวโน้มจะช่วยลดการเกิดความเชื่อมั่นในตนเองที่มากเกินไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สร้างภัยอันตรายให้แก่องค์การ โดยเฉพาะเมื่อผู้นำระดับสูงขององค์การมีคุณลักษณะนี้ เพราะความสั่นใจที่มากเกินไปเป็นต้นเหตุของปัญหาต่าง ๆ เช่น การตัดสินใจที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงความประมาทหรือชะล่าใจจากการมีความพึงพอใจในตนอย่างไม่สมเหตุสมผล

 

นอกจากนี้การมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตนเองจะยังช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจในทีม

 

 

2. ผู้นำชื่นชมในผลงาน การมีส่วนร่วม และคุณค่าของผู้ตาม

 

การชื่นชมในผลงาน การมีส่วนร่วมและคุณค่าของผู้ตาม เป็นพฤติกรรมที่มาจากความถ่อมตน ที่ช่วยให้บุคคลไม่ตอบสนองเชิงเปรียบเทียบ-แข่งขัน (comparative-competitive response) เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น เมื่อทำงานกับลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานที่เก่ง เขาจะไม่รู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามโดยความสามารถของผู้อื่น แต่กลับจะชื่นชมจุดแข็งและการมีส่วนร่วมของผู้อื่นอย่างแท้จริงโดยไม่รู้สึกว่าตนเองด้อยค่าไปกว่าเขา และก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีความถ่อมตนจะลืมจุดอ่อนและจุดด้อยของผู้อื่น แต่พวกเขาจะสามารถระบุและความสำคัญกับความสามารถและจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้อื่นได้ดีขึ้น คนที่ถ่อมตนมีแนวโน้มทีจะมีมุมมองต่อผู้อื่นผ่านเลนส์หลากหลายมุมแทนการประเมินผู้อื่นด้วยมุมมองที่แคบ เช่น คิดแบบขาว-ดำ ว่าคนนี้มีความสามารถหรือไร้ความสามารถ พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้ผู้นำที่ถ่อมตนและสมาชิกของเขามีทัศนคติที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกันจากจุดแข็งของแต่ละคน

 

 

3. ผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการเรียนรู้ การเป็นผู้ถูกสอนได้

 

การเป็นผู้ถูกสอนได้เป็นพฤติกรรมของความถ่อมตนที่เปิดกว้างในการเรียนรู้ข้อเสนอแนะและแนวคิดใหม่ ๆ จากผู้อื่น ความถ่อมตนประกอบไปด้วยการเปิดใจกว้างต่อการติชม ความคิดเห็น และคำแนะนำของผู้อื่น รวมถึงการมีความเต็มใจที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อแสวงหาความแนะนำ โดยมีความปรารถนาที่จะเรียนรู้

 

การที่สมาชิกในองค์การเปิดรับและพร้อมเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์การในปัจจุบันที่อยู่ท่ามกลางการแข่งขันในเศรษฐกิจแห่งความรู้ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นชี้ให้เห็นว่าองค์การต้องการผู้นำและพนักงานที่เปิดรับ พร้อมเรียนรู้ มีความปรารถนาและความเต็มใจที่จะรับทักษะใหม่ ๆ ดูดซับข้อมูลใหม่ ๆ และเรียนรู้จากผู้อื่น

 

บุคคลที่มีความถ่อมตนโดยการแสดงผ่านความสามารถในการเป็นผู้ถูกสอน เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีโอกาสพูดแสดงความเห็น เป็นการสร้างความไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นในทีม รวมถึงการเพิ่มความรู้สึกถึงความยุติธรรมในทีม เมื่อผู้นำสามารถยอมรับอย่างถ่อมตนได้ว่า “ฉันไม่รู้” การยอมรับนั้นบังคับให้ผู้นำลดการเสแสร้ง ลดการแสดงความรอบรู้ ทิ้งอำนาจความเป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งผลที่ตามมาคือการรับฟังและเรียนรู้เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่

 

 

ผลของความถ่อมตนของผู้นำ


 

งานวิจัยหลายงานที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการที่ผู้นำมีความถ่อมตน เพราะทำให้เกิดพฤติกรรมแสดงความเห็น
ผู้นำที่ถ่อมตนมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการพูดสิ่งที่อยู่ในใจ และการที่ลูกน้องรับรู้ว่าหัวหน้าเปิดรับฟังคำแนะนำของพวกเขา ลูกน้องจะลดความกังวลในการแสดงความคิดเห็น

 

ผู้นำที่ถ่อมตนสามารถมอบอำนาจที่ตนเองมีไปยังผู้อื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบภาวะผู้นำแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) ที่ผู้นำชื่นชมการมีส่วนร่วมของลูกน้อง รวมถึงชื่นชมความรู้ความสามารถของลูกน้อง หัวหน้าจะไม่สนใจเฉพาะตัวเอง แต่จะเปิดรับความคิดเห็นและมุมมองของคนในทีมโดนเน้นจุดแข็งและการมีส่วนร่วมของผู้อื่น

 

ผู้นำที่ถ่อมตนจึงเสริมสร้างพลังอำนาจของพนักงาน เพราะเขามีแนวโน้มที่จะเห็นคุณค่าของจุดแข็งและการมีส่วนร่วมของลูกน้อง และหัวหน้าก็เต็มใจที่จะเรียนรู้จากพวกเขา ความถ่อมตนของหัวหน้าจึงสร้างบรรยากาศที่ทีมงานได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง สร้างการเติบโตและการพัฒนาความสามารถแก่ลูกน้อง

 

นอกจากนี้ ผู้นำที่มีความถ่อมตนสามารถส่งเสริมให้เกิดความจงรักภักดีและเพิ่มความมุ่งมั่นของลูกน้อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพิ่มพฤติกรรมเชิงรุกของลูกน้อง เช่น พฤติกรรมการริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง การมุ่งเน้นอนาคตเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เสริมสร้างการเรียนรู้ของพนักงาน ความพึงพอใจในงาน การมีส่วนร่วมในงาน และลดอัตราการลาออกของพนักงาน

 

ในด้านผลลัพธ์ของทีม งานวิจัยที่ผ่านมาก็พบว่าผู้นำที่มีความถ่อมตนสามารถส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของทีม

 

ด้วยข้อดีที่ได้กล่าวมาข้างต้น หลายองค์การจึงต้องการผู้นำที่มีความถ่อมตนเพื่อเข้ามาบริหารจัดการสภาพการทำงานที่มีความคลุมเครือและฝ่าฟันความสลับซับซ้อนที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความถ่อมตนของผู้นำกับการแสดงความเห็นและความเงียบของพนักงานโดยมีความปลอดภัยทางจิตใจเป็นตัวแปรส่งผ่าน และความกล้าหาญของผู้นำเป็นตัวแปรกำกับ” โดย สริตา วรวิทย์อุดมสุข (2564) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/81073

 

Here to Heal: Mental Health and Wellbeing Support Services

 

From 2020 to 2023, Chulalongkorn University’s Psychology Faculty partnered with the Thai Health Promotion Foundation for a project. Their goal was to create an online system called Mental Health Online Service (MOS) or “Here to Heal” service to improve mental health services in Thailand. MOS offers a range of services, including mental health information, online consultations, and referrals to network providers. This project addresses the growing need for mental health support and aims to bridge the gap in access, particularly for financially disadvantaged individuals in Thailand.

 

The MOS service operates on the website https://heretohealproject.com and offers mental health consultation through Line and website. So far, we’ve helped 3,401 individuals with 4,281 sessions in various formats. Out of these, 691 people were referred to mental health service providers. We found that service recipients were significantly more life-satisfaction after receiving our help (t = 6.65; p > 0.00; df = 40). Also, 61.90% of those referred said they got the right information they needed.

 

 

 

Additionally, we organized workshops to promote mental health and shared knowledge through videos, infographics, and summaries on our website and Facebook. We collaborated with various stakeholders, including the public sector, civil society, academia, and the private sector, to support mental health policies in the country.

 

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

 

In 2022, we focused on destigmatization to reduce barriers that prevent individuals from seeking mental health support. Furthermore, reducing self-stigma or societal stigma also provides an opportunity for individuals to take care of their own and others’ mental health. The project promoted this issue through public seminars and video presentations.

 

 

 

 

 

 

Lastly, the Psychology Faculty and Thai Health Foundation plan to expand this project in the coming year.

 

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่ม – Emerging adulthood

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่ม – Emerging adulthood

 

 

 

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่ม เป็นแนวคิดที่อธิบายถึงพัฒนาการตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย จนถึงช่วงอายุประมาณ 20 ปีตอนปลาย โดยเฉพาะช่วงอายุ 18-25 ปี ที่บุคคลมีลักษณะหรือคุณสมบัติเฉพาะอันโดดเด่นและแตกต่างจากช่วงวัยอื่น ๆ (Arnett, 2000)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มมีลักษณะแตกต่างจากวัยรุ่น (13-20 ปี) และผู้ใหญ่ตอนต้น (21-40 ปี) คือเป็นบุคคลที่มีอายุบรรลุนิสิตภาวะและไม่ใช่ผู้เยาว์ตามกฎหมาย มีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาที่ทำให้มีความสามารถที่มีประสิทธิภาพกว่าช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ทำให้สามารถและมีเวลามากพอที่จะสำรวจและทดลองในเรื่องการศึกษา ความสัมพันธ์ และหน้าที่การงาน แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่สามารถที่จะรับผิดชอบตนเองได้เทียบเท่าผู้ใหญ่ (Arnett et al., 2014)

 

นิยามนี้สอดคล้องกับมุมมองของ Erikson ที่มองว่า การเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมทำให้เกิดการยืดเวลาของพัฒนาการในช่วงวัยรุ่นออกไป ทำให้บุคคลมีเวลาสำหรับการค้นหาตัวตนของตัวเองมากขึ้น โดยการทดลองสวมบทบาทของตนเองอย่างอิสระจากบรรทัดฐานของสังคมหรือความต้องการของผู้ปกครอง ซึ่งในจุดนี้อาจจะต้องพิจารณาถึงบริบททางวัฒนธรรมร่วมด้วย

 

Masten et al. (2004) และ Werner (2005) มองว่าผู้ใหญ่วัยเริ่มเป็นช่วงเวลาที่บุคคลมีจุดเปลี่ยน หรือโอกาสที่สอง สำหรับคนที่มีช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นที่อยู่ในบริบทที่ไม่เอื้อให้เกิดสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เป็นช่วงวัยที่บุคคลได้มีโอกาสมากขึ้นในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตตนเอง (ทั้งการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์) ไปสู่เส้นทางที่เอื้อให้เกิดสุขภาพกายและใจที่ดีมากขึ้น

 

 

คุณสมบัติ 5 ประการของผู้ใหญ่วัยเริ่ม


 

 

1. การค้นหาอัตลักษณ์ (identity exploration)

 

เปรียบเสมือนการทดลองเพื่อดูความเป็นไปได้ต่าง ๆ เช่น เราสามารถเป็นต้นแบบไหน ใช้ชีวิตอย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ ความรัก การทำงาน และอุดมการณ์ การสำรวจอัตลักษณ์มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น และถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงช่วงผู้ใหญ่วัยเริ่มและมีความเข้มข้นมากขึ้น ผู้ใหญ่วัยเริ่มมักมีความคิดจริงจังเกี่ยวกับการลงหลักปักฐานหรือการสร้างข้อผูกมัดต่าง ๆ ที่จะช่วยกำหนดโครงสร้างของความสัมพันธ์และหน้าที่การทำงานในช่วงวัยผู้ใหญ่ของตน และจะค่อย ๆ เริ่มดำเนินการตามแผนการที่วางไว้เมื่ออายุ 30 ปี

 

ทั้งนี้ การสำรวจอัตลักษณ์อาจสร้างความสับสนให้แก่บุคคลในวัยดังกล่าว หากไม่สามารถเลือกเส้นทางในการสำรวจอัตลักษณ์ของตนได้ หรือรู้สึกว่าเส้นทางที่ตนเลือกนี้ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นพัฒนาการปกติของผู้ใหญ่วัยเริ่มและจะสามารถคลี่คลายลงได้เมื่ออายุย่างเข้า 30 ปี ในทางตรงกันข้าม หากผู้ใหญ่วัยเริ่มไม่สามารถปรับตัวได้ กระบวนการดังกล่าวอาจขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่

 

2. ความรู้สึกไม่มั่นคง (instability)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มเป็นช่วงวัยหนึ่งที่ประสบกับความไม่มั่นคงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน การเรียน และการย้ายที่อยู่อาศัย ความไม่แน่นอนและไม่มั่นคงในชีวิตเหล่านี้ส่วนหนึ่งมากจากกระบวนการสำรวจอัตลักษณ์ อย่างไรก็ตามก็อาจเกิดขึ้นโดยที่บุคคลไม่ได้ตั้งใจ เช่น การถูกบอกเลิกโดยตนรัก หรือถูกเลิกจ้าง การเปลี่ยนแปลงโดยบุคคลไม่ได้สมัครใจนี้อาจส่งผลกระทบทางลบจนนำไปสู่ความวิตกกังวลและซึมเศร้าได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนที่อยู่อาศัยบ่อยครั้งอาจทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่เพียงพอ หลายคนจึงมักพึ่งพาโซเชียลมีเดียเพื่อให้ตนรู้สึกเสมือนได้รับการสนับสนุนทางสังคม

 

3. การให้ความสำคัญกับตนเอง (self-focused)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มเป็นช่วงวัยที่บุคคลมุ่งให้ความสนใจเฉพาะตนเอง เนื่องจากช่วงเวลานี้บุคคลมีบทบาทและภาระผูกพันทางสังคมน้อยลง กล่าวคือ ในวัยเด็กและวัยรุ่นบุคคลจะตอบสนองต่อคำสั่งหรือข้อเรียกร้องของผู้ปกครอง และบุคลากรในโรงเรียน แต่สำหรับผู้ใหญ่วัยเริ่มภาระส่วนนี้จะลดลง แม้จะมีภาระผูกพันกับผู้ปกครองอยู่บ้าง เช่น ยังพึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากพ่อแม่ แต่ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ปกครองเหมือนอย่างเช่นวัยเด็ก

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มสามารถทดลองมีความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์แบบคู่รัก ซึ่งอาจยังไม่ได้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว อีกทั้งมีการเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดความผูกพันกับนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน หรือผูกพันกับงาน และจะใช้เวลาไปกับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ สำรวจทักษะต่าง ๆ และพัฒนาความเข้าใจในตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ ประกอบกับกฎหมายเอื้อให้ช่วงวัยนี้สามารถตัดสินใจและรับผิดชอบตนเองได้ บุคคลจึงมีอิสระที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือกของตน โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใหญ่

 

4. ความรู้สึกก้ำกึ่ง (feeling in-between)

 

ผู้ใหญ่วัยเริ่มมักมองว่าตนเองไม่ใช่ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ แต่อยู่บริเวณระหว่างทาง เมื่อให้ตอบคำถามว่ารู้สึกว่าตนเองเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วหรือไม่ ส่วนใหญ่มักตอบว่า “ใช่ในบางแง่มุมและไม่ใช่ในบางแง่มุม” โดยเกณฑ์ที่บุคคลใช้ประเมินตนเองว่าเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เช่น การยอมรับในความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่บุคคลควรมีต่อตนเอง และการตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นความรู้สึกของการเป็นผู้ใหญ่จึงค่อยเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น พบว่า จนกว่าบุคคลเข้าสู่ช่วงวัยยี่สิบตอนปลายหรือสามสิบปีตอนต้น บุคคลจึงจะพิจารณาว่าตนเองเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

 

ความรู้สึกคาบเกี่ยวนี้อาจกระตุ้นให้เกิดความหดหู่และความวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เชื่อว่าตนเองควรเป็นผู้ใหญ่ตามเกณฑ์ที่เคยถูกกำหนดไว้ มากกว่าที่จะคำนึงถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นตามข้อเท็จจริง

 

5. การมีความคิดว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นไปได้ (possibilities/optimism)

 

แม้ว่าผู้ใหญ่วัยเริ่มจะเจอกับการเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่และเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบทั้งในทางดีและไม่ดีผสมกันไป การศึกษาพบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่วัยเริ่มมีความเชื่อว่าอนาคตของตัวเองจะเป็นไปด้วยดีและสดใส แม้การศึกษาดังกล่าวจะทำขึ้นในช่วงหลังการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก หลายประเทศประสบปัญหาการจ้างงานและค่าแรงที่ลดลง แต่ผู้ใหญ่วัยเริ่มในประเทศสหรัฐอเมริกายังสามารถมองโลกในแง่ดี และมีความสามารถในการฟื้นพลังที่ดีระหว่างเผชิญความยากลำบากได้

 

ในการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นพบว่า ผู้ใหญ่วัยเริ่มมองว่าประสบการณ์ในช่วงวัยนี้เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการพึ่งพาดูแลตนเอง สิทธิเสรีภาพ และสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง มีความใฝ่ฝันที่จะได้ทำงานที่ตนเองต้องการ และชอบที่จะหางานเพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสามารถในการฟื้นพลังของผู้ใหญ่วัยเริ่ม: การวิเคราะห์จัดกลุ่มความเมตตากรุณาต่อตนเอง ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น การให้การสนับสนุนทางสังคม และการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม” โดย ดลนภัส ชลวาสิน (2565) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/82275

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางการเงินและเป้าหมายการออมในผู้ใหญ่วัยเริ่ม” โดย กอข้าว เพิ่มตระกูล (2562) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69648

 

 

 

Social So Chill – Monthly Live Talk 2023

 

Social So Chill – Monthly Live Talk

 

 

2566


 

 

Ep.01 – รัก..ออกแบบได้

วิทยากร: ผศ.ดร. หยกฟ้า อิศรานนท์ และคุณวันทิพย์ ชวลีมาภรณ์ นิสิตปริญญาเอก

 

Ep.02 – ปรับงานอย่างไร… ให้ชีวิตสมดุล

วิทยากร: ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล และคุณปณต ศรีสินทรัพย์ นิสิตปริญญาเอก

 

Ep.03 – จิตวิทยาสังคมกับการเลือกตั้ง

วิทยากร: อ. ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม และคุณเมธพนธ์ เตชะบุญเกียรติ นิสิตปริญญาตรี

 

Ep.04 – Locus of control อำนาจควบคุมตนสำคัญอย่างไร

วิทยากร: ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช และคุณภรัณยู โรจนสโรช นิสิตปริญญาโท

 

Ep.05 – จูงใจคนให้ทำเพื่อสิงแวดล้อมยังไงดี

วิทยากร: ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ และคุณพีรยา พูลหิรัญ นิสิตปริญญาโท

 

Ep.06 – Growth mindset ในการเรียนและการทำงาน

วิทยากร: ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา และ อ. ดร.ศุภณัฐ ศรีอุทัยสุข

 

Ep.07 – Cognitive bias อคติทางความคิดในการมองโลก…ของเราทุกคน

วิทยากร: อ. ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

 

EP.08 – ใช้ social media อย่างไรให้รู้ทัน

วิทยากร: ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

 

EP.09 – Burnout contagion ภาวะหมดไฟแพร่ระบาดได้หรือไม่?

วิทยากร: ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

 

EP.10 – การทำความผิดในมุมจิตวิทยาสังคม

วิทยากร – อ. ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม และ คุณภัทรพงศ์ สุทธิรัตน์