ข่าวและกิจกรรม

จิตวิทยากับการพยากรณ์โชคชะตา

 

จิตวิทยากับการพยากรณ์โชคชะตา

 

: ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกนักพยากรณ์โชคชะตา 9 คน และผู้รับบริการ 7 คน โดยใช้แหล่งการพยากรณ์โชคชะตาหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร

 

 

เหตุผลของคนดูดวง และบทบาทของนักพยากรณ์ในการช่วยเหลือด้านจิตใจ


 

ลักษณะของสัมพันธภาพในการพยากรณ์โชคชะตาเป็นแบบการให้คำปรึกษาแนะนำ (guidance) ซึ่งแตกต่างจากการปรึกษา เชิงจิตวิทยา (counseling) ที่มีสัมพันธภาพในเชิงบำบัด (therapeutic relationship) ทั้งนี้สัมพันธภาพในการพยากรณ์โชคชะตามีจุดเริ่มต้นจากความต้องการคำตอบจากการพยากรณ์โชคชะตาเป็นจุดประสงค์หลัก กล่าวคือ สาเหตุที่ผู้รับบริการเลือกเข้าหานักพยากรณ์โชคชะตาเพราะต้องการที่พึ่งทางใจในคราวทุกข์ ต้องการทราบอนาคตเพื่อลดความกังวล ต้องการเติมเต็มความมั่นใจในการตัดสินใจ หรือต้องการทราบแนวทางในการดำเนินชีวิต อีกทั้ง ยังต้องการหลีกเลี่ยงการถูกตีตรา ส่งผลให้ผู้รับบริการเลือกใช้การพยากรณ์โชคชะตาแทนการเข้าหานักจิตวิทยาหรือจิตวิทยา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ต้องการ “ลองของ” อีกด้วย

 

รูปแบบสัมพันธภาพในการพยากรณ์โชคชะตาที่พบเห็นในสังคมไทยมี 3 รูปแบบ คือ

  • 1) มีความสนิทสนมคุ้นเคยดุจญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดจากการไปมาหาสู่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันบ่อยครั้ง
  • 2) เป็นที่พึ่งที่ปรึกษา เป็นรูปแบบภาวะการพึ่งพานักพยากรณ์ มองว่าเป็นผู้ชี้แนะแนวทางการตัดสินใจในการดำเนินชีวิต และ
  • 3) เป็นเพียงผู้รับบริการ หรือคนแปลกหน้าที่ให้มาระบายปัญหาเท่านั้น

 

ไม่ว่าสัมพันธภาพจะอยู่ในรูปแบบใด ถ้าเป็นสัมพันธภาพที่ดีก็นำไปสู่การช่วยเหลือด้านจิตใจได้ ทั้งนี้ปัจจัยสู่สัมพันธภาพที่ดีในการพยากรณ์โชคชะตาประกอบด้วย

  1. การพยากรณ์ที่แม่นยำ
  2. การประพฤติตามจรรยาบรรณโหร (มีคุณธรรม จริงใจ ไม่ฉกฉวยผลประโยชน์)
  3. การรักษาความลับของผู้รับบริการ และ
  4. การเปิดใจยอมรับผู้รับบริการ ไม่ตัดสินถูกผิด ซึ่งผลที่เกิดจากการมีสัมพันธภาพที่ดีคือเกิดความไว้วางใจ เกิดศรัทธา ให้ความเคารพนับถือ ยินดีเปิดเผยเรื่องราว กลับมาใช้บริการอีก และแนะนำบอกต่อแก่ผู้อื่น

 

ทั้งนี้ในทางการปรึกษาเชิงจิตวิทยามองว่า การที่ผู้รับบริการเกิดความไว้วางใจจนนำมาสู่การเปิดเผยเรื่องราวเป็นสิ่งสำคัญอันนำไปสู่การช่วยเหลือที่ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ กระนั้น ในบางแง่มุมการเกิดความรู้สึกด้านลบเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ทั้งนี้การมีสัมพันธภาพที่มากหรือน้อยจนเกิดไป ไม่ไว้วางใจ หรือเกินขอบเขตที่เหมาะสม ย่อมไม่ส่งผลที่ดีต่อทั้งนักพยากรณ์โชคชะตาและผู้รับบริการ

 

 

กระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจของนักพยากรณ์โชคชะตา


 

ขั้นตอนในกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจของนักพยากรณ์โชคชะตาเริ่มจากการสังเกตท่าทางของผู้รับบริการเพื่อประเมินความรู้สึกนึกคิด และวัดระดับอารมณ์ในการออกคำพยากรณ์ จากนั้นทำการพยากรณ์ตามหลักของศาสตร์ และในระหว่างการพยากรณ์จะมีการเปิดโอกาสให้ซักถามเพื่อเติมในส่วนที่ยังคงรู้สึกสงสัยหรือค้างคาใจเพื่อให้ผู้รับบริการขจัดความกังวลใจได้อย่างเต็มที่ และมักลงท้ายด้วยการเสนอแนะแนวทางการช่วยเหลือด้านจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่อิงบทฐานของความเชื่อในศาสตร์การพยากรณ์โชคชะตา

 

การให้คำปรึกษาของนักพยากรณ์โชคชะตาเป็นแบบการให้คำแนะนำและชี้นำทาง ซึ่งต่างจากจิตวิทยาการปรึกษาที่เป็นแบบไม่ชี้นำ ซึ่งการชี้นำนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้รับบริการเกิดการใคร่ครวญและตระหนักรู้ในตนเองอย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้รับบริการเกิดปัญหาครั้งใหม่ ผู้รับบริการจะกลับมาใช้บริการกับนักพยากรณ์โชคชะตาอีก ในขณะที่การปรึกษาเชิงจิตวิทยามีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับบริการเกิดปัญญาในการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และไม่จำเป็นต้องย้อนกลับมาปรึกษานักจิตวิทยาอีก

 

ทั้งนี้แนวทางการช่วยเหลือที่นักพยากรณ์โชคชะตามักเสนอแนะให้แก่ผู้รับบริการเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ที่นักพยากรณ์โชคชะตาผู้นั้นยึดถืออยู่ กล่าวคือหากเป็นบุคคลที่นับถือพุทธศาสนาก็จะมีความเชื่อเรื่องกรรม และมองการพยากรณ์โชคชะตาเป็นศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกับการกระทำในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ฉะนั้นแนวทางที่เสนอแนะจึงอยู่ในรูปของการให้กระทำดี สร้างบุญสร้างกุศลหรือให้ปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ในรายที่มีความเชื่อมั่นในศาสตร์การพยากรณ์โดยเฉพาะ ก็มักเสนอแนวทางการช่วยเหลือด้านจิตใจที่อิงกับดวงดาวทางโหราสาสตร์ เป็นต้น ดังนั้นหากผู้รับบริการที่ได้รับการเสนอแนะแนวทางจากนักพยากรณ์โชคชะตามีความเชื่อเช่นเดียวกัน ย่อมส่งผลให้ภาวะใจของผู้รับบริการมีความผ่อนคลายในเบื้องต้น

 

 

 

กลไกที่เกิดในกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจด้วยการพยากรณ์โชคชะตา สามารถจัดเป็นผลที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือการได้ระบายเรื่องราวปัญหา และการได้ทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าเป็นการเตรียมใจ เป็นผลพลอยได้จากการพยากรณ์โชคชะตา ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้รับบริการ คือการต้องการทราบอนาคตโดยมีความเชื่อว่าการพยากรณ์โชคชะตาเป็นศาสตร์ที่สามารถให้คำตอบตนได้ นอกจากการได้ทราบคำตอบพร้อมแนวทางการแก้ไขแล้ว ความเชื่อมั่นใจอนาคตที่ได้จากคำพยากรณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้รับบริการมีความหวังในการก้าวผ่านปัญหาหรืออุปสรรคที่ตนกำลังเผชิญ

 

จากข้อค้นพบที่ได้ทำให้เข้าใจมูลเหตุความต้องการของผู้รับบริการและกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในการพยากรณ์โชคชะตา ดังนั้นในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา หากนำความเข้าใจดังกล่าวไปใช้จะสามารถเข้าถึงผู้รับบริการได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“การพยากรณ์โชคชะตาและกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจ”
“Fortune telling and psychological helping process”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2552)
โดย นางสาวเรวดี สกุลอาริยะ
ที่ปรึกษา ผศ. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/17082

 

รายได้ การเปรียบเทียบ และความสุข

 

รายได้ การเปรียบเทียบ และความสุข

 

: ข้อมูลจากผู้มีรายได้ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประกอบอาชีพข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานบริษัท เพศหญิงและเพศชาย จำนวน 810 คน

 

จากงานวิจัยพบว่า การเปรียบเทียบทางสังคมกับบุคคลอื่น เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสุขเชิงอัตวิสัยที่แตกต่างกัน โดยบุคคลที่มีการเปรียบเทียบทางสังคมกับบุคคลอื่นที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่ามีความสุขเชิงอัตวิสัยมากกว่าบุคคลที่มีการเปรียบเทียบทางสังคมกับบุคคลอื่นที่ประสบความสำเร็จมากกว่า

 

ตัวแปรรายได้ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสุขเชิงอัตวิสัยแตกต่างกัน บุคคลที่มีรายได้สูงมีความสุขเชิงอัตวิสัยมากกว่าบุคคลที่มีรายได้ต่ำ

 

ในกรณีที่นำตัวแปรด้านรายได้มาร่วมกับตัวแปรการเปรียบเทียบทางสังคมจะเห็นว่า บุคคลที่มีรายได้สูงและมีการเปรียบเทียบทางสังคมกับบุคคลอื่นที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าจะประเมินความสุขเชิงอัตวิสัยในระดับสูงที่สุด และบุคคลที่รายได้ต่ำและมีการเปรียบเทียบทางสังคมกับบุคคลอื่นที่ประสบความสำเร็จมากกว่าจะประเมินความสุขเชิงอัตวิสัยในระดับต่ำที่สุด

 

แต่ถ้าอยู่ในเงื่อนไขการเปรียบทางสังคมกับบุคคลอื่นที่ประสบความเร็จมากกว่า บุคคลรายได้สูงและบุคคลที่มีรายได้ต่ำมีความสุขเชิงอัตสิวัยไม่แตกต่างกัน

 

 

 

หมายเหตุ :

 

ความสุขเชิงอัตวิสัย หมายถึง การประเมินชีวิตโดยภาพรวมของบุคคลตามมาตรฐานของตน คือ มีความพึงพอใจในชีวิต มีอารมณ์ทางบวกมาก และมีอารมณ์ทางลบน้อย

 

บุคคลที่มีรายได้สูง คือ มีรายได้ที่ระดับมากกว่า 30,001 บาท/เดือน
ส่วนบุคคลที่มีรายได้ต่ำ คือ มีรายได้ที่ระดับ 7,001 – 20,000 บาท/เดือน
โดยเป็นรายได้ที่บุคคลได้รับโดยสม่ำเสมอ ที่ไม่รวมรายได้อื่นๆ

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“อิทธิพลของการเปรียบเทียบทางสังคมและรายได้ต่อความสุขเชิงอัตวิสัย”
“Effects of social comparison and income on subjective well-being”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2551)
โดย นางสาวพัชรี ศุภดิษฐ์

ที่ปรึกษา รศ. ดร.ธีระพร อุวรรณโณ

วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21590

ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอกใจ

 

ปัจจัยภายในตัวบุคคลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมนอกใจ


 

 

  • การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปร บุคลิกภาพหลงตนเอง การเปิดรับประสบการณ์ การมีจิตสำนึก ความเคร่งครัดในศาสนา ความพึงพอใจในคู่สมรส และการผูกมัดกับคู่สมรส ที่มีต่อพฤติกรรมนอกใจ ของเพศชายและเพศหญิง
  • กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้คือ ชาย (261 คน) และหญิง (254 คน) ที่สมรสแล้วโดยจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและนับถือศาสนาพุทธ

 

ตัวแปรต่างๆ มีความหมายดังต่อไปนี้

 

– พฤติกรรมการนอกใจ : การแสดงความไม่ซื่อสัตย์ต่อความสัมพันธ์ของคู่สมรส ทั้งด้านการกระทำและด้านจิตใจ

 

– การผูกมัดกับคู่สมรส : ความผูกพันทางจิตใจ และแรงจูงใจที่จะสานความสัมพันธ์แบบคู่สมรสให้ดำเนินต่อไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ความรู้สึกทางบวกในความสัมพันธ์ การมีหรือไม่มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่สมรสที่น่าสนใจ น่าดึงดูดใจ ชวนให้หลงใหล และการลงทุนในความสัมพันธ์ (บ้าน เงิน บุตร ความทรงจำ ระยะเวลาที่มีร่วมกัน ฯลฯ)

 

– ความพึงพอใจในคู่สมรส : ความรู้สึกมีความสุขและความพึงพอใจฉันสามีภรรยาที่มีต่อกัน

 

– บุคลิกภาพหลงตนเอง : ลักษณะของบุคคลที่มองตนเองในแง่บวกเกินจริง คิดว่าตนมีความสามารถเหนือระดับกว่าผู้อื่น ลุ่มหลงกับภาพลักษณ์และเสน่ห์ของตน ชอบเป็นจุดสนใจและต้องการคำชมจากผู้อื่น ใช้ความสัมพันธ์เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ตามที่ตนต้องการ มองว่าการมีคู่รักหมายถึงตนมีคุณค่ามากและมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ไม่จริงใจกับใคร กลัวการถูกปฏิเสธและเจ็บปวดมากเมื่อได้รัคำวิจารณ์ทางลบ

 

– การเปิดรับประสบการณ์ : การชอบจินตนาการ ศิลปะ ความสวยงาม และความหลากหมาย มีความสงสัยใคร่รู้ ชอบแนวคิดใหม่ ๆ สิ่งแปลกใหม่ และมีค่านิยมที่เบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานของสังคม

 

– การมีจิตสำนึก : การควบคุมตนเอง วางแผน มีระเบียบวินัย รอบคอบ มีความตั้งใจแน่วแน่ในการทำงาน ตรงต่อเวลา

 

– ความเคร่งครัดในศาสนา : พฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา

 

 

 

 

ผลการวิจัยพบว่าตัวแปรดังกล่าวล้วนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมนอกใจทั้งเพศชายและหญิง

 

ซึ่งตัวแปรที่สำคัญที่ทำนายพฤติกรรมการนอกใจ คือ “การผูกมัดกับคู่สมรส” และ “ความพึงพอใจในคู่สมรส”

 

กล่าวคือ บุคคลที่มีผูกมัดกับคู่สมรส จะพิจารณาผลลัพธ์ระยะยาวจากการกระทำมากกว่าพฤติกรรมที่เป็นผลประโยชน์ในระยะเวลาสั้น ๆ จะไตร่ตรองความเป็นไปได้หากตนมีพฤติกรรมนอกใจ เช่น ความอับอาย รู้สึกผิด เศร้าเสียใจที่ต้องสูญเสียคนรักไป และจะห่วงใยในทุกข์สุขของคู่ครองมาก จะพิจารณาว่าการกระทำของตนจะทำให้คู่ครองต้องเจ็บปวดเพียงใดและจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ที่มีหรือไม่ ดังนั้นบุคคลที่ผูกมัดกับคู่สมรสสูงจึงไม่มีพฤติกรรมนอกใจ

และความพึงพอใจในคู่สมรสก็มีส่วนช่วยเพิ่มการผูกมัดกับคู่สมรสได้

 

นอกจากนี้ ตัวแปรบุคลิกภาพทั้งความหลงตนเอง การเปิดรับประสบการณ์ และการมีจิตสำนึก ก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมนอกใจเช่นกัน แต่มีอิทธิพลในเพศชายและหญิงที่ “แตกต่าง” กัน ดังนี้

 

เพศชาย : ตัวแปรบุคลิกภาพที่มีอิทธิพลต่อการนอกใจของเพศชายมากที่สุด คือ “การมีจิตสำนึก” ส่วนการเปิดรับประสบการณ์และการหลงตนเองมีอิทธิพลรองลงมา โดยเป็นอิทธิพลทางอ้อมที่ส่งผ่านความพึงพอใจและการผูกมัดกับคู่สมรส กล่าวคือ ผู้ชายที่หลงตนเองสูงจะพึงพอใจในคู่สมรสน้อย และผูกมัดกับคู่สมรสน้อย ทำให้มีแนวโน้มนอกใจมากขึ้น แต่การมีจิตสำนึกและการเปิดรับประสบการณ์มีส่วนช่วยเพิ่มการผูกมัดกับคู่สมรส ทำให้ลดพฤติกรรมการนอกใจของเพศชายได้

 

เพศหญิง : ตัวแปรบุคลิกภาพที่มีอิทธิพลต่อการนอกใจของเพศหญิงมากที่สุด คือ “การหลงตนเอง” โดยมีอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่การมีจิตสำนึกมีอิทธิพลรองลงมาโดยส่งอิทธิพลทางอ้อมผ่านการพึงพอใจและการผูกมัดกับคู่รัก ส่วนการเปิดรับประสบการณ์ไม่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการนอกใจของเพศหญิง (ทั้งนี้พบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างการเปิดรับประสบการณ์กับการผูกมัดกับคู่สมรสของเพศหญิง คือ การเปิดรับประสบการณ์ทำให้ผู้หญิงมีความพึงพอใจในคู่สมรสสูง แต่ก็ทำให้ผูกมัดกับคู่สมรสต่ำ)

 

สำหรับตัวแปรการเคร่งครัดในศาสนา สามารถทำนายพฤติกรรมนอกใจได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยมีอิทธิพลในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง

 

กล่าวโดยสรุปคือ จากตัวแปรทั้งหมดในที่นี้ ตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการนอกใจของเพศชายคือ การผูกมัดกับคู่สมรส ความพึงพอใจในคู่สมรส ความเคร่งครัดในศาสนา และการมีจิตสำนึก ตามลำดับ

 

ส่วนตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการนอกใจของเพศหญิงคือ การผูกมัดกับคู่สมรส ความหลงตนเอง และความพึงพอใจในคู่สมรส ตามลำดับ

 

 

การวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนอกใจ


 

 

 

 

เพศ

 

– เพศชายมีพฤติกรรมนอกใจมากกว่าเพศหญิง ซึ่งตรงกับสภาพของสังคมไทยที่มองว่าการนอกใจของเพศชายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นธรรมชาติของผู้ชายที่จะเจ้าชู้ แตกต่างจากเพศหญิงที่จะถูกดูหมิ่นและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

 

– เพศชายส่วนมากรายงานถึงพฤติกรรมนอกใจในลักษณะที่เป็นการกระทำชัดเจน เช่น การแอบพาเข้าโรงแรม แอบหอมแก้ว แอบมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ขณะที่เพศหญิงมักรายงานถึงพฤติกรรมที่นำไปสู่การนอกใจ เช่น การหว่านเสน่ห์ การส่งข้อความ การแอบขอเบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น

 

– นอกจากนี้เพศชายและหญิงยังมีมุมมองต่อพฤติกรรมนอกใจแตกต่างกันด้วย โดยเพศชายมองว่าการนอกใจหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น ขณะที่เพศหญิงมองว่าไม่ว่าจะเป็นด้านเพศสัมพันธ์หรือด้านจิตใจก็ถือเป็นการนอกใจทั้งสิ้น

 

อายุ

 

– คู่สมรสที่มีอายุน้อยมีพฤติกรรมนอกใจมากกว่า เนื่องจากคิดว่าตนยังมีโอกาสที่จะเปิดรับประสบการณ์อีกมากมายจากบุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน หรือเห็นว่าตนยังมีทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่า

 

ประวัติการหย่าร้าง

 

– บุคคลที่เคยหย่าร้างมีแนวโน้มนอกใจมากกว่าบุคคลที่ไม่เคยมีประวัติหย่าร้าง

 

การอยู่ก่อนแต่ง

 

– คู่ที่เคยอยู่ร่วมกันหรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานมีพฤติกรรมนอกใจน้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะคนที่เคยอยู่ร่วมกันมาก่อน ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากัน ลองใช้ชีวิตเหมือนคู่แต่งงานด้วยการอยู่กินร่วมกัน จนแน่ใจว่ามีความพึงพอใจในชีวิตสมรสเมื่อตัดสินใจแต่งงานกัน จึงไม่มีพฤติกรรมนอกใจ

 

ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์

– บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งมีแนวโน้มมีพฤติกรรมนอกใจมากกว่า อาจเป็นเพราะบุคคลมีความต้องการทางเพศสูง ไม่ว่าจะกับคู่สมรสของตนหรือไม่ หรือบุคคลต้องการความหลากหลายในความสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจและสนองความตื่นเต้นเร้าใจ (ผลดังกล่าวแตกต่างจากการวิจัยในต่างประเทศที่ระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์มากเป็นวิธีการป้องกันการนอกใจ)

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองและบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบต่อพฤติกรรมการนอกใจในคู่สมรส”
“Mediation analysis of narcissistic personality and five-factor personality on marital infidelity”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2552)
โดย นางสาวธันยธร อนันต์วิโรจน์
ที่ปรึกษา ผศ. ดร.คัคนางค์ มณีศรี
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18062

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้คนรับสารภาพเท็จ

 

ผลของเทคนิคการสอบสวน หลักฐานเท็จ การยอมตาม และการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถามต่อการรับสารภาพเท็จ

 

งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลโดยการให้กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 165 คน ทำแบบวัดบุคลิกภาพ โดยการตอบมาตรวัดการยอมตาม และการทดสอบการคล้อยตามสิ่งชี้นำ จากนั้นจึงให้พิมพ์งานทางคอมพิวเตอร์ด้วยการพิมพ์สัมผัส โดยผู้วิจัยได้สร้างสถานการณ์ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดของผู้เข้าร่วมวิจัย และเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเพื่อวัดการสารภาพ และหากมีผู้เข้าร่วมการวิจัยคนใดรับสารภาพเท็จ จึงซักถามต่อว่าสารภาพเท็จเพราะเหตุใด

 

ผลการทดลองพบว่า มีผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ยอมสารภาพเท็จถึง 94 คน โดยเป็นการสารภาพเท็จแบบยอมตาม 53 คน และสารภาพเท็จจากภายในหรือเชื่อว่าตนกระทำผิดจริง 41 คน และส่วนที่เหลืออีก 71 คน ยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเอง

 

จากการวิเคราะห์ พบว่า ปัจจัยที่สามารถทำนายการ “สารภาพเท็จ” ได้ในงานวิจัยนี้ มีดังนี้

 

ปัจจัยสถานการณ์

 

1. เทคนิคการสอบสวน

กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการใช้เทคนิคการสอบสวนแบบลดความรุนแรง (ทำให้ผู้ต้องหารู้สึกไว้วางใจ ทำเหมือนเรื่องที่ผู้ต้องหากระทำไม่ใช่เรื่องใหญ่ และพูดเหมือนว่าถ้ายอมรับสารภาพโทษจะเบาลง) ยอมให้การรับสารภาพเท็จมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการใช้เทคนิคการสอบสวนแบบเพิ่มความรุนแรง (ใช้การกล่าวหาอย่างรุนแรง ต่อว่า และทำให้โทษดูยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เป็น)

 

2. การให้หลักฐานเท็จ

กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับหลักฐานเท็จ ยอมให้การรับสารภาพเท็จ มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับหลักฐานเท็จ
(เนื่องจากหลักฐานเท็จทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่มีหนทางต่อรอง และไม่อาจหลีกเลี่ยงการรับโทษได้ จึงต้องยอมรับสารภาพเท็จในที่สุด)

 

3. อัตราเร็วในการพิมพ์

อัตราเร็วในการพิมพ์สามารถทำนายการรับสารภาพเท็จแบบยอมตามได้ แต่ไม่สามารถทำนายการรับสารภาพเท็จจากภายในและการสารภาพเท็จโดยรวมได้

 

ปัจจัยบุคลิกภาพ

 

4. การยอมตาม

บุคลิกภาพแบบยอมตามมีความสัมพันธ์กับการรับสารภาพเท็จ (ทั้งนี้ การยอมตามแตกต่างจากการคล้อยตามคือ การยอมตามเกิดโดยที่ผู้ยอมตามรู้สึกตัวเสมอว่ากำลังถูกบังคับให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่การคล้อยตามสิ่งชี้นำ ผู้คล้อยตามมิได้รู้สึกตัวว่ากำลังถูกชี้นำอยู่)

 

 

การวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่า การคล้อยตามสิ่งชี้นำไม่สามารถทำนายการรับสารภาพเท็จได้ แต่สามารถทำนายการสร้างเรื่องราวเท็จได้ กล่าวคือ ในกลุ่มที่รับสารภาพเท็จจากภายใน ผู้วิจัยจะให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยเล่าว่าตนเองทำผิดพลาดอย่างไรจึงเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งผู้ที่สามารถเล่าเหตุการณ์ (ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง) ได้ มักเป็นผู้ที่คล้อยตามสิ่งชี้นำได้ง่าย

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของเทคนิคการสอบสวน หลักฐานเท็จ การยอมตาม และการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถามต่อการรับสารภาพเท็จ”

“Effects of interrogative technique, false evidence, compliance and interrogative suggestibility on false confession”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2553)
โดย นางสาวภัทรา พิทักษานนท์กุล
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ : อาจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18153

Job satisfaction – ความพึงพอใจในงาน

 

 

 

ความพึงพอใจในงาน

หมายถึง ความรู้สึกดี หรือมีเจตคติทางบวกต่อการทำงาน อันเนื่องมาจากการที่บุคคลทำงานแล้วได้รับการตอบสนองความต้องการในระดับที่บุคคลคาดหวังไว้ ทั้งที่เป็นความต้องการภายในของบุคคลเอง เช่น การต้องการความยอมรับ ความภาคภูมิใจในตนเอง การได้พิสูจน์ความสามารถ และตอบสนองความต้องการจากภายนอก เช่น ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงาน ชีวิตมีความมั่นคงและมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

 

ทฤษฎีสองตัวประกอบของเฮอร์ซเบอร์ก (1959)

 

ทฤษฎีนี้เสนอว่า สิ่งที่บุคคลต้องการจากการทำงานนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความต้องการภายในของบุคคลที่ต้องการจะพัฒนาและสร้างความเจริญงอกงามให้เกิดขึ้นกับตัวเองจากการทำงานนั้น ๆ และอีกกลุ่มเน้นความสำคัญที่ความเสมอภาคและความราบรื่นในการทำงาน อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องและจะทำให้บุคคลสามารถเข้าถึงความต้องการในกลุ่มที่หนึ่งได้ กลุ่มความต้องการ 2 กลุ่มนั้นได้แก่ 1. ปัจจัยจูงใจ (motivation) และ 2. ปัจจัยค้ำจุน (hygiene)

 

1. ปัจจัยจูงใจ – เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้บุคคลเกิดความพึงพอใจในการทำงาน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้บุคคลใช้ความพยายามและความทุ่มเทในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

ประกอบด้วย ความสำเร็จในการทำงาน, การได้รับการยอมรับนับถือ, ลักษณะงานที่ปฏิบัติ, ความรับผิดชอบ และความก้าวหน้า

 

2. ปัจจัยค้ำจุน – เป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งช่วยไม่ให้ขวางการทำงาน หรือลดประสิทธิภาพของการทำงานลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปัจจัยค้ำจุนเป็นปัจจัยคือสิ่งที่จะป้องกันและลดความไม่พึงพอใจที่จะเกิดขึ้นในการทำงานนั้นๆ ไม่ใข่สิ่งที่ทำให้เกิดความพึงพอใจโดยตรง

ประกอบด้วย นโยบายและการบริหาร, การปกครองบังคับบัญชา, ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน, ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา, สภาพ/เงื่อนไขการทำงาน, เงินเดือน, ชีวิตส่วนตัว, ความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา, ฐานะ และความมั่นคง

 

ทฤษฎีคุณลักษณะของงาน (job characteristics theory)

 

ทฤษฎีนี้เสนอว่า เมื่องานมีคุณลักษณะที่สำคัญในระดับสูง จะนำไปสู่ความพึงพอใจในงาน มีด้วยกัน 5 ประการดังนี้

 

  1. ความหลากหลายของงาน – เป็นระดับของงานที่มีจำนวนกิจกรรมที่ต่างกันออกไป มีการใช้ทักษะที่แตกต่างและใช้พรสวรรค์
  2. การระบุขอบเบตของงาน – เป็นระดับของงานที่ระบุได้ว่ามีขอบเขตของงานอย่างไร ต้องใช้สิ่งใดบ้างเพื่อให้งานสำเร็จ รวมถึงเห็นจุดกำเนิดของงานและจุดสิ้นสุดพร้อมผลลัพธ์
  3. มีความสำคัญและมีความหมาย – คือระดับของงานที่ทำนั้นมีอิทธิพลต่อผู้อื่น หรือเป็นงานที่สามารถช่วยดหลือความเป็นอยู่ในครอบครัวให้ดีขึ้น และคุณลักษณะของงานที่เมื่อมองไปในอนาคตแล้วมีความสำคัญ ช่วยเหลือผู้อื่น หรือโลกได้
  4. อำนาจควบคุมในตนเอง – คือระดับที่งานนั้นสามารถให้อิสระ เมื่องานให้อำนาจควบคุมในตนเอง บุคคลจะพยายามมากกว่างานที่ขาดอิสระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา อำนาจควบคุมในตนเองมีหลายรูปแบบ รวมไปถึงอิสระในการควบคุมเวลา ตารางของงาน วิธีการทำงาน เครื่องมือที่ใช้
  5. การให้ผลป้อนกลับ – คือระดับของผลจากการทำกิจกรรมของงาน ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลแก่บุคคลผู้ทำงานนั้นอย่างกระจ่างชัดเจน ว่าบุคคลนั้นมีศักยภาพอย่างไรในการทำงาน

 

 

ปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในงาน

 

Spector (1996) ได้ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งอิทธิพลต่อความพึงพอใจในงาน โดยสามารถสรุปได้เป็นหัวข้อดังนี้

 

  1. ลักษณะบุคลิกภาพ – ปัจจัยด้านบุคลิกภาพที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.1 อารมณ์ความรู้สึกทางลบ – บุคคลที่มีอารมณ์ทางลบมักจะส่งผลข้ามสถานการณ์ ทำให้เมื่ออยู่ในบริบทของการทำงานหรือองค์การแล้ว ก็มีแนวโน้มไม่พึงพอใจในงานด้วย 1.2 ความเชื่ออำนาจในตน – บุคคลที่เชื่อในอำนาจในตนจะเชื่อมั่นในการควบคุมสถานการณ์ของตน เมื่อพบอุปสรรคจึงมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการได้ จึงมีความพึงพอใจในงานสูงกว่าบุคคลที่ไม่มีความเชื่อในอำนาจของตน
  2. เพศ – เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลในระดับต่ำ แต่เคยมีงานวิจัยพบว่า เพศชายมักจะชอบงานที่มีลักษณะจัดการ หรือต้องอาศัยทักษะ ความเชี่ยวชาญ ส่วนเพศหญิงมักจะชอบงานลักษระงานที่แน่นอน เป็นกิจวัตรมากกว่า
  3. อายุ – มีงานวิจัยที่พบว่าบุคคลจะมีความพึงพอใจในงานมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เพราะการตระหนักในผลประโยชร์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากองค์การ เป็นผลจากความก้าวหน้าในอาชีพในองค์การนั้น รวมถึงเงื่อนไขการทำงาน ตำแหน่งงาน และเงินเดือนที่เปลี่ยนไป

 

 

ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจในงาน (โดยรวม)

 

ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจในงานมีอยู่หลายปัจจัย ซึ่งสามารถพิจารณาได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

 

  1. ปัจจัยส่วนบุคคล ประกอบด้วย ประสบการณ์การทำงาน, เพศ, จำนวนสมาชิกในการทำงาน, อายุ, เวลาในการทำงาน, เชาวน์ปัญญา, ระดับการศึกษา, บุคลิกภาพ, ระดับเงินเดือน, แรงจูงใจในการทำงาน และความสนใจในงาน
  2. ปัจจัยด้านงาน ประกอบด้วย ลักษณะงาน, ทักษะความหลากหลายในการทำงาน, ฐานะทางวิชาชีพ, ขนาดของหน่วยงาน, ระยะทางระหว่างบ้านกับที่ทำงาน และโครงสร้างของงาน
  3. ปัจจัยด้านการจัดการ ประกอบด้วย ความมั่นคงในงาน, รายรับ, โอกาสก้าวหน้า, อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่, สภาพการทำงาน, เพื่อนร่วมงาน, ความรับผิดชอบในงาน, การนิเทศงานสำหรับพนักงานใหม่, การสื่อสารกับผู้บังคับบัญชา, ความศรัทธาในผู้บริหารกับพนักงาน
  4. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วย การจัดสถานที่, อุณหภูมิ, แสง, เสียง, บรรยากาศในการทำงานที่ช่วยส่งเสริมการติดต่อสื่อสาร และการประสานงานภายในองค์การ

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความพึงพอใจในการทำงานและปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” โดย พิมประไพ ศุภรัตน์ (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/4761

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดในการทำงานกับความพึงพอใจในงานของพนักงานบริการบริษัทแห่งหนึ่ง” โดย ขนิษฐ์รัฐ อติชาตศรีสกุล และ ณัฏฐา เทียนทอง (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47175

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในงานกับความผูกพันต่อองค์การ โดยมีความเข้มแข็งอดทนเป็นตัวแปรกำกับ” โดย ธัญญภรณ์ อรรณพ ณ อยุธยา, นันทนัช ทองอุปการ และ ไพสิฐ คานทองดี (2555) http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44196

Prosocial behavior – พฤติกรรมเอื้อสังคม

 

 

 

พฤติกรรมเอื้อสังคม หมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลทำเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมหรือเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นพฤติกรรมที่กระทำโดยความสมัครใจโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นรูปธรรม (ยกเว้นเสียแต่การได้ความรู้สึกว่าได้ทำสิ่งดี)

พฤติกรรมเอื้อสังคมอาจแสดงออกมาในลักษณะการสละกำลังกาย การพูดเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น การใช้ความคิดสติปัญญาเพื่อผู้อื่น การให้ทรัพย์สิ่งของ ตลอดจนการให้อภัยและกำลังใจ

 

Bierhoff (2005) ได้แบ่งพฤติกรรมเอื้อสังคมออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การเอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่น หมายถึง รูปแบบของพฤติกรรมเอื้อต่อสังคมที่มีจุดประสงค์ของการกระทำเพื่อต้องการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเท่านั้น และการชดใช้ หมายถึง รูปแบบของพฤติกรรมเอื้อสังคมที่มีจุดประสงค์ของการกระทำเพื่อตอบแทนสิ่งที่ตนได้รับมาจากผู้อื่น หรือเป็นการชดใช้ในสิ่งที่ตนเคยทำไม่ดีกับผู้อื่นไว้

 

Penner และคณะ (1995) ได้ศึกษาลักษณะของบุคลิกภาพต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเอื้อสังคม และได้สรุปว่าบุคลิกภาพเอื้อสังคมประกอบด้วย 2 องค์ประกอบดังต่อไปนี้

  1. ความเข้าใจและห่วงใยผู้อื่น หมายถึง การเกิดความรู้สึกรับผิดชอบและใส่ใจในความสุขของผู้อื่นทั้งด้านความคิดและความรู้สึก เช่น การพยายามเข้าใจผู้อื่นผ่านการคิดในมุมมองเดียวกับบุคคลนั้น
  2. ความเอื้อเฟื้อ หมายถึง แนวโน้มของบุคคลที่จะให้ความช่วยเหลือบุคคลอื่น ดูได้จากการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในอดีต ทั้งนี้พบว่าบุคคลที่มีความเอื้อเฟื้อสูงมักมีความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้พบเห็นเรื่องราวที่เจ็บปวดของบุคคลอื่น

 

สาเหตุของพฤติกรรมเอื้อสังคม


 

Wilson (1975) เชื่อว่า ธรรมชาติได้กำหนดกลไกการช่วยเหลือ หรือสละชีพเพื่อความอยู่รอด สัตว์บางชนิดยอมสละชีวิตของตนเพื่อปกป้องผู้อื่น เป็นธรรมชาติของสัตว์ต่างๆ และมนุษย์ที่จะปกป้องพวกพ้องจากภัยและบางทีก็เสี่ยงชีวิตตนเองด้วย แต่ทำไมพฤติกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้นในบางเวลา และไม่เกิดขึ้นในบางเวลา ปัจจัยสำคัญตต่างๆ ที่ควบคุมพฤติกรรมนี้มีดังต่อไปนี้

 

1. พฤติกรรมช่วยเหลือเป็นแนวโน้มตามธรรมชาติของมนุษย์ ผู้วิจัยหลายคนได้สังเกตเห็นหลักฐานการแสดงความช่วยเหลือในทารก เช่น ปลอบพ่อแม่หรือพี่น้องที่บาดเจ็บ ป้อนอาหารให้คนอื่น หรือทำหน้าตาเจ็บปวดเมื่อเห็นผู้อื่นบาดเจ็บ ความสามารถแสดงการร่วมรู้สึกนี้จัดว่าเป็นบ่อเกิดหรือต้นตอของการพัฒนาพฤติกรรมเอื้อเฟื้อ

 

2. นักสังคมวิทยาบางคนเน้นพฤติกรรมช่วยเหลือว่าเป็นบรรทัดฐานทางสังคม บุคคลในสังคมได้รับแรงผลักดันหรือแรงตะล่อมให้พฤติกรรมปฏิบัติตามบรรทัดฐานต่างๆ และอาจได้รับการลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติตาม เช่น

  • บรรทัดฐานความรับผิดชอบทางสังคม – ผู้คนถูกคาดหวังให้ช่วยผู้ที่มาพึ่งพิง เช่น การที่พ่อแม่รับผิดชอบต่อลูก เลี้ยงดูอุ้มชูลูก ครูอาจารย์ดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อนติวให้เพื่อน
  • บรรทัดฐานการตอบแทนบุญคุณ – บุคคลผู้ได้รับการช่วยเหลือสมควรสำนึกบุญคุณของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ เป็นการตอบแทนช่วยเหลือผู้เคยมีบุญคุณ ผู้มีพระคุณแก่เรา
  • บรรทัดฐานความเสมอภาค – บุคคลควรได้รับสิ่งตอบแทนให้สมกับการลงทุนลงแรงของเขา และไม่ควรได้รับการลงโทษหรือความเดือดร้อนโดยไม่มีสาเหตุ เพราะฉะนั้น เมื่อใครเดือดร้อนโดยไม่ใช่ความผิดของเขาก็สมควรจะได้รับความช่วยเหลือ และในทำนองเดียวกัน ผู้ที่ลงทุนลงแรงน้อยแล้วได้ผลตอบแทนมาก ก็สมควรแบ่งปันจุนเจือให้ผู้อื่นบ้าง

 

3. พฤติกรรมเอื้อสังคมของสังคมต่างๆ บางสังคม เช่น ชนเผ่า Arapesh ในนิวกินี รักทะนุถนอมเด็กมาก เลี้ยงดูอุ้มชูอย่างดี เด็กของชาวเผ่านี้มีความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นสูงเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ตรงกันข้ามกับเผ่า Mundugamor ซึ่งไม่สอนการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่รักไม่สนใจเด็ก เด้กของเผ่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สนใจจะช่วยใคร ดังนั้นการฝึกให้รู้จักใจเขาใจเราแต่เล็กๆ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาพฤติกรรมการช่วยเหลือเมื่อโตขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า พฤติกรรมช่วยเหลือสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร สังคมใดที่ทรัพยากรขาดแคลน ย่อมมีการช่วยเหลือหรือแบ่งกันน้อยกว่าสังคมที่เพียบพร้อม ความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรมเกี่ยวกับบรรทัดฐานต่าง ๆ ก็ปรากฏ เช่น สังคมอิสราเอลเน้นค่านิยมการร่วมมือเป็นใหญ่ ส่วนสังคมอเมริกันเน้นปัจเจกบุคคล การแข่งขัน การเป็นตัวของตัวเอง เป็นต้น

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับการอาสาสมัครของนิสิตปริญญาตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดย ณัฐกุล อาชวกุลเทพ (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42677

 

“อิทธิพลของภาพยนตร์แนวเอื้อสังคมต่อการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกและเจตคติต่อพฤติกรรมเอื้อสังคมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6” โดย ปัญญารัตน์ วัชรเมธีมาศ, มิติ โอชสานนท์ และ รวิสรา อิสสรากุล (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44191

 

ภาพจาก http://www.clipartkid.com

Prejudice – เจตคติรังเกียจกลุ่ม

 

 

 

เจตคติรังเกียจกลุ่ม หมายถึง ความรู้สึกทางลบของบุคคลที่มีต่อผู้อื่นหรือกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากมีการจำแนกคุณลักษณะของคนอื่นแบบเหมารวม จนก่อให้เกิดพฤติกรรมการกีดกันกลุ่มนำไปสู่การมุ่งทำร้ายต่อผู้อื่น

 

เจตคติกลุ่มประกอบด้วย

 

  1. องค์ประกอบทางความคิด คือ การจำแนกคนโดยความเชื่อเหมารวม หมายถึงการจำแนกคนหรือกลุ่มคนโดยอาศัยลักษณะเหมารวมโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของสมาชิกในกลุ่มนั้น ๆ เพื่อความรวดเร็วในการจัดประเภทและจะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อมีข้อมูลใหม่ เช่น ความเชื่อว่าแรงงานต่างด้าวมีลักษณะยากจน ทำให้บ้านเมืองแออัด ไม่ปลอดภัย เป็นต้น
  2. องค์ประกอบทางอารมณ์ คือ ความรู้สึกเกลียดชัง ไม่ชอบ ที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เช่น ความรู้สึกไม่ชอบคนรักเพศเดียวกันของกลุ่มผู้มีเจตคติรังเกียจกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน
  3. องค์ประกอบทางพฤติกรรม คือ การกีดกันกลุ่ม หมายถึงการที่บุคคลแสดงออกถึงการกระทำในแง่ที่ไม่ให้ความยุติธรรม ลำเอียง ไม่เป็นมิตร หรือการกระทำมุ่งร้ายต่อสมาชิกในกลุ่มอื่น ๆ นอกกลุ่มตน สามารถแบ่งการแสดงออกซึ่งเจตคติรังเกียจกลุ่มได้เป็น 5 ระดับ ได้แก่ การต่อต้านทางวาจา การหลีกเลี่ยง การแบ่งแยก การทำร้ายร่างกาย และการทำลายล้าง

 

เจตคติรังเกียจกลุ่มมีทั้งแบบเด่นชัดและแบบแอบแฝง แบบเด่นชัด หมายถึง การประเมินที่มีการคิดใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วน อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตสำนึกของบุคคล รู้ตัว และแสดงออกมา ส่วนแบบแอบแฝง เป็นความชอบไม่ชอบที่ปราศจากการรู้ตัว ไม่มีเจตนา ไม่มีความตั้งใจจากบุคคล ไม่มีการครุ่นคิดมาก่อน

 

สาเหตุการเกิดเจตคติรังเกียจกลุ่ม


1. การเรียนรู้ทางสังคม

การได้รับการถ่ายทอดความเชื่อ ความคิด เจตคติต่อคนที่มีความแตกต่างจากตน ซึ่งมาจากการได้เห็นได้ยินเรื่องราวต่างๆ จากคนในครอบครัวและคนในสังคม

 

2. ทฤษฎีการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างกลุ่ม

ทฤษฎีนี้เสนอว่า เจตคติรังเกียจกลุ่มเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกัน เช่น คนขาวคนดำ ชาวอาหรับกับอิสราเอล เอเชียกับตะวันตก ผู้หญิงกับผู้ชาย ล้วนเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนมีเจตคติรังเกียจกลุ่มเพราะแข่งขันให้ได้มาซึ่งทรัพยากรและป้องกันไม่ให้กลุ่มอื่นสามารถบรรลุเป้าหมายได้

 

3. การจัดหมวดหมู่

คนเราใช้กระบวนการตัดสินแยกคนออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้เกิดความง่ายในการจัดการข้อมูล เช่น จำแนกคนด้วยเชื้อชาติ ศาสนา ถิ่นกำเนิด เป็นต้น เมื่อเกิดการจัดประเภททางสังคมแล้ว การรับรู้บุคคลอื่นจะได้รับอิทธิพลจากความเชื่อเหมารวมที่สะท้อนถึงกลุ่มที่บุคคลเหล่านั้นเป็นสมาชิกอยู่ ทั้งนี้ การจัดประเภทดังกล่าวส่งผลให้เกิดการบิดเบือนในการรับรู้ กล่าวถือจะทำให้รับรู้ว่าสมาชิกที่ตนจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันมีความเหมือนกันมากกว่าความเป็นจริง และแตกต่างจากกลุ่มอื่นมากเกินความเป็นจริง

 

4. ทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม

กลุ่มมีอิทธิพลต่ออัตมโนทัศน์และการรับรู้คุณค่าในตนเองของสมาชิกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคคลได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มและมีการนิยามตัวตนเข้ากับกลุ่ม นอกจากนี้บุคคลยังต้องการรักษาสถานภาพทางบวกของกลุ่มเนื่องจากกลุ่มเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงตัวตน จะมีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มตนกับกลุ่มอื่น หากบุคคลรู้สึกว่ากลุ่มตนดีกว่าก็จะช่วยเพิ่มการรับรู้คุณค่าในตนเอง การเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มนี้เองสามารถก่อให้เกิดอคติระหว่างกลุ่มได้

 

5. ทฤษฎีแพะรับบาป

ทฤษฎีนี้เสนอว่า เมื่อบุคคลเกิดความรู้สึกคับข้องใจแล้วไม่สามารถระบายหรือแสดงออกได้โดยตรงกับสิ่งนั้น จะแสดงความก้าวร้าวไปสู่คนกลุ่มอื่นที่ไม่ชอบหรือกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ซึ่งความรู้สึกคับข้องใจนี้ถูกถ่ายทอดไปสู่คนนอกกลุ่มเกิดเป็นเจตคติรังเกียจกลุ่มในที่สุด เช่น เมื่อเศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ ก็ถ่ายเทความขับข้องใจไปยังคนกลุ่มอื่นนอกกลุ่ม เช่นคนต่างด้าว เป็นต้น

 

 

การลดเจตคติรังเกียจกลุ่ม


1. การขัดเกลาทางสังคม

สามารถทำได้ 2 ทาง คือ การขัดเกลาทางสังคมโดยตรง ได้แก่ การสั่งสอนและฝึกอบรมโดยพ่อแม่ ครูอาจารย์ ให้เด็กปฏิบัติตามที่สังคมคาดหวัง และการขัดเกลาทางสังคมทางอ้อม เช่น การฟังอภิปราย ปาฐกถา การอ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ดูภาพยนต์ การเข้ากลุ่มเพื่อน ทำให้เกิดเปิดโลกทัศน์ การปรับตัวและพัฒนาบุคลิกภาพ

 

2. การจัดหมวดหมู่ใหม่

คือ การพยายามจัดจำแนกกลุ่มขึ้นมาใหม่ โดยรวมเอาสมาชิกจากทั้งสองกลุ่มมาจัดเป็นกลุ่มใหม่ หรือการรวมกลุ่มย่อยๆ ขึ้นมาเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มโดยการกำจัดความรู้สึกการเป็นสมาชิกในกลุ่ม-นอกกลุ่ม

 

3. การฝึกและการศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

การควบคุมไม่ให้บุคคลจำแนกคนโดยความเชื่อเหมารวมมาจากการศึกษาและการฝึกฝน เช่น การเปิดรับมุมมองของผู้อื่น การเรียนรู้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้อื่น และการฝึกใช้เหตุผลเชิงสถิติ

 

4. การจูงใจให้หลีกเลี่ยงการใช้การจำแนกคนด้วยความเชื่อเหมารวม

ได้แก่ การเพิ่มการตระหนักรู้ตัว – การกระตุ้นเตือนว่าบุคคลกำลังมีเจตคติรักเกียจคนนอกกลุ่ม เพื่อให้นำไปสู่ความรู้สึกผิดและยับยั้งปฏิกิริยาดังกล่าว, การตั้งเป้าหมายไปสู่ความเท่าเทียม, การเพิ่มแรงจูงใจที่จะรับรู้ถึงผู้อื่นอย่างถูกต้อง ไม่ใช้ความเชื่อเหมารวม

 

5. การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม

การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม แม้เพียงในรูปแบบง่าย ๆ ก็ก็สามารถช่วยให้สมาชิกระหว่างกลุ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น โดยการจะให้เป็นไปอย่างราบรื่นนั้นต้องประกอบไปด้วย 4 ปัจจัย คือ แต่ละกลุ่มต้องมีสถานะเท่าเทียมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน มีความร่วมมือระหว่างกลุ่ม และได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้มีอำนาจ กฎ หรือจารีตประเพณี

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของการจินตนาการถึงการปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มต่อเจตคติรังเกียจกลุ่ม : การศึกษาตัวแปรส่งผ่านหลายตัว” โดย สุภาพร สารเรือน (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44516

 

“ผลของการมองจากมุมของผู้อื่นต่อการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบแอบแฝง : อิทธิพลกำกับของการนิยามตัวตนและอิทธิพลส่งผ่านของการเชื่อมโยงตนเข้ากับผู้ อื่น” โดย มนัสนันท์ จิตติจรุงลาภ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46120

 

ภาพจาก https://pixabay.com

 

Aggression – ความก้าวร้าว

 

ความก้าวร้าว หมายถึง “พฤติกรรม” ที่มี “เจตนา” ในการทำร้ายหรือทำลายผู้อื่นด้วยวิธีการต่าง ๆ
ที่ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหรือทางจิตใจ

 

 

 

ความก้าวร้าวโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นเกิดจากสัญชาตญาณและเกิดจากการเรียนรู้ทางสังคม โดยที่

 

  1. สัญชาตญาณความก้าวร้าวเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากร การจับคู่ การป้องกันอาณาเขต มีปัจจัยทางชีวภาพหลายประการที่เป็นสาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ยีนส์ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน โครงสร้างของสมองและสารสื่อประสาทในสมอง ระดับน้ำตาลในเลือด
  2. การเรียนรู้ทางสังคม ได้แก่ สภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ และการเห็นตัวแบบในสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างบรรทัดฐานให้กับบุคคล ทำให้เกิดความชินชาต่อความรุนแรง หรือเป็นส่วนเสริมแรงเมื่อเห็นว่าความก้าวร้าวสามารถนำมาซึ่งสิ่งที่ต้องการได้

 

ทั้งสองส่วนนี้ได้สร้างแนวโน้มความก้าวร้าวที่แตกต่างไปในแต่ละบุคคล ทั้งรูปแบบ วิธีการ และระดับความรุนแรง และบุคคลจะตอบสนองด้วยความก้าวร้าวเมื่อได้รับสิ่งเร้า หรือสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความคับข้องใจ หรือขัดขวางการบรรลุเป้าหมายของบุคคล

 

 

องค์ประกอบของความก้าวร้าว


 

Bryant และ Smith (2001) ได้นำมาตรวัดความก้าวร้าวของ Buss และ Perry (1992) มาวิเคราะห์โครงสร้างและแบ่งองค์ประกอบของความก้าวร้าวได้ 4 องค์ประกอบ ได้แก่

 

1 องค์ประกอบด้านพฤติกรรม
  • ความก้าวร้าวทางร่างกาย (physical aggression) หมายถึง การทำพฤติกรรมที่สามารถส่งผลให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายอย่างฉับพลัน อาจมีการใช้อวัยวะทางร่างกายหรือใช้อาวุธในการทำร้ายบุคคลอื่น
  • ความก้าวร้าวทางวาจา (verbal aggression) หมายถึง การใช้คำพูดโดยมีเจตนาที่จะให้บุคคลอื่นได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจ
2. องค์ประกอบด้านอารมณ์

คือ ความโกรธ (anger) หมายถึง อารมณ์ที่ตอบสนองต่อภัยคุกคาม ความรำคาญ การโจมตี ความไม่เป็นธรรม และความผิดหวัง ความโกรธจัดเป็นการกระตุ้นเร้าทางร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมกำหรับการแสดงความก้าวร้าว

3. องค์ประกอบด้านปัญญา

คือ ความเป็นศัตรู (hostility) หมายถึง พฤติกรรมก้าวร้าวที่แสดงออกเนื่องจากมีความไม่ไว้ใจหรือหวาดระแวงว่าบุคคลอื่นจะคิดไม่ดีหรือทำไม่ดีกับตน

 

จากการศึกษา นักจิตวิทยาพบว่าความก้าวร้าวทางกายและทางวาจามีความสัมพันธ์กันสูง เพราะเป็นการแสดงถึงพฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำร้ายอยู่อื่น ส่วนความโกรธคือตัวเชื่อมระหว่างตัวแปรทั้งสาม โดยความโกรธเป็นตัวแปรทำนายความก้าวร้าวที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ความโกรธเป็นสภาวะที่สามารถลดลงได้เมื่อเวลาผ่านไป เหลือเพียงความคิดเชิงลบเข้ามาแทนที่ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความโกรธและความเป็นศัตรู

 

 

ประเภทของความก้าวร้าว


 

เนื่องจากความก้าวร้าวเป็นพฤติกรรมที่นักจิตวิทยาสนใจศึกษากันมาก จึงมีการศึกษาความก้าวร้าวในลักษณะต่าง ๆ มากมาย ทำให้เกิดการแบ่งประเภทของความก้าวร้าวได้หลายประเภท

 

แบ่งตามเจตนาหรือลักษณะของแรงจูงใจในการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว 

 

Raine et al, 2006 แบ่งความก้าวร้าวออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

  1. ความก้าวร้าวแบบโต้กลับ (reactive aggression)
    เป็นความก้าวร้าวที่เกี่ยวข้องกับความเป็นปรปักษ์ ความหุนหันพลันแล่น ความโกรธ มีลักษณะของการตอบสนองกลับทันทีเมื่อเป้าหมายที่ต้องการถูกขัดขวาง หรือเมื่อเกิดความรู้สึกผิด มีความรู้สึกไวต่ออารมณ์ทางลบ และเกี่ยวข้องกับการควบคุมตนเองต่ำ ความก้าวร้าวชนิดนี้ต้องอาศัยสถานการณ์ภายนอกเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว โดยมีแนวโน้มตอบสนองต่อสถานการณ์กำกวมว่าเป็นเหตุการณ์ที่เข้ามาคุกคามตนเอง และมีแนวโน้มตีความสถานการณ์ไปในเชิงลบ ความก้าวร้าวแบบโต้กลับเกิดขึ้นเพื่อการป้องกันตนเองเป็นหลัก บางครั้งถูกเรียกว่าความก้าวร้าวแบบปรปักษ์ (hostile aggression)
  2. ความก้าวร้าวแบบเชิงรุก (proactive aggression)
    คือการที่บุคคลใช้ความก้าวร้าวเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาประโยชน์จากบุคคลอื่น หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัลหรือสิ่งที่ตนเองต้องการ เช่น เงินทอง การมีอำนาจเหนือ หรือการควบคุมบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีลักษณะของการยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เชื่อว่าสิ่งที่ตนสนใจมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่น ๆ และการกระทำความก้าวร้าวของตนเป็นอันตรายไม่มากเท่าความจริง นอกจากนี้ยังมีลักษณะของการโจมตีหรือรุกรานบุคคลอื่นก่อน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีสถานการณ์ภายนอกมากระตุ้นให้เกิดความโกรธหรือความเป็นปรปักษ์ ความก้าวร้าวแบบเชิงรุกเกิดจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการมีตัวแบบ บุคคลเก็บจำพฤติกรรมความก้าวร้าวของตัวแบบที่ได้รับผลลัพธ์ที่ดี และดึงพฤติกรรมตามตัวแบบมาใช้โดยหวังจะได้รับผลลัพธ์ที่ดีตามที่เคยเรียนรู้มา ความก้าวร้าวชนิดนี้มีความหมายใกล้เคียงกับความก้าวร้าวแบบใช้เป็นเครื่องมือ (instrumental aggression) ซึ่งหมายถึงความก้าวร้าวเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์บางประการมากกว่าการมีเจตนาทำร้ายบุคคลเป้าหมาย

 

ความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างความก้าวร้าวแบบเชิงรุกและแบบโต้กลับคือ บุคคลที่มีความก้าวร้าวแบบโต้กลับจะรับรู้ว่าการกระทำความก้าวร้าวต่อบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มีความก้าวร้าวแบบเชิงรุกจะไม่รับรู้ถึงความถูกต้องหรือศีลธรรมใด ๆ มากนัก นอกจากนี้ ความก้าวร้าวแบบโต้กลับขับเคลื่อนด้วยความกลัวและการป้องกันตนเอง ส่วนความก้าวร้าวแบบเชิงรุกมีพื้นฐานการขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกโกรธแล้วจึงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวบางอย่างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์บางประการที่ตนเองต้องการ

 

 

แบ่งตามรูปแบบหรือวิธีการแสดงความก้าวร้าว

 

Cairns และ Cairns (2005) แบ่งความก้าวร้าวออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

 

ทางตรง ทางอ้อม
1. ด้านร่างกาย การทุบตี ชกต่อย การทำร้ายสิ่งของ
2. ด้านวาจา การด่า การต่อว่า การนินทาลับหลัง
3. ด้านที่ไม่ใช่วาจา การมองด้วยหางตา การใช้สายตาล้อเลียนลับหลัง
4. ด้านการกระทำระหว่างบุคคล ให้เพื่อนต่อต้านและไม่รับเข้ากลุ่ม กีดกันไม่ให้เข้าร่วมกลุ่ม
5. ด้านที่ไม่ได้แสดงออก ทำเป็นเพิกเฉย ไม่เปิดเผยความลับหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวบุคคล

 

 

นอกจากนี้ Archer และ Coyne (2005) ยังกล่าวถึงความก้าวร้าวเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ (relational aggression) คือการแสดงออกถึงความก้าวร้าวเพื่อทำลายความสัมพันธ์หรือความรู้สึก เช่นการต่อว่า การเมินเฉย และความก้าวร้าวทางสังคม (social aggression) คือการแสดงออกถึงความก้าวร้าวที่มีเจตนาทำลายความภาคภูมิใจในตนหรือสถานภาพทางสังคมของผู้อื่น เช่น การแสดงความรังเกียจ การล้อเลียน

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการแสวงหาการสัมผัส ความก้าวร้าวและความปรารถนาในการใช้สื่อที่รุนแรงเพื่อความบันเทิงของนัก เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย” โดย อัจฉริยา เลิศอนันต์วรกุล (2548) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6746

 

“อิทธิพลตัวแปรส่งผ่านของการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น และอิทธิพลตัวแปรกำกับของเพศต่ออิทธิพลการสนับสนุนจากครอบครัวและสภาพการ แข่งขันทางการเรียนต่อความก้าวร้าวและการช่วยเหลือ” โดย สรียา โชติธรรม (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20706

 

“ผลของการมีความรู้สึกร่วมในการเล่นเกมออนไลน์ ต่อพฤติกรรมช่วยเหลือและความก้าวร้าว” โดย ฐิติวัสส์ ไกรนรา, เดชรัตน์ โชติปทุมวรรณ และ นันทพงศ์ ปานทิม (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/57926

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองต่อความก้าวร้าว โดยมีการควบคุมตนเองเป็นตัวแปรส่งผ่าน และการละเลยศีลธรรมเป็นตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรกำกับ : การเปรียบเทียบโมเดลอิทธิพลส่งผ่านที่มีอิทธิพลกำกับระหว่างผู้ต้องขังหญิงและเพศหญิงที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง” โดย ชนัญชิดา ทุมมานนท์ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69643

 

“โมเดลเชิงสาเหตุของความก้าวร้าวและการศึกษาคลื่นสมองของผู้ที่กระทำผิดซ้ำและคนปกติ” โดย นฤมล อินทหมื่น (2562) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/69644

Psychological well-being – สุขภาวะทางจิต

 

สุขภาวะทางจิต หมายถึง สภาวะทางจิตใจของบุคคลอันเป็นภาวะทางจิตที่ดี มีความสุข มีความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับการที่บุคคลมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถจัดการกับความรู้สึกทั้งทางบวกและทางลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสอดคล้องกับความต้องการและการสำเร็จตามเป้าหมาย มีมุมมองสภาพแวดล้อม สถานการณ์ และประสบการณ์ในแง่ที่ดี

 

 

มีนักจิตวิทยาหลายคนที่ศึกษาเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิต และได้แบ่งองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตไว้แตกต่างกัน เช่น

 

Ryff (1989, 1995) ได้พัฒนาทฤษฎีในการวัดสุขภาวะทางจิตใน 6 มิติ ซึ่งรวมถึงสุขภาพทางจิตในทางคลินิค ทฤษฎีพัฒนาการชีวิต และทฤษฎีทางจิตวิทยา สังเคราะห์อออกมาได้ดังนี้

  1. การยอมรับในตนเอง – การพึงพอใจในตนเอง มีทัศนคติที่ดีต่อตัวเองทั้งในอดีตและปัจจุบัน มองตัวเองในทางบวก สามารถยอมรับกับตัวเองทั้งในด้านดีและด้านที่ไม่ดี
  2. การมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น – การมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับบุคคลอื่น เข้าใจลักษณะการให้และรับในสัมพันธภาพของมนุษย์ มีความรักและมีมิตรภาพที่ดีแก่ผู้อื่น
  3. ความเป็นตัวของตัวเอง – ความสามารถในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ สามารถเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับตนเองได้ ฝืนแรงกดดันทางสังคมในเรื่องการคิดหรือการกระทำได้ และประเมินตนเองตามมาตรฐานของตนเอง
  4. ความสามารถในการจัดการสภาพแวดล้อม – ความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเองได้ สามารถใช้โอกาสรอบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. การมีเป้าหมายในชีวิต – การมีเป้าหมายในชีวิตและมีความมุ่งมั่นที่จะไปถึงเป้าหมาย รู้สึกถึงความหมายของชีวิตในปัจจุบันและชีวิตที่ผ่านมาในอดีต
  6. การมีความงอกงามในตน – ความรู้สึกว่าตนเติบโตและมีการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ตระหนักรู้ถึงศักยภาพของตนเอง และมองเห็นโอกาสแห่งการปรับปรุงพฤติกรรมของตนตลอดเวลา

 

ส่วน Dupuy (1997) ได้ระบุองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตไว้ 6 ด้าน ดังนี้

  1. ความวิตกกังวล – การไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีอาการเครียด กลัว กระวนกระวายใจ และวิตกกังวล
  2. ภาวะซึมเศร้า – ความผิดปกติทางอารมณ์ ซึ่งอาจแสดงออกทางกายด้วยเช่น การเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย
  3. สุขภาวะทางบวก – ความรู้สึกทางบวก จากความพึงพอใจในชีวิตหรือการรับรู้ความสุขในการดำเนินชีวิต
  4. การควบคุมตัวเอง – ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของตนได้ เพื่อเผชิญกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. ความมีชีวิตชีวา – ความรู้สึกสดชื่น เบิกบานใจ มีพลังในการทำสิ่งต่างๆ
  6. ภาวะสุขภาพทั่วไป – ภาวะความเจ็บป่วยของร่างกายที่ส่งผลกระทบต่อสิตใจทำให้ไม่มีความสุข

การมีสุขภาวะทางจิตที่ดีของ Dupuy จึงหมายถึงการที่มีความพึงพอใจในชีวิต สามารถควบคุมตนเองได้ เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีความกังวลหรือความซึมเศร้าน้อย

 

 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาวะทางจิต


 

แบ่งเป็นปัจจัยภายในตัวบุคคลและภายนอกตัวบุคคล ดังนี้

 

  • ปัจจัยภายในตัวบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ สถานกาพสมรส โดยการศึกษาวิจัยหลายงานพบว่า เพศหญิงมักมีสุขภาวะทางจิตต่ำกว่าเพศชาย เนื่องจากมีระดับซึมเศร้าสูงกว่า นอกจากนี้วัยผู้ใหญ่ตอนปลายเป็นวัยที่มีสุขภาวะทางจิตสูงที่สุด เนื่องจากได้ผ่านประสบการณ์และการเรียนรู้การเผชิญปัญหามากกว่าบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า
  • ปัจจัยภายนอกบุคคล ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สัมพันธภาพระหว่างบุคคล ครอบครัว การสนับสนุนทางอารมณ์ สภาพสังคม วัฒนธรรม การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ที่ทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสุข

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ จิตอาสา และสุขภาวะทางจิตในนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต” – แพรวดาว พงศาจารุ, เรวดี พจนบรรพต, นิธิพัฒน์ กุศลสร้าง (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47188

 

“ประสบการณ์การสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จของผู้สูงอายุไทยที่มีสุขภาวะทางจิตสูง : การวิจัยเชิงคุณภาพแบบทีมผู้วิจัยเห็นชอบร่วมกัน” โดย พิศุทธิภา เมธีกุล (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21757

Need for cognition – ความต้องการทางปัญญา

 

 

 

ความต้องการทางปัญญา หมายถึง แนวโน้มที่บุคคลจะชอบและทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด ต้องการที่จะจัดระบบและบูรณาการสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันอย่างมีโครงการและมีความหมาย ต้องการที่จะเข้าใจและหาเหตุผลให้กับปรากฏการณืที่ได้ประสบ โดยเมื่อบุคคลเผชิญสถานการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ จะทำให้เกิดความตึงเครียด และความเครียดนี้เองจะจูงใจให้บุคคลหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจัดโครงสร้างความรู้และทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูง (High need for cognition) คือ ผู้ที่มีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะสืบค้น แสวงหา คิด และตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้รับเพื่อหาเหตุผลที่จะอธิบายสิ่งเร้า ความสัมพันธ์ และเหตุการณ์ในโลก จึงมักชื่นชอบสิ่งเร้าหรืองานที่ต้องอาศัยการคิดหาเหตุผลหรือคิดแก้ปัญหา เช่น การอ่านหนังสือ การสอบรวบยอด

 

ขณะที่ ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำ (Low need for cognition) มักพึ่งพาสิ่งชี้แนะภายนอก เช่น ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีชื่อเสียง สิ่งชี้แนะอย่างง่าย หรือการเปรียบเทียบทางสังคมในการอธิบายเหตุผลหรือจัดโครงการประสบการณ์ที่ได้รับ จึงมักชื่นชอบสิ่งเร้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางปัญญา

 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำมักจะถูกอิทธิพลจากสิ่งชี้แนะอย่างง่ายหรือทางสายเปลือก เช่น แหล่งที่มีความเชี่ยวชาญ ดึงดูดใจ หรือน่าไว้วางใจ ได้ง่ายกว่าผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูงที่จะตัดสินสิ่งต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเนื้อหาสารและคุณภาพของข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นการทางสายแกนที่ต้องอาศัยการคิดอย่างเป็นระบบ ผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาต่ำจะไม่คิดพิจารณาสารเพิ่มจนกว่าจะมีแรงจูงใจอื่นๆ มากระตุ้นให้คิด เช่น เมื่อเรื่องนั้นมีความเกี่ยวข้องกับตน และเมื่อได้รับข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความคาดหวัง

 

ความแตกต่างของบุคคลที่จะมีความต้องการทางปัญญาสูงหรือต่ำนั้น เกิดจากผลของการได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ได้กระทำซ้ำ ๆ และสะสมมาเป็นระยะเวลายาวนานจนหล่อหลอมเป็นบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล

 

 

ความต้องการทางปัญญากับบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ (Big 5)

 

ความต้องการทางปัญญาเป็นตัวแปรทางบุคลิกภาพที่สะท้อนแนวโน้มที่จะทำและรู้สึกสนุกกับการใช้ความพยายามในกิจกรรมทางความคิด เมื่อนำโครงสร้างบุคลิกภาพความต้องการทางปัญญามาเปรียบเทียบกับบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ พบว่า มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยความต้องการทางปัญญาเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพการเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) ในเรื่องการมีเหตุผล มีปัญญาในการคิดได้อย่างซับซ้อน มีความคิดสร้างสรรค์และเปิดกว้างต่อสิ่งต่างๆ และเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพการมีจิตสำนึก (Conscientiousness) ในเรื่องการต้องการความสำเร็จ จริงจังกับทุกเรื่อง

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“อิทธิพลของกลุ่มที่มีองค์ประกอบความเป็นกลุ่มน้อยที่สุดต่อความลำเอียง ระหว่างกลุ่มที่วัดโดยตรงและโดยนัยและการประเมินคุณภาพผลงาน ของสมาชิกกลุ่มตนและกลุ่มอื่นในผู้ที่มีความต้องการทางปัญญาสูงและต่ำ” โดย ทิพย์นภา หวนสุริยา (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/65

 

“อิทธิพลของความต้องการทางปัญญา คุณภาพของสาร และความดึงดูดใจของภาพประกอบ ที่มีต่อเจตคติต่อชิ้นงานโฆษณาประชาสัมพันธ์และองค์การผู้โฆษณา” โดย ธีรินทร์ เฉลิมนนท์ (2543) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/3277