ข่าวและกิจกรรม

ทำไมความต่างจึงนำไปสู่ความเกลียด : มุมมองเชิงจิตวิเคราะห์ (Psychodynamic perspectives)

หากเราสังเกตสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราจะเห็นว่ามีปรากฎการณ์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายซึ่งส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็นสองขั้วตรงข้าม เช่น เสื้อเหลือง-เสื้อแดง คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ Liberal-Conservative ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา Brexit Leave – Brexit Remain เป็นต้น

 

ซึ่งถ้าเราลองวิเคราะห์ดูจะเห็นได้ว่าการแบ่งฝักฝ่ายออกเป็นสองขั้วแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งโดยยึดทัศนคติ ความคิดและค่านิยมที่แต่ละกลุ่มยึดถือเป็นหลักในการจัดประเภท เรามักไม่ได้มองความแตกต่างนี้แบบเป็นกลาง ทว่าเราประเมิน ให้คุณค่าและใส่ความรู้สึกเข้าไปผูกติดว่าแบบนี้ดี แบบนี้ไม่ดี หรือคนที่อยู่กลุ่มนี้จะเป็นคนดีและคนที่อยู่ในอีกกลุ่มจะเป็นคนเลว กลุ่มคนนี้รักชาติ กลุ่มคนนี้ชังชาติ

 

…เคยสงสัยกันรึเปล่าว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์เราแบ่งความแตกต่างออกเป็นขาว-ดำอย่างสุดขั้ว…

…แล้วทำไมเราถึงเกลียดคนที่ต่างจากเราแบบที่เราไม่มองเขาเป็นมนุษย์เหมือนเราเลยด้วยซ้ำไป…

 

โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะประเมินว่าคนที่อยู่ในกลุ่มที่เหมือนเราเป็นคนดี แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกับคำว่า “ดี” ที่เราเคยเข้าใจ และก็ยากเสียเหลือเกินที่ความคิดความรู้สึกนี้จะเปลี่ยนแปลงได้

 

กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในจิตใจเรานี้สามารถอธิบายโดยใช้หลักการทางจิตวิเคราะห์ (Psychodynamic perspectives) ได้แก่ การแบ่งแยก (Splitting) การโยนความรู้สึก (Projection) และการทำให้เป็นอุดมคติ (Idealisation)

 

หากวิเคราะห์ตามหลักการคิดแบบง่ายๆ นั้น การที่เรา “คิดหรือรับรู้” ว่าตนเองเป็นคนดี ก็เพราะว่ามีกลุ่มคนที่เราคิดว่าเป็นคนเลวอยู่เพื่อให้เราเปรียบเทียบ แล้วเราพยายามเอาตัวเองออกมาให้ไกลและแตกต่างจากกลุ่มเลวให้มากที่สุด และจะพยายามอยู่ใกล้กับกลุ่มคนที่เราคิดว่าเป็นคนดีให้มากที่สุด เพื่อให้เรารับรู้ว่าเราเป็นคนดี

 

ดังนั้นความแตกต่างในสังคมจึงเป็นเสมือนการแบ่งแยกให้รู้ว่านี่คือ “ฉันหรือพวกฉัน” ซึ่งต่างจาก “พวกเขา” เช่น การจะรับรู้ว่าเราเป็นกลุ่มคนที่รักชาติได้นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างกลุ่มคนที่เรารับรู้ว่าชังชาติขึ้นมาเปรียบเทียบ

 

ในขณะเดียวกัน เราจะพยายามลดความรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล กลัวหรือคับข้องใจลง ซึ่งมีกระบวนการทางจิตใจตามแนวคิดจิตวิเคราะห์ คือ การแบ่งแยกสิ่งที่เรารู้สึกดีและสิ่งที่เรารู้สึกไม่ดีภายในตนเองออกจากกันโดยสิ้นเชิง หรือที่เรียกว่า Splitting

 

หากอธิบายให้เห็นภาพง่ายที่สุดคือ มนุษย์เราทุกคนมีสิ่งที่เรารู้สึกดีและรู้สึกไม่ดีในตัวเองผสมปนกัน แต่เรามักจะทนไม่ได้กับการที่มีสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีในตัวเองเก็บไว้ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว ความรู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย หวาดระแวง ดังนั้นเราก็จะโยนความรู้สึกที่ไม่ต้องการนี้ออกนอกตัวเราโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำเช่นนี้อยู่ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า Projection หรือการโยนความรู้สึก แล้วเราจะโยนไปไหนล่ะ ก็โยนไปให้คนอื่น กลุ่มคนที่เหมาะมากที่จะเป็นเป้าหมายก็คือ กลุ่ม “พวกเขา” ที่ต่างจากเรา ความวิตกกังวล ความกลัว ความรู้สึกถูกคุกคาม ไม่ปลอดภัย หวาดระแวงที่เคยมีในใจก็ถูกโยนออกไปกลายเป็นความเกลียด เกลียดกลุ่มคนที่แตกต่างที่เราโยนความรู้สึกของเราที่ไม่ต้องการไปสู่พวกเขา

 

ความเกลียด กลัว วิตกกังวลที่เราโยนออกไปสู่กลุ่มที่แตกต่างจากเราถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น สร้างความแตกต่างให้มีมากเกินความเป็นจริงจนกระทั่งทำให้เรามองกลุ่มคนที่เราโยนความรู้สึกที่ไม่ดีไปให้นั้นเลวร้ายจนไม่มีสิ่งที่ดีอยู่ภายใน ในขณะเดียวกัน เพื่อให้เรารู้สึกดีและปลอดภัย เราก็โยนความรู้สึกที่ดีหรือคุณลักษณะที่ดีไปสู่กลุ่มที่เราระบุว่าเป็นกลุ่มของเรา รับรู้ว่ากลุ่มเราดีเกินกว่าความเป็นจริง เป็นกระบวนการทำให้เป็นอุดมคติ (Idealisation)

 

กระบวนการข้างต้นจึงสามารถนำมาอธิบายเหตุการณ์ปัจจุบันในสังคมว่า เพราะเหตุใดคนบางคนจึงเกลียดคนที่ต่างจากเรา ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางการเมือง เชื้อชาติ วัฒนธรรม ฯลฯ มากเสียจนไม่มองว่าอีกฝ่ายก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเรา ไม่สมควรที่จะโดนขู่ ขับไล่ ทำร้าย หรือถูกปฏิบัติเสมือนกับว่าเขาไม่ใช่มนุษย์

 

การจะปรับให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการความคิดแบบนี้ คือ เราต้องถามตนเองว่าการที่เรามองคนอื่นว่าเขาเลว อันตราย น่ากลัว ความคิดนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงแค่ไหน หรือเรากำลังโยนความรู้สึกไม่ปลอดภัย วิตกกังวลที่เรามีในใจออกไปสู่คนอื่นอยู่รึเปล่า อะไรที่ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวล ไม่ปลอดภัยเมื่อมีคนที่คิดเห็นต่างจากเรา แล้วความรู้สึกนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงแค่ไหน ในทางตรงกันข้าม คนที่เรามองว่าเป็นคนดีที่ไม่มีที่ติ เขาดีแบบนั้นจริงๆ หรือไม่ ความคิดนี้อยู่บนเหตุผลและหลักฐานตามความเป็นจริงแค่ไหน หรือเราแค่ทำให้คนนั้นหรือกลุ่มคนนั้นเป็นกลุ่มคนอุดมคติเพื่อให้เรารู้สึกปลอดภัย ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนดีที่เราก็อยู่ในกลุ่มนั้น

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นหลักการวิเคราะห์นี้เป็นการวิเคราะห์กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในจิตใจโดยที่เราไม่รู้ตัว (Unconscious process) ดังนั้นการวิเคราะห์นี้จึงไม่รวมกลุ่มคนที่ “เจตนา” ที่จะใส่ร้าย สร้างความแบ่งแยก ความเกลียดชัง หรือความกลัว เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ว่ากลุ่มคนที่คิดต่างจะมาทำลายค่านิยม วิถีชีวิตและความเชื่อที่เรามี ก่อให้เกิดความเกลียดชัง

 

จุดประสงค์ของการเขียนบทความนี้จึงอยากชวนเราลองถามตนเองดูว่า เรากำลังตกเป็นเหยื่อของคำพูดหรือสื่อจากคนที่ต้องการสร้างความกลัวเพื่อให้เราเกลียดคนบางกลุ่มหรือบางคนอยู่หรือไม่…

 

 

รายการอ้างอิง

 

Clarke, S. (1999). Splitting Difference: Psychoanalysis, Hatred and Exclusion. Journal for the Theory of Social Behaviour, 29(1), 21–35. https://doi.org/10.1111/1468-5914.00089

 

ภาพจาก https://clipartimage.com/clipart/9636-devlil-and-angel-clipart.html

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Sunk cost fallacy: หลักจิตวิทยาว่าด้วยการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล (ในเชิงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์)

 

การตัดสินใจเป็นกระบวนการคิดที่ใช้เหตุใช้ผล ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่าง ๆ เพื่อเลือกสิ่งที่เหมาะสมคุ้มค่าที่สุดภายใต้บริบทและข้อจำกัด

 

นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นกับการตัดสินใจในทุก ๆ ครั้ง

 

ในแต่ความเป็นจริง นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่า มนุษย์เราไม่ค่อยจะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลเท่าใดนัก คนเรามีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสีย

 

คนหลีกเลี่ยงความสูญเสียก็ฟังดูเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน แต่ความไม่สมเหตุสมผลมันอยู่ตรงที่ว่า แม้แต่ในกรณีที่การเลือกที่จะเสี่ยงมีมูลค่ามากกว่า คนเราก็ยังมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้นอยู่ดี

 

ลองนึกถึงตัวอย่างง่าย ๆ กัน

 

คุณได้รับข้อเสนอให้ทายผลของการปั่นแปะ ทายหัวทายก้อย
ถ้าคุณทายถูก คุณจะได้เงิน 100 บาท แต่ถ้าคุณทายผิด คุณจะต้องเสียเงิน 100 บาท

 

ข้อเสนอนี้มีมูลค่าความคาดหวังเป็นศูนย์ มีอัตราได้เสีย 1 ต่อ 1 ด้วยโอกาส 50-50 ข้อเสนอนี้ไม่ได้น่าดึงดูดใจเลย และคนส่วนใหญ่ก็มักจะ ไม่รับข้อเสนอนี้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สมเหตุสมผลแล้ว

 

แต่สมมติว่าคุณได้รับข้อเสนอใหม่ ถ้าทายถูก คุณจะได้เงิน 150 บาท แต่ถ้าทายผิด คุณจะต้องเสียเงิน 100 บาท

 

คุณจะรับข้อเสนอนี้หรือไม่?

 

คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รับยอมข้อเสนอนี้ เพราะรู้สึกว่ามันไม่คุ้มที่จะเสี่ยง เรามีเงินอยู่ในกระเป๋าแน่ ๆ แล้ว 100 บาท ทำไมต้องเสี่ยงที่จะเสียมันไปเพื่อเงินอีกแค่ 50 บาท

 

ทั้ง ๆ ที่ในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว มูลค่าคาดหมายของข้อเสนอนี้เป็นบวก รับรองได้ว่าไม่มีเจ้ามือที่ไหนยอมให้อัตรานี้เพราะจะขาดทุนแน่นอน การปฏิเสธข้อเสนอนี้จึงไม่สมเหตุสมผลในเชิงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์

 

ทั้ง ๆ ที่เป็นการตัดสินใจที่คุ้มเสี่ยงแต่ทำไมเราถึงยังรู้สึกว่า มันได้ไม่คุ้มเสีย?

 

นักจิตวิทยาอธิบายว่า ในปริมาณที่เท่ากัน คนเรามักรู้สึกว่ามูลค่าที่สูญเสียนั้นมีน้ำหนักมากกว่ามูลค่าที่เราจะได้ เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผลของกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์

 

อีกตัวอย่างหนึ่งของการหลีกเลี่ยงการสูญเสีย คือ การเสียดายต้นทุนจม

 

สมมติว่าคุณกำลังจะไปดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เมื่อไปถึงเคาท์เตอร์ขายตั๋วคุณพบว่า คุณทำเงินหล่นหายไป 200 บาท คุณอาจจะหงุดหงิดที่ซุ่มซ่ามทำเงินหล่นหาย แล้วก็ควักเงิน 200 ซื้อตั๋วเข้าไปดูหนัง เพราะรู้สึกว่าเงินที่หายไปนั้นต่างกรรมต่างวาระกับการซื้อตั๋วดูหนัง

 

ทีนี้ลองจินตนาการอีกสถานการณ์ คุณซื้อตั๋วล่วงหน้าเอาไว้จากบ้าน แต่เมื่อไปถึงหน้าโรง คุณพบว่าคุณทำตั๋วที่ซื้อไว้หล่นหายไป คราวนี้คุณกลับรู้สึกว่า คุณไม่อยากจ่ายเงินอีก 200 เพื่อดูหนัง ถ้าต้องจ่ายอีกก็เหมือนซื้อตั๋วใบละตั้ง 400 บาท

 

ทั้งที่จริง ๆ แล้วในสองเหตุการณ์นี้หากคุณเลือกซื้อตั๋วดูภาพยนตร์ คุณก็เสียเงิน 400 บาท เท่ากัน

 

นี่เป็นเพราะว่าในสถานการณ์ที่สอง คุณรู้สึกว่าได้สูญเสียตั๋วไปแล้ว การต้องจ่ายเงินซื้อซ้ำอีก จะตอกย้ำความสูญเสียนั้น เสียดายต้นทุนที่จมไปแล้ว ทำให้คุณพลาดโอกาสเข้าไปสัมผัสบรรยากาศชมภาพยนตร์

 

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดกับทรัพยากรอื่น ๆ ด้วย

 

เช่น เมื่อคุณรอรถเมล์อยู่นานแล้ว ก็จะไม่อยากเปลี่ยนใจไปโบกแท็กซี่เพราะคิดว่าอีกเดี๋ยวรถเมล์ก็คงจะมา เลยพลาดโอกาสโบกแท็กซี่ไปหลายคัน หรือนักลงทุนที่ซื้อหุ้นแล้วหุ้นตก จะไม่อยากขายเพราะรู้สึกว่าหากยังไม่ขายก็ยังไม่ขาดทุน หนำซ้ำยังไปซื้อหุ้นเพิ่มมาเฉลี่ยต้นทุน จนทำให้ต้นทุนจมหนักยิ่งกว่าเดิม พลาดโอกาสที่จะนำทรัพยากรนั้นไปทำอย่างอื่นที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

 

ทั้งหมดนี้เพราะมัวแต่กลัวว่า สิ่งที่เคยลงทุนไปแล้วจะสูญเปล่า

 

การใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจจึงมักเอนเอียงด้วยปัจจัยความกลัวเหล่านี้ ทางที่ดีแล้วเมื่อคุณต้องเผชิญกับการตัดสินใจ หนึ่งในทางออกที่ดี คือ นั่งลงทำรายการข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก พิจารณามูลค่า พิจารณาความน่าจะเป็นของตัวเลือกต่าง ๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน

บางครั้งคุณอาจจะพบว่าต้นทุนที่จมหายไปนั้น ไม่สามารถย้อนกลับไปเอาคืนมาได้

 

การตัดใจทิ้งต้นทุนที่จมไป อาจจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ที่คุ้มค่ากว่าก็ได้

 

 

ภาพจาก https://www.psychologicalscience.org

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เมื่อชีวิตคู่มาถึงทางตัน หากหย่าร้างกัน แล้วลูกน้อยของเรานั้นจะเป็นอย่างไร

 

: สรุปงานวิจัยที่ว่าด้วยเรื่องการหย่าร้างและการปรับตัวของเด็กเล็ก

 

ใครหลาย ๆ คน ย่อมวาดฝันถึงการมีครอบครัวที่มีความสุข มีพ่อ แม่ และลูกน้อยที่เข้ามาเติมเต็มความเป็นครอบครัวในอุดมคติ แต่บางทีเมื่อวันเวลาผ่านไป ก็อาจมีปัจจัยหลาย ๆ ประการที่ไม่เป็นใจ ทำให้ความความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักมีรอยร้าว บางครอบครัวเริ่มมีความบาดหมาง ไม่เข้าใจกันจนนำไปสู่ความคิดเรื่องการหย่าร้าง หรือแยกกันอยู่ คำถามที่ผุดขึ้นตามมาสำหรับบ้านที่มีลูกน้อย ก็คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า “แล้วลูกของเราล่ะ จะเป็นอย่างไร”

 

ด้วยสังคมมักตีตราการหย่าร้างว่าเป็นต้นตอของปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชน เด็กที่พ่อแม่หย่าร้าง ได้ชื่อว่าเป็นเด็กบ้านแตก เด็กมีปัญหา ซึ่งในทางจิตวิทยาพัฒนาการถือว่าแนวคิดเช่นนี้เป็นการด่วนสรุปและเหมารวมจนเกินไป

 

เพราะการหย่าร้างไม่ได้นำไปสู่ปัญหาของเด็กไปเสียทั้งหมด มีปัจจัยและบริบทแวดล้อมตัวเด็กอีกหลายแง่มุมที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจและวางแผนหลังการหย่าร้าง เป้าหมายที่สำคัญที่สุดก็คือ จะทำอย่างไรให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้ในภาวะที่สถานการณ์ในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป จะส่งเสริมกระบวนการในการปรับตัวของลูกกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยสามารถพิจารณาจากหลาย ๆ ประเด็นร่วมกันดังต่อไปนี้

 

1. ผู้เลี้ยงดู

ก่อนที่เราจะคุยกันถึงเรื่องการหย่าร้าง เราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ในทางจิตวิทยา คำว่าผู้เลี้ยงดู (caregiver) ในที่นี้หมายถึง พ่อ แม่ สมาชิกในครอบครัว พี่เลี้ยง หรือบุคคลใดก็ได้ ที่ให้เวลาแก่เด็กในการเลี้ยงดู ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก ดังนั้นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเติบโตของเด็ก อาจไม่ใช่เพียงผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อหรือแม่จากทางสายเลือดเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ แม่ มักจะเป็นผู้เลี้ยงดูหลักของเด็ก แต่ก็ต้องคำนึงเสมอว่า ปัจจัยของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ต้องดูตามแต่สถานการณ์ของแต่ละบ้านที่ต่างกันออกไป

 

2. คุณภาพของผู้เลี้ยงดู

คุณภาพของการเลี้ยงดูนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก กล่าวคือ เด็กมีบ้านที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันครบ แต่พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพ เช่น ปล่อยปะละเลย ไม่มีการฝึกวินัยให้แก่เด็ก หรือ แสดงความก้าวร้าวรุนแรงภายในครอบครัว มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากกว่าเด็กที่โตมาในบ้านที่เป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น และใส่ใจในการเติบโตของเด็กเสียอีก หลายคนมีความกังวลว่าเด็กที่เติบโตมากับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหา ความเชื่อนี้จึงไม่เป็นจริงเสมอไป หลายคนยังมีความกังวลอีกว่า เด็กที่โตมาแล้วขาดพ่อหรือขาดแม่ จะเป็นเด็กมีปัญหาทางด้านตัวตนทางเพศ ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน เนื่องจากในการเติบโตของมนุษย์ทุกคนย่อมมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นนอกเหนือจากพ่อแม่ของตน เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย น้า อา ครู เพื่อนบ้าน ซึ่งบุคคลเหล่านี้สามารถเป็นตัวแบบในการเรียนรู้บทบาททางเพศและบทบาทต่าง ๆ ในสังคมได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในการเลือกว่าเด็กควรจะอยู่กับใครเมื่อมีการหย่าร้าง ก็ต้องพิจารณาว่าใครเป็นผู้เลี้ยงดูหลักของเด็ก และใครที่เป็นผู้ที่สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพ

 

3. แบ่งกัน 50:50

ปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องการแบ่งเวลาของพ่อและแม่ในการเป็นผู้เลี้ยงดูเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง 50:50 เช่น อยู่บ้านพ่อ 3 คืน บ้านแม่ 3 คืน เป็นต้น แนวคิดนี้ในเบื้องต้นนั้นดูมีความยุติธรรมดี แต่เมื่อคำนึงถึงปัจจัยในเรื่องคุณภาพการเลี้ยงดู และความพร้อมของแต่ละบุคคล แนวคิดนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับทุกบ้าน ควรพิจารณาสัดส่วนการเลี้ยงดูที่เกิดขึ้นจริงในช่วงก่อนการแยกกัน ถ้าโดยปกติทั้งพ่อและแม่มีส่วนในการเลี้ยงดูลูกพอ ๆ กัน แนวคิดของการแบ่งกันคนละครึ่งก็น่าจะเหมาะสม แต่ทั้งนี้อาจยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่น การเดินทางระหว่างสองบ้าน เวลาที่สะดวกของพ่อแม่ ควรเน้นที่คุณภาพชีวิตของลูกเป็นหลัก หากลูกสามารถพูดสื่อสารได้แล้ว ก็ควรฟังความต้องการของลูกเป็นสำคัญ

 

4. ระดับความขัดแย้งของพ่อแม่

หากการหย่าร้างเป็นไปอย่างราบรื่น การพูดจาตกลงกันเรื่องการวางแผนเลี้ยงลูกก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เด็กมักจะปรับตัวต่อการหย่าร้างได้ดีในกรณีที่พ่อแม่ร่วมกันดูแลลูก หรือในกรณีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้เลี้ยงดูหลัก แต่มีอีกฝ่ายที่สามารถไปมาหาสู่ พาลูกไปทำกิจกรรมร่วมกันได้ ก็จะยังให้ผลที่ดีต่อตัวเด็ก (Adamsons & Johnson, 2013) แต่มีพ่อแม่หลายคู่ที่จบความสัมพันธ์กันโดยยังมีความขัดแย้ง ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่ ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ช่วยเลี้ยงลูก พูดถึงกันในแง่ร้ายให้ลูกฟัง กระทำรุนแรงทางกาย ไปจนถึง มีการฟ้องร้องกันทางกฎหมาย ความขัดแย้งเหล่านี้ส่งผลต่อการปรับตัวของเด็กในการหย่าร้าง เช่น ในกรณีที่มีฝ่ายหนึ่งทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหนึ่ง การแยกตัวเด็กออกจากพ่อหรือแม่ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวจะเป็นผลดีต่อตัวเด็กมากกว่า (Mahrer, O’Hara, Sandler, & Wolchik, 2018)

 

5. การได้รับการสนับสนุนเงินค่าเลี้ยงดูและการสนับสนุนทางสังคมอื่น ๆ

ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะทั้งพ่อและแม่จะตัดสินใจร่วมกันเลี้ยงดูหลังการหย่าร้าง ผู้ที่รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกเพียงลำพัง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิง รายงานในงานวิจัยว่าตนประสบความลำบากอย่างมากในการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากต้องหารายได้เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของตนและลูก หากก่อนการหย่าร้างไม่เคยทำงานมาก่อนก็จะยิ่งต้องปรับตัวอย่างมาก ในบางรายทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ดีจนมีภาวะซึมเศร้าไม่สามารถดูแลและเป็นกำลังใจให้ลูกได้ (พวงเพ็ญ ชุณหปราณ, สุกัญญา แสงมุกข์, วาสินี วิเศษฤทธิ์, และ โสภี อุณรุท, 2543) การทำงานหารายได้ของแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้น เบียดบังเวลาของการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกไปอย่างมาก ต้องฝากลูกไว้กับผู้อื่น ซึ่งแน่นอนมีผลต่อคุณภาพการเลี้ยงดู เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กมีการปรับตัวหลังการหย่าร้างได้ แม่เลี้ยงเดี่ยวควรได้รับการช่วยเหลือเงินค่าเลี้ยงดูทั้งจากอดีตคนรัก และจากครอบครัว รวมถึงการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เช่น การช่วยเลี้ยงเด็ก การให้ที่อยู่อาศัย การให้กำลังใจ เพื่อให้ทั้งแม่เลี้ยงเดี่ยวและเด็กสามารถตั้งหลักกับการเปลี่ยนแปลงไปได้

 

6. อายุของลูก

ทารกในวัย 0-2 ปี จะเป็นช่วงของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ที่เด็กมีต่อผู้เลี้ยงดู เป็นพัฒนาการตามปกติที่ทารกในวัยนี้จะแสดงอาการงอแงกลัวการแยกจาก (separation anxiety) เพราะเป็นช่วงของการเรียนรู้ เมื่อผ่านช่วงพัฒนาการนี้ไปได้ เด็กจะเรียนรู้ว่าเมื่อผู้เลี้ยงดูออกนอกบ้านแล้วก็จะกลับมาหา เด็กเล็ก ๆ จะรู้สึกอุ่นใจและรู้สึกปลอดภัยที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู ดังนั้นหากเกิดการหย่าร้างในขณะที่ลูกเป็นวัยทารก ครอบครัวควรวางแผนให้ดี กำหนดให้ชัดว่าใครเป็นผู้เลี้ยงดูหลัก ให้เด็กยังรู้สึกว่าได้รับการดูแลและความรัก ไม่ทอดทิ้ง

 

หากเป็นเด็กวัยเตาะแตะอายุประมาณ 2-4 ปี เด็กวัยนี้กำลังต้องการเรียนรู้ที่จะทำอะไรได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีพัฒนาการในทุกด้านมากขึ้น เริ่มพูดสื่อสาร ร่างกายพัฒนาสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างใจ เริ่มอยากทดลองทำอะไรด้วยตัวเองซึ่งอาจเสี่ยงอุบัติเหตุ และยังอยู่ในระหว่างกันเรียนรู้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในบ้านและในสังคม เช่น เวลากินเวลานอน การรอคิว การขอโทษ การขอบคุณ เป็นต้น เด็กวัยนี้ต้องการผู้ดูแลที่คอยช่วยส่งเสริม คอยบอกตักเตือนว่าอะไรควรไม่ควร และคอยให้กำลังใจ เป็นงานที่ท้าทายสำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หากมีคนในครอบครัวหรือพี่เลี้ยงมาช่วย ก็จะช่วยให้ทั้งพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและเด็กปรับตัวได้ดีขึ้น และในกรณีที่การหย่าร้างและแยกกันอยู่เกิดขึ้นเมื่อลูกอยู่ในวัยเรียน วัยที่เริ่มมีการเข้าสังคม การย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน ก็เป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองและวางแผนร่วมกันให้ดี การเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น ย้ายไปอยู่ที่ที่ไม่คุ้นเคย ต้องปรับตัวเข้ากับผู้คนและสังคมใหม่ อาจทำให้การปรับตัวของเด็กต่อการหย่าร้างยิ่งยากขึ้น

 

 

สุดท้ายนี้อยากขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคน เชื่อว่าก่อนที่จะตัดสินใจหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ ทั้งคู่ได้พยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะรักษาความสัมพันธ์ แม้ในที่สุดทั้งสองจะไม่ได้อยู่ด้วยกันในฐานะของคนรัก แต่ขอให้หันหน้าเข้าหากันในฐานะของพ่อแม่ ที่ช่วยกันให้ลูกสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ จากงานวิจัยของ Van der Wal, Finkenauer, และ Visser (2019) ที่ติดตามพัฒนาการของเด็กภายหลังการหย่าร้าง ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ แน่นอนว่าเด็กมีความรู้สึกลบกับการหย่าร้างของพ่อแม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเด็กก็มีกระบวนการปรับตัวยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะในบ้านที่พ่อแม่ยังร่วมกันดูแลลูก ในงานวิจัยของไทย ก็พบเช่นกันว่าในที่สุดเด็กก็จะมีพลวัตของการปรับตัวไปในจุดที่เข้าใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเป็นบทเรียนซึ่งเป็นความจริงของชีวิต (ระวิวรรณ ธรณี, รุ่งนภา เทพภาพ, และ อำไพ หมื่นสิทธิ์, 2551)

 

 

รายการอ้างอิง

 

พวงเพ็ญ ชุณหปราณ, สุกัญญา แสงมุกข์, วาสินี วิเศษฤทธิ์, และ โสภี อุณรุท (2543). การปรับตัวของสตรีที่เลี้ยงดูบุตรตามลำพังในชุมชนเมือง กรุงเทพมหานคร (รายงานผลการวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.

 

ระวิวรรณ ธรณี, รุ่งนภา เทพภาพ, และ อำไพ หมื่นสิทธิ์ (2551). พลวัตการปรับตัวและการดำรงตนของบุตรในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง (รายงานผลการวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์). มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, กรุงเทพมหานคร.

 

Adamsons, K., & Johnson, S. K. (2013). An updated and expanded meta-analysis of nonresident fathering and child well-being. Journal of Family Psychology, 27(4), 589 – 599.

 

Mahrer, N. E., O’Hara, K. L., Sandler, I. N., & Wolchik, S. A. (2018). Does shared parenting help or hurt children in high-conflict divorced families? Journal of Divorce & Remarriage, 59(4), 324-347. doi: 10.1080/10502556.2018.1454200

 

Van der Wal, R. C., Finkenauer, C., & Visser, M. M. (2019). Reconciling mixed finding on children’s adjustment following high-conflict divorce. Journal of Child and Family Studies, 28, 468 – 478.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Loneliness – ความเหงา

 

 

 

 

ความเหงา หมายถึง ความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความทุกข์และไม่สบายใจ เนื่องมาจากการรับรู้ว่าตนเองขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยกว่าที่ตนต้องการ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ทางสังคม

 

Weiss (1973) ได้จำแนกความเหงาออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

  1. ความเหงาทางอารมณ์ (Emotional loneliness) หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากการขาดความสัมพันธ์กับบุคคลที่ใกล้ชิด โดยการเพิ่มปริมาณของความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่สามารถช่วยให้ความเหงาประเภทนี้ลดลงได้
  2. ความเหงาทางสังคม (Social loneliness) คือ ความเหงาที่เกิดจากการขาดเครือข่ายทางสังคมหรือการขาดกิจกรรมทางสังคม ความเหงาประเภทนี้สามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มเครือข่ายทางสังคมและกิจกรรมทางสังคม

 

ส่วน Beck และ Young (1978) ได้แบ่งความแตกต่างของความเหงาออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

 

  1. ความเหงาแบบเรื้อรัง (Chronic loneliness) หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากความล้มเหลวในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่น่าพึงพอใจเป็นระยะเวลาหลายปี รวมถึงการรับรู้ว่าถูกทอดทิ้งจากการสื่อสารระหว่างบุคคล ปัญหาการหย่าร้างของพ่อแม่ หรือความขัดแย้งในครอบครัวที่ไม่ได้รับการแก้ไข
  2. ความเหงาจากสถานการณ์ (Situational loneliness) เป็นความเหงาที่มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดทางลบ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดการหยุดชะงัก เช่น การตายของคนที่รัก
  3. ความเหงาแบบชั่วคราว (Transient loneliness) เป็นความรู้สึกอ้างว้างที่เกิดขึ้นชั่วขณะเป็นครั้งคราว เช่น หลังจากประสบความสำเร็จ บุคคลอาจพบความสุขและความโล่งอกแต่ยังรู้สึกว่างเปล่า หรือความรู้สึกหลังจากจบงานเลี้ยงเนื่องจากต้องแยกจากกลุ่มเพื่อน

ทั้งนี้ ความเหงาแบบชั่วคราวมักเป็นความรู้สึกที่ไม่ยาวนาน สามารถจางหายได้รวดเร็ว ส่วนความเหงาแบบเรื้อรังมักเกี่ยวข้องกับการรับรู้ว่าถูกทอดทิ้งและความไม่พอใจในความสัมพันธ์ทางสังคม ขณะที่ความเหงาจากสถานการณ์บางครั้งอาจมีความรุนแรงและก่อให้เกิดความเครียดมากกว่าความเหงาสองประเภทที่กล่าวมา

 

 

การจัดการความเหงา

 

อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการจัดการความเหงา คือ บุคคลไม่เต็มใจที่จะรับรู้ หรือยอมรับว่าตนเองรู้สึกเหงา ดังนั้นสิ่งสำคัญคือบุคคลต้องตระหนักและยอมรับความรู้สึกเหงา จึงจะสามารถจัดการความความเหงาได้ ซึ่ง Rokach และ Brock (1997) ได้เสนอวิธีจัดการความเหงาไว้ 6 วิธี ดังนี้

 

  1. สะท้อนและการยอมรับความรู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งในด้านความคิดและความรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น เพื่อให้เกิดตระหนักและการปรับโครงสร้างทางความคิด
  2. พัฒนาตนเองและความเข้าใจในตน เน้นถึงความเชื่อและคุณค่าในตนเอง
  3. เพิ่มการมีส่วนร่วมทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธืกับผู้อื่น ทั้งคนเดิมที่เคยรู้สึกและคนใหม่
  4. ปฏิเสธพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การแยกตัว
  5. เพิ่มความผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อาจทำให้โดยการเข้าร่วมพิธีทางศาสนา
  6. เพิ่มกิจกรรม ได้แก่การอุทิศตนในงาน และกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากกิจวัตรประจำวัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อทางสังคม

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดเผยตนเอง ความเหงา และการทำหน้าที่ของครอบครัวต่อพฤติกรรม การเสพติดอินเตอร์เน็ต” โดย ณัฐรดา อยู่ศิริ, สุพิชฌาย์ นันทภานนท์, หทัยพร พีระชัยรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46895

 

ภาพจาก http://randomwallpapers.net/

 

Psyche Poll #3 : วันหยุดสุดหรรษา

 

วันหยุดสุดหรรษา : กิจกรรมในวันหยุด นิยามของการไปเที่ยวค้างคืน ถ้าไม่อยากถูกสาดน้ำในวันสงกรานต์ ขอเปลี่ยนเป็น…?

 

 

โพลลำดับที่ 3 ของเพจบริหารชีวิตด้วยจิตวิทยา เป็นเรื่องเบา ๆ ชิล ๆ ว่าด้วยเรื่องวันหยุดและเทศกาลสงกรานต์ หลังจากครั้งที่ 2 นั้นเราทำเรื่องจริงจังอย่างโพลการเลือกตั้งกันมาแล้ว (ย้อนความจริงจังกันอีกครั้งได้ที่ Psyche Poll#2 Election Poll และอีกโพลที่จริงจังไม่ต่างกันกับเรื่องของหัวใจ Psyche Poll#1 Love Poll )

 

สำหรับโพลวันหยุดสุดหรรษานี้ เรามีผู้ร่วมสนุกตอบคำถามจำนวน 101 คน เป็นผู้หญิง 76 คน (75.2%) ผู้ชาย 18 คน (17.8%) และเพศอื่นๆ 7 คน (7%) มีอายุเฉลี่ย 31.22 ปี (ต่ำสุด 16 ปี และสูงสุด 48 ปี) กว่า 1 ใน 3 เป็นข้าราชการ/พนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ รองลงมาเป็นพนักงานบริษัทเอกชน บางส่วนเป็นนักเรียนนักศึกษา เจ้าของธุรกิจ และฟรีแลนซ์

 

ข้อคำถามประกอบด้วย
  • ถ้าคุณได้รับวันหยุดโดยไม่คาดฝัน 1 วัน กิจกรรมที่คุณจะทำในวันหยุดนั้นคืออะไร
  • การไปเที่ยวค้างคืนต่างจังหวัด สำหรับคุณคืออะไร
  • สงกรานต์นี้อยากถูกสาดอะไร ถ้าไม่ใช่น้ำ
  • สงกรานต์นี้จะปฏิเสธคนที่จะเข้ามาสาดน้ำยังไงถ้าไม่อยากโดนสาดน้ำ

 

 

ผลการสำรวจปรากฏดังนี้

 

  1. กิจกรรมในวันหยุดที่ได้มาโดยไม่คาดฝัน

 

 

 

นอน!คือคำตอบที่นำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยการใช้เวลากับครอบครัว แฟน และเพื่อนฝูง ที่เหลือจึงเป็นการท่องเที่ยว การทำงานบ้าน และงานอดิเรกต่างๆ

 

นอน คือกิจกรรมที่เราทำอยู่แล้วทุก ๆ วัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่วิถีชีวิตของแต่ละคน แต่เหตุใดในวันหยุดที่นอกเหนือจากวันหยุดปกติซึ่งเราสามารถใช้เวลาไปกับการทำอะไรก็ได้ เราจึงปรารถนาการนอนมาเป็นอันดับที่หนึ่ง

 

ก่อนอื่น ผู้เขียนเข้าใจว่าการนอนในที่นี้ อาจหมายถึงการนอนจริง ๆ ที่เป็นการนอนหลับ และรวมไปถึงการนอนแบบไม่หลับ แต่ได้กลิ้งไปกลิ้งมา อ่านหนังสือ เล่มเกม เล่นเนต คุยแชท และกินบนเตียงนอน ซึ่งเราอาจเรียกรวม ๆ การนอนแบบทั้งหลับและไม่หลับนี้ว่าเป็น “การพักผ่อน” นั่นเอง

 

การพักผ่อนนั้นสำคัญไฉน

 

โดยทั่วไปแล้วเรามักมีแพลนสำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ค่อนข้างเป็นกิจวัตร อาทิ ทำงานบ้าน จับจ่ายซื้อของเข้าบ้าน กลับบ้านหรือไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ แต่สำหรับคำถามข้อนี้ที่กล่าวถึงวันหยุดที่ไม่ใช่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ปกติ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่เรามักมีแพลนล่วงหน้ามาก่อน จึงอาจส่งผลให้ผู้ตอบนึกถึงกิจกรรมที่ “อยากทำ” เพราะปกติไม่ค่อยได้ทำหรือมีเวลาทำ มากกว่ากิจกรรมที่ทำเป็นประจำหรือมีหน้าที่อันควรต้องทำ

 

เช่นนั้นแล้วเราอาจอนุมานได้ว่า การพักผ่อนให้เพียงพอ หรือการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เพื่อน และคนรัก เป็นกิจกรรมที่เราปรารถนา แต่ไม่ได้ “เต็มอิ่ม” กับมันในช่วงเวลาปกติ

 

เมื่อพิจารณาลักษณะของผู้ตอบซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว และค่อย ๆ รับมือกับความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตในหน้าที่การงาน ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดการที่ไม่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรเลยสักวันจึงน่าดึงดูดใจยิ่ง

 

อย่างไรก็ดี การนอน (นอนหลับและนอนกลิ้ง) ให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงนั้น มีเรื่องต้องพิจารณากันอยู่บ้าง

 

นั่นคือ เราต้องแน่ใจว่าการพักผ่อนของเราจะช่วยให้เราได้ “ผ่อนคลาย” จากความตึงเครียดเหนื่อยล้า ไม่ใช่ยิ่งพักแล้วยิ่งเครียดมากขึ้น จากการพยายามข่มตาหลับแต่ไม่หลับก็ดี หรือการเล่นเกมดูหนังเสพโซเชียลบนเตียงจนยิ่งเครียดและใจคอไม่สงบก็ดี

 

เช่นเดียวกับในชีวิตประจำวัน ชั่วโมงการนอนนั้นไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพการนอน เราไม่จำเป็นต้องนอนให้ได้วันละหลายๆ ชั่วโมง ขอแค่ให้การนอนของเราเป็นการปล่อยวางกายใจให้สงบ ไม่ครุ่นคิด เคร่งเครียด คาดหวัง และวิตกกังวลใดๆ อย่างแท้จริง

 

ถ้าทำให้ได้เช่นนี้ทุกวัน เราก็สามารถเต็มอิ่มกับการพักผ่อนทุกค่ำคืนของเราได้ โดยไม่ต้องรอชดเชยเอาในวันหยุดค่ะ

 

 

  1. ความหมายของการไปเที่ยวค้างคืนต่างจังหวัด

 

 

 

วันหยุดแค่วันเดียวหลายคนอาจจะเลือกพักผ่อน แต่ถ้าหยุดยาวติดต่อกันหลายวันเข้า การไปท่องเที่ยวค้างคืนที่อื่นก็จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจขึ้นมา

 

อย่างไรก็ตาม นิยามของการเที่ยวค้างคืนนอกบ้านของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกัน ดังเช่นพฤติกรรมการเที่ยวของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

บางคนต้องไปเป็นหมู่คณะ คนยิ่งเยอะยิ่งสนุก บางคนชอบไปแค่กับคนที่รู้ใจสนิทสนม บางคนก็ชอบไปคนเดียวเสียเลยไม่วุ่นวายดี

 

บางคนชอบแพลนล่วงหน้านานๆ บางคนชอบทริปกะทันหัน (เพราะแพลนนานมักล่ม) บางคนไม่คิดอะไรเลย รู้ตัวอีกที คืนนี้ไม่นอนบ้านแล้วจ้า

ความแตกต่างนี้ อาจเป็นไปด้วยนิสัยที่แตกต่างกัน หรือเป็นเพราะสภาวะปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่ก็เป็นได้

 

เช่น ถ้าเรากำลังอยู่ในช่วงที่เครียดมากๆ มีแหล่งความเครียดมาคอยกวนใจตลอดๆ การออกไปเที่ยวต่างจังหวัด อาจทำให้สัญญาณมือถือของเราเกิดไม่ดีขึ้นมาเสียอย่างนั้นก็ได้ หรือบางคนต้องขนงานไปทำระหว่างเที่ยว หรือออกไปเที่ยวก็เพื่อให้ได้งาน ความรู้สึกของการพักผ่อนหรือผ่อนคลายไม่เกิดขึ้น การไปค้างคืนต่างสถานที่จึงอาจมีความหมายแค่การเปลี่ยนที่นอนเฉยๆ

 

และถ้าใครเคยล้มเหลวจากการพยายามหาเวลาว่างที่ตรงกันกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง หรือตกลงกันไม่ได้ในเรื่องสถานที่ที่จะไปบ่อยๆ จากที่เคยไปเที่ยวเป็นหมู่คณะตามประสาคนในวัฒนธรรมคตินิยมรวมหมู่ (collectivism) ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นนิยมเที่ยวแบบไปคนเดียวแล้วหาเพื่อนใหม่เอาข้างหน้าก็เป็นได้

 

อย่างไรก็ดี จากผลโพลที่ออกมาก็นับว่าน่าดีใจ ที่ 3 อันดับแรกของผู้ตอบโพลได้ให้ความหมายของการออกไปท่องเที่ยวในแบบที่มีสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะ

 

การได้สานสัมพันธ์กับผู้อื่น การได้ทำในกิจกรรมที่สนใจ รวมถึงการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ตนเองเรียนรู้ ล้วนเป็นสิ่งที่การศึกษาทางจิตวิทยาหลายงานเห็นพ้องกันว่าส่งผลต่อความสุขของบุคคล

 

อาจมีกิจกรรมหลายๆ อย่างที่ตอบสนองความต้องการทั้ง 3 ด้านนี้ แต่การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมไม่กี่อย่างที่ให้ความสุขแก่เราได้หลายๆ ด้านพร้อมกัน ทั้งยังมีผลต่อเราได้ยาวนาน แม้เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมแล้ว เพียงแค่เรานึกถึง ย้อนดูรูปที่ถ่ายไว้ ความทรงจำที่ถูกกระตุ้นก็พาให้อารมณ์ทางบวกจากเหตุการณ์นั้นกลับมาให้เรารู้สึกได้อีกเสมอ

 

ดังนั้น หากเรามีเวลาว่างเพียงพอ (และว่างตรงกันหากคุณไม่คิดจะไปคนเดียว) ขอให้ลงทุนใช้เงินรายได้เหนือรายจ่ายและการเก็บออมไปกับการท่องเที่ยว

 

จะเที่ยววันเดียว หลายวัน เที่ยวใกล้ๆ หรือเที่ยวไกลๆ ก็แทบจะรับประกันความรู้สึกดีต่อใจให้กับคุณได้ทั้งสิ้น

 

 

  1. ถ้าไม่ใช่น้ำ ขอให้ที่สาดมานั้นเป็น…

 

 

เงิน!

 

แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงได้ยากมาก (ถ้าไม่นับการโปรยทานตามงานบวช) แต่ “เงิน” ก็เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งทิ้งห่างจากอันดับอื่นๆ หลายช่วงตัวเลยทีเดียว

 

อันที่จริงก็ไม่ได้เป็นผลที่สร้างความแปลกใจให้ผู้สร้างโพลมากนัก เพราะตอนนึกหาตัวเลือก “เงิน” ก็เป็นชอยซ์ที่เด้งมาอันดับหนึ่งในใจของผู้สร้างโพลเช่นกัน

 

การสาดน้ำ รดน้ำในเทศกาลสงกรานต์ เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของการมอบความสุข สนุกสนานให้แก่กันและกันในช่วงที่ร้อนที่สุดของปี หากจะมีสิ่งใดที่จะถูกใช้แทนน้ำ สิ่งนั้นก็ควรจะมอบความสุขและช่วยดับร้อนให้กับเราเช่นกัน

 

เงินสัมพันธ์กับความสุขของคนเรามากน้อยขนาดไหน

 

แม้นักจิตวิทยาจะคอยบอกว่าความสุขนั้นขึ้นอยู่ที่ใจ ว่าใจของเรานั้นรับรู้และตีความสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไร มองว่าตนเองสามารถรับมือและจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ จนในที่สุด เราพึงพอใจในชีวิตของเรามากน้อยแค่ไหน

 

อย่างไรก็ดี การรับรู้และตีความต่าง ๆ นั้นก็ขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่เรามีอยู่จริงด้วย ว่ามันเพียงพอต่อการใช้ชีวิตและการจัดการปัญหาในแต่ละวันของเราหรือไม่

 

หากเราขาดแคลน มีไม่พอกิน ที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตได้ หรือชีวิตที่ใช้อยู่นั้นปราศจากซึ่งอิสระที่จะได้ทำในสิ่งที่พึงพอใจ หรือไม่ต้องทำในสิ่งที่ไม่พึงพอใจ ก็เป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะรับรู้ว่าตนเองมีความสุข

 

เงินซึ่งเป็นตัวกลางในการได้มาซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้น จึงสัมพันธ์กับระดับความสุขของบุคคลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

แต่ทั้งนี้ เมื่อเรามีเงินมากถึงจุด ๆ หนึ่ง คือจุดที่เราสามารถเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของเราได้ การมีเงินมากขึ้นไปกว่านั้น ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มความสุขให้กับเรามากขึ้นตามไปด้วย

 

คราวนี้ “ใจ” จะเป็นนายของความสุขอย่างแท้จริง

 

ใจที่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง รู้ซึ้งถึงความหมายของชีวิต มีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้น และมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางบวกของตน คือใจที่เป็นสุข

 

ดังนั้น นอกเหนือจากเงินแล้ว คำพูดดีๆ ความรัก รอยยิ้ม (แม้กระทั่งน้ำมนต์หากมองในแง่การเติมพลังทางจิตวิญญาณ) ก็ล้วนเป็นสิ่งดี ๆ ที่เราควรส่งมอบให้แก่กัน และเป็นสิ่งมีค่าที่ควรทุกคนสมควรได้รับ

 

เงินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด แต่คำพูดดีๆ ความรัก และรอยยิ้ม เป็นของฟรีที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด

จงใช้กันอย่างสิ้นเปลืองกันตลอดทั้งปีเลยนะคะ

 

 

  1. จะปฏิเสธคนที่เข้ามาสาดน้ำใส่เราอย่างไร

 

 

คนไทยปฏิเสธใครไม่เก่งจริงหรือไม่

 

จากการสำรวจทางจิตวิทยาเรื่องการจัดการความขัดแย้งซึ่งมีด้วยกันหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. การพยายามหาทางออกร่วมกัน (เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย) 2. การประณีประนอม (ยอมถอยคนละก้าว) 3. การใช้อำนาจ 4. การยอมตาม และ 5. การหลีกหนี พบว่า คนไทยมักเลือกแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธียอมตามและหลีกหนีมากที่สุด

 

ในการศึกษาดังกล่าวอธิบายว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนไทยมีค่านิยมแบบคติรวมหมู่สูง คือเห็นแก่ความสัมพันธ์มากกว่าเป้าหมายของตนเอง อีกทั้งยังมีแรงขับที่จะเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองน้อยอีกด้วย

 

แม้สถานการณ์ปฏิเสธการสาดน้ำนั้นไม่ถึงขั้นที่เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์กับใคร แต่เหมือนว่าการ “จบปัญหาที่ตัวเราเอง” จะเป็นทางออกที่ฝังอยู่ใน DNA ของเราไปแล้ว และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากการเรียนรู้ของเราว่าในอดีตเราเคยได้พยายามปฏิเสธไปแล้วแต่ไม่ได้ผล เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์เดิมหรือสถานการณ์ที่คล้ายๆ กันอีก ก็เลือกทางที่จะเห็นผลแน่นอนมากกว่า

 

จากตัวเลือกทั้งหมด แม้สัดส่วนคนที่พยายามเจรจาด้วยเหตุผลรวมแล้วจะมากกว่าคนที่เลือกเก็บตัวอยู่บ้าน แต่ก็ถือว่ามีจำนวนต่างกันไม่มาก สะท้อนได้ว่าเราต่างมีประสบการณ์ “ล้มเหลวในการปฏิเสธ” กันมาแล้วไม่มากก็น้อย

 

ประสบการณ์ที่บุคคลเรียนรู้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประสบการณ์ของบุคคลอื่นที่เราได้เห็นได้ฟังมาด้วย

 

เช่นผู้เขียนเอง เคยใช้ทั้งวิธีบอกสั้น ๆ ว่าไม่เล่น อธิบายว่าไปธุระ รวมถึงการมองแรง ก็ไม่มีวิธีไหนได้ผล และเคยเห็นคนที่ใส่สูทผูกไทเรียบร้อย พยายามขอร้องว่าต้องไปงาน ไปวัด ก็ยังคงเปียกไปทั้งตัวเช่นกัน ผู้เขียนจึงได้เรียนรู้ว่า อย่างน้อย…แถวบ้านของผู้เขียนก็ไม่เหมาะที่จะใช้วิธีเจรจา…

 

เพื่อไม่ให้เราหมดหวังกับการปฏิเสธและการต่อรองเกินไปนัก ก่อนจบบทความนี้จึงขอฝากวิธีเพิ่มความกล้ายืนหยัดในสิทธิของตนเอง 6 ข้อด้วยกันนะคะ

 

  1. จำไว้ว่า ความคิด ความรู้สึก และความต้องการของเรา มีคุณค่ามีความสำคัญพอ ๆ กับของคนอื่น เคารพในตัวเอง และหยุดขอโทษไปเสียทุกเรื่องทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด
  2. เมื่อต้องการสิ่งใดอย่ารอให้คนอื่นมาสังเกตเห็น จงพยายามหาทางด้วยตัวเองโดยไม่เอาเปรียบผู้อื่น หากจำเป็นอาจขอร้องให้ผู้อื่นช่วย โดยให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราร้องขอไม่เป็นการทำร้ายความรู้สึกและความปรารถนาของเขา
  3. รับผิดชอบในการกระทำของตนเอง หากมีใครไม่พอใจในสิ่งที่เราไม่ได้ทำผิด (เช่น เราปฏิเสธโดยที่เรามีสิทธิปฏิเสธ แล้วเขาโกรธ) นั่นเป็นปัญหาของเขา เราเพียงแต่ควบคุมอารมณ์และการแสดงออกของเราให้ดี
  4. แสดงความคิดและความรู้สึกด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่เหมาะสม ไม่พูดและทำในสิ่งที่เราเองก็ไม่ชอบให้ใครมาทำใส่เรา
  5. ยอมรับคำชมอย่างขอบคุณ และรับคำตำหนิอย่างจริงใจ แต่หากใครเข้าใจเราผิด ก็สื่อสารว่าเราไม่เห็นด้วยอย่างไรโดยไม่ทำไปด้วยอารมณ์โกรธเคือง
  6. ยอมรับว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ตลอดเวลา รู้ในขีดจำกัดและขอบเขตของตัวเอง ถ้าไม่ไหวก็ปฏิเสธด้วยความนุ่มนวล หรือเรื่องใดที่พอจะหาทางออกร่วมกันได้ ก็อาจเสนอทางเลือกอื่นขึ้นมา

 

สิ่งเหล่านี้อาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน แต่ถ้าเราคอยตระหนักและฝึกฝนอยู่เสมอ ก็จะกลายเป็นนิสัยของเราได้

 

คนที่รู้จักรักษาสิทธิ์ของตนเอง จะเป็นผู้ที่รู้สึกเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น หากในสังคมของเราตระหนักในสิทธิของกันและกันมากขึ้น การแก้ปัญหาด้วยการยอมตามและหลีกหนีก็จะน้อยลงได้ในที่สุด

 

การมอบอำนาจให้พนักงาน

 

ในปัจจุบันองค์การส่วนใหญ่ต่างมุ่งหาทางที่จะเอาชนะคู่แข่ง และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (market share) มากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลการปฏิบัติการขององค์การ ก็คือประสิทธิผลของพนักงาน จึงนำไปสู่คำถามว่า “แล้วเราจะปรับปรุงประสิทธิผลของพนักงานได้อย่างไร?”

 

ในโลกธุรกิจปัจจุบันเชื่อว่า การมอบอำนาจให้พนักงาน หรือ Empowering employees จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลในองค์การได้ และยังนำไปสู่ประโยชน์อื่น ๆ แก่องค์การมากมาย

 

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า การมอบอำนาจให้พนักงานคืออะไร? การมอบอำนาจให้พนักงานนั้น เป็นการให้อำนาจ อิสระในการควบคุมและตัดสินใจในการทำงาน ซึ่งตรงกันข้ามกับโครงสร้างอำนาจตามแบบแผนเดิม ๆ ที่มีหัวหน้าเป็นผู้ตัดสินว่าควรจะดำเนินการอย่างไร และเป็นผู้มอบหมายส่วนต่าง ๆ ของงานนั้นให้สมาชิกทีมงานไปปฎิบัติตาม และหัวหน้าเป็นผู้ติดตามผลการดำเนินงานตลอดจนงานเสร็จสิ้น

 

การมอบหมายอำนาจให้พนักงาน เริ่มเป็นที่นิยมในองค์การสมัยใหม่ โดยผู้บริหารหรือหัวหน้าจะมอบหมายให้พนักงานหรือทีมงาน ร่วมวางแผนทั้งหมด ตกลงกันว่าใครจะดำเนินงานส่วนไหน ทำอะไร เริ่มเมื่อไร และตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ต้องขออนุมัติจากหัวหน้าก่อนทุกครั้ง ซึ่งการกระจายอำนาจเช่นนี้ จะทำให้พนักงานรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถ มีอิสระในการควบคุมสิ่งต่าง ๆ รู้สึกว่างานมีความหมาย รู้สึกว่าตนมีอิทธิพลต่อผลการดำเนินงานขององค์การ และรู้สึกว่าตนมีศักยภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้

 

องค์การที่มอบอำนาจให้พนักงานรับผิดชอบในงาน มักจะเป็นรูปแบบของการทำงานเป็นทีม เช่น กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพงาน (Quality circle) ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานจากแผนกต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายให้คิดริเริ่มวิธีการปรับปรุงคุณภาพงาน รวมไปถึงทีมงานบริหารตนเอง (self-managing team) ซึ่งมีอิสระในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ รับผิดชอบในการวางแผน และผลลัพธ์ของงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น

 

 

ประโยชน์ของการมอบอำนาจให้พนักงาน


 

อย่างที่เรารู้กันว่าในสภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน องค์การต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะคอยให้ผู้บริหารหรือหัวหน้า สั่งงานและคอยตัดสินใจในทุก ๆ เรื่อง การมอบอำนาจให้พนักงานจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อองค์การ ดังนี้

 

ประโยชน์ประการแรก คือ ได้ความคิด หรือ Ideas ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน

 

เนื่องจากพนักงานที่ปฏิบัติงานย่อมทราบถึงปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้น และสภาพแวดล้อมในการทำงานของตน มากกว่าผู้บริหาร จึงรู้ว่าควรจะปรับปรุงกระบวนการทำงานและผลผลิตอย่างไร เช่น หากผู้บริหารเปิดโอกาสมอบอำนาจให้พนักงาน โดยสนับสนุนให้มีโครงการพัฒนาคุณภาพงาน พนักงานมาร่วมกันระดมความคิดในการพัฒนาฐานข้อมูลหรือจัดระบบเอกสารใหม่ ซึ่งอาจได้รับความคิดเห็นใหม่ๆ หรือแนวปฏิบัติที่ทำให้การทำงานมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

 

ประโยชน์ประการที่สอง คือ การเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน (productivity) เนื่องจากการมอบอำนาจให้พนักงานมีอิสระในการตัดสินใจในการทำงาน จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกถึงความรับผิดชอบและความเป็นเจ้าของ (ownership) ในงานของตน

 

เช่น การได้มีส่วนร่วมในการริเริ่มโครงการพัฒนางานเองนั่น นอกจากจะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ยังทำให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจในงานและรู้สึกมีความผูกมัด ต่อการทำโครงการนั้นๆ ให้สำเร็จ เพราะพวกเขามีส่วนในการร่วมวางแผน หรือการตั้งเป้าหมายของโครงการนั้นๆ

ประโยชน์ประการที่สาม คือ ส่งเสริมการให้ความร่วมมือ เนื่องจากพนักงานที่ได้รับอำนาจให้รับผิดชอบในการทำงาน จะรู้สึกว่าตนมีความสำคัญต่อองค์การ รู้สึกมีความมั่นใจในความสามารถในการทำงาน พนักงานที่มีระดับความเชื่อมั่นในตนเองและการเห็นคุณค่าแห่งตนสูงจะมีแนวโน้มที่จะยินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลกับผู้อื่น พนักงานเหล่านี้มักจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ความร่วมมือกับผู้อื่นอย่างจริงใจ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สนับสนุนการทำงานเป็นทีม และการให้ความร่วมมือสนับสนุนเป้าหมายขององค์การจัดเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้องค์การบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จ

 

 

อุปสรรคในการมอบอำนาจให้พนักงาน


 

แม้ว่าการมอบอำนาจให้พนักงานจะมีประโยชน์มากมาย เช่น การได้ความคิดใหม่ ๆ ในการปรับปรุงคุณภาพงาน การเพิ่มประสิทธิผล ส่งเสริมการร่วมมือในการทำงาน และเพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงานแก่พนักงาน แต่บ่อยครั้งที่ผู้บริหารหรือหัวหน้าบางคนเกิดความลังเลที่จะสละอำนาจของตน ลังเลที่จะปล่อยให้ลูกน้องรับผิดชอบงาน และตัดสินใจในงานเอง คำถามก็คือ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

 

เหตุผลประการแรกก็คือ ผู้บริหารอาจกลัวที่จะสูญเสียงาน หรือบทบาทความเป็นผู้นำในการดำเนินงาน และตัดสินใจในงานไป / จึงไม่ต้องการที่จะกระจายอำนาจให้แก่พนักงาน

 

เหตุผลประการที่สอง คือ ผู้บริหารเกรงว่าพนักงานที่ได้รับมอบอำนาจให้ตัดสินใจในงานนั้น ๆ เอง อาจจะทำข้อผิดพลาดจนส่งผลเสียแก่องค์การ จะเป็นอย่างไรหากพนักงานผู้นั้นตัดสินใจผิด ผู้บริหารจึงรู้สึกปลอดภัยกว่า ที่จะตั้งกฎ หรือแนวปฏิบัติที่เข้มงวดไว้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ การกระทำเช่นนี้ ทำให้อาจเกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหา หากปัญหานั้นเป็นปัญหาที่ใหม่และไม่มีแนวปฎิบัติมาก่อน

 

เหตุผลประการที่สาม คือ ผู้บริหารบางคนอาจขี้เกียจที่จะมอบอำนาจให้พนักงาน นั่นเป็นเพราะว่า การที่จะมอบอำนาจให้พนักงาน ผู้บริหารต้องกำหนดข้อเสนอแนะที่กระจ่างว่าพนักงานต้องรับผิดชอบอะไร และขอบเขตของงานคืออะไร นอกจากนี้ยังต้องสอนงาน และฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะเพียงพอที่จะรับผิดชอบงานนั้น ๆ ได้เอง โดยที่ไม่ต้องรอคำสั่งจากหัวหน้าตลอดเวลา อีกทั้งผู้บริหารต้องสอดส่องว่าการตัดสินใจของพนักงานที่ได้รับมอบอำนาจนั้นเป็นอย่างไร และต้องคอยให้ผลป้อนกลับ หรือ feedback แก่พนักงานผู้นั้น

 

 

การมอบอำนาจให้พนักงาน


 

ก่อนที่จะตัดสินใจมอบอำนาจให้พนักงานรับผิดชอบงานบางอย่าง หัวหน้าควรจะเลือกภารกิจและขอบข่ายความรับผิดชอบ ให้เหมาะสมกับทักษะของพนักงานที่ได้รับมอบอำนาจ หากหัวหน้ามอบหมายงานที่ยากเกินความสามารถของพนักงาน แล้วล้มเหลวอาจก่อให้เกิดผลเสียแก่องค์การ รวมถึงตัวผู้ปฎิบัติงานเองก็อาจขาดความมั่นใจ เสียขวัญ และรู้สึกว่าตนเองไร้ศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ

 

แนวปฏิบัติของการมอบอำนาจให้พนักงาน มีดังนี้

 

  1. กำหนดภารกิจให้ชัดเจน ว่าจะมอบหมายงานอะไรให้รับผิดชอบ และอธิบายข้อจำกัดของงาน เช่น เวลา อุปสรรค งบประมาณ เป็นต้น แต่ต้องไม่ไปจำกัดโครงสร้างของงานจนทำให้บุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ ไม่สามารถริเริ่มแผนงาน หรือความคิดอะไรใหม่ๆ เลย
  2. ให้อำนาจในหน้าที่ด้วย (authority) ในกรณีที่ภารกิจนั้นเกี่ยวข้องกับการสั่งการบุคคลอื่น
  3. ผู้บริหารควรช่วยให้พนักงานมีทักษะหรือความชำนาญงาน โดยสนับสนุนการฝึกอบรม และการสอนงาน เพื่อเพิ่มความน่าจะเป็นในความสำเร็จ
  4. ให้ดูแนวปฏิบัติในการทำงานที่ดีจากตัวแบบ เช่น เพื่อนร่วมงานที่ประสบความสำเร็จในงานนั้นๆ
  5. ผู้บริหารควรปล่อยให้พนักงานที่ได้รับมอบอำนาจ ดำเนินการเอง ไม่ควรเข้าไปควบคุมอย่างใกล้ชิดหรือไปก้าวก่ายโดยไม่จำเป็น
  6. ควรให้การสนับสนุนทางอารมณ์เพื่อลดความเครียด และความวิตกกังวล เช่น การให้ข้อเสนอแนะ
  7. ผู้บริหารควรให้ผลงานแก่ผู้ทำงาน หากงานนั้นประสบความสำเร็จ / แต่หากล้มเหลวผู้บริหารควรร่วมรับผิดชอบด้วย ไม่ควรตำหนิว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้รับมอบอำนาจเพียงฝ่ายเดียว

 

 

ความแตกต่างระหว่างบุคคลเกี่ยวกับความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย


 

แม้ว่าการมอบอำนาจให้พนักงานมีแนวโน้มจะเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน ขวัญกำลังใจ และแรงจูงใจในการทำงาน เพราะพนักงานที่ได้รับมอบอำนาจ มักรู้สึกว่าตนถูกปฏิบัติราวกับสมาชิกที่มีคุณค่า เป็นคนสำคัญต่ขององค์การ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่ต้องการจะมีส่วนร่วมเมื่อหัวหน้ามอบหมายอำนาจให้รับผิดชอบในงานนั้นเอง

 

พนักงานบางคนมักจะปราถนาที่จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในงาน ก็ต่อเมื่อตนมีทักษะ และความสามารถเพียงพอที่จะรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย และตัดสินใจในงานนั้นๆ เอง โดยพึ่งหัวหน้าน้อยที่สุด นั่นก็หมายความว่า หัวหน้าควรสอนงานและส่งเสริมการฝึกอบรมแก่พนักงานเสียก่อน และมีการสำรวจการรับรู้ของพนักงานว่ามีความพร้อมต่อการได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบงานนั้นๆ หรือไม่ หากมอบหมายให้พนักงานที่มีความสามารถไม่เพียงพอมารับผิดชอบงาน ไม่เพียงแต่อาจเกิดความเสี่ยงต่อองค์การ แต่ยังทำให้พนักงานผู้นั้นรู้สึกวิตกกังวล และเกิดความเครียดได้

 

นอกจากนี้ เมื่อมีการเตรียมพร้อมให้พนักงานมีทักษะในการรับผิดชอบในงาน ก็ควรมอบหมายงานนั้นให้พนักงานรับผิดชอบ เพราะหากว่าต่อมาองค์การไม่อนุญาตให้พนักงานผู้นั้นมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในงานนั้นๆ พนักงานก็อาจรู้สึกไม่พึงพอใจในงาน มีการเห็นคุณค่าแห่งตนต่ำลง เกิดความเครียด และส่งผลให้ผลการปฏิบัติงานต่ำลง

 

ในขณะที่พนักงานบางคนที่มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองต่ำ มักจะปราถนาที่จะมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในงานเพียงน้อยนิด และไม่รู้สึกโกรธแม้ว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วม ดังนั้นผู้บริหารหรือผู้นำควรเลือกคนให้เหมาะสมว่าควรจะมอบอำนาจให้พนักงานคนไหนรับผิดชอบ หรือมีอิสระในการตัดสินใจในงาน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะพึงพอใจหรือปราถนาที่จะมีอิสระในการรับผิดชอบในงานเอง บางคนอาจชอบการนำแบบกำกับดูแลตลอดเวลา มากกว่าการนำแบบมอบอำนาจค่ะ

 

เพราะฉะนั้นการกระจายอำนาจให้พนักงานก็ต้องเลือกผู้รับที่เหมาะสมนะคะ ทั้งความต้องการของเจ้าตัว และความรู้ความสามารถ ซึ่งหัวหน้างานหรือผู้บริหารก็อาจจะต้องช่วยส่งเสริมสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Attachment style – รูปแบบความผูกพัน

 

 

 

รูปแบบความผูกพันเป็นความแตกต่างเชิงบุคลิกภาพ โดยคนเราจะมีลักษณะของการตอบสนองในสถานการณ์ที่เราปฏิสัมพันธ์ชิดใกล้กับบุคคลที่ผูกพันด้วยแตกต่างกัน

 

Ainsworth (1978) สังเกตว่า การที่ทารกสร้างความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู และได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดูในลักษณะแตกต่างกัน ทำให้พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความผูกพันของทารกมีรูปแบบแตกต่างกัน เมื่อทำการศึกษารูปแบบความผูกพันของทารกโดยการสร้างสถานการณ์ให้ทารกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้ยเคย และให้ผู้เลี้ยงดูแยกตัวออกไปจากนั้นจึงให้กลับมาในภายหลัง เพื่อดูว่าทารกมีพฤติกรรมอย่างไรในช่วงต่างๆ

 

ผลการทดลองพบว่า พฤติกรรมของทารกมีทั้งแบบที่แสดงถึงความมั่นคง (secure) คือ ทารกมีความวางใจผู้เลี้ยงดู กล้าสำรวจสิ่งต่างๆ ภายนอก ไม่สบายใจบ้างที่ผู้เลี้ยงดูจากไป และดีใจเมื่อผู้เลี้ยงดูกลับมา แต่ทารกบางคนแสดงรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง (insecure) กล่าวคือ บ้างก็ต่อต้านต่อการจากไปของผู้เลี้ยงดูอย่างมาก และเมื่อผู้เลี้ยงดูกลับมาจะยึดหรือเกาะติดกับผู้เลี้ยงดูมากขึ้น (resistant) บ้างก็แสดงอาการเพิกเฉยต่อผู้เลี้ยงดู ไม่สนใจว่าผู้เลี้ยงดูจะอยู่หรือไม่ (avoidance) นอกจากนี้ยังพบว่าทารกบางคนมีรูปแบบที่ไม่แน่นอน (disorganize) คือมีการแสดงออกอย่างสับสน ทารกแสดงท่าทีว่าต้องการไปหาผู้เลี้ยงดูแต่ก็เปลี่ยนท่าทีและหันหลังกลับ

 

ทั้งนี้ Ainsworth ได้อธิบายว่า ทารกที่แสดงความผูกพันแบบมั่นคงจะเป็นเด็กที่ผู้ปกครองตอบสนองได้ตรงความต้องการ ขณะที่ทารกที่แสดงความผูกพันแบบไม่มั่นคง มักมีผู้ปกครองที่ไม่ตอบสนอง ไม่รู้ถึงความต้องการของทารก อาจเลี้ยงดูอย่างเพิกเฉย หรือแบบไม่คงเส้นคงวา

 

เรื่องรูปแบบความผูกพันของทารกและผู้เลี้ยงดูในวัยเด็กนั้น Bowlby (1973) ได้เสนอว่า การตอบสนองของผู้เลี้ยงดูต่อเด็กจะไปพัฒนาความคาดหวังของเด็กต่อบุคคลที่เด็กผูกพันด้วย ซึ่งความคาดหวังนั้นจะค่อยๆ พัฒนามาตลอดตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี และจะกลายเป็นความคาดหวังต่อบุคคลที่ผูกพันด้วยอย่างคงทนไปตลอดชีวิต

 

กล่าวคือ ความผูกพันระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดูนั้นมีผลกระทบไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ในความสัมพันธ์เชิงคู่รักนั่นเอง

 

งานวิจัยในระยะต่อมาได้สำรวจรูปแบบความผูกพันในวัยเด็กและลักษณะความสัมพันธ์เชิงคู่รักในปัจจุบัน พบว่า บุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแตกต่างกันมักมีความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่แตกต่างกันด้วย โดยรูปแบบความผูกพันทั้งสองช่วงวัยของบุคคลมีลักษณะค่อนข้างสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ความใกล้ชิด ความไว้วางใจในความสัมพันธ์ การเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น รวมถึงความมั่นคงทางอารมณ์

นอกจากนี้ งานวิจัยแบบระยะยาวที่ตรวจสอบความคงทนของรูปแบบความผูกพันในวัยเด็ก พบว่า โมเดลการทำงานภายในตัวบุคคลอันมีพื้นฐานการรับรู้ประสบการณ์แล้วพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบในการรับรู้ผู้อื่นค่อนข้างมีความคงทน ถึงแม้ว่าความคงทนนั้นไม่ได้พบในระดับสูงหรือไร้การเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่รูปแบบความผูกพันของบุคคลจากวัยเด็กจะยังคงลักษณะเมื่อบุคคลเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ไม่มากก็น้อย

 

นักจิตวิทยาพยายามแบ่งประเภทรูปแบบความผูกพันในวัยผู้ใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง และในปี 1990 Bartholomew ได้พัฒนาโครงสร้างรูปแบบความผูกพันในผู้ใหญ่ที่แบ่งออกเป็นมิติ 2 ดังนี้

 

  • มิติความวิตกกังวล หมายถึง ความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองและความรู้สึกว่าตนเองคู่ควรแก่การยอมรับหรือปฏิเสธจากผู้อื่น มิตินี้จะสะท้อนว่าบุคคลมีความรู้สึกทางบวกหรือทางลบต่อตนเอง (model of self)
  • มิติหลีกเลี่ยง หมายถึง ระดับที่บุคคลจะเข้าถึงหรือหลีกเลี่ยงความใกล้ชิดและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มิตินี้สะท้อนความรู้สึกทางบวกหรือทางลบที่มีต่อผู้อื่น (model of others) มองว่าผู้อื่นน่าไว้ใจหรือไม่น่าไว้วางใจ อยู่เคียงข้าง ห่างเหิน เอาใจใส่หรือละทิ้ง

 

 

จากโมเดล 2 มิตินี้สามารถสร้างรูปแบบความผูกพันได้ 4 รูปแบบดังต่อไปนี้

 

  1. รูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง (Secure) เป็นรูปแบบที่มองตนเองและมองผู้อื่นในทางบวก บุคคลจะรู้สึกสบายใจเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เห็นคุณค่าในตนเองและให้ความสำคัญกับการเป็นตัวของตัวเอง เต็มใจพึ่งพาและรับการสนับสนุนจากผู้อื่น
  2. รูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่น (Preoccupied) เป็นรูปแบบที่มองตนเองทางลบ และมองผู้อื่นทางบวก บุคคลจะมีความรู้สึกลึกๆ ว่าตนเองไม่มีคุณค่า จึงต้องการที่จะยืนยันคุณค่าของตนเองด้วยการพยายามอย่างมากที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ขิดกับผู้อื่น และหากผู้อื่นไม่เข้าใกล้หรือใกล้ชิดเพียงพอ บุคคลจะมีความเศร้าและหดหูอย่างมาก
  3. รูปแบบความผูกพันแบบหมางเมิน (Dismissing) เป็นรูปแบบที่มองตนเองทางบวก และมองผู้อื่นทางลบ บุคคลจะปฏิเสธและหลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดกับผู้อื่น เพราะคาดหวังเกี่ยวกับผู้อื่นในทางลบ จนคิดว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้บุคคลยังให้คุณค่ากับตนเองด้วยการปฏิเสธว่าบุคคลอื่นมีคุณค่ากับตนและให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระอย่างมาก
  4. รูปแบบความผูกพันแบบหวาดกลัว (Fearful) เป็นรูปแบบที่มองตนเองและผู้อื่นทางลบ บุคคลจะประเมินค่าของตนเองจากการตอบสนองและลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างตนและผู้อื่นว่าผู้อื่นทำดีกับตนหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันบุคคลกลับหวาดกลัวที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เพราะกลัวว่าจะได้รับความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์หรือการถูกเพิกเฉยไม่ใส่ใจจากผู้อื่นเนื่องจากมองผู้อื่นในแง่ลบ

 

ทฤษฎีรูปแบบความผูกพันได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและถูกนำไปใช้เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมระหว่างบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์แบบคู่รัก อาทิ ระดับความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ระดับการผูกมัด ความมั่นคงในความสัมพันธ์ ระดับความโรแมนติก ระยะห่างกับคู่รัก การสื่อสารกับคู่รัก การให้อภัยคู่รัก และระยะเวลาของความสัมพันธ์

โดยผู้มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงมีแนวโน้มจะมีสัมพันธภาพกับคู่ของตนเป็นไปในทางบวกมากกว่าบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบอื่น ๆ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ตรวจสอบวิธีรับมือกับความเครียดความไม่สบายใจของบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบต่าง ๆ พบว่า บุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงจะประเมินปัญหาว่าเป็นสิ่งคุกคามน้อยกว่าและมองว่าตนเองรับมือได้มากกว่าบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันรูปแบบอื่น และเมื่อเจอปัญหาที่หนักหนาก็จะมองหาการสนับสนุน อาจใช้กลยุทธ์ห่างเหินจากปัญหาเพื่อทำใจให้สงบและลดความตึงเครียด เมื่อรู้สึกดีขึ้นก็สามารถกลับมาเผชิญปัญหาใหม่ได้

 

ส่วนบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง โดยเฉพาะบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่น มักใช้กลยุทธ์ทางอารมณ์เป็นหลัก คือพยายามบรรเทาความตึงเครียดภายในจิตใจมากกว่าที่จะพยายามแก้ปัญหา

 

อย่างไรก็ดี งานวิจัยในระยะหลังพบว่า บุคคลที่มีการหลีกเลี่ยงในความผูกพันสูงมีความสามารถในการทำงานที่ต้องการใช้การแยกแยะความสนใจได้ดีกว่าบุคคลอื่น เช่น การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งความสามารถนี้เป็นเพราะบุคคลสามารถที่จะเมินเฉยหรือระงับการรับรู้สิ่งที่มารบกวนได้มากนั่นเอง

 

จะเห็นได้ว่า การที่ผู้เลี้ยงดูให้ความใกล้ชิด ไวต่อความรู้สึก และตอบสนองความต้องการของเด็ก เด็กจะมีฐานอันมั่นคง (secure base) สำหรับการเผชิญต่อโลกภายนอกเมื่อเติบใหญ่ รู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้พบเจอเรื่องไม่สบายใจ เรียกความมั่นใจกลับมาได้ใหม่ได้เมื่อตื่นกลัว ทั้งนี้เพราะบุคคลรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่า เป็นที่รักที่ต้องการ และประเมินว่าผู้อื่นตอบสนองและไว้วางใจได้

 

ตรงกันข้ามหากเด็กไม่ได้รับความอบอุ่น ถูกปฏิเสธ ถูกทอดทิ้งจากผู้เลี้ยงดู ในที่สุดบุคคลจะประเมินว่าผู้อื่นไม่ตอบสนอง ไม่น่าไว้วางใจ หรือมองตนเองว่าไร้คุณค่าแก่การใส่ใจ ไม่เป็นที่รักที่ต้องการ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางบุคลิกภาพ ทั้งกระบวนการทางปัญญา อารมณ์ และพฤติกรรม เกี่ยวกับการสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด รวมถึงการตอบสนองต่อความต้องการทั้งภายในและภายนอกตลอดช่วงชีวิตของบุคคล

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของรูปแบบความผูกพันต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ โดยมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุและรูปแบบการอนุมานความรับผิดชอบเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย พงศ์มนัส บุศยประทีป (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30151

 

“อิทธิพลของรูปแบบความผูกพันต่อลักษณะนิสัยการให้อภัย : ทวิโมเดลแข่งขันโดยมีตัวแปรการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นและการหมกมุ่น ครุ่นคิดเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย รวิตา ระย้านิล (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30697

 

Causal attribution styles – รูปแบบการอนุมานสาเหตุ

 

 

 

รูปแบบการอนุมานสาเหตุ หมายถึง รูปแบบที่บุคคลใช้ในการอนุมานสาเหตุในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีด้วยการ 8 รูปแบบ จากมิติ 3 มิติ ดังนี้

 

  • มิติที่มาของสาเหตุ…….ภายใน Vs ภายนอก
  • มิติความคงทนของสาเหตุ…….คงทน Vs ไม่คงทน
  • มิติการแผ่ขยายของสาเหตุ…….ทั่วไป Vs เฉพาะเจาะจง

 

ตัวอย่าง สถานการณ์…ผู้หญิงถูกคนรักปฏิเสธ

 

  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายใน” มองว่า “คงทน” และ “ทั่วไป” จะอนุมานสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “ฉันขาดเสน่ห์ดึงดูดใจเพศชาย”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายใน” มองว่า “คงทน” และ “เฉพาะเจาะจง” จะอนุมานว่าสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “ฉันขาดเสน่ห์ดึงดูดเขา”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายใน” มองว่า “ไม่คงทน” และ “ทั่วไป” จะอนุมาณสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “บางครั้งบทสนทนาของฉันคงทำให้เพศชายเบื่อ”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายใน” มองว่า “ไม่คงทน” และ “เฉพาะเจาะจง” จะอนุมาณสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “บางครั้งบทสนทนาของฉันทำให้เขาเบื่อ”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายนอก” มองว่า “คงทน” และ “ทั่วไป” จะอนุมานสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “เพศชายรู้สึกว่าถูกเปรียบเทียบเมื่ออยู่กับผู้หญิงที่ฉลาดกว่า”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายนอก” มองว่า “คงทน” และ “เฉพาะเจาะจง” จะอนุมานว่าสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “เขารู้สึกเปรียบเทียบเมื่ออยู่กับฉัน”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายนอก” มองว่า “ไม่คงทน” และ “ทั่วไป” จะอนุมาณสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “บางครั้งเพศชายอาจจะมีอารมณ์เพิกเฉย”
  • หากมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุจาก “ภายนอก” มองว่า “ไม่คงทน” และ “เฉพาะเจาะจง” จะอนุมาณสาเหตุของสถานการณ์นี้ว่า – “เขามีอารมณ์เพิกเฉยในตอนนี้”

 

รูปแบบการอนุมานสาเหตุนั้นพัฒนามาตั้งแต่บุคคลอยู่ในวัยเด็ก หนึ่งในที่มาของรูปแบบการอนุมานสาเหตุที่สำคัญมาจากการสังเกตบุคคลรอบตัว โดยเฉพาะแม่หรือบุคคลที่คอยเลี้ยงดูเด็ก เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบุคคลเหล่านั้น และจะคอยสังเกตและจดจำว่าในสถานการณ์รูปแบบต่างๆ คนเหล่านั้นอนุมานสาเหตุเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นในรูปแบบใด

 

นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลสำคัญต่อรูปแบบการอนุมานสาเหตุ ได้แก่ การตอบสนอง เช่น คำวิจารณ์และคำชมเชยของครูที่ให้กับเด็กเมื่อเด็กนั้นประสบความสำเร็จหรือประสบความล้มเหลว การที่ครูชมเชยหรือวิจารณ์ว่าผลงานที่เด็กได้ทำไปนั้นเป็นผลมาจากอะไร จะทำให้เด็กซึมซับรูปแบบการอนุมานสาเหตุนั้นไปใช้ต่อไป

 

ปัจจัยสุดท้ายคือ เหตุการณ์วิกฤต หรือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชีวิตในวัยเด็ก จะส่งผลต่อรูปแบบการอนุมานสาเหตุของเด็กได้เช่นเดียวกัน เช่น การที่เด็กประสบกับความสูญเสียที่มาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาจจะทำให้เด็กเรียนรู้ว่าตนไม่สามารถทำสิ่งใดกับเหตุการณ์เลวร้ายอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งตนไม่สามารถบังคับให้เกิดหรือไม่เกิดได้

 

 

“การมองโลก” และรูปแบบการอนุมานสาเหตุ


 

รูปแบบการอนุมานสาเหตุสามารถใช้ทดสอบว่าบุคคลมองโลกในแง่ดี (optimism) หรือแง่ร้าย (pessimist) ได้

 

กล่าวคือ ในสถานการณ์ทางทางลบหรือสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สบายใจ บุคคลที่มองโลกในแง่ดีจะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์นั้นว่า เกิดจากภายนอก จะเกิดเพียงชั่วคราว และจะไม่แผ่ขยายไปยังสถานการณ์อื่น ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มองโลกในแง่ร้ายจะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์นั้นว่าเกิดจากภายใน เกิดขึ้นอย่างถาวร และแผ่ขยายไปยังสถานณ์อื่น ๆ

 

และในทางกลับกัน ในสถานการณ์ทางบวกหรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกดี บุคคลที่มองโลกในแง่ดีจะอธิบายถึงสาเหตุของสถานการณ์นั้นว่า เกิดจากภายใน เกิดขึ้นอย่างถาวร และจะแผ่ขยายไปยังสถานการณ์อื่น ๆ ส่วนบุคคลที่มองโลกในแง่ร้ายจะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์นั้นว่าเกิดจากภายนอก จะเกิดเพียงชั่วคราว และจะไม่แผ่ขยายไปยังสถานการณ์อื่น

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“อิทธิพลของรูปแบบความผูกพันต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ โดยมีรูปแบบการอนุมานสาเหตุและรูปแบบการอนุมานความรับผิดชอบเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย พงศ์มนัส บุศยประทีป (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30151

 

Big 5 Personality Factors – บุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ

 

 

บุคลิกภาพ หมายถึง องค์ประกอบภายในของบุคคลที่มีความคงทน และเป็นแบบแผนในการคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของแต่ละบุคคล

บุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ คือ รูปแบบหนึ่งในการจัดกลุ่มของบุคลิกภาพที่ได้รับความนิยมจากนักจิตวิทยาว่าสามารถช่วยอธิบายถึงโครงสร้างของบุคลิกภาพของบุคคลในระดับสากลได้

 

 

โดยบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบแบ่งเป็น 5 มิติใหญ่ๆ ดังนี้

 

 

 

1. Neuroticism – ความไม่มั่นคงทางอารมณ์

เป็นแนวโน้มในการเกิดประสบการณ์อารมณ์ทางลบของบุคคล เป็นความบกพร่องในการปรับตัวทางอารมณ์ของบุคคล ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเกิดภาวะความเครียดทางจิตใจ เช่น ความรู้สึกวิตกกังวล ไม่มั่นคง ประหม่า กลัว ซึมเศร้า โกรธ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงภาวะอารมณ์ที่สับสนที่แทรกซ่อนต่อการปรับตัวด้วย

บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้สูง มีแนวโน้มที่จะมีความคิดที่ขาดเหตุผล มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเองน้อย และเผชิญต่อความเครียดได้ไม่มีเท่าคนอื่น และอาจเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางจิตบางชนิดได้
บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้ต่ำ จะเป็นบุคคลที่ไม่ค่อยซึมเศร้าง่าย ไม่ค่อยมีอารมณ์ทางลบ ค่อนจ้างเป็นคนที่สงบ มีความมั่นคงทางอารมณ์ และมีอารมณ์ลบคงอยู่ได้ไม่นาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นบุคคลที่มีอารมณ์ทางบวกสูงเสมอไป

 

 

2. Extraversion – การเปิดตัว

เป็นลักษณะของบุคคลที่ชอบเข้าสังคม ชอบการพบปะพูดคุยกับผู้อื่น ชอบอยู่ในกลุ่มคน มีลักษณะเป็นคนเปิดเผยตนเอง มีอารมณ์ทางบวกเกินขึ้นได้บ่อย มีแนวโน้มที่จะเป็นคนมีนิสัยร่าเริง มองโลกในแง่ดี กระตือรือร้น ชอบตุการณ์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ และเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง

บุคคลที่มีลักษณะตรงกันข้ามเรียกว่า Introvert มักเป็นคนที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ชอบเข้าสังคม ชอบอยู่คนเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนที่ขาดทักษะทางสังคมหรือขี้อาย หากแต่เป็นบุคคลที่ต้องการอยู่คนเดียว ไม่ชอบการกระตุ้นจากสังคม จึงดูเหมือนเป็บคนที่ไม่เป็นมิตรหรือไม่สนใจผู้อื่น

 

 

3. Openness to Experience – การเปิดรับประสบการณ์

บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้สูง จะเป็นคนที่ค่อนข้างมีจินตนาการ ไวต่อความรู้สึก รับรู้ความงามของศิลปะ ไวต่อความงาม ชอบใช้สติปัญญา รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ดี

บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้ต่ำ มักชอบมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ชอบคิดตามกรอบประเพณีดัง้เดิม ชอบสิ่งที่เรียบๆ ไม่ซับซ้อนหรือลักซึ้งมากนัก ไม่สนใจด้านศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ การตอบสนองทางอารมณ์ไม่มากนัก

 

 

4. Agreeableness – ความเป็นมิตร

เป็นแนวโน้มของบุคคลที่จะยอมตามผู้อื่น ชอบที่จะร่วมมือ ชอบความกลมกลืนทางสังคม เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นก่อนตนเอง
บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้สูง มักจะมีค่านิยมที่เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่น มองธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ดี มีความซื่อสัตย์จิตใจดี และไว้วางใจได้ จึงมักจะมีลักษณะนิสัยที่มีความเป็นกันเอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ชอบความปรองดอง

บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้ต่ำ มักจะสนใจในผลประโยชร์ของตนเองเป็นหลัก มากกว่าการได้อยู่ร่วมกับผู้อื่น มักจะไม่สนใจในทุกข์สุขของผู้อื่น ไม่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น บางครั้งมีความสงสัยในแรงจูงในของการกระทำของผู้อื่น จึงมีความหวาดระแวง ไม่เป็นมิตร และไม่ชอบทำงานร่วมกับผู้อื่น

 

 

5. Conscientiousness – การมีจิตสำนึก

เป็นแนวโน้มของบุคคลที่จะแสดงความมีวินัยในตนเอง รู้จักหน้าที่ มีจุดมุ่งหมายที่จะประสบความสำเร็จ
บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้สูง มักจะชอบวางแผนล่วงหน้า ส่งผลให้เป็นคนที่มีการควบคุมการกระทำของตนเอง และกำหนดทิศทางความต้องการภายในให้มีการแสดงออกอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงที่จะไม่กระทำในสิ่งที่มองเห็นว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น ถูกมองจากผู้อื่นว่าเป็นคนฉลาด เชื่อถือได้ ส่วนในแง่ลบ มักเป็นคนทำงานหนักมากเกินไป มีแนวโน้มต้องการความสมบูรณ์แบบ จริงจังกับทุกเรื่อง จึงดูเป็นคนเคร่งเครียดตลอดเวลา ไม่มีชีวิตชีวา น่าเบื่อ

บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้ต่ำ จะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความทะเยอทะยาน ไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต ดูไม่น่าเชื่อถือ ดำรงชีวิตไปตามความต้องการระยะสั้นของตนเอง ไม่สามารถทำตามแบบแผนที่ถูกกำหนดได้ แต่ก็จะเป็นบุคคลที่ไม่น่าเบื่อและไม่เครียดเครียดกับสิ่งต่างๆ มากเกินไป

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“โมเดลเชิงสาเหตุของการปฎิบัติงานแบบกลุ่ม : อิทธิพลของบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ ส่งผ่านความรู้เกี่ยวกับการทำงานแบบกลุ่ม บุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่ง และปฏิสัมพันธ์” โดย กุลชนา ช่วยหนู (2552) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/15720

 

“ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ ต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยมีองค์ประกอบของความรักทั้งสามเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย สิริภรณ์ ระวังงาน (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/37529

Gender Role – บทบาททางเพศ

 

 

 

เอกลักษณ์ทางเพศเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด คือไม่เป็นเพศหญิงก็ต้องเป็นเพศชาย เพศใดเพศหนึ่ง (ยกเว้นบุคคลที่ผิดปกติคือเกิดมามี 2 เพศในคนเดียว) ขณะเดียวกันมนุษย์ก็ยังได้กำหนด “บทบาททางเพศ” ขึ้นเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตามความคาดหวังของสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

 

สังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมได้แบ่งบทบาทของเพศชายและเพศหญิงให้แตกต่างกันมาก โดยถือว่าผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแรงมีพละกำลังมาก ควรทำหน้าที่ดูแลปกป้อง และคุ้มครองสังคม สังคมจึงยกย่องผู้ชายในฐานะบทบาทของผู้คุ้มครอง ส่วนผู้หญิงนั้นเป็นเพศอ่อนแอ มีความนุ่มนวลละเอียดอ่อน ผู้หญิงจึงทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว และอบรมเลี้ยงดูบุตร

 

ทั้งนี้ บทบาททางเพศไม่ได้หมายถึงแต่เพียงพฤติกรรมที่สังคมปรารถนาเป็นพิเศษสำหรับเพศชายและหญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคลิกลักษณะ เจตคติ และค่านิยมอีกด้วย

 

“ลักษณะของความเป็นชาย” หมายถึง พฤติกรรมที่มุ่งเน้นความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตนเองได้ตั้งไว้ ได้แก่ ลักษณะของความเป็นผู้นำ ความเชื่อมั่นในตนเอง ความกล้าแสดงออก เป็นต้น

 

“ลักษณะความเป็นหญิง” หมายถึง พฤติกรรมที่เน้นการแสดงออกทางอารมณ์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดผลดีในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น ความเอาใจใส่ การมีความรู้สึกไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น เป็นต้น

 

ความเป็นหญิงและความเป็นชายเป็นลักษณะที่เป็นอิสระจากกัน คือบุคคลหนึ่งสามารถมีลักษณะความเป็นหญิงหรือชายสูงเพียงอย่างเดียว หรือสูงทั้งสองอย่าง หรือต่ำทั้งสองอย่างก็ได้ ดังนั้นบทบาททางเพศจึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้

 

  1. บทบาททางเพศแบบมีความเป็นชายสูงลักษณะเดียว (masculine) เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ เป็นผู้นำ เข้มแข็ง กล้าตัดสินใจ ชอบแข่งขัน มีพลังอำนาจ กระฉับกระเฉง เป็นอิสระ
  2. บทบาททางเพศแบบมีความเป็นหญิงสูงลักษณะเดียว (feminine) เป็นผู้มีความอ่อนหวาน นุ่มนวล ขี้อาย อ่อนแอ เป็นผู้ตาม เป็นผู้ถูกกระทำ
  3. บทบาททางเพศแบบมีความเป็นชายและความเป็นหญิงสูงทั้งคู่ (androgyny) เป็นผู้ที่แสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ มีความยืดหยุ่น สามารถผสมผสานความเข้มแข็งของผู้ชาย และความอ่อนโยนของผู้หญิงไว้ในตนเอง ปรับตัวง่าย
  4. บทบาททางเพศแบบมีความเป็นหญิงและความเป็นชายต่ำทั้งคู่ (undifferentiated) เป็นผู้ที่มีบทบาททางเพศไม่ชัดเจน ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยอาจแสดงออกในลักษณะที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคม

 

 

ทั้งนี้ บทบาททางเพศนั้นเป็นผลสืบเนื่องมากจากอิทธิพลที่เป็นองค์ประกอบร่วมกัน 2 ประการ คือ

 

องค์ประกอบทางชีวภาพของร่างกาย ได้แก่ การทำงานของฮอร์โมนเพศ และยีนส์ที่เกี่ยวพันกับสรีระและความสามารถบางอย่างของเพศชายและเพศหญิง

 

องค์ประกอบทางสภาพแวดล้อม ได้แก่ สิ่งแวดล้อมในครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู และการเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม

ในสมัยก่อน เราเชื่อกันว่าวัยรุ่นที่สามารถพัฒนาบทบาททางเพศให้เหมาะสมกับเพศของตนได้เป็นเครื่องบ่งชี้ความสามารถในการปรับตัว ดังนั้นบุคคลที่มีบทบาททางเพศไม่ตรงกับเพศของตน หรือมีลักษณะความเป็นหญิงและชายสูงทั้งคู่ ถือว่าเป็นผู้มีความล้มเหลวในการพัฒนาบทบาททางเพศของตนให้เป็นไปตามความต้องการทางสังคม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายต้องมีการสลับบทบาทกันบ้างในสถานการณ์ต่างๆ บทบาททางเพศแบบ androgyny เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงเกิดแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับบทบาททางเพศและการปรับตัว โดยพบว่า บทบาททางเพศแบบ androgyny ทำให้บุคคลมีความยืนหยุ่นสูง ปรับตัวในสังคมได้ดี และมีโอกาสประสบความสำเร็จมาก เนื่องจากมีอิสระจากกฎเกณฑ์ต่างๆ มองสถานการณ์ต่างๆ กว้างขึ้น และมีการตอบสนองที่เหมาะสมตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี

นอกจากนี้ยังมีข้อที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ จากงานวิจัยของ ฉันทิกา ทิมากร (2534) ที่ศึกษาความสามารถในการปรับตัวของวัยรุ่นตอนปลาย พบว่า วัยรุ่นชายที่มีลักษณะmasculine เป็นกลุ่มที่ปรับตัวกับเพื่อนได้ดีที่สุด ขณะที่วัยรุ่นหญิงที่มีลักษณะ androgyny เป็นกลุ่มที่ปรับตัวกับเพื่อนได้ดีที่สุด

 

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากสังคมไทยมักยืดถือบทบาททางเพศแบบตรงตามเพศในเพศชายสูง สังคมยังคงคาดหวังให้ผู้ชายมีความเข้มแข็ง เป็นผู้นำครอบครัว ขณะที่ผู้หญิง สังคมมีความคาดหวังให้ผู้หญิงต้องพัฒนาตนเองจากบทบาทของแม่บ้านมาหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว การทำงานนอกบ้านผู้หญิงจึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณลักษณะความเป็นชายขึ้นด้วย

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

“บทบาทของเพศ บทบาททางเพศ และความเป็นปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่ต่อการเสียใจภายหลัง และเป้าหมายการควบคุม” โดย สินีรัตน์ โชติญาณนนท์ (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20415

 

“การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเอกลักษณ์บทบาททางเพศ ของวัยรุ่นกับเอกลักษณ์บทบาททางเพศของพ่อแม่ ตามการรับรู้ของตนเอง” โดย วรรณภา เพชราพันธ์ (2534) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/24324

 

“การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการปรับตัวกับเพื่อน ของเด็กวัยรุ่นตอนปลายที่มีบทบาททางเพศแตกต่างกัน” โดย ฉันทิกา ทิมากร (2534) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/35146