ข่าวและกิจกรรม

โน้มน้าวคนใกล้ตัวอย่างไรให้เข้าสู่ new normal

 

ในยุคของการระบาดของไวรัสโควิด 19 คนเราต่างก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินต่าง ๆ เพื่อป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดจากการติดเชื้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพกและใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ การล้างมือบ่อย ๆ การพกและใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค และการรักษาระยะห่างระหว่างกัน

 

จะทำอย่างไรดีคะ ถ้าหากคนใกล้ตัวเราไม่ยอมทำตามกฏเพื่อความอยู่รอดจากเชื้อโควิดเหล่านี้? เช่น คุณพ่อคุณแม่อายุมากแล้ว ก็อาจจะไม่อยากใส่หน้ากากเพราะรู้สึกอึดอัด ยังอยากออกไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนหรือจับกลุ่มเม้ามอยกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน เราลูกหลานจะทำอย่างไรดีให้ท่านตระหนักและหันมาปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันเชื้อโรคโควิด? หรือแม้แต่ผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นที่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองแกร่ง หรือคนที่การ์ดตก อยากกลับไปใช้ชีวิตที่อิสระไม่ต้องเก็บเนื้อเก็บตัวให้เดียวดาย เราจะชักจูงพวกเขาอย่างไรดีให้หันมา “ตั้งการ์ด” ป้องกันเชื้อโควิดระลอกสอง

 

ลองวิธีต่อไปนี้ดูค่ะ

 

 

1. ชวนให้ทำเพื่อตัวเองหรือคนที่เขารัก

 

ทฤษฏีการโน้มน้าวใจในทางจิตวิทยาสังคม จะแนะนำให้เน้นที่ผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเขาเอง หรือผลเสียที่จะเกิดกับตัวเขา เพื่อเป็นแรงดันให้คนคนนั้นอยากจะทำตามที่เราบอก ดังนั้นง่ายที่สุดคือทักเขาว่า “ไม่กลัวติดโควิดตายเหรอ ทำไมไม่ใส่หน้ากาก” “ออกไปทำไมที่คนเยอะแยะ เดี๋ยวก็ติดโควิดหรอก” แน่นอนว่าคนที่ไม่ยอม “ตั้งการ์ด” กันโควิดนั้นก็จะมีข้ออ้างมากมาย โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าตัวเขาคงไม่โชคร้ายไปได้เชื้อโรคมาหรอก หรือถึงจะติดจริง ๆ เป็นได้ก็หายได้ ความเชื่อเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นธรรมชาติของคนเราที่มักจะคิดเข้าข้างตัวเองอยู่บ่อย ๆ เถียงไปก็ไร้ประโยชน์ค่ะ เจอแบบนี้เราก็แค่เปลี่ยนเป้าหมายจากตัวเขาไปที่ “คนที่เขารัก” แทน เราทุกคนมีครอบครัวหรือคนที่เรารัก ที่เราไม่อยากเห็นเขาต้องได้รับเชื้อโควิด ดังนั้นประโยคที่จะกระตุกใจคนที่ไม่ยอมตั้งการ์ด ก็อาจเป็น “ไม่กลัวเอาไปติดลูกเหรอ” “ไม่กลัวเป็นแล้วไม่ได้ดูแลลูกหลาน/พ่อแม่เหรอ” “เป็นแล้วติดกันทั้งบ้านได้เลยนะ เด็ก คนแก่ ถึงตายได้นะ” คนที่ได้ยินก็มักจะเถียงได้ยาก และทำให้นึกถึงคนที่เขารักและสำคัญกับเขา ซึ่งมักจะเป็นตัวกระตุ้นได้อย่างดีเพื่อให้คนเรายอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองค่ะ

 

2. ทำให้ new normal เป็นเรื่องง่าย ๆ

 

คนที่ไม่อยากจะใส่หน้ากากอนามัย ไม่สนใจจะรักษาระยะห่าง พอมีโอกาสเขาก็จะ “ไม่ทำ” สิ่งเหล่านั้น วิธีที่จะตะล่อมให้เขายอมทำได้ง่ายขึ้นก็คือการจัดสภาพแวดล้อมให้พร้อมสำหรับ new normal เช่น การจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและเจลฆ่าเชื้อโรคให้พร้อมสำหรับเขา แบบที่ใส่สบาย สวย/เท่ห์ ใส่ง่ายหายใจสะดวก มีไว้ให้พร้อมเสมอในที่ที่เขาใช้ชีวิต เช่น มีไว้ก่อนออกจากบ้าน ในรถ ในกระเป๋าถือ แบบนี้ก็จะลดอาการงอแงแก้ตัวว่า ทำไม่ได้ หรือ ไม่สะดวก ไปได้มากค่ะ และคนรอบ ๆ ตัวเขาก็ต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน สม่ำเสมอ และสนุกสนานด้วยจะยิ่งดี คนเราบางทีทำอะไรก็เพราะคนรอบ ๆ ตัวเราเขาทำกัน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็น new normal ก็จะช่วยให้คนดื้อค่อย ๆ ปรับตัวได้ค่ะ

 

3. ชดเชยความสูญเสีย/ไม่สะดวก

 

คนเรามักจะต่อต้านเมื่ออิสระเสรีภาพที่เคยมีต้องมาเสียไปหรือถูกจำกัด เช่น ห้ามออกจากบ้าน ห้ามไปเที่ยว ห้ามไปแดนซ์ ห้ามไปดูมวย ทั้งที่เคยทำได้ตามใจชอบ ดังที่เป็นข่าวการประท้วงการ lockdown ในต่างประเทศ การห้ามหรือแนะว่าไม่ควรทำสิ่งที่เขาเคยทำได้ ก็มักถูกมองว่าเป็น “ความสูญเสีย” ที่จะเกิดขึ้นถ้าเขายอมเชื่อตาม ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจจริงไหมคะ? ดังนั้นเราก็ควรจะหาทางชดเชยสิ่งเหล่านี้เพื่อลดแรงต้านนั่นเอง แปลว่าเราไม่ควรห้ามอย่างเดียว แต่ควรชวนเขาทำสิ่งใหม่ทดแทน (นี่ละค่ะ new normal) เช่น การจัดให้ผู้สูงอายุได้พบเจอเพื่อนๆ ผ่านวีดีโอคอล การหากิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ สำหรับเขาให้ทำที่บ้านมาทดแทนการออกไปสังสรรค์ในแบบที่เสี่ยง แนะนำการช้อปปิ้งออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ แทนการออกไปเดินที่คนเยอะ ๆ เป็นต้นค่ะ

 

 

ที่กล่าวมาเป็นแค่สิ่งที่เราลุกขึ้นมาทำได้เองเพื่อคนใกล้ตัวที่อาจจะไม่ยอมป้องกันตัวเองค่ะ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่คงทนถาวรได้นั้นได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมในภาพกว้างด้วย การรณรงค์ของภาครัฐ การจำหน่ายจ่ายแจกหน้ากากอนามัยที่เพียงพอ การจัดสถานที่สาธารณะที่เอื้ออำนวยต่อการรักษาระยะห่าง การมีมาตรการคุมเข้มเรื่องการสวมหน้ากากและรักษาระยะห่าง การให้ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ เพื่อปรับตัว หรือการจัดพื้นที่ผู้ให้บริการต่างๆ ที่เพียงพอต่อการรักษาระยะห่าง ก็ล้วนส่งผลต่อการที่คนเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเข้าสู่ new normal ได้ยากหรือง่ายทั้งนั้นค่ะ เรียกว่าต้องปรับไปพร้อมกันทุกภาคส่วนกันทีเดียว

 

ฮึบ ทำไปพร้อม ๆ กันนะคะ แล้วเราจะรอดไปด้วยกัน!

 

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อบ้านต้องกลายเป็นโรงเรียน และพ่อแม่ต้องกลายเป็นครูจำเป็น

สถานการณ์โลกเราในยามนี้ที่มีโควิด-19 นั้นทำให้เราทุกคนต้องปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รอบด้าน สำหรับครอบครัวที่มีลูก ๆ วัยเรียนแล้ว เรื่องใหม่ที่ต้องเจอก็คือบ้านต้องกลายเป็นโรงเรียน และการเรียนในระบบของเด็ก ๆ ส่วนหนึ่งมาจากหน้าจอ หรือมาจากแบบฝึกหัดที่คุณครูส่งมาให้ โดยพ่อแม่ต้องทำหน้าที่เป็นคุณครูจำเป็น ซึ่งถือเป็นความท้าทาย เพราะพ่อแม่ยังต้องทำงาน และการเรียนรู้ของเด็กก็เป็นเรื่องสำคัญ แล้วเราควรจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

 

อย่าคาดหวังความเพอร์เฟกต์ ก่อนอื่นเลย ขอให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมใจให้พร้อม ว่าบ้านไม่ใช่โรงเรียน และเราไม่สามารถทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบได้ ทั้งในแง่ของเวลา เงินทอง และอุปกรณ์ แต่เราสามารถทำให้ดีที่สุดตามความสามารถของเราและลูกได้ในสถานการณ์เช่นนี้

 

วางแผน แต่ละบ้านต่างก็มีสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ห้องหับภายในบ้าน เรื่องเวลางานของพ่อแม่ หรือแม้แต่เรื่องเทคโนโลยี เราจึงควรวางแผนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในบ้าน อย่างเรื่องเวลา หากพ่อแม่สะดวกช่วยเรื่องเรียนลูกได้ 1-2 ชั่วโมงในวันทำงาน ก็จัดชั่วโมงเพิ่มไปในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น หากการเรียนผ่านทางออนไลน์เป็นปัญหาสำหรับครอบครัว เราก็อาจต้องกลับมาใช้แบบฝึกหัดแบบกระดาษหรืออ่านหนังสือแทน ดูออนไลน์หรือค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตร่วมกับลูกบ้างเท่าที่จำเป็นเพื่อการตรวจสอบข้อมูล หากโรงเรียนต้องการให้ส่งการบ้านทุกวัน แต่ด้วยตารางแล้วไม่สามารถจัดได้ ก็คุยกับคุณครูให้เคลียร์ ช่วยกันหาแนวทางที่จะทำได้ ที่สำคัญไม่ควรไปเปรียบเทียบกับบ้านอื่น ๆ เพราะแต่ละครอบครัวล้วนมีปัจจัยไม่เหมือนกัน

 

เวลาคุณภาพ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านกังวลว่าเวลาที่ให้กับลูกในการเรียนที่บ้านนั้นจะน้อยไป ขอให้นึกไว้อย่างหนึ่งว่า เวลาคุณภาพ (quality time) นั้นสำคัญกว่าเวลาจำนวนมาก อีกอย่างหนึ่ง การเรียนในบ้านจะมีลักษณะเป็นแบบตัวต่อตัว ซึ่งเด็กจะได้รับความสนใจจากเราอย่างเต็มที่ เมื่อเทียบกับการเรียนในโรงเรียนที่ครูจะต้องแบ่งความสนใจให้เด็กหลายคน ดังนั้นเพียง 1-2 ชั่วโมงในการเรียนรู้ในบ้าน ก็พอจะเทียบเคียงกันได้

 

เด็กมีความสามารถในการให้ความสนใจจดจ่อกับกิจกรรมตรงหน้า (attention span) ได้ดีขึ้นตามอายุ หากอยากทราบว่าลูกเราสามารถนั่งทำกิจกรรมได้นานเท่าไร วิธีคำนวณคือ ให้เอาอายุลูก คูณด้วย 2-3 นาที คือ หากมีลูกอายุ 3 ขวบ เด็กจะสามารถทำกิจกรรมตรงหน้าได้นานประมาณ 6-9 นาที จากนั้นต้องหาอะไรอย่างหนึ่งมาทำแก้ขัดก่อน เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็กก็เป็นร้องเพลง ชวนคุยเรื่องอื่น เป็นต้น แล้วค่อยพาลูกกลับมาสู่กิจกรรมที่ต้องการอีกครั้ง หากเป็นกิจกรรมที่ยาก พ่อแม่อาจจะช่วยแนะวิธีคิดเป็นขั้น ๆ ว่าทำอะไรก่อนหลัง เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเครียด พ่อแม่จึงไม่ควรตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินความสามารถตามพัฒนาการของเด็ก

 

บรรยากาศสำคัญ หลายครั้งที่การสอนการบ้านหรือนั่งเรียนกับลูกกลายเป็นเรื่องเครียด เพราะเราไปตั้งความหวังกับลูกมากเกินไป พ่อแม่ผู้ปกครองอาจรู้สึกหงุดหงิดว่าทำไมเรื่องง่าย ๆ แค่นี้ ลูกคิดไม่ได้ ทำไมลูกไม่ตั้งใจ จนบรรยากาศเริ่มเสีย พ่อแม่ก็ไม่สนุก ลูกก็ไม่สนุก ขอให้เอาใจเราไปใส่ในใจลูกให้มาก ๆ เด็กอย่างไรก็คือเด็ก ที่ต้องการการเล่น หากเราอยากให้เด็กเรียนรู้ ก็ต้องทำให้การเรียนสนุกและเหมือนการเล่น เช่น ทำเหมือนเป็นเกมโชว์ แปลงเป็นการเล่านิทาน หรือแสดงบทบาทสมมติ เป็นต้น ดังนั้น ต้องไม่เครียด บรรยากาศที่ดีสำคัญมาก

 

ธรรมชาติของคนเราจดจำอารมณ์ความรู้สึกได้เก่งมาก ถ้าเรียนแล้วสนุก การเรียนรู้ของเด็กจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น และเขาก็จะรักการเรียนรู้ แต่หากถูกตำหนิอยู่เสมอ เด็กก็จะมีรอยประทับของความรู้สึกแย่ ๆ นี้ติดตัวเขาไปตลอด อาจทำให้มีความรู้สึกที่ไม่ดีกับการเรียน และตำหนิตัวเองว่าไม่เก่ง ทำไม่ได้ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการตัวเด็กเอง

 

สร้างแรงผลักดันจากภายใน เด็กจะพัฒนาตัวเองได้ดี ถ้ามีความสุขกับกิจกรรมที่ได้ทำ ทำแล้วอิน อยากจะเรียนรู้เพิ่ม อยากจะเก่งขึ้นด้วยตนเอง แบบนี้เรียกว่ามีแรงผลักดันจากภายใน คือมี passion การเรียนรู้ที่มาจากความชอบเช่นนี้ จะทำให้เด็กพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่โดดเด่น ซึ่งอาจจะเป็นทักษะที่เฉพาะตัวนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพได้ พ่อแม่จึงควรพยายามส่งเสริมกิจกรรมที่ลูกชอบและสนใจ เปิดโอกาสให้ได้ลองทำให้สุดความสามารถ โดยไม่ต้องกังวลว่าสิ่งที่ลูกชอบจะเป็นเรื่องไร้สาระหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าโลกยุคใหม่หมุนไปเร็วมาก จะมีอาชีพแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายที่เราไม่สามารถเอาบรรทัดฐานของยุคสมัยเรามาวัดได้ ดังนั้นลูกอยากทำอะไรก็ส่งเสริมและให้กำลังใจ ไม่ควรไปห้ามปรามให้ต้องทะเลาะบั่นทอนความสัมพันธ์กัน

 

พ่อแม่หลายท่านอาจเคยได้ทราบเรื่องการส่งเสริมโดยการให้รางวัล การให้รางวัลนั้นได้ผลดี แต่จะให้ผลเฉพาะช่วงแรกเท่านั้น พ่อแม่อาจใช้รางวัลเพื่อช่วยดึงความสนใจให้เด็กทำกิจกรรมที่ไม่ชอบ เมื่อลูกเริ่มปรับตัวกับงานที่ไม่ชอบได้ดีขึ้นบ้างแล้ว รางวัลอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป การให้รางวัลที่มากและบ่อยเกินไปอาจทำให้เด็กรู้สึกเบื่อกับการทำกิจกรรมนั้น หากเด็กไม่ชอบวิชาเลข พ่อแม่บอกว่าถ้าทำเกรดได้ดีจะให้รางวัลเป็นสิ่งของ แต่เมื่อผลการเรียนเลขดีขึ้น ลูกอาจจะรู้สึกดีกับวิชานี้ขึ้นมาบ้าง เริ่มมีความมั่นใจแล้ว ก็ให้กำลังใจให้พยายามต่อด้วยตัวเด็กเอง ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าถ้าตั้งใจ ก็จะเก่งขึ้นได้ เรียกว่ามี growth mindset

 

เรียนรู้จากลูก อาจเรียกได้ว่า วิกฤตินี้โควิดอาจเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้ใช้เวลาในการทำความรู้จักกับลูก ว่าแท้จริงแล้วลูกชอบหรือสนใจอะไร และเน้นการสอนทักษะชีวิตให้ลูก เป็นเรื่องที่พ่อแม่สนใจก็ได้ ซึ่งเป็นความรู้นอกตำรา แต่เป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 เช่น การรู้จักตัวเอง รู้เท่าทันและควบคุมอารมณ์ตัวเอง การสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ รับฟังผู้อื่นอย่างเข้าอกเข้าใจ และที่สำคัญที่สุดในภาวะนี้คือ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง พ่อแม่สามารถนำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำอยู่แล้วในบ้าน มาประยุกต์สอนลูก ๆ เช่น การซ่อมแซม บำรุงรักษาข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน การประหยัดอดออม การค้าขาย เป็นต้น

 

สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่านปรับตัวปรับใจให้รับกับสถานการณ์โควิด – 19 นี้ ขอให้ใช้โอกาสนี้ที่สมาชิกในครอบครัวได้อยู่บ้านด้วยกัน สร้างบรรยากาศที่ดีต่อกัน เข้าใจกันและกันให้มาก ๆ เพื่อก้าวผ่านภาวะนี้ไปได้

 

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/free-photos-vectors/education

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การบังคับใส่หน้ากากอนามัยตามสีที่กำหนด กับมุมมองเชิงจิตวิทยา

 

กลายเป็นประเด็นร้อนทั่วโลกโซเชียลภายในไม่กี่ชั่วโมง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 มีผู้แชร์ภาพประกาศของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งกำหนดรูปแบบหน้ากากอนามัยที่นักเรียนต้องสวมใส่เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดเทอม ว่าต้องเป็นสีพื้นไม่มีลวดลาย โดยมีตัวอย่างว่าให้นักเรียนหญิงใส่หน้ากากสีอ่อนเช่น ขาว ชมพู และนักเรียนชายให้ใส่หน้ากากสีขาว เทา ดำ ทำให้ชาวโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

 

ล่าสุด วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศแล้วว่า ไม่ได้มีนโยบายหรือการสั่งการให้กำหนดสีหน้ากากอนามัยที่นักเรียนต้องใส่ และยังย้ำว่าให้ใช้หน้ากากแบบใดก็ได้ที่ถูกสุขอนามัย แต่ประเด็นดรามาที่เกิดขึ้นก็น่าจะนำมาวิเคราะห์และสรุปบทเรียนเพื่อหาแนวทางการจัดการพฤติกรรมที่น่าจะ ‘work’ กว่าการบังคับ

 

วันนี้เรามาลองมองการจัดการกับพฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยของนักเรียนจากมุมจิตวิทยากันค่ะ

 

การกำหนดสีหน้ากากที่นักเรียนสวมใส่ตามข่าวนั้น น่าจะทำให้เกิดภาพที่เรียบร้อยเป็นระเบียบดี แต่ถ้ากลับมาพิจารณาว่า เป้าหมายของการใส่หน้ากากอนามัย คือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อ COVID-19 ซึ่งจะได้ผลดีถ้าคนส่วนใหญ่ใส่กันเยอะ ๆ หรือ 100% ได้ยิ่งดี การกำหนดสีหน้ากากก็ดูจะนอกประเด็นไปไกลสักหน่อย

 

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องความเหมาะสมในเชิงปฏิบัติ เช่น หากนักเรียนมีหน้ากากอยู่แล้วแต่ไม่ได้สีตรงกับที่กำหนด อาจทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินเพื่อซื้อใหม่ และการที่หน้ากากรูปแบบและสีเดียวกันอาจทำให้มีโอกาสหยิบสลับกัน ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลทางจิตวิทยาที่การบังคับเช่นนี้อาจไม่ได้ผลและอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาด้วย

 

เหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องแรงจูงใจ การบังคับคือการใช้แรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation) ซึ่งจะทำให้คนทำตามเฉพาะเมื่อมีการตรวจสอบ แต่เมื่อไม่มีใครคอยจับตามองก็พร้อมที่จะเลิกทำ เพราะในใจไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยตั้งแต่ต้น หรือบางกรณี แม้ตอนแรกจะไม่ได้ขัดข้องอะไร แต่การถูกบังคับอาจทำให้รู้สึกอยากต่อต้านขึ้นมาก็ได้ ยิ่งในวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่กำลังค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ชอบถูกบังคับ และในแง่สุขภาพก็รู้สึกว่าตนเองแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย อาจจะยิ่งเห็นว่าไม่ใส่หน้ากากอนามัยก็ได้ไม่เห็นเป็นไร

 

วิธีที่ดีกว่านั้นจึงเป็นการสร้างให้เกิดแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) ทำให้นักเรียนอยากใส่หน้ากากอนามัยเองโดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญหรือคอยสอดส่อง

 

ทฤษฎีจิตวิทยาทฤษฎีหนึ่งที่นิยมใช้อธิบายการเกิดแรงจูงใจภายใน คือ ทฤษฎีความมุ่งมั่นของตนเอง (self-determination theory) โดย Ryan และ Deci เสนอไว้ว่า แรงจูงใจภายในที่จะทำพฤติกรรมสักอย่างหนึ่งนั้น เกิดจากการมีความรู้สึกว่าตนเองสามารถทำสิ่งนั้นได้ดี (competence) สามารถเลือกเองตัดสินใจเองได้ (autonomy) และการทำสิ่งนั้นเปิดโอกาสให้ได้มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น (relatedness)

 

ลองนึกดูก็ได้ค่ะ ว่าหากคุณ “ถูกบังคับ” ให้ทำอะไรสักอย่างที่คุณไม่ชอบ แถม “ไม่ถนัด” และ “ไม่มีโอกาสให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับใครเลย” คุณจะอยากทำสิ่งนั้นไหม

 

แล้วจะประยุกต์ทฤษฎีนี้เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนอยากใส่หน้ากากกันเป็นประจำได้อย่างไร เรามาลองคิดวิธีประยุกต์ทฤษฎีความมุ่งมั่นของตนเอง (self-determinism theory) กันดีไหมคะ?

 

ประการแรก เราอาจเริ่มจากส่งเสริมให้นักเรียนเลือกใส่หน้ากากรูปแบบและสีสันอย่างที่นักเรียนชอบ ที่ใส่แล้วรู้สึกว่าดูดี มั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง เพื่อเพิ่มความรู้สึกว่าได้เลือกเองตัดสินใจเอง (autonomy) ไม่ถูกจำกัดเสรีภาพ

 

ส่วนเรื่องการได้แสดงออกถึงความสามารถนั้น พฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยเองอาจไม่ต้องใช้ความสามารถอะไร แต่เราสามารถเปิดช่องให้มีการทำกิจกรรมที่ได้แสดงออกถึงความสามารถ (competency) ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบที่แต่ละคนถนัด เช่น ให้ออกแบบหน้ากากผ้า ทำคลิปรีวิวหน้ากากผ้าแบบต่าง ๆ ทำคลิปสอนเพื่อนทำหน้ากากผ้า DIY แบบเก๋ ๆ หรือสร้างสื่อรูปแบบอื่น ๆ เพื่อเชิญชวนคนอื่น ๆ ทั้งในและนอกโรงเรียนให้สวมหน้ากากผ้า

 

นอกจากนี้ ควรทำให้กิจกรรมดังกล่าตอบสนองความต้องการทางสังคม (relatedness) ด้วย เช่น มีพื้นที่ให้ได้นำหน้ากากที่เลือกใส่ หรือหน้ากากที่ออกแบบเก๋ ๆ มาโชว์ เหมือนเป็นแฟชั่น เช่น บนเว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ของโรงเรียน หรือจะให้นักเรียนร่วมกันจัดตั้งช่องทางการสื่อสารดังกล่าวขึ้นเองก็ได้ เพื่อให้รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเชื่อมโยงกับผู้อื่นในสังคม ได้รับการตอบสนองจากผู้อื่นในสังคมเมื่อสื่อสารหรือเผยแพร่ความเห็นหรือผลงานของตัวเองออกไป

 

วิธีนี้ยังสามารถสร้างให้เกิดอิทธิพลทางสังคม (social influence) จากการได้เห็นเพื่อนนักเรียนรุ่นราวคราวเดียวกันสวมใส่หน้ากากอนามัยสวย ๆ เท่ ๆ มาโชว์กัน ทำให้เกิดพฤติกรรมคล้อยตามได้อีกด้วย ผลการวิจัยทางจิตวิทยาสังคมจำนวนมากพบว่า อิทธิพลทางสังคมจากบรรทัดฐานทางสังคมว่าคนอื่นส่วนใหญ่ทำอะไรกันนั้นมีผลต่อพฤติกรรมของบุคคลมากทีเดียว

 

คงเห็นแล้วนะคะว่า การทำพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพของคนในสังคมนั้น มีวิธีอื่นที่ดีกว่าการออกกฎมาบังคับ โดยเฉพาะถ้ากฎนั้นจุกจิกหยุมหยิมจนคนขยับตัวไม่ได้ เลือกทำอะไรด้วยตัวเองแทบไม่ได้เลย ก็อาจทำลายแรงจูงใจภายใน และไม่ก่อให้เกิดการยอมรับและเปลี่ยนความคิดอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็จะไม่ยั่งยืน

 

ผู้นำ ผู้กำหนดนโยบาย หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ สามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้กับการเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องอื่น ๆ ด้วยนะคะ เพราะการบังคับด้วยกฎระเบียบหรือการใช้แรงจูงใจภายนอก นอกจากจะไม่ได้ให้ผลที่ต้องการในระยะยาวแล้ว ยังอาจเกิดผลเสียสะท้อนกลับมาได้ด้วยนะคะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Ryan, R. M., & Deci, E. L. (2000). Self-determination theory and the facilitation of intrinsic motivation, social development, and well-being. American Psychologist, 55, 68-78. https://doi.org/10.1037/0003-066X.55.1.68

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จิตวิทยาปริชาน

 

เมื่อพูดถึงสาขาต่าง ๆ ในจิตวิทยา ส่วนมากแล้วสาขาที่หลาย ๆ คนรู้จักจะมี จิตวิทยาสังคม (social psychology) จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) จิตวิทยาการปรึกษา (counselling psychology) จิตวิทยาคลินิก (clinical psychology) จิตวิทยาองค์การ (organizational psychology) และ จิตวิทยาประยุกต์ (applied psychology) แต่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักจิตวิทยาปริชาน หรือ อีกชื่อหนึ่งที่มักจะถูกเรียกคือ จิตวิทยาปัญญา หรือ จิตวิทยาการรู้คิด เท่าไรนัก

 

จิตวิทยาปริชาน มุ่งศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ และตัดสินใจว่าเราควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ กระบวนการที่ว่านี้รวมไปถึง การใส่ใจ การรับรู้ การเรียนรู้ ความจำ ภาษา การแก้ปัญหา การให้เหตุผล และการคิด

ทั้งหมดที่ว่ามานี้เราสามารถสรุปได้ว่า

 

จิตวิทยาปริชานพยายามศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจการรับรู้ของมนุษย์ผ่านการสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้เรายังสามารถนำความรู้ทางจิตวิทยาปริชานมารวมกับความรู้ทางด้านประสาทวิทยา (cognitive neuroscience) เพื่อทำให้เราสามารถศึกษาการรับรู้ของมนุษย์ผ่านการทำงานของสมองและโครงสร้างของสมองได้อีก

 

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งของหัวข้อในจิตวิทยาปริชาน คือ ความจำ (memory) นักจิตวิทยาปริชานจะทำวิจัยว่า

  • “ทำไมบางเรื่องที่เราอยากจำได้แต่เรากลับลืม”
  • “ในขณะที่เรื่องที่เราอยากลืมเรากลับจำได้แม่นยำ”
  • “จะทำอย่างไรให้เราจำได้ดีขึ้น”
  • “แต่ถ้าบางเรื่องมันกระทบจิตใจเรามาก ๆ จะทำอย่างไรให้เราลืมเรื่องพวกนั้นไป”
  • “ความจำที่เราคิดว่าเราจำได้แม่นยำมาก ๆ เราจำมันได้อย่างที่มันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า”
  • “ความทรงจำของเรามันสามารถบิดเบือนไปได้ไหม”

รวมไปถึงการทำงานของสมองว่า

  • “สมองส่วนใดมีหน้าที่ในการทำงานเกี่ยวข้องกับความจำ”
  • “หากสมองส่วนนี้ได้รับความเสียหายไปทำให้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำลดลงไป จะทำอย่างไรเพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้”

 

เมื่อได้ผลการวิจัยมาก็จะนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยพบว่า หากเราต้องการจำข้อมูลใดให้ได้ เราจะต้องพยายามดึงมันมาใช้บ่อย ๆ เราสามารถนำความรู้นี้มาปรับใช้ในเตรียมสอบได้ กล่าวคือ เมื่อเราทบทวนบทเรียนจบแล้ว การที่เรานำแบบฝึกหัดหรือข้อสอบเก่ามาฝึกทำ เพื่อให้มีเรียกคืนข้อมูลที่เราอ่านไปแล้ว จะทำให้เราจำบทเรียนได้ดีขึ้น

 

 

Brain scheme with circles and icons

 

 

ในปัจจุบันความรู้ทางจิตวิทยาปริชานถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ บริบท เช่น

 

  • การศึกษา ที่ได้นำความรู้ทางจิตวิทยาปริชานมาปรับใช้กับเทคนิคการสอนต่าง ๆ เพื่อทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การทำจิตบำบัด ที่นำความทางจิตวิทยาปริชานมาใช้ในการปรับความคิดและพฤติกรรมในการรักษาโรค
  • การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ การเข้าใจ และการทำงานของสมองได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาอัลกอริทึมแบบระบบเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น Virtual Reality (VR) หรือการจำลองสภาพแวดล้อมจริง ที่นำความรู้เกี่ยวกับการรู้สึกและการรับรู้ในจิตวิทยาปริชานมาใช้

 

จากตัวอย่างที่ว่ามาจะเห็นได้ว่าความรู้ทางจิตวิทยาปริชานสามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายบริบทที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ ความเข้าใจของมนุษย์

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร. พจ ธรรมพีร

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Anonymity – ภาวะนิรนาม

 

 

ความนิรนาม คือ การไม่มีตัวตน การไม่สามารถระบุตัวตนได้

 

ความนิรนามเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนขาดความรู้ตนเอง ทำให้ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์รอบตัวอย่างมีสติ ความคิดและความสามารถในการใช้เหตุผลลดลง ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างซึ่งในเวลาปกติจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนั้น พฤติกรรมเหล่านี้ถูกแสดงออกตามสิ่งเร้าในสถานการณ์อย่างไม่มีการไตร่ตรอง ความรุนแรงของพฤติกรรมจึงมีมากกว่าปกติ

 

ความนิรนามเป็นองค์ประกอบสำคัญของการลดความเป็นตัวตน (deindividuation) คือการที่บุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ความเด่นชัดของตัวบุคคลลดลง เช่น อยู่ในแสงสลัว อยู่ในฝูงชน ใส่หน้ากาก หรือใช้สีทาหน้าตา สภาพการณ์เหล่านี้มักโน้มนำบุคคลให้ทำพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากพฤติกรรมปกติ ซึ่งจะเป็นไปในทางบวกหรือลบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะโน้มนำไปในทางใด

 

กล่าวได้ว่า บุคคลมักกล้าแสดงออกในสิ่งที่ตัวตนจริงไม่กล้าทำเมื่ออยู่ภายใต้ภาวะนิรนาม

 

 

Burkell (2006) ได้แบ่งความนิรนามออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  • ความนิรนามจากการระบุตัว (Identity Protection) คือ การไม่ระบุชื่อ
  • ความนิรนามจากการสังเกตเห็น (Visual Anonymity) คือ การมองไม่เห็นจากอีกฝ่าย
  • ความนิรนามจากพฤติกรรมที่ตนกระทำ (Action Anonymity) คือ การกระทำไม่สามารถรับรู้ถึงผู้กระทำได้

 

การศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ความนิรนามและคุณภาพของความคิดเห็นในเว็บออนไลน์ (Omernick & Sood, 2013) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ใช้ 3 กลุ่ม คือ ผู้ใช้ระบุตัวตน ผู้ใช้ระบุนามปากกา และผู้ใช้ไม่ระบุตัวตน พบว่า ผู้ใช้ระบุตัวตน แสดงความคิดเห็นตรงกับหัวข้อเรื่องมากกว่า มีคำด่าทอและแสดงอารมณ์โกรธน้อยกว่า แสดงความคิดเห็นด้วยความรู้สึกทางบวกมากกว่า แต่ถ้านับจำนวนการแสดงความคิดเห็นต่อบทความ ผู้ใช้ไม่ระบุตัวตนมีการแสดงความคิดเห็นมากกว่า

 

ส่วนการศึกษาการรับรู้ความนิรนามในบริบทการทำงาน (Hackman & Kaplan, 1974) พบว่า การทำงานด้วยความนิรนามมีประโยชน์ในแง่การเพิ่มผลิตผลการทำงาน การสร้างความพึงพอใจในกลุ่มผู้ที่แลกเปลี่ยนความคิดอย่างนิรนาม เนื่องจากช่วยลดความหวั่นในการประเมิน ลดความมีอำนาจ และสถานะแข่งขัน นำไปสู่การมีทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น แต่มีข้อเสียในแง่ การอู้งาน การลดการรับฟังผู้อื่น การลดความเป็นตัวตน และการเข้าสังคมที่ไม่ดี ซึ่งลดประสิทธิภาพของกลุ่มและนำไปสู่ความไม่พึงพอใจในการทำงาน

 

นอกจากนี้ การศึกษาอื่น ๆ พบประโยชน์ของความนิรนาม ได้แก่ ทำให้บุคคลสนใจในเนื้อหาที่พูดมากกว่าตัวบุคคล ความนิรนามทำให้เกิดความอิสระในการพูดในหัวข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหว ทำให้คนกลุ่มน้อยที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างสามารถมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของตน นำไปสู่การมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น มีความคิดเห็นที่หลากหลายมากกว่า ลดความสนใจไปยังตัวบุคคลและลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล ความนิรนามยังมีประโยชน์ต่อความเป็นส่วนตัว ทำให้บุคคลสามารถควบคุมปริมาณหรือขอบเขตที่ผู้อื่นจะเข้าถึงตัวบุคคลได้ ซึ่งส่งผลทางบวกต่อสุขภาวะทางจิต

 

อย่างไรก็ดี ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าความนิรนามทำให้บุคคลลดความตระหนักรู้ในตน และเอื้อให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น ยิ่งในสื่อออนไลน์ที่เป็นพื้นที่เปิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การข่มเหงรังแกทางไซเบอร์ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย ความนิรนามส่งผลต่อการลดความวิตกกังวลในการข่มเหงรังแกผู้อื่น เพิ่มการรับรู้อำนาจ และลดความรับผิดชอบในตนเอง เนื่องจากตนไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากการกระทำของตนเอง บุคคลรับรู้ว่าตนสามารถทำอะไรก็ได้และไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำที่เกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ ในมุมของผู้ถูกกระทำ การถูกรังแกโดยบุคคลนิรนามสร้างผลประทบทางลบให้กับเหยื่อมากกว่า เพราะเกิดความรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย เกิดความหวั่นวิตก รับรู้อำนาจที่ด้อยกว่า และไม่รู้ถึงวิธีการจัดการกับปัญหา

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018

 


 

เรียบเรียงโดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Self-objectification – การประเมินตนเสมือนวัตถุ

 

 

การประเมินตนเสมือนวัตถุ

หมายถึง การที่บุคคลใช้รูปลักษณ์ตัดสินคุณค่าของตนเอง จนละเลยคุณค่าด้านอื่นหรือปัจจัยภายใน เช่น ความคิด อารมณ์ความรู้สึกหรือความต้องการทางร่างกายไป

 

การประเมินตนเสมือนวัตถุมีองค์ประกอบ 3 ด้าน ดังนี้

 

1. การเฝ้าสำรวจภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (Body surveillance)

หมายถึง การเฝ้าตรวจตราทางภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเองว่าเป็นไปตามค่านิยมของสังคมที่กำหนดหรือไม่ และมีการประเมินจากมุมมองของคนอื่น

 

2. ความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (Body shame)

หมายถึง ความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ของตนเองที่ภาพลักษณ์ของตนเองนั้นไม่ได้สวยงามและเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้วางเอาไว้

 

3. ความเชื่อเกี่ยวกับการควบคุมภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (Control belief)

หมายถึง ความเชื่อทางด้านภาพลักษณ์ในร่างกายของตนเองว่าตนเองนั้นสามารถควบคุมให้เป็นไปตามที่มาตรฐานของสังคมได้ตั้งไว้ได้

ด้วยปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม นักจิตวิทยาพบว่า เพศหญิง รวมถึงกลุ่มชายรักชาย มีแนวโน้มที่จะประเมินตนเสมือนวัตถุมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและอยู่ในระหว่างการค้นหาอัตลักษณ์และบทบาทแห่งตน

 

 

ผลกระทบของการประเมินตนเสมือนวัตถุ

 

บุคคลที่มีการเฝ้าสำรวจตนเองทางรูปลักษณ์มากเท่าไร ก็จะทำให้มีโอกาสเห็นข้อจำกัดทางด้านรูปลักษณ์ของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้บุคคลมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์และน้ำหนักของตนเองมาก จึงพยายามที่จะควบคุมน้ำหนักและรูปร่างของตนเองให้เป็นไปตามอุดมคติ เกิดเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติและมีอาการซึมเศร้าที่สูงขึ้นได้

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นคุณค่าในตนเอง การเปิดรับอิทธิพลจากสื่อ การประเมินตนเสมือนวัตถุ และความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายในชายรักชายและชายรักต่างเพศ” โดย พรรณทิพา ปัทมอารักษ์ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59684

 

ภาพจาก https://www.verywellmind.com/eating-disorders-awareness-prevention-4157248

 

Positive Illusions – ภาพลวงตาทางบวก

 

 

ภาพลวงตาทางบวก

 

การเกิดภาพลวงตาทางบวก ประกอบด้วย การเห็นคุณค่าในตนเองสูง หรือมองตนเองในทางบวกเกินจริง การรับรู้ว่าตนมีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เกินความสามารถที่แท้จริงของตนเอง และการมองโลกในแง่ดีว่าในอนาคตจะมีแต่สิ่งดี ๆ เกิดขึ้น

 

การเกิดภาพลวงตาทางบวกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดได้ในบุคคลทั่วไป เราจะมองตนเองตามจริงและมีแนวโน้มไปในทางบวกเกินจริงหรือเกิดภาพลวงตาทางบวกเกี่ยวกับตนเอง ส่วนบุคคลที่มองตนเองไปในทางลบเกินจริงคือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

 

กล่าวได้ว่า การเกิดภาพลวงตาทางบวกนี้เปรียบเสมือนต้นทุนทางจิตให้บุคคลสามารถเผชิญกับอุปสรรคปัญหาและผ่านพ้นไปได้ รวมทั้งส่งผลให้บุคคลมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ขณะที่บุคคลที่มองแต่ความจริงมากเกินไป ไม่มีการสร้างภาพลวงตาทางบวกเลย มีแนวโน้มที่จะมีความทุกข์ จัดระบบตนเองไม่ดี และส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ

 

 

การสร้างภาพลวงตาทางบวกในความสัมพันธ์

 

คือ การสร้างภาพในจินตนาการตามอุดมคติทางบวก และมีอุดมคติที่มาจากความประทับใจต่อคู่รักซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง โดยจะเน้นไปที่ข้อดีของคนรัก และมองข้ามข้อเสียของคนรัก

 

ตัวอย่างเช่น ความจริงของสามีเป็นคนเจ้าชู้ ชอบนอกใจภรรยา แต่สามีมีข้อดีคือหาเงินเก่ง เลี้ยงดูครอบครัวได้ ภรรยามองข้ามข้อเสียเกี่ยวกับความเจ้าชู้ของสามีไป สร้างภาพลวงตาโดยเน้นไปที่ข้อดีคือความสามารถในการดูแลครอบครัวของสามี ภาพลวงตาที่ภรรยาสร้างขึ้นนี้ นักจิตวิทยาพบว่า ทำให้ภรรยารับรู้ว่าสามีดูแลครอบครัวได้ดี มากกว่าที่สามีมองตนเองเสียอีก (Murray & Holmes, 1993)

 

การศึกษาในคู่รักและคู่สมรสหลาย ๆ งานในหลายปีที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ว่า ความพึงพอใจในคนรักและความสัมพันธ์ เกิดมาจากการที่บุคคลสร้างอุดมคติเกี่ยวกับคนรักของตนขึ้นมา เมื่อมีคนรัก บุคคลมักจะมองคนรักไปตามอุดมคติที่ตนสร้างไว้ การสร้างภาพลวงตาทางบวกนี้มีพื้นฐานความจริง จึงเกิดการถ่ายโอนการกระทำทางบวกไปสู่คนรัก คนรักจึงมีพฤติกรรมทางบวกเช่นนั้นตามไปด้วย (Self-fulfilling) นอกจากนี้ การรับรู้ตนเองในทางบวกและมีความสงสัยในตนเองต่ำ ส่งผลให้บุคคลเชื่อว่าพวกเขาจะมีคนรักที่ดีได้ ดังนั้น การรับรู้ตนเอง การรับรู้คนรักตามอุดมคติ และการรับรู้คนรักตามความเป็นจริง จึงมีผลต่อความพึงพอใจทั้งในคนรักและความสัมพันธ์ทั้งสิ้น

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของการมองโลกในแง่ดี ต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ และการผูกมัดในความสัมพันธ์ โดยมีภาพลวงตาทางบวกเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย กุสุมา กาญจนประกิจ (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42676

 

“อิทธิพลของภาพลวงตาทางบวกต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก” โดย สิรินรัตน์ ศรีสรวล (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/76

 

 

Self-fulfilling prophecy – ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง

 

 

ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง

 

คือ การให้คำนิยามที่ผิดพลาดในตอนเริ่มต้นของสถานการณ์ นำไปสู่การกระทำใหม่ ซึ่งทำให้ความคาดหวังในตอนเริ่มต้นนั้นกลายเป็นจริงขึ้นมา นั่นแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมีอิทธิพลต่อแนวทางของเหตุการณ์ ชึ่งทำให้ความคาดหวังที่ผิดพลาดกลายเป็นความจริง

 

[ตัวอย่าง]

ถ้าฉันคิดว่าเธอมีธรรมชาติเป็นคนเป็นมิตรและชอบการสังสรรค์ ฉันจะแสดงเสน่ห์และความน่าชื่นชมของตัวฉันเองออกมาเมื่อฉันกับเธอมีโอกาสใช้เวลาด้วยกันโดยไม่ต้องสงสัย เธอคงจะตอบสนองในทิศทางเดียวกับที่ฉันแสดงออกมา และในบางทีฉันจะสรุปว่าเธอมีความเป็นมิตรและชอบการสังสรรค์ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่ามุมมองของฉันต่อบุคลิกภาพของเธอในตอนแรกที่พบกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

 

ในทางกลับกัน หากฉันเชื่อว่าเธอเป็นคนเย็นชาและทำตัวห่างเหิน เป็นไปได้ที่ฉันจะค่อนข้างรักษาระยะห่างและสงวนท่าทีเมื่อฉันมีปฏิสัมพันธ์กับเธอ และเป็นไปได้เช่นกันว่าเธอก็จะมีปฏิกิริยาตอบฉันด้วยการแสดงความเย็นชาและห่างเหินกับฉัน ซึ่งฉันคงตีความว่าที่ฉันคิดในตอนแรกนั้นถูกต้องแล้ว

 

ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ฉันไม่เคยรู้สึกตัวเลยว่าการแสดงออกของฉันต่อเธอจะเป็นสาเหตุให้เกิดหลักฐานที่จะเติมเต็มความคาดหวังก่อนหน้านี้ของฉัน

 

 

กล่าวโดยสรุป ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง เป็นกระบวนการที่

 

  1. บุคคลมีความคาดหวังเกี่ยวกับบุคคลอื่นหรือเหตุการณ์บางอย่าง
  2. เป็นสาเหตุให้บุคคลแสดงออกในทางที่จะยืนยันหรือสอดคล้องกับความคาดหวังนั้น

 

ปรากฏการณ์นี้เป็นที่สนใจอย่างมากในวงการการศึกษา ซึ่งมีงานวิจัยที่ทำการทดลองเรื่องผลจากความคาดหวังของครูที่มีต่อนักเรียน และพบว่ามีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เช่น การให้ครูได้รับรายชื่อพร้อมคะแนนจากแบบวัดความฉลาดทางปัญญา โดยมีนักเรียนจำนวนหนึ่งในชั้นเรียนมีคะแนนสูงมาก ทั้งที่ตามจริงแล้วคะแนน IQ ดังกล่าวเป็นเพียงการสุ่มของผู้วิจัย แต่หลังจากนั้นอีกแปดเดือน เมื่อให้นักเรียนทำการทดสอบจริง ๆ นักเรียนที่ถูกบอกในตอนต้นว่าเป็นนักเรียนที่ฉลาด ก็มีคะแนนในการทดสอบสูงกว่านักเรียนคนอื่น ๆ ขึ้นมาจริง ๆ

 

เมื่อตรวจสอบในรายละเอียดแล้วพบว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะครูได้ให้ความสนใจกับเด็กที่ถูกสร้างความคาดหวังมากกว่า ให้งานที่ท้าท้ายความสามารถมากกว่า ให้ผลป้อนกลับที่มากกว่าและมีคุณภาพมากกว่า รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กกลุ่มทดลองก็มีคุณภาพมากกว่าด้วย กล่าวคือ ครูแสดงออกในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อนักเรียนที่ครูคาดว่าจะเป็นเด็กฉลาด ท้ายที่สุดเด็กเหล่านี้ก็หลายเป็นเด็กที่ฉลาดขึ้นมาจริง ๆ ทั้งยังสนุกสนานกับการมาโรงเรียนมากกว่าอีกด้วย

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความดึงดูดใจทางกายภาพและปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงในคู่สนทนาต่างเพศผ่านอินเทอร์เน็ต” โดย คเณศ ศิรินภากุล (2546) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6198

 

ภาพประกอบโดย เพจมิติคู่ขนาน
http://www.ookbeecomics.com/authors-and-artists/Phongmanus-Nus/detail-page/14571

 

ทำไมเราจึงกักตุนอาหาร

 

ในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. ที่ COVID-19 เริ่มระบาดในประเทศไทย ผู้คนตื่นตัวกับข่าวสาร ทำให้สินค้าหลายตัวเป็นที่ต้องการอย่างมากจนขาดตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดและป้องกันเชื้อโรค หรืออุปกรณ์วัดไข้ ต่อมาเมื่อมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็ทำนายกันว่าจะมีการล๊อคดาวน์หรือเคอร์ฟิวในไม่ช้า ผู้คนจึงเริ่มกักตุนอาหาร เกิดเป็นภาพชั้นวางของกินในซุปเปอร์มาเก็ตตลอดจนร้านสะดวกซื้อว่างโล่งเพราะพนักงานเติมสินค้าไม่ทัน

 

บทความนี้จะมาชวนดูกันว่าความคิด ความรู้สึกแบบไหน ที่ทำให้คนตื่นตัวที่จะกักตุนสินค้า ในช่วงที่ผ่านมาบ้าง

 

กักตุน (hoard) นอกจากความหมายในพจนานุกรมที่แปลว่า เก็บไว้ในที่ที่กำหนด (กัก) เพื่อไว้ใช้ในอนาคตหรือเวลาขาดแคลน (ตุน) ยังมีความหมายทางกฎหมาย คือ การกักเก็บสินค้าไว้ไม่นำออกมาขายตามปกติเพื่อเก็งกำไรไว้ขายเมื่อสินค้าขาดตลาด ในขณะที่ภาษาอังกฤษ hoard หมายถึง การสะสมจำนวน มาก ๆ ซึ่งมักจะไม่ใช่การสะสมแบบเปิดเผย ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น อยู่ในภาวะสงคราม มีโรคระบาด หรือแค่ไม่ยอมทำความสะอาด หรืออาจมีสาเหตุมาจากอาการทางจิตอื่น ๆ ก็ได้

 

โดยสำหรับสถานการณ์ COVID-19 ก็จะขอให้ ความไม่แน่นอน (uncertainty) เป็นตัวแทนหลักของสถานการณ์นี้ จากการที่เราไม่แน่ใจในข้อมูลเกี่ยวกับโรคและวิถีชีวิตที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการอยู่ การกิน การเรียน การเดินทาง และการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไหนจะมีข่าวจริงข่าวปลอมที่คอยสร้างความกังวลอีกแรงหนึ่ง ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดและความกังวลนี้ แต่ละบุคคลได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน และมีวิธีการและความสามารถในการจัดการกับความเครียดแตกต่างกันออกไป ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ ทำให้เราเหลือตัวเลือกในการจัดการความเครียดได้ไม่มากนัก เช่น เราไม่สามารถไปออกกำลังกาย หรือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงได้เหมือนปกติ เป็นเหตุบังคับให้เราต้องอยู่กับปัญหา และจัดการความเครียดที่ตัวปัญหา ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ ติดตามข่าวสาร และสำรองอาหารของใช้ เมื่อเราเตรียมตัวสำหรับความไม่แน่นอนในอนาคตส่วนหนึ่งแล้ว เราจึงเริ่มหาวิธีผ่อนคลายความเครียดอื่น ๆ เช่น เล่นเกม ฟังเพลง ดูหนังภายในบ้าน เป็นต้น

 

ที่จริงแล้วนักจิตวิทยามองว่า การสำรองอาหารและเครื่องใช้ เป็นวิธีการหนึ่งในการรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตที่เหมาะสม แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาวะอารมณ์ จากความกดดันของสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการซื้อ อาจทำให้เรายอมซื้อของแพงกว่าปกติ หรือซื้อมากกว่าที่เราจำเป็น นักจิตวิทยาเรียกการจับจ่ายภายใต้ความกดดันนี้ว่า panic buying ซึ่งเป็นคำที่ทางนักจิตวิทยายืมมาจากกลุ่มนักลงทุน โดย panic buying ของนักจิตวิทยาจะอธิบายถึงการซื้อที่อยู่ภายใต้แรงกดดัน ยกตัวอย่างความกดดันในสถานการณ์ทั่วไป เช่น การที่เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้ แต่เราชื้อมาเพราะว่ามันมีโปรโมชั่น Flash sale 1 แถม 1 สินค้าจำนวนจำกัด ฯลฯ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าไม่ซื้อตอนนี้จะเสียโอกาส เมื่อเกิดความคิดอย่างนั้นแล้วก็อาจทำให้เสียการไตร่ตรองส่วนอื่น ๆ ไปจนตัดสินใจซื้อสินค้ามา

 

สำหรับความกดดันในสถานการณ์ COVID-19 เราก็จะกดดันเพราะจำเป็นต้องมีมาสก์ เจล และอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยด่วน ไม่เช่นนั้นจะติด COVID-19 ได้ หรือเราจำเป็นจะต้องออกไปซื้ออาหารมาตุนไว้เพราะไม่รู้ว่าห้างจะถูกปิดไหม หรือจะออกจากบ้านไม่ได้ไปอีกนาน เป็นต้น โดยนักจิตวิทยาได้อธิบาย panic buying ในสถานการณ์ COVID–19 ไว้ 3 ลักษณะ

 

  1. เป็นความขัดแย้งระหว่าง ความปรารถนาที่จะรักษากิจวัตรประจำวันปกติไว้ กับ ความไม่แน่นอนของมาตรการต่าง ๆ ที่อาจจำกัดการเข้าถึงเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ว่าจะมีระยะเวลา ถึงเมื่อใด ทำให้เกิดความกังวล จึงซื้อโดยปรารถนาเพื่อรักษากิจวัตรประจำวันไว้ให้ได้นานที่สุด
  2. ความเครียดจากการติดตามข่าวสารรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกในแต่ละวัน ยิ่งมีรายงานติดเชื้ออยู่ในจังหวัดเดียวกับเราหรือใกล้เคียงก็ยิ่งให้ความสำคัญกับการ lock-down มากและยาวนานขึ้น ทำให้ต้องสำรองอาหารและของใช้จำเป็นสำหรับตนเองและคนในครอบครัวให้สอดคล้องกับความเครียดที่มี
  3. เป็นความรู้สึกสูญเสียความควบคุมสถานการณ์ในอนาคต (loss of control about the future) เมื่อไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรจะต้องทำอย่างไรเราก็จะสังเกตว่าคนอื่นทำอย่างไร ทำให้มีพฤติกรรมคล้อยตามไปในทิศทางเดียวกันได้ง่าย โดยเฉพาะปัจจุบันเรารับข้อมูลจากสื่อออนไลน์ได้รวดเร็วและกว้างขวางกว่าสมัยโรคระบาดอื่น ๆ เมื่อเราเห็นภาพผู้คนแออัดตามห้างเพื่อซื้อของใช้ต่าง ๆ เราก็อดตื่นตระหนกไปด้วยไม่ได้

หากจะจับจ่ายในช่วงนี้ก็อยากให้ทุกคนสำรวจความคิด ความรู้สึกตัวเอง ว่าเรามักจะหวั่นไหวตื่นตระหนก จากสื่อต่าง ๆ ที่เรารับเข้ามาหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ต้องใช้ความพยายามในการแยกแยะข่าวจริงข่าวเท็จ ก็ขอให้เรามีความตระหนักรู้ตัวว่าเราเกิดความตระหนกเมื่อใด จากสิ่งใด นอกจากนี้ก็อาจจะลองสำรวจตัวเองว่าของที่ซื้อมาแล้วและวางไว้ยังไม่ได้ใช้ ใครซื้อมา ซื้อมาด้วยความรู้สึกอย่างไร ลำดับความสำคัญของของใช้ประจำวันใหม่ แล้วค่อยใส่หน้ากากพกเจลออกไปจับจ่าย ยิ่งมีคนไปด้วยก็จะช่วยลดความตระหนกได้ระดับหนึ่ง เพราะเราไม่ต้องคิดคนเดียวซื้อคนเดียว มีคนช่วยกันกระตุกช่วยพิจารณา ก็หวังว่าจะจับจ่ายกันอย่างมีสติยิ่งขึ้น ไม่ใช่ช่วยกันตระหนกเป็นสองสามเท่านะครับ

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Sim, K., Chua, H. C., Vieta, E., & Fernandez, G. (2020). The anatomy of panic buying related to the current COVID-19 pandemic. Psychiatry Research, 288, 113015. https://doi.org/10.1016/j.psychres.2020.113015

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณณัฐนันท์ มั่นคง

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชมลูกน้อยอย่างไรให้เหมาะสม

 

การชมเชยบุตรหลานไม่ใช่เรื่องยาก และมีประโยชน์หลายประการ คุ้มค่ากับการใส่ใจแสดงออกถึงการชื่นชมอย่างเหมาะสม โดยประโยชน์ของการชมบุตรหลาน มีดังนี้

 

ประการที่ 1 การชมเชยนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ปกครองได้บ่มเพาะสัมพันธภาพที่ดีกับบุตรหลาน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด เราคงไม่รังเกียจที่จะได้รับเสียงตอบรับทางบวกจากบุคคลใกล้ชิด สำหรับเด็กน้อย การได้รับคำชมเชยจากผู้ปกครองเปรียบเสมือนการหยอดกระปุกเติมสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น และการชมเชยก็ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ตระหนักถึงพฤติกรรมทางบวกที่บุตรหลานมี เป็นการเพิ่มความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อบุตรหลานของตนเองจากการตระหนักรู้นี้

 

ประการที่ 2 การชมเชยช่วยส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของเด็ก และช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ปกครองจะพูดคุยใส่ใจกับเด็กเฉพาะเมื่อเด็กทำผิดหรือมีปัญหา ซึ่งหากผู้ปกครองใส่ใจเด็กเฉพาะเมื่อเด็กทำผิดหรือมีปัญหา จะทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครองเป็นไปในทางลบ เป็นไม้เบื่อไม้เมา จนบางครั้งเด็กบางคนต้องเลือกแสดงพฤติกรรมทางลบ เพื่อที่จะได้มาซึ่งความสนใจจากผู้ปกครอง ทั้งที่โดยง่ายแล้ว ผู้ปกครองสามารถกันไว้ก่อนแก้ โดยการให้ความสนใจและส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของเด็กผ่านการชมตั้งแต่ต้น

 

ทว่า ประเด็นหนึ่งที่พึงระวังก็คือ การชื่นชมนี้จำเป็นต้องเป็นไปอย่างจริงใจ มิได้เป็นการเสแสร้ง หากแต่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมดี ๆ ที่เด็กมี ซึ่งในประเด็นนี้ เราจะต้องมีความเข้าใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย เนื่องจากเป็นการยากที่จะนำมาตรฐานของผู้ใหญ่ไปคาดหวังกับเด็กเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวน้อย หากแต่มีความแตกต่างไปในแง่ของความรู้ ความเข้าใจโลก ความพร้อมทางร่างกาย อารมณ์หรือสังคม

 

ดังนั้น ในการเลือกหาโอกาสชมเชยเด็กนั้น เราควรที่จะลองพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่า บุตรหลานของเราอยู่ในช่วงวัยใด มีศักยภาพด้านต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด เช่น หากรอจะให้คำชมกับบุตรหลานวัย 3-4 ขวบ ที่นั่งนิ่ง ๆ ตามลำพังด้วยตนเองโดยไม่มีของเล่นเป็นตัวช่วยได้นานถึง 15-20 นาที คงจะเป็นความคาดหวังที่สูงเกินไป เพราะเด็กในวัยนี้ยังมีการควบคุมตนเองและรวบรวมความสนใจจำกัด และเช่นเดียวกัน การจะรอเก็บคำชมไว้ให้เด็กในวัยนี้ที่รับประทานอาหารได้อย่างถูกระเบียบไม่หกเลอะเทอะเลยก็คงเป็นเรื่องยาก เมื่อคำนึงว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กและความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือของเด็ก วัย 3-4 ขวบยังพัฒนาไม่เต็มที่ เป็นต้น

 

ประการที่ 3 การแสดงออกถึงการชื่นชมต่อเด็กจะมีส่วนช่วยในการบ่มเพาะให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมทางบวกด้วย ตามหลักจิตวิทยานั้น เรามีความเชื่อว่าการที่คนเราจะเลือกทำพฤติกรรมใด ๆ จำเป็นต้องมีการลงทุนลงแรง หากการลงทุนนั้นนำมาซึ่งผลลัทธ์ที่น่าพอใจ อาทิ ได้รางวัลหรือคำชม เราก็มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมนั้นเพิ่มขึ้น เพราะคุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไป แต่หากลงทุนลงแรงไปแล้ว ไม่ได้มีสิ่งตอบแทนใดตามมา เราก็อาจจะอ่อนล้าหมดกำลังใจที่จะทำพฤติกรรมนั้นต่อไป

 

ในประเด็นของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็กนั้น หากเด็กแสดงพฤติกรรมดี ๆ ออกมา แต่ผู้ปกครองไม่ได้แสดงออกถึงความชื่นชมยินดี ไม่มีผลลัพธ์รางวัลใด ๆ ตามมา มีความเป็นไปได้ว่าเด็กจะสับสนไม่แน่ใจว่าสมควรทำพฤติกรรมนั้นต่อไปหรือไม่ อาทิ เด็กบางคนแสดงพฤติกรรมช่วยเหลือ หากแต่ผู้ปกครองเหนื่อยล้าจนไม่ได้สังเกตเห็น หรือคุ้นชินจนมองข้ามไป ก็อาจจะลังเลที่จะแสดงพฤติกรรมดังกล่าวต่อ นับว่าน่าเสียดายที่ผู้ปกครองไม่ได้มีโอกาสสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสนับสนุนพฤติกรรมที่พึงประสงค์นี้ของเด็ก

 

 

นอกจากนั้น ยังมีแนวทางในการชมเด็ก ซึ่งเริ่มต้นด้วย เมื่อเราสังเกตเห็นพฤติกรรมที่สมควรได้รับการชมเชยของเด็ก เราควรพยายามชมโดยทันที ผ่านการระบุพฤติกรรมนั้นอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น หากเราเห็นบุตรหลานแสดงความช่วยเหลือช่วย ยกข้าวของที่เราหอบหิ้วอยู่ ก็อาจชมเชยโดยกล่าวว่า “ดีมากเลยค่ะที่ช่วยแม่ยกของ” หรือการชมว่า “ทานข้าวเรียบร้อยจริง ใช้ช้อนส้อมสองมือ ข้าวไม่หกด้วย” การชมแบบนี้ จะช่วยระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า พฤติกรรมที่ได้รับความชื่นชมนั้นคือพฤติกรรมใด อันจะเอื้อต่อการที่เด็กเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมนั้นอีกในอนาคต และชัดเจนกว่าการชมลอย ๆ เช่น “หนูเป็นเด็กดีจริง” ซึ่งเด็กอาจจะไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมใดของตนนำมาซึ่งคำชมเชยนี้

 

หากผู้ปกครองมีการชมเชยพฤติกรรมทางบวกของเด็กบ่อยครั้งจนเกิดความชัดเจนกับเด็กแล้ว สามารถย่นย่อหรือแสดงออกในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ การยิ้ม หรือการสัมผัส ผู้ปกครองจะลงรายละเอียดมากเป็นพิเศษเฉพาะในช่วงต้นเท่านั้น และการชมเชยจะพิจารณาช่วงวัยและพัฒนาการของเด็กประกอบ การชมเรื่องการรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนส้อมอาจเป็นประเด็นในเด็กประถมต้น แต่เราคงไม่จำเป็นมุ่งเน้นให้คำชมนี้ในเด็กมัธยมแล้ว

 

กล่าวโดยสรุปคือ ในการแสดงออกถึงความชื่นชมที่เหมาะสมนั้น เราต้องระมัดระวังให้การชมเชยเป็นไปอย่างจริงใจ ไม่เสแสร้ง หากแต่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมดี ๆ หรือคุณลักษณะที่เด็กมีอยู่จริง ในประเด็นนี้ จำเป็นที่เราจะต้องมีตัวช่วย คือความเข้าใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย ทั้งในประเด็นของความคิดความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึก พฤติกรรม และความพร้อมทางร่างกาย เพื่อที่จะได้ตั้งความคาดหวัง และเห็นแนวทางถึงประเด็นที่จะสามารถชมเชยเด็กได้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

 

 

ภาพประกอบจาก : Freepik

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย