ข่าวและกิจกรรม

การทำหน้าที่ของครอบครัว – Family Function

 

 

การทำหน้าที่ของครอบครัว คือ การที่สมาชิกในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กันภายใน และปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของตน เพื่อให้ครอบครัวมีการตอบสนองทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อปรับตัวให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

 

 

การทำหน้าที่ของครอบครัว (ตามแนวคิดของ McMaster, 1982)

 

McMaster Model of Family Function: MMFF มองว่าครอบครัวเป็นระบบเปิดที่ประกอบด้วยระบบย่อยหลายส่วน ได้แก่ ระบบบิดามารดาและบุตร ระบบคู่สมรส ระบบพี่น้อง และระบบเครือญาติ แนวคิดนี้ใช้ทฤษฎีหลายอย่างมาอธิบายการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัว เช่น ทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีการเรียนรู้ และทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยอยู่ภายใต้ทฤษฎีระบบ (System theory) และมีสมมติฐานดังนี้

 

  • สมาชิกที่อยู่ร่วมกันในระบบครอบครัวมีความเกี่ยวข้องกัน พฤติกรรมของสมาชิกคนหนึ่งย่อมีอิทธิพลต่อสมาชิกคนอื่น ๆ
  • การทำความเข้าใจสมาชิกคนในคนหนึ่ง ไม่สามารถกระทำได้โดยวิเคราะห์บุคคลนั้นเพียงคนเดียว จะต้องพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นกับครอบครัวทั้งระบบด้วย
  • รูปแบบของปฏิสัมพันธ์และการจัดองค์กรในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญต่อพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคน

McMaster ได้แบ่งหน้าที่ของครอบครัวออกเป็น 6 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน ได้แก่

 

1. การแก้ปัญหา (Problem Solving)

หมายถึง ความสามารถของครอบครัวต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งภายใน และภายนอกครอบครัว โดยแบ่งปัญหาได้เป็น 2 ด้าน คือ

1.1 ปัญหาด้านวัตถุ (Instrumental) เป็นปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ที่อยู่อาศัย สุขภาพ การเงิน
1.2 ปัญหาด้านอารมณ์ (Affective) เช่น ความโกรธเคืองระหว่างพี่น้อง การไม่ไว้วางใจกันระหว่างสามีภรรยา

 

2. การสื่อสาร (Communication)

หมายถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทั้งการสื่อสารโดยใช้คำพูด และการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด ครอบครัวที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารจะสื่อสารกันได้อย่างชัดเจน (เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา) และตรงต่อบุคคลเป้าหมาย (ไม่ผ่านบุคคลอื่น ไม่เป็นการพูดลอย ๆ)

 

3. บทบาท (Role)

หมายถึง แบบแผนหรือพฤติกรรมที่สมาชิกในครอบครัวจะประพฤติกันซ้ำ ๆ เป็นประจำ เพื่อทำให้ครอบครัวสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม การประเมินความเป็นไปของบทบาทในครอบครัวต้องพิจารณา 2 ด้าน คือการมอบหมายความรับผิดชอบในหน้าที่บางประการให้สมาชิก และการดูแลให้สมาชิกรับผิดชอบต่อบทบาทและหน้าที่ของตน

 

4. การตอบสนองทางอารมณ์ (Affective responsiveness)

หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์ที่จะตอบสนองต่อกันอย่างเหมาะสมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณอารมณ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัว ทั้งอารมณ์เชิงบวก เช่น รัก เป็นสุข ยินดี และอารมณ์เชิงลบ เช่น กลัว เศร้า โกรธ เสียใจ ผิดหวัง ครอบครัวที่ทำหน้าที่ได้ดีจะแสดงอารมณ์ได้หลายแบบในปริมาณและสถานการณ์ที่เหมาะสม

 

5. ความผูกพันทางอารมณ์ (Affective involvement)

หมายถึง ระดับความห่วงใยที่มีต่อกันของสมาชิกในครอบครัว การเห็นคุณค่าในสิ่งต่าง ๆ ที่สมาชิกทำ ความผูกพันทางอารมณ์มีหลายระดับ ตั้งแต่ (1) ปราศจากความผูกพัน (2) ผูกพันแบบไม่มีความรู้สึก คือ สนใจตามหน้าที่ หรือเพราะความอยากรู้อยากเห็น (3) ผูกพันเพื่อตนเอง เพื่อเสริมคุณค่าในตนเอง มิได้สนใจอีกฝ่ายอย่างจริงใจ (4) ผูกพันอย่างเข้าอกเข้าใจในความต้องการของอีกฝ่ายอย่างเหมาะสม (5) ผูกพันมากเกินไป จนอีกฝ่ายรู้สึกไม่มีความเป็นส่วนตัว จนถึง (6) ผูกพันจนเหมือนเป็นบุคคลเดียวกัน

 

6. การควบคุมพฤติกรรม (Behavior control)

หมายถึง แบบแผนการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสถานการณ์ต่าง ๆ พฤติกรรมที่ต้องมีการควบคุมได้แก่ พฤติกรรมที่ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจและชีวภาพ พฤติกรรมทางสังคม พฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สิน และการรักษาระเบียบวินัยภายในครอบครัว

 

 

การควบคุมพฤติกรรมภายในครอบครัวแบ่งได้ 4 แบบ คือ

 

แบบเข้มงวด – ครอบครัวมีการกำหนดมาตรการและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน มีบทลงโทษเมื่อทำผิด ข้อดีคือสมาชิกทุกคนจะปฏิบัติสมหน้าที่ แต่ในทางกลับกัน การปรับตัวของสมาชิดจะยากลำบาก อาจส่งผลให้สมาชิกมีการต่อต้านแบบดื้อเงียบ

แบบยืดหยุ่น – ครอบครัวมีกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนกฎไปตามความเหมาะสม เป็นการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพราะเป็นไปตามความเข้าใจและยอมรับของคนในครอบครัว

แบบอะไรก็ได้ – ครอบครัวไม่มีทิศทางแน่นอนว่าสมาชิกควรประพฤติอย่างไร สมาชิกมักขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน การสื่อสารมักมีปัญหาเพราะมมีใครฟังใคร ครอบครัวแบบนี้จะปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดี โตมาด้วยความรู้สึกไม่มั่นคง ควบคุมตนเองไม่ได้ และอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อเรียกร้องความสนใจ

แบบยุ่งเหยิง – ครอบครัวมีการควบคุมพฤติกรรมแบบขึ้น ๆ ลง ๆ บางครั้งเข้มงวด บางครั้งยืดหยุ่น การควบคุมแบบนี้ไม่เหมาะสมที่สุด เพราะทำให้ครอบครัวไม่มีเสถียรภาพและไม่มีความเสมอต้นเสมอปลายในการปฏิบัติหน้าที่

 


 

 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดเผยตนเอง ความเหงา และการทำหน้าที่ของครอบครัวต่อพฤติกรรม การเสพติดอินเตอร์เน็ต” โดย ณัฐรดา อยู่ศิริ สุพิชฌาย์ นันทภานนท์ และ หทัยพร พีระชัยรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46895

East-West Center Online Seminar No.6 “Examining the role of culture in psychological research”

งานเสวนาออนไลน์ ครั้งที่ 6

โดย ศูนย์ East-West คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

“Examining the role of culture in psychological research”

วันอังคารที่​ 15 ก.พ.​ 65​ เวลา​ 19:00-20:00​ น.

 

 

 

อาจารย์ ดร. เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาข้ามวัฒนธรรมจะมานำเสนอเรื่อง การศึกษาบทบาทของวัฒนธรรมในงานวิจัยจิตวิทยา เช่น

 

🌎 มุมมองของจิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก
🌎 จิตวิทยาทางวัฒนธรรม (cultural psychology) และจิตวิทยาข้ามวัฒนธรรม (cross-cultural psychology) มีวิธีวิจัยต่างกันอย่างไร
🌎 ความหลากหลาย และการผสมผสานทางวัฒนธรรม อย่างเช่น ประเด็นเรื่อง multiculturalism

 

ท่านที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วม Zoom Meeting กับเราได้ที่ลิงค์ https://forms.gle/K4WnSJKo6Xq5dxF39

หรือติดตามชมได้ใน FB Live พร้อมร่วมถามคำถาม พูดคุยได้เช่นกันค่ะ

 

 


 

 

รับชมคลิปย้อนหลัง https://www.facebook.com/eastwestpsycu/videos/677630323422000/

 

รักในวัยเรียน

“รักในวัยเรียน” ความรักในที่นี้หมายถึงความรักฉันชู้สาว หรือจะเรียกอีกอย่างก็คือ “การมีแฟนในวัยเรียน” ความรักต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นความรักความผูกพันกับเพศเดียวกันหรือต่างเพศ เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น จะว่าเป็นธรรมชาติก็พูดได้เช่นกัน เพราะในวัยเด็กเริ่มรุ่น เด็กจะผูกพันสนใจใครบางคนเป็นพิเศษ ก็เนื่องมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนซึ่งจะหลั่งออกมาในช่วงของวัยเริ่มรุ่น 

 

นักจิตวิทยาบางท่านกล่าวว่า เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะคิดว่า การตื่นตัวทางเพศและการเริ่มสนใจบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ เรียกว่า “ความรัก” ดังนั้นเมื่อเด็กวัยรุ่นที่เริ่มมีความรู้สึกอย่างนี้ เด็กวัยรุ่นก็จะคิดว่า “ฉันรักคนนี้แล้ว” ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเป็นความตื่นเต้น ความสนใจผิวเผินที่เกิดขึ้นเท่านั้น และยิ่งถ้าสังคมรอบตัวโดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความรักและการมีแฟน” วัยรุ่นจะเกิดพฤติกรรมของการตามอย่างกันได้ง่ายขึ้น มีการเดินจับกันเป็นคู่ ๆ ถ้าคนไหนไม่มีแฟนคนนั้น “แปลก” หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้าค่านิยมของกลุ่มสังคมที่เด็กวัยรุ่นอยู่เป็นลักษณะนี้ก็จะทำให้เด็กวัยรุ่นเกิดความรักในวัยเรียนหรือมีแฟนในวัยเรียนได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความรักของเด็กวัยเริ่มรุ่นเป็นความรักที่ผิวเผิน เกิดเนื่องจากความตื่นตัวทางเพศและการทำตามอย่าง จึงทำให้ความรักในช่วงนี้เป็นความรักที่มีการเปลี่ยนแปลงง่าย ยังไม่ใช่ความรักที่คงทนถาวรเหมือนความรักของผู้ใหญ่ หรือที่เป็นความรักฝรั่งเขาเรียกว่า “Puppy Love” นั่นเอง

 

ความรักในวัยเรียนมีโอกาสของการเกิดขึ้นได้สูง เพราะร่างกายของช่วงวัยรุ่นจะมีการหลั่งของฮอร์โมนที่จะส่งผลให้เด็กวัยรุ่นเริ่มมีความสนใจบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษและถ้าสังคมรอบตัวของเด็กวัยรุ่นให้ค่านิยมต่อการมีแฟนก็จะยิ่งทำให้เด็กวัยรุ่น เกิด “ความรักในวัยเรียน” ได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังเป็นโชคดีของผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่น นั่นก็คือมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาแล้วพบว่า ถ้าเราเบนความสนใจของเด็กวัยรุ่นให้ไปมุ่งสนใจทางอื่นที่มีประโยชน์ เช่นทางด้านการเรียนหรือทางด้านกีฬา ก็จะสามารถทำให้เด็กวัยรุ่นเบี่ยงเบนความสนใจโดยไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องทางเพศมากนัก จนไม่เกิด “ความรักในวัยเรียน” ที่ออกนอกลู่นอกรอยไป

 

 

ขั้นตอนของความรัก

 

ความรักที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดกับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ย่อมจะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับ คือในขั้นแรกจะเป็นความรักที่ซาบซึ้งหวาบหวาม ขั้นนี้เป็นช่วงของการรักกันใหม่ ๆ ซึ่งเป็นระยะที่คนที่รักกันพยายามทำตัวให้ดูดีในสายตาของอีกฝ่ายหนึ่ง มีการสร้างภาพที่ดีของตนเองขึ้นในสายตาของฝ่ายตรงข้าม เช่น พูดเพราะ แต่งตัวสวย ทำตัวดี ซึ่งในระยะนี้เป็นระยะแรกของความรักหรือการเป็นแฟนกัน ในเด็กวัยรุ่นจะเห็นได้ชัดถึงการสร้างความผูกพันหวานซึ้งซึ่งกันและกันมีการโทรศัพท์หากันทุกช่วงเวลา มีข้อความหวาน ๆ ให้กันเป็นความรักและความลุ่มหลงผสมเข้าด้วยกัน ซึ่งในระยะนี้เป็นช่วงที่อันตรายที่อาจมีการสร้างความผูกพันลึกซึ้ง หรืออาจถึงการมีเพศสัมพันธ์กันได้ อย่างไรก็ตามในระยะนี้จะอยู่ไม่นานนัก จากการศึกษาพบว่า จะอยู่ประมาณ 4-12 เดือน

 

ระยะที่สองเป็นระยะที่ตัวตนที่แท้จึงเริ่มปรากฏ นั่นก็คือหลังจากคบไปได้ระยะหนึ่ง ตัวตนที่แท้จริงจะปรากฏให้อีกฝ่ายได้เห็น การทำตัวให้ดูดีในสายตาของอีกฝ่ายจะลดลงระยะนี้วัยรุ่นจะปรับตัวต่อสภาพความเป็นจริงของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการปรับตัวนี้จะนำไปสู่การเข้ากันได้หรือแตกกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเรายอมรับสภาพความเป็นจริงของอีกฝ่ายได้มากน้อยแค่ไหน

.

ส่วนในระยะสุดท้าย จะเป็นระยะที่ดูการเข้ากันได้ในสภาพที่ไกลตัวออกไป นั่นก็คือ จะดูสภาพของครอบครัวของแต่ละฝ่าย สภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งถ้าคนที่รักกันสามารถผ่านขั้นที่ 3 ได้มีการยอมรับซึ่งกันและกัน และเข้าสู่การอยู่ด้วยกันอย่างถาวร ก็จะอยู่ด้วยกันด้วยดี มีความสุข

 

 

ในระยะวัยรุ่น ซึ่งกำลังเรียนหนังสือ ถ้าเกิดความรักขึ้นก็มักจะอยู่ในระยะแรก มีความหวือหวาของอารมณ์รักแรง โกรธแรง ซึ่งเป็นลักษณะของวัยรุ่น ดังนั้นความรักของเด็กวัยรุ่นจะเป็นความรักที่มีความผูกพันกันสูง เรียกว่าขาดกันไม่ได้ รวมทั้งรู้สึกว่า ไม่มีใครเข้าใจเขาได้ดีกว่าคนที่เขารัก ดังนั้น การห้ามไม่ให้ “วัยรุ่นรักกัน” จะยิ่งทำให้วัยรุ่นเกิดความกดดัน มีการแอบพบกัน มีการโกหกผู้ปกครอง และเนื่องจากต้องหลบซ่อน แอบพบกันจึงทำให้การเรียนเสีย เรียนไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ปกครองควรพยายามเข้าใจเด็กวัยรุ่น พยายามให้พฤติกรรมของวัยรุ่นอยู่ในสายตาของผู้ปกครอง ไม่จำเป็นต้องห้ามแต่ควรจะประคับประคองให้อยู่ในพฤติกรรมที่เหมาะสม จะได้ไม่เป็นปัญหาในภายหน้า

 

 

ทำไมรักของวัยรุ่นถึงยังไม่มั่นคง

 

ความรักของวัยรุ่น โดยเฉพาะในช่วงมัธยมตอนต้น ซึ่งยังเป็นความรักที่เปลี่ยนแปลงง่าย เช่น รู้สึกรักคนนี้ 2 เดือน พอพบคนใหม่เปลี่ยนไปชอบคนใหม่ เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ สำหรับเรื่องนี้ เราสามารถอธิบายพฤติกรรมของวัยรุ่นช่วงนี้ได้ในหลายประการคือ

 

ประการแรก วัยรุ่นในช่วงวัยรุ่นตอนต้นจนถึงวัยรุ่นตอนกลาง (อายุ 13-17 ปี) เป็นช่วงที่เด็กค้นหาความเป็นตนซึ่งความเป็นตนในที่นี้ก็คือ การค้นหาว่าเขาเป็นใครมีความสามารถแค่ไหนมีความต้องการอะไรในชีวิตที่แท้จริง ซึ่งการค้นพบตัวเองจะเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้โดยตรงหรือการสังเกตคนรอบตัว ประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้วัยรุ่นเปลี่ยนการรับรู้ตนเองและความต้องการของตัวเองไปเรื่อย ๆ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้วัยรุ่นเปลี่ยนคนที่ตนเองรักเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของตนในขณะนั้น และเมื่อวัยรุ่นค้นพบตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ความรักของวัยรุ่นจะมั่นคงขึ้น และไม่เปลี่ยนแปลงง่ายนัก

 

ประการที่สองก็คือ ในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นตอนต้น จะมีการติดยึดอยู่กับลักษณะภายนอก เช่น ชอบคนหล่อ ชอบคนสวย หรือชอบคนเก่ง ซึ่งยังไม่คำนึงถึงการเข้ากันไม่ได้ในความคิดและทัศนคติ ทำให้วัยรุ่นมีความสัมพันธ์กันไม่นาน ซึ่งในเรื่องนี้นักจิตวิทยาพบว่า สัมพันธภาพจะยืนยาวได้ทั้งคู่จะต้องมีทัศนคติที่เหมือนกัน 75% หรือ 3/4 ของความคิดเห็นจะต้องเหมือนกัน จากลักษณะยึดติดกับลักษณะภายนอก และเด็กวัยรุ่นยังอยู่ในการค้นหาตัวเอง จึงทำให้ความรักที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นตอนต้นมีลักษณะไม่มั่นคง ผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่นจึงควรดูแลวัยรุ่นให้สายสัมพันธ์ในรูปของความรักของวัยรุ่นอยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะพอควร อย่าปล่อยโอกาสที่มากเกินไป จนทำให้วัยรุ่นสามารถทำพฤติกรรมที่เกินเลย เพราะในช่วงวัยรุ่นยังเป็นความรักที่ไม่มั่นคง ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็จะทำให้เสียหายด้วยกันทุกฝ่าย

 

 

ความรักกับเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน

 

ในช่วงวัยรุ่นเด็กจะเริ่มมีการตื่นตัวทางเพศ ซึ่งในระยะนี้อารมณ์ทางเพศของวัยรุ่นจะเปรียบเสมือนไฟที่ได้รับเชื้อเพลิงเข้าไปไฟก็จะลุกขึ้นโดยง่าย ดังนั้นความใกล้ชิด การสัมผัสที่เด็กวัยรุ่นมีให้กันจะเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงซึ่งพร้อมจะทำให้ไฟซึ่งก็คือพฤติกรรมทางเพศลุกขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเด็กเริ่มมีความรักก็ย่อมต้องการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ตนรัก โอกาสของการเกิดพฤติกรรมทางเพศที่เกินเลย หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยก็เป็นไปได้โดยง่าย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้เราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ได้อย่างไร สำหรับในเรื่องนี้มีผู้รู้หลายท่านแนะนำวิธีการในการแก้ปัญหานี้หลายประการ ประการที่สำคัญก็คือการสร้างความรู้ความเข้าใจของการแสดงออกพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย และไม่ละเมิดสิทธิกันและกัน

 

ในปัจจุบันค่านิยมเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศตลอดจนเพศสัมพันธ์เปลี่ยนไป เด็กรุ่นยุคใหม่มีการยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนมากขึ้น จากการสำรวจพบว่า ผู้ชายจะยอมรับให้มีเพศสัมพันธ์กับคนรักมากกว่าผู้หญิง ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม สังคมปัจจุบันยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนมีมากขึ้น โดยมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ทั้งนี้ ที่บ้านและโรงเรียนควรทำความเข้าใจให้วัยรุ่นได้ตระหนักถึงผลที่ตามมาและความเสี่ยงต่าง ๆ จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

 

 

ถ้าวัยรุ่นมีรักในวัยเรียนจะทำอย่างไร

 

ความรักเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไปไม่พ้น ถ้าเราพบว่าวัยรุ่นเกิดความรักระหว่างกันและกันฉันหนุ่มสาวขึ้นในวัยเรียนเราจะทำอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก เพราะในช่วงวัยรุ่น “ความรักเปรียบเสมือนโคถึก” จะห้ามก็ไม่ได้ ซึ่งถ้าห้ามจะยิ่งเกิดการกดดันและเกิดพฤติกรรมหลบซ่อน เพราะวัยรุ่นเปรียบเสมือนเรือที่แล่นอยู่ในกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ถ้าเราไปห้ามไปขัดขวางไม่ให้เรือแล่น เรือก็จะแตก ดังนั้นเราจะถือหางเสือเรืออย่างไรที่จะทำให้เรือค่อย ๆ พยุงตัวไปได้จนกว่าจะผ่านกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากนี้

 

ความจริงโดยธรรมชาติของวัยรุ่น ความรักส่วนใหญ่อยู่ไม่นาน วัยรุ่นมีแนวโน้มจะเปลี่ยนคนที่ตนรักไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อความรักเกิดขึ้น เราก็ควรเปลี่ยนกระแสความรักของวัยรุ่นให้เป็นกระแสความรักที่ดี หรือตามศัพท์สมัยใหม่ เรียกว่า “เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส” นั่นเอง

 

เราจะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างไร จริง ๆ แล้วความรักจะเหมือนพลังงานที่มีแรงผลักดันหรือแรงบันดาลใจให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อเด็กอยู่ในห้วง “ความรัก” เราสามารถกระตุ้นให้เด็กเห็นคุณค่าของความรัก และมีการทำพฤติกรรมบางอย่างเพื่อคนที่คนรัก เช่น จัดให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันกับคนที่เด็กรัก เช่น ช่วยกันเรียน ช่วยกันดูหนังสือ หรือทำงานอดิเรกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุนให้ทำกิจกรรมร่วมกันในทิศทางสร้างสรรค์นี้สามารถตอบสนองของการอยากอยู่ใกล้ชิดกันได้ ตลอดจนยังทำให้เด็กเรียนรู้นิสัยที่แท้จริงของกันและกันในทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง รวมทั้งอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่

 

 

ความรักเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเกิดในผู้ใหญ่ หรือในวัยเรียน ความรักจะสร้างประโยชน์มากมายถ้าเรารู้จักเปลี่ยนพลังงานที่เกิดจากความรักให้ไปสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม และเมื่อเกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมแล้ว พฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการให้เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น

 

 


 

รายการอ้างอิง

ภาพประกอบจาก http://www.freepik.com

 

 


 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ประไพพรรณ ภูมิวุฒิสาร

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชายและหญิงรักต่างกันหรือไม่?

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์เพราะต้องการความรัก ผู้ชายมีความรักเพราะต้องการมีเพศสัมพันธ์”
แม้คำกล่าวนี้จะมีอคติ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงและผู้ชายรักแตกต่างกัน

 

นักจิตวิทยา ได้สรุปผลการวิจัยที่ศึกษาความแตกต่างในเรื่องความรักของผู้หญิงและผู้ชายไว้ว่า ผู้หญิงตกหลุมรักบ่อยกว่าผู้ชาย และเป็นความรักที่รุนแรงกว่าผู้ชาย ผู้หญิงคิดว่าความรักเป็นสิ่งที่สวยงามและมีอุดมคติเรื่องคู่มากกว่าผู้ชาย แม้ผู้หญิงจะรักบ่อยกว่าและรุนแรงกว่า แต่กลับพบว่าผู้ชายตกหลุมรักเร็วกว่าผู้หญิง

ผู้หญิงและผู้ชายเชื่อและมีประสบการณ์รักแรกพบบ่อยพอ ๆ กัน ผู้หญิงและผู้ชายรักในปริมาณเท่า ๆ กัน แต่อาจจะมีวิธีรักแตกต่างกัน ดูเหมือนผู้ชายเชื่อในรักโรแมนติคมากกว่าผู้หญิง เช่น เชื่อว่ารักแท้มีแค่เพียงครั้งเดียวในชีวิต รักแท้ย่อมนำไปสู่ความสุขที่สมบูรณ์แบบ คนควรจะแต่งงานกับใครก็ได้ที่ตนรักโดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานภาพทางสังคม ผู้หญิงดูเหมือนจะฉลาดกว่าผู้ชายในเรื่องนี้ และคำนึงถึงความเป็นจริงในเรื่องของเศรษฐกิจสังคมมากกว่า จึงทำให้ผู้หญิงใช้ความเหมาะสมเป็นเกณฑ์ในการเลือกคนที่ตนจะรักและแต่งงานด้วย

 

การที่คู่รักหรือคู่สมรสทำให้อีกฝ่ายรู้สึกพึงพอใจมักทำให้ความสัมพันธ์ยืนยาว การให้เครดิตในสิ่งที่อีกฝ่ายทำให้กับตนจะช่วยเติมความสุขให้แก่คนทั้งคู่ แต่สิ่งที่พบก็คือ คู่รักหรือคู่สมรสมักมองว่าตนทำอะไร ๆ ให้แก่อีกฝ่ายมากกว่าที่ทำจริง ๆ เช่น การหุงหาอาหาร การทำความสะอาดบ้าน และการวางแผนทำโน่นทำนี่ เป็นต้น นี่ย่อมแสดงว่าผู้ชายและผู้หญิงไม่ได้ให้เครดิตกับคู่ของตนเต็มที่เท่าที่อีกฝ่ายทำจริง ๆ และเป็นไปได้ว่ามีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การกวาดบ้าน หรือการโอบกอดแสดงความรัก

 

จริง ๆ แล้วผู้ชายและผู้หญิงมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องนี้ ผู้ชายคิดว่ากิจกรรมบางอย่าง เช่น การล้างจาน การกวาดบ้าน สำคัญมากกว่าการแสดงความรักใคร่ หรือการโอบกอด ในขณะที่ผู้หญิงคิดตรงกันข้าม ด้วยเหตุนี้ เวลาที่ผู้ชายคิดจะแสดงความรักต่อคู่รักหรือภรรยา ผู้ชายจึงล้างรถให้ผู้หญิงเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขารักผู้หญิงมากแค่ไหน ซึ่งผู้หญิงมองว่าการล้างรถเป็นการทำประโยชน์แต่ไม่ใช่การแสดงความรัก

 

ผู้หญิงและผู้ชายมองความรักและความสัมพันธ์แตกต่างกัน สำหรับผู้หญิงความใกล้ชิดคือการพูดคุยกัน สำหรับผู้ชาย ความสัมพันธ์คือการทำอะไร ๆ ด้วยกัน ผู้หญิงให้ความสำคัญของความสามารถในการหารายได้ของผู้ชาย ความซื่อตรงไม่นอกใจ  ผู้ชายให้ความสำคัญกับเรื่องเพศ การเอาอกเอาใจ และความสนใจร่วมกัน ผู้หญิงชอบบ่นว่าความสัมพันธ์กำลังมีปัญหา ในขณะที่ผู้ชายคิดว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ผู้หญิงต้องการแก้ปัญหาเวลาที่ขัดแย้งกัน แต่ผู้ชายต้องการหลีกเลี่ยงปัญหา

 

…คงจะพอเห็นนะคะว่า ผู้หญิงกับผู้ชายรักต่างกันอย่างไร…

 

 


 

รายการอ้างอิง

ภาพประกอบจาก http://www.freepik.com

 


 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คัคนางค์ มณีศรี

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ – Sexual satisfaction

 

ความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ หมายถึง ผลการประเมินความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อเพศสัมพันธ์ที่ตนมีกับคนรักว่ามีความน่าพึงพอใจแค่ไหน และบุคคลพึงพอใจกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเป็นอย่างไร

 

ทั้งนี้นักวิชาการมักศึกษาเรื่องความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์จากกลุ่มคู่รักชายหญิงมากกว่ากลุ่มคู่รักเพศเดียวกัน ดังนั้นทฤษฎีและและคิดเรื่องความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์จึงเป็นความรู้ที่ครอบคลุมความสัมพันธ์ของคู่รักชายหญิงเป็นส่วนใหญ่ โดยแนวคิดที่ได้รับความนิยมประกอบด้วย 3 แนวคิด ดังนี้

 

 

1. แนวคิดที่มุ่งเน้นปัญหาเพศสัมพันธ์

 

เป็นการศึกษาความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ด้วยการประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นในการมีเพศสัมพันธ์ (Magnitude of problem) คือมุ่งเน้นวัดความรู้สึกไม่พึงพอใจที่บุคคลมีต่อเพศสัมพันธ์ของตนกับคนรัก มากกว่าเป็นการวัดความพึงพอใจ ใช้ประสบการณ์ทางลบหรือปัญหาจริงของคนไข้ที่มาบำบัดเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ในชีวิตอยู่เป็นแนวคิดในการสร้างมาตรวัดเพื่อจำแนกคู่รักที่มีปัญหาเพศสัมพันธ์ออกจากกลุ่มคู่รักที่ไม่มีปัญหา ข้อคำถามส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักเช่น เพศสัมพันธ์ของเราจืดชืด คนรักของฉันรุนแรงกับฉันเกินไปขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

 

ในการศึกษาตามแนวคิดนี้พบว่า คู่รักที่มีปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์จะรายงานว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงคู่รักด้วย เช่น งานวิจัยในกลุ่มชายรักชายของ Peixoto และ Nobre (2016) พบว่า ชายรักชายที่มีความเครียดเนื่องจากปัญหาสมรรถภาพทางเพศ คือ มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศ การหลั่งเร็ว การหลั่งช้า และการไม่มีอารมณ์เพศ จะประเมินความพึงพอใจในความสัมพันธ์เชิงคู่รักต่ำกว่าชายรักชายที่ไม่มีปัญหาเรื่องสรรถภาพทางเพศ สอดคล้องกับงานของ Heiman และคณะ (2011) ที่ศึกษาเรื่องความพึงพอใจในความสัมพันธ์ในคู่รักชายหญิงวัยสูงอายุใน 5 ประเทศ พบว่า ความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์สามารถวัดได้ด้วยสมรรถภาพทางเพศ เพราะสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันสูงมากจนสามารถใช้แทนกันได้ เช่นเดียวกับ งานวิจัยของ Sprecher (2002) ที่ศึกษากลุ่มผู้ที่อยู่ในระยะคบหากัน และงานวิจัยของ Stanik และ Bryant (2012) ที่ศึกษากลุ่มคู่สมรสใหม่ ก็พบว่าความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์สามารถทำนายความพึงพอใจในความสัมพันธ์เชิงคู่รักได้ โดยพบความสอดคล้องทั้งชายและหญิง

 

 

2. แนวคิดตามทฤษฎีแลกเปลี่ยนทางสังคม (Interpersonal Exchange Theory)

 

แนวคิดนี้อธิบายความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ว่าเป็นทั้งความคิดและเป็นความรู้สึกของบุคคลผสมผสานกัน โดยบุคคลจะประเมินผลตอบแทนหรือสิ่งที่ตนได้รับ (Rewards) เปรียบเทียบกับส่วนที่ลงทุนหรือที่ตนต้องเสีย (Cost) เพื่อความสัมพันธ์ทางเพศ ประกอบกับใช้ความรู้สึกของตนเพื่อตัดสินการประเมินนั้นร่วมด้วย

 

งานวิจัยของ Byers และ Macneil (2006) ที่ศึกษาคู่สมรสชายหญิงที่มีความสันพันธ์ยาวนาน ยืนยันว่าความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ของคู่รักเป็นผลมาจากการประเมินผลตอบแทนและการลงทุนที่เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น หากบุคคลรับรู้ว่าคนรักใส่ใจเพศสัมพันธ์ไม่เท่ากับตน ก็จะเกิดความพึงพอใจต่ำกว่ากรณีที่รับรู้ว่าคนรักใส่ใจกับเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับตน

 

 

3. แนวคิดที่มองว่าเพศสัมพันธ์เป็นกิจกรรมทางเพศของบุคคลสองฝ่ายกระทำร่วมกัน

 

แนวคิดนี้มองว่าผลลัพธ์หรือความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอิทธิพลมาจากทั้งตัวบุคคลเองและคนรัก Štulhofer และคณะ (2010) วิเคราะห์องค์ประกอบความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเพศชาย ทั้งผู้ที่เป็นชายรักชายและชายรักหญิง พบว่า ความพึงพอใจในความสัมพันธ์แบ่งเป็น 2 องค์ประกอบ คือ

 

(1) องค์ประกอบด้านความพึงพอใจส่วนบุคคล (Ego-focused) หมายถึง การรับรู้ของบุคคลว่าตนเองรู้สึกเช่นไรต่อเพศสัมพันธ์ เช่น เกิดอารมณ์ตื่นตัวทางเพศ มีสมาธิกับเพศสัมพันธ์ หรือมีความพร้อมต่อเพศสัมพันธ์

 

(2) องค์ประกอบด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก (Activity-focused) คือ การรับรู้ของบุคคลว่าคนรักของตนมีการตอบสนองต่อเพศสัมพันธ์ที่มีกับตนว่าเช่นไร เช่น คนรักเปิดใจขณะมีเพศสัมพันธ์ คนรักใส่ใจต่อความต้องการทางเพศ หรือคนรักมีความสร้างสรรค์ในการมีเพศสัมพันธ์

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระดับความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ของชายรักชายและชายรักหญิง พบว่า ชายรักชายมีความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์สูงกว่าชายรักหญิง และความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์มีสหสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในชีวิต ความใกล้ชิดผูกพันระหว่างคู่รัก การสื่อสารระหว่างคู่รัก

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดของชายรักชาย ความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ และการสื่อสารเมื่อเกิดความขัดแย้ง กับความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของชายรักชาย” โดย ณัชชา วิรัชวัฒนกุล (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55673

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/rawpixel-com

ความรักในที่ทำงาน

 

ท่านผู้อ่านกำลังมีความรักอยู่หรือเปล่าคะ คนรักของท่านเป็นใคร ท่านกับเขาเจอกันยังไงคะ

 

หากเราถามคำถามนี้กับหนุ่มสาววัยทำงาน ท่านจะพบว่า คำตอบที่ได้จำนวนมากคือ เจอกันในที่ทำงาน ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ถ้าเราลองนับจำนวนชั่วโมงที่เราลืมตาตื่น ท่านคงไม่ปฏิเสธว่าเวลาที่ตื่นส่วนใหญ่ เราอยู่ในที่ทำงาน เราแทบจะไม่มีเวลาสำหรับเรื่องอื่น ๆ นอกจากไปทำงานแล้วก็กลับบ้านนอน ไม่นับชั่วโมงที่ติดอยู่บนท้องถนนนะคะ

 

อย่างไรก็ตามแม้เราจะยุ่งกับงานสักแค่ไหน แต่เราก็ยังอยากมีใครสักคนเป็นคนพิเศษที่เรารักและรู้ว่าเขาก็รักเรา เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะหาได้ที่ไหน ที่ทำงานจึงกลายเป็นที่สำหรับแสวงหาความรักที่สะดวกและดูจะเหมาะสมที่สุด

 

ในอดีตคนทั่ว ๆ ไปมักมีทัศนคติว่า “จงหลีกเลี่ยงการมีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน เพราะจะมีแต่ความยุ่งยาก” ผู้ที่ศึกษาเรื่องของความรักในที่ทำงานจะมุ่งเน้นแต่ผลทางลบจากความสัมพันธ์ของคนที่ทำงานอยู่ในที่เดียวกัน แต่ในเมื่อเราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน โรแมนซ์ในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะพบเห็นคู่รักในที่ทำงานและบางคู่ก็พัฒนาความสัมพันธ์จนถึงขั้นแต่งงานกันเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า โรแมนซ์ในที่ทำงานเป็นผลดีต่อหน่วยงานเสียด้วยซ้ำไป เมื่อไหร่ที่คู่รักผ่านพ้นช่วงหลงใหลใฝ่ฝันอีกฝ่ายจนไม่มีสมาธิกับเรื่องใด ๆ นอกจากรักครั้งแรกหรือรักครั้งใหม่นี้ จากการศึกษาพบว่า โรแมนซ์ในที่ทำงานกลับช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจแก่พนักงานที่เป็นคู่รักกัน และอาจขยายผลไปสู่เพื่อนร่วมงานในเชิงของบรรยากาศในที่ทำงาน กระตุ้นให้สร้างผลงาน พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น

ความรักเปลี่ยนแปลงคนนะคะ จากคนที่โดดเดี่ยวกลายเป็นคนที่เข้าสังคม จากคนขี้บ่นช่างวิพากษ์วิจารณ์เป็นคนที่ร่วมทีมงานกับผู้อื่นได้ และจากคนสะเพร่าไม่มีระเบียบกลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ

 

รู้อย่างนี้แล้ว ท่านที่ตั้งใจว่าจะไม่ยอมมีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานเดียวกัน จะเปลี่ยนใจไหมคะ

 

ดังที่ได้กล่าวว่าโรแมนซ์ในที่ทำงานเป็นสิ่งที่มีให้พบเห็นมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะคนยุคใหม่ใช้เวลาของชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงาน นอกจากนี้ ที่ทำงานก็มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการที่จะเกิดความดึงดูดใจระหว่างบุคคล คนที่ทำงานด้วยกัน ส่วนใหญ่มีบุคลิกลักษณะมุ่งมั่นและเป้าหมายหลายอย่างคล้าย ๆ กัน เมื่อทำงานด้วยกันนาน ๆ ก็เกิดความคุ้นเคย พึ่งพาอาศัยกัน เวลาที่มีเรื่องตื่นเต้น หรือเรื่องคับข้องใจ เขาก็มีประสบการณ์ร่วมกัน ร่วมกันฉลองชัยชนะและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในงาน เกือบจะเรียกได้ว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในระดับหนึ่งทีเดียวค่ะ

 


 

 

อะไรทำให้คนยุคใหม่ตกหลุมรักเพื่อนร่วมงาน

 

ปัจจัยแรกก็คือ ความใกล้ชิด นั่นเองค่ะ

 

หนุ่มสาวรักกันก็เพราะเพื่อนร่วมงานเป็นบุคคลที่อยู่ตรงหน้า นักจิตวิทยาบอกว่า ยิ่งคุณอยู่ใกล้กับใครสักคนนาน ๆ คุณจะยิ่งชอบเขามากขึ้น นานวันเข้า หากไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคอื่น ๆ เข้ามาขัดขวาง ความชอบนี้จะพัฒนาเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งขึ้น ความใกล้ชิดที่พูดถึงนี้ ครอบคลุมทั้งทางกายภาพ เช่น โต๊ะทำงานอยู่ใกล้กัน หรือ ความใกล้ในการทำงาน เช่น ทำโปรเจคเดียวกัน อาจจะเป็นเรื่องของความบังเอิญ เช่น เจอกันในลิฟต์ หรือร้านอาหาร หรืออาจจะถูกส่งเข้าประชุมหรือสัมมนาที่เดียวกัน การเจอกันบ่อย ๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกคุ้นเคย… ซึ่งนำไปสู่ความไว้วางใจ… ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ท่านพอจะเห็นภาพใช่ไหมคะ

 

ปัจจัยที่ 2 ที่ทำให้เกิดโรแมนซ์ในที่ทำงาน คือ ความปลอดภัย ค่ะ

 

ในสังคมที่มีความสับสนซับซ้อน แต่ละคนก็มีภูมิหลัง หรืออาจจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังต่าง ๆ กัน เราไม่รู้ว่าใครเป็นใครกันแน่ เพื่อนร่วมงานจึงเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย อย่างน้อย ๆ เราก็รู้ว่าเขาเรียนจบอะไรมา เขามีอุปนิสัยส่วนตัวอย่างไร ใจเย็นหรือใจร้อน ขี้เหนียวหรือฟุ่มเฟือย มีรสนิยมหรือไม่ใส่ใจ มีน้ำใจหรือชอบโดดเดี่ยว เขาแต่งงานหรือกำลังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใครหรือเปล่า และหากสนิทกันมาก ๆ คุณอาจได้รู้ปัญหาสุขภาพและปัญหาส่วนตัวของเขาเสียด้วยซ้ำไป ในเมื่อคุณสามารถมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาที่เชื่อถือได้ เพราะประสบกับตัวเอง คุณจึงสามารถใช้ข้อมูลนี้ประกอบการพิจารณาว่า เขากับคุณจะเดินเส้นทางเดียวกันไปได้ราบรื่นหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คุณจะเสี่ยงมีความสัมพันธ์กับคนนอกที่ทำงานที่คุณอาจไม่สามารถมีข้อมูลประกอบการพิจารณาได้ดีแบบนี้ทำไมกันคะ

 

ปัจจัยที่ 3 ที่นำมาสู่โรแมนซ์ในที่ทำงานคือ ความคล้ายคลึงกัน

 

ตามปกติเรามีแนวโน้มที่จะทำงานกับคนที่มีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพทางสังคมที่คล้ายคลึงกัน ระดับการศึกษา และรายได้ ความสนใจ ทัศนคติ และค่านิยม ซึ่งเรามีความเชื่อว่า คนที่เหมือนกันมักจะชอบกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนในที่ทำงานเดียวกันจะชอบกัน

ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องโรแมนซ์ในที่ทำงานกล่าวว่า การที่หน่วยงานคัดเลือกพนักงานที่มีคุณสมบัติตรงกับวัฒนธรรมขององค์การ หน่วยงานจึงได้ทำหน้าที่กลั่นกรองผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นคู่รักกันไปโดยปริยาย พูดง่าย ๆ ก็คือว่า หน่วยงานหรือบริษัทได้ทำหน้าที่บริการหาคู่ให้แก่พนักงานนั่นเอง

 

ปัจจัยที่ 4 คือ ความรู้สึกตื่นตัว

 

ที่ทำงานอาจจะเป็นที่ที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา รวมถึงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ หรือที่ทำงานอาจจะเป็นที่ที่น่าเบื่อ ห่างเหิน ว้าเหว่ หรือน่าหงุดหงิดใจ ไม่ว่าที่ทำงานจะเป็นแบบไหนก็ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้ความรักเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น เวลาที่สภาพแวดล้อมเคร่งเครียด ไม่ว่าจะเป็นเพราะความตื่นเต้น หรือเป็นเพราะความวิตกกังวลในปัญหาเรื่องงานที่เกิดขึ้น นักจิตวิทยาบอกว่า สถานการณ์แบบนี้ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว ซึ่งเป็นเพราะงาน แต่คนมักถ่ายโอนความรู้สึกตื่นตัวอันนี้ไปยังผู้หญิงหรือผู้ชายที่หน้าตาท่าทางดีที่อยู่ใกล้ ๆ ความตื่นตัวที่เกิดขึ้นนี้อาจมาจากเรื่องงาน เช่น ใกล้ถึงกำหนดส่งงาน การออกแรงทำอะไรสักอย่าง อากาศที่ร้อนไปหรือหนาวไป ลักษณะงานที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย การแข่งขัน หรือความวิตกกังวล แต่คนจะตีความการตื่นตัวนี้ผิด ไปเข้าใจว่าเป็นความตื่นตัวจากการอยู่ใกล้ชิดกัน เลยเกิดเป็นความรู้สึกพิเศษที่มีต่อเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิด

 

โรแมนซ์ในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่พบเห็นบ่อยครั้ง เมื่อคนต้องทำงานร่วมกันนาน ๆ ในสภาพกดดัน และบางครั้งอาจต้องพึ่งพากันและกันในเรื่องที่ถึงแก่ความเป็นความตาย

 

ปัจจัยที่ 5 ที่เป็นที่มาของโรแมนซ์ในที่ทำงานคือ ความสะดวก ค่ะ

 

หากนับจำนวนชั่วโมงในแต่ละวันว่าเราทำอะไรบ้าง เอาแค่เรื่องหลัก ๆ นะคะ เรานอน 6 ถึง 7 ชั่วโมง เดินทางไปทำงานทั้งขาไป-ขากลับ 3 ถึง 4 ชั่วโมง อยู่ที่ทำงาน 8 ถึง 10 ชั่วโมง มนุษย์บ้างานอาจอยู่ที่ทำงานถึง 12 ชั่วโมง นับกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ เช่น ซักผ้า ดูแลความสะอาดบ้านช่อง สัตว์เลี้ยง ซื้อของใช้จำเป็น แค่นี้ท่านก็เหลือเวลาสำหรับแสวงหาความรักเพียงประมาณวันละ 2 ถึง 4 ชั่วโมง นี่เราไม่ได้พูดถึงกรณีงานเร่งด่วนที่อาจต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ และทำแม้ในช่วงสุดสัปดาห์ก็ตาม

 

การแสวงหาคนพิเศษเป็นสิ่งที่ใช้เวลามากเหลือเกินค่ะ เพราะฉะนั้นการมองคนใกล้ชิดในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่สะดวก และดูสมเหตุสมผลดี คุณสามารถใช้เวลาร่วมกันช่วงพักเที่ยง หรือช่วงเบรค คุณสามารถเดินไปหาพูดคุยกับเขาที่โต๊ะทำงาน หรือการที่คุณทำงานโปรเจคเดียวกัน คุณก็ได้ใช้เวลาร่วมกัน ซึ่งแบบนี้น่าจะเข้าท่ากว่าการนัดคนนอกที่ต้องรอกันที่ร้านอาหาร หรือรอที่บ้านจนกว่าคุณจะเสร็จงานใช่ไหมคะ

 

นอกจากนั้นการมีคนรักอยู่ในที่ทำงานเดียวกันยังทำให้คนมีคนที่จะคอยเกื้อหนุนให้กำลังใจคุณในชั่วโมงทำงานด้วย เขาสามารถเป็นที่ปรึกษาให้คุณได้ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เพราะเขาน่าจะเข้าใจสถานการณ์ของคุณได้ดีกว่าคนนอก

 


 

จากการศึกษาคนวัยทำงานพบว่าโรแมนซ์ในที่ทำงานพัฒนาเป็นขั้น ๆ จำแนกได้เป็น 4 ขั้น

 

 

ขั้นแรก เป็นช่วงสร้างฝัน บุคคลเริ่มเกิดความสนใจในผู้ร่วมงาน จึงมีการปรุงแต่งโฉมเป็นพิเศษ มีการฝันกลางวัน และพยายามทำตนให้เป็นที่สนใจของอีกฝ่าย

 

ขั้นที่สอง เป็นขั้นดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ทั้งสองฝ่ายต่างรับรู้ว่ามีใจตรงกัน มีการนัดพบกันออกไปทานอาหาร ดูหนัง ฟังเพลง เริ่มต้นความสัมพันธ์ คู่รักอาจไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน เพราะมัวแต่มองหากันและกัน

 

ขั้นที่สาม เป็นขั้นความสัมพันธ์เข้าที่ คู่รักเริ่มแน่ใจในความสัมพันธ์ของตน หันกลับมาใส่ใจกับงาน และปฏิบัติตัวตามกิจวัตรปกติ

 

ขั้นที่สี่ เป็นขั้นตัดสินใจว่าจะผูกมัดกันจนถึงกับแต่งงานกันหรือตกลงใช้ชีวิตร่วมกัน หรือจะเลิกความสัมพันธ์

 

 

เราได้ทราบกันแล้วถึงสาเหตุที่คนในที่ทำงานเดียวกันมักจะกลายเป็นคู่ครองกันในที่สุด รวมถึงขั้นตอนความสัมพันธ์ของคู่รักในที่ทำงานว่าพัฒนาอย่างไรจนถึงขั้นแต่งงานกัน หรือเลิกร้าง

 


 

 

ข้อเตือนใจที่ควรระมัดระวังหากคุณกำลังคิดที่จะแสวงหาความรักในที่ทำงาน

 

ประการแรก การควงเจ้านาย การคบหาควงคู่ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง เป็นเรื่องที่อันตรายต่อชื่อเสียงและอาชีพของพนักงานที่สุด ความสัมพันธ์ลักษณะนี้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับหน่วยงาน ทั้งถูกวิพาษ์วิจารณ์ในทางเสื่อมเสียจากผู้ร่วมงานอีกด้วย และหากโชคร้ายยังสามารถเป็นเรื่องขึ้นศาลก็เป็นไปได้

 

หากความสัมพันธ์ยุติ คนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานต่ำกว่ามักจะถูกกดดันให้ลาออก หรือสมัครใจออกเองเพราะทนความกดดันจากการต้องทำงานภายใต้อดีตคู่รักไม่ได้ แต่ถ้าหากความสัมพันธ์ราบรื่น ทั้งคู่ก็จะเป็นที่จับตามองของคนในหน่วยงาน ความอิจฉาริษยา หรือไม่พอใจในหมู่เพื่อนร่วมงานอาจจะปรากฏให้เห็น หากคุณได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือมีความดีความชอบ เพื่อนร่วมงานอาจเหมาเอาว่าเขาถูกมองข้ามเพราะเขาไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายเหมือนอย่างคุณ

 

โรแมนซ์ในที่ทำงานตามอุดมคติ ควรจะเป็นคนโสดสองคนที่ทำงานต่างแผนกกัน และมีเส้นทางความก้าวหน้าในตำแหน่งคนละเส้นทางกัน

 

ประการที่ 2 ที่ต้องระวังคือ การมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่แต่งงานแล้ว เรื่องนี้เป็นสิ่งน่าอึดอัดใจอย่างยิ่งของบรรดาเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ที่รับรู้ และบางรายอาจเป็นที่ชิงชังของเพื่อนร่วมงาน การมีความสัมพันธ์กับคนที่แต่งงานแล้ว เป็นการทำลายอาชีพของคนทั้งคู่เพราะเพื่อนร่วมงานมองว่า คนคู่นี้ขาดจริยธรรมและจรรยาบรรณในการทำงาน

 

ประการที่ 3 คือ การเลิกราความสัมพันธ์ ตามปกติการยุติความสัมพันธ์กับคนรักเป็นสิ่งที่ยากลำบากอยู่แล้ว แต่การยุติความสัมพันธ์กับคนที่ทำงานในสถานที่เดียวกันยิ่งยากเป็นหลายเท่า การที่คุณต้องเห็นเขาวันแล้ววันเล่าเป็นสิ่งที่ทรมานใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของคุณ เวลาที่คู่รักเลิกรากัน บางครั้งทำให้ที่ทำงานกลายเป็นสมรภูมิรบย่อย ๆ ได้ เพราะเพื่อนร่วมงานมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ยิ่งกว่านั้นคู่รักที่เลิกรากันบางคู่ต่างแสดงธรรมชาติไม่ดีของตัวอออกมาเวลาเลิกรัก บางคนมีการตามตื้อและราวี ส่งผลกระต่องานที่ทำและบรรยากาศการทำงานโดยทั่ว ๆ ไป

 

 

เอาละค่ะ ท่านผู้อ่านมีข้อเตือนใจตัวเองแล้วนะคะ หากคิดจะค้นหารักในที่ทำงาน ขอให้ท่านโชคดีมีความสุขในความรักนะคะ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คัคนางค์ มณีศรี

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การรับสมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ปีการศึกษา 2565

รับสมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ปีการศึกษา 2565
ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2565

 

 

🔸หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา

– จิตวิทยาการปรึกษา

– จิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ (English Program)

– จิตวิทยาพัฒนาการ

– จิตวิทยาทรัพยากรมนุษย์และการทำงาน

– การวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

 

🔹หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา

– จิตวิทยาการปรึกษา

– จิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ (English Program)

– จิตวิทยาพัฒนาการ

– การวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


https://www.psy.chula.ac.th/th/graduate
https://www.grad.chula.ac.th/

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวัลลภ สีหเดชวีระ (ในเวลาราชการ)
โทร. 02-218-1184 E-Mail: wanlop.s@chula.ac.th

มองโลกในแง่ดี = ชีวิตดี = มีต้นทุนทางจิตวิทยา (ตอนที่ 3)

มองโลกในแง่ดี = ชีวิตดี = มีต้นทุนทางจิตวิทยา

“Optimism” ทุนทางจิตวิทยา ตอนที่ 3

 

 

หากทุกท่านเคยตอบคำถามว่า ในยามที่ท่านต้องการดื่มน้ำสักแก้ว ท่านคิดอย่างไรกับภาพน้ำครึ่งแก้วที่วางอยู่ตรงหน้า บ้างก็ตอบว่า “ดีจัง มีน้ำให้ดับกระหายตั้งครึ่งแก้ว” ในขณะที่บางคนอาจจะคิดว่า “น้ำที่มีอยู่เพียงครึ่งแก้วนั้น ช่างน้อยเหลือเกิน” คำถามง่าย ๆ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดานี้สามารถจัดกลุ่มความคิดทัศนคติและลักษณะนิสัยของคนออกได้เป็น 2 ประเภท นั่นคือคนที่มองโลกในแง่ดีและคนที่มองโลกในแง่ร้าย

 

 

การมองโลกในแง่ดีเป็นแนวคิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) และเป็นองค์ประกอบของทุนทางจิตวิทยาและเป็นที่มาของอักษร O ในคำว่า HERO หากทุกท่านติดตามเรื่องราวของบทความชุดนี้มาตั้งแต่ตอนแรก [(1)Resilience(2)Hope] น่าจะเข้าใจความหมายและที่มากันเป็นอย่างดี การมองโลกในแง่ดีได้รับความสนใจมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยในระยะแรกถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการของคนป่วยทางด้านจิตใจ เช่น อาการวิตกกังวล หวาดกลัวหรืออาการทางโรคประสาท

 

หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่สนใจแนวคิดจิตวิทยาด้านบวกที่มุ่งเน้นและสนับสนุนให้คนเราใช้พลังที่มีในตัวเองช่วยขับเคลื่อน ผลักดันและกระตุ้นให้เกิดพลังในการแก้ไขปัญหาเพื่อก้าวข้ามผ่านอุปสรรคที่ทุกชีวิตต้องรับมือกับเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทฤษฎีหนึ่งที่สำคัญและอธิบายได้ถึงความสามารถและทักษะดังกล่าวในตัวคนเรา คือ ทฤษฎี Broaden and Build ของนักจิตวิทยาที่โด่งดังจากแนวคิดจิตวิทยาด้านบวกที่ชื่อว่า Barbara L. Fredrikson ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันของภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัย North Carolina at Chapel Hill ผู้ที่สนับสนุนให้คนเราเห็นคุณค่าและความสำคัญของอารมณ์ในเชิงบวกซึ่งจะช่วยให้จิตใจของเราเปิดกว้างมากขึ้น สามารถยอมรับและมองเห็นมุมมองความคิดในด้านอื่น ๆ ในขณะที่อารมณ์และความคิดด้านลบมักจะนำไปสู่การหลีกหนี ไม่รับรู้ ปิดกั้นการยอมรับความคิดเห็นในแง่มุมที่ต่างออกไป

 

เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น สถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรค COVID-19 เราทุกคนต่างต้องประสบกับผลพวงของความรู้สึกที่มีผลกระทบต่อจิตใจที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ความกลัว ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ซึ่งความกลัวนั้นจัดเป็นอารมณ์ในเชิงลบที่มาพร้อมกับการถูกกระตุ้นจากความตื่นตัวต่อภยันตรายที่รายรอบอยู่ใกล้ตัว ในทางจิตวิทยาพบว่า ยามที่เราต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากช่วงเวลาที่สะเทือนใจนั้น คุณสมบัติในทางบวกที่คอยเป็นกำลังใจต่อตนเอง เช่น  ความนับถือตนเอง ความไว้วางใจผู้อื่น การควบคุมตนเอง และการคาดการณ์ต่อสถานการณ์ทุกอย่างรอบตัวนั้นอาจถูกทำลายลงได้ ซึ่งจะส่งผลไปสู่การมีทัศนคติด้านลบต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จนนำไปสู่ผลที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ความกลัวและความวิตกกังวล (Janoff-Bulman, 2010) ผู้ที่เคยประสบกับความกลัวมาแล้วอย่างแสนสาหัส มักจะเชื่อและคิดว่าสิ่งเลวร้ายจะเกิดขึ้นได้อีกครั้งแค่เพียงพวกเขารู้สึกได้ว่าเบาะแสของฝันร้ายนั้นเริ่มเข้ามาใกล้ตัว (Farnsworth & Sewell, 2011) การมองโลกในแง่ดีจึงเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทาสถานการณ์หรืออารมณ์ความรู้สึกในทางร้ายที่หลายคนกำลังกังวลและเผชิญอยู่

 

 

การมองโลกในแง่ดี (Optimism)

 

หมายความถึง การที่บุคคลสามารถมองเห็นถึงสาเหตุหรือคุณลักษณะของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในทางบวก และเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นมีความคงทนถาวร สามารถแปลความหมายของเหตุการณ์เชิงลบว่าเป็นเรื่องที่เกิดจากปัจจัยภายนอกและจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวตามแต่สถานการณ์เท่านั้น (Seligman, 2011) องค์ประกอบด้านการมองโลกในแง่ดีของทุนทางจิตวิทยานี้ จะช่วยให้คนเรานำมาปรับใช้ได้ในชีวิต ในการสร้างเสริมความคาดหวังในเชิงบวก ลดการจดจ่ออยู่กับความคิดในด้านลบของตนเองในการตีความหมายของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวและในสถานที่ทำงาน (Carver & Scheier, 2002) ส่วน Seligman (2011) ให้ความหมาย การมองโลกในแง่ดี คือ กระบวนการทางปัญญาเกี่ยวกับความคาดหวังเชิงบวกของคนเราและการระบุสาเหตุของเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกตนเอง ดำรงอยู่เพียงชั่วคราว และเกิดขึ้นเฉพาะเหตุการณ์นั้นเท่านั้น ส่วนการระบุสาเหตุของเหตุการณ์ที่ดีนั้นจะเกิดจากปัจจัยภายในตนเองและสามารถเกิดขึ้นได้อีกอย่างสม่ำเสมอและอาจขยายผลต่อไปยังสถานการณ์อื่นได้

 

แนวคิดหนึ่งที่นำมาใช้ในการอธิบายที่มาและความสำคัญของการมองโลกในแง่ดีหรือร้าย ได้แก่ ทฤษฎีความคาดหวังและการให้คุณค่า (Expectancy Value Theory) (Vroom,1964) ซึ่งอธิบายว่า บุคคลจะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อคุณค่าหรือเป้าหมายตามที่ตนเองปรารถนา ซึ่งความพยายามนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าคุณค่าของสิ่งนั้นมีมากพอที่จะไขว่คว้าหรือไม่ นอกจากคุณค่า (Value) แล้ว ยังมีองค์ประกอบสำคัญที่ร่วมกัน คือ ความคาดหวัง (Expectancies) อันหมายถึง บุคคลมีความมั่นใจหรือความลังเลว่าเป้าหมายนั้นตนสามารถจะไปถึงได้หรือไม่ หากความมั่นใจนั้นมีไม่มากพอ บุคคลนั้นมักจะล้มเลิกความตั้งใจและหยุดการกระทำในการไปสู่ความสำเร็จตามที่มุ่งหมายเอาไว้ จากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง (Fibromyaglia) พบว่า ผู้ที่มองโลกในแง่ดีจะมีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยล้มเลิกความตั้งใจในการไปสู่เป้าหมายที่ตนเองวางไว้ แม้อาการเจ็บปวดจะรุนแรงเพียงใดก็ตาม (Affleck et al., 2001)  จากทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จึงพอสรุปได้ว่าทั้งความคาดหวังและการให้คุณค่านั้นมีความสำคัญในการอธิบายความหมายและที่มาของการมองโลกในแง่ดีได้เป็นอย่างดี

 

อีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจและอธิบายถึงการมองโลกในแง่ดีหรือร้ายได้ คือ ทฤษฎีการระบุสาเหตุ (Attribution theory) โดยใช้รูปแบบของการอธิบาย (Explanatory style) การอธิบายสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ นั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัย กระบวนการคิดของบุคคลนั้น ที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ มุมมองของบุคคลที่คาดหวังต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกิดขึ้นมาจากการตีความของเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตว่ามีมุมมองความคิดในสิ่งนั้น ๆ เป็นเช่นไร เช่น คนมองโลกในแง่ดีจะอธิบายเหตุการณ์ดี ๆ ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากการกระทำหรือลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล มีความเชื่อว่าจะมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตและรวมไปถึงด้านอื่น ๆ ของชีวิตด้วย หากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้น คนมองโลกในแง่ดีมักมองว่าเหตุการณ์ผิดพลาดหรือเรื่องราวในทางลบนั้น เกิดจากปัจจัยภายนอกไม่ใช่ความผิดของพวกเขาและยังมองว่าเหตุการณ์เลวร้ายนั้นเป็นเรื่องที่บังเอิญเกิดขึ้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนอื่น ๆ ในชีวิตหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตัวอย่างเช่น หากคนที่มองโลกในแง่ดีได้รับการเลื่อนขั้น เขามักจะเชื่อว่าเป็นเพราะเขาทำงานเก่งและเหมาะสมที่จะได้รับสิทธิประโยชน์นั้น มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานต่อไป หากคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นในครั้งนี้ พวกเขาจะคิดว่าอาจเป็นเพราะสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ค่อยดี แต่ทุกอย่างย่อมจะดีขึ้นได้ในอนาคต

 

คนมองโลกในแง่ร้ายกลับคิดในทางตรงกันข้าม พวกเขาเชื่อว่าเหตุการณ์เลวร้ายนั้นเกิดจากความผิดพลาดหรือลักษณะนิสัยของตนเอง คนกลุ่มนี้มีมุมมองว่าความผิดพลาดครั้งเดียวที่เกิดขึ้นจะนำความผิดพลาดมากขึ้นตามมาอีก และความผิดพลาดในชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย หากมีเหตุการณ์ดีเกิดขึ้น คนมองโลกในแง่ร้ายจะมีความคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทางบวกหรือเรื่องราวดี ๆ นั้นเป็นแค่เรื่องบังเอิญ ซึ่งเกิดจากสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และอาจจะไม่เกิดขึ้นอีก ตัวอย่างเช่น คนมองโลกในแง่ร้ายจะมองว่าการได้เลื่อนขั้นในการทำงาน (เป็นเหตุการณ์ดี) เป็นเรื่องบังเอิญซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกได้อีกในอนาคต และยังกังวลอีกว่า ตำแหน่งใหม่ที่ได้รับอาจถูกตรวจสอบมากยิ่งขึ้น หากพลาดการเลื่อนตำแหน่ง (เป็นเหตุการณ์ร้าย) นั่นเป็นเพราะตนเองไม่มีความชำนาญพอ ดังนั้นคนเหล่านี้จึงมักคาดการณ์ไว้ว่าจะพลาดโอกาสดี ๆ อีกในคราวต่อไป กล่าวโดยสรุปคือคนที่มองโลกในแง่ร้ายมักจะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเป็นเรื่องเลวร้ายไปทั้งหมด มีรายงานการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย มักมีอัตราการการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น แม้จะมีการควบคุมปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นร่วมด้วยแล้วก็ตาม (Schulz et al., 1996)

 

นอกจากนั้นยังมีการศึกษาอีกเป็นจำนวนมากที่พบว่าการมองโลกในแง่ดีมีความสัมพันธ์กับรูปแบบการจัดการกับความเครียดแบบมุ่งจัดการกับปัญหา (Active coping) งานวิจัยพบว่าบุคคลที่มองโลกในแง่ดีมักมีภาวะอารมณ์ทางลบหรืออาการซึมเศร้าที่ลดลง (Anderson, 1996) ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Solberg Nes และ Segestrom (2006) ที่พบว่า การมองโลกในแง่ดีมีความสัมพันธ์ทางลบกับการจัดการกับความเครียดแบบหลีกหนีปัญหา (Avoidance coping)  โดยมีงานวิจัยพบว่า นักศึกษากฎหมายที่เป็นคนมองโลกในแง่ดี มักใช้วิธีการการหลีกหนีปัญหา (Avoidance coping) น้อยกว่านักศึกษาอื่น ๆ (Segestrom et al., 1998) และยังพบในการวิจัยอีกว่า เมื่อเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดหรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ การมองโลกในแง่ดีส่งผลให้บุคคลมีความเครียดลดน้อยลง (Steptoe, 2008)

 

การที่คนเราคิดและคาดหวังแต่เรื่องดีและเข้าใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการประเมินปัจจัยต่าง ๆ ร่วมกับการใช้กลยุทธ์ในการรับมือที่พร้อมปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ด้วยความเข้าใจดีว่าในชีวิตของคนเรานั้นย่อมมีทั้งเรื่องราวที่ดีและร้าย ดังนั้นการมองโลกในแง่ดี พร้อมรับมือและปรับตัวกับทุกสถานการณ์จึงเป็นหนทางที่เหมาะสมและสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตในปัจจุบันของเราได้ กลยุทธ์ในการรับมือและปรับตัวต่อสถานการณ์ที่หนักหน่วงนั้นมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมุมมองให้เป็นไปในทางบวก (Positive reframing) การมีอารมณ์ขัน (Humour) หรือ แม้แต่การยอมรับความจริงต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (Acceptance) (Wrosch & Scheier, 2003)

กระบวนการทางความคิดของกลุ่มคนที่มองโลกในแง่ดีมีลักษณะดังนี้ คือ มีการปกป้องตนเองจากเรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์และมักคิดเสมอว่าเรื่องดี ๆ จะเกิดขึ้นกับตนเองมากกว่าคนอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน เรื่องร้าย ๆ ก็มักจะเกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ มากกว่าตนเอง Schwarzer (1994) ได้ให้คำนิยามชุดความคิดในลักษณะนี้ว่า Defensive optimism ซึ่งการคิดในรูปแบบดังกล่าวนี้ จะเป็นเสมือนเกราะป้องกันทางอารมณ์ ต่อการรับรู้หรือยอมรับกับเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแง่ลบได้เป็นอย่างดี ช่วยพยุงความรู้สึกของคนชอกช้ำให้หลุดพ้นจากความเป็นจริงที่กดดันในบางช่วงบางสถานการณ์ของชีวิต

 

ที่ผ่านมามีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการมองโลกในแง่ดี การมองโลกในแง่ร้ายและความทุกข์ใจในกลุ่มคนที่ประสบความทุกข์ในกรณีที่แตกต่างกันออกไป เช่น นักเรียนที่สอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย พนักงานในแวดวงธุรกิจ และผู้รอดชีวิตจากขีปนาวุธและการถูกโจมตี ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยต่าง ๆ ที่ศึกษาประสบการณ์ความเครียดของผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกับกระบวนการทางการแพทย์ เช่น การศึกษาในเด็ก การคลอดบุตร การทำแท้ง การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ความพยายามในการทำเด็กหลอดแก้ว การปลูกถ่ายไขกระดูกและหัวใจ การรับฟังผลการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ความเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบ และความก้าวหน้าของการต่อสู้กับโรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Scheier & Carver, 1992)

 

ตัวอย่างงานวิจัยที่ศึกษาในกลุ่มสตรีที่ได้รับการบำบัดมะเร็งเต้านม พบว่า กลุ่มคนมองโลกในแง่ร้ายมักจะมีแนวโน้มที่จะตีตัวออกห่างจากกิจกรรมทางสังคมมากกว่าคนที่มองโลกในแง่ดี (Carver et al., 2003) สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะการมีเครือข่ายทางสังคมจะส่งผลดีต่อสุขภาวะของคนเรา (Taylor, 2007) โดยมีหลักฐานยืนยันได้ว่าการมองโลกในแง่ดีมีความสัมพันธ์ทางบวกกับขนาดของเครือข่ายทางสังคมของแต่ละบุคคล โดยสรุปคือ ยิ่งมองโลกในแง่ดีมากเท่าไร บุคคลก็จะมีเครือข่ายทางสังคมที่กว้างมากขึ้นเท่านั้น (Segerstrom, 2007)

 

การมองโลกในแง่ดีจึงถือเป็นทรัพยากรเชิงบวกที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เครือข่ายทางสังคม และความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทด้วย

 

สาเหตุที่การมองโลกในแง่ดีสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมได้มากกว่าการมองโลกในแง่ร้ายนั้น เป็นเพราะว่าโดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักชอบคบหาสมาคมกับคนที่มองโลกในแง่ดี มักให้การยอมรับคนที่มีมุมมองในอนาคตหรือความคาดหวังในเชิงบวก และมักปฏิเสธความสัมพันธ์กับคนที่มีความคิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวในชีวิตที่มีแต่แง่ลบ (Carver et al., 1994; Helweg-Larsen et al., 2002)

 

แม้การมองโลกในแง่ดีจะดูคล้ายกับว่าเป็นลักษณะนิสัยที่ติดตัวมาในแต่ละบุคคล (Trait) ต่างจากสภาวะ (State) ที่สามารถจะกระตุ้นหรือสร้างให้เกิดการพัฒนาขึ้นมาได้จากกระบวนการต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม หรือ กิจกรรมกระตุ้นสภาวะที่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม Folkman และ Moskowitz (2000) แนะนำว่า การประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตที่ผ่านมาในอดีต ช่วยสร้างความเชื่อในการมองโลกในแง่ดี (Optimism belief) ได้ ดังนั้นการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะในการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ และการให้ผลตอบกลับที่เป็นบวก (Positive feedback) จะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาคุณลักษณะของการมองโลกในแง่ดีได้เช่นกัน หากเราปรับมุมมองความคิดใหม่ว่าในทุกการแข่งขันที่มีเป้าหมายเป็นรางวัลของความสำเร็จนั้น ไม่เคยมีคำว่า “แพ้” มีแต่คำว่า “ชนะ” กับ “ได้รับบทเรียน” ซึ่งบทเรียนเหล่านั้นไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสมากเพียงใดก็ตาม หากเรายังมีลมหายใจและยังมีชีวิตอยู่ เราจะแข็งแกร่งมากขึ้นได้อย่างแน่นอน ตามคำกล่าวที่เป็นข้อความอมตะของนักปรัชญาชาวเยอรมัน Friedrich Nietzscher ที่เคยเขียนเอาไว้ว่า “อะไรก็ตามที่ฆ่าเราไม่ได้จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น” (What doesn’t kill us makes us stronger.)

 

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การมองโลกในแง่ดี จะมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (Efficacy) ซึ่งจะเป็นคุณลักษณะของ HERO  ลำดับสุดท้าย ขอเชิญทุกท่านติดตามบทความวิชาการ 4 ตอนจบสำหรับตอนสุดท้ายในโอกาสต่อไป

 

 

รายการอ้างอิง

 

Affleck, G., Tennen, H., Urrows, S., Higgins, P., Abeles, M., Hall, C., Karoly, P., & Newton, C.     (1998). Fibromyalgia and women’s pursuit of daily goals: A daily process analysis. Health Psychology, 17, 40–47.

 

Anderrson, G. (1996). The benefits of optimism: A meta-analytic review of the Life Orientation Test. Personality and Individual Differences, 21, 719–725.

 

Carver, C. S., Kus, L. A., & Scheier, M. F. (1994). Effects of good versus bad mood and optimistic versus pessimistic outlook on social acceptance versus rejection. Journal of Social and Clinical Psychology, 13, 138−151.

 

Carver, C. S., & Scheier, M. F. (2002). Optimism. In C. R. Snyder & S. J. Lopez (Eds.). Handbook of positive psychology (pp. 231–243). London: Oxford University Press.

 

Carver, C. S., Lehman, J. M., & Antoni, M. H. (2003). Dispositional pessimism predicts illness-related disruption of social and recreational activities among breast cancer patients. Journal of Personality and Social Psychology, 84, 813– 821.

 

Farnsworth, J. K., & Sewell, K. W. (2011). Fear of emotion as a moderator between PTSD and firefighter social interactions. Journal of Traumatic Stress, 24, 444–450.

 

Folkman, S., & Moskowitz, J. T. (2000). Positive affect and the other side of coping. American Psychologist, 55, 647– 654.

 

Helweg-Larsen, M., Sadeghian, P., & Webb, M. S. (2002). The stigma of being pessimistically biased. Journal of Social and Clinical Psychology, 21, 92−107.

 

Janoff-Bulman, R. (2010). Shattered assumptions. Simon and Schuster.

 

Scheier, M. F., & Carver, C. S. (1992). Effects of optimism on psychological and physical well-being: Theoretical overview and empirical data. Cognitive Therapy and Research, 16, 201–228.

 

Schulz, R., Bookwala, J., Knapp, J. E., Scheier, M., & Williamson, G. M. (1996). Pessimism, age, and cancer mortality. Psychology and Aging, 11(2), 304-309.

 

Schwarzer, R. (1994). Optimism, vulnerability, and self-beliefs as health-related cognitions: A systematic overview. Psychology and Health, 9, 161-180

 

Segerstrom, S. C, Taylor, S. E., Kemeny, M. E., & Fahey, J. L. (1998). Optimism is associated with mood, coping, and immune change in response to stress. Journal of Personality and Social Psychology, 74, 1646-1655.

 

Segerstrom, S. C. (2007) Optimism and resources: Effects on each other and on health over 10 years. Journal of Research in Personality, 41:772–86.

 

Seligman, M. E. P. (2011). Learned optimism: How to change your mind and your life. New York, NY: William Heinemann.

 

Solberg Nes, L., & Segerstrom, S. C. (2006). Dispositional optimism and coping: A meta-analytic review. Personality and Social Psychology Review, 10, 235–251.

 

Steptoe, A., O’Donnell, K., Marmot, M., & Wardle, J. (2008). Positive affect and psychosocial processes related to health. British Journal of Psychology, 99, 211–217.

 

Taylor, S. E. (2007). Social support. In H. S. Friedman & R.C. Silver (Eds.), Foundations of health psychology (pp. 145−171). New York: Oxford University Press.

 

Vroom, V. H., Work and Motivation, Wiley, New York, 1964.

 

Wrosch, C., & Scheier, M. F. (2003). Personality and quality of life: The importance of optimism and goal adjustment. Quality of Life Research, 12, 59-72.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Here to heal Online Workshop: Empathy

“Empathy”
หัวใจความสัมพันธ์ ในการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ

 

 

Here to heal ชวนคุณมาเข้าใจหัวใจของความสัมพันธ์ และการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกับ Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ในหัวข้อเรื่อง “Empathy”

 

โดยวิทยากร ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2565 เวลา 13.00-15.00 น.

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://docs.google.com/…/1FAIpQLSeC2RYC5Sy…/viewform…
โดยทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านก่อนถึงเวลา Workshop ผ่านทาง Email ที่ใช้ลงทะเบียนเข้าร่วม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW
ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 


Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ here to heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.
เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ก Here-to-Heal เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุยได้เลยค่ะ

เด็กที่มีความต้องการพิเศษ – Children with special needs

 

 

เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือบางคนเรียกว่า เด็กพิเศษ หมายถึง เด็กที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษเนื่องจากความบกพร่องหรือข้อจำกัดทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ประสาทสัมผัส อารมณ์ และสังคม รวมถึงการได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อม อันเป็นเหตุให้เด็กมีข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต หรือการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคมให้สำเร็จตามบทบาทปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของความบกพร่องหรือข้อจำกัดนั้น ๆ

 

 

ประเภทของความพิการ

 

บุคคลที่มีความต้องการพิเศษแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท โดย ICF (International Classification of Functioning, Disability and Health) ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ WHO ได้แบ่งความพิการไว้เป็น 6 ประเภท คือ

 

1. ความพิการทางการเห็น

2. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย

3. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย

4. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรมหรือออทิสติก

5. ความพิการทางสติปัญญา

6. ความพิการทางการเรียนรู้

 

ในปี 2552 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้แบ่งประเภทความพิการไว้เป็น 6 ประเภทตาม ICF และได้แยกความพิการทางออทิสติกมาเป็นประเภทที่ 7 ในปี 2555

 

 

ครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

 

เมื่อลูกซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวกลายเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สมาชิกคนอื่นก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยพ่อแม่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะต้องรับภาระในการดูแลลูกในทุก ๆ ด้าน ส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตใจของพ่อแม่เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในครอบครัวที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดีและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ครอบครัวผ่านพ้นปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ กระบวนการวินิจฉัยเป็นวิกฤตของครอบครัวด่านแรกที่พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวต้องเผชิญเมื่อลูกมีพัฒนาการหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากเด็กทั่วไป

 

กระบวนการรับการวินิจฉัยถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดขั้นตอนหนึ่งสำหรับพ่อแม่ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ครอบครัวบางครอบครัวไม่ต้องการการวินิจฉัย เพราะการวินิจฉัยสร้างความรู้สึกอับอายและเป็นตราบาปให้กับสมาชิกในครอบครัว เมื่อมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษในครอบครัว สมาชิกมักจะประเมินตนเองในด้านลบโดยอัตโนมัติทำให้อารมณ์ทางลบเพิ่มสูงขึ้น และเกิดพฤติกรรมการเพิกถอนตนจากสังคมเพราะต้องการปกปิดความรู้สึกที่เป็นตราบาปจากผู้อื่นในสังคม ความรู้สึกอับอายในตนเองของสมาชิกครอบครัวส่งผลต่อภาระที่เพิ่มขึ้นในการดูแลเด็กและทำให้การทำหน้าที่ในครอบครัวล้มเหลว ท้ายที่สุดกระทบถึงคุณภาพชีวิตของสมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยชาวเอเชียจะเกิดความรู้สึกนี้มากกว่าชาวยุโรปและอเมริกา เพราะค่านิยมทางประเพณี สังคม วัฒนธรรม และศาสนา ฝังลึกมากกว่า

 

 

ความต้องการของครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

 

พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องการความช่วยเหลือที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของความพิการของลูก ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องพัฒนาความรู้และทักษะในการดูแลที่เฉพาะเจาะจง รวมทั้งต้องการการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเครียด สามารถเผชิญและจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการตอบสนองความต้องการของลูกได้อย่างเหมาะสม

 

1. ความต้องการทางด้านข้อมูล

 

พ่อแม่เด็กที่มีความต้องการพิเศษรายงานว่าพวกเขาได้รับข้อมูลกว้าง ๆ เกี่ยวกับโรคที่ลูกเป็น แต่ในบางครั้งอาจไม่ได้รับข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงซึ่งพวกเขาคิดว่าจำเป็นต้องรู้ เช่น รายละเอียดด้านพัฒนาการและโรค การรับบริการต่าง ๆ เช่น การสร้างเสริมพัฒนาการระยะแรกเริ่ม กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด และอรรถวจีบำบัด รวมถึงพวกเขาต้องการคำแนะนำ เครื่องมือต่าง ๆ และวิธีการจัดการกับลูกอย่างถูกวิธีเพื่อเอื้อให้พวกเขาเข้าใจลูกและเกิดประโยชน์ในการเลี้ยงดูลูกมากยิ่งขึ้น

 

2. ความต้องการทางด้านจิตใจ

 

พ่อแม่เด็กที่มีความต้องการพิเศษเผชิญกับความเครียดในสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นการช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ทั้งการปรึกษารายบุคคล การปรึกษาแบบกลุ่ม หรือการช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ จะช่วยให้พ่อแม่คลายกังวลได้ เพราะพวกเขาได้เปิดเผยเรื่องราวของตนเองและรับรู้ได้ว่ามีผู้รับฟังอย่างดั้งใจ นอกจากนี้การปรึกษาแบบกลุ่มเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์ประเภทเดียวกัน พ่อแม่จะรับรู้ว่าตนไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง เกิดการสร้างเครือข่าย รวมทั้งได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ซึ่งสามารถเติมพลังกายพลังใจและกลับไปดูแลลูกอย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อไป

 

3. ความต้องการทางด้านสังคม

 

พ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ ต้องอยู่กับลูกเกือบตลอดเวลา ทำให้พวกเขาไม่มีเวลาให้ตนเอง สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อน รวมทั้งกิจกรรมที่พวกเขาเคยทำและมีความสุขก็ลดน้อยลง เพราะต้องทุ่มเทเวลาและพลังงานไปกับการเลี้ยงดูลูก ดังนั้นพ่อแม่ต้องการช่วงเวลาหยุดพัก ต้องการศูนย์ดูแลเด็ก และผู้ช่วยงานบ้าน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีเวลาพักและฟื้นคืนพลังในการดูแลลูกต่อไป

 

4. ความต้องการทางด้านการเงิน

 

พ่อแม่ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีค่าใช้จ่ายสูงในการเลี้ยงดูลูก พวกเขาต้องการเงินอุดหนุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกในครอบครัวให้ดีขึ้นและสามารถดูแลลูกที่มีความต้องการพิเศษได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

 

5. ความต้องการด้านบริการทางการแพทย์

 

พ่อแม่เด็กที่มีความต้องการพิเศษจำนวนมากรายงานว่าพวกเขาไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์มากนัก พวกเขาต้องการสนับสนุนด้านการดูแลเด็กเฉพาะทาง และความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้นทั้งด้านข้อมูล การบริการ และกิริยามารยาทต่าง ๆ ซึ่งการได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากบุคลากรการแพทย์จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีตามศักยภาพของพวกเขา

 

6. ความต้องการทางด้านอื่น ๆ

 

เช่น ด้านความสัมพันธ์ ด้านการศึกษา และการด้านบริหารจัดการกับอนาคตของลูก

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“ประสบการณ์ทางจิตใจในระยะแรกของพ่อแม่หลังจากลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ” โดย เพิ่มพูน สานิชวรรณกุล (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/60085

 

ภาพประกอบจาก https://stock.adobe.com