ข่าวและกิจกรรม

จิตวิทยากับการพยากรณ์โชคชะตา

เหตุผลของคนดูดวง และบทบาทของนักพยากรณ์ในการช่วยเหลือด้านจิตใจ

 

 

 

 

: ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกนักพยากรณ์โชคชะตา 9 คน และผู้รับบริการ 7 คน โดยใช้แหล่งการพยากรณ์โชคชะตาหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

 

ลักษณะของสัมพันธภาพในการพยากรณ์โชคชะตาเป็นแบบการให้คำปรึกษาแนะนำ (guidance) ซึ่งแตกต่างจากการปรึกษาเชิงจิตวิทยา (counseling) ที่มีสัมพันธภาพในเชิงบำบัด (therapeutic relationship) ทั้งนี้สัมพันธภาพในการพยากรณ์โชคชะตามีจุดเริ่มต้นจากความต้องการคำตอบจากการพยากรณ์โชคชะตาเป็นจุดประสงค์หลัก กล่าวคือ สาเหตุที่ผู้รับบริการเลือกเข้าหานักพยากรณ์โชคชะตาเพราะต้องการที่พึ่งทางใจในคราวทุกข์ ต้องการทราบอนาคตเพื่อลดความกังวล ต้องการเติมเต็มความมั่นใจในการตัดสินใจ หรือต้องการทราบแนวทางในการดำเนินชีวิต อีกทั้ง ยังต้องการหลีกเลี่ยงการถูกตีตรา ส่งผลให้ผู้รับบริการเลือกใช้การพยากรณ์โชคชะตาแทนการเข้าหานักจิตวิทยาหรือจิตวิทยา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ต้องการ “ลองของ” อีกด้วย

 

รูปแบบสัมพันธภาพในการพยากรณ์โชคชะตาที่พบเห็นในสังคมไทย มี 3 รูปแบบ คือ

 

  1. มีความสนิทสนมคุ้นเคยดุจญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดจากการไปมาหาสู่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันบ่อยครั้ง
  2. เป็นที่พึ่งที่ปรึกษา เป็นรูปแบบภาวะการพึ่งพานักพยากรณ์ มองว่าเป็นผู้ชี้แนะแนวทางการตัดสินใจในการดำเนินชีวิต
  3. เป็นเพียงผู้รับบริการ หรือคนแปลกหน้าที่ให้มาระบายปัญหาเท่านั้น

 

ไม่ว่าสัมพันธภาพจะอยู่ในรูปแบบใด ถ้าเป็นสัมพันธภาพที่ดีก็นำไปสู่การช่วยเหลือด้านจิตใจได้

ทั้งนี้ปัจจัยสู่สัมพันธภาพที่ดีในการพยากรณ์โชคชะตาประกอบด้วย

 

  • การพยากรณ์ที่แม่นยำ
  • การประพฤติตามจรรยาบรรณโหร (มีคุณธรรม จริงใจ ไม่ฉกฉวยผลประโยชน์)
  • การรักษาความลับของผู้รับบริการ
  • การเปิดใจยอมรับผู้รับบริการ ไม่ตัดสินถูกผิด ซึ่งผลที่เกิดจากการมีสัมพันธภาพที่ดีคือเกิดความไว้วางใจ เกิดศรัทธา ให้ความเคารพนับถือ ยินดีเปิดเผยเรื่องราว กลับมาใช้บริการอีก และแนะนำบอกต่อแก่ผู้อื่น

ทั้งนี้ในทางการปรึกษาเชิงจิตวิทยามองว่า ารที่ผู้รับบริการเกิดความไว้วางใจจนนำมาสู่การเปิดเผยเรื่องราวเป็นสิ่งสำคัญอันนำไปสู่การช่วยเหลือที่ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ กระนั้น ในบางแง่มุมการเกิดความรู้สึกด้านลบเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ทั้งนี้การมีสัมพันธภาพที่มากหรือน้อยจนเกิดไป ไม่ไว้วางใจ หรือเกินขอบเขตที่เหมาะสม ย่อมไม่ส่งผลที่ดีต่อทั้งนักพยากรณ์โชคชะตาและผู้รับบริการ

.

 

 

กระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจของนักพยากรณ์โชคชะตา

 

 

 

 

ขั้นตอนในกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจของนักพยากรณ์โชคชะตาเริ่มจากการสังเกตท่าทางของผู้รับบริการเพื่อประเมินความรู้สึกนึกคิด และวัดระดับอารมณ์ในการออกคำพยากรณ์ จากนั้นทำการพยากรณ์ตามหลักของศาสตร์ และในระหว่างการพยากรณ์จะมีการเปิดโอกาสให้ซักถามเพื่อเติมในส่วนที่ยังคงรู้สึกสงสัยหรือค้างคาใจเพื่อให้ผู้รับบริการขจัดความกังวลใจได้อย่างเต็มที่ และมักลงท้ายด้วยการเสนอแนะแนวทางการช่วยเหลือด้านจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่อิงบทฐานของความเชื่อในศาสตร์การพยากรณ์โชคชะตา

 

การให้คำปรึกษาของนักพยากรณ์โชคชะตาเป็นแบบการให้คำแนะนำและชี้นำทาง ซึ่งต่างจากจิตวิทยาการปรึกษาที่เป็นแบบไม่ชี้นำ ซึ่งการชี้นำนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้รับบริการเกิดการใคร่ครวญและตระหนักรู้ในตนเองอย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้รับบริการเกิดปัญหาครั้งใหม่ ผู้รับบริการจะกลับมาใช้บริการกับนักพยากรณ์โชคชะตาอีก ในขณะที่การปรึกษาเชิงจิตวิทยามีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับบริการเกิดปัญญาในการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และไม่จำเป็นต้องย้อนกลับมาปรึกษานักจิตวิทยาอีก

ทั้งนี้แนวทางการช่วยเหลือที่นักพยากรณ์โชคชะตามักเสนอแนะให้แก่ผู้รับบริการเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ที่นักพยากรณ์โชคชะตาผู้นั้นยึดถืออยู่ กล่าวคือหากเป็นบุคคลที่นับถือพุทธศาสนาก็จะมีความเชื่อเรื่องกรรม และมองการพยากรณ์โชคชะตาเป็นศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกับการกระทำในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ฉะนั้นแนวทางที่เสนอแนะจึงอยู่ในรูปของการให้กระทำดี สร้างบุญสร้างกุศลหรือให้ปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ในรายที่มีความเชื่อมั่นในศาสตร์การพยากรณ์โดยเฉพาะ ก็มักเสนอแนวทางการช่วยเหลือด้านจิตใจที่อิงกับดวงดาวทางโหราสาสตร์ เป็นต้น ดังนั้นหากผู้รับบริการที่ได้รับการเสนอแนะแนวทางจากนักพยากรณ์โชคชะตามีความเชื่อเช่นเดียวกัน ย่อมส่งผลให้ภาวะใจของผู้รับบริการมีความผ่อนคลายในเบื้องต้น

 

กลไกที่เกิดในกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจด้วยการพยากรณ์โชคชะตา สามารถจัดเป็นผลที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือการได้ระบายเรื่องราวปัญหา และการได้ทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าเป็นการเตรียมใจ เป็นผลพลอยได้จากการพยากรณ์โชคชะตา ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้รับบริการ คือการต้องการทราบอนาคตโดยมีความเชื่อว่าการพยากรณ์โชคชะตาเป็นศาสตร์ที่สามารถให้คำตอบตนได้ นอกจากการได้ทราบคำตอบพร้อมแนวทางการแก้ไขแล้ว ความเชื่อมั่นใจอนาคตที่ได้จากคำพยากรณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้รับบริการมีความหวังในการก้าวผ่านปัญหาหรืออุปสรรคที่ตนกำลังเผชิญ

 

 

จากข้อค้นพบที่ได้ทำให้เข้าใจมูลเหตุความต้องการของผู้รับบริการและกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในการพยากรณ์โชคชะตา ดังนั้นในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา หากนำความเข้าใจดังกล่าวไปใช้จะสามารถเข้าถึงผู้รับบริการได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

 


 

 

 

รายการอ้างอิง

 

“การพยากรณ์โชคชะตาและกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจ”

“Fortune telling and psychological helping process”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2552)

โดย นางสาวเรวดี สกุลอาริยะ

ที่ปรึกษา ผศ. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/17082

Here to heal Online Workshop: Resilience

“Resilience” รดน้ำภายใน ฟื้นใจ เติมพลัง

 

 

Here to heal ชวนคุณมาเรียนรู้การฟื้นคืนพลัง พร้อมลุกขึ้นอีกครั้งในวันที่ใจหมดแรง กับ Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ในหัวข้อเรื่อง “Resilience”

 

โดยวิทยากร อ. ดร.พนิตา เสือวรรณศรี ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในวันเสาร์ที่ 12 มี.ค. 2565  เวลา 10.00-12.00 น.

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://docs.google.com/…/1FAIpQLScG3NvMlLjG2J…/viewform
โดยทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านภายในเย็นวันศุกร์ที่ 11 ก่อนถึงเวลา Workshop ผ่านทาง Email

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW
ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 


 

 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ here to heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.
เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ก Here-to-Heal เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุยได้เลยค่ะ

ปัจจัยขัดขวางและปัจจัยเอื้อต่อการแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคล

เคยบ้างไหมครับ ที่คุณรู้สึกเครียด มีปัญหาชีวิตต้องแบกรับ คุณอยากจะหาใครสักคนมาคอยปรึกษา แต่เมื่อปรึกษาแล้วคุณก็พบว่าคนที่คุณปรึกษานั้นไม่ได้เข้าใจปัญหาของคุณอย่างแท้จริง หรือคนที่คุณไปปรึกษานั้น ทำได้แค่รับฟังเรื่องราวของคุณอย่างแบ่งรับแบ่งสู้ หรือมาเป็นที่ระบายเท่านั้น ไม่ได้ช่วยหาทางแก้ปัญหา ที่สำคัญ คุณอาจจะรู้สึกผิดหลังจากที่ได้ระบายเรื่องสำคัญกับเขาไป กลัวว่าความลับขอบคุณจะถูกแพร่งพราย

 

มีหลายคนในโลกที่เลือกจะเก็บความลับนั้นไว้กับตัว บอกใครไม่ได้ เคร่งเครียดอยู่คนเดียว จนนานวันเข้าปัญหาก็ยิ่งทับถมหนักขึ้นเรื่อย ๆ

 

 

ความจริง อาการเครียด โรคซึมเศร้า ความกังวลเล็ก ๆ น้อย เช่น เครียดเรื่องการเรียน การปรับตัว มีปัญหากับคนรอบข้าง ผิดหวังในความรัก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเจออยู่ทุกวันไม่มากก็น้อย ถ้าเป็นปัญหาเล็ก ๆ เราก็สามารถแก้เองได้ แต่เมื่อปัญหามีความหนักหน่วงหรือถูกถาโถมเข้ามามากเกินไป ใจเราก็คงไม่ไหวใช่ไหมครับ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถ้าได้รับหนทางแก้ไขแต่เนิ่น ๆ มันจะไม่ลุกลามใหญ่โต และยังช่วยให้การดำเนินชีวิตของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

 

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะทราบดีว่าการไปรับการปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตนั้นจะช่วยให้เขาสามารถคลายจากความทุกข์ใจได้ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่เมื่อรู้ว่าตนเองมีปัญหาที่แก้ไม่ตก เครียด นอนไม่หลับ แต่ก็ลังเลที่จะไปปรึกษาผู้เชียวชาญ

 

 

ทำไมคนจึงทำเช่นนั้น?

 

สาเหตุหลัก ๆ ก็คือคนกลัวที่จะถูกคนอื่นมองว่าตัวเองมีปัญหา หรือกลายเป็นผู้ล้มเหลวในสายตาของผู้อื่น โดยเฉพาะสังคมไทยมักจะมีภาพเกี่ยวกับไปปรึกษาเรื่องปัญหาความเครียดกับแพทย์หรือนักจิตวิทยา ว่าจะต้องเป็นคนที่มีปัญหาหนักจริง ๆ ทำนองว่าเริ่มพูดไม่รู้เรื่อง หรือเริ่มเพี้ยน ๆ หรือถ้าจะหมายถึงตัวแปรทางจิตวิทยาชนิดหนึ่งที่บ่งชี้ถึงสาเหตุได้ดี นั่นคือ ความกลัวการถูกประทับตราว่าด้อยค่าจากสังคม ขยายความหน่อยว่ามันหมายถึง การที่บุคคลกลัวว่าการไปพบผู้เชี่ยวชาญนั้นจะทำให้สังคมมองว่าตนผิดปกติ ตนไม่สมบูรณ์ มีปัญหาทางจิต กลัวถูกหาว่าเป็นคนบ้านั่นเอง ซึ่งความคิดเหล่านั้น ถือเป็นอุปสรรคปัญหาสำคัญที่กีดขวางการมาพบผู้เชี่ยวชาญ และทำให้ปัญหาทางสุขภาพจิตที่ตนเผชิญนั้นไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง

 

 

งานวิจัยในต่างประเทศเองก็พบว่าสังคมส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะรับรู้บุคคลที่มีอาการทางจิตในทางลบอยู่แล้ว และการแสวงหาความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงการมีความเจ็บป่วยทางจิตได้ โดยงานวิจัยในอดีตพบว่าบุคคลที่ทำการแสวงหาความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพมักจะถูกมองว่าเป็นคนที่มีอาการทางจิต และถูกรับรู้ในทางลบกว่าบุคคลที่ไม่แสวงหาความช่วยเหลือ และอย่างที่กล่าวไป ถ้าบุคคลตีตราพฤติกรรมการแสวงหาความช่วยเหลือว่าหมายถึงตนเองมีความอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองแล้ว บุคคลก็จะไม่แสวงหาความช่วยเหลือ ตรงกันข้าม ถ้าบุคคลตีตราพฤติกรรมการแสวงหาความช่วยเหลือว่าเป็นวิธีการที่ช่วยให้ตนเองสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่แล้ว บุคคลก็จะเต็มใจที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้น

 

ดังนั้นการจะแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคลจึงขึ้นอยู่กับทัศนคติของเขาว่ามองการแสวงหาความช่วยเหลือในทางบวกหรือทางลบ ถ้ามองในทางลบเขาก็จะไม่แสวงหาความช่วยเหลือ ถ้าเขามองในทางบวกก็จะทำให้เขาตัดสินใจเข้ารับการช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้ความทุกข์ของเขาได้รับการจัดการได้อย่างทันท่วงที และทำให้เขาได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้โดยเร็ว

 

 

ปัจจัยที่ขัดขวางการแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคล นอกจากจะเป็นเรื่องทัศนคติแล้วยังมีเรื่องเพศและอายุร่วมด้วย จากผลสำรวจที่ได้จากงานวิจัยพบว่า เพศหญิงเป็นเพศมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือบ่อยกว่าเพศชาย ที่เป็นเช่นนี้ สาเหตุอาจเกิดจากจากการยึดบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมของเพศชาย โดยบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมนั้นจะคาดหวังว่าผู้ชายต้องเป็นเพศที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ และเป็นผู้ที่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ และจากบทบาททางเพศดังกล่าวก็ทำให้ผู้ชายไม่เข้ารับการแสวงหาความช่วยเหลือ ในขณะที่ผู้หญิงจะเลือกที่จะพึ่งพาผู้อื่นมากกว่า นอกจากนี้ อายุก็เป็นสิ่งสำคัญนะครับ จากการสำรวจพบว่าบุคคลที่มีอายุอยู่ในช่วง 20 ปี หรือบุคคลที่กำลังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น มีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าคนที่มีอายุในช่วงอื่น ๆ

 

 

จากข้างต้น อายุและเพศถือเป็นปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ทีนี้เรามาดูปัจจัยด้านสถานการณ์กันบ้างว่ามีส่วนด้วยหรือไม่

 

สำหรับปัจจัยด้านสถานการณ์ (situational factors) หรือสิ่งแวดล้อม พบว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลให้บุคคลทำการแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้นหรือน้อยลงเช่นกัน ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่สำคัญ ๆ อย่างเช่น การกลัวว่าความลับของตนจะเปิดเผย ถ้าหากเรื่องที่ต้องการปรึกษานั้นเป็นเรื่องที่ผู้แสวงหาความช่วยเหลือต้องการเก็บไว้เป็นความลับกับตัว เขาย่อมไม่อยากให้ใครรู้ชื่อ นามสกุล หรือเห็นหน้าค่าตา ดังนั้นถ้าหากว่าหนทางที่จะเข้ารับการบรรเทาปัญหาในจิตใจเป็นไปอย่างลับ ๆ เช่น ให้โทรศัพท์ไปไปปรึกษากับนักจิตวิทยา หรือปรึกษาผ่านการเล่น msn กับนักจิตวิทยาก็จะช่วยให้คนกล้าที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากขึ้น

 

สิ่งที่เราควรจะกล่าวเพิ่มเติมก็คือ ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ (personality factors) ซี่งส่งผลกระทบต่อการแสวงหาความช่วยเหลือของบุคคลเช่นกัน ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนที่ขี้อายมาก ๆ จะไม่ค่อยกล้ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่คุ้นเคย โดยบุคคลที่ขี้อายนั้นต้องการที่จะทำให้ผู้อื่นประทับใจและรู้สึกดีกับตนเอง แต่พวกเขาก็รู้สึกว่าเป็นการยากที่จะทำได้เนื่องจากพวกเขาไม่มั่นใจในสถานภาพของตนเอง ดังนั้นเมื่อบุคคลที่ขี้อายอยู่ต่อหน้าผู้อื่นนั้นก็จะแสดงออกโดยผ่านการควบคุมเป็นอย่างดี และพยายามหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นให้มากที่สุด เนื่องจากมองว่าการพูดคุยกับผู้คนในสังคม รวมไปถึงการแสวงหาความช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขา ทำให้บุคคลเหล่านี้หลีกเลี่ยงที่จะแสวงหาความช่วยเหลือ

 

คุณผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า คนขี้อายหรือคนที่เก็บตัวมักไม่ชอบการเปิดเผยตนเอง (self-disclosure) คนพวกนี้มักจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องส่วนตัวกับผู้คนรอบข้าง ไม่ชอบแสดงความรู้สึกหรือความอ่อนไหวทางอารมณ์ให้ใครเห็น เราจะเห็นคนพวกนี้เป็นคนเย็นชา ดูมีกำแพง ไม่ชอบเปิดใจ ไม่สนิทกับใครง่ายๆ หรือไม่สนิทกับใครเป็นพิเศษ ดูเงียบๆ มีอะไรไม่สบายใจก็ไม่บอกใคร ไม่พอใจอะไรก็เก็บไว้ ทำนองว่าเกรงใจนะครับ ซึ่งสังคมไทยมักจะคิดว่าบุคลิกแบบนี้เป็นบุคลิกที่ดี ถือว่าเรียบร้อย ถือว่ามีกาลเทศะ เพราะสังคมไทยมักจะชอบคนที่มีบุคลิกแบบปิดมากกว่าเปิด ซึ่งผมอยากจะให้คำแนะนำว่าลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพแบบนั้น ไม่ใช่บุคลิกภาพที่สนับสนุนให้เกิดการมีสุขภาพจิตที่ดีครับ

 

ตามหลักการ คนที่กล้าเปิดเผย คนที่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเป็นอย่างดี และที่สำคัญคือกล้าบอกให้คนอื่นฟัง มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตดีกว่า โดยเฉพาะในการแสวงหาความช่วยเหลือทุกชนิด ผู้ที่เข้ารับการปรึกษามีความจำเป็นเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองหรือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นะครับ การที่บุคคลสามารถตระหนักได้ถึงสภาวะภายในของตนเอง และสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกหรือสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้อย่างชัดเจนจะเป็นการดีต่อการให้ความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญ ทำให้หาทางช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น

 

ที่กล่าวไปข้างต้น คงเห็นแล้วว่าการแสวงหาความช่วยเหลือกับการเปิดเผยตนเองนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกจากกันได้เลย คนที่มีการเปิดเผยตนเองมากกว่าก็มีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าคนที่มีการเปิดเผยตนเองน้อยกว่า

 

ดังนั้นการกล้าที่จะเปิดเผยตนเอง ซื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเอง โดยให้เป็นไปอย่างพอดี ๆ ให้สอดคล้องกับหลักกาลเทศะ และวัฒนธรรมไทย ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่านะครับ

 

 

เราจะมาว่าด้วยปัจจัยทางสังคมกันบ้าง

 

 

เคยสังเกตไหมครับ ว่าทำไมคนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ หรือเป็นคนที่ถูกสังคมมองว่าเป็นผู้นำ เป็นคนที่ถูกจับตามองในสังคมมาก ๆ มักจะไม่ค่อยกล้าแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น หรือไม่ค่อยกล้ายอมรับความล้มเหลวของตนเอง

 

สิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจาก การเห็นคุณค่าในตนเอง และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (self-esteem and achievement motivation) นั่นเอง หมายความว่าคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงนั้นจะต่อต้านการแสวงหาความช่วยเหลือเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเขาควรที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ดังนั้นการแสวงหาความช่วยเหลือก็เหมือนกับเป็นการยอมรับว่าตนเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และจะทำให้สูญเสียการรับรู้คุณค่าในตนเอง แต่ในทางกลับกันคนที่มีการรับรู้คุณค่าในตนเองต่ำก็จะรับรู้ว่าตนเองไม่มีความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นจึงไม่ทำให้บุคคลสูญเสียการรับรู้คุณค่าในตนเองลงไปอีก

 

เช่นกัน ในคนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง หมายถึง บุคคลมีความตั้งใจที่จะเอาชนะปัญหาได้อย่างดีและด้วยความสามารถของตนเองเพียงผู้เดียว ก็จะทำให้บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์นั้นไม่ค่อยแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากนัก เพราะเขามักจะมีความคิดว่าเรื่องง่าย ๆ แค่นี้ เขาจัดการเองได้ ไม่เห็นต้องไปพึ่งคนอื่นเลย อย่างเขาไม่จำเป็นต้องไปเข้าพบนักจิตวิทยาหรอก จะเป็นเรื่องศักดิ์ศรีหรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เราต้องยอมรับกันก็คือ คนทุกคน ไม่ว่าจะรวยหรือจน ฉลาดหรือไม่ฉลาด ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตเท่าเทียมกัน

 

ดังนั้นถ้าหากบุคคลมีต้นทุนทางสังคมสูง มีหน้าที่มากมาย มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนักเอาการ การบำรุงรักษาร่างกายและจิตใจให้มีความพร้อมเต็มที่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะถ้าร่างกายและจิตใจของคุณล้มครืนเมื่อไร คนที่ประสบปัญหาไม่ใช่คุณคนเดียว แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใต้ความรับผิดชอบของคุณ ทำนองว่า ต้นทุนทางสังคมสูง ความเสี่ยงสูง นั่นเอง ดังนั้นการหมั่นตรวจสอบสุขภาพกายใจเนือง ๆ ว่าตอนนี้คุณไหวไหม ท้อไหม เครียดเกินไปไหม เรียนรู้ที่จะหาทางระบายออกซึ่งปัญหาและความเครียดโดยการแสวงหาคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญบ้าง จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวคุณและสังคมที่คุณเป็นคนขับเคลื่อนอยู่ด้วย

 

ที่ผ่านมาเราพูดกันถึงแต่ปัจจัยที่เกิดจากตัวบุคคลผู้แสวงหาความช่วยเหลือกันมามาก ทีนี้ผมขอกล่าวถึงปัจจัยของผู้ให้การช่วยเหลือบ้างดีกว่า เป็นที่แน่นอนว่าบุคคลย่อมต้องการที่จะแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาที่ตนเองกำลังประสบ งานวิจัยพบว่าบุคคลที่มารับความช่วยเหลือนั้นจะให้ความสำคัญกับความชำนาญ และความน่าไว้วางใจของผู้ให้ความช่วยเหลือ ความสามารถของผู้ให้ความช่วยเหลือ (helper’s ability) จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ

 

นอกจากนี้ จรรยาบรรณในการรักษาความลับของผู้ให้ความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งชีพ เป็นเหมือนตราสัญลักษณ์ประจำกายที่นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญต้องยึดไว้ ราวกับว่าถ้าสูญเสียมันไปเราก็ไม่อาจเรียกตนเองว่าเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือได้อีกต่อไป งานวิจัยในภายหลังยังพบว่าผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีความสามารถในการสื่อสาร ความเข้าใจ และการไม่ตัดสินหรือตำหนิผู้รับบริการในทางศีลธรรมนั้นจะประสบความสำเร็จในการเชิญชวนให้ผู้รับบริการเข้ามารับการปรึกษา ตัดสินใจอยู่ในกระบวนการให้การปรึกษาต่อไป และประสบความสำเร็จในการรับบริการ

 

 

ผมขอฝากคำแนะว่าการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ให้ความช่วยเหลือ บุคคลควรเลือกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี วิธีดูก็ง่าย ๆ คือผู้ให้ความช่วยเหลือนั้นควรจะต้องได้รับการยอมรับหรือได้รับการรับรองจากสถาบันต่าง ๆ มาเป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่บุคคลผู้ต้องการแสวงหาความช่วยเหลือ ควรคำนึงไว้ ก่อนเข้ารับการช่วยเหลือนะครับ

 

ทางคณะจิตวิทยาของเรามีการให้บริการให้คำปรึกษาสำหรับบุคคลทั่วไป ผมขอให้ข้อมูลเผื่อไว้สำหรับคนที่ต้องการใช้บริการนะครับ ว่าสามารถติดต่อไปได้ที่ ศูนย์สุขภาวะทางจิต เปิดให้บริการโดยนักจิตวิทยาและคณาจารย์ของคณะจิตวิทยา ณ ชั้น 5 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ โดยมีเวลาทำการตั้งแต่ 9.00 น. – 17.00 น. ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ (เว้นวันหยุดราชการ) สามารถติดต่อนัดหมายหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-218-1171 หรือ ในช่วงที่มีการปิดสถานที่ทำการ สามารถติดต่อได้ที่ 061-736-2859 หรือ Inbox FB: ศูนย์สุขภาวะทางจิต

 

สุดท้ายนี้ผมขอกระตุ้นเตือนบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะในบุคคลที่เป็นผู้นำครอบครัวทั้งหลายให้หมั่นประเมินปัญหาที่ตนเองกำลังประสบว่ารับมือไหวหรือไม่ ถ้ารับมือไม่ไหว อยากให้พิจารณาการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญไว้เป็นทางเลือกหนึ่ง อย่างที่เราได้เคยเน้นย้ำกันไปแล้วนะครับว่า การสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองของเขา อาจส่งผลสะเทือนไปถึงคนรักหรือคนรอบข้าง ในสังคมไทยที่เราต้องเลี้ยงดูบุพการีและอยู่ใกล้ชิดกับบุพการีมากกว่าในสังคมอื่น ๆ ถ้าเราเป็นอะไรไปคนหนึ่ง ไม่เพียงแค่ลูกและภรรยาของเราเท่านั้น แต่พ่อแม่ของเราก็จะลำบากไปด้วย บุคคลจึงควรมีการประเมินความคุกคามของปัญหาที่บุคคลประสบ ว่าเป็นสิ่งที่อาจกระทบต่อคนในครอบครัวหรือไม่ ถ้าปัญหานั้นกระทบต่อคนรอบข้าง บุคคลก็จะควรทำการแสวงหาความช่วยเหลือ ดีกว่าเพิกเฉย และปล่อยให้ปัญหาบานปลายออกไปนะครับ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com/senivpetro

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ธนวัต ปุณยกนก

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “เครื่องมือวัดเพื่อการวิจัยทางจิตวิทยา”

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “เครื่องมือวัดเพื่อการวิจัยทางจิตวิทยา” ซึ่งจะจัดอบรมแบบออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน 2565 (เฉพาะวันเสาร์) เวลา 09.00-12.00 น. รวมใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง โดยคณาจารย์ประจำแขนงวิชาต่าง ๆ ของ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร

 

 

 

 

โครงการอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเครื่องมือวัดเพื่อการวิจัยทางจิตวิทยาให้แก่ผู้ที่สนใจทำงานวิจัยด้านจิตวิทยา และเพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ในการทำวิจัยหรือการทำงานของตนเอง

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “เครื่องมือวัดเพื่อการวิจัยทางจิตวิทยา” เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทราบเกี่ยวกับเครื่องมือการวัดผลในงานวิจัยทางด้านจิตวิทยาในเบื้องต้น เพื่อให้สามารถเลือกใช้เครื่องมือวัดให้เหมาะสมกับโจทย์การวิจัยที่สนใจและตรงประเด็นที่ต้องการ

 

 

หัวข้อการอบรม : (แก้ไขวันที่)

วันที่ 26 มีนาคม 65

เวลา 09.00 – 12.00 น.

เครื่องมือวัดทางจิตวิทยา

โดย อ. ดร.สันทัด พรประเสริฐมานิต

วันที่ 2 เมษายน 65

เวลา 09.00 – 12.00 น.

แบบสอบถามทางจิตวิทยา

โดย อ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

วันที่ 9 เมษายน 65

เวลา 09.00 – 12.00 น.

เครื่องมือวัดในการวิจัยเชิงทดลองและ การตรวจสอบกระบวนการ

โดย อ. ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

วันที่ 30 เมษายน 65

เวลา 09.00 – 12.00 น.

เครื่องมือในการวิจัยเชิงคุณภาพ

โดย อ. ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ

 

ประกอบด้วย : 

– การบรรยาย (ครั้งละ 3 ชม.) 4 ครั้ง 

 

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน :

  1. บุคคลทั่วไป หัวข้อละ 600 บาท/ท่าน

*** กรณีลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมทั้ง 4 หัวข้อ จะได้รับอัตราค่าลงทะเบียนพิเศษ เหมาจ่าย 2,000 บาท/ท่าน

  1. ศิษย์เก่าและนิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาฯ หัวข้อละ 300 บาท/ท่าน

*** กรณีลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมทั้ง 4 หัวข้อ จะได้รับอัตราค่าลงทะเบียนพิเศษ เหมาจ่าย 1,000 บาท/ท่าน

 

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเกียรติบัตร (ออนไลน์) การเข้าร่วมโครงการจากคณะจิตวิทยา

หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแต่ละครั้ง ทางผู้จัดโครงการจะอัพโหลดไฟล์วิดีโอการอบรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถเข้ามาดูย้อนหลังได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

 

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน :

  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  2. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วันทำการ
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

ลิงค์ลงทะเบียนออนไลน์ :

https://forms.gle/tL2bpqrnq3PwLKLR8

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี โทร. 09-6720-6232 E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

การรับมือกับข่าวร้าย

ในชีวิตของเรานั้นคงไม่มีใครสักคนที่สามารถเลือกได้ทุกประการที่จะพบแต่เรื่องที่เป็นที่สบอารมณ์ของตน เราล้วนแต่เผชิญทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ทั้งประสบการณ์ที่น่าพึงปรารถนาและไม่น่าพึงปรารถนามากบ้างน้อยบ้าง ต่างกรรมต่างวาระ เป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์เรา

 

ข่าวร้าย หรือ เรื่องร้าย คือ สถานการณ์ภายนอกที่ส่งผลต่อบุคคลที่ได้รับหรือประสบ เป็นปัจจัยภายนอกที่รบกวนความเป็นปกติหรือความสมดุลในชีวิตของบุคคลนั้น ทั้งด้านจิตใจและด้านร่างกาย ข่าวร้ายหรือเรื่องร้ายรวมถึง ความสูญเสีย ความเจ็บปวด เหตุการณ์ท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง กระทบใจอย่างรุนแรง (Trauma) เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่รบกวนจิตใจ สภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ลักษณะต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องจุกจิกรบกวนในชีวิตประจำวัน

 

ตัวอย่างของข่าวร้าย ได้แก่ การตายของบุคคลผู้เป็นที่รัก การพลัดพรากจากผู้เป็นที่รักหรือคนสนิทใกล้ชิด การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หายหรือรักษายาก ฯลฯ

 

 

เมื่อได้รับข่าวร้าย เกิดอะไรขึ้น

เมื่อได้รับข่าวร้าย บุคคลนั้นจะประเมินด้วยความคิดว่า ข่าวร้ายหรือเรื่องร้ายนั้นมีอันตรายเพียงใด มีความน่ากลัว มีความเจ็บปวดมากน้อยประการใด เกิดการสูญเสียมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความรู้สึกน่าเห็นอกเห็นใจ น่าห่วงใย น่ารำคาญ น่าโกรธ มากน้อยเพียงใด จากนั้นอารมณ์ความรู้สึกก็จะเกิดขึ้น อารมณ์ความรู้สึกของบุคคลจะถูกรบกวนมากน้อย มีความสั่นคลอน หรือเสียความสมดุลย์ไปมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้

 

  • ข่าวร้าย เรื่องร้ายนั้นมีความเข้มข้น รุนแรง เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ มาเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใด
  • ข่าวร้าย เรื่องร้ายดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกินความคาดเดาหรือเหนือความคาดหมายหรือไม่
  • ข่าวร้าย เรื่องร้ายดังกล่าวมีความหมายเป็นการส่วนตัวต่อบุคคลที่รับข่าวนั้นหรือประสบเรื่องร้ายนั้นหรือไม่
    .

ผลที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ข่าวร้าย

 

  1. ผลทางด้านร่างกายและสุขภาพ เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ปวดศีรษะ เป็นต้น
  2. ผลทางด้านจิตใจ หากรับมือกับข่าวร้ายไม่เหมาะสม บุคคลนั้นอาจเกิดอารมณ์ทางลบขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ความละอาย ความรู้สึกผิด ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความสิ้นหวัง ความหดหู่ใจ ความวิตกกังวลใจ ความสับสนวุ่นวายใจ ฯลฯ ทำให้สภาวะจิตใจเสียความสมดุลย์ เสียความเป็นปกติสุขได้

อนึ่ง ในบางกรณีอาจเกิดความรู้สึกมึนชาต่อสถานการณ์ เสมือนกับว่าไม่รับรู้เรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้น ดูเหมือนกับว่าไม่มีความรู้สึกใด ๆ ต่อข่าวร้ายที่ได้รับ

 

 

เมื่อได้รับข่าวร้ายเรารับมืออย่างไรได้บ้าง

เมื่อรับทราบข่าวร้าย หรือเรื่องร้าย มีแนวคิดที่ควรคำนึงดังนี้

 

  1. ต้องมีสติ รู้ตัว และรับรู้ว่าข่าวนั้นส่งผลต่อตนเอง
  2. ประเมินด้วยความคิด ด้วยสติสัมปชัญญะว่า เรื่องนั้นมีความรุนแรงเพียงใด มีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ผู้เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นมีแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือใดบ้าง
  3. การรับมือกับข่าวร้าย อาจทำได้โดยการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนก่อนที่จะเผชิญกับข่าวร้าย หรือทำได้โดยการจัดการกับตนเองเมื่อรับรู้ข่าวร้ายนั้น

 

การสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเองเพื่อรับมือกับข่าวร้าย เป็นหนทางที่ยั่งยืนมากกว่า

 

 

แนวทางในการรับมือกับข่าวร้ายที่กำลังรับรู้

เมื่อคนเราได้รับข่าวร้าย มีแนวทางในการรับมือกับข่าวร้ายอยู่หลายประการ ซึ่งคนแต่ละคนอาจจะมีแบบแผน หรือวิธีการในการรับมือกับข่าวร้ายที่แตกต่างกัน หรืออาจจะใช้หลายวิธีการประกอบกันไปก็ได้ ทั้งนี้อาจจะไม่มีคำตอบตายตัวว่าวิธีใดเหมาะสมที่สุด เราแต่ละคนล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน จึงควรสำรวจตนเอง และหาจุดที่พอดีหรือลงตัวสำหรับตนเอง

 

แนวทางเบื้องต้นในการรับมือกับข่าวร้าย มีดังนี้

 

  1. เผชิญโดยตรง ด้วยการมองบวก มีความรักและเมตตาตนเอง
  2. ระบายความรู้สึกกับบุคคลที่ไว้ใจได้ และมีความเข้าใจเรา
  3. หาแหล่งสนับสนุนทางสังคม เช่น เพื่อน ชมรม กลุ่ม ฯ ที่ช่วยให้เราคลายความทุกข์จากข่าวร้าย
  4. หาแหล่งช่วยเหลืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือที่มาของข่าวร้าย เช่น โรงพยาบาล ตำรวจ นักกฎหมาย ธนาคาร ฯลฯ
  5. หากิจกรรมผ่อนคลายลักษณะต่างๆที่ไม่เป็นโทษ ได้แก่ การ ออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การฟังดนตรี การปลูกต้นไม้ การทำงานอดิเรกต่างๆ การเล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
  6. การหลบเลี่ยงจากสถานการณ์ชั่วคราว

นอกจากนี้ เรายังมีแนวทางในการฝึกฝนตนเองเพื่อรับมือกับข่าวร้าย ซึ่งเป็นหนทางที่ยั่งยืนมากกว่า ดังนี้

 

การสร้างภูมิป้องกันตนเองก่อนที่จะมีข่าวร้าย เป็นการรับมือกับข่าวร้ายที่มุ่งพัฒนาคุณลักษณะในตนของบุคคลให้มีความเข้มแข็งมั่นคง และมีแนวทางในการคิด ในการอยู่กับสถานการณ์อย่างสุขุมรอบคอบ มีสติ และมีทักษะในการดำเนินชีวิตที่มีหลักการ มาจากกระบวนการเรียนรู้ จึงเป็นแนวทางที่ยั่งยืน มิใช่วิธีการที่มุ่งจะแก้ไขปัญหาเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น

 

การสร้างภูมิป้องกันตนเอง ทำได้ดังนี้

 

1. รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง และให้ความรักความเมตตาต่อตนเอง

 

ทำได้โดยการฝึกจิตฝนใจตนให้รู้จักพิจารณาตนเองอยู่เสมอ ใคร่ครวญ ทบทวนการคิดการพูดการกระทำของตนเอง ให้เกิดความรู้เท่าทัน เกิดการยับยั้งชั่งใจไม่ถลำไปในทางที่ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่นทั้งในทางความคิด คำพูด และการกระทำ นอกจากนี้จะต้องใคร่ครวญให้เข้าใจตนถึงสาเหตุการกระทำของตน โดยวิเคราะห์หาเหตุหาผลอย่างตรงไปตรงมา การฝึกสติและสมาธิในการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่ควรกระทำอยู่เสมอโดยไม่ผัดผ่อน เพราะเป็นเสมือนเสาหลักที่มั่นคงทางใจ แม้ชีวิตจะมีเหตุจากภายนอกมากระทบเช่นไรก็ย่อมไม่กระทบกระเทือนจนถอนรากถอนโคน สามารถคืนสู่ความสมดุลได้ง่าย

2. ฝึกวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และลดการคิดที่ขาดเหตุผล เช่น

  • คนเราต้องมีความสมบูรณ์แบบ ความล้มเหลวเป็นสิ่งชั่วร้าย
  • การมีชีวิตที่ดี เราจะต้องไม่มีปัญหาใด ๆ
  • เมื่อเราเป็นคนดี ทุกคนควรจะรักเรา
  • ทุกสิ่งควรจะเป็นไปตามความคาดหวังของเรา
  • สิ่งทั้งหลายย่อมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • คนเราสามารถจัดการทุกสิ่งได้

 

3. ฝึกทักษะที่จำเป็นในการสื่อสาร

 

ได้แก่ การฝึกปฏิเสธ การฝึกพฤติกรรมยืนยันสิทธิของตน การฝึกฟังและพูดอย่างมีประสิทธิภาพ

 

4. ฝึกทักษะการดำเนินชีวิต และการแก้ปัญหาต่าง ๆ

 

ได้แก่ การรู้จักและเข้าใจตนเอง การวางแผนชีวิต การตั้งเป้าหมายชีวิตทั้งระยะสั้น และระยะยาว การคิด การตัดสินใจ การใช้วิจารณญาณ

 

สิ่งสำคัญที่อยากจะสรุปไว้เพื่อรับมือกับข่าวร้ายก็คือ

 

สติสัมปชัญญะ การอยู่กับปัจจุบัน ตามความเป็นจริง และยอมรับความเป็นจริง การรู้จักวางใจให้เป็นอุเบกขา ให้เป็นกลาง ให้มีความสมดุลย์ รู้เท่าทันตามความเป็นจริงของชีวิต ตามหลักธรรมชาติซึ่งมาจากการมีปัญญาเข้าถึงกฎแห่งความเป็นจริงของชีวิตตามหลักของเหตุของปัจจัยตามธรรมชาติ

 

 

สุดท้ายนี้ ขอเสนอแนวคิดแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการฝึกจิตใจเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเอง เนื่องจากร่างกายกับจิตใจมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ เมื่อเกิดความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกใด ๆ ก็ตามก็มักจะส่งผลต่อร่างกาย สิ่งใกล้ตัวที่เราสังเกตได้ง่ายคือการหายใจของเราเอง เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความเครียด เราจะหายใจไม่ได้เต็มที่ เช่น เมื่อเกิดความตื่นเต้น เกิดความกลัว เราอาจหายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อเราโกรธ เราอาจหายใจแรงขึ้น สั้นลง เป็นต้น

 

หากเราฝึกสังเกตลมหายใจเข้าและออกของเราอยู่เสมอ โดยสังเกตตามธรรมชาติ ไม่มีการบังคับควบคุมใด ๆ เราจะมีสติรู้เท่าทันในตนเอง เมื่อใดก็ตามเราได้รับเรื่องราวข่าวร้าย (แม้แต่ข่าวดีก็ตาม) และเกิดความรู้สึกนึกคิดใดขึ้น เราจะสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการหายใจของเรา การสังเกตลมหายใจทางกายนี้ก็เป็นการสังเกตสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในจิตใจของเราตามความเป็นจริง ตัวอย่างเช่นเมื่อเราเกิดความโกรธ เมื่อรับข่าวร้าย เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธตนเองว่าเราไม่ได้โกรธ เราไม่ต้องผลักไสความรู้สึกของตนเอง ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้เราเกิดความขุ่นเคืองมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อความรู้สึกโกรธยังไม่จางหายไป แทนที่เราจะปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจ เราสังเกตการหายใจของเราตามความเป็นจริง เท่ากับว่าเรากำลังเผชิญความจริงนั้นโดยไม่หลบเลี่ยง ไม่เก็บกดอารมณ์

 

การฝึกสังเกตลมหายใจจะทำให้เรามีสติ รับรู้ความเป็นจริงทั้งภายนอกที่เกิดกับร่างกายของเรา และรับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

 

หากเราฝึกที่จะสังเกตลมหายใจตามธรรมชาติโดยไม่เพิ่มพูนความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ไม่ตอบโต้โดยเสริมเติมความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ เราเรียนรู้ที่จะวางใจให้เป็นกลางต่อปรากฏการณ์ที่เราสังเกตได้ จิตใจของเราจะคืนสู่สภาวะสมดุลย์ได้เร็วขึ้น เราจะสามารถมีความสงบได้ไม่ว่าจะมีข่าวร้ายหรือข่าวดี ชีวิตก็จะสงบสุขมากขึ้น

 

 


 

 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เคล็ดลับจับโกหก

คุณคิดว่าการโกหกเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนคะ

 

นักจิตวิทยาชาวต่างประเทศกลุ่มหนึ่งที่อยากทราบคำตอบนี้ ได้ให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยจดบันทึกประจำวันอย่างละเอียดแล้วนำมาวิเคราะห์ ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า คนทั่วไปมักพูดโกหกโดยเฉลี่ยวันละ 1-2 ครั้ง นั่นแปลว่าในแต่ละวัน เรามีโอกาสไม่น้อยเลยนะคะที่จะต้องเจอกับคำโกหก และบางครั้ง เราเองก็พูดโกหกบ้างเหมือนกันใช่ไหมคะ แล้วเรื่องอะไรบ้างที่คนเรามักพูดโกหก นักจิตวิทยากลุ่มดังกล่าวพบว่า เรื่องที่คนเราพูดโกหกบ่อยที่สุด คือ เรื่องความรู้สึก ความชอบ เจตคติ ความคิดเห็น รองลงมาคือเรื่องการกระทำที่ได้ทำไปแล้ว หรือแผนการว่าจะทำอะไร รวมไปถึงความสำเร็จและล้มเหลวของตนเอง

 

 

ทำไมคนเราต้องพูดโกหกเรื่องเหล่านี้ด้วย

 

เหตุผลของการโกหกมีตั้งแต่เพื่อผลประโยชน์ เพื่อความสะดวกสบายของตัวเอง หรืออาจปกปิดการกระทำที่ผิดศีลธรรม จริยธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ บ่อยครั้งการโกหกก็มีเป้าหมายเพื่อปกป้องจิตใจตนเองและผู้อื่นจากความเจ็บปวด ความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกัน เช่น บางคนอาจเล่าเรื่องโกหกที่ทำให้ตนเองดูดีในสายตาคนอื่น เพื่อให้ดูโก้หรู ดูเก่งกว่าความจริงที่ตนเองเป็น ซึ่งอาจทำให้รู้สึกดีกับตัวเองได้ชั่วคราว หรือบางครั้งก็ต้องพูดโกหกเพื่อถนอมน้ำใจ รักษาหน้า รักษาความรู้สึกของคู่สนทนา

 

 

คงเห็นแล้วว่าการโกหกเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในคนที่ทำความผิดร้ายแรงซึ่งโกหกเพื่อเอาตัวรอดจากการสืบสวนสอบสวน ชนิดที่ต้องทดสอบกันด้วยเครื่องจับเท็จเท่านั้น การโกหกเกิดขึ้นรอบตัวเรา ในชีวิตประจำวันของเรา จากปากคนรอบข้างที่เราสนทนาด้วย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไราคู่สนทนาของเรากำลังโกหก มีสัญญาณหรือเบาะแสอะไรบ้างไหมที่จะช่วยบอกเราได้ นักจิตวิทยามีคำตอบเหล่านี้ค่ะ

 

 

นักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้ทำการทดลองความสามารถในการจับโกหกของคนทั่วไป โดยให้นักศึกษาจำนวนมากมาพูดโกหกบ้างจริงบ้างเกี่ยวกับเจตคติเรื่องต่าง ๆ ของตนให้แนบเนียนที่สุด ให้ผู้ร่วมการทดลองนับหมื่นคน จากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักจิตบำบัด นักศึกษาสาขาวิชานิติศาสตร์ ศิลปินดารา มาจับโกหก พบว่าความพยายามของคนส่วนใหญ่ในการจับโกหก ไม่ได้ทำให้เขาจับโกหกได้ดีไปกว่าการเดาสุ่มเลย คือ มีอัตราการตอบถูกว่าผู้พูดกำลังโกหกหรือพูดจริงเพียงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

.

เมื่อผู้วิจัยถามผู้ร่วมการทดลองจำนวนหนึ่งที่สามารถบอกได้ถูกต้อง 90 เปอร์เซ็นต์ ว่าผู้พูดกำลังพูดจริงหรือโกหก ในการทดลองทุก ๆ รอบ ซึ่งมีอยู่เพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ร่วมการทดลองทั้งหมด คนที่เก่งกาจในการจับโกหกเหล่านี้ตอบตรงกันว่า เขาสังเกตจากอวัจนภาษา และวิธีการใช้คำพูดของผู้พูดแต่ละคน ดังนั้น นักจิตวิทยาจึงได้เสนอแนะวิธีสังเกตเบาะแสของการพูดโกหกที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิสัมพันธ์กันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจับเท็จ โดยเราสามารถสังเกตสัญญาณของการโกหกได้จากสีหน้าท่าทาง วิธีการพูด การใช้ภาษา

 

 

 

สัญญาณจากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการจับโกหก

 

 

1. สัญญาณด้านอารมณ์ความรู้สึก

 

นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกให้เหตุผลว่า การพูดโกหก คือการพูดเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้เชื่อ ไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนั้นจริง ดังนั้น ผู้พูดอาจเกิดความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่ากำลังโกหก หรือความรู้สึกละอายใจที่พูดโกหก หรือกรณีการแสร้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกอื่นที่ไม่ตรงกับอารมณ์ความรู้สึกจริง ๆ ย่อมมีร่องรอยของอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่รั่วไหลออกมาทางสีหน้า ท่าทาง หรือแม้แต่น้ำเสียง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติที่ยากจะควบคุมไว้ให้แนบเนียนได้ตลอดเวลา เมื่อผู้พูดเกิดความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่าโกหก เราอาจสังเกตเห็นสัญญาณของความกลัว ซึ่งแสดงออกมาได้หลายอย่าง เช่น พูดด้วยน้ำเสียงที่สูงกว่าปกติ พูดเร็ว และดังกว่าปกติ พูดติดขัด พูดผิดบ่อย ๆ สัญญาณดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนขึ้นหากผู้พูดคาดว่าและกลัวว่าจะถูกจับได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องเสี่ยง และผู้พูดรู้สึกว่ากำลังถูกจับตามองอยู่ แต่เมื่อใดที่คู่สนทนาเป็นคนที่ไว้วางใจในตัวผู้พูดมาก หรือรู้สึกว่าเป็นการพูดโกหกเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ควรทำ แต่ตนเองก็กำลังพูดโกหก ผู้พูดอาจเกิดความรู้สึกผิด หรือละอายที่พูดโกหก สัญญาณต่าง ๆ ที่แสดงถึงความรู้สึกละอายใจหรือรู้สึกผิดก็จะรั่วไหลออกมาให้เราสังเกตได้ เช่น การพูดด้วยน้ำเสียงต่ำกว่าปกติ พูดช้า สีหน้าเศร้า และมักเหลือบตามองลงต่ำบ่อย ๆ ส่วนกรณีที่เป็นการพยายามซ่อนความรู้สึกที่แท้จริง โดยโกหกว่ากำลังรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อนของคุณอาจไม่ชอบหนังที่คุณชวนไปดูเลย แต่เขาก็พยายามแสดงออกว่าชอบมากเพื่อไม่ให้คุณเสียใจ เขาจึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างการแสดงอารมณ์ความรู้สึก 2 อย่าง แต่อย่างที่กล่าวไปเมื่อสักครู่นี้ว่า ปฏิกิริยาทางอารมณ์มักเป็นไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ความรู้สึกแรกที่แท้จริงอาจปรากฏขึ้นบนสีหน้าทันทีในแวบแรกที่พูดกันถึงหนังเรื่องดังกล่าว แต่เพื่อไม่ให้คู่สนทนาเสียใจ ผู้พูดก็จะพยายามยิ้มแย้มเพื่อกลบเกลื่อนและบอกกับคุณว่า เขาชอบ หนังเรื่องนี้สนุกดี หากเราสังเกตพบว่าคู่สนทนามีสีหน้าแวบแรกที่ขัดแย้งกับสีหน้าและคำพูดที่เขาแสดงต่อมา นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของเขาไม่ให้คุณรู้

2. สัญญาณที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางปัญญา

 

พูดง่าย ๆ ก็คือ สัญญาณที่บ่งบอกว่าผู้พูดจะต้องใช้ความคิดมากกว่าปกติ หรือมากกว่าที่จำเป็นต้องใช้เวลาพูดความจริง ทำไมการพูดเรื่องโกหกใช้ความพยายามทางปัญญามากกว่าการพูดความจริง นักจิตวิทยาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะการพูดโกหกคือการพูดสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ผู้พูดจะต้องใช้สมอง ใช้ความคิดเพื่อสร้างเรื่องราวขึ้นมา ในขณะที่การพูดความจริง ผู้พูดไม่ต้องใช้ความพยายามในการแต่งเรื่องมากนัก เพียงแค่เล่าไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น นอกจากความพยายามที่ใช้ไปในการสร้างเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงแล้ว คนที่กำลังพูดโกหกยังต้องพยายามควบคุมสีหน้าท่าทางของตัวเองให้ดูสมจริงสมจัง ดูเป็นธรรมชาติ ไม่มีพิรุธ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดจดจ่ออยู่พอสมควร ดังนั้น คนที่กำลังพูดโกหกจึงอาจมีกิริยาท่าทางที่แสดงให้เห็นถึงการที่ต้องใช้ความพยายามทางความคิดมากกว่าปกติ เช่น การตอบสนองกลับ เช่น การตอบคำถามจะช้ากว่า มีท่าทีลังเลในการพูด การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้มือไม้ประกอบจะน้อยลงกว่าปกติ เพราะเกิดอาการเกร็ง จดจ่ออยู่กับการตั้งใจแต่งเรื่องให้สมเหตุสมผลให้มากที่สุด และควบคุมกิริยาอาการไม่ให้มีพิรุธนั่นเอง และหากต้องทำอะไรที่ใช้ความคิดไปด้วย คนที่กำลังโกหกมักทำงานนั้นได้ไม่ดี เช่น จำข้อมูลอื่น ๆ ที่เข้ามาในขณะนั้นไม่ค่อยได้ เพราะสมองกำลังยุ่งอยู่ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ข้อสังเกตนี้จะใช้ได้ดีก็เมื่อคนที่พูดกับคุณคือคนที่คุณรู้จักหรือเคยคุยด้วยแล้ว เพราะการตอบช้า พูดช้า ไม่มีเกณฑ์สากลตายตัว แต่เป็นการเปรียบเทียบกับเวลาปกติที่คนคนนั้นพูดความจริงมากกว่าค่ะ บางคนอาจเป็นคนคิดช้าตอบสนองช้าโดยธรรมชาติอยู่แล้วนะคะ นอกจากนั้น ท่าทีลังเลก็อาจเป็นเพราะเรื่องที่กำลังพูดเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนก็ได้

3. ลักษณะของเรื่องราวและคำพูด

 

เรื่องราวที่เป็นเรื่องโกหก หากผู้พูดไม่มีโอกาสเตรียมตัวซักซ้อมการเล่าเรื่องมาก่อน เรื่องราวที่เล่าก็จะไม่ค่อยราบรื่น เนื้อเรื่องมักมีแต่ข้อมูลพื้น ๆ ไม่มีรายละเอียด คลุมเครือ ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น ไม่บอกเวลาหรือสถานที่ที่แน่ชัด นักจิตวิทยาให้เหตุผลว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรื่องโกหกเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เวลาแต่งเรื่องภายในเวลาที่จำกัด คนเราก็มักสร้างเรื่องราวที่น่าจะเป็นไปได้เท่าที่นึกออกในขณะนั้น ซึ่งเมื่อไม่ได้เกิดจากประสบการณ์จริง ก็ย่อมไม่สามารถนึกถึงรายละเอียดที่จำเพาะเจาะจงอะไรได้มากไปกว่าข้อมูลคร่าว ๆ แต่บางที ถ้าผู้พูดเตรียมตัวมาดีเกินไปก็จะดูเหมือนซ้อมมา ท่องบทมา และราบรื่นเกินไปจนไม่น่าเชื่อ นักจิตวิทยาพบว่า เวลาคนเราเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เราไม่ได้ใส่ใจจดจ่ออยู่กับคำพูดของเรามากนัก เราอาจพูดผิดออกเสียงผิดบ้าง และกรณีที่เป็นเรื่องจริงที่ผ่านมานานพอสมควร เราอาจหลงลืมจำไม่ได้ เล่าไปแล้วอาจย้อนกลับมาแก้ กลับมาเติมรายละเอียด แต่ผู้พูดโกหกที่มีเวลาเตรียมตัวซักซ้อมมาดีมักไม่ค่อยมีการพูดผิดพลาด และเล่าเรื่องยาว ๆ ได้ราบรื่นดี ไม่มีอาการหลงลืม ไม่มีการย้อนกลับมาเติมข้อมูลอะไรในภายหลัง ด้านการใช้คำพูด นักจิตวิทยาในต่างประเทศวิเคราะห์คำพูดที่โกหก พบว่า จะมีถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกทางลบมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังใช้สรรพนามเรียกตัวเองน้อยกว่าเวลาพูดเรื่องจริง และมักพูดไม่เต็มเสียง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการโกหกที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกผิดหรือละอายใจ เช่น โกหกคนที่รักและไว้วางใจตนเอง คาดว่าเป็นเพราะความรู้สึกผิดที่โกหก

 

สุดท้ายนี้ อยากฝากไว้ว่า การที่เราสังเกตเห็นสัญญาณต่าง ๆ ที่กล่าวมา ไม่ได้ทำให้เราสามารถสรุปได้ทันทีว่าผู้พูดกำลังโกหก สัญญาณเหล่านี้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นที่ต้องพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ ด้วย เช่น แรงจูงใจของผู้พูด บุคลิกลักษณะโดยธรรมชาติของผู้พูดด้วยนะคะ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง – Narcissism

 

 

บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ถูกมองว่าเป็นอาการผิดปกติทางบุคลิกภาพ

ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 4 (DSM-IV) ระบุว่าบุคลิกภาพแบบหลงตนเองมีลักษณะเด่นที่

 

การเห็นว่าตนดีกว่าหรือเหนือกว่าผู้อื่น ต้องการเป็นที่สนใจ แสวงหาการได้รับการยกย่องชื่นชม และได้รับความสนใจในฐานะเป็นบุคคลสำคัญ คาดหวังว่าตนจะเป็นที่รักของผู้อื่น และได้รับความสนใจในฐานะเป็นบุคคลสำคัญ หมกมุ่นอยู่กับความเพ้อฝันในความสำเร็จ อำนาจ ความรุ่งโรจน์ ความฉลาด ความสวยงาม รวมถึงประเมินความสามารถของตนสูงเกินความเป็นจริง ประกอบกับคิดถึงแต่ตนเองเป็นที่ตั้งและยึดตนเองเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ตนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย รู้สึกว่าตนสมควรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นเพื่อตนเอง เพราะตนเองมีความหมกมุ่นในสิ่งที่ปรารถนา รวมทั้งขาดความเห็นอกเห็นใจ ไม่สนใจหรือรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น แสดงพฤติกรรมและเจตคติในลักษณะที่หยิ่งยโส อวดดี ปกป้องตนเองจากคำวิจารณ์ของผู้อื่นและอิจฉาผู้อื่น ซึ่งลักษณะเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

 

บุคลิกภาพแบบหลงตนเองนี้ นอกจากจะนับเป็นอาการผิดปกติทางจิตวิทยาแล้ว ยังสามารถพบได้ในบุคคลทั่วไปด้วย

 

งานวิจัยพบว่าผู้ที่มีบุคลิกภาพหลงตนเองจะพยายามสร้างตัวตนในอุดมคติที่มีความสมบูรณ์แบบขึ้นมา และแสวงหาการยืนยันตัวตนในอุดมคติ ซึ่งเป็นตัวตนที่มีความสวยงาม หรูหรา ดีเลิศ แสดงให้เห็นถึงการรับรู้เกี่ยวกับตนเองแบบผิด ๆ ของผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แม้บุคคลคิดว่าตนเป็นคนสำคัญ แต่ลึกๆ ในใจแล้วกลับตระหนักว่าตัวตนที่แท้จริงมีความแตกต่างจากตัวตนในอุดมคติ ส่งผลให้ในระดับจิตไร้สำนึกบุคคลมีความรักหรือเห็นคุณค่าของตัวตนที่แท้จริงในระดับต่ำ การพยายามเพิ่มคุณค่าให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นไปเพื่อรักษาภาพลวงตาที่ตนได้สร้างเอาไว้

 

Kernberg (1975) กล่าวว่า ความหลงตนเองมีสาเหตุจากการที่บุคคลขาดความรักความเอาใจใส่ในวัยเด็ก พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างละเลย เด็้กจึงโดดเดี่ยว ถูกปฏิเสธ ทำให้บุคลิกภาพแบบหลงตนเองพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันตนเองจากความรู้สึกสูญเสีย ถูกทอดทิ้ง ส่งผลให้บุคคลหวาดกลัวกับการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่สนใจและเพิกเฉยต่อผู้อื่น เชื่อว่าตนเองเท่านี้ที่สามารถเชื่อถือได้ และไม่ไว้ใจผู้อื่น

 

เช่นเดียวกับ Kohut (1977) ที่เสนอว่า ความหลงตนเองมีที่มาจากการถูกทอดทิ้งหรือขาดความสนใจ ความล้มเหลวของครอบครัว พ่อและแม่ไม่แสดงความรักและความผูกพันกับลูก แต่ลูกกลับพยายามทำตนตามความสมบูรณ์แบบของพ่อและแม่

 

ขณะที่ Emmons (1987) ได้เสนออีกแนวคิดหนึ่งว่า ความหลงตนเองเกิดจากการที่ครอบครัวให้คุณค่ากับเด็กสูงเกินไป โดยเด็กถูกเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่และปกป้องจากพ่อแม่มากเกินไป ราวกับว่าตนเป็นคนพิเศษ ความรักของพ่อและแม่ที่มีต่อตนทำให้เด็กคิดว่าตนเป็นที่สนใจ เป็นที่รักของพ่อแม่และบุคคลรอบข้าง และรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบ เด็กจึงหลงตนเอง

 

งานวิจัยของ Wink ได้แบ่งคนหลงตนเองเป็น 2 ประเภท คือ คนหลงตนเองแบบเปิดเผย (Overt Narcissist) จะมีลักษณะชอบแสดงอำนาจ อิสระ เชื่อมั่น มักก้าวร้าว ชอบเป็นที่สนใจและยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง และคนหลงตนเองแบบปกปิด (Covert Narcissist หรือ Hypersensitive Narcissist) จะมีลักษณะปกป้องตนเอง อ่อนไหว ขาดความมั่นใจ รู้สึกไม่พอใจตนเอง โดยมีผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองและสุขภาพจิตต่างกัน ผู้ที่หลงตนเองแบบเปิดเผยจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองสูง แต่ผู้ที่หลงตนเองแบบปกปิดจะเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ คนหลงตนเองแบบเปิดเผยจึงมีสุขภาวะทางจิตที่ดีกว่า มีความสุขในชีวิตมากกว่าคนหลงตนเองแบบปกปิด

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของความหลงตนเอง รูปแบบความรักแบบเล่นเกม และการกระตุ้นลักษณะเน้นความสัมพันธ์ต่อการผูกมัดในความสัมพันธ์” โดย สุธาสินี ใจสมิทธ์ (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20752

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองต่อการตอบรับของผู้บริโภค : การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านความเป็นวัตถุนิยมและอิทธิพลกำกับของรูปแบบการ ดึงดูด” โดย วรรณธิดา ปางวิรุฬห์รักษ์ (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/37505

ภาพพื้นหลังจาก http://www.pixelstalk.net/black-grunge-wallpaper/

“อุเบกขา” ในทางจิตวิทยาและประสบการณ์การสังเกตสภาวะ

หวั่นไหว… หวาดหวั่น… หวาดกลัว… เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้อาจถูกเรียกว่า “ความทุกข์ใจ” และในบางครั้ง ช่วงเวลาที่ถูกเรียกว่าความสุขก็ยังเจือปนด้วยความทุกข์เหล่านี้เช่นกัน จะมีหนทางใดที่ทำให้เราหลุดพ้นจากความวนเวียนทางอารมณ์นี้ หรือความรู้สึกใดบ้างที่กล่าวได้ว่าเป็นสภาวะที่เป็นอิสระ และอยู่เหนือไปจากความสุข

 

ในขณะที่เขียนบทความฉบับนี้ ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาที่มุ่งศึกษาเรื่องภายในระดับจิตวิญญาณ และปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่มุ่งเน้นเหตุปัจจัยภายนอก ฟังดูอาจจะเชื่อมโยงกันค่อนข้างยาก ผู้เขียนมองว่าพฤติกรรมที่เราสังเกตและศึกษาได้นั้น ล้วนมีเหตุเบื้องลึกจากภายในจิตใจ ดังนั้น การศึกษาทำความเข้าใจสภาวะของจิต ย่อมทำให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติตามที่เราคาดหวังได้

 

 

ปัจจุบันผู้เขียนมีความสนใจศึกษาจิตวิทยาแนวพุทธ หรือ Buddhist Psychology ซึ่งเป็นการนำศาสตร์ทางจิตวิทยามาใช้อธิบายกระบวนการเกิดและการดับแห่งทุกข์ อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา และสภาวะที่ผู้เขียนมุ่งศึกษาเป็นพิเศษคือ “อุเบกขา” ซึ่งเป็นทั้งหลักธรรมและองค์ประกอบในหลายหมวดธรรม โดยข้อที่รู้จักกันมากได้แก่ พรหมวิหาร ๔ อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

 

คำว่าอุเบกขา เป็นคำที่ประเทศไทยใช้ทับศัพท์มาจากภาษาบาลี โดยอุเบกขานี้เป็นสภาวะที่อธิบายถึงการไม่ตกไปในอำนาจของอารมณ์ความรู้สึกในฝั่งฝ่ายใด (เช่น สุข ทุกข์ รัก ชัง) ด้วยจิตที่มีสติตั้งมั่นและเปี่ยมด้วยปัญญาอย่างสม่ำเสมอ หรือในอีกความหมายคือ เป็นสภาวะจิตที่ตื่นรู้อารมณ์ต่าง ๆ เพียงรับรู้แต่จิตไม่เข้าไปยึดและไม่เข้าไปเสพอารมณ์ใด

 

ปัจจุบัน อุเบกขา ถูกเรียกด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Equanimity” (\ee-kwuh-NIM-uh-tee\) ซึ่งถูกกล่าวถึงทั้งในบริบทของคริสต์ศาสนา พุทธศาสนา และจิตวิทยาสมัยใหม่ (Modern Psychology) ที่ไม่เกี่ยวข้องโยงใยกับศาสนาใด ๆ ในแง่มุมของศาสนา อุเบกขา หรือ Equanimity มีรากฐานมาจากเรื่องของความรัก หรือความเมตตาต่อสรรพสิ่ง เป็นความรักอันบริสุทธิ์ที่ปราศจากเงื่อนไข (Agape (ἀγάπη) ซึ่งในคริสต์ศาสนา ผู้ที่จะเข้าถึงสภาวะอุเบกขานี้ได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรักในระดับ Agape ซึ่งหมายถึงพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น ส่วนทางพุทธศาสนามองว่า มนุษย์ทุกคนสามารถฝึกจิตตนเองให้เกิดสภาวะนี้ได้จากการเจริญสติ (Mindfulness) และการเจริญปัญญาจนรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับมุมมองของจิตวิทยาสมัยใหม่ที่กล่าวว่า Equanimity เป็นผลมาจากการเจริญสติ และการฝึกสมาธิ (Meditation) (Anālayo, 2021; Desbordes, 2015) แตกต่างกันที่อุเบกขาในทางพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญกับการเจริญปัญญาควบคู่กับการเจริญสติ ในขณะที่มุมมองจิตวิทยาสมัยใหม่ไม่ได้มีการกล่าวถึง “ปัญญา” มากนัก

 

 

ในหลักธรรมทางพุทธศาสนา นอกจากพรหมวิหาร ๔ แล้ว ยังมีหลักธรรมอีกหลายหมวดที่มีอุเบกขาเป็นองค์ประกอบขั้นสูงสุด เช่น โพชฌงค์ ๗ ทศบารมี และอื่น ๆ โดยอุเบกขาสามารถจัดแบ่งตามลักษณะอาการ (ส่วนประกอบในระดับเจตสิก) และหน้าที่ได้ ๑๐ ประการ และได้จากการฝึกสติปัฏฐาน ๔ อาทิ การเจริญอานาปานสติ หรือการฝึกสมาธิจนเกิดเป็นองค์ฌาน เป็นต้น ในด้านการพัฒนาปัญญาที่จะเข้าถึงสภาวะอุเบกขาได้นั้น อาจต้องทำความเข้าใจถึงสัจจะเบื้องต้นในเรื่องของชีวิตก่อน หลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า

 

สิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นเสมือนว่ามีจริงนั้น ล้วนเกิดจากส่วนประกอบย่อย ๆ ที่เรียกว่าธาตุ เมื่อมาประกอบกันและทำหน้าที่แสดงอาการต่าง ๆ จึงเรียกว่าเป็นขันธ์ มนุษย์ประกอบด้วย ๕ ขันธ์ ได้แก่ รูป (ร่างกาย) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความทรงจำ) สังขาร (การปรุงแต่ง) และวิญญาณ (ตัวรู้) ซึ่งทั้งห้าส่วนนี้ ทำงานสอดคล้องกันจนเกิดเป็นการรับรู้ เกิดความนึกคิด ความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ และแสดงการกระทำผ่านทางร่างกายอันเป็นธาตุประกอบในโลกทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเมื่อธาตุลมดับออกจากร่างกาย เราจึงถือว่าบุคคลนั้นตายจากโลกนี้ไป ส่วนธาตุอื่น ๆ ก็สลายกลับคืนธรรมชาติไป … ทุกสิ่งล้วนเป็นธรรมชาติ ไม่เคยมีเราเป็นเจ้าของสิ่งใด

 

 

ในช่วงปิดภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อุทิศเวลาทั้งหมดที่มีเพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา โดยเริ่มจากการวางปริยัติลงเสียก่อน เนื่องจากรู้สึกว่ายิ่งแบก ความรู้ยิ่งหนัก ใจยิ่งฟุ้งซ่านและไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่เป็นเป้าหมายได้ แม้ว่าในปัจจุบัน ผู้เขียนอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงสภาวะนี้ได้โดยสุดรอบ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เข้าใจและเข้าถึงได้มากขึ้น เกิดความรู้สึกปลอดโปร่ง โล่งเบาจากการคิด การตั้งคำถาม วางลงได้ซึ่งความสับสน และหมดข้อสงสัยในการมีอยู่ของสภาวะใจที่เป็นกลาง ห่างจากทุกข์และสุข พระอาจารย์ในการปฏิบัติของผู้เขียนย้ำเสมอว่า หากเมื่อใดที่ยังคงมีคำถาม ขอให้เพียรปฏิบัติต่อไปจนเกิดการหยั่งรู้ได้ด้วยตนเอง หรือเกิดปัญญาญาณอันเป็นความรู้ที่ไม่ใช่การนึกคิดปรุงแต่ง ไม่ใช่การจำได้หมายรู้ หรืออนุมานสภาวะความรู้สึกเอาเอง แต่เป็นความรู้ความเข้าใจที่หมดซึ่งข้อสงสัยแคลงใจทั้งปวง

 

 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนกราบขอขมาท่านผู้อ่านหากมีข้อผิดพลาดประการใดในการนำเสนอบันทึกประสบการณ์ในครั้งนี้ ผู้เขียนมีเจตนาเพียงแบ่งปันความเข้าใจที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางศึกษา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในจิตวิทยาแนวพุทธ และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในหัวข้อคล้ายคลึงกัน

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Anālayo, B. (2021). Relating Equanimity to Mindfulness. Mindfulness, 12, 2635–2644. https://doi.org/10.1007/s12671-021-01671-z

 

Desbordes, G., Gard, T., Hoge, E. A., Hölzel, B. K., Kerr, C., Lazar, S. W., Olendzki, A., & Vago, D. R. (2015). Moving beyond mindfulness: defining equanimity as an outcome measure in meditation and contemplative research. Mindfulness, 6(2), 356-372. https://doi.org/10.1007/s12671-013-0269-8

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/photos/water

 


 

 

บทความวิชาการ 

โดย อุษณีย์ ศิริอุยานนท์

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีเมล์ 6471007238@student.chula.ac.th, Neptune.siri@gmail.com

 

ผู้ตรวจแก้ไขบทความ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์

อาจารย์ประจำ แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระอาจารย์วรศิลป์ วรปัญโญ

พระอาจารย์สอนปฏิบัติสมาธิภาวนา สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ – Buddhist counseling

 

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธเป็นองค์ความรู้ด้านการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ผสมผสานและสังเคราะห์ระหว่างองค์ความรู้ทฤษฎีจิตวิทยาตะวันตกเข้ากับหลักธรรมทางพุทธศาสนาของโลกตะวันออก โดย รศ. ดร.โสรีช์ โพธิ์แก้ว เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาและวางรากฐาน เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจนตกผลึกเป็นการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธที่มีหลักพุทธธรรมเป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือแบบรายบุคคล และแบบกลุ่ม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กลุ่มจิตวิทยาพัฒนาการและการปรึกษาแนวพุทธ ทั้งสองรูปแบบมีวัตถุประสงค์ในการทำงานเหมือนกัน จำแนกออกเป็น 2 มิติ คือ มิติการพัฒนาความเจริญงอกงามของบุคคล (personal growth) และมิติการแก้ปัญหา (problem solving)

 

มิติการพัฒนาความเจริญงอกงามของบุคคล เป็นมิติที่ขยายโลกทัศน์ของผู้รับบริการให้กว้างมากขึ้น และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิต สอดคล้องกับหลักของธรรมชาติที่กล่าวไว้ในหลักธรรมทางพุทธศาสนา ส่วนมิติการแก้ปัญหาเป็นมิติการทำงานกับปัญหาที่เป็นประเด็นค้างอยู่ในจิตใจของผู้รับบริการ จนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อปัญหา และจัดการกับปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต

 

 

หลักพุทธธรรมรากฐานของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ

 

นักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธเป็นเหมือนกัลยาณมิตรที่นำพาผู้รับบริการจากความทุกข์สู่ความไม่ทุกข์ ความไม่รู้ของอวิชชาไปสู่ปัญญาของสัมมาทิฏฐิ จนผู้รับบริการอยู่ในภาวะกลมกลืนกับวิถีมรรคในองค์แปด

 

หลักพุทธธรรมพื้นฐานสำคัญของนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ ได้แก่

 

  • หลักอริยสัจ 4 – การประสบกับความทุกข์ การทำความเข้าใจลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้น การค้นหาสาเหตุ การพิจารณาแนวทางแก้ไข การกำหนดแนวทางปฏิบัติแก้ไขและลงมือปฏิบัติให้พ้นทุกข์
  • หลักอิทัปปัจจยตา – ความเข้าใจต่อสรรพสิ่งว่ามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ไม่มีสิ่งใดที่มีตัวตนตั้งอยู่จริง ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แสดงให้เห็นถึงปัจจัยการเกิดและดับเนื่องต่อกันและกัน
  • หลักไตรลักษณ์ – ลักษณะทั่วไป หรือสามัญลักษณะของสรรพสิ่ง 3 ประการ คือ
    • อนิจจตา ภาวะของความไม่เที่ยงไม่คงที่ เมื่อมีการเกิดขึ้นย่อมมีการสลายไป
    • ทุกขตา ภาวะที่ถูกบีบคั้น กัดดัน ฝืนและขัดแย้งในตัวเองเพราะการเปลี่ยนแปลง
    • อนัตตตา ภาวะไม่มีตัวตนแท้จริง

 

 

กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ

 

ในการทำงานของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ นอกจากอาศัยหลักพุทธธรรมเป็นฐานคิดของการทำงานแล้ว หลักพุทธธรรมยังปรากฏอยู่ในรูปแบบของกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วย รายละเอียดกระบวนการมีดังนี้

 

1. กระแสบุคคล (individual process) เป็นบทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 3 ประบวนการ ได้แก่

  • การเชื่อมสมาน (tuning in) นักจิตวิทยาละทิ้งตนเองอย่างแท้จริงเพื่อรับรู้ปรากฏการณ์ที่อยู่ในจิตใจของผู้รับบริการ เป็นสภาวะจิตใจที่เปิดกว้าง โล่ง สงบ พร้อมนำตนเองไปเข้าเชื่อมสมานกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหรือผู้รับบริการได้อย่างแนบสนิท สภาวะจิตใจนั้นเรียกว่า สมานัตตา
  • การพินิจรอยแยก (identify split) นักจิตวิทยาค้นหารอบแยกอันเป็นรากเหง้าของความทุกข์ที่อยู่ในใจของผู้รับบริการ โชรีช์ โพธิ์แก้ว สรุปรากเหง้าของความทุกข์คือ “ความคาดหวัง” เป็นรอยแยกของความปรารถนาของผู้รับบริการและความเป็นจริงในชีวิต นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อรับรู้ถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างความคาดหวังและเป็นความเป็นของผู้รับบริการ และใช้ทักษะของตนเอื้อให้ผู้รับบริการได้ตระหนักถึงความคาดหวังเป็นเหตุแห่งทุกข์
  • การประจักษ์แจ้ง (realization) นักจิตวิทยาอาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิตสื่อให้ผู้รับบริการเข้าใจในความจริงของธรรมชาติ คลี่คลายปัญหาที่อยู่ในใจ ให้ผู้รับบริการได้คอยสังเกตและพิจารณาความเข้าใจนั้นอย่างมีสติและสมาธิ จนผู้รับบริการเกิดปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต

 

2. กระแสกลุ่ม (group process) เป็นบทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธในฐานของผู้นำกลุ่ม เป็นกระบวนการที่ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวหรือดำเนินไปอย่างกลมกลืนสอดคล้องกัน และสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการทำงาน แบ่งได้เป็น 4 ประการ ได้แก่

  • การเอื้อให้เปิดเผยตนเอง (Facilitate disclosure) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยให้สมาชิดได้เล่าเรื่องราวหรือประสบการณ์ของตนเอง โดยเรื่องนั้นเหล่านั้นจะเป็นประเด็นในการทำความเข้าใจ ศึกษาตนเอง และเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิก
  • การเอื้อให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (facilitate interaction) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยให้สมาชิกได้แบ่งปันความรู้สึกหรือใส่ใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันเป็นกลุ่มมากขึ้น
  • การเอื้อให้เกิดความงอกงาม (facilitate growth) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยสมาชิกให้ขยายทัศนะ ความคิด ความรู้สึกผ่านเรื่องราวหรือประเด็นที่สมาชิกเล่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น รับรู้ถึงสิ่งดีงามที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวที่สมาชิกเล่า เพื่อให้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป
  • การเอื้อให้เกิดการแก้ปัญหา (Facilitate problem solving) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยให้สมาชิกร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในใจ โดยอาศัยแผนที่ของหลักอริยสัจ 4 เพื่อให้สมาชิกเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิต

 

การพัฒนานักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ

 

ในกระบวนการเรียนการสอน นักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธต้องฝึกฝนปฏิบัติต่อเนื่องยาวนาน ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้สอน ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่มีความเข้าใจในหลักพุทธธรรมด้วย และในกระบวนการฝึกฝนพัฒนาตนเอง การสังเกตพิจารณาตนเอง (contemplative approach) เป็นกระบวนการสำคัญ การทำความเข้าใจหลักพุทธธรรมข้องพิจารณาผ่านการดำเนินชีวิตจริงของตนเอง นอกจากนี้ นักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธต้องพัฒนาทางด้านจิตใจ (spiritual development) ให้เกิดความสงบผ่านการภาวนาและเจริญสติ การสังเกตตนเองจะช่วยให้เท่าทันต่อความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ของตนเอง จิตใจสงบนิ่งพร้อมรับรู้และเชื่อมสมานกับผู้รับบริการเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแนบสนิท

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“กระบวนการนิเทศแบบกลุ่มตามโมเดลการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ: การวิจัยแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล” โดย วรัญญู กองชัยมงคล (2558) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/49795

 

ภาพประกอบ https://unsplash.com/photos/BP-Q-Z0Ua9Y

ความรัก เรา และคนอื่น ๆ : ความสัมพันธ์เชิงคู่รัก และอิทธิพลของคนรอบข้าง

ความรักอาจเป็นเรื่องของคน มากกว่า 2 คน

 

ความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่ประสบความสำเร็จอาจได้รับการสนับสนุนจากบุคคลอื่น ๆ

และความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่ประสบความล้มเหลวก็อาจได้รับการสนับสนุนจากบุคคลอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่มือที่สาม) เช่นกัน

 

หลายคนอาจมีประสบการณ์ที่สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่ “หวังดี” ให้คำแนะนำ ตักเตือน หรือแม้กระทั่ง “ด่าให้ตื่น” เมื่อพวกเขามีความเห็นว่า คนที่เรากำลังคบหาดูใจกันอยู่ไม่น่าจะเป็น “คนที่ใช่” สำหรับเรา หรือหลายคนก็อาจเคยพยายามทำหน้าที่เป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่หวังดีเสียเอง บางคนอาจคล้อยตามคนรอบข้างและเลือกที่จะยุติความสัมพันธ์ แต่บางคนก็อาจพยายามพิสูจน์ (ว่า) ตัวเอง (ถูกและคนรอบข้างผิด) และเลือกที่จะสานต่อความสัมพันธ์ การคล้อยตาม/ไม่คล้อยตามคนรอบข้างอาจขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย และ 2 ปัจจัย ที่น่าสนใจ คือ ความไว้ใจต่อความเห็นทางลบและปฏิกิริยาต่อความเห็นทางลบ

 

“ความไว้ใจ” (trust) ต่อความเห็นทางลบ (หรือการไม่ยอมรับ [disapproval]) ที่คนรอบข้างมีต่อคู่รักของเราอาจแปรเปลี่ยนได้จากหลากหลายปัจจัย

 

Jenson และคณะ (2021) ศึกษาบทบาทของปัจจัย 4 ปัจจัย ที่มีต่อความไว้ใจต่อความเห็นทางลบจากคนรอบข้าง ซึ่งได้แก่

 

(i) การรับรู้ “ความเชี่ยวชาญ” ในเรื่องความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง

(ii) หลักฐานสนับสนุนความเห็นทางลบ

(iii) การรับรู้ความลำเอียงของคนรอบข้าง

และ (iv) การรับรู้ “กระแส” ของคนส่วนใหญ่

 

Jenson และคณะ อธิบายที่มาที่ไปของปัจจัยเหล่านี้ว่า ถ้าคนที่มีความเห็นทางลบถูกมองเป็น “กูรู” หรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องความสัมพันธ์ โดยที่พวกเขาอาจประสบความสำเร็จในความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือประสบความสำเร็จในการให้คำแนะนำแก่ผู้อื่น บุคคลก็อาจมีความไว้ใจต่อความเห็นทางลบ นอกจากนั้น ถ้าคนที่มีความเห็นทางลบได้นำเสนอเหตุผลและหลักฐานที่น่าเชื่อถือ (เช่น อธิบายได้อย่างชัดเจนว่า บุคคลและคู่รักอาจมีบุคลิกภาพไม่เข้ากัน หรือมีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า คู่รักของบุคคลมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ) เพื่อที่จะสนับสนุนความเห็นทางลบของตัวเอง บุคคลก็อาจมีความไว้ใจต่อความเห็นทางลบเช่นกัน

 

ในทางกลับกัน หากบุคคลเชื่อถือการรับรู้และประสบการณ์ของตนเอง (ว่าจริงแท้ที่สุดแล้ว) พวกเขาจะพยายามหาคำอธิบายเมื่อได้รับความเห็นทางลบจากคนรอบข้าง และคำอธิบายที่ง่ายที่สุด คือ คนรอบข้างมี “ความลำเอียง” ต่อคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของพวกเขา และพวกเขาจะไม่ไว้ใจต่อความเห็นทางลบ และสุดท้าย เมื่อบุคคลเผชิญกับความเห็นทางลบจากคนรอบข้าง พวกเขาจะหันไปหาความเห็นของคนอื่น ๆ เพื่อที่จะดูว่า คนส่วนใหญ่มีความเห็นทางลบหรือความเห็นทางบวก (approval) และจะปรับเปลี่ยนระดับความไว้ใจต่อความเห็นทางลบไปตามกระแสของคนส่วนใหญ่ (Jenson et al., 2021)

 

Jenson และคณะ (2021) เก็บข้อมูลกับผู้เข้าร่วมการวิจัย 173 คน (ซึ่งผู้เข้าร่วมการวิจัยเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่ ไม่ได้ มีคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ที่ไม่ยอมรับคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของพวกเขา [การมีคนรอบข้างไม่ยอมรับคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของเราน่าจะเป็นเรื่องปกติ]) ผลการวิจัยพบว่า การรับรู้ “ความเชี่ยวชาญ” ในเรื่องความสัมพันธ์ของคนรอบข้างและหลักฐานสนับสนุนความเห็นทางลบมีความสัมพันธ์ ทางบวก กับความไว้ใจต่อความเห็นทางลบ (ยิ่งมากก็ยิ่งไว้ใจ) และการรับรู้ความลำเอียงของคนรอบข้างมีความสัมพันธ์ ทางลบ กับความไว้ใจต่อความเห็นทางลบ (ยิ่งมากก็ยิ่งไม่ไว้ใจ) และประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผลการวิจัยนี้เกิดขึ้นกับทั้งความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่สังคมมักจะยอมรับและความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่สังคมมักจะไม่ยอมรับ (เช่น คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ คู่รักที่มีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติและศาสนา คู่รักที่มีอายุแตกต่างกันมาก ฯลฯ)

 

นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นและความไว้ใจแล้ว บุคคลยังอาจมี “ปฏิกิริยา” ที่แตกต่างกัน เมื่อเผชิญกับความเห็นทางลบที่คนรอบข้างมีต่อคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รัก ซึ่งปฏิกิริยาอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

(i) ปฏิกิริยาต่อต้าน (defiant reactance) ที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะทำตรงกันข้ามกับความเห็นทางลบ (เช่น คบหากันอย่างสนิทสนมมากขึ้น) บางคนอาจเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า boomerang effect (ที่อาจไม่ได้สะท้อนความรักอย่างแท้จริง) หรือ Romeo and Juliet effect (ที่มักจะสะท้อนความรักอย่างแท้จริง)

 

และ (ii) ปฏิกิริยาเมินเฉย (independent reactance) ที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะไม่ใส่ใจกับความเห็นทางลบและแสดงความต้องการอิสระที่จะตัดสินใจในเรื่องความรักด้วยตัวเอง

 

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับความเห็นทางลบจากคนรอบข้างอาจสามารถอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดบางคนที่ได้รับความเห็นทางลบจึงตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ แต่บางคนที่ได้ความเห็นทางลบกลับตัดสินใจสานต่อความสัมพันธ์ Sinclair และคณะ (2015) ได้ดำเนินการวิจัยทางจิตวิทยาเพื่อที่จะหาคำตอบของคำถามนี้ โดยใช้ทั้งการสำรวจด้วยเครื่องมือวัดทางจิตวิทยา การทดลองด้วยเรื่องราวสมมติ (experimental vignette) ที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะอ่านเรื่องราวสมมติที่พ่อแม่/เพื่อนแสดงการยอมรับ (ความเห็นทางบวก) หรือไม่ยอมรับ (ความเห็นทางลบ) ต่อคู่รัก และการทดลองด้วย virtual dating game ที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะเล่นเกมกับหน้าม้า (confederate) และได้รับความเห็นที่สอดคล้องกัน/ไม่สอดคล้องกันระหว่างพ่อแม่และเพื่อน

 

ผลการวิจัยโดยภาพรวม คือ ปฏิกิริยาเมินเฉยมีบทบาทค่อนข้างมากต่อการที่บุคคลจะมี “ระดับความรักความชอบพอ (คู่รักของตน)” เปลี่ยนแปลงไปเมื่อได้รับความเห็นจากคนรอบข้าง กล่าวคือ เมื่อบุคคลได้รับความเห็น ทางบวก จากคนรอบข้าง พวกเขาจะมีความรักความชอบพอในระดับสูง (ซึ่งไม่น่าแปลกใจ) แต่เมื่อบุคคลได้รับความเห็น ทางลบ จากคนรอบข้าง ระดับความรักความชอบพอของพวกเขาจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มที่พวกเขาจะมีปฏิกิริยาเมินเฉยต่อความเห็นทางลบนั้น หากบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉย ระดับความรักความชอบพอของพวกเขาก็จะลดต่ำลงเพียงเล็กน้อย แต่หากบุคคล ไม่ได้ มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉย ระดับความรักความชอบพอของพวกเขาก็จะลดต่ำลงเป็นอย่างมาก ส่วนปฏิกิริยาต่อต้านไม่ได้แสดงบทบาทที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าปฏิกิริยาเมินเฉยทำได้ง่ายกว่าและไม่น่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งมากนัก (Sinclair et al., 2015)

 

ประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยข้างต้น คือ เราอาจคิดว่าปฏิกิริยาเมินเฉยเป็นสิ่งที่พึงประสงค์เพราะบุคคลจะไม่เอนเอียงไปตามความเห็นจากคนรอบข้าง (ซึ่งก็ถูก) อย่างไรก็ตาม ความแน่วแน่มั่นคงนี้จะเกิดขึ้นกับทั้งกรณีที่ได้รับความเห็นทางลบและกรณีที่ได้รับความเห็นทางบวก จากงานวิจัยของ Sinclair และคณะ (2015) ผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มักจะรายงานระดับความรักความชอบพอ สูงที่สุด คือ คนที่ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉยและได้รับความเห็นทางบวกจากคนรอบข้าง แต่สำหรับคนที่มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉย ความเห็นทางบวกจากคนรอบข้างอาจไม่ได้ทำให้ระดับความรักความชอบพอเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด (ซึ่งบางคนที่นิยมการเผื่อใจก็อาจถูกใจกับสิ่งนี้)

 

จุดเริ่มต้นของความรักอาจเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักคงไม่สามารถจำกัดอยู่แค่เรื่องของคนสองคนได้ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า คนรอบข้างมีอิทธิพลต่อความรักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของเราไม่มากก็น้อย การรักษาความสมดุลระหว่างการรับรู้ของตัวเองและความเห็นจากคนรอบข้างอาจเป็น “โจทย์” ที่คู่รักอาจต้องช่วยกันประคับประคอง

 

เมื่อความสัมพันธ์เชิงคู่รักดำเนินไปอย่างราบรื่น การลดทอนเสียงจากคนรอบข้างอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี แต่เมื่อความสัมพันธ์เชิงคู่รักเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรค การรับฟังเสียงจากคนรอบข้างและการประเมินสถานการณ์บนความเป็นจริงก็อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน (McNulty et al., 2008) อย่างไรเสีย ความเห็นจากคนรอบข้างไม่ได้เป็น “ประกาศิต” ที่จะชี้เป็นชี้ตายความสัมพันธ์ระหว่างเราและคู่รัก แต่เป็นเพียงกระจกสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งบางบานอาจนำเสนอภาพที่ตรงกับความเป็นจริง แต่บางบานอาจนำเสนอภาพที่บิดเบี้ยว ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้านด้วยตัวเองก็ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ และสุดท้าย ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นของความรักอาจเป็นเรื่องของคนสองคน แต่จุดสิ้นสุดของความรัก (เมื่อเกิดขึ้นแล้ว) จะ เป็นเรื่องของคนสองคนอย่างแน่นอน

 

 

รายการอ้างอิง

 

Jenson, K., Holmberg, D., & Blair, K. (2021). Trust me, he’s not right for you: Factors predicting trust in network members’ disapproval of a romantic relationship. Psychology and Sexuality, 12, 345-361.

 

McNulty, J. K., O’Mara, E. M., & Karney, B. R. (2008). Benevolent cognitions as a strategy of relationship maintenance: “Don’t sweat the small stuff” … But it is not all small stuff. Journal of Personality and Social Psychology, 94, 631-646.

 

Sinclair, H., Felmlee, D., Sprecher, S., & Wright, B. (2015). Don’t tell me who I can’t love: A multimethod investigation of social network and reactance effects on romantic relationships. Social Psychology Quarterly, 78, 77-99.

 

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย