ข่าวและกิจกรรม

Stress – ความเครียด

 

 

ความเครียด ในทางจิตวิทยาหมายถึง อาการที่เป็นผลมาจากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายจิตใจและสติปัญญาต่อสิ่งที่มาคุกคาม เป็นภาวะชั่วคราวของความไม่สมดุล ซึ่งเกิดกระบวนการรับรู้หรือการประเมินของบุคคลที่มีต่อสิ่งที่เข้ามาในประสบการณ์ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งคุกคาม โดยที่การรับรู้หรือการประเมินนี้เป็นผลมาจากการกระทำร่วมกันของสภาพแวดล้อมภายนอก ได้แก่ สิ่งแวดล้อมในสังคม การทำงาน ธรรมชาติและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต กับปัจจัยภายในบุคคลอันประกอบด้วย เจตคติ อารมณ์ ลักษณะประจำตัว ประสบการณ์ในอดีต ตลอดจนความต้องการของบุคคลนั้น (Lazarus, 1996)

 

 

สาเหตุของความเครียด


 

กรมสุขภาพจิต (2541) ได้แบ่งสาเหตุของความเครียดไว้ดังนี้

 

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิต เช่น ปัญหาการเงิน การงาน ครอบครัว ที่อยู่อาศัย การเรียน สุขภาพ มลพิษ ความขัดแย้งระหว่างบุคคล ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้บุคคลเกิดความเครียดขึ้น

 

การคิดและประเมินสถานการณ์ของบุคคล เราจะสังเกตได้ว่าคนที่มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ใจเย็น จะมีความเครียดน้อยกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย เอาจริงเอาจังกับชีวิตและใจร้อน อาจรวมถึงบุคลิกภาพเดิมของแต่ละบุคคลที่รู้สึกว่าตนเองมีคนคอยให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา เช่น มีคู่สมรส มีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มีเพื่อนสนิทที่รักใคร่และไว้วางใจกันได้ ก็จะมีความเครียดน้อยกว่าคนที่อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง

 

อาการที่แสดงออกถึงความเครียด


 

Robbins (2000) แบ่งลักษณะผลของความเครียดที่แสดงออกเป็น 3 ทาง ดังนี้

 

ทางร่างกาย – โดยมากอาการเครียดจะแสดงออกทางร่างกาย ซึ่งผลการวิจัยเกี่ยวกับความเครียดโดยผู้วิจัยด้านสุขภาพพบว่า ความเครียดสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกายได้ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ปวดศีรษะและนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ

 

ทางจิตใจ – ความเครียดทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ ความเครียดส่งผลทางด้านจิตใจโดยแสดงออกในรูปแบบของความรู้สึกกดดัน วิตกกังวล โกรธง่าย เบื่อหน่าย และเลื่อนลอย

 

ทางพฤติกรรมเมื่อบุคคลเกิดความเครียดจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การบริโภคเปลี่ยนแปลง สูบบุหรี่หรือดื่มสุรามากขึ้น พูดเร็ว นอนหลับยาก

 

 

ระดับของความเครียด


 

Frain และ Valiga (1979) แบ่งความเครียดออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

 

ระดับที่ 1 ความเครียดในชีวิตประจำวัน – เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นตามปกติ ไม่คุกคามต่อการดำเนินชีวิตและสามารถจัดการกับปัญหานั้นได้ในระยะเวลาอันสั้น ในระดับนี้บุคคลจะร฿สึกถึงความสามารถในการปรับตัวต่อความเครียดเป็นอย่างดี มีการปรับตัวได้ด้วยความเคยชินและเป็นอัตโนมัติ เช่น การเดินทางในสภาพการจราจรติดขัด

 

ระดับที่ 2 ความครียดระดับต่ำ – เป็นความเครียดที่นานๆ ครั้งบุคคลจะได้รับสิ่งคุกคาม อาจเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคล ความเครียดระดับนี้ช่วยให้บุคคลมีความกระตือรือร้นและตื่นตัวอยู่เสมอ ปฏิกิริยาที่แสดงออกเป็นลักษณะแสดงถึงความกังวลเล็กน้อย มีความกลัวหรือความอาย แต่ความเครียดจะหมดไปเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เช่น เกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิต การสัมภาษณ์งาน ฯลฯ

 

ระดับที่ 3 ความเครียดระดับปานกลาง – เป็นความเครียดที่บุคคลได้รับเป็นเวลานาน และไม่สามารถปรับตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว อาจมีพฤติกรรมที่แสดงออกมาในลักษณะของการปฏิเสธ ก้าวร้าว พูดน้อย ซึม เนื่องจากไม่สามารถความคุมเหตุการณ์นั้นได้ เช่น การเปลี่ยนตำแหน่ง การเปลี่ยนงาน การได้รับการผ่าตัด ฯลฯ

 

ระดับที่ 4 ความเครียดระดับรุนแรง – เป็นความเครียดที่บุคคลประสบความล้มเหลวในการปรับตัวต่อเหตุการณ์ที่คุกคามอยู่ตลอดเวลา จนเกิดภาวะหมดกำลังหรือเบื่อหน่ายชีวิตในที่สุด

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ของความเครียด ตราบาป เจตคติในการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตวิทยาและภาวะวิกฤตวัยกลางคนในคนวัยทำงาน” โดย นิศานาถ เรืองเดชสิริพงศ์ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/52348

 

ความหลากหลายในที่ทำงาน

 

ความหลากหลายในที่ทำงาน (Diversity in workplace) เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาเป็นเวลานาน ซึ่งในปัจจุบัน ความหลากหลายไม่ได้เน้นเพียงแค่ความต่างทางเพศ (Gender: ชายและหญิง) อายุ หรือ เชื้อชาติ แต่ประกอบไปด้วยความหลากหลายทางอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ศาสนา สัญชาติ ค่านิยม วิธีการคิด มุมมอง ภูมิหลัง ภาษา ความสามารถ ทักษะ ความสนใจ ความเชื่อทางการเมือง และความต้องการที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ‘ความหลากหลายในองค์กร’ มักจะถูกตีความในด้านลบเนื่องจากปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างของบุคลากร อย่างเช่น การทำงานร่วมกันของคนกลุ่ม Gen Z และ Baby Boomer หรือระหว่างกลุ่มคนไทยและต่างชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

ความหลากหลายของบุคลากรสามารถนำมาซึ่งปัญหาที่ต้องจัดการและแก้ไข ความเชื่อหรือมุมมองที่ไม่ลงรอยอาจทำให้เกิดความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น ระดับศีลธรรมของบุคลากรในที่ทำงานโดยรวมสามารถลดลง หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติงานก็อาจจะต่ำลงเช่นกัน ปัญหาเหล่านี้ทำให้คำว่าความหลากหลายกลายเป็นอุปสรรคต่อองค์กร ยิ่งไปกว่านี้ ปัญหาอาจจะร้ายแรงยิ่งขึ้นเมื่อความขัดแย้งมีสาเหตุมาจากอคติ ความรู้สึกไม่ชอบอีกกลุ่มโดยไม่มีเหตุผล หรือการใช้อำนาจทางสังคมต่อคนกลุ่มน้อย (Minority group members)

 

แต่ในเวลาเดียวกัน องค์กรหลายแห่งกลับมองความหลายหลากเป็นโอกาสในการสร้างประโยชน์ที่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ในมุมมองนี้ ความแตกต่างนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และ ไอเดียที่แปลกใหม่ อาจจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้นเพราะได้ผ่านการกลั่นกรองมาจากหลายมุมมอง การมีส่วนร่วมต่อการทำงานสูงขึ้น และยังทำให้ชื่อเสียงขององค์กรดีขึ้นได้ เมื่อความหลากหลายถูกรับรู้ไปในทางบวกดังตัวอย่างที่กล่าวมา องค์กรก็จะพยายามเพิ่มหรือรักษาความแตกต่างของบุคลากร

 

 

แล้วองค์กรสามารถลดความขัดแย้งที่มาจากความแตกต่างและสร้างประโยชน์จากความหลากหลายแทนได้หรือไม่?

 

ในที่ทำงาน ความแตกต่างสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

 

(1) ความแตกต่างในระดับผิวเผิน (Surface-level dissimilarity) ที่เป็นคุณลักษณะด้านประชากร เช่น เชื้อชาติและอายุ ความแตกต่างนี้มักมองเห็นได้จากภายนอก และ

 

(2) ความแตกต่างในระดับลึก (Deep-level dissimilarity) ที่อธิบายถึงคุณลักษณะทางจิต เช่น ค่านิยม อุปนิสัย และองค์ความรู้ ที่ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง

 

โดยรวม ความแตกต่างในระดับผิวเผินมักทำให้บุคลากรรับรู้ถึงการแบ่งแยกของกลุ่มได้ง่าย เช่น เราเป็นคนไทย คนในกลุ่มของเราคือเพื่อนร่วมงานคนไทย ทำให้เพื่อนร่วมงานที่มาจากประเทศอื่นกลายเป็นคนนอกกลุ่มโดยทันที ความลำเอียงหรืออคติต่อคนอีกกลุ่มสามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ความแตกต่างในระดับผิวเผินเพียงแบบเดียวอาจจะทำให้ความหลากหลายถูกมองเป็นปัญหาสำหรับองค์กรอยู่บ่อยครั้ง

 

แต่แม้บุคลากรมีความแตกต่างในระดับผิวเผินและอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ความเหมือนทางค่านิยมจะช่วยลดผลกระทบทางลบของความแตกต่างนี้ได้ ความเหมือนทางค่านิยม (Value congruence) ที่เป็นคุณลักษณะทางจิตจะกลายเป็นตัวช่วยที่ทำให้บุคลากรผูกพันกับองค์กร สร้างความเชื่อใจระหว่างบุคลากร และลดความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจากการแบ่งกลุ่มได้

 

ดังนั้น องค์กรสามารถสร้างความเหมือนทางค่านิยมให้กับบุคลากรได้โดยผ่านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน และหล่อหลอมบุคลากรให้เข้าใจและยึดถือค่านิยมขององค์กรร่วมกัน เพื่อให้บุคลากรทุกคนมีค่านิยมที่เหมือนกัน ค่านิยมในวัฒนธรรมองค์กรจะช่วยให้บุคลากรมีความเชื่อ ชี้นำพฤติกรรมที่ควรปฏิบัติ และสร้างความหมายของการทำงานร่วมกันได้

 

นอกเหนือจากนี้ องค์กรสามารถจัดการกับความแตกต่างในที่ทำงานโดยสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อความยุติธรรม (Organizational justice) ละทิ้งอคติที่มีต่อกลุ่มคน หรือความเชื่อว่ากลุ่มคนกลุ่มหนึ่งดีกว่าอีกกลุ่ม เพราะการเหมารวมหรืออคติเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ทำให้บุคลากรรับรู้ถึงความไม่ยุติธรรมที่พวกเขาได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินเดือน การเลื่อนขั้น หรือการได้รับโปรเจคที่น่าสนใจมากกว่าโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณลักษณะรายบุคคลว่าบุคคลรายนั้นสมควรได้รับหรือไม่ นโยบายที่ไม่ลำเอียงยังทำให้เกิดความเชื่อใจในองค์กรเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

สุดท้าย ความหลากหลายในที่ทำงานเป็นเรื่องที่องค์กรควรหันมาให้ความสำคัญ ความหลากหลายไม่ได้หมายถึงปัญหาที่จะต้องแก้ไขเพียงอย่างเดียว แต่ความหลากหลายของบุคลากรถือเป็นทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรอย่างมากเมื่อบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม

 

 

 

รายงานอ้างอิง

 

Guillaume, Y. R. F., Dawson, J. F., Otaye-Ebede, L., Woods, S. A., & West, M. A. (2017). Harnessing demographic differences in organizations: What moderates the effects of workplace diversity?. Journal of Organizational Behavior, 38(2), 276-303.

 

Harrison, D. A., Price, K. H., Gavin, J. H., & Florey, A.T. (2002). Time, teams, and task performance: Changing effects of surface- and deep-level diversity on group functioning. Academy of Management Journal, 45(4), 1029-1045.

 

ภาพประกอบจาก https://www.insuranceage.co.uk

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Suicide – การฆ่าตัวตาย

 

 

 

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าแต่ละปี มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 1 คน ทุก 40 วินาที ทำให้การฆ่าตัวตายกลายเป็น 1 ใน 10 สาเหตุของการเสียชีวิตในประชากรโลก สำหรับในประเทศไทย มีผู้ฆ่าตัวตายโดยเฉลี่ยปีละ 5,000 คน หรือทุก 1 ชั่วโมง มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 คน โดยการฆ่าตัวตายสามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัน ตั้งแต่เด็กอายุ 10 ปี ไปจนถึงผู้สูงอายุ 90 ปี ทุกระดับการศึกษา อาชีพ ฐานะ และชนชั้นทางสังคม

 

การฆ่าตัวตายนั้นหมายถึงการที่บุคคลทำร้ายตนเองด้วยวิธีการใดก็ตามด้วยความสมัครใจ โดยมีเจตนาให้ตนเองเสียชีวิต โดยอาจประสบผลสำเร็จในการกระทำนั้นหรือไม่ก็ได้ Curra (1994) ได้แบ่งประเภทของการฆ่าตัวตายไว้ 4 ประเภท ดังนี้

 

  1. การฆ่าตัวตายที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า – มีการเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่พบในเพศชาย โดยใช้วิธีการที่มั่นใจว่าได้ผล เช่น การยิงตัวตาย การใช้ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ และมักประสบความสำเร็จในการฆ่าตัวตายครั้งแรก
  2. การฆ่าตัวตายแบบสองจิตสองใจ – มีความลังเลระหว่างการมีชีวิตอยู่และตาย ส่วนใหญ่พบในวัยรุ่น และมักใช้วิธีการไม่รุนแรง เช่น การเชือดข้อมือ การรับประทานยาเกินขนาด เพื่อเรียกร้องความสนใจจากบุคคลใกล้ชิด
  3. การฆ่าตัวตายเพื่อทำร้ายผู้อื่น – เป็นการฆ่าตัวตายโดยมีเจตนาให้ผลของการฆ่าตัวตายไปทำร้ายจิตใจผู้อื่น มักมีการเขียนจดหมายลาตายบอกให้บุคคลใกล้ชิดรับรู้ถึงสาเหตุของการกระทำ เพื่อให้บุคคลที่ถูกอ้างถึงรู้สึกผิดหรือมีส่วนรับผิดชอบต่อการตายของตน ส่วนใหญ่ใช้วิธีรับประทานยาเกินขนาด หรือทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการรุนแรง ซึ่งมักกระทำสำเร็จในครั้งแรก
  4. การฆ่าตัวตายแบบไม่ตั้งใจ – ผู้กระทำไม่ต้องการให้ตัวเองถึงแก่ความตาย การตายที่เกิดขึ้นมักเป็นผลจากอุบัติเหตุ ผู้กระทำส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการที่ไม่รุนแรง เช่น การรับประทานยาจำนวนไม่มาก

 

 

สาเหตุของการฆ่าตัวตาย


 

ปัญหาการฆ่าตัวตายได้รับความสนใจจากวิชาการในศาสตร์หลายแขนง จึงมีแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก อาทิ

 

ทฤษฎีทางด้านชีววิทยา (biological theories)

เน้นศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยภายในร่างกายของมนุษย์ โดยตั้งข้อสังเกตว่าการฆ่าตัวตายมีสาเหตุจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ

  1. ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม – บุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตาย มีการผ่าเหล่าของรหัสทางพันธุกรรมที่เป็นตัวรับสาร serotonin โดยบุคคลที่มีพ่อแม่หรือพี่น้องร่วมสาลเลือดฆ่าตัวตาย มีโอกาสที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าผู้อื่น 2.5 เท่า
  2. ปัจจัยทางด้านสารสื่อประสาท – การลดลงของสารสื่อประสาท เช่น serotonin, 5-HT และ 5-HIAA รวมถึง dopamine ส่งผลให้การยับยั้งการฆ่าตัวตายหรือยับยั้งความรู้สึกก้าวร้าวรุนแรงบกพร่องไป

 

ทฤษฎีทางด้านจิตวิทยา (psychological theories)

เน้นศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุภายในบุคคลหรือภาวะทางจิตใจ อารมณ์ และกระบวนการคิด รวมทั้งอาการทางจิตเวช ซึ่งมีด้วยกันหลายแนวคิดดังนี้

  1. ทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์ – Menninger ได้ขยายข้อสันนิษฐานของฟรอยด์ที่กล่าวว่าการฆ่าตัวตายเกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณความตายโดยระบุว่า การฆ่าตัวตายเป็นผลมาจาก
    (1) ความปรารถนาที่จะฆ่า
    เป็นความรู้สึกต้องการแก้แค้นผู้อื่นที่อยู่ในใจ เป็นแรงผลักดันก้าวร้าว ซึ่งเกิดจากสัญชาตญาณของการทำลายร่วมกับความไม่พึงพอใจจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก และความโกรธแค้นนั้นย้อนกลับมาทำลายตนเอง
    (2) ความปรารถนาที่จะถูกฆ่า เป็นความรู้สึกผิด เห็นว่าตนเองสมควรได้รับการลงโทษ หรือต้องการหลีกหนีไปให้พ้นจากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่
    (3) ความปรารถนาที่จะตาย
    มีภาวะซึมเศร้า สิ้นหวัง ไม่เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ คิดว่าชีวิตมีแต่ความทุกข์ยากลำบาก จนทำให้หมดกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
  2. ทฤษฎีปัญญานิยม – มุ่งทำความเข้าใจกระบวนการคิดของมนุษย์เป็นสำคัญ เชื่อว่าการฆ่าตัวตายมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของกระบวนการคิด กล่าวคือ บุคคลที่พยายามฆ่าตัวตายมีการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบิดเบือนไปจากความจริง นำไปสู่การรับรู้ที่ผิดพลาด นอกจากนี้ยังมีรูปแบบความคิดที่ไม่ยืดหยุ่น เช่น มองว่าชีวิตเป็นสิ่งน่ากลัว ความตายคือทางเลือกเดียวที่มีอยู่ และมีวิธีการคิดแบบสุดขั้ว จำกัดทางเลือกในวิธีการแก้ปัญหาจึงไม่สามารถจัดการกับปัญหาในชีวิต หรือมีลักษณะการคิดติดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งตลอดเวลา จนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวัง และคิดฆ่าตัวตาย
  3. ทฤษฎีการหลบหนี – อธิบายสาเหตุของการฆ่าตัวตายว่าเกิดจากการที่บุคคลพยายามหลีกหนีจากความรู้สึกเกลียดชังตนเองจนนำไปสู่ความรู้สึกพ่ายแพ้แห่งตน เริ่มจากการประสบเหตุการณ์ทางลบในชีวิต บุคคลไม่มองไปที่สาเหตุภายนอก เอาแต่โทษว่าตนเองไม่ดีพอ ไร้ความสามารถ และรู้สึกผิด เกิดเป็นความรู้สึกเกลียดชังตนเอง และผลักดันให้บุคคลพยายามกำจัดอารมณ์ทางลบเหล่านี้ออกไปโดยเร็วและให้ผลถาวร ประกอบกับบุคคลมีกระบวนการคิดเสียไป จึงไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายหรือผลกระทบในระยะยาว
  4. แนวคิดของนักมรณวิทยา – เชื่อว่าการฆ่าตัวตายมีสาเหตุมาจากความเจ็บปวดทางจิตใจที่มากเกินขีดจำกัดของบุคคล ซึ่งเป็นผลจากการที่บุคคลไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ อาทิ การเป็นที่รัก การยอมรับ การมีส่วนร่วมเป็นเข้าของ ความสามารถในการควบคุมจัดการสิ่งต่างๆ ทั้งนี้ Shneidman ได้สรุปลักษณะร่วมที่สำคัญของการฆ่าตัวตาย 10 ประการ ว่าการฆ่าตัวตายจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้น
    (1) ใช้การฆ่าตัวตายเป็นการแสวงหาทางออกของปัญหา
    (2) เข้าสู่จุดสิ้นสุดของการตระหนักรู้
    (3) ไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ
    (4) รู้สึกสิ้นหวังไร้ที่พึ่ง
    (5) รู้สึกลังเลกับการมีชีวิตอยู่
    (6) รับรู้ต่อทางออกของปัญหาคับแคบลง
    (7) ต้องการหลีกหนี
    (8) ใช้การฆ่าตัวตายเป็นการเรียกร้องความช่วยเหลือ
    (9) มีความก้าวร้าวรุนแรงรวมอยู่ด้วย และ
    (10) มีรู้แบบการแก้ปัญหาในลักษณะเดิมๆ มาโดยตลอด
  5. โมเดลเสียงเรียกร้องความเจ็บปวด – โมเดลนี้พิจารณาการฆ่าตัวตายว่าเป็นพฤติกรรมตอบสนองหรือเสียงเรียกร้องของความเจ็บปวด มากกว่าการร้องขอความช่วยเหลือ (cry for pain, not cry for help) คือเมื่อบุคคลเชิญเหตุการตึงเครียดในชีวิต ไม่สามารถจัดการแก้ไข จนนำไปสู่ความรู้สึกว่าตนเองพ่ายแพ้ บุคคลต้องการหลีกหนีจากความเจ็บปวด เมื่อมีสามารถหลีกหนี รวมทั้งปราศจากแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือ ย่อมทำให้บุคคลรู้สึกสิ้นหวังและพยายามฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา
  6. ทฤษฎีสัมพันธภาพทางจิตใจระหว่างบุคคล – ทฤษฎีนี้เสนอว่า เมื่อบุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคม (อันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์) และเป็นภาระพึ่งพิงผู้อื่น จึงเป็นสาเหตุทำให้บุคคลเกิดความปรารถนาที่จะตาย แต่ความปรารถนาเพียงอย่างเดียวไม่พอ บุคคลต้องมีความสามารถในการทำให้ตนเองบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิตร่วมด้วย การฆ่าตัวตายจึงเกิดขึ้นได้

 

ทฤษฎีทางสังคมวิทยา (sociological theories)

มุมมองทางสังคมวิทยาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสังคม และอิทธิพลของกลุ่มสังคมนั่นเองที่ผลักดันให้บุคคลกระทำการฆ่าตัวตาย Durkheim จึงแบ่งการฆ่าตัวตายออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. การฆ่าตัวตายแบบเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น เกิดจากการที่บุคคลมีความผูกพันกับกลุ่มหรือสังคมมากเกินไป จนกระทั่งยอมเสียสละชีวิตของตนเพื่อผลประโยชน์หรือการคงอยู่ของกลุ่ม เช่น การคว้านท้องตนเอง หรือนักบินกามิกาเซ่
  2. การฆ่าตัวตายแบบยึดตนเอง คือการที่บุคคลมีความยึดติดกับตนเองมาก แต่มีความผูกพันกับกลุ่มหรือสังคมน้อยเกินไป จึงทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจจนมีโอกาสเสี่ยงกับการฆ่าตัวตาย มักพบในสังคมสมัยใหม่ รวมทั้งกลุ่มคนว่างงานและผู้สูงอายุเพศชาย
  3. การฆ่าตัวตายจากการที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางลบ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงทางบวก เช่น การถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่
  4. การฆ่าตัวตายจากการควบคุมที่มากเกินไปของสังคม การถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมากเกินไป ไม่เพียงแต่ทำให้บุคคลสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง แต่ยังทำลายความหวังที่มีในอนาคต ผู้ที่ฆ่าตัวตายในกลุ่มนี้มักได้แก่ ทาส นักโทษ และผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ในชั่ววูบของการฆ่าตัวตาย : การศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยาในผู้ที่ผ่านประสบการณ์การพยายามฆ่าตัวตาย” โดย ขนิษฐา แสนใจรักษ์ (2552) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/17086

 

นักจิตวิทยาบอก “ออกเดินทางไปเที่ยวกันเถอะ”

 

ปลายปีนี้มีวันหยุดยาวหลายวันติดต่อกัน หลายท่านคงมีการเริ่มวางแผนกันไว้แล้วใช่ไหมคะว่าจะเดินทางไปเที่ยวที่ไหนดี บางคนอาจวางแผนจะไปเที่ยวในที่เดิมที่คุ้นเคย ส่วนบางคนก็อาจวางแผนจะไปเที่ยวในที่แปลกใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน แต่ก็อาจมีบางคนก็ยังคิดไม่ออกหรือยังไม่ตัดสินใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ใดๆ ในช่วงวันหยุดปลายปีนี้

 

วันนี้ผู้เขียนบทความอยากจะมาเชิญชวนให้ทุกท่านออกไปเที่ยวกัน โดยเฉพาะการออกเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน เพราะการเดินทางออกไปเที่ยวนอกจากให้ความสุขแก่เราโดยตรงแล้วยังช่วยให้เราพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ได้อีกด้วย (Kashdan, 2018)

ดังนั้น จึงขอเชิญผู้อ่านมาดูกันว่าในมุมมองและงานวิจัยทางจิตวิทยา ข้อดีของการออกไปท่องเที่ยวนั้นมีอะไรบ้างค่ะ

 

 

การเดินทางไปเที่ยวช่วยให้มีความสุขมากขึ้น

 

การเดินทางท่องเที่ยวทำให้เราได้พาตัวเองออกมาจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำให้เราไม่ต้องเจอกองเอกสารบนโต๊ะทำงานหรืองานที่ค้างคาและยังทำไม่เสร็จ ไม่ต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมที่จำเจที่พบเจออยู่ทุกวัน การไปเที่ยวเป็นการปล่อยให้ใจได้พักไปกับบรรยากาศใหม่ๆ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายส่งผลทำให้เรามีความสุขมากขึ้น

 

จากงานวิจัยของ Kumar และคณะ (2014) ศึกษาในกลุ่มนักศึกษาอเมริกัน พบว่าคนที่ใช้เงินไปกับการหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หลากหลายในชีวิต เช่น การออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เป็นคนที่มีความสุขมากกว่าคนที่ใช้เงินไปกับวัตถุสิ่งของต่างๆ เช่น การซื้อรถคันใหม่

 

นอกจากนี้ความสุขที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไปเที่ยวนั้น เป็นความสุขที่ไม่ได้เกิดแค่เพียงระหว่างการเดินทาง และหลังจากการเดินทางเสร็จสิ้นไปแล้วเท่านั้น ในระหว่างที่เรากำลังวางแผนการท่องเที่ยว หรือแม้แต่เพียงแค่คิดว่าจะได้เดินทางท่องเที่ยว ก็ทำให้คนมีความสุขได้แล้ว ซึ่งเป็นความสุขยืนยาวมากกว่าความสุขจากการที่ได้เป็นเจ้าของวัตถุชิ้นใหม่

 

เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Chen และคณะ (2013) ศึกษาในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน พบว่าการเดินทางไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ทำให้มีความสุขมากขึ้น ทำให้เรามีความพึงพอใจในชีวิต มีอารมณ์ทางบวก ไม่มีอารมณ์ทางลบ และความสุขนี้จะคงอยู่ยาวนาน

 

 

การเดินทางไปเที่ยวทำให้เรามีความยืดหยุ่น และอดทนต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น

 

การเดินทางไปในที่แปลกใหม่ หรือเดินทางไปยังประเทศที่ยังไม่เคยไปมาก่อน ทำให้เราต้องประสบพบเจอกับอะไรที่แปลกใหม่ เจอสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเป็นการช่วยให้เราก้าวออกจาก comfort zone ได้ง่ายขึ้น สามารถปรับตัว และปรับใจให้สอดคล้องไปกับสภาพแวลล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น การดูตารางรอบรถไฟผิดพลาด ทำให้เราตกรถไฟหรือขึ้นขบวนรถไฟผิด การได้เจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ในต่างประเทศ ก็จะทำให้เรายอมรับความผิดพลาดได้มากขึ้น ปรับใจให้มีสติ มีความอดทน และยืดหยุ่นกับแผนการเดินทางมากขึ้น

 

Kashdan (2018) กล่าวว่าการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศหรือเมืองใหม่ๆที่ไม่คุ้นเคย จะทำให้บุคคลต้องปรับตัว การปรับตัวนี้ส่งผลให้เรามีความอดทน และยอมรับต่อความไม่สะดวกสบายที่เกิดขึ้น รวมถึงมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองมากขึ้นในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน

 

 

การเดินทางไปเที่ยวทำให้เรารู้จักยอมรับความแตกต่าง ไม่ด่วนตัดสินผู้อื่น และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น

 

การเดินทางทำให้เราต้องพบเจอกับผู้คนที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะการเดินทางใปต่างประเทศ ทำให้เราพบปะผู้คนมีรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างจากเรา มีสีผิว สีผม ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ รูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันจากเรา การที่เราต้องใช้ชีวิตระหว่างการท่องเที่ยวร่วมกับผู้คนที่มีความแตกต่างจากเราอย่างมีความสุข ก็ยิ่งทำให้เราต้องเคารพและยอมรับในความแตกต่างนั้น

 

Crowne (2013) ศึกษาในกลุ่มนักศึกษาชาวอเมริกัน 485 คน พบว่าการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศทำให้คนเรามีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ในบางประเทศ การทานบะหมี่แล้วดูดเส้นบะหมี่ให้มีเสียง จะแสดงว่าบะหมี่นั้นรสชาติอร่อยมาก ในขณะที่วัฒนธรรมบ้านเรา หากทานบะหมี่แล้วมีเสียงดัง จะแสดงถึงการมีมารยาทไม่ดี

 

ดังนั้น การได้เรียนรู้วัฒนธรรม ความเชื่อ หรือวิถีการดำรงชีวิตของกลุ่มคนที่แตกต่างจากเรา ทำให้เราไม่ด่วนตัดสินใครจากภาพที่เห็น เคารพในการกระทำของแต่ละคน เพราะคนแต่ละชนชาติก็มีวิถีชีวิตที่ถูกต้องแล้วในแบบของตนเอง

 

 

การเดินทางไปเที่ยวช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

 

การเดินทางทำให้เราได้เจอกับสิ่งแปลกใหม่ ได้รู้จักผู้คนใหม่ๆ สิ่งนี้เองทำให้เราได้เรียนรู้หรือเห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่แตกต่างออกไปแต่สามารถแก้ไขปัญหาได้เช่นเดียวกัน การได้พบเจออะไรแปลกใหม่นี้ทำให้เราไม่ยิดติดกับกรอบความคิดเดิมๆ การเดินทางไปเที่ยวในที่แปลกใหม่จึงส่งเสริมให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดการแก้ปัญหาหรือการสร้างผลงานชิ้นใหม่ๆ ได้

 

Godart และคณะ (2015) ทำการศึกษาความคิดสร้างสรรค์ในกลุ่มคนทำงานด้านแฟชั่น พบความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างระดับของความคิดสร้างสรรค์กับเวลาที่ใช้ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยหลักที่จะช่วยกระตุ้นให้บุคคลได้สร้างจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น คือการเอาตัวเองไปอยู่อาศัยและใช้ชีวิตร่วมกับสมาชิกที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ (local culture) การเปิดใจกว้างให้ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ทำให้เรานำวิถีที่แตกต่างนี้มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ กับเหตุผลดีๆ ที่คุณควรออกเดินทางไปเที่ยวในมุมมองของนักจิตวิทยา ทุกท่านพร้อมเก็บกระเป๋าเดินทางกันหรือยังคะ ถ้าพร้อมแล้วก็วางแผนจองตั๋วกันเลยค่ะ แค่คิดว่าจะได้เที่ยวแค่นี้…ก็มีความสุขมากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ?

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Chen, Y., Lehto, X. Y., & Cai L. (2013). Vacation and well being: A study of Chinese tourists. Annals of Tourism Research, 42, 284-310.

 

Crowne, K. A. (2013). Cultural exposure, emotional intelligence, and cultural intelligence: An exploratory study. International Journal of Cross Cultural Management, 13(1), 5-22.

 

Godart, F. C., Maddux, W. W., Shipilov, A. V., & Galinsky, A. D. (2015). Fashion with a foreign flair: Professional experiences abroad facilitate the creative innovations of organizations. Academy of Management Journal, 58(1), 195-220.

 

Kumar, A., Killingsworth, M. A., & Gilovich, T. (2014). Waiting for merlot: Anticipatory consumption of experiential and material purchases. Psychological Science, 25, 1924-1931.

 

Kashdan, T. B. (2018, January). The mental benefits of vacationing of somewhere new. Harvard Business Review. Retrieved from https://hbr.org/2018/01/the-mental-benefits-of-vacationing-somewhere-ne

 

ภาพประกอบจาก https://news.unm.edu/news/campus-passport-center-available-for-walk-ins-and-appointments-for-holiday-travel

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Lying – การโกหก

 

 

 

 

การโกหก หมายถึง การที่ผู้พูดบอกข้อมูลเท็จให้กับบุคคลอื่น โดยที่ผู้พูดรู้ว่าไม่ใช่ความจริงทั้งหมด โดยจงใจ

 

วัตถุประสงค์ของการโกหกไม่เพียงเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการหลอกลวงเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้สำเร็จในการโน้มน้าวใจบางสิ่ง นักจิตวิทยา พบว่า มีแรงจูงใจมากมายในการโกหก เช่น รักษาหน้าตา หลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น สร้างความประทับใจ การขอความช่วยเหลือและสนับสนุน รวมถึงเพื่อทำร้ายผู้อื่น (Miller & Stiff, 1993; Kashy & DePaulo, 1996)

 

 

Lindgkold และ Walters (1983) จัดรูปแบบการโกหกเป็น 6 ประเภท โดยเรียงลำกับที่มีการยอมรับมากที่สุดถึงน้อยที่สุด คือ

 

  1. Save others shame – การโกหกเพื่อช่วยผู้อื่นจากความเจ็บปวดที่เล็กน้อย ความอับอาย หรือความละอาย
  2. Protect from punishment – การโกหกเพื่อปกป้องตนเองหรือบุคคลอื่นจากการถูกลงโทษหรือความไม่พอใจ สำหรับการล้มเหลวเล็กน้อย หรือการทำผิดพลาดร้ายแรงจากความสะเพร่าซึ่งทำร้ายบางคน
  3. Influence officials – การโกหกเพื่อที่จะมีอิทธิพลต่อคนอื่นในตำแหน่งหน้าที่การงาน เช่น ในทางที่ได้รับการตอบสนองที่ได้ประโยชน์ต่อตนเอง แต่ไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น
  4. Enhancing appearance and protect gain – การโกหกเพื่อให้ตนเองดูดีกว่าความเป็นจริง หรือปกป้องผลประโยชน์บางอย่าง
  5. Exploitative persuasion – การโกหกเพื่อสิ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าสำเร็จจะทำให้ตนเองได้ประโยชน์
  6. Direct harm, Self-gain – การโกหกเพื่อทำร้ายคนอื่นแต่ตัวเองได้ผลประโยชน์

 

สำหรับงานวิจัยในประเทศไทย รัตนาภรณ์ ปัตลา (2557) ได้แบ่งประเภทการโกหกไว้ 4 รูปแบบ ตามแรงจูงใจเป้าหมาย ดังนี้

 

  1. Altruistic – การโกหกเพื่อช่วยเหลือหรือปกป้องผู้อื่น
  2. Conflict avoidance – การโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจจะมีความขัดแย้งกับผู้อื่น
  3. Social acceptance – การโกหกเพื่อให้เข้ากับผู้อื่นได้ หรือให้คนอื่นดูมีความคิดเห็นเหมือนผู้อื่น
  4. Self-gain – การโกหกเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อตนเอง โดยเฉพาะทางวัตถุนิยม

 

 

ความถี่และมุมมองต่อการโกหก


 

งานวิจัยของ DePaulo และคณะ (อ้างถึงใน Vrji, 2008) พบว่า ผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 147 คน รายงานว่าตนมีการโกหก 1-2 ครั้งต่อวัน และจะเป็นการโกหกเพื่อตนเองมากกว่าโกหกเพื่อคนอื่น ยกเว้นกรณีของคู่รักเพศหญิง ที่จะโกหกเพื่อตนเองและเพื่อคนอื่นพอ ๆ กัน และผู้ร่วมการวิจัยเพศชายมักโกหกเพื่อตนเองกับเพศชายด้วยกัน แต่จะโกหกเพื่อผู้อื่นกับเพศหญิง

 

เมื่อถามถึงมุมมองของการโกหก ผู้เข้าร่วมการวิจัยรายงานว่า พวกเขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องโกหกของตนอย่างจริงจัง และไม่ได้วางแผนอะไรมากมาย หรือไม่ได้กังวลเกี่ยวกับการถูกจับได้ อย่างไรก็ตาม การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมที่ไม่มีการโกหกก็ยังน่าพอใจมากกว่า และช่วยให้มีความใกล้ชิดกันมากกว่า

 

นอกจากนี้ งานวิจัยของ Oliveira และ Levine (2008) พบว่า ผู้ที่มองการโกหกว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้จะเห็นการโกหกเป็นเครื่องมือที่จะนำความสำเร็จทางสังคมหรือความสำเร็จส่วนตนมาสู่ตนเอง พวกเขาจะฝึกโกหกมากกว่าผู้อื่น และยังสำนักผิดน้อยกว่า จริงจังน้อยกว่า แต่ให้ความเข้าใจมากกว่า ส่วนผู้ที่ไม่ยอมรับการโกหก จะโกหกน้อยกว่าและรู้สึกมากกว่า มีความโกรธมากกว่าหากทราบว่าตนถูกโกหก และยังตัดสินคนที่โกหกในแง่ร้ายมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่พบว่า หากเป็นการโกหกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันหรือเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น การโกหกจะได้รับการยอมรับมากขึ้น และวัฒนธรรม รวมถึงประเภทของความสัมพันธ์ระหว่างผู้โกหกและผู้ถูกโกหก (เป็นคู่สมรส เพื่อน หรือคนแปลกหน้า) ก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับการโกหกด้วย

 

 

ความเป็นไปได้ในการโกหก


 

งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและการโกหก พบว่า ผู้ที่มีลักษณะชอบสร้างความประทับใจและชอบเข้าสังคมมีการรายงานการโกหกสูงกว่าผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวต่ำ (Karhy & DePaulo, 1996) ส่วนผู้ที่วิตกกังวลทางสังคมสูงและคนขี้อาย รายงานว่ามีความรู้สึกอึดอัดไม่สบายระหว่างโกหก มีการแสดงท่าทีพิรุธสูง และโกหกไม่ได้นาน (Vrij & Holland, 1998) ตรงข้ามกับผู้ที่มีลักษณะการหาผลประโยชน์จากผู้อื่น จะรับรู้ความสามารถในการโกหกในสถานการณ์ชีวิตประจำวัน และรู้สึกละอายใจเพียงเล็กน้อย และเมื่อต้องโกหกในสถานการณ์ร้ายแรง ผู้ที่มีการหาผลประโยชน์จากผู้อื่นจะรู้สึกสบายใจทั้งก่อนและหลังการโกหก (Gozna, Vrij, & Bull, 2001)

 

นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่พบว่า คนที่มีลักษณะซื่อสัตย์และกล้าแสดงออก มักไม่โกหกเพื่อให้สังคมยอมรับตน รวมถึงจะไม่โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ส่วนบุคคลที่มีลักษณะแมคคาวิลเลี่ยนสูง มักโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และโกหกเพื่อตนเอง ในขณะที่บุคคลที่มีทำตามแรงจูงใจสูงจะโกหกเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคมและเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ส่วนผู้ที่มีความเมตตาสูงจะโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่จะไม่โกหกเพื่อตัวเอง (McLeod & Genereux, 2008)

 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในประเทศไทยเกี่ยวกับการโกหก (รัตนาภรณ์ ปัตลา, 2557) พบว่า ความซื่อสัตย์ไม่สามารถทำนายความเป็นไปได้ในการโกหก แต่สามารถทำนายการยอมรับการโกหกได้ กล่าวคือ สำหรับบุคคลที่มีคะแนนความซื่อสัตย์สูง ไม่สามารถบอกได้ว่าจะโกหกหรือไม่ (อาจขึ้นอยู่กับเรื่องที่จะโกหกหรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้โกหกและผู้ถูกโกหก) แต่ทั้งนี้ ผู้ที่มีคะแนนความซื่อสัตย์สูงมักจะไม่ยอมรับการที่ตนต้องถูกโกหก

 

นอกจากนี้ บุคคลที่มีความเมตตาสูง จะลังเลกับการโกหกเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หากพิจารณาว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือเห็นว่าจะเป็นการช่วยเหลือให้ผู้นั้นกระทำผิด

 

ส่วนผู้ที่มีความกล้าแสดงออกสูงจะไม่โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และไม่กังวลใจต่อการแสดงปฏิกิริยาของตนอย่างตรงไปตรงมา แต่กรณีที่ตนถูกโกหก อาจยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ (รัตนาภรณ์ ปัตลา, 2557) เช่นเดียวกับผู้ที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูง มักจะไม่โกหกเพื่อตนเอง แต่จะโกหกเพื่อคนอื่นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมถึงผู้ที่มีความต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคม ก็จะไม่โกหกเพื่อตนเองและไม่ยอมรับการโกหกเพื่อตนเองเท่าใดนัก (ฉัตรดนัย ศรชัย และคณะ, 2556)

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบมองโลกในแง่ดี บุคลิกภาพแบบเป็นมิตร การเห็นคุณค่าในตนเอง และความต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคมต่อการยอมรับการโกหกและความเป็นไปได้ในการโกหก” โดย ฉัตรดนัย ศรชัย, นชา พัฒน์ชนะ และ สุณิสา พรกิตติโชติเจริญ (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44154

 

“การทำนายความเป็นไปได้ในการโกหกและการยอมรับการโกหกด้วยตัวแปรบุคลิกภาพ” โดย รัตนาภรณ์ ปัตลา (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46443

 

ภาพประกอบจาก https://timedotcom.files.wordpress.com/

 

ความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย

 

ความหลากหลายทางเพศ ทั้งในแง่รสนิยมทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) เป็นประเด็นที่สังคมในหลากหลายประเทศให้การยอมรับมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในปี 2019 มี 28 ประเทศที่กำหนดให้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ขณะที่ประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับเพศที่สาม ก็มีการถกประเด็นพูดคุยเรื่องการผลักดันให้มีการแก้ข้อกฎหมายให้รองรับคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกัน เรียกได้ว่า เราอาจจะเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการแสดงออกว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงในอีกไม่นาน

 

อย่างไรก็ตาม ความหมายของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คำศัพท์บางคำในอดีตก็มีความหมายที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้ในการสื่อสารระหว่างบุคคลทั้งทางวาจาและผ่านงานเขียนอาจมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่บัญญัติขึ้นบางคำก็ยังไม่มีคำศัพท์ในภาษาไทยที่สื่อความได้อย่างชัดเจนหรือไม่เป็นที่แพร่หลาย สิ่งนี้เป็นประเด็นที่เราควรเริ่มให้ความสำคัญ เนื่องจากบางครั้งการใช้คำที่เราคุ้นเคยจากประสบการณ์ในอดีตอาจสื่อความไปในทางลบ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผู้รับสารได้

 

วันนี้ทางคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงรวบรวมคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ และความหมาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ตรงกันและหลีกเลี่ยงการใช้คำที่มีความหมายทางลบในเชิงเหยียดต่อรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศต่อบุคคลอื่น เริ่มจากการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างรสนิยมทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)

นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์ที่กำกวมและถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือชาว LGBTQ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายในทางลบหรือเชิงเหยียดรสนิยมทางเพศและไม่ควรนำมาใช้ เพื่อเป็นการเคารพในสิทธิมนุษยชนของทุกเพศอันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของทุกคนในสังคม

 

ตัวอย่างคำที่ไม่ควรใช้ คือ คนเบี่ยงเบนทางเพศ รักร่วมเพศ สาวประเภทสอง สายเหลือง ไส้เดือน คุณแม่ ซิส ประเทือง แต๋ว เก้ง กวาง ขุดทอง เป็นต้น

 

 

อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)

คือ การรับรู้เพศของบุคคลนั้นที่มีต่อตนเอง ว่ามีความเป็นเพศใดในกลุ่มทางเพศของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ โดยที่แต่ละสังคมก็มีกลุ่มทางเพศที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิด เช่น เด็กชาย เด็กหญิง ผู้ชาย ผู้หญิงหรือเพศอื่น ๆ ไม่นับรวมถึงความสนใจหรือความชอบทางเพศต่อบุคคลอื่น ๆ

 

เพศกำเนิด (sex หรือ biological sex)

คือ เพศที่ถูกกำหนดโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ จากอวัยวะสืบพันธุ์ โครโมโซม และฮอร์โมนต่างๆ แบ่งได้เป็น ชาย หญิง หรือ ภาวะเพศกำกวม

 

เพศ (gender)

คือ สถานะทางเพศที่เกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยา พฤติกรรม สังคมและวัฒนธรรม โดยแบ่งเป็น ลักษณะความเป็นชาย (masculinity) และลักษณะความเป็นหญิง (femininity)

 

Cisgender

คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง (เช่น การแต่งกายและพฤติกรรมท่าทาง) ตรงกับเพศกำเนิด ได้แก่

คนที่เกิดมามีเพศหญิง – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้หญิง และแสดงลักษณะท่าทางเป็นหญิงผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง

คนที่เกิดมามีเพศชาย – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง

 

Transgender
(คำที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคือ ผู้หญิงหรือผู้ชายข้ามเพศ)

คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง (เช่น การแต่งกายและพฤติกรรมท่าทาง) ไม่ตรงกับเพศกำเนิดอย่างสิ้นเชิง รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศด้วย ได้แก่

Trans men คนที่เกิดมามีเพศหญิง – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ชาย และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง อาจมีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ เช่น การตัดเต้านม หรือการเสริมอวัยวะเพศชาย

Trans women คนที่เกิดมามีเพศชาย – รับรู้ว่าตนเองเป็นผู้หญิง และแสดงลักษณะท่าทางเป็นชายผ่านการแต่งตัวหรือท่าทาง อาจมีการทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ เช่น การเสริมเต้านม หรือการตัดอวัยวะเพศชาย

 

Genderqueer

คือ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ ที่มากกว่าการแสดงออกเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง หรือบางครั้งไม่ใช่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรืออยู่ตรงกลางระหว่างผู้ชายและผู้หญิง

 

 

รสนิยมทางเพศ (sexual orientation)

คือ ความสนใจหรือความชอบทางเพศที่บุคคลมีต่อบุคคลอื่น ประกอบไปด้วย ความสนใจหรือความชอบทางอารมณ์ ความสนใจหรือความชอบทางเพศ และพฤติกรรมทางเพศที่บุคคลแสดงออก โดยเมื่อก่อนมีการจัดกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ Homosexual หรือกลุ่มคนที่รักหรือชอบเพศเดียวกัน และ Heterosexual หรือ กลุ่มคนที่รักหรือชอบเพศตรงข้าม (ชายรักหญิง และหญิงรักชาย) ในปัจจุบันสองคำนี้ไม่ได้ถูกใช้เป็น คำที่เรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

LGBTQ

(คำที่คนไทยทั่วไปยังใช้เรียกคือ เพศที่สาม)

คือ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มที่คนที่มีความสนใจหรือความชอบทางเพศที่หลากหลาย เช่น คนที่ระบุว่าตนเองเป็น เกย์ เลสเบี้ยน ไบ และคนที่ยังค้นหาความชอบทางเพศของตนเอง

 

เลสเบี้ยน (lesbian)

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้หญิง และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อผู้หญิง รวมถึงกลุ่ม ทอมและดี้

 

เกย์ (gay)

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้ชาย และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อผู้ชาย

 

ไบ (bisexual)

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และมีความสนใจและความชอบทางเพศ และ/หรือมีพฤติกรรมทางเพศต่อคนที่เป็นเพศเดียวกับตนเอง หรือเพศอื่นๆ โดยที่มาคือคำว่า bi ไม่ได้แปลว่าสองอย่างตรงตัว แต่แปลว่ามากกว่าหนึ่ง เช่น ผู้หญิงที่เป็นไบ (bisexual women) อาจมีความสนใจและความชอบทางเพศต่อผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ หรืออื่นๆ

 

เควียร์ (queer)

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่มีรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกที่สะท้อนเพศของตนเอง ที่ไม่เป็นไม่ตามบรรทัดฐานของสังคม เดิมทีการใช้คำนี้แสดงถึงความเหยียดรสนิยมทางเพศของกลุ่ม LGBTQ แต่ในปัจจุบันชาว LGBTQ นำกลับมาใช้เพื่อแสดงถึงสิทธิในการเลือกใช้คำที่สะท้อนความเป็นตัวตน

 

Questioning

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่ยังอยู่ในช่วงค้นหาความสนใจหรือความชอบทางเพศ รวมไปถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง

 

Asexual

คือ คำที่ใช้เรียกของคนที่ไม่มีความสนใจหรือความชอบทางเพศต่อเพศอื่น ๆ ต่างจากภาวะหมดสมรรถภาพทางเพศ

 

 

ดังที่กล่าวว่าภาษานั้นเป็นสิ่งที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ความหมายในยุคสมัยหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ในอีกยุคสมัยหนึ่ง อีกทั้งความรู้สึกต่อถ้อยคำต่าง  ๆ ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคลและการรับรู้เจตนาของผู้ส่งสาร แต่ในบริบทที่เป็นทางการ เป็นสาธารณะ หรือเป็นการสื่อสารที่ไม่อาจคาดเดาขอบเขตการยอมรับของผู้รับสารได้ การระมัดระวัง…ด้วยตระหนักในสิทธิและในเกียรติของกันและกัน จะช่วยทำให้สังคมของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณรพินท์ภัทร์ ยอดหล่อชัย

นิสิตปริญญาโท แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

อยู่ก่อนแต่ง: ในบริบททางจิตวิทยา

 

เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ภารกิจที่เกิดขึ้นเป็นประจำของช่วงวัยดังกล่าว คือการไปร่วมงานมงคลสมรส หรืองานแต่งงานของเพื่อน ๆ หากแต่ว่าในคู่รักหลาย ๆ คู่ เลือกที่อยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน (premarital cohabitation) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้นทั้งในสังคมสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รวมทั้งประเทศไทย

 

สำหรับความหมายของการอยู่ก่อนแต่ง คือการตกลงใจที่จะอาศัยอยู่และใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสหรือพิธีแต่งงาน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าค่านิยมดังกล่าว แม้เคยไม่เป็นที่ยอมรับเพราะขัดกับจารีตประเพณี แต่กลับพบได้มากยิ่งขึ้นในสังคมไทย ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาถึงรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวในบริบททางจิตวิทยาให้มากยิ่งขึ้น

 

ความสัมพันธ์ในรูปแบบดังกล่าวมักถูกเชื่อมโยงกับผลทางลบต่อชีวิตคู่หลังแต่งงาน จึงมีงานวิจัยจำนวนที่พยายามศึกษาผลของความรักดังกล่าว โดยจากงานวิจัยต่างประเทศพบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ชีวิตร่วมกันก่อนแต่งงานและคุณภาพของการแต่งงาน โดยเมื่อเทียบกับคู่รักที่แต่งก่อนอยู่ พบว่าคู่ที่อยู่ก่อนแต่งมักมีความพึงพอใจในการแต่งงานต่ำกว่า มีการทะเลาะวิวาท ความขัดแย้งและการนอกใจที่สูงกว่า และนำมาซึ่งอัตราการหย่าร้างที่สูงกว่าอีกด้วย ผลเสียดังกล่าวจึงถูกเรียกว่าเป็นผลของการอยู่ก่อนแต่งงาน (Cohabitation effect)

 

อย่างไรก็ตามการอยู่ก่อนแต่งย่อมต้องมีคุณประโยชน์ หรือเหตุผลที่สำคัญบางประการ มิฉะนั้นเทรนด์ดังกล่าวคงไม่แพร่หลายอย่างมากในโลกปัจจุบัน จากข้อสรุปของนักจิตวิทยาพบว่า เหตุผลที่คู่รักเลือกอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย 3 สาเหตุสำคัญ ดังนี้

 

  1. การอยู่ก่อนแต่งเพราะต้องการใช้เวลาอยู่ด้วยกัน (time together) เป็นความปรารถนาที่คู่รักอยากมีเวลา, ใช้เวลาร่วมกันมากยิ่งขึ้น เพิ่มความใกล้ชิด เติมความหวานกับคนรักมากขึ้น
  2. การอยู่ก่อนแต่งเพื่อความสะดวก (convenience) เป็นการอยู่ร่วมกันเพื่อเกื้อหนุนหากคู่รักของตน ไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยของตนเองได้ เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย หรือเพื่อความสะดวกสบาย
  3. การอยู่ก่อนแต่งเพื่อทดลองความสัมพันธ์ (testing) เป็นการอยู่ร่วมกันเนื่องจาก คู่รักต้องการพิสูจน์หรือเกิดความสงสัยว่าความสัมพันธ์ที่มีจะเป็นความรักที่ยาวนาน สามารถอยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีปัญหา เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจก่อนที่จะแต่งงานกันในที่สุด

 

ดังนั้นการอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงานจึงอาจเป็นประโยชน์ในแง่ของการได้รู้จักคนรักของตนเองมากยิ่งขึ้น ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายบางประการ รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมสู้การแต่งงานในที่สุดนั่นเอง และมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าความเชื่อมโยงระหว่างการอยู่ก่อนแต่งและผลเสียของมันนั้นลดน้อยลงไปแล้ว

 

 

ดังนั้นแล้วคู่รักในยุคปัจจุบันควรเลือกตัดสินใจอย่างไรดี?

 

ก่อนตอบคำถามดังกล่าว มีงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ Rosenfeld และ Roesler ในปี 2019 ซึ่งศึกษาข้อมูลของคู่รักในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2015 พบข้อมูลที่ช่วยให้เห็นภาพว่า การอยู่ก่อนแต่งงานนั้นให้คุณประโยชน์กับคู่รักในปีแรกเพียงเท่านั้น แต่กลับส่งผลเสียในปีถัดไป กล่าวคือในปีแรกของการแต่งงาน คู่รักที่เคยอยู่ก่อนแต่งจะมีสัดส่วนการหย่าร้างต่ำกว่าคู่รักที่อยู่หลังแต่ง เนื่องจากพวกเขาสามารถปรับตัวและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงชีวิตเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกัน ในขณะที่คู่รักที่มาอยู่ด้วยกันหลังแต่งงานกลับเผชิญภาวะช๊อค หรือปรับตัวไม่ทันเมื่อต้องอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันจึงมีความเสี่ยงการหย่าร้างในช่วงแรกสูงกว่า แต่เมื่อผ่านปีแรกของการแต่งงาน คู่รักที่อยู่ก่อนแต่งจะกลับมาเสี่ยงต่อการหย่าร้างสูงแทน

 

ที่เป็นเช่นนั้นอาจมองได้ว่า การอยู่ก่อนแต่งเปลี่ยนมุมมองความคิดของคู่รักว่าความรักโรแมนติกเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนและไม่สำคัญ หรือเป็นที่ลักษณะบุคคลนั้นเองที่ชอบความเป็นอิสระ ไม่เคร่งศาสนา เมื่อความสัมพันธ์มีปัญหาจึงยุติและจบความสัมพันธ์ได้ง่ายกว่า

 

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวจึงเป็นงานชิ้นล่าสุดที่ช่วยให้เห็นถึงคุณและโทษของการอยู่ก่อนแต่งงาน แต่ทว่าสำหรับในประเทศไทย งานวิจัยที่เกี่ยวกับชีวิตสมรสนั้นอาจยังมีไม่มากนัก จึงไม่อาจสรุปได้ว่าคู่รักที่อยู่ก่อนแต่งงาน จะเผชิญสิ่งต่าง ๆ เหมือนกับของต่างประเทศหรือไม่ หรือการอยู่ก่อนแต่งหรือแต่งก่อนอยู่ สิ่งใดจะทำให้ความรักจีรังยั่งยืนกว่ากัน เพราะปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของชีวิตคู่ มีหลายปัจจัย ทั้งภูมิหลัง ลักษณะความสัมพันธ์ ตัวคนรัก และตัวของท่านเอง ว่าจะประคองความสัมพันธ์ต่อไปเช่นไร

 

“เพราะชีวิตคู่ไม่มีสูตรสำเร็จ คงต้องขึ้นอยู่ที่คนสองคน จะช่วยกันปรุงแต่งความสัมพันธ์ให้ออกมาเป็นอย่างไรครับ”

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

DiDonato, T. E. (2014, July 25). Should you move-in together, or not? Surprising facts about relationship quality and pre-marital cohabitation. Retrieved from http://www.psychologytoday.com/intl/blog/meet-catch-and-keep/201407/should-you-move-in-together-or-not

 

Rhoades, G. K., Stanley, S. M., & Markman, H. J. (2009). Working with cohabitation in relationship education and therapy. Journal of Couple & Relationship Therapy, 8(2), 95-112.

 

Rhoades, G. K., Stanley, S. M., & Markman, H. J. (2009). Couples’ reasons for cohabitation: Associations with individual well-being and relationship quality. Journal of Family Issues, 30(2), 233-258.

 

Rosenfeld, M. J., & Roesler, K. (2019). Cohabitation experience and cohabitation’s association with marital dissolution. Journal of Marriage and Family, 81(1), 42-58.

 

Stanley, S. M. (2018, November 3). Living together before marriage may raise risk of divorce: Is living together before marriage associated with risk in marriage or not? Retrieved from http://www.psychologytoday.com/intl/blog/sliding-vs-deciding/201811/living-together-marriage-may-raise-risk-divorce

 

ภาพประกอบจาก https://www1.cbn.com/cbnnews/us/2018/october/study-couples-who-live-together-before-marriage-are-at-greater-risk-of-divorce-nbsp

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพลักษณ์ของกลุ่มสังคมตามระดับความอบอุ่นและความสามารถ

 

นักจิตวิทยาสังคมได้ศึกษาการรับรู้ภาพลักษณ์ของกลุ่มสังคมหรือภาพเหมารวมทางความคิด (stereotype) เป็นเวลานาน โมเดลหนึ่งที่ได้รับความสนใจคือ Stereotype Contents Model (Fiske, Cuddy, Glick & Xu, 2002) โมเดลนี้อธิบายว่ากลุ่มต่างๆ ในสังคมถูกจัดแบ่งตามการประเมินบุคลิกภาพ 2 มิติ ได้แก่ มิติความอบอุ่น (warmth dimension) และมิติความสามารถ (competence dimension)

 

มิติความอบอุ่นครอบคลุมลักษณะเกี่ยวกับความเป็นมิตร การชอบเข้าสังคมและการมีคุณธรรมจริยธรรม มิตินี้สะท้อนความเชื่อว่ากลุ่มนี้แนวโน้มในการร่วมมือเพียงใด เป็นตัวบ่งชี้ว่ากลุ่มใดจะเป็นมิตร กลุ่มใดจะเป็นศัตรู

 

มิติความสามารถครอบคลุมลักษณะเกี่ยวกับความรู้ ความฉลาด ทักษะต่างๆ มิตินี้สะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับสถานะทางสังคมของกลุ่ม เป็นตัวบ่งชี้ระดับความสามารถในการแข่งขันของกลุ่ม

 

เมื่อใช้โมเดลนี้ศึกษาภาพลักษณ์ของกลุ่มสังคมในสหรัฐอเมริกา (Fiske et al., 2002) พบว่ากลุ่มต่างๆ ถูกประเมินว่ามีระดับความอบอุ่นและความสามารถที่ไม่เท่ากัน แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้

 

  1. กลุ่มที่ได้รับความนิยมชมชอบ (Admiration group) กลุ่มนี้มีสถานะทางสังคมที่สูงมาตั้งแต่อดีต มีอำนาจ เข้าถึงทรัพยากรของสังคมได้อย่างง่ายดาย ทำคุณประโยชน์ในสังคม จึงได้รับการประเมินว่าอบอุ่นสูงและมีความสามารถสูง เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นมิตร เอื้อเฟื้อ เก่ง มีความรู้ความสามารถ เป็นที่น่าไว้ใจของสังคม ชาวอเมริกาผิวขาวที่เกิดในประเทศ ชาวคริสต์ถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มนี้
  2. กลุ่มที่ได้รับการกดขี่ข่มเหง (Contemptuous group) เป็นกลุ่มคู่ตรงข้ามกับกลุ่มแรก คือเป็นกลุ่มที่มีสถานะทางสังคมต่ำมาตั้งแต่อดีต ไม่มีช่องทางในการเข้าถึงทรัพยากรของประเทศ และไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้สังคมได้ จึงได้รับการประเมินว่าอบอุ่นต่ำและความสามารถต่ำ เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าไร้สมรรถภาพ เป็นปฏิปักษ์ ไม่น่าเข้าใกล้ เชื่อถือไว้ใจไม่ได้ กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนที่พึ่งพาสวัสดิการของรัฐ กลุ่มคนแอฟริกันอเมริกันถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้
  3. กลุ่มที่ได้รับการโอบอุ้ม (Paternalistic group) เป็นกลุ่มที่เข้าถึงทรัพยากรในสังคมได้อย่างจำกัด แต่ไม่ได้เป็นภยันตรายในสังคม เนื่องจากไม่มีพลังจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิใดๆ จึงได้รับการประเมินว่ามีความอบอุ่นมากกว่าความสามารถ เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นมิตรแต่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น กลุ่มผู้สูงวัยและผู้ป่วยทั้งทางกายและทางจิตเวชถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้
  4. กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ได้รับการเพ่งเล็ง (Envious group) เป็นกลุ่มที่มีอำนาจ มีสถานะสูง สามารถเข้าถึงทรัพยากรในสังคมได้ แต่เอารัดเอาเปรียบไม่แบ่งปันทรัพยากรของตนกับผู้อื่นในสังคม จึงได้รับการประเมินว่าความสามารถสูงกว่าความอบอุ่น ตรงข้ามกับกลุ่มที่ได้รับการโอบอุ้ม เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเก่ง ความสามารถสูง แต่เห็นแก่ประโยชน์ของตน ขาดจริยธรรม กลุ่มเศรษฐี ชาวเอเชี่ยนอเมริกันและชาวยิวถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้

 

 

ในสังคมไทยนั้นยังไม่ได้นำโมเดลนี้มาใช้ศึกษาการรับรู้ภาพลักษณ์ของกลุ่มอย่างเต็มระบบ มีเพียงงานวิจัยโดยนิสิตคณะจิตวิทยา หลักสูตรนานาชาติเมื่อปีที่แล้วเท่านั้น (กัณฑเดช ลาภพรหมรัตน และชัญญา ไช่, 2561) ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 146 คนรายงานภาพเหมารวมทางความคิดเกี่ยวกับแพทย์ คณาจารย์จุฬาฯ นิสิตจุฬาฯ นักการเมือง (โดยรวม ไม่ระบุพรรค) ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจิตเภท ผู้ป่วยซึมเศร้าและคนไร้บ้าน พบว่าแต่ละกลุ่มได้รับการประเมินว่ามีความอบอุ่นและความสามารถในระดับที่แตกต่างกันไป (คะแนนเฉลี่ย 3 ถึง 5.7 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน)

แพทย์และคณาจารย์จุฬาฯได้รับการประเมินว่าอบอุ่นและมีความสามารถสูงกว่ากลุ่มอื่น คะแนนความอบอุ่นใกล้เคียงกับคะแนนความสามารถ จึงจัดว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมชมชอบในสังคมไทยได้

 

ผู้สูงอายุได้รับการประเมินว่ามีความอบอุ่นมากกว่ามีความสามารถเล็กน้อยจึงค่อนข้างใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับการโอบอุ้ม

 

นักการเมืองได้รับการประเมินว่ามีความสามารถมากกว่าความอบอุ่นจึงกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการเพ่งเล็ง

 

คนไร้บ้านได้รับการประเมินว่าอบอุ่นและมีความสามารถต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ ประกอบกับคะแนนความอบอุ่นและความสามารถของกลุ่มนี้ที่สูงพอ ๆ กัน จึงใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับการกดขี่ข่มเหงที่สุดในกลุ่มที่ได้รับการศึกษาในครั้งนี้

 

สำหรับผู้ป่วยจิตเภทและซึมเศร้านั้น ได้รับการประเมินว่าอบอุ่นและมีความสามารถมากกว่าคนไร้บ้านแต่ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ คะแนนความอบอุ่นไม่ต่างกับคะแนนความสามารถ จึงค่อนข้างใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับการกดขี่ข่มเหง

 

จะเห็นได้ว่าสังคมไทยไม่ได้แบ่งแยกกลุ่มสังคมชัดเจนเท่าในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การศึกษานี้เป็นเพียงการศึกษานำร่อง กลุ่มที่ใช้ในการศึกษาไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มในสังคม อีกทั้งกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อย จึงควรมีการศึกษาต่อไป ผู้อ่านสามารถเสนอชื่อกลุ่มที่ท่านคิดว่ามีความอบอุ่นและความสามารถในระดับต่างกันในคอมเมนต์ได้เลยค่ะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Fiske, S. T., Cuddy, A. J., Glick, P., & Xu, J. (2002). A model of (often mixed) Stereotype Content: Competence and warmth respectively follow from perceived status and competition. Journal of Personality and Social Psychology, 82(6), 878-902.

DOI: 10.1037//0022-3514.82.6.878

 

Lappromrattana, K. & Tsai, C. (2018). Stereotype and Discrimination among Thais from Different Generations (Unpublished undergraduate research). Faculty of Psychology, Chulalongkorn University: Thailand.

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

องค์กรของคุณกำลังบริหารด้วยความกลัวอยู่หรือเปล่า?

 

หากย้อนไป 15 ถึง 20 ปีที่แล้ว โนเกีย (NOKIA) เป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับหนึ่งของโลก คงไม่มีใครคิดเลยว่า ปัจจุบันเมื่อพูดถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่กลับแทบไม่มีคนนึกถึงแบรนด์โนเกียอีกต่อไปแล้ว

 

 

เกิดอะไรขึ้นกับโนเกีย?

จากงานวิจัยเชิงคุณภาพที่สัมภาษณ์เชิงลึกอดีตผู้จัดการและวิศวกรของโนเกียรวม 76 คน พบว่าในช่วงที่โนเกียตกต่ำจนพ่ายแพ้แอปเปิ้ลและกูเกิ้ลในสงครามสมาร์ทโฟน (ค.ศ. 2005 – 2010) นั้น บรรยากาศในองค์กรคุกรุ่นไปด้วย “ความกลัว” (Vuori & Huy, 2015)

 

ขณะนั้นแอปเปิ้ลและกูเกิ้ลกำลังลงทุนมหาศาลกับการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต่อมากลายเป็นระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ผู้บริหารระดับสูงของโนเกียซึ่งเป็นเจ้าตลาดโทรศัพท์แบบปุ่มกดจึงกดดันให้วิศวกรและผู้บริหารระดับกลางเร่งสร้างโทรศัพท์แบบหน้าจอสัมผัสให้เร็วที่สุด

 

ผู้บริหารระดับกลางและวิศวกรของโนเกียรู้ว่าเป้าหมายนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะเทคโนโลยีที่โนเกียมีอยู่ในขณะนั้น พัฒนาให้กลายเป็นโทรศัพท์แบบหน้าจอสัมผัสได้ยาก การวิจัยและพัฒนาระบบใหม่จะต้องใช้เงินสูงมากและใช้เวลานานกว่าที่ผู้บริหารกำหนดหลายปี แต่ไม่มีใครกล้ารายงาน “ข่าวร้าย” นี้กับฝ่ายบริหารระดับสูงอย่างตรงไปตรงมา ได้แต่พยายามพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีเดิมต่อไป จึงเป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ ให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าใจไปว่า น่าจะพัฒนาระบบเดิมเพื่อสร้างโทรศัพท์แบบหน้าจอสัมผัสได้สำเร็จในเร็ววัน

 

 

ความกลัวมาจากไหน และส่งผลอย่างไรกับโนเกีย?

 

ผู้บริหารระดับกลางและวิศวกรที่ให้สัมภาษณ์รายงานว่า ประธานและผู้บริหารของโนเกียในขณะนั้น เป็นคนเจ้าอารมณ์มาก มักเห็นเขาตะคอกพนักงานเป็นประจำ คนที่ไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผลของผู้บริหารระดับสูงจะถูกเรียกว่า “พวกขี้แพ้” ถูกตำหนิให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ว่าไม่เก่งและไม่ทะเยอทะยานมากพอที่จะทำงานให้ได้ตามเป้าที่ผู้บริหารตั้งไว้ มีการขู่ว่าจะไล่ออกหรือลดตำแหน่งอยู่บ่อย ๆ ผู้ให้สัมภาษณ์รายหนึ่งเล่าว่า เขาคุยกับเพื่อนที่เป็นผู้บริหารระดับกลางว่าน่าจะทักท้วงการตัดสินใจของผู้บริหาร แต่ได้รับคำตอบว่า “ผมไม่กล้าหรอก ผมมีครอบครัวและลูกยังเล็กอยู่นะ” ที่ปรึกษาทางธุรกิจรายหนึ่งกล่าวว่า มันยากมากที่จะพูดหรือบอกสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงไม่อยากได้ยิน

 

สุดท้าย ในปี ค.ศ. 2007 เมื่อแอปเปิ้ลเปิดตัวไอโฟนเป็นครั้งแรก โนเกียก็ยังไม่มีเทคโนโลยีโทรศัพท์แบบหน้าจอสัมผัส แต่แรงกดดันทางการตลาดทำให้ต้องใช้กลยุทธ์สร้างสินค้าจากเทคโนโลยีเท่ามีอยู่ออกมาขายแข่งในระยะสั้น แทนที่จะได้ทุ่มเททรัพยากรให้กับการพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ที่แข่งขันกับแอปเปิ้ลได้ในระยะยาว มูลค่าหุ้นของบริษัทตกต่ำลงเรื่อย ๆ ถึง 90% ภายใน 6 ปี และในที่สุดก็ถูกไมโครซอฟต์ซื้อกิจการไป

 

แน่นอนว่าความกลัวไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของความล้มเหลวของโนเกีย ยังมีปัญหาทางเทคนิคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก แต่อาจกล่าวได้ว่า บรรยากาศความกลัวนั้นเป็นต้นตอที่ทำให้พนักงานไม่กล้านำปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาพูดคุยกับผู้บริหาร จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การทำงานที่ต้องอาศัยความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วและมีการแข่งขันสูง การบริหารด้วยความกลัวไม่ใช่ทางออกที่ดีอีกต่อไป

 

 

แล้วผู้นำจะลดบรรยากาศความกลัวในองค์กรได้อย่างไร?

 

เอมี่ เอ็ดมุนเซ็น อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งศึกษาผู้นำและทีมที่มีประสิทธิภาพ เสนอว่า แทนที่จะใช้ความกลัวในการบริหาร ผู้นำต้องสร้างบรรยากาศที่มี ความปลอดภัยทางจิตใจ (psychological safety)

 

ความปลอดภัยทางจิตใจ คือ ความรู้สึกของคนในทีมที่สบายใจว่า ตนสามารถแสดงความคิดเห็นและรายงานข้อมูลที่แท้จริงได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่เกิดผลเสียกับตนเอง (Edmondson, 2019)

 

ผลการวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า พนักงานที่รู้สึกปลอดภัยทางจิตใจจะกล้าแสดงความคิดเห็น โต้แย้ง ตั้งคำถาม ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และกล้าขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น โดยไม่กังวลว่าจะถูกผู้นำหรือคนอื่นในทีมมองว่าไร้ความสามารถ ด้อยศักยภาพ ถูกเขม่น หรือแก้แค้นเอาคืน ซึ่งแน่นอนว่าทำให้โดยภาพรวมองค์กรมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงทีมากขึ้น

 

เพื่อสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้พนักงานในองค์กร เอ็ดมุนเซ็นเสนอว่าผู้บริหารสามารถใช้แนวทางดังนี้ค่ะ

 

  1. สร้างความเข้าใจในเป้าหมายร่วมกัน ผู้บริหารต้องสื่อสารเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมทั้งคุณค่าและความสำคัญของเป้าหมายให้ลูกน้องยอมรับ เพราะหากลูกน้องยอมรับเป้าหมายและเข้าใจความสำคัญของพันธกิจ ก็ย่อมตั้งใจทำงานเองโดยไม่ต้องขู่บังคับด้วยความกลัวอยู่ตลอดเวลา
  2. แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเอ็ดมุนเซ็นเรียกว่าความถ่อมตัวอย่างเหมาะสมตามโอกาส (situational humility) นั่นคือ ผู้บริหารควรยอมรับว่าบางเรื่องตนเองก็ไม่รู้ ยอมรับฟังลูกน้องที่รู้เรื่องนั้น และใช้คำถามมากกว่าคำสั่ง เพราะไม่มีลูกน้องคนไหนอยากทักท้วงหรือให้ข้อมูลกับผู้นำที่แสดงออกว่ารู้ดีทุกเรื่องและมีธงในใจอยู่แล้วว่าต้องการอะไร พูดไปก็ไม่ฟังและอาจดุกลับมาอีกด้วย
  3. สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสาร เช่น ในการประชุมเพื่อเสนอความเห็น รายงานความคืบหน้า แสวงหาความช่วยเหลือหรือร่วมมือ ผู้บริหารควรกำหนดกติกาให้ทุกคน รวมทั้งผู้นำเอง ให้ความเห็นเชิงสร้างสรรค์ ชื่นชมความพยายามของผู้นำเสนอ และหากมีจุดบกพร่องก็ชี้ให้เห็นอย่างสุภาพ และเคารพศักดิ์ศรีกันและกัน งดการวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีตัวบุคคลในเชิงไม่สร้างสรรค์ เช่น แค่นี้ทำไม่ได้หรือ คิดมาได้ยังไง ใครสั่งใครสอนมาเนี่ย
  4. นิยามความล้มเหลวเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพราะไม่มีใครสร้างสิ่งใหม่ที่สมบูรณ์แบบได้ตั้งแต่ครั้งแรก ต้องผ่านการลองผิดลองถูกหลายครั้งกว่าจะได้ผลที่ต้องการ ผู้บริหารจึงต้องนิยามความล้มเหลวให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ ทำให้พนักงานเชื่อว่าสามารถทำผิดพลาดได้บ้างหากเป็นไปเพื่อเรียนรู้และนำมาพัฒนางานให้ดีขึ้น หากความล้มเหลวหมายถึงหายนะ การเสียหน้า การถูกลงโทษอย่างรุนแรง หรือไล่ออก ก็คงไม่มีใครอยากเสี่ยงทำสิ่งใหม่ ๆ และหากเกิดความผิดพลาดขึ้นก็จะไม่อยากเปิดเผยให้ใครรู้ใช่ไหมคะ

ดังนั้น ถ้าผู้บริหารไม่อยากเป็นคนสุดท้ายที่ได้รู้ข่าวร้ายขององค์กร มาช่วยกันลดบรรยากาศความกลัวในองค์กร และเพิ่มพื้นที่การทำงานที่มีความปลอดภัยทางจิตใจกันดีกว่าค่ะ

 


 

คุณสามารถทำแบบประเมินเพื่อวัดระดับ ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological safety) ในการทำงาน และรับรายงานผลทันทีได้ที่นี่ค่ะ https://chulapsych.au1.qualtrics.com/jfe/form/SV_e5oTDPMGLKShVBj

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Edmondson, A. C. (2019). The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth. New Jersey: John Wiley & Sons.

 

Vuori, T. O., & Huy, Q., N. (2015). Distributed attention and shared emotions in the innovation process: How Nokia lost smartphone battle. Administrative Science Quarterly, 61(1), 9-51. https://doi.org/10.1177/0001839215606951

 

ภาพจาก https://images.squarespace-cdn.com

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ก่อนจะตัดสินใครว่านิสัยแย่

 

สมองของคนเรานั้นชอบหาทางลัด

 

เวลาที่พบใครทำอะไรไม่ดี เราก็มักจะตัดสินง่าย ๆ ว่าเขาเป็นคนไม่ดี เพราะมันใช้เวลาน้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการมานั่งทำความเข้าใจถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อย่างเช่น การมานั่งคิดว่า “วันนี้เขาเจออะไรมาบ้าง” “ขณะนี้เขากำลังคิดกำลังรู้สึกอะไร” “ตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาเคยมีประสบการณ์แบบไหนเกิดขึ้นในชีวิตของเขา”

 

ในทางตรงกันข้าม หากเป็นตัวเราเองที่ทำอะไรไม่ดี สมองของเราจะคิดหาเหตุผลมาได้มากมายเพื่อหาข้อแก้ต่างให้กับตัวเอง ซึ่งมันก็ไม่สิ้นเปลืองพลังงานและเวลาอะไรนัก เพราะเรามีข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราอยู่แล้ว เรารู้ว่าวันทั้งวันนี้เราเจออะไรมา เราเข้าใจหัวอกของตัวเอง เรารู้ดีว่าเราทำสิ่งต่าง ๆ ลงไปด้วยความคิดและความรู้สึกแบบไหน

 

กล่าวได้ว่า คนเราล้วนมีความพร้อมที่จะปกป้องตัวเอง เพราะเรามีข้อมูลของเรา แตกต่างจากเรื่องราวของคนอื่น ที่เราไม่ได้รู้อะไร เราจึงไม่อาจเข้าใจถึงมุมมองของคนอื่นขนาดที่ put oneself in other’s shoes แล้วจะทำได้อย่างอัตโนมัติ

 

นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า Self-serving bias หรือ ความลำเอียงเข้าข้างตน” (อะไรดีเอาเข้าตัว อะไรชั่ว-เพราะจำเป็น) และ Fundamental attribution error หรือ ความคลาดเคลื่อนในการอนุมานสาเหตุ” (เขาทำเช่นนั้นเพราะเขาเป็นคนเช่นนั้น)

 

ถึงแม้มนุษย์จะนิยมความยุติธรรม แต่ความลำเอียงหรือ bias นั้น เกิดขึ้นและคงอยู่ได้ด้วยประโยชน์บางประการ

 

เนื่องจากการลำเอียงเข้าข้างตนนั้นช่วยให้เรารักษาความรู้สึกที่ดีกับตัวเองไว้ได้ เรามีความสุขกับเรื่องดี ๆ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก “ความเก่ง” “ความดี” และ “ความพยายาม” ของเรา และเราก็ไม่ต้องมาเป็นทุกข์เนื่องจาก “ความไม่ดี” “ความไม่เก่ง” หรือ “ความขี้เกียจ” ของเรา

 

ความภาคภูมิใจในตนเป็นสุดยอดอารมณ์ที่น่าพึงปรารถนา การเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) เป็นสิ่งที่เราต้องรักษาระดับไว้ ขณะที่ความรู้สึกผิด (guilty) นั้นเป็นสุดยอดอารมณ์ทางลบที่แย่ยิ่งกว่าอารมณ์ใด ๆ เราจึงต้องบอกตัวเองว่าเราทำดีเพราะเราเป็นคนดี ส่วนที่เราทำไม่ดีเพราะมีปัจจัยแวดล้อมนานามาทำให้มันเป็นไป จะเป็น ความเครียด ความเหนื่อยล้า ความไม่รู้ ความถูกกระทำก่อน หรือความ ‘ใคร ๆ เขาก็ทำกัน’ (descriptive norm) ก็ตาม

 

เราไม่ได้ “จงใจ” คิดเข้าข้างตัวเองเพื่อเหตุผลเหล่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติเหมือนเวลามีแสงสว่างมาก ๆ เราก็ต้องหยีตา แม้แต่นักจิตวิทยาเองที่เข้าใจในกระบวนการเหล่านี้ บ่อยครั้งก็ยังหนีไม่พ้น…

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีประโยชน์เช่นนั้น เป็นไปโดยธรรมชาติด้วยเหตุปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้น แต่ขึ้นชื่อว่าความลำเอียงแล้ว ของที่มันไม่ตรง มันก็มีโทษที่ความไม่ตรงนั่นเอง

 

ยิ่งไม่ตรงมาก คือลำเอียงเข้าข้างตัวเองมาก ก็เป็นกับดักทำร้ายตัวเองได้ เมื่อเราไม่ตระหนักถึงสาเหตุที่แท้จริงจากเรื่องดีและร้ายของเรา การจะทำให้เกิดเรื่องดีซ้ำ ๆ หรือป้องกันและแก้ไขเรื่องร้ายย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งถ้าผนวกกับ Fundamental attribution error ด้วยแล้ว เราจะยิ่งกลายเป็นผู้อยุติธรรมไปกันใหญ่ จนเข้าตำรา “ความผิดคนอื่นเท่าผืนฟ้า ความผิดตนเองแค่เม็ดทราย”

 

ความลำเอียงที่กล่าวมานี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพียงแต่จะมากหรือจะน้อย

 

ถ้าใครกำลังคิดว่าปฏิเสธว่า “ฉันไม่เคยเป็นอย่างนั้น” “ฉันไม่ใช่คนคิดเข้าข้างตัวเอง” และ “ฉันไม่เคยโทษใครมั่วๆ”

 

  • ลองนึกทบทวนดูก่อนว่า เวลาที่เราใช้รถใช้ถนนผิดกฎจราจร เราบอกตัวเองว่าอย่างไร
  • เวลาที่พบเห็นคนอื่นใช้รถใช้ถนนผิดกฏจราจร เราคิดถึงเขาว่าอย่างไร
  • เวลาที่เรามาสาย เราอธิบายว่าอย่างไร
  • เวลาที่คนอื่นมาสาย ผิดนัดเรา เรารู้สึกกับเขาเช่นไร
  • เวลาที่เราไม่รักษ์โลก เรามีเหตุผลอะไร
  • เวลาที่คนอื่นไม่รักษ์โลก เราคิดว่าแต่ละคนมีเหตุผลอะไร

 

ถ้าเปรียบเทียบเช่นนี้สัก 10 สถานการณ์ แล้วได้คำตอบเช่นเดิม คือเราไม่เคยอธิบายตัวเองและตัดสินคนอื่นแตกต่างกันเลย นั่นแปลความได้ 2 อย่าง คือ ถ้าท่านไม่ใช่ยอดคนที่อยู่เหนือสัญชาตญาณเหล่านั้น ท่านก็เป็นคนที่เข้าข้างตัวเองแบบสุด ๆ ไปเลย (ผ่าม…!)

 

ถ้ามีบางคราว ที่เราคิดหาข้อแก้ต่างให้ตัวเอง(เก่ง) แต่ไม่ได้ทำเช่นนั้นกับคนอื่น
และก็มีบางคราว ที่เราตัดสินตัวเองอย่างเป็นธรรม รวมถึงมองในมุมของคนอื่นอย่างเข้าใจ

 

ท่านคือคนทั่วไป…ที่ไหลไปตามธรรมชาติของมนุษย์บ้าง และมีสติเท่าทันตัวเองบ้าง

 

การระลึกรู้ตัวไม่ใช่วิถีของการประหยัดพลังงาน มันจึงไม่ใช่ default ของเรา เป็นสิ่งที่แม้เราเคยทำได้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำได้อยู่ตลอด และสติเป็นคนละเรื่องกับตรรกะ ผู้ที่มีตรรกะดีก็สามารถตกอยู่ในวิถีของปุถุชนได้ ดังนั้นสติจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝึก และฝึกอยู่ตลอดเวลา

 

การฝึกสตินั้นจะว่ายากก็ยาก เพราะเป็นการฝึกฝนที่ไม่สิ้นสุด แต่จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ คือการดึงการรั้งตัวเองไม่ให้ไหล เราอาจจะห้ามตัวเองไม่ทันเวลาเอ่ยคำแก้ตัว หรือยั้งตัวเองไม่อยู่ตอนวิพากษ์ (หรือบริภาษ) คนอื่น แต่เราสามารถนำมาคิดทบทวนภายหลังได้ ตอนที่หัวเราโล่งๆ ไม่ได้โกรธ กลัว หรือวิตกกังวลอะไร ย้อนฟังเสียงของตัวเองเวลาอธิบายเรื่องของตัวเอง เปรียบเทียบกับเสียงของตัวเองเวลาอธิบายเรื่องของคนอื่น

 

“ใจเย็นๆ” อาจเป็นคำติดปากที่เรามักใช้พูดปลอบใจคนอื่น แต่เราก็สามารถนำมาใช้กับตัวเองได้เช่นกัน

 

แค่ไม่รีบร้อนสรุปเรื่องใดๆ โดยเฉพาะเรื่องของคนอื่นที่เราไม่มีทางรู้ข้อมูลได้ครบถ้วนในนาทีนั้น

 

ตั้งคำถามก่อนฟันธงคำตอบ

 

หา second opinion ที่เชื่อถือได้ (ที่ใจเย็นกว่าเรา)

 

และที่สำคัญที่สุด – จึงต้องกล่าวถึงหลังสุด – คือการยอมรับในความผิดพลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเราทุกคนและทุกเมื่อ

 

เราสามารถทำอะไรผิดไปก็ได้ เข้าใจอะไรผิดไปก็ได้ เพราะเราไม่ใช่คนดี 100% และไม่รู้อะไรไปเสียทุกอย่าง

 

การยอมรับในความบกพร่องของตัวเองจะช่วยให้เราปกป้องตัวเองน้อยลง

 

เมื่อเราไม่ต้องใช้พลังงานไปกับการปกป้องตนเอง เราก็จะมีทรัพยากรสำหรับการเรียกสติและคิดได้อย่างมีตรรกะมากขึ้น

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย