ข่าวและกิจกรรม

Online Workshop: Multicultural Diversity Research, Practice and Training in Clinical and Counseling Psychology

The Clinical Psychology Program at Bowling Green State University is happy to offer an online workshop on multicultural diversity featuring international experts from Chulalongkorn University.

 

All interested faculty and students are welcome to attend!
Instructions for signing up for the conference are provided on the poster below.

The link for signing up for the is: https://bgsu.az1.qualtrics.com/jfe/form/SV_9Bl37fDgcgDRgW2

 

 

 

 

 

TOPICS:

 

1) Impacts of internalized racism on a trainee therapist of colour:

In multiculturalism classes, therapists usually learn to be culturally sensitive to clients from minority groups and try to understand the clients’ psychological process and power dynamics of working with white therapists.

In this talk, we are going to look at the reversed process. What is a trainee therapist of colour’s psychological process when working with white clients, especially if the therapist has internalized racism?

 

2) When Eastern philosophies are integrated into Western psychological interventions, what do we learn from the integration

Objectives:

  1. Understanding the roles of mindfulness in Buddhism
  2. The Differences between Western and Eastern Mindfulness
  3. How we could integrate Buddhist teachings into Western psychotherapy.

 

3) Self-compassion and Compassion: Their Manifestations and Applications within the Thai Cultures

Objectives:

  1. To illustrate the manifestations of self-compassion and compassion within the Thai culture
  2. To highlight sample applications of the two constructs within the Thai culture
  3. To explore potential cross-cultural investigations in the investigations of self-compassion and compassion.

 

4) Integrating Multicultural Perspectives in Occupational Clinical Health Psychology Research and Practice

Objectives:

  1. To understand different levels of culture and their role in psychology
  2. To demonstrate how culture is integrated into occupational clinic health psychology research
  3. To explain multiculturalism and its importance in the occupational clinical health psychology practice

ไปเที่ยวกับครอบครัว… มีเสียงของคุณลูกมากน้อยแค่ไหน?

เราก็อยู่กับ Covid–19 มาจะ 2 ปีแล้ว ผ่านมาทั้งช่วงที่มียอดผู้ติดเชื้อเป็นเลขสูง ๆ และเลขต่ำ ๆ วัคซีนก็น่าจะเริ่มฉีดได้มากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนก็ได้เข็ม 3-4 กันแล้ว มีใครเริ่มทนไม่ไหวออกไปเที่ยวกันมาแล้วบ้างเอ่ย? เที่ยวคนเดียว เที่ยวกับเพื่อน หรือกับครอบครัวกันครับ? แต่ถึงใครจะตอบว่าอย่างไร ก็จะเขียนเรื่องการเที่ยวกับครอบครัวอยู่แล้ว ขอโทษที่ทำให้บางท่านผิดหวังด้วยครับ…

 

ใครในบ้านที่ต้องเป็นคนวางแผนครอบครัวออกไปเที่ยว?

 

และใครได้รับบทบาทหน้าที่อะไรในการเที่ยวแต่ละครั้งบ้าง?

 

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เริ่มมีคนศึกษาเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นครอบครัว ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ค่านิยมชายเป็นใหญ่ยังอยู่ แน่นอนว่าผลก็คือ สามีเป็นใหญ่ในการตัดสินใจหลายเรื่อง ซึ่งการท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในนั้น ในขณะที่ปัจจุบันบางครอบครัว ภรรยาจะเป็นใหญ่ในการตัดสินใจได้เช่นกัน อย่างในครอบครัวที่สามีอาจจะทำงานหนักจนแทบไม่เห็นหน้าลูกอย่างในละคร หรือสามีที่เป็นสมาชิกสมาคมพ่อบ้านใด ๆ ภรรยาที่มีหน้าที่เลี้ยงลูกและจัดการหลาย ๆ เรื่องในบ้านก็มีแนวโน้มเป็นผู้ตัดสินใจหลักในการท่องเที่ยว หรือว่าจะเป็นลักษณะของการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเลย ก็จะกลายเป็นลักษณะของการที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ตัดสินใจหลัก เพราะโดนผลักภาระได้

 

ในครอบครัวยุคใหม่ ที่ทั้งสามีภรรยามีการศึกษาเท่ากัน มีภาระหน้าที่เสมอกัน ได้มีโอกาสช่วยกันดูแลลูก ก็สามารถวางแผนการท่องเที่ยวโดยตัดสินใจร่วมกัน หรือหากเป็นการท่องเที่ยวที่ใช้เงินเยอะอย่างการไปต่างประเทศ หรือการไม่สามารถตัดสินใจคนเดียวได้จากความกังวลทั้งเรื่อง ทรัพย์สิน เวลา ความสัมพันธ์ ฯลฯ ก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะวางแผนการท่องเที่ยวโดยตัดสินใจร่วมกัน ที่จะสร้างความผูกพันให้ครอบครัวได้มากกว่า แต่ถึงใครจะเป็นผู้ตัดสินใจก็ตาม เมื่อถึงเวลาออกเที่ยวจริง ๆ แล้ว แต่ละฝ่ายก็มีบทบาทเป็นของตัวเองด้วย เช่น ภรรยามักจะเป็นคนดูแลค่าใช้จ่าย ดูแลความเป็นอยู่ของลูก และคอยกระตุ้นความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่วนสามีก็จะคอยประเมินความเสี่ยงของกิจกรรม และดูแลความปลอดภัยของการเดินทางและการท่องเที่ยว แต่หากบิดาเกิดไม่คุ้นชินกับลูกก็อาจเป็นได้แค่ผู้ติดตาม หรือผู้สนับสนุนได้

 

แล้วคุณลูกของเรามีส่วนในการตัดสินใจเที่ยวกับการเที่ยวของครอบครัวแค่ไหน ?

 

นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจแบบครอบครัว ค่อนข้างจะได้ผลตรงกันว่า เด็กมักมีส่วนสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนไปเที่ยว ในกระบวนการของการสร้างไอเดียให้พ่อแม่วางแผนการท่องเที่ยว และการตัดสินใจขั้นท้ายสุด โดยทั่วไปเด็กวัยแรกเกิดที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่วุ่นวายกับการให้นมและการนอนของลูก รวมกับภูมิต้านทานของน้องที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ฯลฯ ก็จะมีผลต่อการตัดสินใจไปเที่ยวของคุณพ่อคุณแม่มาก ๆ เลยก็คือ อย่าได้ฝืนไปให้ลำบากเลย แต่เมื่อคุณลูกโตขึ้นเริ่มช่วยเหลือตัวเอง สื่อสาร และแสดงพฤติกรรมได้มากขึ้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่อยากไปเที่ยวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ก็จะเริ่มสังเกตพฤติกรรม หรือถามความเห็นของลูก เพื่อนำมาเป็นตัวตั้งต้นในการกำหนดสถานที่เที่ยว แต่ในช่วงวัย 2-4 เด็กจะยังไม่ได้มีความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เที่ยวมากนัก และเวลาที่คุณพ่อแม่จะพูดคุยกับเด็กก็จะเป็น เวลาเล่น เวลากินข้าวและดูโทรทัศน์ หากถามว่าน้องอยากไปไหน ก็อาจจะได้คำตอบเช่น “อยากเล่นทรายเยอะ ๆ” หรือ “อยากเห็นทุ่งข้าวสาลี” และพ่อแม่ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปกำหนดสถานที่เที่ยวต่อไป และหลังจากกำหนดสถานที่และวางแผน ก็จะถามลูกเป็นการยืนยันอีกคร้งว่า “อยากให้แม่พาไปดูปลาไหมคะ” “อยากไปเล่นทรายที่ทะเลไหม” เป็นต้น

 

นอกจากลูกน้อยจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกที่เที่ยวแล้ว ในระหว่างการท่องเที่ยว เด็ก ๆ ก็มักจะมีผลกับการใช้จ่ายของครอบครัวด้วย พาลูกมาเที่ยวขนาดนี้มีบ้านไหนจะยอมขาดขนม ของเล่น ฯลฯ มาคอยเอาใจลูกน้อย ทั้งเพื่อทำคะแนนความสัมพันธ์กับลูก และเพื่อป้องกันการขัดใจลูกจนอาละวาดระหว่างการท่องเที่ยว

 

เด็กโตและวัยรุ่นที่สื่อสารได้มากขึ้น แต่ละคนก็จะมีส่วนร่วมแตกต่างกันไป ลูกที่มีความสนใจและศึกษาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว ก็จะมีบทบาทสำคัญหรืออาจจะมาเป็นคนวางแผนหลักแทนพ่อแม่ได้ ในขณะที่ลูกที่ไม่สนใจการเที่ยวก็จะเป็นผู้ตามที่ดี หรือถ้าประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ผ่านมามันแย่มาก ๆ วัยรุ่นก็เรียนรู้ที่จะปฏิเสธอาจจะปล่อยพ่อแม่ไปเที่ยวแล้วอยู่เฝ้าบ้านคนเดียวก็ได้

 

 

ญาติเข้ามาสร้างประสบการณ์หลากหลายให้กับการท่องเที่ยวของลูก…ทั้งแบบดีและไม่ดี

 

สำหรับประเทศไทย ญาติก็มีผลได้หลาย ๆ สถานการณ์ เช่น การมีญาติสูงอายุช่วยดูแลลูกอยู่ในครอบครัว ส่วนหนึ่งก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ในการดูแลลูก แต่อีกส่วนหนึ่ง พ่อแม่ก็จะต้องแบ่งความสนใจจากลูก มาดูแลเอาใจผู้สูงอายุที่เป็นพ่อแม่ตัวเองด้วยเช่นกัน อีกทั้งการมีผู้สูงอายุจะเพิ่มข้อจำกัดทำให้แผนการท่องเที่ยวใช้แรงกายมากไม่ได้ ทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่โดยรวมแล้วญาติสูงอายุที่อยู่กับคุณลูกเป็นประจำและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกก็จะสามารถสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ดีได้

 

การมีญาติอยู่ต่างจังหวัดหรือวันรวมญาติ ก็เป็นกรณีที่ทำให้ครอบครัวต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาปีละ 1 ครั้ง หรือ มากกว่านั้น เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ซึ่งก็มักจะเป็นกิจกรรมของพ่อแม่ ที่ลูกมักจะไม่มีส่วนในการตัดสินใจและปฏิเสธได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นซ้ำทุกปี ถ้าเป็นการเดินทางที่ทั้งต้องเดินทางนั่งรถยาวนาน แล้วยังไม่ได้สร้างประสบการณ์ที่ดี แน่นอนว่าจะเกิดความเบื่อหน่าย พ่อแม่มักจะอธิบายถึงเหตุผล ความสำคัญ ความเชื่อ ฯลฯ ของกิจกรรมรวมญาติ แต่ยิ่งยุคสมัยเปลี่ยนไปก็มีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่ยอมรับน้อยลง และตั้งคำถามมากขึ้น ต้องคอยพยายามเบี่ยงเบนความสนใจแวะหาของกิน หรือแวะเที่ยวตามทางเป็นการผ่อนคลาย

 

ในวันรวมญาตินั้น วัยของเด็กก็จะมีผลต่อวงสนทนาของญาติต่างกัน สำหรับเด็กทารกและเด็กเล็กก็จะง่ายเพราะเด็กจะเป็นที่สนใจของทุกคน เด็กก็จะสำรวจ คลาน-เดิน ไปมาให้ญาติได้ชื่นชมความน่ารัก แต่เด็กที่โตขึ้นมาแล้วในยุคสมัยก่อนหน้า การที่เด็กมารวมตัวกัน ก็อาจจะได้วิ่งเล่นใช้แรงได้เห็นพฤติกรรม อารมณ์ ของเด็ก ก็สามารถพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า หรือร่วมเล่นกับเด็ก สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างญาติได้ แต่ในปัจจุบันที่มีมือถืออยู่ทำให้เด็กสามารถเพลิดเพลินได้ด้วยตัวเอง (พ่อแม่ก็เช่นกัน) แล้วก็ดูมือถืออยู่แต่กับครอบครัวตนเอง ทำให้การร่วมเล่นของกลุ่มญาติเกิดได้ยากขึ้น ในวงสนทนาพ่อแม่ต้องเอาคุณลักษณะอื่น ๆ หรือผลงานของลูกมาคุยกันคล้ายเป็นการอวด พ่อแม่และญาติอาจต้องพยายามมากขึ้นเพื่อจะทำให้ ลูก/หลาน ได้ปฏิสัมพันธ์กัน และหลีกเลี่ยงบรรยากาศของการเปรียบเทียบ

 

 

โดยสรุปแล้วก็คือ ลูกจะมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจท่องเที่ยวของครอบครัวมากขึ้นตามวัยที่สามารถสื่อสารและแสดงความต้องการของตนเอง ความสนใจในการท่องเที่ยวของลูกที่สูง ก็จะยิ่งทำให้มีบทบาทมากขึ้น ทำให้ได้การท่องเที่ยวที่ลูกพอใจ พ่อแม่ไม่ต้องมาคิดหัวแตกว่าวางแผนเองแล้วพอลูกไปแล้วจะถูกใจไหม เหลือแต่คอยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องคอยกำกับ แต่ว่ายังไงเที่ยวช่วงนี้ก็ยังต้องระมัดระวังโรคด้วยนะครับ ถึงแม้จะบอกว่าคุณพ่อมักจะมีบทบาทดูแลความปลอดภัย แต่โรคติดต่ออย่างงี้ คุณพ่อคนเดียวเอาไม่อยู่ ต้องช่วยกันดูแลทั้งครอบครัวนะครับ

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

Li, M., Lin, G., & Feng, X. (2021). An Interactive Family Tourism Decision Model. Journal of Travel Research, 00472875211056682.

 

Wang, Y., & Li, M. (2021). Family Identity Bundles and Holiday Decision Making. Journal of Travel Research, 60(3), 486-502.

ภาพจาก https://www.freepik.com/

 


 

บทความวิชาการ

โดย คุณณัฐนันท์ มั่นคง

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การโทษเหยื่อในกรณีล่วงละเมิดทางเพศ

บ่อยครั้งที่มีกรณีล่วงละเมิดทางเพศ ตั้งแต่การคุกคามด้วยสายตา วาจา ไปจนถึงเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นการข่มขืนและฆาตกรรม เราจะพบข้อคิดเห็นในลักษณะที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเหยื่อ ว่าผู้ถูกกระทำมีลักษณาการเช่นไร หรือมีการปฏิบัติตนเช่นไรก่อนและระหว่างการถูกล่วงละเมิด

 

“เหยื่อแต่งตัวโป๊”

“เหยื่อเป็นเด็กเอนฯ”

“เหยื่อเดินคนเดียวในซอยเปลี่ยว”

“เหยื่อไม่ร้องขอความช่วยเหลือ ไม่ดิ้นรนขัดขืน”

“เหยื่อสมยอมตามผู้กระทำไปที่ห้องเอง”

 

ข้อความที่มุ่งไปที่เหยื่อเหล่านี้ นอกจากถูกใช้เป็นข้อแก้ต่างของตัวผู้กระทำผิดเองแล้ว ยังเป็นข้อคิดเห็นจากบุคคลทั่วไปที่ได้รับทราบข่าวสารอีกด้วย แม้ในเหตุการณ์ที่มีความร้ายแรงมาก คือเหยื่อได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงหรือเสียชีวิต การโทษเหยื่อก็ยังคงปรากฏอยู่ มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ไม่เคยหายไป บางครั้งก็สุดโต่งแม้กระทั่งว่า เมื่อได้รับข้อมูลแล้วว่าเหยื่อเป็นเหยื่อในอุดมคติ (ideal victim) หรือมีลักษณะที่อยู่ภายในกรอบที่สังคมกำหนดทุกประการ เช่น แต่งตัวมิดชิด ไม่ดื่มเหล้า ไม่พาตนไปอยู่ในสถานที่และสถานการณ์เสี่ยง เป็นผู้เยาว์หรือเป็นผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเผชิญปัญหาภายหลังเกิดเหตุของเหยื่อ ว่าเหยื่อแจ้งความหรือไม่ บอกผู้ปกครองหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือไม่ ปล่อยให้เกิดเหตุซ้ำหรือไม่ และเมื่อกล่าวโทษสิ่งใดไม่ได้ ก็โทษไปยังเคราะห์กรรมในอดีตของเหยื่อ

 

 

การโทษเหยื่อ (victim blaming)

คือ การที่ผู้ถูกกระทำถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุหรือมีส่วนให้การกระทำผิดหรือภัยอันตรายเกิดขึ้นแก่ตน การกล่าวโทษเหยื่อนั้น นอกจากเป็นการซ้ำเติมผู้ถูกกระทำให้ได้รับความเจ็บปวด และทำให้เหยื่อหลายรายไม่กล้าที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตนแล้ว ยังเป็นการลดทอนความร้ายแรงของการกระทำผิดและเพิ่มความชอบธรรมให้แก่ผู้ที่กระทำผิดอีกด้วย อันเป็นการส่งผลเสียต่อทั้งตัวบุคคลผู้เสียหายและต่อสังคมโดยรวม ที่จะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเหยื่อ และกระทบต่อความโน้มเอียงในการตัดสินเชิงจริยธรรมของคนในสังคม

 

การโทษเหยื่อเกิดขึ้นได้อย่างไร

การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า การโยนความผิดไปยังผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้ประสบเหตุร้ายประเภทต่าง ๆ มีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อที่ว่า “โลกนี้มีความยุติธรรม” (Belief in a just world) บุคคลที่มีความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม จะเชื่อว่าโลกนี้มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่า ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำไม่ดีย่อมได้รับผลที่ไม่ดี เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับใคร สิ่งนั้นย่อมคู่ควรแก่คนนั้น ความเชื่อนี้เป็นแรงจูงใจพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการเห็นความยุติธรรม คนส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อนี้ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตและการหล่อหลอมทางสังคม ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา และนอกเหนือจากปัจจัยทางสังคมแล้ว ความเชื่อนี้ยังเกิดจากกลไกการทำงานของจิตใจที่พัฒนามาตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเด็กเล็กจะยึดหลักความพึงพอใจของตน ต้องการได้รับการตอบสนองทันทีในสิ่งที่อยากได้อยากทำ แต่เมื่อโตขึ้น เด็กเรียนรู้ว่าการได้รับการตอบสนองในทันทีเป็นเรื่องยาก จึงเริ่มมีพันธะส่วนบุคคลในการละทิ้งความพึงพอใจในปัจจุบัน และอดทนรอเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าและคู่ควรในวันข้างหน้า การรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพียรพยายาม อุตสาหะ และการจัดการสิ่งแวดล้อมของตน พันธะส่วนบุคคลเหล่านี้จะถูกต้องเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อบุคคลรู้สึกว่าตนอยู่ในโลกที่มีความยุติธรรม เป็นโลกที่ทุกสิ่งที่ตนทำได้ผลลัพธ์ที่คู่ควรกันเสมอ (อย่างไรก็ดี เมื่อบุคคลเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีพัฒนาการทางการรู้คิด มีวุฒิภาวะเพิ่มขึ้นและเห็นโลกมากขึ้น ความเชื่อว่าโลกยุติธรรมจะลดลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยยึดติดในผลกรรม หรือมองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องชี้พฤติกรรมก่อนหน้าว่าถูกหรือผิด จะคำนึงถึงความยุติธรรมที่แท้จริงมากขึ้น มีแนวคิดที่ยืดหยุ่นมากขึ้น)

 

นักจิตวิทยาเสนอว่าความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมเป็นความลำเอียงทางปัญญา (cognitive bias) ซึ่งเป็นกลไกให้มนุษย์รับมือกับความเครียด เพราะในชีวิตประจำวันที่เราเผชิญเต็มไปด้วยความไม่ยุติธรรม กดขี่ กีดกัน ไม่เท่าเทียม คนทำดีไม่ได้ดี คนทำชั่วไม่ได้ชั่ว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุกคามให้เกิดความคับข้องใจ การรักษาความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมเอาไว้เป็นการรักษาความรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างยังมั่นคง มีระบบระเบียบและสามารถควบคุมได้ 

 

แม้ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมเป็นเครื่องมือที่คนใช้เป็นเกราะป้องกันทางจิตใจ ช่วยให้บุคคลครุ่นคิดต่อเหตุการณ์ด้านลบน้อยกว่า ยอมรับต่อเหตุการณ์ไม่ยุติธรรมที่เกิดกับตนได้มากกว่า มองโลกในแง่ดีมากกว่า เชื่อในอำนาจควบคุมภายในตนเองมากกว่า แต่เหรียญด้านที่สองของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมคือการดูหมิ่นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ อคติ และการกีดกันสถานภาพ เมื่อบุคคลพบกับเหตุการณ์ที่ผู้ถูกกระทำตกเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมหรือความไม่สมเหตุสมผล ผู้ที่มีความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมจะกล่าวหาว่าผู้ประสบเคราะห์ร้ายนั้นได้กระทำสิ่งที่ไม่ดีมาก่อนจึงได้รับผลเช่นนี้ เป็นความคิดที่กู้ความรู้สึกว่าทุกสิ่งยังยุติธรรมดีอยู่ ยิ่งในกรณีที่บุคคลรู้สึกหมดหนทางที่จะนำความยุติธรรมกลับคืนมาหรือชดเชยใด ๆ ให้แก่เหยื่อได้ การดูหมิ่นและโยนความผิดให้เหยื่อยิ่งจะเกิดได้มากขึ้น 

 

นอกจากปัจจัยเรื่องความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมซึ่งเป็นสาเหตุของการโทษเหยื่อ (victim blaming) โดยทั่วไปแล้ว ในเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ อีกปัจจัยที่กล่าวข้ามไปไม่ได้คือเรื่องการมีอคติทางเพศ หรือการเหยียดเพศ (sexism)

ความเชื่อของคนในสังคมที่มองว่าเพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกัน เพศชายมีความแข็งแกร่งทางสรีระมากกว่า ได้รับบทบาททางเพศให้เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสังคม ส่วนเพศหญิงที่อ่อนแอกว่า ได้รับบทบาททางเพศให้เป็นผู้ดูแลความสัมพันธ์และบุคคลในครอบครัว ความเชื่อในบทบาททางเพศ (gender role) จากการแบ่งแยกเพศ (gender differentiation) เช่นนี้ นอกจากกำหนดบทบาทหน้าที่และพฤติกรรมของชายและหญิงแล้ว ยังส่งผลต่อการเหมารวมด้านบุคลิกลักษณะ และความสามารถอีกด้วย กล่าวคือ สังคมมีภาพเหมารวมว่าผู้ชายต้องมีความเป็นผู้นำ เข็มแข็ง กล้าตัดสินใจ มีพลังอำนาจ เป็นอิสระ (masculine) เก่งคำนวณและทิศทาง และมีภาพเหมารวมว่าผู้หญิงต้องมีความอ่อนหวาน นุ่มนวล ขี้อาย เป็นผู้ตาม (feminine) เก่งภาษาและงานที่มีความละเอียดอ่อน ผลที่ตามมาจากการคติความเชื่อเช่นนี้คือ บุคคลที่มีลักษณะสอดคล้องกับค่านิยมทางเพศดังกล่าวจะได้รับการยกย่อง ชมชอบ ส่วนบุคคลที่มีลักษณะไม่สอดคล้องจะได้รับการตำหนิ รังเกียจเดียดฉันท์ โดยนักจิตวิทยาเรียกเจตคติต่อผู้หญิงในลักษณะแบ่งแยกเป็นกลุ่มดี-กลุ่มเลว ตามความสอดคล้อง-ขัดแย้งกับค่านิยมทางเพศเช่นนี้ว่า การเหยียดเพศแบบแยกขั้ว (ambivalent sexism)

 

การเหยียดเพศแบบแยกขั้ว ประกอบด้วย 

  1. การเหยียดเพศแบบปฏิปักษ์ (hostile sexism) และ 
  2. การเหยียดเพศแบบให้คุณ (benevolent) 

 

การเหยียดเพศแบบปฏิปักษ์ คือความรู้สึกเกลียดชัง เป็นศัตรู และเหยียดหยาม ต่อผู้หญิงที่มีบทบาทกับจารีตประเพณีหรือแสดงออกว่ามีอำนาจเหนือผู้ชาย เช่น ผู้หญิงที่มีลักษณะยั่วยวนก่อให้เกิดความปรารถนาทางเพศ ผู้หญิงที่มีความเป็นผู้นำสูง ขณะที่การเหยียดเพศแบบให้คุณนั้น คือความรู้สึกรักใคร่ นิยม ให้เกียรติ และปกป้องดูแล ต่อผู้หญิงที่มีบทบาทไปในทางเดียวกับจารีตประเพณี เช่น ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านแม่เรือน ผู้หญิงที่อ่อนน้อมโอนอ่อนต่อผู้ชาย

 

การเหยียดเพศแบบแยกขั้วเกิดขึ้นในหลาย ๆ สังคม แม้ในสังคมที่ให้คุณค่าเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ก็ยังมีระบบที่ส่งเสริมให้ผู้ชายมีสิทธิเหนือกว่าผู้หญิงแฝงอยู่ (เช่นในการจ้างงานและการให้สวัสดิการ) กลับมามองที่สังคมไทย การเหยียดเพศแบบแยกขั้วปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในหลายมิติ คติของการแบ่งแยกผู้หญิงดีและผู้หญิงไม่ดีมีทั้งในการอบรมสั่งสอนจากครอบครัว การศึกษาในหลักสูตร ตลอดจนการนำเสนอข่าวและสื่อบันเทิง ดังเช่น การที่สังคมสอนให้ผู้หญิงต้องระมัดระวังตัวเองมากกว่าที่จะสอนให้ทุกคนไม่ไปละเมิดและทำร้ายผู้อื่น ดังนั้นในการโทษเหยื่อ เหยื่อที่ถูกโยนความผิดจึงมักเป็นเหยื่อที่มีลักษณะไม่ได้อยู่ในกรอบของการเป็นผู้หญิงที่ดี ทำให้การแต่งกาย อาชีพ บุคลิก การวางตัว กลายเป็นตัวแบ่งระหว่างเหยื่อที่ได้รับความเห็นใจและเหยื่อที่ถูกซ้ำเติมดูหมิ่น

การเลือกปฏิบัติจากอคติทางเพศในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดผลร้ายเฉพาะเหยื่อเพศหญิงเท่านั้น แม้การเหยียดเพศแบบแยกขั้วเป็นคอนเซปต์ที่เน้นไปยังเพศหญิง แต่ผู้ชายเองก็ได้รับผลกระทบจากการแบ่งแยกผู้ชายที่สอดคล้องกับภาพในความคิดและไม่สอดคล้องเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ชายถูกกดดันคาดหวังให้มีความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว เป็นผู้นำ ไม่แสดงความอ่อนแอ เมื่อตกเป็นผู้ถูกกระทำจึงมักถูกตั้งคำถามในเจตนา และความสามารถทางกายตลอดจนความสามารถทางปัญญา แทนที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจ ในกรณีที่เพศชายตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ บ่อยครั้งจะถูกมองเป็นเรื่องขำขัน ความร้ายแรงของเหตุการณ์จะถูกลดทอนลงไป ความกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจของเหยื่อเพศชายมักถูกมองข้าม มาตรการทั้งในเชิงป้องกันและดูแลช่วยเหลือเหยื่อเพศชายไม่ค่อยได้รับการพูดถึง เหยื่อผู้หญิงที่กล้าแจ้งความหรือเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตนมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนเหยื่อทั้งหมด เหยื่อผู้ชายที่กล้าเปิดเผยเรื่องราวที่ตนเผชิญยิ่งมีน้อยกว่า มีหลายรายที่ต้องแบกรับความเจ็บปวดเพียงลำพังเพราะไม่กล้าเสี่ยงกับความอับอายและการถูกดูหมิ่น

 

เราจะลดการกล่าวโทษเหยื่อในกรณีล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างไร

เมื่อเราได้ทราบแล้วถึงที่มาของการกล่าวโทษเหยื่อว่ามาจากวิธีคิดและคติความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่เป็นธรรม การลดการโทษเหยื่อจึงต้องช่วยกันสร้างการตระหนักรู้เท่าทันในวิธีการคิดของตน ช่วยกันเน้นย้ำว่าเหยื่อคือผู้ถูกกระทำ คือผู้ที่ได้รับความเจ็บปวด เป็นผู้ที่ต้องการการช่วยเหลือ การปกป้องจากอันตรายและการซ้ำเติมอื่น ลักษณะของเหยื่อไม่ใช่เหตุผลของการถูกทำร้ายถูกล่วงละเมิด ความยุติธรรมของโลกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่เอง แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ในสังคมจะร่วมกันสร้างขึ้นมา เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นแล้ว ความยุติธรรมจะมีอยู่ได้เมื่อเหยื่อมีพื้นที่ปลอดภัยในการต่อสู้และได้ชีวิตปกติกลับคืนมา ส่วนผู้ที่ต้องเผชิญจากการตั้งคำถามจากสังคมคือผู้ที่กระทำผิด โดยเป็นการตั้งคำถามเพื่อหาทางแก้ไขไม่ให้ความผิดเดิมเกิดขึ้นซ้ำ และป้องกันไม่ให้กรณีเดียวกันเกิดขึ้นกับใครอีก

นอกจากการตระหนักรู้ของปัจเจกบุคคลในสังคมแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลต่อการชี้นำความคิดของคนในสังคม ต้องช่วยกันสร้างและดำเนินการอย่างเคร่งครัดในมาตรการ ข้อกฎหมาย และจรรยาบรรณ เกี่ยวกับการพิทักษ์เหยื่อ และส่งสารไปยังสังคมให้ตระหนักในความสำคัญของความเท่าเทียมและการไม่ใช้อคติในการตัดสินผู้ใด 

สังคมมนุษย์เป็นสังคมใหญ่ที่ประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลาย การจัดกลุ่มทางสังคมเป็นเรื่องธรรมชาติของคนเรา หากแต่การประเมินคุณค่าของบุคคลด้วยภาพเหมารวมเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความเจ็บปวดให้แก่กันและกันได้ การเคารพในความแตกต่างจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแม้ว่ามนุษย์แต่ละคนจะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันเพียงใด แต่ความเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก ต้องการความเข้าใจ ได้มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย คือพื้นฐานร่วมกันของพวกเราทุกคน

 

 

รายการอ้างอิง

 

ไตรภพ จตุรพาณิชย์. (2557). อิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมต่อการตัดสินด้านจริยธรรม [วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/45922

 

ธารวิมล ดิษฐรักษ์. (2558). อิทธิพลของการเหยียดเพศแบบแยกขั้วต่อการกระทำเพื่อกลุ่มโดยมีการรับรู้ความยุติธรรมระหว่างเพศและการรับรู้ข้อได้เปรียบของการเป็นผู้หญิงเป็นตัวแปรส่งผ่าน [วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/50744 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


 

บุคลิกภาพและผลงานในการแข่งขันกีฬา

การประสบความสำเร็จของนักกีฬา/ผลงานในการแข่งขันกีฬาอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยมากมาย เช่น ความแข็งแกร่งของร่างกาย ความแข็งแกร่งของจิตใจ ทักษะ ความสามารถ หรือแม้แต่โชคชะตา โดย “บุคลิกภาพ” (personality) ของนักกีฬาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เราอาจสงสัยกันว่า สิ่งนี้จะส่งผลต่อผลงานในการแข่งขันกีฬาหรือไม่ ที่ผ่านมา นักจิตวิทยามีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับบทบาทของบุคลิกภาพที่มีต่อผลงานในการแข่งขันกีฬา (Crocker et al., 2015) นักจิตวิทยาบางกลุ่มมีความเห็นว่า โปรไฟล์บุคลิกภาพที่ “ถูกต้อง” กับการแข่งขันกีฬามีอยู่จริง และเราสามารถใช้การประเมินบุคลิกภาพสำหรับการคัดเลือกนักกีฬาได้ ส่วนนักจิตวิทยาบางกลุ่มมีความเห็นว่า บุคลิกภาพมีประโยชน์น้อยในการคัดเลือกและการพัฒนานักกีฬาและไม่สามารถทำนายการประสบความสำเร็จของนักกีฬาได้

 

ทฤษฎีบุคลิกภาพที่นักจิตวิทยาใช้กันค่อนข้างมากในการวิจัย คือ ทฤษฎีบุคลิกภาพ 5 ด้าน (Big Five) ที่ถือว่าสะท้อนความแตกต่างระหว่างบุคคลในมิติต่าง ๆ อย่างครอบคลุมมากที่สุด

 

บุคลิกภาพ 5 ด้าน ประกอบไปด้วย (McCrae & Costa, 1997)

 

(i) บุคลิกภาพแบบวิตกจริต (neuroticism) ที่มีลักษณะย่อย เช่น ความวิตกกังวลและความเปราะบาง (ทางจิตใจ)

(ii) บุคลิกภาพแบบเปิดเผยตนเอง (extraversion) ที่มีลักษณะย่อย เช่น ความอบอุ่นและบุคลิกลักษณะอารมณ์ทางบวก

(iii) บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) ที่มีลักษณะย่อย เช่น การจินตนาการและการเปิดรับคุณค่า

(iv) บุคลิกภาพแบบโอนอ่อนผ่อนตาม/ประนีประนอม (agreeableness) ที่มีลักษณะย่อย เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจและความอ่อนโยน และ

(v) บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบ (conscientiousness) ที่มีลักษณะย่อย เช่น ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความมีระเบียบวินัยในตัวเอง

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า ความแตกต่างระหว่างบุคคลในหลากหลายประเทศ สังคม และวัฒนธรรม โดยส่วนใหญ่ สามารถถูกอธิบายได้ด้วยบุคลิกภาพ 5 ด้านนี้

 

นักจิตวิทยาส่วนหนึ่งได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและ “ผลงาน” ในการแข่งขันกีฬา ยกตัวอย่างเช่น Kruger และคณะ (2019) เก็บข้อมูลบุคลิกภาพ 5 ด้าน (Big Five) กับนักกีฬารักบี้ที่แข่งขันในระดับอาชีพ (professional) และที่แข่งขันในระดับกึ่งอาชีพ (semi-professional) โดยถือว่า นักกีฬาอาชีพมีผลงานอยู่ในระดับที่สูงกว่านักกีฬากึ่งอาชีพ บุคลิกภาพด้านที่นักกีฬา 2 กลุ่ม มีระดับแตกต่างกัน คือ บุคลิกภาพแบบวิตกจริต (neuroticism) ซึ่งนักกีฬาอาชีพมีระดับบุคลิกภาพแบบวิตกจริต น้อยกว่า นักกีฬากึ่งอาชีพ นอกจากนั้น Steca และคณะ (2018) ศึกษาความแตกต่างของบุคลิกภาพ 5 ด้าน ระหว่างนักกีฬาที่แข่งขันในระดับภูมิภาค (ในประเทศ [regional]) และนักกีฬาที่แข่งขันในระดับชาติ (national) ซึ่งนักกีฬากลุ่มแรกมีระดับบุคลิกภาพแบบวิตกจริตน้อยกว่าและมีระดับบุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบและแบบโอนอ่อนผ่อนตาม/ประนีประนอมมากกว่านักกีฬากลุ่มหลัง Steca และคณะ ให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า บุคลิกภาพแบบวิตกจริต น้อย น่าจะช่วยให้นักกีฬาจัดการความเครียดได้ดี บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบมากน่าจะช่วยให้นักกีฬาอดทนต่อการฝึกซ้อมระยะยาวได้ และบุคลิกภาพแบบโอนอ่อนผ่อนตาม/ประนีประนอมน่าจะช่วยให้นักกีฬาเข้าถึงการช่วยเหลือหรือการสนับสนุนทางสังคมเมื่อต้องการได้

 

การศึกษาบทบาทของบุคลิกภาพที่มีต่อผลงานในการแข่งขันกีฬาเริ่มให้ความสนใจกับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (e-sport) จากการเก็บข้อมูลกับผู้เล่น League of Legends Matuszewski และคณะ (2020) พบว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้เล่นระดับ “ล่าง” (lower division ซึ่งได้แก่ Bronze Silver และ Gold) และผู้เล่นระดับ “บน” (higher division ซึ่งได้แก่ Platinum Diamond และ Master) ผู้เล่นระดับบนมีระดับบุคลิกภาพแบบเปิดเผยตนเอง (extraversion) น้อยกว่า มีบุคลิกภาพแบบโอนอ่อนผ่อนตาม/ประนีประนอม (agreeableness) น้อยกว่า และมีระดับบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) มากกว่าผู้เล่นระดับล่าง ผู้วิจัยให้เหตุผลว่า ผู้เล่นที่มีระดับบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์มากมักจะยืดหยุ่นและมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจสามารถปรับตัวเข้ากับกลไกและบริบทของเกมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ได้ดี

 

ข้อสังเกตประการหนึ่งจากตัวอย่างงานวิจัยทางจิตวิทยาข้างต้น คือ รูปแบบบุคลิกภาพที่นำไปสู่ผลงานที่เป็นเลิศในการแข่งขันกีฬา ทุกประเภท อาจไม่มีอยู่ สังเกตว่า งานวิจัยข้างต้นให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเกี่ยวกับบุคลิกภาพด้านที่ส่งผลดีและส่งผลเสียต่อผลงานในการแข่งขัน ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นข้อจำกัดของการใช้บุคลิกภาพในการพัฒนานักกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมของผลการวิจัยแล้ว บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบและบุคลิกภาพแบบวิตกจริตน่าจะ “มีความสัมพันธ์” กับผลงานในการแข่งขันกีฬา ซึ่งคำอธิบายที่ดูจะสมเหตุสมผล คือ บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบจะสะท้อนความมานะอุตสาหะ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของบุคคลในการพัฒนาตัวเอง และ ความมั่นคงทางอารมณ์ (ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของบุคลิกภาพแบบวิตกจริต) จะสะท้อนความสามารถในการจัดการความเครียด/ปัญหา ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของบุคคลเมื่อต้องก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ และบุคลิกภาพอาจมีบทบาทต่อ “การยืนระยะ” หรือการประสบความสำเร็จระยะยาว เช่น การพัฒนาตัวเองเข้าสู่การแข่งขันในระดับสูงหรือการประสบความสำเร็จเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลแข่งขัน มากกว่าการประสบความสำเร็จระยะสั้น เช่น การชนะเลิศในการแข่งขัน (tournament) หนึ่ง ๆ

 

บุคลิกภาพอาจมีความสัมพันธ์กับรูปแบบการจัดการความเครียด (coping) ที่แตกต่างกันของนักกีฬา และรูปแบบการจัดการความเครียดที่แตกต่างกันจะนำไปสู่ความแตกต่างของผลงานในการแข่งขัน Allen และคณะ (2011) ให้นักกีฬาตอบคำถามในเครื่องมือวัดทางจิตวิทยาที่ประเมินบุคลิกภาพ 5 ด้าน และการจัดการความเครียด (3 ด้าน คือ การมุ่งจัดการปัญหา [problem-focused] การมุ่งจัดการอารมณ์ [emotion-focused] และการหลีกหนีปัญหา [avoidance]) เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและการจัดการความเครียด Allen และคณะ พบว่า บุคลิกภาพ 5 ด้าน มีอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ในการทำนายการจัดการความเครียดของนักกีฬา กล่าวคือ นักกีฬาที่มีระดับบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์สูง มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผยตนเองสูง และมีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตต่ำ มักจะมุ่งจัดการปัญหา ส่วนนักกีฬาที่มีระดับบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์สูง มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผยตนเองสูง และมีบุคลิกภาพแบบโอนอ่อนผ่อนตาม/ประนีประนอมสูง มักจะมุ่งจัดการอารมณ์ และสุดท้าย บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์มีความสัมพันธ์ทางลบกับการหลีกหนีปัญหา ส่วนบุคลิกภาพแบบวิตกจริตมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการหลีกหนีปัญหา จากผลการวิจัยนี้ เราจะเห็นบทบาทที่ค่อนข้างชัดเจนของบุคลิกภาพแบบวิตกจริต ซึ่งน่าจะขัดขวางการพัฒนาตัวเองของนักกีฬา บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตสูงมีแนวโน้มที่จะ ไม่ใช้ การมุ่งจัดการปัญหา (ซึ่งการมุ่งจัดการปัญหามักจะให้ผลลัพธ์ที่ดีในการจัดการความเครียด) และมักจะหลีกหนีปัญหา (ซึ่งการหลีกหนีปัญหามักจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีในการจัดการความเครียด)

 

นอกจากรูปแบบการจัดการความเครียด นักจิตวิทยาได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและ ประสบการณ์ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬา เพื่อที่จะเข้าใจอิทธิพลของบุคลิกภาพที่มีต่อผลงานในการแข่งขันกีฬามากขึ้น “ประสบการณ์ต่าง ๆ” เช่น คุณภาพของพฤติกรรมการฝึกซ้อม (quality of training behavior) โดยมองว่า บุคลิกภาพของนักกีฬาน่าจะส่งผลต่อผลงานในการแข่งขันผ่านคุณภาพของพฤติกรรมการฝึกซ้อม จากงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพของนักกีฬา กลยุทธ์การเพิ่มพูนผลงาน (performance strategy) และคุณภาพของพฤติกรรมการฝึกซ้อม โดยที่คุณภาพของพฤติกรรมการฝึกซ้อมแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การถูกรบกวนได้ง่าย (distractibility) การจัดการอุปสรรค/ความเหนื่อยยาก (coping with adversity) และคุณภาพของการเตรียมตัวแข่งขัน (quality of preparation [Woodman et al., 2010]) ผลการวิจัยโดยภาพรวม คือ บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบ (และการตั้งเป้าหมาย) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพของการเตรียมตัวแข่งขัน และบุคลิกภาพแบบวิตกจริตมีความสัมพันธ์ทางลบกับการจัดการอุปสรรค/ความเหนื่อยยาก

 

ประเด็นสำคัญของการแปลความหมายงานวิจัยทางจิตวิทยาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและผลงานในการแข่งขันกีฬา คือ เราอาจไม่สามารถบอกความสัมพันธ์เชิงสาเหตุได้ (ว่าบุคลิกภาพเป็นสาเหตุของผลงานในการแข่งขัน หรือผลงานในการแข่งขัน [และประสบการณ์การแข่งขัน] เป็นสาเหตุของบุคลิกภาพ [ที่เปลี่ยนแปลงไป]) การแปลความหมายที่เป็นไปได้ เช่น ประสบการณ์การแข่งขันในระดับอาชีพอาจทำให้นักกีฬามีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตลดลง ส่วนนักกีฬาที่บุคลิกภาพแบบวิตกจริต ไม่ได้ ลดลง อาจ “หลุด” ออกจากทีมและไม่สามารถยืนระยะให้อยู่บนการแข่งขันในระดับอาชีพได้ ซึ่งเราอาจเรียกปรากฏการณ์นี้ได้ว่า self-selection (สังเกตว่า ประสบการณ์การแข่งขันในระดับอาชีพ คือ สาเหตุ และการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพแบบวิตกจริต คือ ผลลัพธ์ หรือพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า ประสบการณ์หล่อหลอมบุคลิกภาพของบุคคล) หรือ นักกีฬาที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตน้อยอาจประสบความสำเร็จมากกว่านักกีฬาที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตมาก ซึ่งทำให้นักกีฬาที่มีบุคลิกภาพแบบวิตกจริตน้อยสามารถแข่งขันในระดับที่สูงกว่าได้ (สังเกตว่า บุคลิกภาพแบบวิตกจริต คือ สาเหตุ และการประสบความสำเร็จในการแข่งขัน คือ ผลลัพธ์)

 

ถึงแม้ว่าเราอาจไม่สามารถระบุความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างบุคลิกภาพและผลงานในการแข่งขันได้อย่างชัดเจน และเราอาจไม่มีโปรไฟล์บุคลิกภาพที่ “ดี” หรือ “ไม่ดี” อย่างเป็นสากล แต่ถ้าเราจำกัดขอบเขตบริบทของการใช้ข้อมูลบุคลิกภาพของนักกีฬา เช่น จำกัดอยู่ในกีฬาประเภทหนึ่ง ๆ หรืออยู่ในการแข่งขันในระดับหนึ่ง ๆ การใช้ข้อมูลบุคลิกภาพของนักกีฬาอาจมีประโยชน์มากขึ้น ในวงการกีฬาอาชีพ เช่น NHL (National Hockey League) นักจิตวิทยาพบว่า บุคลิกภาพและลักษณะทางจิตวิทยาต่าง ๆ เช่น ความชอบการแข่งขัน (competitiveness) บุคลิกลักษณะแบบชอบคิดวิเคราะห์ (analytical disposition) ฯลฯ สามารถทำนายจำนวนการทำประตูและจำนวนการช่วยให้เพื่อนร่วมทีมทำประตู (assist) ในอีก 15 ปีต่อมา ได้ (มากกว่าปัจจัยทางกายภาพ เช่น ความแข็งแกร่งของร่างกาย) ยิ่งไปกว่านั้น บุคลิกภาพและลักษณะทางจิตวิทยาต่าง ๆ ยังสามารถทำนายจำนวนนาทีที่นักกีฬาถูกลงโทษ (penalty minute) เมื่อทำผิดกติกา ฯลฯ และสามารถทำนายจำนวนครั้งที่นักกีฬาย้ายทีมได้ (Gee et al., 2007) คุณสมบัติในการทำนายสถิติผลงานต่าง ๆ ที่อาจทำนายได้ดีกว่าสมรรถนะทางร่างกายทำให้ข้อมูลทางจิตวิทยาเริ่มมีความสำคัญในการคัดเลือกและการพัฒนานักกีฬามากขึ้น

 

 

เราอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า โปรไฟล์บุคลิกภาพที่เหมาะสมกับการแข่งขันกีฬา โดยทั่วไป อาจไม่มีอยู่ แต่เมื่อพิจารณาตามทฤษฎีและคำอธิบายที่เหมาะสมแล้ว บุคลิกภาพแบบละเอียดรอบคอบ/รับผิดชอบสูงน่าจะทำให้นักกีฬาอดทนฝึกซ้อมและพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนบุคลิกภาพแบบวิตกจริตต่ำน่าจะทำให้นักกีฬาสามารถควบคุมอารมณ์และจัดการความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ “บุคลิกภาพ” ของนักกีฬามักจะส่งผลต่อผลงานระยะยาวมากกว่าผลงานระยะสั้น อย่างไรก็ตาม บุคลิกภาพเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง (ในหลาย ๆ ปัจจัย) ที่ส่งผลต่อการประสบความสำเร็จของนักกีฬา (Crocker และคณะ [2015] ให้ความเห็นว่า บุคลิกภาพน่าจะมีอิทธิพลประมาณร้อยละ 10-15 เท่านั้น) และนอกจากบุคลิกภาพ 5 ด้านแล้ว ยังมีบุคลิกภาพรูปแบบอื่น ๆ (เช่น บุคลิกภาพ 6 ด้าน [Ashton et al., 2004] หรือบุคลิกภาพจากเครื่องมือวัด Minnesota Multiphasic Personality Inventory [Butcher & Williams, 2009]) ที่นักจิตวิทยายังไม่ได้ศึกษาในบริบทการพัฒนานักกีฬาและการแข่งขันกีฬามากนัก

 


 

 

รายการอ้างอิง

Allen, M., Greenlees, I., & Jones, M. (2011). An investigation of the five-factor model of personality and coping behaviour in sport. Journal of Sport Sciences, 29, 841-850.

 

Allen, M., Greenlees, I., & Jones, M. (2013). Personality in sport: A comprehensive review. International Review of Sport and Exercise Psychology, 6, 184-208.

 

Ashton, M., Lee, K., Perugini, M., Szarota, P., Vries, R., Blas, L., Boies, K., & Raad, B. (2004). A six-factor structure of personality-descriptive adjectives: Solutions from psycholexical studies in seven languages. Journal of Personality and Social Psychology, 86, 356-366.

 

Butcher, J. N., & Williams, C. L. (2009). Personality assessment with the MMPI-2: Historical roots, international adaptations, and current challenges. Applied Psychology: Health and Well-being, 1, 105-135.

 

Crocker, P. R., Sedgwick, W. A., & Rhodes, R. E. (2015). Personality in sport and exercise. In P. R. E. Crocker (Ed.), Sport and exercise psychology: A Canadian perspective (pp. 28-51). Upper Saddle River: NJ: Pearson.

 

Gee, C. J., Dougan, R. A., Marshall, J. C., & Dunn, L. A. (2007). Using a normative personality profile to predict success in the National Hockey League (NHL): A 15-year longitudinal study. Journal of Sport and Exercise Psychology, 29, s164.

 

Kruger, A., Plooy, K., & Kruger, P. (2019). Personality profiling of South African rugby union players. Journal of Personality in Africa, 29, 383-387.

 

Matuszewski, P., Dobrowolski, P., & Zawadski, B. (2020). The association between personality traits and eSports performance. Frontiers in Psychology, 11, 1490.

 

McCrae, R. R., & Costa, P. T. (1997). Personality trait structure as a human universal. American Psychologist, 52, 509-516.

 

Steca, P., Baretta, D., Greco, A., D’Addario, M., & Monzani, D. (2018). Associations between personality, sports participation and athletic success: A comparison of Big Five in sporting and non-sporting adults. Personality and Individual Differences, 121, 176-183.

 

Woodman, T., Zourbanos, N., Hardy, L., Beattie, S., & McQuillan, A. (2010). Do performance strategies moderate the relationship between personality and training behaviors? An exploratory study. Journal of Applied Sport Psychology, 22, 183-197.

 

ภาพจาก https://www.freepik.com/

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

รองศาสตราจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Here to heal Online Workshop: Hope

Here to heal ชวนคุณมาให้เวลาชีวิต ดูแลใจให้มีหวัง ด้วยจิตวิทยา กับ Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ในหัวข้อเรื่อง “Hope”

 

 

 

โดยวิทยากร อ. ดร.พนิตา เสือวรรณศรี ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม 2564  เวลา 13.00-15.00 น.

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSepEZohAmsTEflw9tRj-nM6rh8pBudrOt-EaIT8ah6SUuEmpQ/viewform
โดยทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านก่อนถึงเวลา Workshop ผ่านทาง Email

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW
ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 


 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ here to heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.
เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ก Here-to-Heal เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุยได้เลยค่ะ

วิธีการหลีกเลี่ยงหลุมพรางในการคิด

METATHINKING

 

 

การนึกคิด (thinking) เป็นสิ่งที่เราต้องทำในทุก ๆ วัน ซึ่งประกอบไปด้วยการสัมผัสรับรู้ การจดจำ และการใช้เหตุผลในการประมวลข้อมูลจากประสบการณ์และผู้คนที่เผชิญในแต่ละวัน งานวิจัยทางจิตวิทยาชี้ว่าการนึกคิดของมนุษย์มักมีจุดบกพร่องในหลาย ๆ ด้าน Daniel Kahneman นักจิตวิทยาที่ได้รับรางวัล Nobel Prize ในการศึกษาวิธีการคิดของมนุษย์ ได้เขียนหนังสือเล่มดังชื่อ Thinking, Fast and Slow ซึ่งเสนอว่ากระบวนการคิดนั้นสามารถแบ่งออกคร่าว ๆ เป็นสองประเภท คือ “System 1” และ “System 2”

 

“System 1” คือ การนึกคิดแบบอัตโนมัติ เป็นการประมวลข้อมูลตามสัญชาตญาณและอารมณ์ เราสามารถใช้กระบวนการนึกคิดประเภทนี้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องใช้ความพยายามทางปัญญา (cognitive effort) มากมาย แต่ข้อเสีย คือ การคิดแบบนี้มักจะถูกบิดเบือนและไม่เป็นไปตามเหตุผล เพราะฉะนั้นการประมวลข้อมูลในลักษณะนี้อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ในทางกลับกัน “System 2” คือ การนึกคิดซึ่งใช้การวิเคราะห์ เป็นการไตร่ตรองข้อมูลโดยรอบคอบและมีการใช้เหตุผลอย่างถูกต้อง กระบวนการคิดประเภทนี้จะใช้เวลานานกว่าและใช้ความพยายามทางปัญญามากกว่า และจะนำไปสู่ข้อสรุปและความคิดเห็นที่สมเหตุสมผลมากกว่าการใช้ “System 1”

 

เราสามารถพัฒนาวิธีการคิดให้รอบคอบมากขึ้นและหลีกเลี่ยงการนึกคิดแบบบิดเบือนโดยการฝึกฝน “ทักษะการไตร่ตรองพิจารณากระบวนการคิดของตนเอง” ที่เรียกว่า “metathinking” ทักษะนี้คือการตระหนักรู้และควบคุมการนึกคิดและการประมวลข้อมูล ซึ่งจะส่งผลให้การนึกคิดและการตัดสินของเรามีเหตุผลและตรงต่อความเป็นจริงมากขึ้น เราสามารถฝึกทักษะนี้ได้โดยการรู้เท่าทันวิธีการคิดผิด ๆ (fallacy) และอคติส่วนตัวที่นำไปสู่ข้อสรุปที่ผิด ๆ การพัฒนาทักษะ metathinking จะช่วยให้คุณประมวลข้อมูลจากบุคคลรอบข้างและจากสื่อต่าง ๆ อย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น

ต่อไปนี้จะนำเสนอ 4 ตัวอย่างของหลุมพรางในการนึกคิดในชีวิตประจำวัน พร้อมกับแบบฝึกหัด metathinking ง่าย ๆ เพื่อเชิญชวนให้ผู้อ่านพิจารณาวิธีการนึกคิดของตนเอง

 

1. อคติและความลำเอียงในภาษา

 

เมื่อเราต้องการอธิบายเหตุการณ์หรือบุคคลที่เราพบเจอ เรามักจะใช้ภาษาในการบอกเล่า ซึ่งเราอาจมองว่าการใช้ภาษาเป็นการอธิบายที่บ่งชี้ความจริงอย่างแน่ชัด เช่น “อากาศวันนี้ร้อนมาก” แต่ในความเป็นจริงภาษาที่เราใช้อธิบายมักจะมีอคติแฝงอยู่เสมอ ซึ่งสะท้อนค่านิยมหรือความเชื่อหลักของผู้พูด โดยเฉพาะในการอธิบายลักษณะนิสัยของผู้อื่น เช่น ดาและญาเป็นเพื่อนร่วมงานกับเฟิร์น ดามองว่าเฟิร์นเป็นคนที่ “ขี้เหนียว ประมาท บ้างาน และหลงตัวเอง” ส่วนญามองว่าเฟิร์นเป็นคนที่ “ประหยัด กล้าหาญ ทุ่มเทกับงาน และมีความมั่นใจในตัวเอง” ให้สังเกตว่าแต่ละคำศัพท์ที่เลือกใช้นั้นบ่งชี้ค่านิยมที่แตกต่างกันของดาและญาในการอธิบายบุคคลเดียวกัน การฝึกฝน metathinking ในที่นี้คือการคำนึงว่าภาษาที่เราใช้นึกคิดและบอกเล่านั้นล้วนมีอคติทั้งสิ้น จึงพึงไตร่ตรองว่าค่านิยมและอคติส่วนตัวส่งผลต่อภาษาที่เราพูดออกไปอย่างไร และไม่ตกหลุมพรางเชื่อว่าการตัดสินส่วนตัวของเราคือคำนิยามที่เที่ยงตรงและปราศจากอคติ

 

แบบฝึกหัด – คำศัพท์ต่อไปนี้สมมุติว่าเป็นคำนิยามต่อบุคคลจากมุมมองของนางสาว A ได้แก่ “เห็นแก่ตัว” “มักใหญ่ใฝ่สูง” “ขี้เกียจ” “เรื่องมาก” “ไม่เชื่อฟัง” “หัวโบราณ” “ปัญหา” “ความล้มเหลว” ให้ผู้อ่านนึกคิดคำศัพท์ที่สะท้อนทัศนคติและค่านิยมจากมุมมองของนางสาว B ผู้ที่มักจะมองเหตุการณ์และผู้คนในแง่บวกมากกว่านางสาว A อาทิ การเปลี่ยนใช้คำว่า “โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง” แทนที่จะใช้ว่า “ความล้มเหลว” เป็นต้น

 

 

2. ขาวดำ หรือแรเงาสีเทา?

 

ในโลกนี้มีปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งที่สามารถแบ่งแยกเป็น 2 หมวดได้อย่างชัดเจน (dichotomous variable) เช่น การที่สตรีจะตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ (โดยไม่มีการตั้งครรภ์ ‘เล็กน้อย’ หรือ ‘ปานกลาง’) หรือการระบุเมืองที่เกิด (เช่น เกิดที่กรุงเทพฯ หรือไม่ได้เกิดที่กรุงเทพฯ) ในขณะที่มีปรากฏการณ์อีกส่วนหนึ่งที่แม้จะมี 2 ขั้ว แต่สามารถไล่ระดับความเข้มข้นแบบต่อเนื่องได้ (continuous variable) เช่น ช่วงระหว่างสีดำกับสีขาวจะมีแรเงาสีเทาหลายระดับ ปัญหาก็คือ เรามักสับสนระหว่างตัวแปรสองประเภทนี้ โดยมักคิดว่าปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์สามารถแบ่งออกเป็นสองหมวดชัดเจน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เหมาะที่จะแบ่งออกแบบนั้น เช่น คนดี-คนไม่ดี คนปกติ-คนผิดปกติ ชอบอยู่คนเดียว-ชอบสังสรรค์ ชอบอิสระ-ชอบพึ่งพาอาศัย เราสามารถฝึกฝน metathinking ในแง่นี้โดยการคำนึงว่าทัศนคติและความเชื่อเกี่ยวกับบุคคลมักเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้มีเพียงสองขั้ว และฝึกแยกแยะปรากฏการณ์สองประเภทนี้

 

แบบฝึกหัด – ให้ผู้อ่านตอบว่าปรากฏการณ์ต่อไปนี้มีลักษณะขาวดำที่แบ่งแยกได้ชักเจนเป็นสองขั้ว (dichotomous) หรือมีลักษณะต่อเนื่องโดยมีพื้นที่สีเทาระหว่างกลาง (continuous) : “สถานะโสด-สมรส” “ลักษณะเพศชาย-เพศหญิง” “มีนิสัยรับผิดชอบ-ไม่รับผิดชอบ” “มีชีวิต-เสียชีวิต” “โบราณ-สมัยใหม่” “อนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม” “เปิด-ปิดพัดลม” “นิสัยดี-นิสัยไม่ดี”

 

 

3. Fundamental Attribution Error

 

ถ้ามีใครขับรถเร็วและปาดหน้ารถของคุณบนทางด่วน คุณจะอธิบายพฤติกรรมนี้ว่าอย่างไร? มนุษย์มักอธิบายพฤติกรรมของผู้อื่นด้วยเหตุผลสองประเภท คือ ให้เหตุผลเกี่ยวกับนิสัยและทัศนคติของบุคคล (เขาเป็นคนขับรถประมาทและไม่คำนึงถึงผู้อื่น) หรือเหตุผลเกี่ยวกับสถานการณ์ชั่วขณะของบุคคล (ตอนนี้เขามีธุระรีบไปไหนหรือเปล่า) ในความเป็นจริงพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากปัจจัยทั้งสองประเภท แต่เรามักตีความพฤติกรรมผู้อื่นในแง่ของนิสัยโดยไม่ค่อยคำนึงถึงสถานการณ์ เราสามารถฝึก metathinking โดยคำนึงว่าสถานการณ์อาจส่งผลต่อพฤติกรรมผู้อื่นมากกว่าที่เราคิด ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจการกระทำของผู้อื่นอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

 

แบบฝึกหัด – ให้ผู้อ่านลองนึกถึงเหตุผลเกี่ยวกับ ‘สถานการณ์’ เพื่ออธิบายพฤติกรรมต่อไปนี้ : “การปล้นลักทรัพย์” “การมีบุตรหลายคน” “การติดเกม” “ความรุนแรงในครอบครัว” “การสอบตก” “การชนะการแข่งขันกีฬา”

 

 

4. Correlation is not causation

 

การที่มีสองปรากฏการณ์ (A และ B) มักเกิดขึ้นควบคู่กัน บ่งชี้ว่าสองปรากฏการณ์นั้นมีความสัมพันธ์กัน แต่เราไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่าง A และ B ได้ เช่น ผู้ปกครองสังเกตว่าเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว (B) มักจะเล่นเกมที่มีความรุนแรง (A) จึงเชื่อว่า ‘การเล่นเกมรุนแรง’ ส่งผลให้เกิด ‘พฤติกรรมก้าวร้าว’ (A ส่งผลให้เกิด B) แต่ในความเป็นจริงมีการอธิบายอื่น ๆ อย่างน้อยสามวิธีที่เป็นไปได้เช่นกัน ได้แก่ เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวอยู่แล้วอาจชอบและเลือกที่จะเล่นเกมรุนแรง (B ส่งผลให้เกิด A) หรืออีกวิธีการอธิบายคือ ทั้ง A และ B ต่างส่งผลต่อกัน ส่วนคำอธิบายสุดท้ายคือ A และ B อาจเกิดขึ้นควบคู่กันเพราะมีปัจจัยที่สามที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์นั้น (C ส่งผลให้เกิด A และ B) อาทิ ‘ความขัดแย้งในครอบครัว’ อาจส่งผลให้เกิดทั้งพฤติกรรมก้าวร้าวและการเล่นเกมรุนแรง เราสามารถฝึก metathinking โดยการคำนึงว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กันเป็นเพียงการสะท้อนว่าตัวแปรเหล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่สามารถบ่งชี้ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไรหรือเพราะเหตุใด

 

แบบฝึกหัด – สมมุติว่ามีผลสำรวจชี้ว่าบุคคลที่ไม่ยึดมั่นในศาสนามักจะมีความสุขน้อยกว่าคนที่ยึดมั่นในศาสนา ให้ผู้อ่านลองนึกวิธีการอธิบายปรากฏการณ์นี้ในเชิงเหตุผลอย่างน้อย 4 วิธี โดยเริ่มต้นพิจารณาสองปัจจัยหลักที่กล่าวไป คือ ‘ความเคร่งครัดในศาสนา’ (A) และ ‘ระดับความสุขในชีวิต’ (B)

 

 

 

เราทุกคนล้วนมีแนวโน้มที่จะใช้การนึกคิดแบบอัตโนมัติตามสัญชาตญาณและอารมณ์ (System 1) แต่การไตร่ตรองวิธีการนึกคิดของตนเองสามารถช่วยพัฒนาการนึกคิดที่สมเหตุสมผลมากขึ้น (System 2) การหมั่นฝึกฝน metathinking จะช่วยลดอคติในการรับรู้ ตัดสิน และอธิบายพฤติกรรมของผู้อื่น ทำให้เข้าใจตนเอง ผู้คนรอบข้าง และประสบการณ์ในโลกอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้น ลดการคิดเข้าข้างตนเองและการด่วนสรุป ซึ่งจะช่วยให้เรามองโลกที่เที่ยงตรงและลึกซึ้งกว่าเดิม เพียงใช้เวลาสักนิดในการพิจารณาวิธีประมวลการนึกคิดของตนเอง

 

 

 


 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 


 

บทความวิชาการ โดย

อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปรับทุกข์กับใครดี

 

ในการดำเนินชีวิตของเรา หากเป็นการดำเนินชีวิตที่ราบรื่น โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดก็คงดี แต่อย่างที่ทราบกันว่า การดำเนินชีวิตของเรานั้น มีทั้งสุขและทุกข์ปนเปกันไป จังหวะที่ชีวิตมีความสุข สมหวังดังปรารถนา ก็คงเป็นจังหวะที่หลาย ๆ คนรู้สึกเต็มอิ่ม สมบูรณ์ แต่จังหวะที่ชีวิตต้องเผชิญกับความทุกข์ เราก็ต้องก้าวผ่านชีวิตช่วงนั้นไปให้ได้ ซึ่งการจะก้าวผ่านความทุกข์ที่เผชิญไป หลาย ๆ ครั้งเราก็สามารถก้าวผ่านไปได้ด้วยความเข้มแข็ง และพลังที่เรามีภายในตน แต่ทว่า ในบางครั้งที่เราต้องเผชิญกับความทุกข์ที่ถาโถม เราอาจจะต้องมีใครสักคนที่ช่วยเราในภาวะเช่นนั้น

 

ก่อนอื่นอยากจะลองชวนให้ทุกท่านนึกถึงว่า หากเราจะต้องแบ่งปันเรื่องราวความทุกข์ของเรากับใครสักคน เราจะมีความรู้สึกอย่างไร บางท่านอาจจะตอบว่าสบายมาก ฉันพร้อมอยู่แล้วที่จะพูดเรื่องราวต่าง ๆ ของฉันออกมา แต่บางท่านอาจจะตอบว่า ไม่แน่ใจเลยว่าจะพูดดีหรือเปล่า หรือบางท่านอาจจะตอบว่า ไม่มีทาง ฉันไม่อยากจะบอกใครทั้งสิ้นว่าฉันทุกข์ขนาดไหน

 

หากคำตอบของท่านเป็นคำตอบที่ 2 หรือ 3 ดิฉันอยากชวนคุณผู้ฟังมองในมุมใหม่ว่า การแบ่งปันความรู้สึกในยามทุกข์ของเรากับใครสักคน ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย หรือจะทำให้ตัวเราดูอ่อนแอค่ะ ทว่าการแบ่งปันความรู้สึกของเราออกไปนั้น กลับเป็นความเข้มแข็งอีกประการหนึ่งเสียอีก เป็นความเข้มแข็งที่จะยอมรับในเรื่องที่เรากำลังเผชิญอย่างเต็มที่ จนพร้อมที่จะแบ่งปันมันออกมากับใครสักคน ซึ่งก็แปลว่าเราพร้อมเต็มที่ที่จะเผชิญกับความทุกข์นั้น และจะฝ่าฟันมันไปได้โดยมีเพื่อนผู้ที่เราแบ่งปันด้วยอยู่ข้าง ๆ ค่ะ

 

การแสวงหาความช่วยเหลือจากแหล่งสนับสนุนทางสังคม เป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นแนวทางในการช่วยหาคำตอบในปัญหา หรือความทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่ หลายท่านคงบอกว่า การแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์นั้น ดูพูดง่ายแต่ทำจริงยาก ซึ่งนักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่านก็ไม่ปฏิเสธประเด็นนี้ และได้พยายามทำการศึกษาเพื่อเข้าใจความยากที่บุคคลต้องเผชิญ เมื่อจะแสวงหาความช่วยเหลือ โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจมากมาย เช่น การพบว่าผู้หญิงมักจะมีมุมมองต่อการแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าผู้ชาย ซึ่งผลการค้นพบดังกล่าวก็ค่อนข้างสอดคล้องกับสถานการณ์ในชีวิตจริง เช่น เวลาที่ขับรถหลงทาง ผู้ชายมักจะไม่ชอบถามทางคนอื่น ขณะที่ผู้หญิงมักจะยินดีอย่างยิ่งที่จะถาม การที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากการรับรู้บทบาททางเพศแบบดั้งเดิม ที่มองว่าผู้ชายเป็นผู้ที่พึ่งพาตนเองได้ และสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ การที่ผู้ชายจะแสวงหาความช่วยเหลือ ย่อมจะส่งผลทางลบต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ดังนั้นผู้ชายจึงมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือน้อยกว่าผู้หญิง

 

นอกจากความแตกต่างระหว่างเพศแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ช่วงวัย กลุ่มคนที่มีอายุต่าง ๆ กันก็มีแนวโน้มที่จะมีการแสวงหาความช่วยเหลือแตกต่างกัน โดยกลุ่มคนในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์มากกว่ากลุ่มวัยอื่น ๆ ซึ่งก็อาจเป็นเพราะหนึ่งในแหล่งของการแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์นั้นก็คือ เพื่อน ซึ่งบุคคลในช่วงมหาวิทยาลัย เป็นช่วงวัยที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเพื่อน เมื่อมีความทุกข์จึงพร้อมที่จะการแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์กับเพื่อนได้

 

ความยากง่ายในการแสวงหาความช่วยเหลือ หรือปรับทุกข์ของแต่ละคน นอกจากจะมีความแตกต่างกันจากปัจจัยภายในตัวบุคคล เช่น เพศ อายุ ยังมีความแตกต่างกันจากปัจจัยภายนอกตัวบุคคล คือ ปัจจัยด้านสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอีกด้วย

 

ก่อนที่เราจะสรุปได้ว่าเรากำลังประสบปัญหาหรือเผชิญกับความทุกข์ เราต้องมีการประเมินสถานการณ์ที่เราเจอก่อน ว่าสิ่งที่เราเจอนั้นมันเป็นอย่างไร ทั้งนี้ในสถานการณ์เดียวกัน คนแต่ละคนอาจจะประเมินไม่เหมือนกันก็เป็นได้ โดยจะแตกต่างไปตามทรัพยากรที่เรามีอยู่ เช่น นักเรียนคนแรก ได้เกรด D 1 วิชา หากมีเกรดเฉลี่ยสะสมเดิมอยู่ที่ 3.5 เขาย่อมรับรู้ว่าสถานการณ์ที่ตนเผชิญเป็นปัญหา แตกต่างจากนักเรียนคนที่สอง ที่ได้เกรด D 1 วิชา หากมีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 2.0 เด็กสองคนนี้ก็จะมองสถานการณ์นี้ไม่เหมือนกันค่ะ ดังนั้นความแตกต่างในการประเมินทรัพยากรที่มีเพื่อใช้จัดการกับปัญหา จะส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะแสวงหาความช่วยเหลือ หรือ ปรับทุกข์กับผู้อื่น

 

ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจด้านสถานการณ์ก็คือ ระดับของการเปิดเผยตัวเอง เมื่อเราต้องแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์กับผู้อื่น สำหรับบางคน การเปิดเผยตัวเองอาจทำให้คนรู้สึกว่าด้อยค่า ไม่ดีพอ เมื่อต้องพึ่งพาผู้อื่น ดังนั้นจะรู้สึกสบายใจมากกว่า ถ้าการแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์นั้น เป็นการแสวงหาจากแหล่ง หรือบุคคลที่ไม่ต้องเผชิญหน้า เช่น การหาข้อมูลจากหนังสือพวก how to ต่าง ๆ หรือ สายด่วนดูแลจิตใจต่าง ๆ

 

ปัจจัยด้านสถานการณ์อีกปัจจัยที่สำคัญ ที่จะช่วยให้เราพัฒนาการแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์ของเรา คือ ความสามารถของผู้ช่วยเหลือ ลองนึกถึงตัวเรานะคะ ว่าหากเรามีปัญหามีความทุกข์ คนที่เราจะนึกถึงว่าเราอยากปรับทุกข์ด้วยย่อมจะเป็นคนที่เราประเมินว่า เขามีความสามารถเพียงพอที่จะช่วยเหลือเราได้ หากเรารู้สึกว่าคนที่อยู่รอบข้างเรามีความสามารถเพียงพอที่จะช่วยเหลือเราได้ เราย่อมไม่ลังเลใจที่จะแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์กับเขาแน่นอนค่ะ ดังนั้นระหว่างที่เรายังไม่รู้สึกว่าอยู่ในสภาพที่มีปัญหา สิ่งหนึ่งที่เราอาจเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ก็คือลองนึกรายชื่อของผู้ที่เราเองรู้สึกว่าวางใจ เชื่อใจ และมั่นใจในความสามารถของเขา ว่าจะสามารถช่วยคลายทุกข์ให้เราได้ หากมีรายชื่อสัก 3 – 5 รายชื่อในใจก็น่าจะดีนะคะ ทั้งนี้รายชื่อที่มีอาจจะเป็นบุคคลรอบข้าง เช่น เพื่อนสนิท หรือผู้ปกครอง หรืออาจจะเป็นแหล่งความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการที่มีความชำนาญเฉพาะ เช่น ศูนย์สุขภาวะทางจิต ของคณะจิตวิทยา นั่นเองค่ะ

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มปัจจัยหนึ่ง คือ ปัจจัยทางบุคลิกภาพ ซึ่งจะขอยกมาเพียง 1 ประเด็น นั่นคือ ความสามารถด้านอารมณ์ของตัวเอง โดยคนที่มีความสามารถทางด้านอารมณ์ คือ คนที่สามารถตระหนักถึงสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถอธิบายถึงสภาวะอารมณ์นั้นได้ ตลอดจนสามารถเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ใช้การปกป้องตนเอง

 

ลองทายกันเล่น ๆ ว่า คนที่มีความสามารถทางอารมณ์ในระดับสูง ซึ่งคือคนที่สามารถรู้ เข้าใจ และสื่อสารถึงอารมณ์ของตนเองได้ดี น่าจะมีความสามารถที่จะขอความช่วยเหลือ หรือปรับทุกข์ได้มากหรือน้อยคะ คำตอบที่ถูกต้องอาจจะน่าประหลาดใจสักเล็กน้อย เพราะความสามารถทางอารมณ์ในระดับสูง เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้บุคคลตัดสินใจแสวงหาความช่วยเหลือ หรือปรับทุกข์กับผู้อื่นค่ะ อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การปรับทุกข์ไม่ใช่เรื่องของความอ่อนแอ แต่เป็นความเข้มแข็งที่สุดต่างหาก ที่จะยอมรับในสิ่งที่ตนเผชิญอย่างเข้มแข็ง ดังนั้นคนที่มีความสามารถทางอารมณ์ก็จะสามารถตระหนักได้ถึงอารมณ์ของตนเอง และสามารถแสดงออกถึงความรู้สึก หรือสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งความสามารถดังกล่าว เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้เราเข้าไปหาแหล่งช่วยเหลือของเรา ไม่ว่าจะเป็นแหล่งช่วยเหลือแบบมืออาชีพ เช่น ศูนย์บริการทางจิตวิทยา หรือแหล่งช่วยเหลือแบบมือสมัครเล่น เช่น เพื่อนหรือว่าญาติพี่น้องของเรานั่นเอง

 

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

 

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์สุขภาวะทางจิต

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

East-West Center Online Seminar No.5 “Cross-Cultural Research from Social Psychological Perspectives”

งานเสวนาออนไลน์ ครั้งที่ 5

โดย ศูนย์ East-West คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

“Cross-Cultural Research from Social Psychological Perspectives”

วันพุธที่ 15 ธันวาคม 2564 เวลา 19.00-20.30 น.

 

ครั้งนี้เรากลับมาคุยเรื่องวัฒนธรรมในมุมมองของจิตวิทยาสังคม เช่น ความเชื่อว่าโลกใบนี้ยุติธรรม (just world beliefs) เป็นความเชื่อที่พบเจอในทุกวัฒนธรรมหรือไม่ อีกทั้ง คติรวมหมู่ (collectivism) และแนวคิดความรับผิดชอบ (responsibilism) มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร
โดยมี guest speakers 2 ท่าน ได้แก่
1) ผศ. ดร.พัฒนกิจ ชอบทำกิจ หัวหน้าสาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2) อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม อาจารย์ประจำแขนงจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ท่านที่สนใจสามารถส่งข้อความถาม speakers แต่ละท่านทาง comment ใน FB Live https://www.facebook.com/eastwestpsycu
หรือลงทะเบียนเข้าร่วมงานเสวนาผ่าน ZOOM Meeting ที่ >>> https://forms.gle/uctGU2KwrHpE3HzL9
*งานเสวนาเป็นภาษาไทย

รับชมคลิปย้อนหลัง   https://www.facebook.com/eastwestpsycu/videos/1355501471536437/

Here to heal Online Workshop: How to deal with burn out

มาดูแลหัวใจ เมื่อถึงวันหมดไฟ ด้วยจิตวิทยา

 

 

 

Here to heal ชวนคุณมาดูแลหัวใจ ให้เวลาชีวิต ด้วยจิตวิทยา กับ Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ในหัวข้อเรื่อง “How to deal with burn out”

 

โดยวิทยากร อ. ดร. พนิตา เสือวรรณศรี ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในวันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม 2564  เวลา 13.00-15.00 น.

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/jYTmoStbQQgLgf6v7
ทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านผ่านอีเมล

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW
ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 

 


 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ here to heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.
เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ก Here-to-Heal เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุยได้เลยค่ะ

ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเรียนออนไลน์

 

 

 

 


 

 

โดย รินรดา พนาวัฒน์, สุชญา พิชิตการ, และ อรยา เสน่หา. (2563). รายงานเรื่อง การพัฒนาปัจจัยที่จำเป็นต่อการเรียนออนไลน์ของนิสิต

รายวิชา : จิตวิทยาการพัฒนาทรัพยากรณ์มนุษย์ (Psychology for Human Resource Development) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์ผู้สอน : อาจารย์ ดร.วิทสินี บวรอัศวกุล
เรียบเรียงเนื้อหา : เตชภณ ภูพุฒ
อาร์ตเวิร์ก : พธู พิมพ์ระเบียบ