ข่าวและกิจกรรม

Teasing – การล้อเลียน

 

การล้อเลียนเป็นพฤติกรรมหนึ่งของการข่มเหงรังแก (bully) แต่การล้อเลียนมีลักษณะซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงมากกว่าพฤติกรรมข่มเหงรังแกทั่วไป เนื่องจากการล้อเลียนจะต้องคำนึงถึงจุดประสงค์ของผู้ล้อเลียน และการตีความของผู้ที่ถูกล้อเลียนร่วมด้วย

 

เวลาบุคคลกระทำการล้อเลียน การแสดงออกของพฤติกรรมมักมีความกำกวมต่อการตีความอยู่เสมอ เมื่อคนแสดงการล้อเลียนไปแล้วและไม่เห็นว่ามีการตอบสนองกลับมา จึงอาจคิดว่าผู้ที่ถูกล้อเลียนไม่ได้คิดมากอะไร ทำให้ผู้ล้อเลียนยังคงแสดงการล้อเลียนต่อไปในอนาคต แต่ในความเป็นจริงคนที่ถูกล้อเลียนอาจรู้สึกไม่ดีในใจ แต่ไม่ได้แสดงออกมา ทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริงและนำมาสู่การมองข้ามปัญหาความรุนแรงที่มาจากการล้อเลียน

 

 

 

 

 

เรื่องที่พบในการล้อเลียนแบ่งเป็น 5 เรื่อง ได้แก่

 

1. การแสดงออก (Performance)

2. คุณลักษณะทางด้านการเรียน (Academic Characteristics)

3. พฤติกรรมสังคม (Social Behavior)

4. ภูมิหลังครอบครัว (Family Background)

5. รูปร่างลักษณะ (Appearance)

 

แม้การล้อเลียนจะถูกระบุว่าเป็นการสบประมาททางวาจาเพื่อให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรู้สึกโดนเหยียดหยาม อับอาย แต่การล้อเลียนยังสามารถพบได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ บางครั้งมีการใช้ความสนุกสนาน การเล่น หรือความขบขันเข้ามาประกอบกับการสื่อสาร จึงทำให้เกิดทางเลือกในการตีความของสารที่ได้รับมา

 

 

การล้อเลียนในครอบครัวและโรงเรียน

 

การล้อเลียนพบได้ทั่วไปในสังคมจากทั้งครอบครัวและโรงเรียน โดยวัยรุ่นหญิงจะถูกล้อเลียนมากกว่าวัยรุ่นชาย งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าเด็กวัยรุ่นเผชิญกับการล้อเลียนในโรงเรียนมากที่สุด มาจากกลุ่มเพื่อนเป็นอันดับหนึ่ง อาจเพราะเป็นช่วงวัยที่อยู่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน และมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ดังนั้นกลุ่มเพื่อนจึงเป็นสังคมที่ส่งอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น แหล่งการล้อเลียนถัดมาที่พบคือครอบครัว โดยพบในกลุ่มที่น้องของวัยรุ่นเป็นอันดับที่สอง และลำดับท้ายสุดคือผู้ปกครอง งานวิจัยรายงานว่าวัยรุ่นจะถูกล้อเลียนจากพี่ชายคนโตมากที่สุด และในกลุ่มผู้ปกครองจะพบการล้อเลียนจากมารดามากกว่าบิดา โดยมารดาจะมีเนื้อหาการล้อเลียนในเชิงของการเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพของวัยรุ่น ส่วนบิดาจะมีเนื้อหาการล้อเลียนในเชิงโจมตีรูปร่างลักษณะทางลบของวัยรุ่นมากกว่า

 

สาเหตุของการล้อเลียน

 

การล้อเลียนในโรงเรียนเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของวัยรุ่น เช่น การเรียนรู้เรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล และการเรียนรู้เรื่องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและนอกกลุ่ม วัยรุ่นบางคนล้อเลียนเพื่อนร่วมชั้นเพราะเกิดจากความพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าสิ่งใดที่ทำให้วัยรุ่นที่ถูกล้อเลียนมีลักษณะแตกต่าง หรือพิเศษมากกว่าคนอื่นในห้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและการเป็นคนนอกกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงการล้อเลียนเพื่อต้องการได้รับความสนใจ แม้ว่าจะเป็นความสนใจทางลบ แต่เด็กกลุ่มนี้กลับคิดว่าก็ยังดีกว่าการไม่ได้รับความสนใจเลย เนื่องจากมองว่าการล้อเลียนคนอื่นเป็นเรื่องเท่และเจ๋ง โดยแสดงออกมาเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนและได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

 

 

การเผชิญกับการล้อเลียน

 

การล้อเลียนสามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่การเผชิญกับการล้อเลียนในวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่มีลักษณะที่แตกต่างกัน เด็กและวัยรุ่นจะตีความการล้อเลียนในทางลบมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กและวัยรุ่นจะประสบกับการถูกล้อเลียนอยู่เป็นประจำและต่อเนื่อง รวมทั้งความสามารถในการจัดการของตัวเด็กต่อการล้อเลียนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับช่วงผู้ใหญ่ ในวัยผู้ใหญ่แม้ว่าจะประสบกับการถูกล้อเลียนอยู่บ้างแต่มุมมองที่มีต่อการล้อเลียนมีแนวโน้มไปในทิศทางบวกมากกว่า โดยมองว่าการล้อเลียนเป็นสิ่งที่สนุกสนานและช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อน โดยใช้การหัวเราะ ยิ้ม และอารมณ์ทางบวกเข้ามาประกอบการตีความการล้อเลียน

 

 

จะเห็นได้ว่าการตีความของคนที่ถูกล้อเลียนและจุดประสงค์ของคนล้อเลียนเป็นสิ่งสำคัญในปรากฎการณ์ การจะรับรู้ว่าบุคคลที่ถูกล้อเลียนนั้นมีความรู้สึกอย่างไรเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ด้วยปัญหาความกำกวมในการตีความ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้การล้อเลียนยังคงอยู่และพบได้ทั่วไปในสังคม

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการล้อเลียนกับความซึมเศร้าและความวิตกกังวลในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น โดยมีคุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความสามารถในการฟื้นพลังเป็นตัวแปรกำกับ” โดย ณัฐพล ชัยกิตติพรเลิศ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59835

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

จิตวิทยากับการเลือกข้าง

ในชีวิตประจำวันของคนเราปัจจุบัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากมาย ซึ่งข้อมูลข่าวสารนี้หมายรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่แวดล้อมตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ สิ่งของ แนวคิด นโยบาย การกระทำ ความคิด ความรู้สึกของคนอื่น และยังรวมถึงความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ความรู้สึกของตัวเราเองด้วย

 

บางครั้งที่เรายังไม่มีความคิดเห็น หรือยังไม่มีจุดยืนใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องบางอย่างเลย เมื่อได้รับข้อมูลมา เราอาจไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร คนเรามักหันไปมองคนรอบข้าง หรือคนส่วนใหญ่ ว่าเขาคิดอย่างไร ทำอย่างไร เราก็จะเชื่อและทำตาม เช่น พลังเงียบที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยกับกลุ่มทางการเมืองกลุ่มใด ก็อาจรอดูผลโพลว่าคนส่วนใหญ่สนับสนุนฝ่ายใด หรือรอดูจำนวนคนที่มาชุมนุมขับไล่ เปรียบเทียบกับจำนวนคนที่มาชุมนุมสนับสนุนนายกรัฐมนตรี แล้วจึงตัดสินใจตามกระแสคนส่วนใหญ่ หรือบางที เราก็ใช้ความคิดเห็นของบุคคลใกล้ชิด คนที่มีชื่อเสียง คนที่เราชอบหรือนับถือมาอ้างอิง และตัดสินใจไปตามเขา เช่น เมื่อเห็นว่าพ่อชื่นชอบนายกรัฐมนตรี ลูกก็อาจชื่นชอบนายกรัฐมนตรีไปด้วย เห็นพิธีกรที่เราชื่นชอบแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี เราก็มีแนวโน้มที่จะเออออตามไปด้วย เป็นต้น

 

ที่เป็นเช่นนี้ นักจิตวิทยาอธิบายว่า ธรรมชาติของคนเราไม่ชอบความขัดแย้งหรือความไม่สอดคล้องกลมกลืน เพราะภาวะเช่นนั้นจะทำให้อึดอัด ตึงเครียด ไม่สบายใจ ดังนั้น ขณะที่เรายังไม่มีจุดยืนหรือความคิดเห็นที่เข้มข้น หากคนที่เราชื่นชอบคิดอย่างไร เราก็มีแนวโน้มจะเห็นดีเห็นงามด้วยมากกว่าจะเริ่มจากการเห็นขัดแย้งกับเขา

 

ในกรณีที่เป็นการคล้อยความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ นอกจากเราจะมีความเชื่อว่าความเห็นของคนส่วนใหญ่น่าจะถูกต้องแล้ว การคล้อยตามเสียงส่วนใหญ่ยังช่วยให้เราไม่ต้องเผชิญหน้ากับการต้องเป็นคนเดียวที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคม หรือคนอื่นส่วนใหญ่

 

ทว่า หากเรามีจุดยืนอยู่แล้ว เราจะจัดการกับข้อมูลข่าวสารมากมาย ทั้งที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับจุดยืนของเราอย่างไร? และจะส่งผลอะไรกับความรู้สึกนึกคิดของเราบ้าง?

 

ข้อมูลมากมายจากหลายแหล่งที่เราได้รับในแต่ละวัน มีทั้งข้อมูลที่สอดคล้องไปกับจุดยืนเรา เช่น ฉันชอบนายกรัฐมนตรีคนนี้มาก เพื่อนฉันก็ชอบนายกรัฐมนตรีคนนี้เช่นกัน แต่ก็ย่อมมีโอกาสที่ข้อมูลมากมายที่เรารับรู้นั้น อาจขัดแย้งกับจุดยืนของเรา เช่น เราชอบนายกรัฐมนตรีคนนี้มาก แต่เพื่อนสนิทของเรากลับไม่ชอบ แถมยังไปชุมนุมขับไล่นายกอีกต่างหาก หรือเราเชื่อว่านายกรัฐมนตรีคนนี้เป็นคนดี แต่ก็มีคนนำข้อมูลทางลบของนายกมาเปิดเผยอยู่ทุกวัน เป็นต้น

 

แล้วการมีกรอบความคิด หรือจุดยืนอยู่ก่อนแล้วล่วงหน้า ส่งผลอย่างไรกับการรับรู้ข้อมูล ดังนี้ แนวคิดเรื่องธรรมชาติของคนเราที่ไม่ชอบความขัดแย้ง ไม่สอดคล้องกลมกลืนมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะนักจิตวิทยาพบว่า เมื่อใดก็ตามที่เรามีกรอบความคิดอยู่แล้ว เรามีแนวโน้มจะเลือกเปิดรับ ใส่ใจ และจดจำข้อมูลที่สอดคล้องกับกรอบความคิดหรือจุดยืนนั้น และหลีกเลี่ยง ไม่ใส่ใจ ปฏิเสธหรือบิดเบือนข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับกรอบความคิดของตนเอง

 

ประเด็นสำคัญตรงนี้ก็คือ เมื่อเรามีข้อมูลเดิม หรือจุดยืนบางอย่างอยู่ในใจ เราจึงไม่ได้เปิดรับข้อมูลต่าง ๆ ด้วยสมองที่ว่างเปล่าหรือเป็นกลางเสมอไป แต่เป็นการรับรู้ข้อมูลผ่านกรอบความคิดบางอย่าง ซึ่งกำกับควบคุมกระบวนการรับรู้ของเรา

 

ดังนี้ ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบภาวะขัดแย้ง ไม่สอดคล้องทางความรู้สึกหรือความคิดเห็น ดังนั้น เมื่อเรามีจุดยืนอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นกรอบในการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร โดยเรามักจะเปิดรับแต่ข้อมูลที่สอดคล้องกับจุดยืน และหลีกเลี่ยงการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งกับจุดยืนของตนเอง อีกทั้ง ยังมีการลำเอียงในการเลือกเปิดรับข้อมูล

 

เวลาเราเห็นความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกันทางความคิดเห็น เรามักเกิดความคิดว่า หากให้ข้อมูลในทิศทางตรงกันข้ามแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เขาก็คงจะเข้าใจเรา และหันมาเป็นพวกเรา แต่นักจิตวิทยาพบว่า ถึงแม้ว่าในที่สุดเราจะได้รับข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับจุดยืนของเรา เราก็มีแนวโน้มที่จะไม่ใส่ใจข้อมูลนั้น เพราะเมื่อใดที่ได้รับรู้ข้อมูลที่ขัดแย้งกับจุดยืนของตน คนเรามักเกิดความอึดอัด กระวนกระวาย ไม่สบายใจ ส่วนหนึ่งเพราะกลัวว่าจุดยืนที่เราเชื่อว่าถูกต้องจะถูกโจมตี ทำให้รู้สึกลังเลว่าจุดยืนที่ตนยึดถือนั้นถูกจริงหรือไม่ บ้างก็รู้สึกโกรธที่มีคนเห็นขัดแย้งกับตนเอง จนหลีกหนี ไม่ยอมใส่ใจกับข้อมูลเหล่านั้นอีก และหันไปหาข้อมูลที่สอดคล้องกับจุดยืนของตนเองแทน

 

นอกจากนี้ การได้รับฟังข้อมูลที่ขัดแย้งกับจุดยืนของตน ยังเป็นการกระตุ้นให้เราคิดหาเหตุผลมาหักล้างข้อมูลเหล่านั้นเพื่อปกป้องจุดยืนของตนไว้ ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลให้เรายิ่งเชื่อมั่นใจจุดยืนของตนเองมากขึ้นไปอีก

 

ดังเช่น ทุกวันนี้ ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะพูดสิ่งใด ทางฝ่ายต่อต้านก็จะหาเหตุผลมาหักล้าง ว่าสิ่งที่รัฐบาลพูดผิดอย่างไร หรือไม่น่าเชื่อถือตรงไหน ในทางกลับกัน ไม่ว่าทางฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพูดสิ่งใด ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็จะหาเหตุผลมาหักล้างว่าไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือ หรือมีเจตนาอื่นแอบแฝง ต่างฝ่ายต่างก็ไม่เกิดความคิดในด้านที่ว่า สิ่งที่ฝ่ายตรงกันข้ามพูดอาจจะถูกต้องตรงที่ใด เพราะเหตุใด ดังนั้น การให้ข้อมูลในทิศทางตรงกันข้าม หากไม่ชัดเจนมากเพียงพอ ก็จะกลายเป็นการกระตุ้นให้เขายึดติดกับจุดยืนเดิมมากขึ้น

 

นอกจากนี้ นักจิตวิทยาสังคมพบว่า โดยทั่วไป การมีคนอื่นอยู่ด้วย จะทำให้การตอบสนองที่เรามีความโน้มเอียงอยู่แล้วยิ่งเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่เราอยู่ท่ามกลางคนที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกับเรา ที่มารวมกลุ่มกัน พบปะพูดคุยกัน แต่ละคนในกลุ่มจะยิ่งมีความคิดเห็นเข้มข้นขึ้นในทิศทางที่มีแนวโน้มอยู่แล้ว

 

ดังเช่น การทดลองของนักจิตวิทยาคนหนึ่ง พบว่า หลังจากจัดกลุ่มนักศึกษาผิวขาวให้พูดคุยกันเรื่องคนผิวดำ กลุ่มใดที่สมาชิกในกลุ่มมีเจตคติทางลบต่อคนผิวดำ หลังพูดคุยก็ปรากฏว่าแต่ละคนมีเจตคติทางลบต่อคนผิวดำมากกว่าเดิม ส่วนกลุ่มที่ประกอบไปด้วยนักศึกษาที่มีเจตคติทางบวกต่อคนผิวดำ เมื่อได้พูดคุยกันในกลุ่มแล้วก็มีเจตคติทางบวกต่อคนผิวดำมากขึ้น

 

ที่เป็นเช่นนี้ นักจิตวิทยาอธิบายว่าเกิดจากอิทธิพลของกลุ่ม 2 ประการ ได้แก่ อิทธิพลด้านข้อมูล และอิทธิพลด้านบรรทัดฐานของกลุ่ม

 

ประการที่ 1 คือ บุคคลได้รับอิทธิพลด้านข้อมูล ทำให้มีความคิดเห็นเข้มข้นขึ้น เช่น เดิมนาย ข ไม่ชอบนายกรัฐมนตรี เพราะมีข้อมูลทางลบอยู่ส่วนหนึ่ง เมื่อนาย ข เข้าไปพูดคุยกับคนอื่นในกลุ่ม ได้รับฟังคนอื่นที่มีข้อมูลทางลบด้านอื่นๆ ที่เขาไม่เคยรู้เพิ่มมากขึ้นอีก ทำให้นาย ข ยิ่งมีความรู้สึกไม่ชอบนายกยิ่งกว่าเดิม

 

ประการที่ 2 คือ อิทธิพลจากบรรทัดฐานของกลุ่ม เช่น นาย ค ชื่นชอบนายกรัฐมนตรี เมื่อได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านหลายสิบคนที่ชอบนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน ทำให้นาย ค รู้สึกว่า ใครๆ ก็ชื่นชอบนายกฯ เวลานาย ค แสดงความเห็นชื่นชมนายก เพื่อนบ้านต่างก็เออออสนับสนุน แถมบางคนยังแสดงความชื่นชอบนายกฯ มากกว่านาย ค เสียอีก นาย ค จึงมีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าที่ตนชื่นชอบนายกรัฐมนตรีนั้น ตนคิดถูกต้องแล้ว จึงกล้าแสดงความรู้สึกชื่นชอบที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม

 

โดยทั่วไป การที่คนมารวมกลุ่มกัน ก็มักมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันทำสิ่งใดสักอย่าง ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร คนในกลุ่มก็ต้องอภิปราย ปรึกษาหารือกัน แต่นักจิตวิทยาสังคมพบว่า การตัดสินใจของกลุ่มเพื่อทำอะไรสักอย่าง บางครั้งกลับเกิดความผิดพลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

เราอาจจะเกิดข้อสังสัยได้ว่า ทำไมการตัดสินใจทำอะไรเป็นกลุ่มจึงนำไปสู่ความผิดพลาดได้ ยิ่งมีหลายคนยิ่งน่าจะช่วยกันพิจารณาแง่มุมต่างๆ อย่างทั่วถึง และรอบคอบ

 

ทว่า คนเราไม่ชอบข้อมูลที่ขัดแย้งกับจุดยืนของตนเอง เมื่อสมาชิกที่มีความคิดเห็นคล้าย ๆ กันมาอภิปรายร่วมกันเป็นกลุ่ม ก็มักพูดถึงแต่ว่า ความคิดเห็นของพวกตนน่าจะถูกต้องเพราะเหตุใด โดยไม่ได้คิดว่าความคิดเห็นของกลุ่มตนอาจจะผิด หรือความคิดเห็นของฝ่ายตรงกันข้ามอาจจะถูกต้องได้หรือไม่ เพราะสิ่งใด

 

นอกจากนี้ แม้จะมีสมาชิกบางคนได้รับข้อมูลใหม่ ๆ ที่อาจขัดแย้งกับกลุ่มมา ก็มักเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้านำเสนอ เพราะกลัวว่าจะทำให้คนอื่นในกลุ่มไม่พอใจ หรือแม้ตั้งใจจะนำเสนอ ก็อาจมีแกนนำกลุ่มบางคนพยายามขัดขวาง เพราะเกรงว่าจะทำให้คนในกลุ่มสับสนหรือหวั่นไหว ดังนั้นจึงเกิดภาพลวงตาขึ้นว่าทุกคนในกลุ่มเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์

 

การตัดสินใจกลุ่มที่ผิดพลาดเช่นนี้ มักเกิดขึ้นกับกลุ่มที่มีความสนิทสนมกลมเกลียวกันมากๆ เพราะจะมีแรงกดดัน ทำให้สมาชิกไม่กล้าเสนอความคิดหรือข้อมูลที่ขัดแย้ง นอกจากนี้ ยังมักเกิดกับกลุ่มที่มีผู้นำที่ชอบชี้นำ ไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของสมาชิกในกลุ่ม และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นจากคนนอกกลุ่มที่ให้ความคิดเห็นจากมุมมองที่แตกต่างจากตน

 

ผลจึงมักปรากฏว่า คนในกลุ่มใช้เวลาพูดถึงแต่ข้อมูลที่รู้กัน และเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้ว มากกว่าจะพูดถึงแง่มุมอื่นที่ขัดแย้ง ทำให้เกิดการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด และตัดสินใจผิดพลาดเพราะการตัดสินใจนั้นตั้งอยู่บนข้อมูลด้านเดียว จึงคิดว่าสิ่งที่กลุ่มตนทำนั้น ถูกต้อง เหมาะสมแล้ว

 

ท่ามกลางความขัดแย้งในปัจจุบันนี้ คนเรามีวิจารณญาณที่จะเลือกจุดยืนของตนเอง ส่วนแนวคิดจิตวิทยาที่อธิบายถึงกระบวนการ และปัญหาในการยึดถือจุดยืนแบ่งข้าง แบ่งฝ่ายนี้ หวังว่าคงจะมีประโยชน์ประกอบการตัดสินใจที่จะแสดงท่าทีของเราทุกคนเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Here to heal Online Workshop: How to take care of yourself and others

 

Here to heal ชวนคุณมาดูแลหัวใจ ให้เวลาชีวิต ด้วยจิตวิทยา กับ Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ในหัวข้อเรื่อง “How to take care of yourself and others”

 

โดยวิทยากร อ. ดร.พนิตา เสือวรรณศรี ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564  เวลา 13.00-15.00 น.
ลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/G6ubmFYfzT3vXPeDA

 

โดยทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านผ่านอีเมล

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW
ในเวลาทำการ 10.00-22.00

 


 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ here to heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.
เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ค Here-to-Heal เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุย

เราต่างมีเงื่อนไขในคุณค่าและความรัก

 

หลายคนคงเคยได้ยินเพลงสุดฮิต Unconditionally ของศิลปินสาว Katy Perry ในปี ค.ศ. 2013 หรือคำกล่าวสุดโรแมนติกที่ว่า I will love you unconditionally หรือความรักที่ดีควรเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เวลาฟังเพลงนี้ผมมักเกิดคำถามว่าเราสามารถรักคนอื่นอย่างไม่มีเงื่อนไขได้จริงหรือ? นำมาสู่คำถามหลักของบทความนี้คือ

 

 

แท้จริงแล้วมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เราต้องทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก?

 

ใครที่อยู่วงการจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัดในแนวคิด Person-Centred ของ Rogers อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Condition of worth หรือภาวะของการมีคุณค่า ความหมายจริง ๆ ของคำนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนและซับซ้อน แต่ถ้าจะแปลตรงตัว ก็คือ เงื่อนไข ของ การมีค่า เราจะมีค่าเมื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ ตัวอย่างที่มักถูกยกในบทความจิตวิทยาการปรึกษาคือ “เด็กผู้ชายถูกสอนว่าไม่ควรร้องไห้ หรือแสดงความอ่อนแอ หรือเด็กหญิงควรเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ นักเรียนที่ดีต้องไม่เถียงผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ เป็นต้น”

 

ในประโยคเหล่านี้ มันมีเงื่อนไขซุกซ่อนอยู่เสมอ กับคำถามที่ว่าถ้าเราทำสิ่งที่ตรงข้ามกับเงื่อนไขเหล่านี้ เราจะยังได้รับความรัก ได้รับคุณค่า การดูแลเอาใจใส่หรือไม่ เงื่อนไขเหล่านี้มักติดตัวกับเรามาตั้งแต่เด็ก เมื่อครั้งเรายังเป็นเด็กเล็กๆ เราจำต้องอาศัยผู้อื่นในการอยู่รอดเพราะยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ มนุษย์ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความรักและความสัมพันธ์ เป็นที่ถูกรักและได้รักผู้อื่น3 สำหรับเด็กแล้ว พ่อแม่ก็เหมือนโลกทั้งใบของพวกเขา หากเด็ก ๆ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของพ่อแม่ ชีวิตก็คงลำบากไม่น้อยเลย ซึ่งผู้ให้ข้อมูลเงื่อนไขนี้ก็คือคนสำคัญในชีวิต อาทิ พ่อแม่ ครอบครัว หรือแม้กระทั่งสังคมและวัฒนธรรมที่โอบล้อมชีวิตของเราไว้นั่นเอง

 

 

เงื่อนไขเหล่านี้สำคัญกับตัวเราอย่างไร

 

ศัพท์จิตวิทยาจะใช้คำว่า Introjection หมายถึง ข้อมูลจากประโยคและเงื่อนไขเหล่านี้จะผนวก ซึมซับเข้าไปภายในตัวเรา บ่มเพาะและสร้างเป็นตัวตนของเราขึ้นมาว่า เราคือใคร เราเป็นคนอย่างไร อะไรคือสิ่งที่เราควรทำ (should) หรือต้องทำ (ought) เช่น ฉันเป็นผู้ชายต้องไม่แสดงความอ่อนแอ ฉันไม่ควรโกรธและทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น ฉันต้องสุภาพเรียบร้อย ผู้หญิงเอเชียต้องอดทนและไม่โต้ตอบ (Passive) ฉันต้องดูแลคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ หรือฉันเป็นเด็กเรียนต้องได้เกรดดี ๆ เป็นต้น1

 

เมื่อมีควร ก็ต้องมีไม่ควร ดังนั้นผลที่ตามมาของเงื่อนไขคือ คนเรามักจะปฏิเสธ ละเลย (neglect) หรือเลือกที่จะเงียบเสียง (silence) สิ่งที่เรารู้ว่าคนรอบข้างของเราไม่ยอมรับ ตัวอย่างเช่น ผู้ชายเมื่อรู้สึกกลัว เสียใจอาจเลือกปฏิเสธความรู้สึกที่มี ปฏิเสธความโกรธของตัวเองเมื่อมีคนอื่นมาเอาเปรียบ2 ซึ่งสิ่งที่ปฏิเสธเหล่านี้ แท้จริงแล้วมันก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเช่นกัน ทั้งความโกรธ กลัว โมโห อิจฉา หรือขี้เกียจ

 

อย่างไรก็ตามบทความนี้ ไม่ได้มุ่งหวังให้เราต้องขจัดเงื่อนไขทั้งหมดในตัวเรา เพราะทุกคนต่างมีเงื่อนไข เงื่อนไขคือส่วนหนึ่งของตัวเราเสมอ แต่เป้าประสงค์หลักคือการกลับมาลองสำรวจตัวเราเองว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างกับพ่อแม่ เพื่อนหรือคนรัก หรือกระทั่งกับสังคมที่อยู่ เรามีเงื่อนไขอะไรบ้างในตัวของเราเอง แล้วลองพิจารณาว่าเงื่อนไขต่าง ๆ นั้น อันไหนสำคัญและจำเป็น หรือเงื่อนไขไหนที่มันบั่นทอนจิตใจตัวเรา ตึงเกินไป จนเป็นโทษมากกว่าคุณ หรือทำให้เรารู้สึกทุกข์ และไม่มีความสุขในชีวิต

 

ทั้งนี้ เมื่อเศร้าหรือทุกข์ใจ นอกจากปรึกษาเพื่อหรือคนใกล้ตัวแล้ว การได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัดก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเยียวยาจิตใจ และอาจช่วยสำรวจเงื่อนไขในชีวิตของเราด้วยเช่นกัน

 

 

 

บทความนี้อยากฝากผู้อ่านได้คิดอีกแง่ว่า คนเราเป็นผู้ได้รับเงื่อนไขจากคนสำคัญในชีวิตเราตั้งแต่เด็ก แต่เราก็อย่าลืมว่าเราเองก็อาจเป็นผู้วางเงื่อนไขคุณค่ากับผู้อื่น ทั้งเพื่อน คนรัก หรือกับลูกหลานของเราเองด้วยไม่มากก็น้อยเช่นกัน

 

เราอาจรัก ถูกรัก ให้ค่าและถูกให้ค่า อย่างมีเงื่อนไข แต่หวังว่าบทความนี้จะสะกิดให้เราเห็นกลไกเล็ก ๆ ของเงื่อนไขที่เรามีให้กันอยู่เสมอ เห็นมัน เข้าใจมันอย่างเท่าทันมากขึ้นครับ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

1. Chandler, Khatidja. 2005. “From Disconnection to Connection: ‘Race’, Gender and the Politics of Therapy.” British Journal of Guidance and Counselling 33(2), 239-56.

 

2. Stephenson, Margaret. 2012. “Finding Fairbairn-Discovery and Exploration of the Work of Ronald Fairbairn.” Psychodynamic Practice 18(4), 465-70.

 

3. Watson, Jeanne C. 2011. “The Process of Growth and Transformation: Extending the Process Model.” Person-Centered & Experiential Psychotherapies 10(1), 11-27. https://doi.org/10.1080/14779757.2011.564760

 

ภาพประกอบ https://www.annelauremaison.com/

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทำอย่างไร…เมื่อเส้นแบ่งในชีวิตไม่ชัดเจน

ในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้เริ่มได้ยินคนรอบข้างและในหน้าสื่อต่าง ๆ พูดถึงภาวะที่ผู้คนรู้สึกเบื่อหน่ายในการทำงาน บ้างก็พูดว่า ช่วงนี้คิดอะไรไม่ค่อยออก สิ่งที่ทำไม่สนุกเหมือนเดิม หาเป้าหมายในการทำงานไม่เจอยาวจนไปถึงอยากลาออกและรู้สึกสูญเสียช่วงเวลาสำคัญของชีวิตไป

 

เสียงสะท้อนเหล่านี้ไม่ใช่ประโยคแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งที่เราจะได้ยินกันบ้างในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตแต่ละคน เช่น ช่วงเวลาที่เราเจออุปสรรคยากลำบาก ช่วงเวลาของการตัดสินใจเรื่องสำคัญและมีความรู้สึกสับสน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เราต่างต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวลเรื่องสุขภาพ (Health Anxiety) การทำงานแบบ work from home เป็นระยะเวลานาน การที่พ่อแม่ต้องเรียนออนไลน์ไปพร้อมกับลูก การที่นักเรียน/นิสิต/นักศึกษาต้องเรียนผ่านออนไลน์อย่างเดียว ทำให้ขาดกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะและประสบการณ์อื่น ๆ ในชีวิต ประโยคเหล่านี้จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดเป็นความรู้สึกร่วมของหลาย ๆ คน ภาวะของเส้นแบ่งในชีวิตที่ไม่ชัดเจนนี้ทำให้เกิดความรู้สึกหนักใจอยู่ตลอดเวลา (Overwhelm)

 

เส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนส่งผลกระทบต่อจิตใจโดยตรง ด้วยสถานการณ์ที่เราเผชิญทำให้เราไม่สามารถแบ่งพื้นที่ต่าง ๆ ในชีวิตได้ ทุกกิจกรรมจะถูกรวมไว้อยู่ในสถานที่เดียว หากนึกภาพว่าเตียงนอนกับโต๊ะทำงานอยู่ห่างกันเพียงสองเก้า เวลาทำงานและเวลาพักผ่อนปะปนกัน เริ่มทำงานเก้าโมงและยาวไปจนถึงสามทุ่ม หรือแม้กระทั่งกระทบกับวันหยุด แม้แต่เป้าหมายในชีวิตที่เคยตั้งไว้ก็ถูกเลื่อนออกไปแบบไม่เห็นทิศทาง และหลาย ๆ ครั้งมักจมอยู่กับความคิดที่ว่า “ฉันทำได้ดีพอหรือยัง” หากมองตามแล้ว จะเห็นภาพว่าทุกอย่างที่เล่ามานี้เต็มไปด้วยการปะปนจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หรือเรียกได้ว่าไม่สามารถรักษาสมดุล (Balance) ได้นั่นเอง และเมื่อเราไม่สามารถรักษาสมดุลได้ ทั้งเรื่องการทำงาน ชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์ก็จะกระทบวนกันไปมา เกิดเป็นความวิตกกังวล ความเครียด จนส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟ

 

 

มีการศึกษาเรื่องภาวะหมดไฟ (Burnout) ว่า เป็นภาวะที่เกิดจากความรู้สึกเครียด เหนื่อยล้าทางร่างกายและ อารมณ์เป็นระยะเวลานานและไม่สามารถรับมือได้ ภาวะ Burnout ส่งผลให้รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถและ หมดแรงจูงใจ มากไปกว่านั้นยังส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า (Depression) ได้ บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาร่วม สำรวจภาวะเหนื่อยล้าในใจ และออกแบบเส้นแบ่งชีวิตของตัวเรากันค่ะ

 

1. สังเกตผ่านร่างกาย

เริ่มสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายว่าช่วงนี้มีอาการใจเต้นเร็ว กระวนวาย หรือเหนื่อยง่ายหรือไม่

 

2. สังเกตผ่านพฤติกรรม

สังเกตการนอน รับประทานอาหารของตนเองว่ามีปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติหรือไม่ มีการหลีกเลี่ยง การเจอผู้คนโดยไม่มีเหตุผลชัดเจน

 

3. สังเกตผ่านอารมณ์

รู้สึกเบื่อหน่าย เศร้า รู้สึกสิ้นหวัง หงุดหงิด ไม่มีแรงจูงใจอยู่บ่อย ๆ

 

4. สังเกตผ่านความสัมพันธ์

ช่วงนี้ทะลาะกับคนใกล้ตัวบ่อยมากขึ้น มองแต่จุดบกพร่องของตัวเองหรือของคนอื่นบ่อย ๆ

การสังเกตข้างต้นไม่ใช่เพื่อการวินิจฉัยหรือตัดสิน แต่เป็นการสังเกตเพื่อให้เราสามารถเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงและสามารถหาแนวทางรับมือต่อไป

 

 

อย่างที่เราคุยกันไปข้างต้นว่า การที่เรามีเส้นแบ่งในชีวิตที่ไม่ชัดเจน หลายครั้งก็ส่งผลให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าจนเกินกำลัง การป้องกันและสร้างแนวทางการดูแลตนเองเบื้องต้นจึงเริ่มต้นจากการจัดสรรเส้นชีวิตใหม่ (Set boundaries) ไม่ว่าเราจะมีข้อจำกัด หรือเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่าง เราก็สามารถดูแลตนเองในรูปแบบของตัวเรา โดยมีแนวทางคร่าว ๆ ดังนี้

 

1. การจัดสรรพื้นที่

การจัดสรรพื้นที่อย่างเหมาะสม เช่น การแบ่งพื้นที่ระหว่างพื้นที่ทำงานและพื้นที่พักผ่อน แม้เราจะมีข้อจำกัด เรื่องขนาดที่อยู่อาศัย เราสามารถแบ่งพื้นที่ได้สองแบบ คือ ทางกายภาพ เช่น แยกโต๊ะทำงานและเตียงนอน ให้ชัดเจน หรือแบ่งทางความคิด คือ ฉันจะทำงานก็ต่อเมื่อนั่งโต๊ะตรงนี้เท่านั้น การแบ่งอย่างชัดเจนนี้จะช่วยให้ตัวเราจดจำและมีการตอบสนองต่อพื้นที่นั้นได้ชัดเจนด้วย

 

2. การจัดสรรเวลา

ในการทำงาน เราสามารถตั้งเวลาการทำงานให้เป็นไปตามเวลางานปกติ ในฐานะหัวหน้างานควรมีการสื่อสาร เรื่องเวลางานและปริมาณงานที่ชัดเจน ในฐานะพ่อแม่ แบ่งเวลาทำงานกับเวลาที่ช่วยลูกเรียนออนไลน์ และแบ่งเวลาให้กับการพักผ่อนของตนเอง เช่น การทานอาหาร การดูภาพยนตร์ ฟังเพลงหรืออ่านหนังสือที่สนใจ

 

3. การตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ

ในช่วงเวลาที่เราอยู่กับภาวะเดิมเป็นระยะเวลานาน การมองเป้าหมายระยะไกลเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เราสามารถลดความกดดันเหล่านั้นได้โดยการกำหนดเป้าหมายระยะใกล้ที่สามารถทำได้ เพื่อสร้างกำลังใจ และลดทอนการตำหนิตัวเอง

 

4. การดูแลตนเองในด้านต่าง ๆ (Self-Care)

การดูแลตนเอง (Self-Care) เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราสามารถทำให้ตนเอง เปรียบเสมือนเราเป็นเพื่อนที่ดีของ ตนเอง สามารถทำได้โดยการรักษาสุขภาพกายให้แข็งแรง ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมอารมณ์ทางบวก เช่น การพักผ่อน การสื่อสารกับคนที่ไว้วางใจ การดูแลซึ่งกันและกันเพื่อเติมเต็มความสัมพันธ์

 

5. มีความยืดหยุ่น

การทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าอาจจะมีสาเหตุหรือปัจจัยหลายด้าน และบางครั้งปัญหาอาจจะอยู่นอกหนือการควบคุมของเรา การมองเช่นนี้จะช่วยให้เราสามารถแบ่งแนวทางในการปัญหาให้ชัดเจนขึ้น ลดการตำหนิตนเอง และทำให้เราเข้าใจภาพรวมของสถานการณ์ที่เราเผชิญมากขึ้น

 

 

แนวทางเหล่านี้เป็นแนวทางที่เราสามารถเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล แต่หากเราเริ่มรู้สึกว่ามีบางอย่างที่ไม่ชัดเจน การขอความช่วยเหลือ การปรึกษากับคนใกล้ตัวหรือผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นอีกทางเลือกที่แนะนำค่ะ

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Cordes, C. L., & Dougherty, T. W. (1993). A review and an integration of research on job burnout. Academy of management review, 18(4), 621-656.

 

Lee, R. T., & Ashforth, B. E. (1996). A meta-analytic examination of the correlates of the three dimensions of job burnout. Journal of applied Psychology, 81(2), 123.

 

Maslach, C., & Leiter, M. P. (2006). Burnout. Stress and quality of working life: Current perspectives in occupational health, 37, 42–49. Information Age Publishing (IAP).

 

https://psychology.berkeley.edu/people/christina-maslach

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณวรกัญ รัตนพันธ์

นักจิตวิทยาการปรึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในโลกออนไลน์ ทำไมเราถึงใจร้ายกับคนไม่รู้จัก

 

ท่านที่ท่องอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะผ่านแพลตฟอร์มใดก็ตาม น่าจะรู้สึกเหมือนกันว่าเดี๋ยวนี้คนเราพูดจา (พิมพ์) ถึงกันแบบรักษาน้ำใจกันน้อยลง ในการเจอกันแบบต่อหน้านั้น โดยทั่วไปเราจะพยายามรักษามารยาทหรือรู้สึกเกรงใจโดยเฉพาะกับคนไม่รู้จัก แต่ในโลกออนไลน์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ถ้อยคำร้ายแรงเชือดเฉือนหรือตัดสินถูกผิดไปก่อนเกิดขึ้นได้โดยง่าย ทั้งที่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทหรือพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาเป็นกรณีตัวอย่างอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้หยุดยั้งการทำร้ายกันด้วยวาจาในภาพรวม

 

ความนิรนาม (anonymity) หรือ การไม่สามารถระบุตัวตนของบุคคลได้ เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อความก้าวร้าวทางไซเบอร์ การซ่อนตัวตนอยู่ภายใต้ชื่อหรือรูปภาพอื่นทำให้บุคคลกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ความหวั่นประเมินลดลง ดังการทดลองจำนวนมากทางจิตวิทยาที่ยืนยันว่ายิ่งระบุตัวตนน้อยเท่าไร อิสระในการแสดงพฤติกรรมโดยไม่ต้องคำนึงถึงกรอบทางสังคม ความคาดหวัง ความเหมาะสม หรือค่านิยมทางสังคม ยิ่งมีมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้แอคเคาท์ที่ใช้ในการแสดงความคิดเห็นจะเป็นชื่อและรูปภาพของบุคคลก็ตาม แต่ความไม่รู้จักกันในชีวิตจริงก็ลดความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง หรือความรับผิดชอบตนเองลงได้

 

นอกจากนี้ ในการทดลองสุดคลาสสิคของ Milgram (,E) เรื่องการช็อคไฟฟ้าใส่หน้าม้าของการทดลองเพื่อวัดระดับว่าคนเราจะเชื่อฟังผู้มีอำนาจจนถึงขั้นทำร้ายคนอื่นได้มากแค่ไหน ในการทดลองดังกล่าวนอกจากจะได้ทราบว่าคนเราสามารถเชื่อฟังจนถึงขั้นทำร้ายคนอื่นในระดับที่อันตรายต่อชีวิตได้แล้ว เรายังพบอีกว่า การแยกเหยื่อให้อยู่อีกห้อง ทำให้มองไม่เห็นกัน รับรู้เพียงแค่เสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของเหยื่อ หรือเสียงที่เงียบไปของเหยื่อ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเดินหน้าเพิ่มระดับการทำร้ายคนได้มากกว่าในยามปกติ

 

การเป็นหนึ่งในร้อยพันข้อความโจมตีก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อให้บุคคลยกระดับความก้าวร้าวของตน ยิ่งมีจำนวนแอคเคาท์ที่แสดงความข้อความทางลบมากเท่าไร ข้อความรุนแรง หยาบคาย ไม่เหมาะสม ก็ยิ่งปรากฏแฝงอยู่มากเท่านั้น ทฤษฎีการกระจายความรับผิดชอบ (diffusion of responsibility) เสนอว่า เมื่อใดก็ตามที่มีคนจำนวนมากขึ้น ผู้คนในจำนวนนั้นจะรู้สึกรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยลง เช่น เราทุ่มเทน้อยกว่าเมื่อทำงานกลุ่ม เรายื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้เดือดร้อนน้อยลงเมื่อเห็นว่ามีคนอื่นๆ อยู่ด้วย ในสถานการณ์ล่าแม่มดในสื่อสังคมออนไลน์ก็เช่นกัน เมื่อมีตัวเปิด และมีคนตามไปเป็นจำนวนมาก ความรับผิดชอบต่อถ้อยคำทางลบที่พิมพ์ออกไปก็จะยิ่งหาร ๆ กัน การยับยั้งไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลก็เกิดขึ้นน้อยลง กล้าปล่อยวาจาร้ายๆ ตามอารมณ์ตามกระแสสังคมได้ง่ายขึ้น

 

Social media troll harassing people on social media

 

 

พื้นที่เปิดอย่างสื่อออนไลน์ มีข้อดีคือทำให้ผู้คนมีอิสระในการเข้าถึงและมีส่วนร่วมในร่วมวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคลหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ง่าย ทว่าด้วยโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ย่อมเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าเราจะใช้อิสระของเราอย่างไรไม่ให้ละเมิดหรือกระทบกระทั่งผู้อื่นมากเกินไป ตัวตนในโลกเสมือนอาจจะไม่ใช่ตัวตนจริงแท้หรือทั้งหมดของคนคนหนึ่ง แต่ความรู้สึก ความเจ็บปวดที่ได้รับในโลกนั้นก็ไม่ได้น้อยไปกว่าโลกจริง เสียงที่ได้ยินกับหูหรือข้อความที่อ่านผ่านตาก็สามารถบาดลึกและสร้างรอยแผลให้คนเราได้เช่นกัน

 

เพราะไม่ได้เจอกันต่อหน้า เราจึงไม่รู้ ไม่เห็นความเจ็บปวดที่คนอื่นได้รับจากการกระทำของเรา และเพราะแบบนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องฝึกให้มีสติระลึกรู้ตัวมากขึ้น ใช้ empathy หรือการคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ว่าสิ่งที่เราแสดงออกไปนั้น มีโอกาสที่ผู้รับจะรู้สึกเช่นไร พร้อมคิดเข้าข้างตนเอง (self-serving bias) ให้น้อยลง ว่าสิ่งที่เราคิดอยู่ จะแสดงออกไปหรือได้แสดงออกไปแล้วนั้น ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว

 

การทอดเวลาให้อารมณ์ความรู้สึกจางลง ก็เป็นหนทางหนึ่งที่นักจิตวิทยาและผู้มีประสบการณ์ในโลกไซเบอร์แนะนำ เพราะเมื่อสมองส่วนอารมณ์ผ่อนลง สมองส่วนเหตุผลก็จะทำหน้าที่ได้ดี เราจะเกิดความเป็นกลางต่อเรื่องราวและต่อท่าทีของตนเอง ความคิดความรู้สึกคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้ในทุกนาที การรอให้ตนเองได้ตกตะกอน รวมถึงรอให้ได้รับข้อมูลรอบด้านมากขึ้น ย่อมดีกว่าปล่อยตนไปกับความวู่วามหรืออคติที่ครอบงำ

 

หากเราต้องการใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางการระบายอารมณ์ความรู้สึกของเรา ก็สามารถทำได้โดยพิมพ์ข้อความลงไป แล้วเลือกเผยแพร่เฉพาะฉัน หรือกดบันทึก/save draft แทนการโพสต์หรือพับลิชในทันที จากนั้นจึงปล่อยให้เวลานำพาข้อมูลใหม่ หรือมุมมองใหม่ มาเป็นตัวช่วยให้เราได้ตัดสินใจอีกครั้งว่าเผยแพร่ข้อความนั้นออกไป ปรับแก้ หรือลบทิ้ง

 

อย่ารีบร้อนเพราะกลัวตามเทรนด์ไม่ทัน เพราะสิ่งที่เผยแพร่ออกไปแล้วนั้น ไม่ว่าจะลบเร็วแค่ไหน แม้เพียงเสี้ยววินาที แคปทัน(อเมริกา) ก็มักจะมาเยือนเราเสมอ

 

 

 

ภาพจาก

https://unsplash.com/
https://www.freepik.com/

 


 

บทความวิชาการ

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Self-Interested Behavior – พฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

 

 

พฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว คือ พฤติกรรมซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง หรือบางครั้งคือพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมไปด้วยพร้อมกัน โดยพฤติกรรมเหล่านี้มิได้มีรูปแบบตายตัวเสมอไป เป็นไปได้ทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง การรับความดีความชอบของผู้อื่น หรือแม้แต่การใส่ร้ายผู้อื่น โดยพฤติกรรมในลักษณะเช่นนี้บางครั้งไม่ได้ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย

 

พฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ศึกษากันค่อนข้างมากในอดีต ทั้งทางด้านพฤติกรรมภายในองค์กร สังคม รวมถึงพฤติกรรมต่อต้านสังคม แต่การสังเกตหรือตีความเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากความหลากหลายของรูปแบบพฤติกรรม หรือบางสถานการณ์ผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กัน การแสดงพฤติกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนตัวจึงถูกตีความได้ว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และบางกรณีพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวบางรูปแบบก็ไม่ได้ถูกสังคมมองว่าเป็นการละเมิดต่อกรอบของสังคม

 

 

อำนาจ กับ พฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว


 

หนึ่งในแนวคิดพื้นฐานเรื่องอำนาจ คือเมื่อบุคคลสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ตามต้องการ ส่งผลให้บุคคลมีความจำเป็นน้อยลงที่จะพึ่งพาความช่วยเหลือหรือไม่ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงทำให้อิทธิพลความกดดันต่าง ๆ จากบรรทัดฐานทางสังคมที่ต้องการให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่ดีนั้นลดน้อยลงไปด้วย

 

ความรู้สึกมีอำนาจจึงเพิ่มแนวโน้มที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการขณะนั้น โดยมีความยับยั้งชั่งใจน้อยลง จากการมีความตึงเครียด ความรู้สึกผิด และความตื่นตัวที่ลดลง ยิ่งไปกว่านั้น ความยับยั้งชั่งใจที่ลดลงยังทำให้บุคคลมีแนวโน้มตัดสินหรือแสดงความไม่พอใจต่อผู้อื่นอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้บุคคลที่รู้สึกมีอำนาจมักแสดงพฤติกรรม “พูดอย่างทำอย่าง” มากขึ้น โดยต่อว่าผู้อื่นที่ฝ่าฝืนบรรทัดฐานทางสังคม แต่ตนเองกลับเป็นผู้กระทำเสียเอง

 

นอกจากนี้ ความรู้สึกมีอำนาจได้เพิ่มความสำคัญต่อตัวบุคคลเอง (Self-Focus) นำไปสู่มุมมองที่มุ่งเป้าไปยังความต้องการของตนเอง การให้ความสำคัญต่อตนเองในระดับที่สูงขึ้นส่งผลให้บุคคลเข้าใจว่าตนเองสำคัญในสังคมมากกว่าคนอื่น ๆ นำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่นพร้อมกับลดการมองสิ่งต่าง ๆ ผ่านมุมมองของผู้อื่น (Perspective-Taking) ผลที่ตามมาคือการแสดงพฤติกรรมตอบสนองความต้องการของตนเองมากกว่าใส่ใจผู้อื่น และมีการแสดงพฤติกรรมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นน้อยลง

 

 

อำนาจ พฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และการรับรู้การถูกตรวจสอบ


 

นักจิตวิทยาเสนอว่า การเพิ่มการรับรู้ความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบส่งผลให้บุคคลลดการแสดงพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวลง โดยทำให้บุคคลเพิ่มการประมวลข้อมูล พร้อมกับประเมินตนเองผ่านมุมมองของผู้อื่นเพื่อรับมือการถูกโต้แย้ง

 

การประมวลข้อมูลที่ละเอียดขึ้นเป็นส่วนสำคัญในการลดอิทธิพลของการขาดความยับยั้งชั่งใจและความกล้าเสี่ยง พร้อมกับส่งผลให้บุคคลตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมาของการตัดสินใจ ในขณะที่การประเมินตนเองร่วมกับการเรียนรู้มุมมองของบุคคลอื่นมีส่วนช่วยให้ผู้ถืออำนาจลดการให้ความสำคัญต่อตนเองลง

 

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของอำนาจต่อพฤติกรรมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว: การศึกษาอิทธิพลการป้องปรามของการรับรู้การถูกตรวจสอบเป็นตัวแปรกำกับ” โดย ติณณ์ โบสุวรรณ (2562) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/64650

 

ภาพจาก https://ethicsunwrapped.utexas.edu/

Style of Humor – รูปแบบของอารมณ์ขัน

 

รูปแบบของอารมณ์ขันคือลักษณะนิสัยที่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล
โดยแบ่งรูปแบบของอารมณ์ขันเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ อารมณ์ขันทางบวก และอารมณ์ขันทางลบ

 

 

 

อารมณ์ขันทางบวก (Adaptive Humor Style)


 

เป็นอารมณ์ขันที่แสดงอออกถึงการยอมรับตนเอง สนุกสนาน ผ่อนคลาย มีความสุข ประกอบด้วย

 

1. อารมณ์ขันแบบเป็นกันเอง (Affiliative Humor)

 

คือ การพูดถึงสิ่งต่าง ๆ อย่างตลกขบขันได้อย่างต่อเนื่อง หรือแสดงพฤติกรรมเพื่อสร้างความสุข และความสนุกสนานให้กับผู้อื่นรอบข้าง เป็นการสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เพื่อลดความตึงเครียดทั้งของผู้อื่นและตนเอง โดยเรื่องที่ตลกนั้นไม่มีความรุนแรง หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น อาจนำตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องตลก แต่มีกระบวนการในการยอมรับตนอง ไม่มองตนเองด้อยค่าลง เป็นอารมณ์ขันแบบอบอุ่น เป็นการเล่นตลกแบบล้อเล่นที่ไม่รุนแรงกับบุคคลอื่น ยังอยู่ในความเคารพในตัวบุคคลที่ล้อเล่นด้วย การแบ่งปันความสนุกสนานในเชิงบวกนี้ ส่งผลให้เพิ่มความสัมพันธ์ทางสังคม เพิ่มขวัญกำลังใจ และลดปัญหาความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างบุคคล

 

อารมณ์ขันแบบเป็นกันเองสัมพันธ์กับบุคลิกชอบเข้าสังคม (Extraversion) ความรื่นเริง การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ความใกล้ชิดผูกพัน ความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ความรู้สึกและอารมณ์ทางบวก

 

2. อารมณ์ขันแบบส่งเสริมตนเอง (Self-enhancing Humor)

 

คือ การมองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองในชีวิตประจำวันด้วยอารมณ์ขัน เพื่อลดความเครียดและพร้อมเผชิญหน้ากับผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น มีประโยชน์ในการเป็นกลไกป้องกันปัญหาทางอารมณ์ ทำให้สุขภาพจิตดี โดยหลีกเลี่ยงอารมณ์ทางลบได้โดยการมองเรื่องราวต่าง ๆ ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เป็นความสามารถในการใช้อารมณ์ขันบนมุมมองแห่งความเป็นจริง เมื่อเผชิญปัญหาที่มีความเครียด บุคคลจะใช้อารมณ์ขันเพื่อรักษาความรู้สึกทางบวกในตนเองแม้พบกับความทุกข์และความเครียดก็ตาม การควบคุมอารมณ์จะช่วยยืดหยุ่นวิธีการเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการรับรู้เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ด้วยความท้าทายทางบวกมากกว่ามองว่าเป็นภัยคุกคาม

 

อารมณ์ขันแบบส่งเสริมตนเองสัมพันธ์ทางลบกับความรู้สึกทางลบ เช่น อาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล และสัมพันธ์ทางบวกกับการเปิดรับประสบการณ์ (Openness to Experience) การเห็นคุณค่าในตนเอง และสุขภาวะทางจิตที่ดี (Psychological well-being)

 

 

อารมณ์ขันทางลบ (Maladaptive Humor Style)


 

เป็นอารมณ์ขันที่แสดงออกถึงความก้าวร้าว ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายหรืออับอาย ประกอบด้วย

 

1. อารมณ์ขันแบบก้าวร้าว (Aggressive Humor)

 

คือ การใช้อารมณ์ขันในการกระทบ ปะชดประชัน เยาะเย้ย หัวเราะเยาะผู้อื่น เป็นการใช้อารมณ์เพื่อทำร้ายบุคคลอื่นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การนำจุดด้อยของบุคคลอื่นมาเป็นเรื่องตลก หรือเป็นการระบายอารมณ์ออกมาเป็นอารมณ์ขันโดยมิได้ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น นำความไม่สบายใจมาสู่ผู้ที่อยู่รอบข้าง บุคคลที่มีอารมณ์ขันแบบก้าวร้าวมีแนวโน้มไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น และใช้อารมณ์ขันโดยการนำผู้อื่นมาเกี่ยวข้อง การล่วงละเมิดและดูถูกผู้อื่นผ่านทางอารมณ์ขันแบบนี้จะบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จนกระทั่งถึงความสัมพันธ์ระดับสังคม

 

อารมณ์ขันแบบก้าวร้าวสัมพันธ์ทางบวกกับความไม่เสถียรทางอารมณ์ (Neuroticism) การมุ่งร้ายต่อผู้อื่น (Hostility) ความก้าวร้าว (Aggression) ความโกรธ และสัมพันธ์ทางลบกับความพึงพอใจ ความยินยอมเห็นใจ (Agreeableness) และ ความพิถีพิถัน (Conscientiousness)

 

2. อารมณ์ขันแบบล้อเลียนตัวเอง (Self-defeating Humor)

 

คือ การใช้อารมณ์ขันในการพูดสบประมาทตนเองในทางลบ พยายามสร้างความสนุกสนานให้กับผู้อื่นโดยใช้เรื่องของตนเองและมีส่วนร่วมกับคนอื่น ๆ โดยการพูดจาเสียดสี เยาะเย้ยตัวเอง การใช้อารมณ์ขันนี้เป็นกลไกการปรับตัวในเชิงหลีกหนีอย่างหนึ่ง หรือการซ่อนอารมณ์และความรู้สึกทางลบ พยายามแสดงพฤติกรรมตลกขบขันเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญปัญหา ผู้ที่มีอารมณ์ขันแบบล้อเลียนตนเองมีแนวโน้มเป็นเป้าหมายของเรื่องตลกและหัวเราะตามเมื่อตนเองถูกคนอื่นเยาะเย้ย อารมณ์ชันแบบนี้จะนำไปสู่การแบ่งแยกตนเองจากสังคม ลดโอกาสในการเข้าสังคมและการได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ ลดคุณค่าและความหมายของตนเอง รวมถึงลดความยืดหยุ่นในการจัดการปัญหาในชีวิต

 

อารมณ์ขันแบบล้อเลียนตนเองสัมพันธ์ทางบวกกับความไม่เสถียรทางอารมณ์ ความรู้สึกทางลบ เช่น อาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล และสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในความสัมพันธ์ การเห็นคุณค่าในตนเอง และสุขภาวะทางจิตที่ดี

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018

 

ภาพจาก https://www.freepik.com/

ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง…ด้วยต้นทุนทางจิตวิทยา (ตอนที่ 2)

ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง…ด้วยต้นทุนทางจิตวิทยา
“Hope” ทุนทางจิตวิทยา ตอนที่ 2

 

 

หากผู้อ่านยังจำเรื่องราวของ HERO ตอน “ล้มแล้วลุกได้…หากเรามีทุนทางจิตวิทยา” ที่ได้เน้นถึงความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience) บทความนี้เป็นภาคสองของทุนทางจิตวิทยา หรือหากผู้อ่านที่อ่านเรื่องราวในตอนแรกจบลงไปแล้วมีความหวัง (Hope) ว่าจะได้อ่านและทำความรู้จักกับองค์ประกอบด้านอื่นๆของทุนทางจิตวิทยาเพิ่มเติมในตอนต่อไป ความหวังของทุกท่านเป็นจริงแล้วในบทความนี้ หากทุกท่านมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า ชีวิตของทุกคนล้วนมีความหวังติดตามตัวมาตลอด ในทุกย่างก้าวของชีวิต วนเวียนอยู่ในความคิดประจำวันในแทบทุกเรื่องราว ทุกคนมีความหวังกับหลายสิ่งรอบตัว เช่น หวังว่าฝนจะไม่ตก หวังว่ารถจะไม่ติด หวังว่าจะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จตามเวลา หรือ หวังว่าการระบาดของโรคโควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้จะจบลงโดยเร็วเพื่อเราทุกคนจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปรกติสุขเหมือนเดิม

 

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมาความหวังนั้นเป็นสิ่งที่ลึกลับและมีความหมายน่าค้นหา ความหวังเป็นหัวข้อที่ได้ผ่านการคิดวิเคราะห์ ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ ตำนานของความหวังพบได้แม้กระทั่งในตำนานการสร้างโลกของกรีกโบราณที่เล่าขานกันมาถึงความลึกลับของกล่องแพนโดรา (Pandora’s box) ที่ถูกเปิดออกด้วยความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ เป็นสาเหตุให้สิ่งเลวร้ายและภยันตรายนานัปการหลุดหนีออกมาได้ ก่อให้เกิดเรื่องเลวร้ายมาสู่มวลมนุษย์ในเวลาต่อมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน แต่ความหวังยังคงเป็นสิ่งเดียวที่ยังติดค้างอยู่ในกล่องปริศนานั้น ไม่สามารถหลุดหนีออกมาได้ เรื่องราวในตำนานนี้ได้รับการตีความจากนักคิด นักปรัชญา นักเทววิทยาในแง่มุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมายว่า ความหวังแท้จริงแล้วคือสิ่งใด มีรูปลักษณ์หน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ และหากความหวังเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยได้รู้จักหรือสัมผัสมาก่อน ความหวังที่มนุษย์ถือครองและอ้างว่ารู้จักดีแล้วนั้น ที่แท้แล้วคือสิ่งใดกันแน่ หรืออาจเป็นเพราะในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ต่างยังคงจะมีกำลังใจและเชื่อว่าความหวังจะยังคงมีอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ในกล่องแพนโดราตามตำนานของเทพเจ้าที่เล่าขานต่อกันมา

 

ด้วยเหตุนี้ ความหวังจึงเป็นคุณลักษณะทางจิตวิทยาประการหนึ่งที่ยังคงอยู่ในความสนใจศึกษาของนักคิดและนักวิชาการทั้งหลาย ด้วยธรรมชาติของความหวังที่ยังมีความคลุมเครือและผสมผสานกันระหว่างสิ่งที่จับต้องไม่ได้กับความจริงที่เกิดขึ้น ทำให้การศึกษาเรื่องความหวังยังคงเป็นหัวข้อที่ท้าทายต่อการตีความหมายที่แตกต่างกันไป จนกระทั่งเคยมีคำกล่าวเอาไว้ว่า “การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความหวังนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพราะความหวังเป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของการดำรงอยู่ของมนุษย์” (Vaillot, 1970)

 

ปลายปี 1990 นักวิทยาศาสตร์ด้านสังคมศาสตร์ (Social scientist) ได้พยายามทำการศึกษาเกี่ยวกับความหวังด้วยมุมมองพื้นฐานจากแนวคิดดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ คิดค้นหาคำอธิบายที่ชัดเจนมากขึ้นและแสวงหาวิธีในการวัดความหวังในจิตใจของมนุษย์ด้วยวิธีการต่าง ๆ และให้คำนิยามความหวังไว้ว่าเป็นการคาดการณ์ (Expectation) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายและสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และยังมีบางแนวคิดได้ให้คำนิยามของความหวังว่าเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเรามีความเชื่อมั่นที่มีต่อตนเองว่าจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างประสบความสำเร็จ (Edwards, 2009)

 

Charles Richard Snyder นักจิตวิทยาคลินิกขาวอเมริกันที่มีความสนใจด้านจิตวิทยาเชิงบวกได้เขียนหนังสือชื่อ จิตวิทยาแห่งความหวัง (The Psychology of Hope) และตีพิมพ์สู่สาธารณะในปี 1994 โดยเขาได้อธิบายและให้คำนิยามของความหวังและยังคงใช้แนวทางเดิมที่เคยมีมาก่อนว่าความหวังเป็นการรู้คิดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของมนุษย์ (Cognitive in Nature) อย่างไรก็ตาม Snyder ได้นำเอาปัจจัยทางด้านอารมณ์ (Emotions) เข้ามาผนวกร่วมด้วยและช่วยให้การนิยามแนวคิดเกี่ยวกับความหวังของ Snyder เป็นแนวคิดที่มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

Snyder (2000) ได้ให้คำนิยามของความหวังไว้ว่า หมายถึง ภาวะแรงจูงใจในด้านบวกที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  1. การมีพลังในการขับเคลื่อน (Agency)
  2. การแสวงหาวิถีทาง (Pathways)
  3. เป้าหมายของความสำเร็จที่จะไปให้ถึง (Goal)

 

ผู้ที่มีความหวังที่จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ตนวางไว้มักจะสร้างพลังใจจากการบอกกับตนเอง (Self talk agency) เสมอว่า “ฉันทำได้” (I can do it) หรือ “ฉันสามารถแก้ปัญหานี้ได้” (I can solve this problem)

 

ในสถานการณ์ของโรคระบาดโควิดและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน การคิดอย่างคนที่มีความหวังจะช่วยทำให้คนเรามีเป้าหมายที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไปได้ ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นเป้าหมายเพื่อตนเองหรือครอบครัวและคนที่รัก ถึงแม้ในบางครั้ง เส้นทางเดิมในการประกอบอาชีพ หรือ พื้นที่ชีวิตเดิมในการหารายได้ที่เคยคิดว่าเต็มไปด้วยความสุขสบาย อาจจะต้องถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นเส้นทางใหม่ในการไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จ เนื่องจากผลกระทบหรืออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เช่นเดียวกับการที่นักกีฬาคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิคได้ นักกีฬาย่อมต้องมีความหวังในการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างชัดเจนและมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการฝึกซ้อม แม้ทุกคนรู้ดีว่า การฝึกซ้อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ประสบชัยชนะในการแข่งขัน แต่ในความเป็นจริงอาจต้องมีอุปสรรคหลายอย่างที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการฝึกซ้อมในแต่ละครั้ง นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จจะไม่มีมีวันล้มเลิกความฝันหรือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของตนเองจากอุปสรรคที่พบเจอระหว่างทาง แต่เขาเหล่านั้นจะยังพยายามแสวงหาหนทางเพื่อบริหารจัดการเวลาในชีวิตควบคู่ไปกับการฝึกซ้อมอย่างทุ่มเทและหนักหน่วง จัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ รู้จักให้กำลังใจตนเองในแต่ละขั้นของความสำเร็จจนสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และ มีการกระตุ้นและสร้างพลังใจให้กับตนเองในทุกๆ วัน เช่น การให้รางวัลหรือใช้คำพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อตนเอง เป็นต้น การสร้างกำลังใจนี้จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้บุคคลมีความคิดมุ่งมั่นที่จะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ประสบความสำเร็จแม้ว่าจะมีอุปสรรคหรือความยากลำบากเกิดขึ้น

 

การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความหวังในบริบทของการทำงานนั้นพบว่าความหวังจัดเป็นอารมณ์ทางบวกที่ช่วยส่งเสริมความสามารถในการฟื้นพลังของพนักงาน (Employee resilience) (Froman 2010) และยังพบว่าการมีความหวังจะทำให้พนักงานมีความเหนื่อยหน่ายในงาน (Burnout) น้อยลงและมองโลกในแง่ดีมากขึ้น มีความกระตือรือร้นในการค้นหาวิถีทางใหม่ๆ ในการเอาชนะต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน มีสุขภาวะที่ดี มีความพึงพอใจและความผูกพันต่อองค์กร และสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบได้อย่างขยันขันแข็ง โดยเฉพาะในงานที่มีความท้าทาย (Bailey et al. 2007; Froman, 2010) นอกจากนี้ องค์กรสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจิต (Mental health) ของพนักงานลงได้ ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร เช่น ลดการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของพนักงาน หรือ การชดเชยการบาดเจ็บหรือทุพพลภาพในการทำงาน ซึ่งสาเหตุที่พบได้โดยส่วนใหญ่นั้นเกิดจากภาวะอาการซึมเศร้าและสิ้นความหวังที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน (Green et al. 2006)

 

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ของงานวิจัยที่สนับสนุนว่าความหวังนั้นช่วยเพิ่มพูนสุขภาวะที่ดีของพนักงานและยังช่วยทำให้พนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำองค์กรจึงควรให้ความสำคัญและกระตุ้นในเกิดบรรยากาศของความหวังขึ้นภายในองค์กร (Lopez et al. 2003; Peterson & Byron 2008) โดยการโน้มน้าวให้พนักงานเกิดความรู้สึกร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน รู้หลักการในการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ สร้างพลังใจในการทำงาน ผู้นำควรส่งสารสำคัญขององค์กร (Key message) ที่ตรงใจพนักงาน ทำให้พนักงานเข้าใจถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกันเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้ เพราะองค์กรที่เต็มไปด้วยพนักงานที่ยังมีความหวังย่อมมีโอกาสในการประสบกับความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายได้เสมอ

 

นอกจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความหวังในกลุ่มของคนทำงานในองค์กร ยังพบงานวิจัยอย่างแพร่หลายของการสร้างความหวังให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรงต่างๆ Koopmeiner และคณะ (1997) พบว่า ปัจจัยที่สร้างความหวังในการมีชีวิตอยู่ต่อไปของผู้ป่วยมะเร็ง คือ วิธีการใช้เวลาของผู้ดูแลกับผู้ป่วย (Time for the patients) วิธีการพูดสื่อสารให้ข้อมูลกับผู้ป่วย (Way of giving information) ความสุภาพอ่อนน้อม (Politeness) การดูแลอย่างเอาใจใส่ (Caring and helping attitude) การปฎิบัติหน้าที่ของผู้ดูแลด้วยความซื่อสัตย์และความเคารพนับถือ (Honesty and respect) งานวิจัยของ Herth & Cutcliffe (2002) ยังพบอีกว่า เมื่อต้องเผชิญกับโรคร้ายอย่างมะเร็ง ความหวังเป็นเพียงสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและสมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถต่อสู้และผ่านพ้นจากสถานการณ์เลวร้ายนี้ไปได้

 

ยังมีการศึกษาวิจัยในอีกกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความหวังและมีประเด็นที่น่าสนใจในการนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตของเราได้ คือ งานวิจัยในกลุ่มของผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน ความหวังและความสิ้นหวังถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพและการมีชีวิตที่ยืนยาวของผู้สูงอายุ Hernandez& Overholser (2021) รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับความหวังและผู้สูงอายุจำนวน 36 ชิ้น เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในโปรแกรมทางจิตวิทยาเพื่อสร้างเสริมความหวังในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า การเข้าร่วมกิจกรรมการทบทวนชีวิต (Life review) ช่วยทำให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า สูญเสียคนที่รัก หรือ ผู้สูงอายุที่ป่วยและรับการรักษาทางการแพทย์อยู่ มีความหวังมากขึ้นที่จะต่อสู้กับโรคร้าย และมีความต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้น หากท่านผู้อ่านมีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้สูงอายุ การรับฟังเรื่องราวของความสุข ความสำเร็จในอดีตของบุคคลที่ท่านรัก จะช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงวัยที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และเรื่องเล่าต่างๆ มีกำลังใจและมีความหวังที่จะดำรงชีวิตอยู่และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อคอยชื่นชมความสำเร็จและพัฒนาการของลูกหลานได้อีกยาวนาน

 

จากงานวิจัยข้างต้นสรุปได้ว่า ความหวัง (Hope) เป็นองค์ประกอบของทุนทางจิตวิทยาอีกประการหนึ่งที่เป็นพลังช่วยให้เราผ่านวันเวลาที่ยากลำบากในยามที่ต้องพบกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต ผลการศึกษาที่ผ่านมาช่วยทำให้ ความหวัง (Hope) ที่เคยเป็นเรื่องลึกลับและมีความเป็นนามธรรมมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น Snyder และคณะ (2001 ) เคยกล่าวไว้ว่า ความหวังนั้นเป็นภาวะที่เกิดจากแรงกระตุ้นในทางบวกที่ต่างไปจากการมองโลกในแง่ดี (Optimism) การมีความหวังคือบุคคลต้องมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงและมีพลังใจในการหาทางที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตนได้ตั้งไว้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามต่อไปว่า การมองโลกในแง่ดี ซึ่งองค์ประกอบอีกด้านหนึ่งของทุนทางจิตวิทยาจะมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เราท่ามกลางภาวะวิกฤติต่างๆ ที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ โปรดติดตาม HERO ได้ในตอนต่อไป

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bailey, T., Eng, W., Frisch, M., & Snyder, C. (2007). Hope and optimism as related to life satisfaction. Journal of Positive Psychology, 2(3), 168–175.

 

Edwards, L. M. (2009). Hope. In S. J. Lopez (Ed.), Encyclopedia of Positive Psychology (Vol. 1, pp. 487-491). Hoboken, NJ: Wiley.

 

Froman, L. (2010). Positive psychology in the workplace. Journal of Adult Development, 17, 59–69.

 

Green, S., Oades, L., & Grant, A. M. (2006). Cognitive-behavioral, solution-focused life coaching: Enhancing goal striving, well-being, and hope. Journal of Positive Psychology, 1(3), 142–149.

 

Hernandez, S. C., & Overholser, J. C. (2021). A Systematic Review of Interventions for Hope/Hopelessnesss in Older Adults. Clin Gerontol, 44(2), 97-111.

 

Herth, K. A. & Cutcliffe. J. R. (2002). The concept of hope in nursing 3: hope and palliative care nursing. British Journal of Nursing 11, 977–984.

 

Koopmeiner, L., Post-White, V., Gutknecht, S., Ceronsky, C., Nickelson, K., Drew, D., Mackey, K. & Kreitzer, M. (1997). How healthcare professionals contribute to hope in patients with cancer. Oncology Nursing Forum, 24, 1507-1513.

 

Lopez, S. J., Snyder, C. R., & Pedrotti, J. T. (2003). Hope: Many definitions, many measures. In S. J. Lopez & C. R. Snyder (Eds.), Positive psychological assessment—A handbook of models and measures (pp. 91–107). Washington, DC: American Psychological Association.

 

Peterson, S. J., & Byron, K. (2008). Exploring the role of hope in job performance: Results from four studies. Journal of Organizational Behavior, 29(6), 785–803.

 

Snyder, C.R. (2000). Handbook of Hope; Academic Press: San Diego, CA, USA.

 

Snyder, C. R., Sympson, S. C., Michael, S. T., & Cheavens, J. (2001). Optimism and hope constructs: Variants on a positive expectancy theme. In E. C. Chang (Ed.), Optimism and pessimism: Implications for theory, research, and practice (pp. 101-125). Washington, DC: American Psychological Association.

 

Vaillot, M. C. (1970). Hope: the restoration of being. American Journal of Nursing 70, 268–273

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร เรวดี วัฒฑกโกศล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การสร้างความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

คุณพร้อมไหม? …นักจิตวิทยาพร้อมจะช่วย

การสร้างความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

 

ผลการวิจัยทางด้านพฤติกรรมสุขภาพจำนวนมากพบผลสอดคล้องกันว่า การออกกำลังกายส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้ออกกำลังกาย เช่น ทำให้ร่างกายแข็งแรง และมีอารมณ์สดชื่นแจ่มใส การออกกำลังกายที่ต้องทำเป็นกิจกรรมกลุ่ม เช่น การตีแบดมินตัน การเล่นบาส ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้สร้างความรู้จักกับคนอื่นๆ ที่มีความหลากหลาย คนต่างอาชีพ ต่างวัยมากขึ้น

 

ผลดีต่างๆ ที่ได้จากการออกกำลังกายมีมากมายและเป็นที่ตระหนักรู้โดยทั่วไป อย่างไรก็ตามมีบุคคลจำนวนมากที่ยังคงมีพฤติกรรมเนื่อยนิ่ง (Sedentary Behavior) เช่น นั่งๆ นอนๆ ไม่การออกกำลังกายแต่อย่างใด บางคนก็ตั้งใจไว้ว่า เริ่มต้นปีใหม่จะเริ่มหันมาดูแลตัวเอง ออกกำลังกายมากขึ้น แต่พอเวลาเข้ามากลางปีแล้ว บุคคลนั้นก็ยังคงไม่มีการออกกำลังกายแต่อย่างใด นอกจากนี้ บุคคลมักจะมีเหตุผลข้ออ้างที่สนับสนุนการที่ตนยังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองไม่สำเร็จ เช่น “ไม่เห็นจะต้องออกกำลังอะไรเลย แข็งแรงอยู่แล้ว ตรวจสุขภาพทุกปี ผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม” “อยากออกกำลังกายนะ แต่ช่วงนี้โควิด ยิมทุกที่ปิด ไม่มีที่จะออกกำลังกาย” “งานยุ่งมากมาย ไม่มีเวลา ถึงบ้านก็เหนื่อย อยากอาบน้ำนอนแล้ว “ ฯลฯ เหตุผลหรือข้ออ้างต่างๆ ของการประสบความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงตนเองให้หันมาออกกำลังกายที่ระบุไปเหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นว่าบุคคลแต่ละคนมีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Readiness to change behavior) แตกต่างกัน

 

ทฤษฎีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือ Transtheoretical Model (TTM) ของ Prochaska และ DiClemente (1984) ได้อธิบายถึงกระบวนการสร้างความพร้อมของคนเราที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพของตนเองไปสู่การมีพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ โดยได้แบ่งระดับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมออกเป็น 5 ขั้นตอน เรียกว่า “Stages of change” ดังนี้

 

1. ขั้นเมินเฉย (Pre-contemplation stage)

 

บุคคลคิดว่าพฤติกรรมที่ทำอยู่ไม่มีปัญหาอะไรต่อสุขภาพ ไม่มีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น ดังเช่นเหตุผลข้ออ้างในการไม่ออกกำลังกายดังนี้ “ฉันไม่เห็นจะต้องออกกำลังกายอะไรเลย แข็งแรงอยู่แล้ว ตรวจสุขภาพทุกปี ผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม”

 

2. ขั้นตระหนักรู้ว่ามีปัญหา (Contemplation stage)

 

บุคคลเริ่มรับรู้ว่าการนั่งๆ นอนๆ ไม่ออกกำลังกายที่ทำอยู่ตอนนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ บุคคลที่อยู่ในขั้นนี้มักจะมีความลังเลใจ (Ambivalence) ระหว่าง การยอมรับหรือปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง เหตุผลข้ออ้างสำหรับความลังเลใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเช่น “ผลการตรวจเลือดที่ผ่านมาพบว่า ระดับโคลเรสเตอรอลสูงกว่าเดิมมากจนน่าตกใจเลย หมอแนะนำให้ออกกำลังกาย แต่ว่า…ช่วงนี้โควิด ยิมทุกที่ปิด ไม่มีที่จะออกกำลังกาย รอให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นก่อนดีกว่า”

 

3. ขั้นตัดสินใจเปลี่ยนแปลง (Determination stage/Preparation stage)

 

บุคคลคิดที่จะลด หรือเลิกพฤติกรรมเดิมที่เป็นปัญหา และเริ่มวางแผน (Action Plan) ในการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดี เช่น จัดตารางการทำงานและการออกกำลังกายให้ชัดเจน เตรียมสถานที่และอุปกรณ์จะใช้ในการออกกำลังกาย เป็นต้น

 

4. ขั้นกระทำการเปลี่ยนแปลง (Action stage)

 

ขั้นนี้จะเริ่มขึ้นเมื่อบุคคลเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของตนได้ เช่น ลงมือออกกำลังกายตามตารางที่ได้วางแผนไว้ ในขั้นตอนนี้อาจใช้หลายวิธีการร่วมกันที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประสบความสำเร็จ เช่น การจัดทำแผนระยะสั้น และ แผนระยะยาว การชวนเพื่อนร่วมออกกำลังกาย การให้รางวัลกับตัวเองเมื่อออกกำลังกายได้ตามแผนที่วางไว้ เป็นต้น

 

5. ขั้นคงไว้ซึ่งการเปลี่ยนแปลง (Maintenance stage)

 

บุคคลสามารถปฏิบัติตามแผนอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นพฤติกรรมที่คงที่ กล่าวคือ มีการออกกำลังกายเป็นประจำจนเป็นนิสัย แต่อาจมีการหวนกลับไปทำพฤติกรรมเดิมอีก (Relapse) คือหันกลับมามีพฤติกรรมการนั่งๆ นอนๆ ไม่ออกกำลังกายหลายๆ วันติดต่อกัน เป็นต้น

 

 

ถึงตอนนี้ ทุกท่านคงน่าจะทราบแล้วนะคะว่า ตัวท่านมีความพร้อมเพียงใดที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองในการหันมาออกกำลังกาย ท่านใดที่อยู่ในขั้นตอนที่มีความพร้อมมาก ท่านก็มีโอกาสจะประสบความความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้ด้วยตัวท่านเองค่อนข้างสูง สำหรับท่านที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองแต่รู้สึกลังเลใจว่าตนจะทำได้สำเร็จไหม รู้สึกไม่แน่ใจในความสามารถที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ท่านอาจต้องมีตัวช่วยในเบื้องต้นก่อนค่ะ นักจิตวิทยาสุขภาพพร้อมที่จะช่วยท่านโดยการจัดโปรแกรมหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยให้ท่านก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่ขัดขวางการออกกำลังกายและช่วยเติมความมั่นใจเพื่อให้ท่านมีความพร้อมมากขึ้นในการเปลี่ยนแปลงตนเองให้มีสุขภาพขึ้นดีค่ะ อย่าลืมนะคะ แค่รู้สึกอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้นก็อยู่ไม่ไกลแล้วค่ะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Prochaska, J. O., & DiClemente, C. C. (1984). The transtheoretical approach: Crossing traditional boundaries of therapy. Dow Joneslrwin.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร เรวดี วัฒฑกโกศล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย