ข่าวและกิจกรรม

5 เหตุผลทางจิตวิทยา ที่การท่องเที่ยวดีต่อใจ

 

ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ นอกจากการซื้อของขวัญให้แก่กันและกันแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนอาจถือโอกาสในช่วงวันหยุดยาวเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

 

การท่องเที่ยว นอกจากจะให้ความเพลินเพลิน สร้างความผ่อนคลาย ทำให้เกิดอารมณ์ที่ดี มีความสุข และช่วยให้เราสามารถหลีกหนีจากความเครียดในชีวิตได้แล้ว (Gilbert & Abdullah, 2002) ในทางจิตวิทยา การท่องเที่ยวยังส่งเสริมประสิทธิภาพของการทำงานของสมอง ช่วยในแง่ของกระบวนการคิด และสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อคนอื่นๆ ให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่แปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย อยู่บ่อยครั้ง คุณน่าจะได้รับแรงบันดาลใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งยังอาจจะทำให้คุณกลายเป็นคนที่ใจกว้าง มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้นด้วย

 

นั่นก็เพราะ การเดินทางไปยังที่ๆเราไม่คุ้นเคย ไม่เคยไปมาก่อน เหมือนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่เราต้องเผชิญ เท่ากับว่าเรากำลังออกจาก comfort zone หรือความเคยชินเดิม ๆ

 

เราต้องมีการวางแผน มีการจัดการบริหารสิ่งต่างๆและปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ดังนั้น สมองของเราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงการเชื่อมโยงของเส้นประสาท ทำให้มีความยืดหยุ่น มีการเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ๆ แต่ละประเภทได้มากขึ้น ทำให้สามารถสร้างการเชื่อมต่อและเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น หรือที่เรียกว่า neuroplasticity ซึ่งตรงจุดนี้เองที่จะส่งเสริมให้คนเรา #เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือจุดประกายแนวคิดใหม่ ๆ ได้

 

ทั้งนี้ งานวิจัยของ Maddux & Galinsky (2009) พบว่า กุญแจสำคัญของการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นั่นก็คือ การได้ใช้เวลาอยู่ในสถานที่ใหม่ ๆ ซึมซับกับบรรยากาศ และปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรม หรือความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้นๆ เนื่องจากจะทำให้เราได้เห็นมุมมองการใช้ชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น

 

นอกจากเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ หรือรูปแบบวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การท่องเที่ยวยัง เพิ่มความไว้วางใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกด้วย เพราะการมีประสบการณ์ที่หลากหลายทางวัฒนธรรม เพิ่มความเชื่อมโยงทางความคิดระหว่างตัวเรากับคนในวัฒนธรรมอื่น ๆ มากขึ้น ทำให้เราได้เห็นว่าคนในประเทศอื่น วัฒนธรรมอื่น ก็ปฏิบัติกับเราไม่ได้แตกต่างกัน ทำให้เราเกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ ศรัทธาในความเป็นมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน และเกิดความไว้วางใจกันได้ในที่สุด

 

ผลพวงที่สำคัญอีกประการจากการได้เปิดรับมุมมองใหม่ ๆ ผ่านการท่องเที่ยว นั่นคือ เราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างได้ดีมากขึ้นเนื่องจากการที่เราได้พบปะกับผู้คนที่มีสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือความเชื่อที่ต่างจากตัวเรา ทำให้เราสามารถที่จะเปิดรับ อดทน และมีความยืดหยุ่นต่อความหลากหลาย การยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนเราได้มากขึ้นนี่เอง ที่จะทำให้เรา ไม่ตัดสินคนอื่นง่าย ๆ ทำให้เราเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนที่คิดต่างจากเราได้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ หลายๆ ครั้งที่การเดินทางท่องเที่ยวของเรานั้น เป็นการท่องเที่ยวแบบกลุ่มหรือหมู่คณะ การได้เรียนรู้ประสบการณ์แปลกใหม่ร่วมกัน ก็สามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของตัวเราและเพื่อนร่วมเดินทางดีขึ้น เนื่องจากการมีเป้าหมายร่วมกัน ทำให้มีความใกล้ชิดสนิทแน่นแฟ้นมากขึ้น รู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น

 

แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบเที่ยวคนเดียว การเดินทางเพียงลำพังก็ช่วยทำให้คุณได้รู้จักตัวเองมากขึ้นได้เช่นกัน คุณอาจจะค้นพบจุดแข็งหรือข้อดีในตัวเอง ที่อาจจะไม่เคยรับรู้มาก่อนก็ได้ว่าคุณมีความสามารถด้านนี้

 

ด้วยข้อดีเหล่านี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่งานวิจัยจะพบว่า ประสบการณ์จากการท่องเที่ยวนั้นสร้างความสุขได้มากกว่าและยาวนานกว่าการซื้อสิ่งของชิ้นใหม่เสียอีก (Kumar, Killingsworth, & Gilovich, 2014)

 

ทราบข้อดีของการท่องเที่ยวที่ให้คุณได้มากกว่าแค่ความสนุกสนานแล้ว ลองวางแผนทริปอื่น ๆ หลังจากนี้ของคุณไปยังสถานที่แปลกใหม่กันดูบ้างดีไหมคะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Gilbert, D., & Abdullah, J. (2002). A study of the impact of the expectation of a holiday on an individual’s sense of well-being. Journal of Vacation Marketing, 8(4), p.352-361.

 

Kumar, A., Killingsworth, M. A., & Gilovich, T. (2014). Waiting for Merlot: Anticipatory consumption of experiential and material purchases. Psychological science, 25(10), 1924-1931.

 

Maddux, W., & Galinsky, A. (2009). Cultural borders and mental barriers: The relationship between living abroad and creativity. Journal of Personality and Social Psychology, 96(5), 1047-1061.

 

ภาพจาก https://pxhere.com/en/tag/415

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การสื่อสารเพื่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดี

 

เราทุกคนคงไม่สามารถอยู่คนเดียวได้

 

เราต้องพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกัน เราต้องการความรัก ความอบอุ่นและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดี

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น บางครั้งเรามักเกิดความขัดแย้งหรือความก้าวร้าวต่อกันและกัน

 

 

เราลองมาดู “สาเหตุที่เป็นไปได้บางประการของความขัดแย้งหรือความก้าวร้าว” ที่เกิดขึ้นกันค่ะ

 

ประการแรก บุคลิกภาพทั้งของตัวเราเองและผู้อื่น

 

บางครั้งเราอาจไม่ได้มองตัวเราเอง หรือเรามองเห็นตัวเราไม่ชัดเจน แต่เรามักจะมองเห็นผู้อื่นอย่างชัดเจน เรามักมีเหตุผลให้กับการกระทำของตนเองเสมอ เราทุกคนมักมีอีโก้ (ego) ไม่มากก็น้อย บางคนมีอีโก้มากเข้าขั้นบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง (narcissistic) กล่าวคือ ชอบคำชื่นชมอย่างมาก ไม่ชอบคำวิพากษ์วิจารณ์ มักแสดงความก้าวร้าวอย่างรุนแรงเมื่อไม่ได้อย่างใจ แต่ตนเองสามารถวิจารณ์คนอื่นได้ ไม่ให้เกียรติผู้อื่น และอาจถึงขั้นใช้ประโยชน์ผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ตนเอง

 

บุคคลประเภทนี้คงไม่มีใครอยากอยู่ใกล้มากนัก นอกจากคนที่ได้รับผลประโยชน์จากคนแบบนี้ บุคลิกภาพแบบนี้มักก่อให้เกิดความขัดแย้งและความก้าวร้าวรุนแรงได้

 

นอกจากนี้ บางคนก็อาจต้องการอำนาจและการควบคุมมากกว่าความรัก ความผูกพัน ทำให้คนที่อยู่ใกล้รู้สึกอึดอัดได้ เพราะเราทุกคนคงต้องการการให้เกียรติกันและกัน

 

ประการที่สอง การมีความนับถือตนเองต่ำ (low self-esteem)

 

ผู้เชี่ยวชาญบางท่านระบุว่า ผู้ที่นับถือตนเองต่ำจะต้องการความรักและการยอมรับจากผู้อื่น แต่ไม่สามารถให้ผู้อื่นได้เพราะตนเองยังรู้สึกไม่ปลอดภัย ในบางครั้งคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นจึงมีผลต่อบุคคลประเภทนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงควรสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง การเลี้ยงดูลูกหลานของเราสามารถมีผลเป็นอย่างมากที่จะทำให้ลูกหลานของเราสามารถรักตนเองและแบ่งปันความรักความอบอุ่นให้กับคนรอบข้าง

 

ประการที่สาม การติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน

บางครั้งเราจะได้ยินคำพูดที่ว่า “พูดไม่เข้าหู” นั่นหมายถึง คำพูดมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดสัมพันธภาพและความเข้าใจที่ดีระหว่างกัน นอกจากคำพูดแล้ว ท่าทางของเราก็มีผลต่อผู้อื่นไม่แพ้กัน

 

 

ในที่นี้ เรามาพิจารณา “แนวทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ” กันค่ะ

 

แนวทางการสื่อสารเพื่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดี 3 ประการ

 

ประการแรก ตั้งใจฟังคู่สนทนาของเรา

ฟังอย่างมีทักษะ เพื่อเข้าใจว่าผู้พูดต้องการบอกอะไรเรา นอกเหนือจากคำพูดที่ผู้พูดกล่าวออกมา

วิธีนี้จะทำให้เราเข้าใจความต้องการ ความรู้สึกของผู้พูดอย่างแท้จริง ถ้าไม่เข้าใจก็ให้ถามผู้พูดซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราสนใจฟังที่เขาพูด จากนั้นเราจึงสามารถตอบสนองความต้องการของผู้พูดได้อย่างเข้าใจซึ่งจะทำให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น

 

ประการที่สอง การร่วมรู้สึก (empathy)

เมื่อเราเข้าใจผู้ร่วมสนทนาอย่างแท้จริง เราจะสามารถแสดงความเข้าใจ ร่วมรู้สึก เห็นอกเห็นใจคู่สนทนาได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้คู่สนทนาเปิดใจรับเรามากขึ้น สัมพันธภาพระหว่างกันก็จะงอกงามมากขึ้น

นอกจากนี้ บางครั้งเราก็ต้องแสดงความรู้สึกของเราโดยใช้คำพูดที่เหมาะสม เช่น “ฉันรู้สึกไม่ค่อยดีเลยที่คุณมาสาย” ดีกว่าที่จะพูดตำหนิคนอื่นว่า “คุณแย่มากที่มาสาย” การที่เราเข้าใจความรู้สึกของเขา ไม่ตำหนิเขา เขาก็จะเปิดใจยอมรับเรามากขึ้น

 

ประการที่สาม แสดงความห่วงหาอาทร

เข้าใจเขา มีเจตคติหรือทัศนคติที่ดี มีน้ำเสียงที่อ่อนโยน แสดงความเข้าใจ บางครั้งเราก็ว่าเราพูดจาดีแล้ว แต่เจตคติหรือทัศนคติของเราอาจไม่สอดคล้องกับคำพูด ทำให้น้ำเสียงหรือท่าทีของเราที่มีต่อผู้อื่นอาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดได้

 

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสาเหตุบางประการของความขัดแย้งและแนวทางการพูดหรือการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น หากท่านผู้อ่านมีแนวทางในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีอื่นๆ ก็สามารถแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันนะคะ

 

รายการอ้างอิง

 

Burns, D. (2008). Feeling Good Together: The Secret of Making Troubled Relationships Work. New York: Crown Publishing Group

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรียนรู้ (เรื่องจิตวิทยา) จากสื่อบันเทิง

 

คงปฏิเสธไม่ได้นะคะว่าในระยะหลัง ๆ สื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต มักมุ่งนำเสนอเนื้อหาที่เน้นให้ความบันเทิง หรือมุ่งเน้นอารมณ์มากขึ้น จนบางครั้งอาจจะให้น้ำหนักของข่าวสารอยู่ที่อารมณ์ของบุคคลในข่าว มากกว่าเนื้อหาสาระที่เป็นแก่นแท้ของเหตุการณ์นั้นๆ เสียอีก

 

หลายคนมองว่าผู้ที่ติดตามสื่อบันเทิงนั้น เสมือนหนึ่งผู้ที่ต้องการเพียงความเพลิดเพลินใจ ซึ่งแท้จริงแล้ว ความเชื่อดังกล่าวก็อาจไม่เป็นจริงเสมอไป

 

นักวิจัยชาวเยอรมันกลุ่มหนึ่ง พยายามศึกษาแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการรับสารจากสื่อบันเทิงของบุคคล และพบว่า นอกเหนือจากความสนุกสนานในการรับสารแล้ว สื่อบันเทิงยังเกี่ยวข้องกับการเพิ่มระดับจริยธรรมของบุคคลอีกด้วย

 

ลองนึกถึงละคร ภาพยนตร์ นวนิยาย หรือนิทานที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ แล้วลองพิจารณาดูว่าตอนจบของละคร ภาพยนตร์ นวนิยาย หรือนิทานที่คุณชื่นชอบนั้นลงเอยอย่างไร คนทำดีได้รับผลดี ส่วนคนที่ทำสิ่งไม่ดีได้รับผลไม่ดีหรือเปล่า

 

แนวคิดพื้นนิสัยทางอารมณ์ หรือ Affective disposition theory เสนอว่า บุคคลมักชื่นชอบเรื่องราวที่พระเอกนางเอกซึ่งเป็นคนดี ได้รับสิ่งดี ๆ ตอบแทน ขณะที่ตัวร้ายซึ่งเป็นคนไม่ดี ได้รับสิ่งไม่ดีเป็นการตอบแทน เนื่องจากเชื่อว่าลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผล สอดคล้องกับแนวคิดของ Rubin และ Peplau ที่กล่าวว่า การนำเสนอสารในลักษณะ “ทำดีได้ดี” โดยเฉพาะในนิทานสำหรับเด็กด้วยนั้น จะช่วยพัฒนาความเข้าใจ และความเชื่อเกี่ยวกับความยุติธรรม รวมทั้งจริยธรรมของเด็กได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

 

แล้วคุณเป็นอีกคนหนึ่งหรือเปล่าที่มักติดตามข่าวสารทางสื่อมวลชนเป็นประจำ และมักพยายามหาคำตอบว่าทำไมบุคคลในข่าวจึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น แล้วเคยสังเกตมั้ยคะว่า ส่วนใหญ่ คุณมักคิดว่าบุคคลในข่าวทำพฤติกรรมนั้น ๆ เพราะสาเหตุใด

 

นักจิตวิทยาหลายคนพยายามศึกษาเรื่องการอนุมานสาเหตุหรือเหตุผลที่บุคคลทำพฤติกรรมต่าง ๆ และจำแนกการอนุมานสาเหตุออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พฤติกรรมที่เป็นผลมาจากปัจจัยภายใน เช่น บุคลิกลักษณะหรือคุณสมบัติส่วนตัวของบุคคลนั้น และพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่บุคคลนั้นประสบ

 

แม้คนเราจะเกี่ยวข้องกับการอนุมานสาเหตุอยู่บ่อยครั้ง แต่การอนุมานสาเหตุของคนเรา ก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไปทุกกรณีค่ะ

 

งานวิจัยต่างประเทศจำนวนมากพบว่า คนเรามักมีการอนุมานสาเหตุที่ผิดพลาด เช่น ถ้าเพื่อนเราทำงานไม่เรียบร้อย หรือเกิดข้อบกพร่อง เราก็มักคิดว่าเป็นเพราะเขาไม่รอบคอบ แต่หากเราเป็นคนทำงานทำงานไม่เรียบร้อย หรือทำงานบกพร่องเอง เรากลับมักมองว่าเป็นเพราะสถานการณ์บีบบังคับ

 

การอนุมานสาเหตุข้างต้นตรงกับแนวคิดอคติของผู้กระทำ-ผู้สังเกต หรือ “Actor-Observer Bias” ซึ่งเสนอว่า เมื่อเราอนุมานสาเหตุพฤติกรรมของผู้อื่น เรามักมองไปที่ปัจจัยภายในของผู้นั้น ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะเราอาจมีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ ณ เวลานั้นไม่มากพอ รวมทั้งการมองไปที่ปัจจัยภายในของผู้อื่น ยังช่วยให้กระบวนการหาสาเหตุของการกระทำของผู้อื่นนั้นเป็นไปได้โดยง่าย มากกว่าการที่เราต้องนั่งพิจารณาถึงปัจจัยภายนอกทั้งหลาย

 

เมื่อเรานำแนวคิดเรื่องการอนุมานสาเหตุมาอธิบายพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทย โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ประเภทบันเทิง เช่น ละคร ภาพยนตร์ เราก็จะพบปรากฎการณ์ที่น่าสนใจว่า นักแสดงที่เล่นบทร้ายในละครเรื่องใดก็ตาม มักถูกรับรู้ว่า มีลักษณะนิสัยที่ร้ายเหมือนอย่างในละครที่เล่นจริง ๆ นั่นก็เพราะ เรามักระบุสาเหตุของพฤติกรรมของนักแสดงในละครหรือภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ตามบทบาทที่นักแสดงผู้นั้นได้รับ หรือมองว่าบุคคลอื่นกระทำสิ่งต่าง ๆ เพราะเขามีลักษณะนิสัยที่สอดคล้องกับพฤติกรรมนั้น เช่นเดียวกับโลกในจอ

 

นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมนางร้ายต้องหลีกเลี่ยงการไปเดินตลาดในช่วงหน้าทุเรียน หรือทำไมเราถึงมักเชื่อว่าพระเอกและนางเอกจะต้องเป็นคนดีทั้งในจอและนอกจอ

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า หลายต่อหลายคนรู้สึกเชื่อในบทบาทของนักแสดงในจอมากจนนำมาอนุมานสาเหตุในโลกแห่งความเป็นจริง และในบางครั้ง ถึงแม้นักแสดงคนโปรดหรือศิลปินในดวงใจจะไม่ประพฤติปฏิบัติตามที่คาดหวังไว้ บุคคลก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะหาเหตุผลสนับสนุนบุคคลในดวงใจเหล่านั้น ให้สอดคล้องกับความเชื่อหรือความคาดหวังของตนนั่นเอง

 

 

 

ภาพจาก http://www.amemagnet.org/programs.html

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

A ROADMAP TO FUTURE SUCCESS

 

A ROADMAP TO FUTURE SUCCESS

Chula, Mon April 22, 2019

 

 

 

Good morning everyone, I am very happy and honored to be with you today.

 

My name is Alain Mahillon, I am a French national, living and retired in Bangkok since 2014.

 

My background is hospitality management, working for Hilton Intl, whose core business is hotel management, in various capacities from General Manager, to Regional General Manager and Vice President South East Asia responsible for 17 business units.

 

My career enabled me to travel, live and interact with many cultures in countries like Canada, Puerto-Rico, Madagascar, Guam, Japan, Thailand and Singapore.

 

My work was essentially to manage and provide advice to hotel owners and investors with a dual reporting line to the Hilton group as well and to the local investors.

 

This type of work is classified as the tertiary sector of a country’s economy and is also called the service industry. The definition of the service sector is: a transaction in which no physical goods are exchanged between the buyer and the seller; in other words: a service is provided against a fee.

 

The nature of your studies seems to indicate that, in all likelihood, you will start your career in one of the fields attached to the service sector which, as a refresher, encompasses: consulting, management, information technology, justice, human resource including recruitment, law, education, insurance, retailing, tourism, food and beverage, and let’s not forget healthcare.

 

You need to be congratulated for having chosen a career in the fastest growing sector of the world economy and representing 51% of the active worldwide population, and these numbers keep growing year on year.

 

Let’s now move to the order of the day which is the Roadmap to your Future Success.

 

During the next 15-20 minutes or so, I will outline the 3 major changes that have profoundly transformed the labor market from what it had been for a long time and still was, only a few years ago.

 

 

The first of these changes is called “Work Experience”.

 

For many, many years, the value of a professional was measured, by and large, by the number of years he had been at his job; to put it very bluntly, it meant: how many years had he been doing the same thing. At that time, the status quo, the motto “why fix it, if it’s not broken” were king. Companies were risk-averse and changes to the way of hiring, to the market in general, were very few and far between.

 

So, why rock the boat; why change what appeared to be a winning formula that would last forever?

 

You all know what happened in 2007/2008: Recession came in sent many companies belly up and everyone had to learn the hard way how to do business differently.

 

Ever since, the notion and the value of “experience” have been redefined and are no longer revered as it used to be.

 

Let’s take your case: You have received a very solid and precious education that has prepared you very well to enter the labour market, if you so desire.

 

At the same time, you must keep your feet on the ground and realize that even the best education cannot prepare you for all the situations you are likely to experience in the real world. Case studies have certainly been very helpful but still…

 

So, you are going to need to gain some experience, in other words, you are going to have to learn – the key word here is learn – when you thought the learning was over, to learn what is not in the text books and your potential employer knows that.

 

So, here you are, being interviewed by a potential employer and be aware that you are expected to do most of the talking.

 

The interviewer will obviously not talk about you past record, so he will steer the interview to evaluate you on the 3 key competencies of your personality that are relevant in virtually every single position worth applying for, given your educational background :

 

  • You should know that the interviewer has a profile of the ideal candidate and a very specific short-list of the key competencies required for this position. If this profile has not been shared with you, you absolutely must ask the question: what is the profile of the candidate are looking for?Let me sound a word of caution here: you must be very honest with yourself and the company: if this profile is too different from who you really are, just say so, and avoid yourself and the company a very painful and agonizing experience which will inevitably end in failure.The interviewer will appreciate your honesty and maturity and may even recommend you for another vacancy in the company.
  • If you have no prior work experience, which is your case, the interviewer will invariably focus on the following 3 key competencies:
    • The first one is: Your willingness to learn. I call it intellectual curiosity. How open, how hungry, how eager are you for new knowledge. How proactive are you, are you a go-getter, or one that just waits for information to come to him. Have you gone on the net and researched the company you are applying with etc….
    • The second one is: your intellectual capacity to grasp, to comprehend, to process moderately complex issues and data.
      In essence, they want to evaluate your learning curve, so that you become productive in the shortest possible time.
      Experience is no longer a long and drawn out process like it used to be. Companies have very sophisticated orientation process called on-boarding, on-line and also one on one very focused training programs, a buddy system which will bring you up to speed in a very short period of time. The younger generation is a much quicker study than the previous one; so, all they need is to be convinced that you are eager to learn, that you have the appetite and the intellectual ability to understand, process and retain what you will be taught during your training period.
      REPEAT THE UNDERLINED PART

 

  • The 3rd and last competency is: the ability to work as and in a team. In today’s business world, everything is done in and by a team, given the complexity of most projects.Give example of Babson, if needed.

 

 

Now back to the Roadmap to Future Success:

 

 

The 1st major change was the scaled down importance of The working experience. We are not saying it is not important, we are saying it is less important than before.

 

The second major change is called : “Generational harmony in the work place”. As you enter the labour market, you will be working with 3 and sometimes 4 different generations within the same organization.

 

It is vital, in the interest of harmony in the workplace, to accept that each generation has an important role to play in the organization and that each one deserves respect, especially, especially, when you believe they are wrong.

 

The older generation still holds a lot of knowledge which they are quite keen to share with the younger generation, if, if, you have the right approach.

 

The older generation is also aware that fresh ideas and approaches will have to come from the younger generation, because their experience only looks at the past when, in fact, today one needs to look at the future, not the past, to survive. Also, at times, they feel quite overwhelmed by so many changes all happening so fast.

 

 

Here are a few recommendations that you will find very helpful:

 

  • First, and probably the most difficult thing for anyone is to, listen, listen and ……..listen! By that, I don’t mean for you to bend to every whim, but just open your mind to new things and try to understand one another.
  • Second, be flexible and try to spot the idiosyncrasies and traits that each generation has in common, such as: communication preferences, stereotypes, values, work ethics and consider how to cross over and bridge the gaps.
  • The 3rd and last of these changes is best represented by this instrument which I am holding in my hand which is called ……………mobile phone. It is most relevant to this presentation in that it is the symbol of mobility, and mobility is probably the most important change that society has had to face today.

 

What is Mobility? It is primarily the movement, the easy and free circulation of people and ideas to improve things.

 

Animals migrate for food, for warmer climates; populations migrate to cities for work and better life; religious migrants flee persecution, economic migrants look for a better life and recently climatic migrants escape global warming.

 

Mobility of the work force implies that the work force will have to be flexible in many ways, and the key word here is flexibility.

 

People will have to move to places where there are employment opportunities and not the reverse, as it used to be.

 

Life time employment and long term loyalty are virtually gone, gone forever.

 

Career changes are valued by employers because it increases self-confidence, gives exposure to a greater variety of work experiences, organizational cultures and new sets of skills.

 

It is estimated that every professional will change job or career between 5-7 times during his entire professional life. Please note that this also includes changing jobs in the same organization but in a different capacity.

 

Employers expect, or will accept, that you will want to change jobs or career every 3 years. If you change jobs less frequently, you will need a solid explanation for your next interview or your next performance review.

 

 

Now, when will you need to change jobs? Does anyone have any idea?

 

Basically, when you will feel you have stopped learning.

 

For example, if you need a learning curve of let’s say 6 to 9 months, depending on the level of complexity of your job, you will probably reach a plateau of top performance after 18 months; so, to be fair to your employer, you should perform for another 18 months. Then it is time for a change, inside or outside the company.

 

Another very important side of Mobility is the taking a job in a field totally different from your major in college This is becoming more and more frequent for reasons explained earlier, but also on account of your generation’s ability to learn a new trade, craft or profession and reach a level of proficiency very quickly, whilst bringing a fresh and innovative approach to the new job.

 

I felt vindicated, a few days ago, when I came across an article in the Bangkok Post stating that the Ministry of Education of Thailand had announced: quote “Higher education students will be allowed to take up multidisciplinary studies across universities and through informal education. Tertiary students will be able to pursue inter-faculty studies at more than one university and still qualify to obtain a bachelor’s degree.

 

There will be no limit on the period of time it takes to accumulate the credits before the students can qualify to receive a degree.

 

The Chairman of OHEC stated that the system aims at making a lifelong learning experience which is not restricted to the classroom of a single institute.” end of quote.

 

This is another example of the type of mobility required in today’s world and OHEC deserves to be congratulated for being so forward looking.

 

 

Let me give a few living examples of mobility:

 

  • Four Seasons hotel was opening a new hotel in Mexico but couldn’t locate an HR Manager that possessed all the competencies required such as: caring, compassionate, psychologically astute, articulate and persuasive, capable of processing multiple and complex information. They refused to lower their standards and decided to search outside the box and finally hired a Medical Doctor who did an outstanding job for them and earned a higher salary than a GP in Mexico.
  • The other example comes from the daughter of a friend of mine. She graduated as a physicist in London and was very surprised to receive a job offer from (guess who?) ………the Hong Kong Shanghai bank. She called the bank to inform them they had made a mistake but they confirmed their interest. When she asked what the logic was behind such unusual offer, the answer was: “We are tired of hiring business graduates that all have the same thought process; we are interested in different types of approach, similar to the ones used in research.”

 

I believe these 2 examples perfectly illustrate the need for you not to fear the lack of experience referred to earlier in the presentation.

 

As I am about to conclude, I realize this has been a fairly dense presentation, but the 2 key points I would like you to take away with you today are as follows :

 

  • The 1st key point is: From the minute you were born you until the day you will be taking you last breath, life will be – and should be, a life-long learning experience.
    We are on this earth to learn by doing or otherwise, and if you stop learning, it is time to jump ship and do something else, before you waste too much of this precious life of yours.
  • The second key point is of a more pragmatic nature: Statistics among new graduates show they remain unemployed primarily because of very high starting salary demands.

    I beg of you! Don’t be greedy, please, be smart instead. !

    You are all very bright young men and women, but you need a stage, a platform where you can demonstrate your skills, your talents and be recognized for what you are worth in terms of compensation and potential for the company. So, please, don’t be short-sighted, don’t pass up on a job in a company that wants you and where, you know, you would do very well, just because of a salary. Bear in mind, you will change jobs 2-3 years later, so it’s not like you‘ll be stuck with that low salary all your life. Get your foot in the door first!
  • As for success, it will mean different things to different people, so I won’t even attempt to broach the subject.I believe that, more than success, we all need rewards, encouragements, positive reinforcements, to know we are on the right path, on our path.

 

  • You will know, for sure, when you have done well for your soul or that of others, when a gentle wave, out of nowhere, will come and hug you, will fill every pore of your body with unconditional love. This is bliss and, for me, it beats success any time of the day.
    It leaves me to wish all of you, lots of luck, a meaningful life and career, full of life-long learning and unconditional love.

 


 

 

Speech by Mr. Alain Mahillon
Guest speaker for special talk on
“International career development: A roadmap to future success”
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University
Mon April 22, 2019

วิธีการรับมือเมื่อคุณวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพมากเกินพอดี

 

ในปัจจุบันนี้ ความก้าวหน้าทางวิทยาการทางการแพทย์ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้เราดูจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพมากขึ้น เราทราบว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้มีสุขภาพดี และทราบด้วยว่าหากละเลยไม่ใส่ใจไม่ดูแลตัวเองจะทำให้เรามีความเสี่ยงอาจต้องประสบปัญหาสุขภาพหรือโรคภัยต่าง ๆ นอกจากนี้ เรายังทราบถึงวิธีต่าง ๆ ที่จะดูแลตรวจสอบสุขภาพร่างกายตนเอง เพื่อป้องกันโรคภัยเหล่านี้

 

วิทยาการและข่าวสารที่ก้าวหน้า ทำให้หลายคนเกิดการรับรู้ว่าตนเองสามารถที่จะดูแลควบคุมสุขภาพของตนเองให้ดี จนบางครั้งเกิดความรู้สึกผิด หากจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ดูแลสุขภาพอย่างที่ควร

 

แม้วิทยาการและข่าวสารในข้างต้น จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดูแลสุขภาพ แต่หลายครั้งอาจส่งผลให้หลายคนรู้สึกวิตกกังวล หมกมุ่นใส่ใจกับสุขภาพของตัวเองมากเกินไป จากความห่วงใยดูแลตัวเองซึ่งเป็นประโยชน์ กลายเป็นการเฝ้าตรวจตราค้นหาความผิดปกติในร่างกายของตนเอง และน่าแปลกนะคะ ว่าหลายครั้งในเรื่องสุขภาพ ยิ่งกลัวยิ่งค้นหา เรากลับยิ่งเจอความผิดปกติ และอาจทำให้หลายท่านเกิดความห่วงใยเกี่ยวกับสุขภาพจนเกินพอดี กลายเป็นความวิตกกังวลได้

 

ความต้องการที่จะดูรักษาสุขภาพของให้ดี มีชีวิตยืนยาวนั้นนับเป็นเรื่องปกติ และเป็นหนึ่งในแรงจูงใจพื้นฐานของมนุษย์เรา ส่วนเมื่อไรที่ความต้องการนี้มีมากเกินกว่าปกตินั้น โดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีเกณฑ์การนิยามอย่างชัดเจน หากแต่อาจสังเกตได้ง่าย ๆ เมื่อความห่วงใยต่อสุขภาพนั้น ส่งผลให้คุณรู้สึกเป็นทุกข์ร้อนใจ เกิดความวิตกกังวล จิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องสุขภาพที่มี หมั่นเฝ้าสำรวจตรวจตราว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกันตัวเองบ้าง หรือมีการตั้งกฎกติกาอย่างเคร่งครัด ถึงขั้นตอนในการดูแลสุขภาพร่างกาย และเกิดความรู้สึกหวาดหวั่นถึงผลร้ายที่ตามมา เมื่อไม่สามารถทำตามกฏกติกาเหล่านั้นได้ หรือมุ่งทำตามกฏเหล่านั้นจนการใช้ชีวิตประจำวันด้านอื่น ๆ ไม่ราบรื่น เช่น ต้องเสียเงินทองเป็นจำนวนมากหรือทำให้ต้องละเลยงานหรือความรับผิดชอบที่มี เพื่อไปตรวจสุขภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้จะไม่พบความเจ็บป่วยใด ๆ หรือการสูญเสียความสัมพันธ์ทางสังคม เนื่องจากความหวาดกลัวว่าจะไม่เอื้อให้ทำตามกฏกติกาในการดูแลสุขภาพที่มีได้ เช่น ปฎิเสธที่จะพบปะสังสรรค์กับเพื่อนเพราะเกรงกลัวว่าจะต้องรับประทานอาหารผิดเวลาหรือรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์

 

สัญญาณเตือนภัยที่สำคัญที่สุดว่าคุณอาจวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพมากเกินพอดี คือการที่ยังคงห่วงใยกับความผิดปกติทางร่างกาย แม้เมื่อจะได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่าสุขภาพร่างกายปกติดี หากแต่ยังคงเฝ้าหมั่นตรวจสอบสุขภาพที่มี หรือพยายามหาคำวินิจฉัยว่าเกิดความผิดปกติกับสุขภาพตนเอง จนดูเผินๆ เสมือนกับว่าบุคคลมีความต้องการที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วย ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วหวาดกลัวว่าจะเป็นเช่นนั้น

 

เมื่อเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ กลัวหรือห่วงใยอะไร ร่างกายของเราจะทำงานต่างไปจากปกติ ลองสังเกตดูนะคะ บางคนอาจจะหายใจแรงหรือเร็วขึ้น บางคนใจสั่นรัว มือไม้เย็น บางคนรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ วูบวาบ บางคน รู้สึกหายใจติดขัดไม่เต็มปอด เมื่อเราสำรวจตรวจตราสัญญาณจากร่างกายในเวลาที่กำลังรู้สึกวิตกกังวลห่วงใยสุขภาพ ก็เหมือนกับเรากำลังเสียแต้มต่อประเมินตัวเองเวลาที่ร่างกายไม่เข้าที่เข้าทาง ผลการประเมินจึงได้รับอิทธิพลของความวิตกกังวลดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น พลอยทำให้ทวีความรู้สึกว่าเกิดความไม่ชอบมาพากลเข้ากับร่างกายตัวเอง เพิ่มความวิตกกังวลว่าจะต้องประเมินร่างกายมากขึ้น ซึ่งผลการประเมินก็จะนำมาซึ่งความห่วงใย เพราะได้รับอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมา กลายเป็นวงจรของความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพที่แสนจะน่าหนักใจ และยากที่จะหลุดพ้นออกไปได้ และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยอธิบายว่า ยิ่งเราวิตกกังวลเรื่องสุขภาพมากขึ้นเพียงไร ก็ดูจะรับรู้ถึงปัญหาสุขภาพที่มีมากขึ้นเพียงนั้น

 

นอกจากความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นระหว่างที่เรารู้สึกวิตกกังวลนั้น การเฝ้าสำรวจร่างกายของตนเอง ทำให้เราสังเกตเห็นความผิดปกติที่มีเพิ่มขึ้น การทำงานของร่างกายของคนเรานี้น่าสนใจตรงที่ แม้เมื่อร่างกายทำงานตามปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการทำงานนั้นต้องราบรื่นเรียบร้อยตลอดเวลา อาจมีติดติดๆ ขัดๆ บ้างแต่นั่นก็ไม่ได้จำเป็นต้องหมายความว่า เกิดความผิดปกติแต่อย่างไร บางครั้งเราอาจไอจาม ฝุ่นผงเข้าตาทำให้ตากระตุกพร่ามัว คันนู่นคันนี่ ใจเต้นไม่เป็นจังหวะ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ห่วงใยสุขภาพจนถึงขั้นวิตกกังวล ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คงดูเป็นปกติ แต่สำหรับผู้ที่มีความวิตกกังวล การเฝ้าจดจ้องระแวดระวัง การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ปรากฏขึ้นเด่นชัด จนทำให้ทวีความวิตกกังวล ซ้ำร้ายพฤติกรรมระแวดระวังคอยตรวจสอบของเราเอง ยิ่งทำให้ความผิดปกติเหล่านี้ทวีความรุนแรง จากความเปลี่ยนแปลงที่เดิมทีไม่ได้มีปัญหาใด ๆ กลับกลายเป็นความผิดปกติหรือเป็นปัญหาขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ห่วงใยว่าจะเกิดความผิดปกติขึ้นกับผิวหนังของตนเองอาจพยายามลูบคลำตรวจสอบบริเวณที่ห่วงใยจะหลายครั้ง ก่อให้เกิดอาการบวมช้ำ หรือบางท่านใช้ไม้กดลิ้นเพื่อสำรวจว่ามีอะไรผิดปกติในลำคอ อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองหรือถลอกในช่องปากหรือลำคอ พลอยยืนยันและทวีความรุนแรงของความเชื่อถึงความผิดปกติ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยิ่งกลัวยิ่งเจอดังที่กล่าวไป

 

ประเด็นหนึ่งที่อยากเน้นก็คือ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายนี้ เกิดขึ้นจริง ๆ กับหลาย ๆ ท่านนะคะ และไม่ได้เป็นไปเพราะเสแสร้งที่จะทำ หากเป็นไปเพราะมีความวิตกกังวลและห่วงใยสุขภาพร่างกายอย่างแท้จริง แต่เราคงพอได้เห็นแล้วนะคะ ว่าความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่หลายท่านห่วงใยนั้น แท้จริงแล้วก็มีที่มาจากความวิตกกังวลที่มีนั่นเอง ดังตัวอย่างของการพยายามตรวจสอบร่างกายระหว่างที่รู้สึกวิตกกังวล แต่ในขณะนั้น ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปเพราะความวิตกกังวลที่กล่าวถึง หรือจากพฤติกรรมที่เราทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งการเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหรือการทำพฤติกรรมตรวจเช็คป้องกัน ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ถูกรับรู้หรือกลับกลายเป็นความผิดปกติขึ้นมาได้ โดยทั้งสิ้นทั้งปวงนี้เป็นผลมาจากความวิตกกังวล ที่ทำให้ประเด็นสุขภาพที่ห่วงกลายเป็นปัญหาขึ้นจริง ๆ

 

ในการลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายนั้นสามารถทำได้ผ่านการปรึกษาทางจิตวิทยาค่ะ นักจิตวิทยาการปรึกษาสามารถช่วยให้คุณจำแนกความแตกต่างระหว่างความห่วงใยอย่างสมเหตุสมผลและความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายที่นำมาซึ่งผลเสียต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น นอกจากนี้ นักจิตวิทยาการปรึกษายังสามารถใช้กลวิธีการปรึกษาทางจิตวิทยาและจิตบำบัดต่าง ๆ มาใช้ให้คุณค่อย ๆ ลดความหวาดกลัวและความวิตกกังวลที่มี พร้อมทั้งเรียนรู้ที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นตามปกติของร่างกาย โดยไม่ตื่นตระหนก หรือละเลยที่จะได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ในโอกาสที่เหมาะสมค่ะ

 

 

 

ภาพจาก https://www.freepik.com/

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

เหตุผลทางจิตวิทยาที่ทำให้ความรักจบด้วยการทำลาย

 

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนรักกัน แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกเลิก อีกฝ่ายหนึ่งจึงตอบแทนด้วยความรุนแรง เช่น การฆ่าหั่นศพแฟน การระเบิดตัวตายพร้อมกัน การยิงคู่รักตาย แล้วก็ฆ่าตัวตายตามอย่างสยดสยอง ซึ่งมักจะกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งให้เราสลดใจกันอยู่บ่อย ๆ หลายคนจึงเกิดคำถามว่า คนรักกัน ไม่ทำร้ายกัน จริงรึเปล่า การทำร้ายหรือทำลายทั้งตัวเอง และคู่รัก ที่เกิดขึ้นเมื่อคนเราอกหักหรือผิดหวังในความรักนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

 

ก่อนอื่นเราต้องเริ่มต้นเรื่องนี้ด้วยคำถามว่า ทำไมคนเราจึงคิดจะทำร้ายตัวเอง เมื่อถูกคนรักทอดทิ้ง และทำไมคนเราจึงคิดฆ่าคนที่เรารักมากให้ตาย หรือทำร้ายเขาให้เจ็บปวดอย่างมาก เมื่อเขาทอดทิ้งเราไป หลายคนก็อาจจะตอบง่าย ๆ ว่าเป็นเพราะเราโกรธมากหรือเสียใจมากนะสิ แต่ก็เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงเคยเสียใจมากหรือโกรธมากจากความผิดหวังในความรักเช่นกัน แต่ทำไมเราไม่ก่อเหตุรุนแรงต่อคนรักหรือต่อตัวเองอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การทำร้ายตนเองและคู่รักเมื่อผิดหวังในความรัก จึงไม่ได้เป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ

 

นักจิตวิทยาได้ศึกษาย้อนหลังไปถึงช่วงที่เราแต่ละคนยังเป็นทารกในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต เมื่อเราเป็นทารกนั้น เราได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างอบอุ่นจากผู้เลี้ยงดู ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแม่ของเรา แม่ให้การตอบสนองต่อความต้องการเมื่อเราร้องโยเย ให้ความใกล้ชิดและแสดงสัมผัสรักต่อเรามากน้อยเพียงใด แม่พูดคุยกับเราด้วยถ้อยคำที่สะท้อนความรักความห่วงใยเพียงใด ซึ่งความแตกต่างในการเอาใจใส่จากแม่นี้เอง ที่นักจิตวิทยาศึกษาพบว่าจะทำให้เด็กพัฒนาความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเพียงใด ความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเอง และความไว้วางใจในตัวผู้อื่น ซึ่งจะติดตัวมาจนเป็นผู้ใหญ่ และเรียกว่า ลักษณะความผูกพันกับผู้อื่น แบ่งได้ 3 แบบ คือลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบมั่นคง แบบหลบเลี่ยง และแบบวิตกขัดแย้ง ซึ่งลักษณะความผูกพันแบบใดแบบหนึ่งในตัวเราแต่ละคนนี้ก็จะมีอิทธิพลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น การมีเพื่อนใหม่ การมีคนรัก และความสุขในความสัมพันธ์กับคนอื่นในชีวิตของเรา

 

 

ลักษณะความผูกพันแบบใดทำให้เรามีความรักหรือมีความสัมพันธ์ราบรื่น และแบบใดมักทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหาและทำให้เราแก้ปัญหาในความสัมพันธ์ด้วยการทำร้ายกันได้ในที่สุด?

 

การที่เราแต่ละคนมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเองไม่เท่ากัน และเชื่อมั่นในตัวคนอื่นแตกต่างกัน ก็เพราะการเอาใจใส่จากแม่ในการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก ซึ่งจะกลายเป็นลักษณะความผูกพันกับคนอื่น 3 แบบ คือแบบมั่นคง แบบหลีกเลี่ยง และแบบวิตกขัดแย้ง ลักษณะความผูกพันแต่ละแบบนั้น ทำให้คนเราสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นแตกต่างกัน

 

  1. ลักษณะความผูกพันแบบมั่นคง เกิดจากการที่แม่เลี้ยงดูเอาใจใส่ทารกอย่างอบอุ่น ทำให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นในคุณค่าของเราเอง คาดหวังการตอบสนองดีๆ จากผู้อื่นในการหาเพื่อนใหม่หรือจีบใครสักคน มีความรักที่อบอุ่นยืนยาวกับคนรัก แสดงความรักที่มีต่อผู้อื่น ถ้ามีปัญหาทะเลาะกันก็จะมักจะไม่โกรธมาก แต่ถ้าโกรธหรือเถียงกับแฟน ก็มักจะคาดหวังในทางบวกว่า เราจะหาทางออกหรือตกลงคืนดีกันได้ในที่สุด
  2. ผู้ใหญ่ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เลี้ยงดูลูกอย่างห่างเหิน ทอดทิ้ง ไม่ใส่ใจ ทำให้ลูกไม่ได้รับการตอบสนองที่เขาต้องการจากคนสำคัญที่สุดอย่างแม่ จะทำให้เขามีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นในแบบที่ไม่มั่นคง ในลักษณะหลีกเลี่ยงผู้อื่นค่ะ คนแบบนี้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าเพียงพอแก่ความรักและไม่เชื่อใจผู้อื่น ทำให้เขาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อสัมพันธ์กับใครหรือมีความรักสักครั้ง มักแสดงความก้าวร้าว โกรธเกรี้ยว และปฏิเสธมิตรไมตรีจากผู้อื่น ตอนเด็ก ๆ จึงมักไม่ค่อยมีเพื่อน
  3. ลูกที่ผู้เป็นแม่ให้ความเอาใจใส่ต่อเขาอย่างไม่สม่ำเสมอในวัยทารกนั้น ก็จะมีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นที่ไม่มั่นคงในแบบวิตกขัดแย้ง นั่นก็คือคน ๆ นี้จะมีความขัดแย้งในตัวเอง คืออยากจะเป็นที่รักของคนอื่นมาก แต่ก็วิตกกังวลมากว่าตัวเองจะไม่มีค่าเพียงพอสำหรับเขา กลัวจะถูกปฏิเสธ กลัวว่าเขาจะไม่รักจริง เวลาเห็นแฟนไปคุยกับคนอื่นก็อาจรู้สึกหวั่นไหว วิตกกังวลมาก และอยากอยู่ใกล้ ๆ คนรักเอาไว้ก่อน การวิจัยจึงพบว่าคนแบบนี้ขี้หึงที่สุด และด้วยความขี้หึง รวมทั้งไม่มั่นใจในตัวเองนี้ ทำให้เขาไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ที่ยืนยาวนัก มักถูกตีจากได้ง่าย จนทำให้ผู้ชายที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบวิตกขัดแย้ง มักทำร้ายร่างกายคนรักของตน เนื่องจากความโกรธและหึงหวงนั่นเอง

 

 

เมื่อต้องสูญเสียคนรักหรือถูกทอดทิ้ง คนแบบใดที่เราต้องระวังไม่ให้เขาลุกขึ้นมาทำร้ายเราหรือทำร้ายตัวเขาเอง?
ลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นที่ทำให้เราตอบสนองต่อการอกหักหรือถูกแฟนทอดทิ้งต่างกัน แบบไหนที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายหรือฆ่าแฟนทิ้งได้ในที่สุด?

 

เมื่อถูกปฏิเสธหรือเมื่อผิดหวัง เราก็จะรู้สึกเสียใจ และโกรธตามธรรมชาติ และเมื่อพูดถึงอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่การทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งได้นั้น การวิจัยก็ชี้ว่า ผู้ที่มีลักษณะความผูกพันแบบมั่นคงจะไม่โกรธง่าย ถึงอีกฝ่ายหนึ่งจะยั่วโมโห เขาก็มักจะไม่โกรธตอบ ในขณะที่ผู้มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบหลีกเลี่ยง มักแสดงความโกรธง่าย ไม่เป็นมิตร และมักไม่รู้สึกตัวว่าตัวเองกำลังโมโหมาก ส่วนผู้ที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นในแบบวิตกขัดแย้งนั้น มักจะรู้สึกโกรธเมื่อคนรักแสดงท่าทางห่างเหิน ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ ทอดทิ้งให้เผชิญปัญหาตามลำพัง เช่น ไม่ให้เวลาว่างแก่ตนมากพอเมื่อตนต้องการ แต่คนแบบนี้กลัวการถูกทอดทิ้งมาก จึงมักเก็บกดเอาความโกรธนี้เอาไว้ในใจ

 

จะเห็นได้ว่าการแสดงความรู้สึกของคนแบบวิตกขัดแย้งนี้ซับซ้อนมากทีเดียว เขาจะไม่แสดงความโกรธในตอนที่คนรักของเขาหงุดหงิดกังวลเพราะมีโอกาสถูกทอดทิ้งสูง และการถูกทอดทิ้งสำหรับเขาแล้วคือการสูญเสียที่ใหญ่หลวง

 

ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว เราจะเห็นว่าผู้ที่ถูกเลี้ยงมาอย่างไม่อบอุ่นทั้ง 2 แบบ คือแบบที่แม่ทอดทิ้งไม่ใส่ใจหรือเรียกว่าแบบหลีกเลี่ยง กับแบบที่แม่ให้ความอบอุ่นไม่สม่ำเสมอหรือเรียกว่าแบบวิตกขัดแย้ง จะเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่จะโกรธง่ายหรือขี้โมโหต่อคนรัก จึงมีแนวโน้มที่จะทำร้ายคู่รักของตนมากกว่า

 

นอกจากนี้ ในการปรับตัวต่อความเศร้าเสียใจหรือการถูกทอดทิ้งจากคนรักนั้น ลักษณะของความผูกพันแบบมั่นคงหรือไม่มั่นคงนี้ ก็มีอิทธิพลอย่างมาก

 

โดยการวิจัยชี้ว่า คนที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบมั่นคง จะเผชิญความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่หลอกตัวเอง นำไปสู่การจัดการและปรับตัวไปตามความจริง ในขณะนี้ผู้มีความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง ก็จะหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับว่าตนเองรู้สึกเสียใจ พยายามเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพิกเฉย ไม่สนใจต่อความรู้สึกนี้ ส่วนผู้ที่มีลักษณะความผูกพันแบบวิตกขัดแย้ง ก็จะครุ่นคิดหมกมุ่นอยู่กับความเศร้าเสียใจนั้น และขยายความทุกข์นั้นให้ยิ่งใหญ่หลวงมากขึ้น อาจรู้สึกว่าการสูญเสียคนรักเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เหมือนโลกทั้งโลกถล่มทลาย หมดสิ้นความหวัง จึงเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงสูงที่สุดที่จะทำร้ายตนเอง และทำร้ายคนรักที่ทอดทิ้งตนไป ด้วยความโกรธแค้นและสิ้นหวังในความสัมพันธ์นั่นเอง

 

 

จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงดูให้ความอบอุ่นแก่ลูกอย่างขาด ๆ เกิน ๆ ไม่สม่ำเสมอนั้น อาจส่งผลให้เขาเป็นผู้โหยหิวความรักในวัยผู้ใหญ่และทนไม่ได้ที่จะไม่ได้รับมันอีก จึงทำให้ความรักของเขาอาจลงเอยด้วยการทำลายได้ ดังนั้น การเลี้ยงดูและให้ความอบอุ่นกับลูกนั้น มีอิทธิพลสำคัญต่อการปรับตัวเมื่อต้องผิดหวังในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งทางที่ดีคือเราต้องให้ความอบอุ่นแก่ลูกให้พอเพียง

 

นอกจากนี้ การให้ความรักความอบอุ่นจนมากเกินไป จนกลายเป็นการปกป้องจนเกินเหตุ ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญปัญหา แก้ปัญหา ผ่านความรู้สึกยุ่งยากหรืออุปสรรคในเรื่องต่างๆ ก็อาจจะกลายเป็นว่าเลี้ยงลูกแบบปกป้องเกินไป โดยเฉพาะแม่ที่มักจะหวงลูกเกินเหตุมากกว่าพ่อ สังเกตได้ง่ายกับคำพูดและการกระทำเช่น “อย่าไปเลยลูกอันตราย” “อย่าทำเลยลูกลำบาก ให้พี่เลี้ยงเค้าทำแทนก็ได้” “เหนื่อยมั้ยลูก ถ้าเหนื่อยก็ไม่ต้องเรียนแล้ว ไม่ต้องทำแล้ว” คำพูดหรือการแสดงออกลักษณะนี้ พ่อแม่สมัยใหม่ที่มีฐานะดีมีชีวิตสะดวกสบายเพียบพร้อมมักจะหยิบยื่นให้ลูกด้วยความรัก อาจจะเนื่องจากพ่อแม่เคยลำบากมามาก แล้วไม่อยากให้ลูกเหมือนตนเอง หรือการให้ความสำคัญกับลูกมาก ๆ อาจเพราะสูญเสียลูกคนอื่นไป สูญเสียสามีหรือภรรยาไป ก็ทุ่มเทความรักแก่ลูก หรือเพราะมีลูกเพียงคนเดียว เป็นต้น

 

การปกป้องเขาในลักษณะนี้ จะทำให้ลูกไม่มีโอกาสเผชิญปัญหายาก ๆ ไม่เรียนรู้การจัดการกับความผิดหวัง และอารมณ์ทางลบต่างๆ ไม่เรียนรู้ที่จะอดทนกับความยากลำบากในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ ซึ่งผลที่ตามมานั้นก็น่าตกใจ เพราะการเลี้ยงลูกแบบนี้ เป็นการปิดโอกาสไม่ให้เด็กได้พัฒนาทักษะในการดูแลตนเอง ปรับตัวต่อความเครียดเมื่อต้องเผชิญปัญหาของเขา ไม่เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา และรู้จักอดทนกับความยากลำบาก หรือคุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ลูกที่เปราะบาง ติดพ่อติดแม่ พึ่งพาอาศัยผู้อื่น ตัดสินใจเองไม่ได้ มักวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เผชิญ ไม่รู้สึกว่าตนเองเก่งหรือภูมิใจในตัวเอง ไม่มีภูมิต้านทานความผิดหวังที่เจอ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เขาจะยิ่งขาดความมั่นใจตามธรรมชาติแห่งวัย เมื่อเจอกับความผิดหวังครั้งรุนแรงจากความรัก ก็จะทำให้เขารับไม่ได้ ปรับตัวไม่ได้ จัดการกับปัญหาไม่ได้ บวกกับความหุนหันพลันแล่น การห่างเหินจากพ่อแม่มากขึ้น และการได้รู้ได้เห็นสื่อรุนแรงต่าง ๆ ก็จะทำให้เขาตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยความตาย ทั้งฆ่าตัวเองหรือฆ่าคนรักได้

 

เพราะฉะนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือ เปิดโอกาสให้เขาได้เผชิญความยากลำบาก ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการไขว่คว้าสิ่งที่เขาต้องการ ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกับผู้อื่น ได้รู้สึกเจ็บปวดเพื่อจะเรียนรู้ว่าเขาจะหลีกเลี่ยงมันอย่างไรในครั้งต่อไป โดยพ่อแม่เพียงแต่แนะวิธีการที่เป็นประโยชน์แก่เขา ไม่ปล่อยให้ลองผิดลองถูกเองจนเกินไป และรับฟังความเจ็บปวดของเขาอย่างเห็นอกเห็นใจ นี่คือความรักที่ดีต่อลูกอย่างแท้จริง

 

นอกจากพ่อแม่จะต้องเข้าใจความสำคัญของการเลี้ยงดู การให้ความอบอุ่น และการปกป้องลูกไม่ให้มากเกินไปแล้ว พ่อแม่ยังต้องเข้าใจลักษณะสำคัญของวัยแห่งความรัก หรือวัยรุ่นด้วยว่า วัยรุ่นนั้นเป็นวัยแห่งการมีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรง ดังนั้น เมื่อเขารู้สึกรักใครซึ่งมักจะเป็นรักแรก เขาก็มักจะรักแรงและฝังใจไปนาน เช่นเดียวกับเมื่อเขาอกหักจากคนรัก เขาก็จะเจ็บปวดมาก และด้วยวัยแรกรัก ทำให้เขายังไม่เรียนรู้ถึงการประคับประคองความรัก ไม่มีประสบการณ์ในการเข้าใจอารมณ์รักหรือหลอกของผู้อื่น ดังนั้น พ่อแม่จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยลูกด้วย

 

เริ่มตั้งแต่ชี้ให้เขาเห็นถึงธรรมชาติของความรักในวัยรุ่น อารมณ์รักแรงเกลียดแรงของวัยนี้ อาจด้วยการเล่าให้เขาฟังว่าสมัยพ่อแม่เป็นวัยรุ่นนั้นก็เคยมีประสบการณ์ความรักมาอย่างไร เพื่อนำไปสู่การรู้จักหักห้ามความรู้สึกไม่ให้เศร้าโศก หรือแค้นเคืองใจต่อแฟนหรือคนรักที่ทิ้งเขาไป ชี้ให้ลูกได้เห็นว่า การผิดหวังทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องจัดการความสัมพันธ์ เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์กับเพศตรงกันข้าม และอย่าลืมแสดงให้เห็นว่า ท่านพร้อมจะเข้าใจและให้ความรักแก่เขา ไม่ว่าเขาจะถูกใครปฏิเสธอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ลูกวัยรุ่นที่ครุ่นคิดถึงแต่ความบกพร่องของตัวเอง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่าเนื่องจากถูกคนรักทอดทิ้งนั้น แน่ใจได้มากขึ้นว่า เขามีพ่อแม่ที่เห็นเขามีค่าและต้องการเขาเสมอ และจะเสียใจอย่างมากหากเขาตัดสินใจทำร้ายตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยเหนี่ยวรั้งไม่ให้เขาทำร้ายตนเอง และช่วยเหนี่ยวรั้งไม่ให้เขาทำลายตัวเองด้วยการหันเข้าหาสุรายาเสพติด เพียงเพราะอกหักหนเดียวได้ โดยเฉพาะในลูกชาย เพราะผู้ชายมักเสียใจจากการอกหักมากกว่าหญิง และมีนิสัยระบายความพ่ายแพ้ให้ผู้อื่นฟังน้อยกว่าผู้หญิง และมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวและทำร้ายตนเองและผู้อื่นมากว่าหญิงด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ลูกเข้าถึงอาวุธต่างๆ ได้ง่าย เช่น เก็บปืนผาหน้าไม้ให้มิดชิด ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกทำร้ายตัวเองหรือคนอื่นได้ทางหนึ่ง

 

 

นอกจากนี้ พ่อแม่พี่น้องน่าจะชี้ชวนให้เขาร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจกับสมาชิกในครอบครัว แสดงให้เขาเห็นว่า โลกนี้ยังมีอะไรให้ทำให้เรียนรู้อีกมาก เพราะคนอกหักมักจะสิ้นกำลังใจไม่อยากทำอะไร และยกเลิกแผนการต่างๆ ที่วางเอาไว้ มัวไปครุ่นคิดถึงแต่โอกาสคืนดี และคิดว่าคนที่ทิ้งเขาไปนั้นจะรู้สึกอย่างไร จะกลับมาหา จะโทรมาหรือไม่ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คงต้องให้เวลาลูก ทำใจและก็ไม่ต้องวิตกกังวล หรือแสดงอาการเครียดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ในครอบครัว เพียงแต่สร้างบรรยากาศแห่งการปลอบโยนและพร้อมรับฟัง ช่วยให้ลูกผ่านประสบการณ์อันปวดร้าวนี้ไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เขายังคงมีมุมมองที่ดีต่อความรัก และพร้อมจะมีรักและครอบครัวที่อบอุ่นได้อีกต่อไป

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การจัดการความประทับใจในโลกออนไลน์

 

สังคมออนไลน์เป็นสังคมที่กว้างใหญ่ สามารถเชื่อมคนทั้งโลกเข้ามาอยู่ใกล้กันได้แค่เพียงเรา click เท่านั้น

 

ผู้คนในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะวัยใดมักมีความเกี่ยวข้องบางอย่างกับสังคมออนไลน์ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการ post รูป คลิปวิดีโอ หรือข้อความต่างๆ เพื่อทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ หรือเพื่อแสดงความคิดเห็นกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม สิ่งเหล่านี้คือการนำเสนอตัวเอง (Self-presentation) ให้โลกได้รู้จักซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดายเพียงผ่านทางหน้าจอเท่านั้น

 

การนำเสนอตัวเองผ่านทางโลกออนไลน์นั้นผู้คนอาจพยายามที่จะสร้างความประทับใจไม่ต่างจากการที่เราพบกันพูดคุยกันในแบบที่เห็นหน้า การจัดการความประทับใจ (Impression management) เป็นความพยายามที่จะสร้าง รักษา ป้องกัน หรือทำสิ่งใดก็ตามเพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ในภาพลักษณ์ที่เราต้องการจะนำเสนอ ซึ่งจุดเริ่มต้นของการสร้างความประทับใจคือ ความพยายามที่จะสื่อภาพลักษณ์ทางบวกให้แก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น ภาพของความสุข หรือภาพของความสวยงาม นั่นหมายความว่า สิ่งที่นำเสนอในโลกออนไลน์นั้นอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของเราก็ได้ แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพื่อจัดการกับความประทับใจที่เราคาดหวังให้ผู้อื่นรู้สึก

 

เราแต่ละคนมีความสามารถในการนำเสนอตนเองที่แตกต่างกัน เหมือนกับที่เรามีความสามารถในการออกมาพูดหน้าชั้น มีความสามารถในการร้องเพลง หรือมีความสามารถทางด้านการเล่นกีฬาที่แตกต่างกัน ความสามารถในการนำเสนอตนเองในเหตุการณ์ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่จะบอกได้ถึงความสำเร็จในการจัดการความประทับใจ

 

การรับรู้ว่ามีความสามารถในการนำเสนอตัวเองจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้ผ่านทางสังคมออนไลน์สามารถถ่ายโอนมายังการนำเสนอตัวเองผ่านทางสังคมออนไลน์ได้ มีงานวิจัยพบว่า ในเหตุการณ์ทั่วไปที่ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ คนที่รับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการนำเสนอตัวเองที่ดี จะใช้สื่อทางสังคมออนไลน์เพิ่มเติมโอกาสในการนำเสนอตนเอง โดยพวกเขาพร้อมที่จะรับกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการนำเสนอตัวเองผ่านทางสื่อของสังคมออนไลน์ที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ โดยความประทับที่ได้รับกลับมานั้นมักจะเป็นไปในทางเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสังคมจริง และมีงานวิจัยพบว่า ความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการอ่าน profile ในสื่อออนไลน์นั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความประทับใจที่คนสนิทประเมินคนๆ นั้น

 

บุคคลมักสามารถควบคุมการนำเสนอตนเองในสังคมออนไลน์ได้ดีกว่าการพบปะพูดคุยกันต่อหน้า เพราะเรามีโอกาสพิจารณาว่าจะสื่ออะไรให้สังคมได้เห็น มีโอกาสเลือกว่าจะสื่อด้านไหนของตัวเองให้สังคมได้มอง ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เรามีเวลาเลือกรูปที่ดีที่สุดเพื่อใช้ในการนำเสนอตนเองนั่นเอง และเนื่องจากการนำเสนอตนเองในสังคมออนไลน์นั้นมักเป็นลักษณะของข้อมูลที่กระจายไปยังกลุ่มคนที่หลากหลาย ไม่เหมือนกับการคุยกันต่อหน้าที่เราสามารถเลือกสื่อสารได้กับคนแต่ละคน ดังนั้นเราจะพยายามคัดเลือกลักษณะที่ชัดเจนที่สุดเพื่อเอาออกมานำเสนอให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้ เพื่อจะได้รับความประทับใจกลับมา

 

ดังนั้นอาจพูดได้อีกอย่างว่า สังคมออนไลน์เป็นเหมือนกับสังคมในอุดมคติที่เราจะสามารถใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ได้อย่างเต็มที่ เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับเรา และทำให้เราสามารถจัดการกับความประทับใจที่ผู้อื่นจะมีต่อเรา

 

จะเห็นได้ว่า สังคมออนไลน์มีลักษณะของความเป็น “สังคม” อย่างมาก เพราะเมื่อเราทำอะไรลงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการ post รูป หรือข้อความอะไรก็ตาม จะมีคนส่วนมากรับรู้และมองเห็น ดังนั้นจึงควรจะตระหนักและระมัดระวังในการสื่อสิ่งต่างๆ รวมไปถึงระมัดระวังในการรับรู้สื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน เพราะสารต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นอาจเกิดขึ้นเพียงเพื่อสร้างความประทับใจเท่านั้นเอง

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bolino, M. C., Kacmar, K. M., Turnley, W. H., & Gilstrap, J. B. (2008). A multi-level review of impression management motives and behaviors. Journal of Management, 34(6), 1080-1109. DOI: 10.1177/0149206308324325

 

Krämer, N. C., & Winter, S. (2008). Impression management 2.0. The relationship of self-esteem, extraversion, self-efficacy, and self-presentation within social networking sites. Journal of Media Psychology, 20(3), 106-116. DOI: 10.1027/1864-1105.20.3.106

 

Pounders, K., Kowalczyk, C. M., & Stowers, K. (2016). Insight into the motivation of selfie postings: Impression management and self-esteem. European Journal of Marketing, 50(9/10), 1879-1892. DOI: 10.1108/EJM-07-2015-0502

 

ภาพจาก https://makeawebsitehub.com/social-media-sites/

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เข้าใจความประหม่า เวลานำเสนองาน

 

ในการทำงานปัจจุบัน การนำเสนองาน หรือ present งานนั้นนับเป็นทักษะที่สำคัญทักษะหนึ่ง แต่หลายคนอาจกลัวหรือไม่มั่นใจในการออกไปพูดคุยต่อหน้าคนจำนวนมาก พยายามหลีกเลี่ยงการนำเสนองาน หรือหากต้องทำ ความประหม่าอาจทำให้นำเสนอได้ไม่เต็มที่ พลอยทำให้เสียโอกาสดี ๆ ที่จะถ่ายทอดความคิดหรือข้อมูลที่มีไป

 

ความกลัวการนำเสนองานหรือการพูดต่อหน้าคนหมู่มากนั้น นับเป็นความกลัวยอดฮิตติดลำดับต้น ๆ ของคนทั่วไป ทางจิตวิทยาจึงได้มีการค้นคว้าทำความเข้าใจ พบว่าความกลัวนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือความกลัวว่าเราจะทำผิดพลาดระหว่างการนำเสนอ และส่วนที่สอง คือ ความกลัวว่าความผิดพลาดนั้นจะนำมาซึ่งผลเสียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกลงโทษ การตำหนิ การล้อเลียน เมื่อนำทั้งสองส่วนมาประกอบกันแล้ว ไม่แปลกเลยนะคะที่การนำเสนองานจะทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกอกสั่นขวัญแขวงไม่น้อย

 

 

ทำไมเราแต่ละคนจึงกลัวการนำเสนองานไม่เท่ากัน


 

สาเหตุตรงนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนเช่นกันค่ะ ส่วนแรกเลยเป็นพื้นอารมณ์ที่ติดเนื้อติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เราบางคนมีลักษณะระแวดระวัง เคร่งเครียด หรือกังวลง่าย จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดความกลัวง่ายเป็นพิเศษ ส่วนที่สอง เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่มี บางคนอาจเคยมีประสบการณ์ลบ ๆ จากการนำเสนองาน หรือเห็นตัวแบบคนอื่น ๆ มีประสบการณ์เลวร้าย เช่น เคยพูดผิดพลาดแล้วถูกตำหนิ ส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเกิดขึ้นกับตนเองอีก

 

ทั้งสองปัจจัยนี้ส่งผลร่วมกัน ทำให้หลายคนเกิดความกลัวคิดหวาดระแวงว่าจะทำผิดพลาด หรือกดดันตัวเองว่าจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ต้องการ ผนวกกับประสบการณ์ทางลบที่เคยมีมาในอดีต อาจทำให้คาดเดาว่าความผิดพลาดจะส่งผลเสียต่าง ๆ ส่งผลทำให้เกิดความกลัวขึ้น ซึ่งเมื่อความกลัวเกิดขึ้นแล้ว ร่างกายก็จะตอบสนองตอบเชิงลบ เช่น มือไม้สั่น หน้าแดง หรือเหงื่อแตก พลอยทำให้เจ้าตัวพะวงว่าผู้ฟังจะสังเกตเห็นสัญญาณความกลัวของตัวเอง เกิดการขาดสมาธิ พูดผิด ๆ พลาด ๆ กลายเป็นยิ่งรู้สึกขยาดการนำเสนองานต่อเนื่องตามไป

 

หลายคนพอกลัว ก็จะหลีกเลี่ยงไม่นำเสนองาน อย่างไรก็ดี การเลี่ยงในลักษณะนี้ช่วยลดความกลัวได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่ในระยะยาว กลับเป็นเสมือนเชื้อไฟที่ทำให้ความกลัวคงอยู่หรือทวีความรุนแรงขึ้น เพราะการเลี่ยงจะทำให้เราขาดโอกาสในการเรียนรู้และสะสมความมั่นใจว่าจริง ๆ เราก็อาจพูดได้โดยไม่เลวร้ายนัก หรือต่อให้เกิดความผิดพลาดขึ้น ผลก็คงไม่เลวร้ายมากเท่าที่เราคาดเดาไว้

 

ในเชิงจิตวิทยา แนวทางหนึ่งในการลดความกลัวที่ได้ผล คือ การฝึกหาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเมื่อความกลัวเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำได้ผ่านการฝึกหายใจลึกและยาวช้า ๆ หรือการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อทำให้ร่างกายสงบพร้อมรับมือความกลัวยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังต้องค่อย ๆ ฝึกเผชิญหน้ากับความนำเสนองานซ้ำ ๆ นานเพียงพอเพื่อให้เกิดความคุ้นชิน

 

การปรับความคิดก็เป็นประเด็นที่ขาดไปไม่ได้ในการเอาชนะความกลัวค่ะ โดยจะเริ่มจากการคิดไม่ให้แพ้ภัยตัวเองก่อน ความคาดหวังนับเป็นภัยแรกเลยค่ะ จึงต้องเริ่มต้นด้วยการลดความต้องการความสมบูรณ์แบบลง หากเรากดดันคาดหวังตัวเองสูง เช่น จะต้องนำเสนอให้เป๊ะ น่าประทับใจ ไม่ติดขัดเลย อาจจะปรับลดความคาดหวังโดยสังเกตการนำเสนอของคนทั่วไปว่าจริง ๆ แล้วส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอ แล้วคนฟังเองก็ไม่ได้สนใจจับรายละเอียดทั้งหมด หากคนอื่นมีผิดมีพลาด เหตุใดเราจึงคาดหวังความสมบูรณ์แบบกับตนเอง

 

นอกจากการลดความคาดหวังความสมบูรณ์แบบแล้ว ไม่ควรมองข้ามมุมมองความคิดอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์อีกค่ะ เช่น การยอมรับว่าการพูดต่อหน้าคนหมู่มากไม่ใช่เรื่องหมูและอาจก่อให้เกิดความกลัวให้คนส่วนใหญ่ ตรงนี้จะช่วยให้เรายอมรับและไม่หงุดหงิดเกินไปกับความกลัวของตัวเอง นอกจากนั้น หากเรามองว่าการนำเสนองานเป็นทักษะที่พัฒนาขึ้นได้ ไม่ได้อาศัยพรสวรรค์อย่างเดียว พร้อมทั้งชมเชย ไม่ละเลยเวลาที่เราทำได้ดี เหล่านี้จะเป็นกำลังใจให้เราฝึกปรือ ทำให้แม้จะมีความกลัวในการนำเสนองานอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีผลกระทบมากเกินไปในการทำงานของเรานะคะ

 

 

 

 

ภาพประกอบจาก https://studybreaks.com/college/prep-presentation-severe-anxiety/

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Psyche Poll #2 : Poll เลือกตั้ง 2562

 

Election Poll :

เหตุผลของการตัดสินใจ ปัญหาที่อยากให้เร่งแก้ไข และคุณสมบัติสำคัญของผู้นำ

 

 

โพลลำดับที่ 2 ของเพจบริหารชีวิตด้วยจิตวิทยา เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเราได้ห่างหายจากการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นกันมานานพอสมควร การเลือกตั้งหนนี้จึงเรียกความตื่นตัวให้กับคน 50 กว่าล้านคนทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี

 

ครั้งนี้มีท่านผู้มีอุปการะคุณมาร่วมตอบโพลนี้ทั้งสิ้น 173 คน เป็นผู้หญิง 125 คน (72.3%) ผู้ชาย 43 คน (24.9%) และเพศอื่นๆ 5 คน (2.9%) มีอายุเฉลี่ย 29.86 ปี (ต่ำสุด 14 ปี และสูงสุด 67 ปี) การศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด (49.7%) ตามด้วยปริญญาโท (40.5%) เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ (67.6%) และเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ภาคกลาง (9.2%)  ภาคใต้ (0.9%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (5.8%) ภาคเหนือ (4.6%) ภาคตะวันตก (1.7%) และภาคตะวันออก (1.2%) ตามลำดับ (ไม่ระบุ 2.9%)

โดยกว่า 2 ใน 3 เป็นผู้ที่เคยใช้สิทธิ์เลือกตั้งมาแล้ว และอีก 1 ใน 3 ไม่เคยใช้สิทธิ์หรือไม่ถึงเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งมาก่อน

 

 

 

 

จากคำถามใน Psyche Poll#2 ของเราที่ประกอบด้วย
  • การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ท่านมีตัวเลือกในใจแล้วหรือยัง
  • สิ่งที่เป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของท่าน ในการเลือกตั้งครั้งนี้
  • ปัญหาที่ท่านอยากให้รัฐบาลใหม่ แก้ไขหรือปฏิรูปมากที่สุด
  • คุณสมบัติ 3 ข้อสำคัญของผู้นำที่ท่านต้องการ

 

ผลการสำรวจปรากฏดังนี้

1. ตัวเลือกในใจ

 

 

 

ผู้ตอบโพลส่วนใหญ่มีตัวเลือกในใจในการเลือกตั้งครั้งนี้แบบแน่วแน่ไม่เปลี่ยนใจ (38.7%) แต่ก็ไม่ทิ้งห่างกันนักกับกลุ่มที่ถึงแม้จะมีตัวเลือกในใจแต่ก็ยังเอนไปเอนมา (32.9%) แล้วก็มีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ยังไม่ตัดสินใจ (26.6%) และมีอีกจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจแล้วว่าเลือกที่จะไม่เลือก (1.7%)

 

เป็นที่น่าสนใจว่า โดยทั่วไปแล้วเรื่องการเมืองถือเป็นเจตคติ (attitude) ที่หนักแน่นเปลี่ยนแปลงได้ยาก คนมักมีความชอบและเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าต่อแนวคิดทางการเมืองและพรรคการเมืองแบบแทบที่จะไม่สามารถโน้มน้าวได้ ดังที่เรามักพูดกันว่า จะเถียงกันเรื่องใดก็เถียงไป แต่อย่าเถียงกันเรื่องการเมืองและศาสนา

 

แต่จากข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างเล็ก ๆ นี้ หลายคนเลือกที่จะไม่ออกตัวแรง หรือชะลอการตัดสินใจเอาไว้จนถึงนาทีสุดท้าย สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ทางสังคมที่แตกต่างออกไป

 

การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเกือบ 5 ปี โครงสร้างการแข่งขันหรือส่วนแบ่งทางการตลาดเปลี่ยนรูปแบบออกไป จากที่เคยมีพรรคใหญ่ ๆ ไม่กี่พรรค ครั้งนี้ด้วยรูปแบบการนับคะแนนที่เปลี่ยนไปจากเดิมทำให้มีพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กแตกขยายออกเป็นจำนวนมาก มีพรรคใหญ่ที่เป็นพรรคใหม่เข้ามาเป็นตัวเลือกที่มาแรงทั้งกระแสและฐานความนิยม

 

และระหว่างที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวทุกพรรคก็ได้ซุ่มตระเตรียมนโยบายด้านต่าง ๆ พร้อมออกมาขายกันอย่างมากมาย นับว่ามีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะได้ใช้พิจารณา

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องที่จะต้องชั่งน้ำหนักอีกหลายประการ ได้แก่ เราจะเลือกจากอะไรเป็นสำคัญ ระหว่าง “ผู้สมัครในเขต” “พรรคการเมือง” หรือ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” เพราะมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่เราจะพอใจผู้สมัครจากพรรคหนึ่ง แต่มีจิตใจต่อต้านหรือโอนเอียงต่อพรรคหนึ่ง และประทับใจต่อตัวแคนดิเดตนายกฯ จากอีกพรรคหนึ่ง และข้อกังวลว่า ถ้าไม่เลือกพรรคนี้ พรรคนั้นเขาจะมาแน่ใช่หรือไม่ ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) เหล่านี้ก็นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตัดสินใจ

 

และนี่จึงนำไปสู่คำถามข้อถัดไป ว่าด้วย

 

 

2. ตัวกำหนดการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

 

 

เมื่อมีตัวเลือกจำนวนมาก ข้อมูลประกอบมาก และ dilemma มาก ทั้งสมองและอารมณ์ของเราก็ต้องทำงานอย่างหนัก

 

โดยเมื่อโพลให้เลือกถึงตัวกำหนดการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ 3 ข้อจากตัวเลือกทั้งสิ้น 7 ตัวเลือก พบว่าสิ่งที่มีน้ำหนักมากที่สุดสำหรับกลุ่มผู้ตอบโพลคือ นโยบายที่ถูกใจ ตามมาด้วยความชื่นชอบในตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ความชื่นชอบในพรรคการเมือง และความชื่นชอบในตัวผู้สมัครในเขตของตนเอง ส่วนตัวกำหนดที่อาจจะมีน้ำหนักน้อย แต่ก็ไม่ได้ไร้อิทธิพลเสียทีเดียว ก็คือ กระแสสังคม อิทธิพลจากครอบครัวและเพื่อนฝูง

 

หลักจิตวิทยาเกี่ยวกับการตัดสินใจนั้น มีอธิบายไว้มากมายหลายทฤษฎี เช่น การเลือกด้วยทางสายแกนและทางสายเปลือก คือเราอาจถูกโน้มน้าวใจได้ด้วยข้อมูลอันมีเหตุมีผล มีการพิจารณาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย หรือเราอาจถูกโน้มน้าวใจได้ด้วยภาพลักษณ์ ความสวยงาม ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล รวมถึงอคติทางบวกและทางลบที่มีอยู่เดิม

 

โดยสิ่งใดจะมีน้ำหนักมากกว่ากันนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสนใจในเรื่องนั้น และบุคลิกภาพส่วนบุคคล (ความต้องการทางปัญญา)

 

อีกทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคล คือ ทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน ที่กล่าวว่าบุคคลจะมีพฤติกรรมเป็นเช่นไรนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือ เจตคติ บรรทัดฐาน และความเชื่อในอำนวจควบคุม ถ้านำทฤษฎีนี้มาประยุกต์กับในกรณีนี้ เราสามารถอธิบายได้ว่า พฤติกรรมการเลือกหรือเจตนาที่จะเลือกของเรา สามารถอาจเป็นไปตามเจตคติหรือความเชื่อความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเลือกต่าง ๆ และอาจโน้มเอียงไปตามบรรทัดฐานของสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ หรือกระแสในสื่อหลักและสื่อออนไลน์ (ซึ่งจะส่งอิทธิพลอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับในสังคมแบบคติรวมหมู่) และยังขึ้นอยู่กับการที่เรารับรู้ว่าเรามีอำนาจในการเลือกนั้นแค่ไหน เราสามารถเลือกได้ตามใจเราหรือไม่ หรือเสียงของเรามีความหมายเพียงใด สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่

 

ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้เลือกตอบถึงตัวนโยบาย หรือพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร ก็อาจไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ใช้ทางสายแกนในการคิด แต่เป็นเพราะตระหนักว่าอคติและอิทธิพลทางสังคมมีผลต่อการตัดสินใจของตนเอง ทั้งยังมีประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจของสิทธิ์และเสียงของตนเองอีกด้วย

 

 

3. ปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ไขหรือปฏิรูปมากที่สุด

 

 

 

มาถึงประเด็นที่คนให้ความสำคัญและฝากความหวังไว้กับรัฐบาลใหม่

 

เรื่องเศรษฐกิจและปากท้องประชาชนยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งตลอดกาล เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อทุกผู้ทุกคน ไม่ว่าจะวัยใด ฐานะไหน มีบทบาทสถานะอะไร ความมีอยู่มีกิน ไร้หนี้สิน มีสภาพคล่องก็เป็นยอดปรารถนา เศรษฐกิจที่ดีนำมาซึ่งความบริบูรณ์ของปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่ม และการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับทฤษฎีทางจิตวิทยาเรื่องลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ที่เสนอว่า มนุษย์มีความต้องการหลายอย่าง มากน้อยแตกต่างกันไปตามความจำเป็นของชีวิต โดยความจำเป็นพื้นฐานที่มีความจำเป็นมากที่สุดจะอยู่ในชั้นฐานของปิระมิดที่มีพื้นที่มากที่สุด และความจำเป็นในระดับรองลงมาก็จะอยู่ในลำดับขั้นที่สูงขึ้นไปจนถึงยอดปิระมิดที่มีพื้นที่น้อยที่สุด

 

มาสโลว์กล่าวถึงความต้องการในชั้นฐาน ซึ่งก็คือความต้องการทางกายภาพ เป็นความต้องการเพื่อความอยู่รอด ความต้องการพื้นฐานนี้จำเป็นจะต้องได้รับการเติมเต็มก่อนความต้องการใด ๆ ความมั่นคงปลอดภัย มิตรภาพและความรัก ความเคารพนับถือ และการพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ ยังรอได้หากความต้องการทางกายภาพยังไม่ได้รับการตอบสนอง หรือเราอาจมองได้ว่า ความเพียงพอทางกายภาพนี้เองจะเป็นต้นทุนสำหรับการสร้างและแสวงหาความต้องการด้านอื่น ๆ

 

ถัดจากเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษาเป็นประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญในอันดับต่อมา อาจด้วยหลายคนมองว่าการศึกษาเป็นต้นตอแห่งความเจริญพัฒนาของเรื่องอื่น ๆ (หรือความเสื่อมหากจะมองกลับกัน) หากอยากแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องพัฒนาที่คุณภาพคน ซึ่งการศึกษาที่มีคุณภาพก็จะเป็นตัวรับประกันคุณภาพคนประการหนึ่ง และด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ตอบโพลนี้เกือบทั้งหมดจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จึงเป็นกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของการศึกษา และเห็นปัญหาที่คิดว่าประเทศควรได้รับการแก้ไข

สำหรับประเด็นคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเรื่องระบบราชการ ด้วยพื้นฐานสังคมไทยเป็นสังคมแบบอุปถัมป์ ปัญหาลักษณะนี้จึงพบได้ทั่วไปในสังคมทุกระดับ แม้วิธีคิดหรือวัฒนธรรมของคนในสังคมเองที่เป็นตัวบ่มเพาะปัญหา แต่การจะเปลี่ยนแปลงถึงระดับรากฐานนั้นเป็นงานใหญ่ที่ผู้คนต่างคาดหวังให้รัฐบาลที่ประชาชนให้อำนาจ จะใช้อำนาจในการสร้างกฎระเบียบ วิถีปฏิบัติ เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่

 

ในทางจิตวิทยาสังคมและจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การเชื่อเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมและวัฒนธรรม แม้จะต้องมีองค์ประกอบที่เอื้อหลายๆ อย่าง และได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย แต่ผู้นำก็เป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญที่สุด การเปลี่ยนแปลงของผู้นำจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมได้

 

จึงมาถึงคำถามประเด็นสุดท้าย

 

 

4. คุณสมบัติ 3 ข้อสำคัญของผู้นำที่ท่านต้องการ

 

ผู้นำ (leader) คือตัวแทนของกลุ่ม คือผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการตัดสินใจของกลุ่ม คือตัวกลางในการสื่อสาร การประสานการทำงานของกลุ่ม คือผู้กำหนดทิศทาง เป้าหมายและแรงจูงใจของกลุ่ม ทั้งยังมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของกลุ่ม

 

ในทางจิตวิทยามีงานที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของผู้นำเป็นจำนวนมาก รวมถึงงานที่ศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบหรือสไตล์ของผู้นำที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ โดยคุณสมบัติที่ทำให้บุคคลได้รับการยอมรับเป็นผู้นำนั้นมีองค์ประกอบหลายด้าน เช่น ด้านสติปัญญา ความรู้ความสามารถ การมีส่วนร่วมในงาน บุคลิกภาพ สายสัมพันธ์ กระทั่งเรื่องรูปร่างหน้าตา

 

สำหรับเรื่องสติปัญญา การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า โดยทั่วไปแล้วผู้นำมักมีระดับสติปัญญาสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม กลุ่มต้องการผู้นำที่ฉลาดกว่าสมาชิก (แต่ไม่ต้องมากนักก็ได้) มีความรู้มากกว่า ตัดสินใจได้เด็ดขาดกว่า มีไหวพริบ พูดคล่องกว่า และความฉลาดที่จำเป็นคือความฉลาดทางอารมณ์และสังคม มีความยืดหยุ่นที่จะปรับบทบาทของตนเองได้ว่าสถานการณ์ใดควรมุ่งงาน และสถานการณ์ใดต้องมุ่งคน (task and relationship oriented)

 

ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ก็เป็นประเด็นสำคัญ ผู้นำที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นสูง และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ความกระตือรือร้น ที่จะใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และทักษะที่มี อุทิศให้กับงาน เพื่อให้เป้าหมายของกลุ่มประสบความสำเร็จ คือผู้นำที่สมาชิกกลุ่มชื่นชอบ

ด้านบุคลิกภาพ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสรุปได้ยาก แต่โดยทั่วไปพบว่าผู้นำมีลักษณะต่อไปนี้สูงกว่าสมาชิก ได้แก่ พลังงานและอำนาจ ความรับผิดชอบ การปรับตัว ความมั่นใจในตนเอง ความตื่นตัว การควบคุมอารมณ์ ความเป็นตัวของตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ คุณธรรม ความเป็นชายและความเป็นหญิง (masculinity-femininity) การเปิดตัว (extraversion) เป็นต้น

 

เรื่องหน้าตาใครคิดว่าไม่สำคัญ แม้ความสวยความหล่อจะไม่ได้มีผลต่อประสิทธิภาพการนำของบุคคล แต่ในด้านความน่าเชื่อถือ ผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาดี เหมาะกับวัย ก็จะมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องความลำเอียงทางปัญญาว่าด้วย Halo Effect  คือการที่เรารับรู้ลักษณะที่ดีประการหนึ่งของบุคคล ส่งผลให้เราประเมินว่าบุคคลมีลักษณะอื่นๆ ในทางที่ดีด้วย ดังนั้นคนที่หน้าตาดี จึงมักได้รับการประเมินอย่างลำเอียงว่าเป็นคนเก่งและมีอุปนิสัยที่น่าพึงปรารถนาด้วย

 

อย่างไรก็ดี รูปร่างหน้าตาไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิด Halo Effect ความร่ำรวย การศึกษา ฐานะทางสังคม หน้าที่การงาน เสน่ห์ ฯลฯ ก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน

 

ข้างต้นที่กล่าวมานั้นคือคุณสมบัติทั่วไปของบุคคลที่ได้รับการยอมรับให้มาเป็นผู้นำกลุ่ม สำหรับการเป็นผู้นำประเทศ สมาชิกกลุ่มคือประชาชนทุกคนในประเทศ ดังนั้นคุณสมบัติต่าง ๆ เหล่านั้นจึงต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อที่จะเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ เป็นผู้กำหนดทิศทาง และประสานการทำงานที่จะส่งผลต่อพลเมืองทุก ๆ คน

 

เรามาดูกันว่า คุณสมบัติใดที่มีน้ำหนักในมุมมองของผู้ตอบโพลมากที่สุด

 

 

 

 

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่ผู้ที่ลงมือทำงานเองทุกอย่าง อาจไม่ต้องมีความสามารถเฉพาะด้านเป็นพิเศษ แต่ต้องเป็นผู้ที่มองภาพรวมออก กำหนดทิศทางได้ เรื่องวิสัยทัศน์และการมองการณ์ไกลจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญเป็นอันดับที่หนึ่ง ไม่ไกลกันนักกับลำดับที่สาม คือเรื่องความฉลาดมีไหวพริบ เนื่องจากงานนายกรัฐมนตรีเป็นงานที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ กำกับ ติดตาม การทำงานของคณะทำงาน จะต้องมองเห็นปัญหาอย่างรวดเร็ว และตอบสนองต่อปัญหาในทางสร้างสรรค์ได้ รวมทั้งรู้เท่าทันในตัวบุคคลและสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่

 

นอกจากนี้ ในตำแหน่งที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์สูง คุณธรรมจริยธรรมก็เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่อาจละเลยได้ นายกรัฐมนตรีอาจไม่ต้องเป็นคนดีที่สุด แต่ถ้าเมื่อใดที่มีความขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม จะต้องละประโยชน์ส่วนตนเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมให้ได้ ความซื่อสัตย์สุจริตอาจไม่ต้องร้อยเปอร์เซ็น (จะผิดสัญญาบ้างก็ได้) แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำ ซึ่งผู้นำคือผู้ที่ทำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มด้วยความเห็นชอบจากสมาชิก ดังนั้นความซื่อสัตย์สุจริตที่ชาติต้องการ คือความซื่อสัตย์สุจริตที่นำมาเพื่อประโยชน์ของคนในชาตินั่นเอง

 

เรามักมีคำถามว่า ถ้าให้เลือกระหว่างคนเก่งกับคนดีจะเลือกอะไร สำหรับคำถามนี้ นักจิตวิทยาจะตอบว่า ผู้นำประเทศไม่ต้องเก่งมากหรือดีมากกว่าใคร แต่ต้องทั้งเก่งและดีไปด้วยกัน

 

สายใย สายสัมพันธ์

 

วันแห่งความรัก

 

หนุ่มน้อยสามคนเดินอยู่หน้าร้านดอกไม้ ดูเคอะเขินและละล้าละลังที่จะเลือกดอกไม้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกที่ตนมีให้แก่คนรัก

 

ผู้เขียนยืนมองหนุ่มน้อยทั้งสามด้วยสายตาและหัวใจของคนเป็นแม่ เกิดความรู้สึกทั้งเอ็นดูทั้งช่วยลุ้น ทั้งเป็นห่วงระคนกัน

 

สำหรับวัยรุ่นความรู้สึกรักและถูกรัก ช่างมีค่ามีพลังเหลือเกิน และเมื่อความรักนั้นไม่สมหวังก็จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน หากจะเปรียบเทียบถึงความรู้สึกของการอยู่ในความรักของวัยรุ่น ก็คงเปรียบได้กับการอยู่ในพายุ

 

หากจะมองจากหัวใจคนเป็นแม่ ก็คงรู้สึกว่าลูกอยู่ท่ามกลางพายุ จะประคองยังไงให้เขาผ่านพ้นพายุลูกนี้ไปได้ ถ้าแม่จะกางกั้นไม่ให้ลูกมีความรัก การกระทำนี้คงเป็นไปเพื่อความรู้สึกปลอดภัยของแม่เอง ที่แม่ได้เก็บลูกไว้กับตัวเอง มั่นใจได้ว่าลูกปลอดภัยอยู่กับเรา ถ้าแม่จะปล่อยให้ลับตาไป ให้เผชิญกับพายุตามลำพัง ใจแม่ก็หวั่นเสียเหลือเกินว่าลูกจะเป็นอย่างไร

 

การตัดสินใจของแม่ว่าจะทำเช่นไรคงขึ้นกับแม่แต่ละคน หากผู้เขียนอยากบอกให้แม่ทุกคนรู้ว่า การที่ลูกของเราจะเป็นอย่างไรในความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของเขา สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ ความสัมพันธ์ของเขากับแม่ถึงเริ่มก่อตัวตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็ก ๆ นี้ละคะ

 

การกอด รอยยิ้ม การสัมผัสทุกสัมผัส การป้อนอาหาร การเปลี่ยนผ้าอ้อม การดูแลในทุกรูปแบบที่แม่ทำ จะทำให้เกิดสายใยที่ค่อย ๆ ก่อตัวทีละเล็กทีละน้อย สายใยที่สร้างขึ้นมานี้จะสลักลึกลงในจิตใจของลูก ในใจของลูก เขาจะเริ่มสร้างเป็นภาพการรับรู้ที่เขามีต่อตัวเองว่าตัวเองมีค่ามีความหมายหรือไม่ และภาพการรับรู้ที่เขามีต่อคนอื่น ๆ ว่าคนอื่นมีค่าเพียงพอสำหรับการไว้วางใจหรือไม่ ถ้าแม่ได้สร้างสายใยที่แข็งแกร่งให้เขารับรู้ได้ตั้งแต่ยังแบเบาะแล้วว่า เขามีค่ามีความหมาย เขาก็จะมองตัวเองอย่างมีค่ามีความหมายต่อไปเมื่อเขาเติบโตขึ้น

 

สายใยที่แม่สร้างไว้จะเป็นพลังเป็นแรงใจให้ลูกในทุกเรื่อง แม่จะคอยมองอยู่ข้างหลังได้อย่างมั่นใจ เมื่อเขาจะไปเผชิญสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิต ลูกเองก็จะรับรู้ว่าเมื่อหันกลับมาเมื่อใดให้มั่นใจว่ามีแม่เป็นกองหลังที่เข้มแข็ง พร้อมเป็นแหล่งพลังงานให้เขาเมื่อเขาหมดแรง ลูกจะรับรู้ได้ว่าเมื่อใดที่ไม่สบายใจ เขาจะยังมีแม่เป็นฐานที่มั่นอันปลอดภัย (secure base) ให้กลับมาพัก กลับมาชาร์จแบต กลับมาเติมพลังได้เสมอ

 

ดังนั้นสิ่งที่แม่จะทำได้ในวันนี้เพื่อจะได้มั่นใจได้ว่าเมื่อลูกเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เมื่อเขาเริ่มต้นมีความรัก เขาจะมีความรักที่ดี รักอย่างเห็นคุณค่าในตัวเอง รักอย่างให้เกียรติให้คุณค่าในอีกฝ่าย คือ การสร้างสายใยสายสัมพันธ์ผ่านความรักการดูแลเอาใจใส่ที่แม่มีให้ ให้เขารู้จักกับความสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่ความสัมพันธ์แรกในชีวิตเขา แล้วเขาก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีได้กับผู้อื่นต่อไป ดังคำของ John Bowlby ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีที่ผู้เขียนใช้เป็นแนวคิดหลักในการเขียนบทความฉบับนี้ได้กล่าวไว้ว่า “the cradle to the grave” รอยสลักจากสายสัมพันธ์แรกนี้จะสลักลึกอยู่กับลูกตลอดชีวิต

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bowlby, J. (1973). Narural Clues to Danger and Safety. Attachment and loss, 2, 137-150.

 

Fraley, R. C., & Shaver, P. R. (2000). Adult romantic attachment: Theoretical developments, emerging controversies, and unanswered questions. Review of general psychology, 4(2), 132.

 

ภาพจาก https://www.virtual-college.co.uk/news/safeguarding/2018/01/attachment-theory-early-emotional-bonds-important

 

 


 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย