ข่าวและกิจกรรม

Self-esteem – การเห็นคุณค่าในตนเอง

การเห็นคุณค่าในตนเอง หมายถึง การรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่าจากการมองตนโดยรวม
การเห็นคุณค่าในตนเองมีความเกี่ยวข้องกับการรับรู้อัตมโนทัศน์

 

กล่าวคือ หากคนเรารับรู้ว่าตนเองมีจุดเด่นและเป็นการรับรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็จะส่งผลให้เขารับรู้ตนเองเป็นไปในทางด้านบวก มีความรู้สึกที่ดีกับตนเอง มีความภาคภูมิใจ พร้อมทั้งมีการแสดงออกอย่างเหมาะสม

 

 

 

Roger ได้กล่าวถึงความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองไว้ว่า การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินตนเองระหว่างตัวตนตามความเป็นจริงและตัวตนตามอุดมคติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บุคคลที่มีการยอมรับในตนเองได้ และสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับความเป็นจริง จะเป็นบุคคลที่มีการมองเห็นคุณค่าในตนเอง

 

ตามแนวคิดนี้ บุคคลที่มีคุณค่าในตนเองสูง (high self-esteem) จะมีความสามารถในการเผชิญกับอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และสามารถยอมรับสถานการณ์ที่ทำให้ตนเองรู้สึกผิดหวังและท้อแท้ใจด้วยความหวังและความกล้าหาญ มีการประเมินตนเองในทางบวก มีความเชื่อมั่นในความสามารถจนมั่นใจได้ว่าตนเองสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จตามที่ต้องการ โดยภาพรวมแล้ว บุคคลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงจะมีความสุขและใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low self-esteem) จะมองเห็นตนเองหรือมีความคิดเห็นเกี่ยวกับตนเองในอุดมคติที่ขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับตนเองตามความเป็นจริง อาจเกิดความเครียด ความกดดัน มีสภาพจิตใจที่หดหู่ เพราะรับรู้ว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีความภาคภูมิใจ ไม่กล้าแสดงออก ขาดความกระตือรือร้น ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดการปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง

 

 

นอกจากนี้ ตามแนวคิดของ Maslow ได้แบ่งการเห็นคุณค่าในตนเองออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเกี่ยวข้องกับความรู้สึกรับรู้ในคุณค่าของตนเอง การยอมรับนับถือและการประเมินคุณค่าของตนเอง อันได้แก่ การมีจุดเด่น ผลสัมฤทธิ์ ความสามารถที่เหมาะสมต่อสภาพการณ์ต่างๆ การบรรลุเป้าหมายและความสามารถ ความเชื่อมั่น การพึ่งพาตนเอง และความมีอิสระเสรี ส่วนประเภทที่สองเกี่ยวข้องกับการตัดสินว่ามีคุณค่าจากผู้อื่น เช่น การมีชื่อเสียง การได้รับการยอมรับ ได้รับความสนใจ เกียรติยศ สถานภาพ การมีอำนาจเหนือผู้อื่น มีความสำคัญ ศักดิ์ศรี เป็นที่ชื่นชมของผู้อื่น เป็นต้น

 

สอดคล้องกับแนวคิดการเห็นคุณค่าในตนเองของ Coopersmith ที่ได้แบ่งองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองออกเป็นองค์ประกอบภายในและองค์ประกอบภายนอก โดยองค์ประกอบภายในตนเอง หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคลแต่ละคนที่ส่งผลให้บุคคลมีการเห็นคุณค่าในตนเอง ตั้งแต่ลักษณะทางกายภาพ ความสามารถ ค่านิยม ตลอดจนสุขภาวะทางจิต ส่วนองค์ประกอบภายนอกตนเอง หมายถึง สภาพแวดล้อมภายนอกที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ทั้งครอบครัว บุคคลในโรงเรียน ที่ทำงาน รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่

 

จากความหมายและองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเห็นคุณค่าในตนเองที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคลนั้นสามารถพัฒนาโดยเริ่มจากตนเอง ต่อมาที่ครอบครัว กลุ่มเพื่อน และสังคมตามลำดับ ซึ่งจากสิ่งที่สังคมให้คุณค่านั้นก็สามารถมีอิทธิพลย้อนกลับไปที่การเห็นคุณค่าในตนเองของบุคคลได้ และถ้าหากบุคคลมีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำก็จะมีผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาขึ้นตามมาในขั้นต่อไปได้ โดยเฉพาะปัญหาทางด้านบุคลิกภาพ และอาจก่อให้บุคคลเกิดความเครียดหรือความวิตกกังวลได้ รวมทั้งมีปัญหาในสังคมที่ตนเองอยู่ด้วย ดังนั้น ผู้ที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำจึงควรสร้างเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองให้มากขึ้น

 

 

โดย Greenberg & Gold (1994) ได้เสนอแนะวิธีการต่างๆ ไว้ดังนี้

 

  1. เรียนรู้ที่จะยอมรับและมั่นใจในความสามารถของตนเองที่มี พยายามชื่นชมตนเองและรู้จักเห็นคุณค่าในตนเอง
  2. บอกกับตนเองในสิ่งที่ดีๆ ในทางสร้างสรรค์ เช่น ฉันมีความสามารถ ฉันทำงานชิ้นนี้ได้อย่างดีเยี่ยม
  3. หาสิ่งที่ตนเองทำได้ดี อาจเป็นงานอดิเรกต่างๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีและมีความสุข ซึ่งช่วยให้บุคคลมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นและกล้าที่จะทดลองกระทำสิ่งใหม่ๆ ต่อไป
  4. ใช้คำแทนตัวเองว่า “ฉัน” เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตนเอง ไม่กลัวการวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลอื่นและยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับตน
  5. มีแรงสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนที่ไว้วางใจและพูดคุยได้อย่างเปิดเผย กลุ่มเพื่อนที่ดีมักจะไม่สร้างความกดดันหรือล้อเลียนให้บุคคลขาดความมั่นใจ แต่จะพยายามช่วยสร้างความรู้สึกดีที่และเพิ่มความมั่นใจให้แก่บุคคล
  6. ต้านทานแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อน พยายามตัดสินใจด้วยตัวเอง ออกความคิดเห็นให้มากขึ้นถูกชักจูงให้น้อยลง
  7. กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความซื่อตรง กระทำในสิ่งที่สอดคล้องกับค่านิยมและความปรารถนาของตนเอง
  8.  มีความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่น เพราะการเห็นคุณค่าของบุคคลอื่นเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ชื่นชมและเห็นคุณค่าในตนเอง

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบวิตกกังวล การมองโลกในแง่ดี และการเห็นคุณค่าของตนเองของนิสิตมหาวิทยาลัย” โดย ทรงเกียรติ ล้นหลาม (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/35446

 

“ประสบการณ์การเห็นคุณค่าในตนเองของนักศึกษาที่มีภาพถ่ายที่น่าดึงดูดใจทางเพศผ่านเฟซบุ๊ค” โดย พันธิตรา คูวัฒนสุชาติ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44514

 

ขอบคุณภาพจาก https://www.pexels.com/photo/nature-sky-sunset-man-6550/

Machiavellianism – บุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียน

 

 

นิโคโล แมคคิเวลลี (Niccolò Machiavelli) นักการทูตชาวอิตาเลียน (ค.ศ. 1469 – 1527 : ยุคเรอเนซองส์) ที่ได้สังเกตพฤติกรรมพฤติกรรมและอำนาจของเขาเองขณะที่ดำรงตำแหน่งในฐานะนักการทูต และเขียนออกมาเป็นหนังสือเพื่อแนะนำเทคนิคที่บุคคลสามารถนำไปใช้จัดกระทำกับผู้อื่นตามความต้องการของตน หนังสือเล่มดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์หลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว แม้จะได้รับการโจมตีอย่างหนักถึงเรื่องศีลธรรมความดีงาม แต่ชื่อเสียงของเขาก็ทำให้นามสกุล “แมคคิเวลลี / มาเกียเวลลี” กลายเป็นคำศัพท์ทางการเมือง หมายถึง ผู้เฉียบแหลมมีปฏิภาณ และ “แมคคิเวลเลียน / มาเกียเวลเลียน” หมายถึง การใช้เล่ห์เหลี่ยมอุบายทางการเมือง

 

ในปี ค.ศ. 1970 Christie และ Geis ได้ศึกษาและให้คำนิยาม “บุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียน” ในบริบทพฤติกรรมองค์การ จากการที่พวกเขาได้สังเกตและมีประสบการณ์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในการออกคำสั่งหรือควบคุมผู้อื่น อาทิ อธิการบดีมหาวิทยาลัย คณบดี ประธานกรรมการของกรมการทหาร ผู้บริหารบริษัท และข้าราชการชั้นสูง แล้วพบลักษณะร่วมบางอย่างของคนเหล่านี้ และมองว่าน่าจะเป็นไปได้ที่มนุษย์จะมีลักษณะในตัวบางอย่างที่ใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องดีงาม หรือความไม่น่าไว้เนื้อเชื่อใจที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์เอง

 

ตั้งแต่นั้น นิยามและแบบวัดบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนก็เป็นที่รู้จักและได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง มีการหาความสัมพันธ์ของตัวแปรบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนกับตัวแปรทางสังคมอื่นๆ ตลอดจนนำไปประยุกต์ในการศึกษาในบริบทที่กว้างขวางมากขึ้น ได้แก่ การบริหารจัดการศีลธรรม ภาวะผู้นำที่แท้จริง การเมืองในองค์การ และความไว้วางใจ

 

สุมาลัย พวงเกตุ (2553) ได้สรุปลักษณะของบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนสูงและบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนต่ำ จากงานวิจัยที่ผ่านมาของ Christie และ Geis (1970), Nelson และ Gilbertson (1991), Wilson, Near และ Miller (1996) ไว้ดังนี้

 

“ผู้มีบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนสูง”

 

– ต่อต้านอิทธิพลจากสังคม
– ซ่อนความเชื่อลึกๆ ส่วนตัวเอาไว้
– เปลี่ยนจุดยืนของการโต้แย้งอย่างรวดเร็ว
– ไม่ยอมรับสารภาพ
– ทำให้ผู้อื่นเชื่อได้ว่ากำลังพูดความจริง
– เคลือบแคลงสงสัยในวัตถุประสงค์ของผู้อื่น
– วิเคราะห์สถานการณ์ได้
– ไม่ตอบแทนบุญคุณผู้อื่น
– ไม่ตัดสินการแสดงออกของผู้อื่น
– สามารถเปลี่ยนวิธีการเพื่อจัดการในสถานการณ์ที่ต่างกันได้
– พูดในสิ่งที่ผู้อื่นอยากได้ยิน
– อ่อนไหวต่อข้อมูลเกี่ยวกับผู้อื่น
– กระทำกับผู้อื่นในลักษณะเอาเปรียบผู้อื่นแต่ไม่เป็นอันตราย
– เอาเปรียบผู้อื่นมากขึ้นเมื่อเขาไม่แก้แค้นคืน
– แม้จะมีสิ่งดึงดูดก็ไม่ยอมตาม หรือเปลี่ยนแปลงเจตคติ
– ควบคุมหรือจัดการกับผู้อื่นได้อย่างแยบยล
– ชอบสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
– ในฐานะที่เป็นผู้นำจะเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนที่มีตำแหน่งเดียวกัน

 

“ผู้มีบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียนต่ำ”

 

– เปราะบางต่อความคิดเห็นของผู้อื่น
– เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงความเชื่อภายในของตน
– ยึดมั่นในความเชื่อของตนเอง
– ยอมรับสารภาพอย่างรวดเร็ว
– ไม่ต้องโน้มน้าวในเชื่อตามเมื่อพูดความจริง
– ยอมรับวัตถุประสงค์ของผู้อื่นตามความเป็นจริง
– ประเมินสถานการณ์ได้ช้า
– ตอบแทนผู้อื่น
– เชื่อว่าผู้อื่นควรแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา
– แสดงพฤติกรรมรูปแบบเดียวตลอดเวลา
– บอกความจริง
– อ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้อื่น
– อาจจะแสดงออกอย่างไม่มีเหตุผลเมื่อมีการเจรจาต่อรอง
– ไม่ยอมเอาเปรียบผู้อื่น
– แสดงออกในแบบที่สังคมยอมรับ
– ตัดสินใจอย่างตรงไหนตรงมา
– มองหาแต่สิ่งแวดล้อมที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

ข้อมูลจาก

 

“การทำนายความไม่สอดคล้องระหว่างเจตคติต่อกลุ่มทางการเมืองในประเทศไทยที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยนัย ด้วยตัวแปรการกำกับการแสดงออกของตนและบุคลิกภาพแบบเมคคิเวลเลียน” โดย สุมาลัย พวงเกตุ (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21222

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแมคคิเวลเลียนและการแข่งขันต่อพฤติกรรมประจบประแจงในบริบทขององค์การ” โดย มนฤดี สายสิงห์ (2549) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/8475

Individualism – Collectivism : ความเป็นปัจเจกนิยม – คติรวมหมู่

 

 

 

 

“ความเป็นปัจเจกนิยม” หมายถึง แนวคิดที่บุคคลให้ความสำคัญกับเป้าหมายของตัวเองมากกว่าเป้าหมายของกลุ่ม บุคคลมีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ให้ความสำคัญกับเจตคติ ความคิดและความรู้สึกของตัวเอง

 

ส่วน “ความเป็นคติรวมหมู่” หมายถึง แนวคิดที่บุคคลให้ความสำคัญกับเป้าหมายของกลุ่มมากกว่าเป้าหมายของตัวเอง บุคคลจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม และประพฤติตนสอดคล้องกับบรรทัดฐานที่กลุ่มกำหนดไว้

 

 

ตัวอย่างความเป็นปัจเจกนิยมและคติรวมหมู่


 

เช่น ในประเทศญี่ปุ่น หัวหน้าจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของลูกน้องเป็นอย่างดี และสนับสนุนให้ลูกน้องพบกับผู้หญิงที่เหมาะสมเพื่อเป็นคู่ชีวิต เนื่องจากหัวหน้ามีหน้าที่เหมือนเป็นพ่อของลูกน้อง ต้องคอยให้ความช่วยเหลือลูกน้อง แต่ในประเทศอังกฤษ ลูกน้องคนหนึ่งกลับไม่ยอมบอกหัวหน้าว่าพ่อของเขาเพิ่งเสียชีวิต เพราะมีความเป็นปัจเจกนิยมที่เข้มข้นและการเสียชีวิตของพ่อนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรไปบอกผู้อื่น

 

อย่างไรก็ดี ในทุกวัฒนธรรมจะมีบุคคลทั้งที่เป็นแบบปัจเจกนิยมและคติรวมหมู่ เนื่องจากบุคคลมีส่วนของปัญญาที่เป็นแนวคิดแบบปัจเจกนิยมและคติรวมหมู่อยู่ในคนเดียวกัน เพียงแต่มีระดับของทั้ง 2 แนวคิด มากน้อยแตกต่างกัน

 

หากบุคคลนั้นมีส่วนของปัญญาที่เป็นแบบปัจเจกนิยมมากกว่า บุคคลนั้นก็จะมีความเชื่อ ความรู้สึก และพฤติกรรมแบบปัจเจกนิยม แต่ถ้าหากบุคคลนั้นมีส่วนของปัญญาที่เป็นแบบคติรวมหมู่มากกว่า บุคคลนั้นก็จะมีความเชื่อความรู้สึกและพฤติกรรมแบบคติรวมหมู่

 

ทั้งนี้ ความเป็นปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่ สามารถแจกแจงได้เป็น 4 มิติ แต่ละมิติมีความเป็นอิสระจากกันและแยกวัดในแต่ละมิติได้ ดังนี้

 

1. ตัวตน

ตัวตนของแนวคิดแบบปัจเจกนิยมจะเป็นตัวตนที่เป็นอิสระ ซึ่งให้ความสำคัญกับความต้องการ ความรู้สึก และการกระทำของตนเอง มากกว่าความต้องการ ความรู้สึก และการกระทำของผู้อื่น ประพฤติตนโดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ส่วนตัวตนของแนวคิดแบบคติรวมหมู่จะเป็นตัวตนที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ซึ่งเป็นตัวตนที่มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ในสังคม ไม่สามารถแยกออกมาเป็นตัวตนแบบเดี่ยว ๆ ได้ บุคคลจะมีแรงจูงในการหาทางอยู่ร่วมกับบุคคลในความสัมพันธ์แบบต่างๆ อย่างเหมาะสม เช่นการสร้างและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

 

2. เป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายส่วนรวม

ส่วนใหญ่แล้ว เป้าหมายทั้ง 2 แบบของบุคคลที่เป็นคติรวมหมู่จะมีความสอดคล้องกัน ดังนั้นบุคคลที่เป็นคติรวมหมู่จึงให้ความสำคัญกับเป้าหมายของส่วนรวม แต่เป้าหมายทั้ง 2 ของบุคคลที่เป็นปัจเจกนิยมอาจไม่มีความสอดคล้องกัน บุคคลที่เป็นปัจเจกนิยมจึงเลือกที่จะใช้ความสำคัญกับเป้าหมายส่วนตัวมากกว่าเป้าหมายส่วนรวม

 

3. การให้ความสำคัญของปัญญา

การให้ความสำคัญของปัญญาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทางสังคม วัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมให้ความสำคัญกับเจตคติ ความต้องการส่วนบุคคล สิทธิ และสัญญา ส่วนวัฒนธรรมแบบคตินิยมรวมหมู่จะให้ความสำคัญกับบรรทัดฐาน กฎเกณฑ์ และหน้าที่ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย

 

4. ความสัมพันธ์

วัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมจะให้ความสำคัญกับเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย ในการรักษาความสัมพันธ์กับคนคนหนึ่ง ส่วนในวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่จะพยายามรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไว้ แม้ว่าจะทำให้เกิดผลเสียก็ตาม

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่ของบุคคล


 

ได้แก่

  1. อายุ เมื่อมีอายุมากขึ้น จะมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ มากขึ้นจึงมีความเป็นคติรวมหมู่มากขึ้น
  2. สถานภาพทางสังคม บุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมสูงค่อนข้างจะมีความแป็นปัจเจกนิยมมากกว่า
  3. รูปแบบการเลี้ยงดู หากเลี้ยงดูเด็กแบบยอมรับและให้อิสระ ส่งผลให้เด็กมีความมั่นใจในตนเองและมีความเป็นปัจเจกนิยมสูง หากเลี้ยงดูแบบยอมรับและพึ่งพากันและกัน ส่วนผลให้เด็กชอบคล้อยตามผู้อื่นและมีความเป็นคติรวมหมู่สูง
  4. การท่องเที่ยวและการไปอยู่ต่างประเทศ เมื่อบุคคลไปใช้ชีวิตในต่างแดน ทำให้บุคคลต้องตัดสินใจเดี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง การได้เห็นมุมมองและได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ล้วนนำไปสู่ความเป็นปัจเจกนิยม แต่บางครั้งหากบุคคลต้องไปอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ก็มีโอกาสเพิ่มระดับความเป็นคติรวมหมู่ของบุคคลได้
  5. การศึกษา การศึกษาทำให้บุคคลเรียนรู้ความหลากหลายด้านวัฒนธรรมและส่งผลให้บุคคลมีระดับความเป็นปัจเจกนิยมที่มากขึ้น แต่การศึกษาบางอย่าง เช่น การเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นจะทำให้บุคคลมีระดับความเป็นคติรวมหมู่สูงขึ้น

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“การทำนายความชื่นชอบงานโฆษณาที่วางกรอบสารต่างกันจากความเป็นปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่โดยมีเป้าหมายการควบคุมของบุคคลเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย จตุพร นุตะศะริน (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/35984

 

ความหมายในชีวิตของผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS

 

ความหมายในชีวิต เป็นการรับรู้และตอบสนองของบุคคลในแต่ละขณะ แต่ละสถานการณ์ที่ดำรงอยู่ เป็นลักษณะเฉพาะที่ผันแปรไปในแต่ละบุคคล เป็นสิ่งที่บุคคลใช้ยึดเหนี่ยวในการมีชีวิต ผลักดันให้บุคคลมีกำลังใจในการดำรงชีวิตอยู่อย่างมั่นคง เป็นแรงจูงในให้บุคคลดำรงชีวิตต่อไปได้

 

งานวิจัยนี้เป็นเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์บุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ HIV/AIDS จำนวน 8 ราย เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายในชีวิตของผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS นำไปสู่การพัฒนารูปแบบการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของนักจิตวิทยาการปรึกษา และแนวทางการศึกษาวิจัยหรือการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่สนใจ

 

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบประเด็นหลักเกี่ยวกับความหมายในชีวิตของผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS 5 ประเด็น ดังนี้

 

1. การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่มั่นคงจากการติดเชื้อ

 

ความไม่มั่นคงในใจจากการติดเชื้อ มาจากความกลัวจากความคิดฟุ้งซ่านเกี่ยวกับตนเอง ได้แก่ กลัวการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งด้านสภาพร่างกาย การดำเนินชีวิต และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ความกลัวเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง ผู้ติดเชื้อจึงจำเป็นต้องก้าวข้ามความกลัวนี้ไปให้ได้เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย

ผู้ติดเชื้อใช้เวลาทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง อาศัยหลักความเชื่อ/หลักศาสนาเพื่อปลอบประโลมจิตใจตนเองให้คลายจากความกลัว เมื่อสามารถปรับตัวปรับใจยอมรับความเป็นจริงได้แล้ว ก็จะพยายามแสวงหาความรู้ แสวงหาแหล่งให้คำปรึกษา เพื่อการดูแลตนเอง

 

2. ความรักความเข้าใจจากคนรอบข้างทำให้รักตนเอง รักชีวิต

 

การแสดงออกถึงความรัก ความเข้าใจ ไม่รังเกียจ ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ตอกย้ำ และประคับประคองให้กำลังใจ ของบุคคลสำคัญในชีวิต และทีมสุขภาพ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีกำลังใจในการต่อสู้โรคและรักตนเอง พยายามใช้ชีวิตอยู่เพื่อตนเองและผู้อื่น

 

3. การค้นพบแรงบันดาลใจ ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และมุ่งสู่อนาคต

 

การมีแบบอย่างผู้ติดเชื้อที่มีสุขภาพกายและใจดี มีชีวิตอยู่ได้นาน 10-20 ปี หรือการพบเห็นบุคคลที่ด้อยกว่าในสังคม ทำให้ผู้ติดเชื้อได้กลับมาพิจารณาตนเอง และเกิดแรงบันดาลในที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตและต่อสู้กับโรค นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อยังได้รับกำลังใจจากสังคมผู้ติดเชื้อด้วยกัน และมีหลักธรรมะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ผู้ติดเชื้อจึงเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน และขณะเดียวกันก็พบความสำคัญของการจุดมุ่งหมายในชีวิต

 

4. การเปลี่ยนแปลงด้านบวก การเริ่มต้นชีวิตใหม่ และความหวัง

 

ผู้ติดเชื้อเลือกให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกายของตนเองเป็นอันดับแรก ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้านการงานและอาชีพอีกด้วย ส่วนในด้านจิตใจ ผู้ติดเชื้อสามารถค้นพบความหมายและเป้าหมายในชีวิตผ่านการเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่นปันเรื่องราวของตนเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น การเป็นอาสาสมัครตามโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้ติดเชื้อได้ตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง นำมาซึ่งความสุขใจและภาคภูมิใจในตน

 

5. การรับรู้คุณค่าและความหมายจากการเป็นผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS

 

ผู้ติดเชื้อมองเห็นความงอกงามภายในจิตใจของตนที่เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อ HIV/AIDS สามารถปรับมุมมองและทัศนคติต่อการติดเชื้อซึ่งจัดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งความสูญเสียให้กลายเป็นมุมมองบวก คือ มองการติดเชื้อเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตนเองในทางบวก ทำให้ป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม ทำให้ใช้ชีวิตที่เหบืออยู่อย่างไม่ประมาท และสามารถค้นพบความหมายในความทุกข์ของตนได้

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

“ความหมายในชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ : การศึกษาเชิงคุณภาพแบบทีมวิจัยเห็นชอบร่วมกัน”
“Meaning in life of persons living with HIV/AIDS: a consensual qualitative research”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2553)
โดย นางสาวจุรีรัตน์ นิลจันทึก
ที่ปรึกษา รศ. ดร.อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/33147

 

 

เข้าใจจิตใจ หญิงรักหญิง

 

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นรายบุคคลจากหญิงรักหญิงเพศเดียวกันประเภททอมและดี้ จำนวน 14 ราย

 

 

ความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของหญิงรักหญิงเพศเดียวกัน


 

การวิจัยในต่างประเทศมักเรียกกลุ่มหญิงรักหญิงเพศเดียวกันทุกแบบรวมกันว่า “เลสเบี้ยน” โดยไม่แบ่งแยกประเภท ซึ่งทำให้ผลการวิจัยขัดแย้งกันเองในหลายประเด็น สำหรับในสังคมไทยมีการแบ่งแยกประเภทหญิงรักหญิงเพศเดียวกันเป็นหลายลักษณะ ซึ่งเป็นประโยชน์ในงานวิจัยนี้ที่ทำให้การวิจัยและผลที่ได้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะทอมและดี้ต่างก็มีความรู้สึกนึกคิดในตัวตนไม่เหมือนกัน

 

ผู้ให้ข้อมูลทอม ผ่านการยอมรับว่าตนเองเป็น “ทอม” แต่ผู้ให้ข้อมูลดี้ มักรับรู้ตนเองในฐานะ “ผู้หญิงที่มีคู่รักเป็นทอม” มากกว่าจะยอมรับว่าตนเป็นดี้ เนื่องจากแม้ว่าพวกเธอชอบผู้หญิงเพศเดียวกันแต่มีแบบแผนการพัฒนาเอกลักษณ์บางส่วนแตกต่างจากทอม คือมีการปรากฏตัวในสังคมเป็นผู้หญิงในความรู้สึกของคนทั่วไป จึงไม่มีความขัดแย้งในบทบาทและไม่ต้องมีการเปลี่ยนบทบาท สังคมมักจะรับรู้ว่า “เธอคนนี้มีแฟนเป็นทอม” มากกว่าให้ความสนใจว่าเธอเป็นดี้หรือไม่ จึงไม่ต้องผ่านขั้นตอนการยอมรับตนเองและนิยามตนเองเป็นดี้ แตกต่างจากทอมที่มักมีแรงกดดันจากสังคมมากกว่า

 

ทั้งนี้การที่ทอมยอมรับว่าตนเป็นทอมนั้นไม่ใช่มาจากความปรารถนาอยากเป็น เพราะคำว่า “ทอม” เป็นคำที่แฝงไว้ด้วยตราบาปและอคติทางสังคม “อยากเป็นผู้ชายไม่ได้อยากเป็นทอม” “เป็นผู้ชายไม่ได้ก็ต้องเป็นทอม” การยอมรับจึงเป็นในลักษณะจำยอมเพื่อลดแรงด่อต้านของสังคม ยอมรับใน “สภาพที่ตนเองใช้ชีวิตอยู่” ตามข้อจำกัดทางสังคม “ที่เรียกตนว่าทอม” ซึ่งการยอมรับข้อจำกัดในชีวิตได้ตามความเป็นจริงนั้น ทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้น หวั่นไหวต่อคำพูดเชิงลบน้อยลง และมีอิสระที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเองมากขึ้น

 

งานวิจัยนี้ได้ข้อค้นพบที่ชัดเจนว่าผู้ให้ข้อมูล ทอม และ ดี้ เหมือนกันที่เพศสรีระ แต่แตกต่างกันที่ “เพศสภาวะ” คือทอมมีการดำรงเพศสภาวะที่ไม่สอดคล้องกับเพศสรีระตามที่สังคมกำหนด ทอมรู้สึกอยากเป็นผู้ชาย ชอบเล่นของเล่น ทำกิจกรรมแบบผู้ชาย ไม่ชอบใส่กระโปรง และชอบผู้หญิง และรายงานว่าเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่เกิดหรือเป็นโดยธรรมชาติ ขณะที่ดี้มักรายงานว่าไม่ได้ชอบผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก มักมีแฟนผู้ชายมาก่อน ภายหลังจึงมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงฉันคู่รัก และในที่สุดก็ชัดเจนในตนเองว่าชอบผู้หญิง

 

การที่ผู้ให้ข้อมูลดี้รับรู้รสนิยมทางเพศล่าช้า อาจเพราะการเลี้ยงคู่ขัดเกลาที่ให้ดำรงชีวิตตามบทบาทที่สังคมกำหนด จึงไม่เคยคิดชอบผู้หญิง และบางคนถึงขั้นเกลียดตามการเรียนรู้อคติทางสังคมว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรือตามข้อห้ามทางศาสนา ต้องข่มจิตหรือปฏิเสธความต้องการของตน นั่นแสดงว่าหากสังคมให้การยอมรับ การพัฒนาตัวตนและรสนิยมทางเพศของหญิงรักเพศเดียวกันน่าจะเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

 

 

 

ความทุกข์ในความสัมพันธ์แบบคู่รักของทอมและดี้


 

ภาวะทุกข์ทางจิตใจของหญิงรักเพศเดียวกันล้วนเป็นภาวะ “ทุกข์ทางสังคม” คือทุกข์ที่เกิดจากอคติและการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม โดยเป็นกระบวนการทางจิตใจ 3 ขั้นตอน

 

  1. สังคมมีอคติหรือความไม่เข้าใจต่อคนรักเพศเดียวกัน
  2. หญิงรักเพศเดียวกันได้นำเอาอคติทางสังคมเข้าไปอยู่ในจิตใจของตน
  3. หญิงรักเพศเดียวกันจึงรู้สึกทางลบกับตนเอง

 

ความรู้สึกทางลบกับตนเองเป็นแหล่งกำเนิดความเครียดและความวิตกกังวล การขาดความมั่นใจในตนเอง จนบางคนถึงขั้นเกลียดตนเอง

ความทุกข์ทางสังคมของหญิงรักเพศเดียวกัน ทั้งภาวะสับสน หวาดหวั่น วิตกกังวล กลัว คิดมาก นอนไม่หลับ และเครียด ล้วนมีจุดเริ่มต้นจาก “ความขัดแย้งภายในจิตใจ” ระหว่างอัตลักษณ์ตามธรรมชาติของตนกับความคาดหวังตามบรรทัดฐานของสังคม 3 ประการ

 

  1. จิตที่มีความเป็นชายแต่กายเป็นหญิง
  2. มองตนเองว่าเป็นชายที่สังคมมองว่าเป็นหญิง
  3. ชอบผู้หญิงแต่สังคมกำหนดว่าหญิงควรชอบชาย

 

ซึ่งผู้ให้ข้อมูลทอมมีความขัดแย้งทั้ง 3 ประการ ส่วนผู้ให้ข้อมูลดี้มีความขัดแย้งประการที่ 3 เพียงประการเดียว

 

3 ใน 7 ของผู้ให้ข้อมูลทอมรายงานว่าเคยมีความคิดฆ่าตัวตาย โดยมีเป้าหมายเพื่อหลีกหนีความทุกข์ทรมาน ความกดดันในใจ และหวังว่าชาติหน้าจะไม่ต้องเกิดเป็นคนรักเพศเดียวกันอีก สาเหตุของการฆ่าตัวตายมีลักษณะร่วมดังนี้ 1) เกี่ยวข้องกับความรัก 2) รู้สึกล้มเหลว (ถูกปฏิเสธเพราะเป็นบุคคลรักเพศเดียวกัน) 3) เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยมีภาวะทางจิตใจที่สำคัญคือความเศร้า สลดหดหู่ ท้อ ด้อยค่า สำหรับคนที่พยายามฆ่าตัวตาย ยังมีภาวะที่ไม่มีทางออกและบอกใครไม่ได้ ส่วนคนที่คิดอย่างเดียวแต่ไม่ลงมือกระทำเป็นเพราะสามารถบอกใครบางคนได้และได้รับการเตือนสติ

 

ทุกข์ในจิตใจของผู้ให้ข้อมูลทอมมักเข้มข้นมากในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เพราะชีวิตยังต้อขึ้นอยู่กับข้อจำกัด กฎระเบียบ กติกา คำอนุญาตจากผู้ปกครอง หลังจากโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้วจึงมีอิสระที่จะทำในสิ่งที่ตนต้องการมากขึ้น ทุกข์จากความไม่สอดคล้องจึงน้อยลง ถึงแม้ว่าจะไม่หายไปจากจิตใจอย่างแท้จริงเพราะสังคมโดยรวมยังคงไม่ให้การยอมรับและความเข้าใจอย่างแท้จริงนั่นเอง

 

ความไม่เข้าใจของสังคมต่อหญิงรักเพศเดียวกันมี 3 ลักษณะ 1. ความลึก คือ ไม่เข้าใจถึงตัวตน 2. ความมาก คือ ปริมาณของคนที่ไม่เข้าใจ 3. ความเงียบ คือ เกิดขึ้นตลอดเวลาแต่ไม่ใช่อย่างเอิกเกริก ดังนั้นทุกข์ของผู้ให้ข้อมูลทอมและดี้จึงเป็นทุกข์รอบด้านและทุกข์สั่งสม พวกเขาเหล่านี้จึงมักไม่เลือกอธิบายสิ่งที่รู้สึกให้สังคมฟังมากนัก และมักใช้ชีวิตอยู่แบบส่วนตัวกับตัวเอง คู่รัก หรือกลุ่มเพื่อนที่ยอมรับเขาแบบเงียบ ๆ กลมกลืนไปกับสังคมมากกว่า

 

 

 

 

แหล่งสนับสนุนให้ก้าวข้ามผ่านความกดดันและความทุกข์ต่าง ๆ


 

แหล่งความเข้มแข็งของผู้ให้ข้อมูลหญิงรักเพศเดียวกัน ได้แก่ ตนเอง คู่รัก เพื่อน และพ่อแม่

แหล่งความเข้มแข็งจากภายในที่สำคัญที่สุดก็คือตนเอง ที่จะทำให้ตนเองยืนหยัดได้โดยลำพังแม้ไม่มีแหล่งสนับสนุนด้านอื่น ส่วนคู่รักเป็นแหล่งที่ให้รับการยอมรับและเข้าใจในตัวตนมากที่สุด ขณะที่พ่อแม่เป็นแหล่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและความมั่นใจให้กับชีวิตเมื่อต้องเผชิญกับโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยอคติ และเป็นกุญแจขสู่อิสรภาพในการพัฒนาตัวตนและชีวิตคู่ในแบบยั่งยืนเป็นครอบครัว และเพื่อนสนิทนั้นเป็นแหล่งช่วยเหลือให้คำปรึกษาที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด

 

แม้ “ตนเอง” จะเป็นแหล่งความเข้มแข็งจากภายในที่สำคัญที่สุด แต่การยอมรับตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเอาชนะความรู้สึกเชิงลบที่มีต่อตนเอง มากพอๆ กับความรู้สึกที่เป็นตราบาปจากอคติทางสังคม การยอมรับตนเองได้นั้นบุคคลรักเพศเดียวกันต้องการความรู้สึกปลอดภัยและมีแหล่งสนับสนุนอื่นๆ ที่เอื้ออำนวย

 

เกี่ยวกับการยอมรับต่ออัตลักษณ์ที่เป็นทอม งานวิจัยนี้พบว่า “คู่รัก” เป็นบุคคลประเภทเดียวที่สามารถยอมรับและเข้าใจอัตลักษณ์และความเป็นชายในตัวผู้ให้ข้อมูลทอมได้อย่างลึกซึ้งที่สุด คู่รักของทอมจึงมีความหมายอย่างยิ่งยวด และสำคัญต่อสุขภาพจิตที่ดีและเติมเต็มในจิตใจส่วนลึกของทอมเป็นอย่างมาก

ส่วนบุคคลที่มีอิทธิพลต่อชีวิตรักของหญิงรักเพศเดียวกันมากที่สุดคือ “พ่อแม่” โดยเฉพาะในวัฒนธรรมไทยที่พ่อแม่มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับลูกมากกว่าและยาวนานมากกว่าในสังคมตะวันตก โดยผู้ให้ข้อมูลทอมและดี้ส่วนใหญ่ได้ให้น้ำหนักความมีอิทธิพลของพ่อแม่ไว้ที่ร้อยละ 80-100 ขณะที่ให้น้ำหนักของบุคคลภายนอกไว้ที่ร้อยละ 10-30 สำหรับคนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่และรายงานว่าพ่อแม่มีอิทธิพลกับตนมาก จะพยายามฝืนตัวเองเพื่อไม่ให้พ่อแม่เสียใจและอับอาย แต่ก็จะสร้างความขัดแย้งในใจให้กับตนเองมากขึ้น จนทำให้เกิดความห่างเหินกับครอบครัว และสร้างความทุกข์ให้มากที่สุด ในทางตรงกันข้าม หากพ่อแม่ยอมรับได้ผู้ให้ข้อมูลทอมและดี้จะรู้สึกมีความสุขมากที่สุด

 

 

 

 

สายสัมพันธ์แห่งรักและความสุขของคู่รักหญิงเพศเดียวกัน


 

หญิงรักเพศเดียวกันต้องเผชิญกับอคติและข้อจำกัดทางสังคมมากมาย ทั้งทางกฎหมาย ครอบครัว และพฤตินัย (การถูกเลือกปฏิบัติ) อีกทั้งมีแหล่งสนับสนุนที่ไม่แน่นอน ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการยอมรับ แต่งานวิจัยพบว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้หญิงรักเพศเดียวกันครองคู่อยู่ด้วยกันได้นานและมีคุณภาพความสัมพันธ์ที่ดี เป็นเพราะสายสัมพันธ์แห่งรักอันแน่นแฟ้นและความสุข

 

ปัจจัยภายในที่ทำให้คู่หญิงรักเพศเดียวกันมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมีความสุขมี 3 ประการ คือ

 

1. ความเป็นเพศหญิงสองคน

ทำให้การมีชีวิตคู่มี “ความเหมือนกัน” อยู่มาก เข้าใจและสื่อสารกันได้ง่าย ทำกิจกรรมร่วมกันได้แทบทุกอย่าง อีกทั้งเพศหญิงมีความอ่อนโยนและละเอียดอ่อนในการดูแลเอาใจใส่ และแสดงความรักต่อกันมาก มีการใช้การสื่อสารร่วมกับแสดงออกทางความรู้สึกในการแก้ไขปัญหาภายในคู่ได้อย่างสร้างสรรค์

 

2. คู่รักมีความหมายพิเศษสำหรับทอม

เพราะเป็นบุคคลประเภทเดียวที่ยอมรับตัวตนของผู้ให้ข้อมูลทอมได้อย่างลึกซึ้งมากที่สุด อีกทั้งคู่รักยังหามาได้ยากลำบากกว่าและต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากกว่า ผู้ให้ข้อมูลทอมหลายคนจึงเห็นคุณค่าของคู่รักและมีแนวโน้มที่จะพยายามดูแลเอาใจใส่และทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อรักษาความสัมพันธ์และทำให้คู่รักของตนมีความสุข

 

3. ดี้รักและยอมรับข้อจำกัดของทอมได้

ไม่ว่าจะเป็นสรีระที่มีกำลังน้อยกว่าชาย แต่งงานไม่ได้ จดทะเบียนไม่ได้ มีบุตรไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ฝังอยู่ภายในใจลึกๆ ของผู้ให้ข้อมูลทอม อาจเรียกว่าเป็นปมด้อยในใจที่ไม่สามารถให้ชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบเหมือนคู่ชายหญิงแก่คนรักได้ สร้างความวิตกกังวลว่าคู่รักจะจากไป ในขณะที่ผู้ให้ข้อมูลดี้กลับรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหา ไม่มีรายใดที่รู้สึกเสียดายที่คู่รักไม่ใช่ผู้ชาย พร้อมระบุว่าผู้ชายก็ไม่ได้ตอบสนองอะไรให้ได้ทุกอย่าง คู่ชีวิตที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุขนั้นสำคัญกว่า

 

 

 


 

 

“ประสบการณ์ด้านจิตใจของหญิงรักเพศเดียวกันที่มีความสัมพันธ์แบบคู่รัก”
“Psychological experience of lesbian in a couple relationship”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2554)
โดย นางสาวพิมพ์สิริอร ศิริทิณพงษ์
ที่ปรึกษา รศ. ดร.อรัญยา ตุ้ยคำภีร์ และ อ. ดร.รัฐสุดา เต้พันธ์
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30036

 

ความจริงของความรู้สึกเสียใจภายหลัง

 

ความจริงของความรู้สึกเสียใจภายหลัง

 

เมื่อเปรียบเทียบความรู้สึกเสียใจภายหลัง ระหว่างผู้ชาย ผู้หญิง ผู้มีลักษณะความเป็นชายสูง (masculinity) ผู้มีลักษณะความเป็นหญิงสูง (femininity) ผู้มีลักษณะปัจเจกนิยมสูง (individualism) และผู้มีลักษณะคติรวมหมู่สูง (collectivism)

ในความสัมพันธ์กับคู่รัก เพื่อน ครอบครัว และเรื่องการศึกษา พบว่า

 

ส่วนใหญ่คนเราเสียใจภายหลังจากการ “ไม่กระทำ” มากกว่าเสียใจภายหลังจากการ “กระทำ”

 

อาจเป็นเพราะ โดยมากแล้วสิ่งที่ได้ทำลงไปเราพอที่จะแก้ไขภายหลังได้ แต่สิ่งที่ไม่กระทำ มักไม่หวนคืนกลับมาให้ได้มีโอกาสแก้ตัว และเรามักไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเราจึงไม่ทำในขณะที่มีโอกาส อีกทั้งคนเรายังคิดถึง “สิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นถ้าได้ทำ” ได้ง่ายกว่า “นึกถึงสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นจากการทำลงไปแล้ว”

 

ยกเว้น ในบริบทความสัมพันธ์แบบคู่รัก ผู้หญิงหรือผู้ที่มีลักษณะความเป็นหญิงสูงเสียใจภายหลังจากการกระทำและไม่กระทำไม่แตกต่างกัน และเสียใจจากการไม่กระทำน้อยกว่าผู้ชาย

 

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ในมุมมองของทฤษฎีจิตวิทยาวิวัฒนาการอธิบายว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มต้องลงทุนมากกว่าในการดำรงเผ่าพันธุ์ จากที่ต้องเป็นฝ่ายอุ้มท้อง ทั้งยังมีช่วงระยะเวลาในการเจริญพันธุ์ที่จำกัด จึงเป็นไปได้ว่าในความสัมพันธ์แบบคู่รัก ผู้หญิงมักต้องระมัดระวังตัวมากกว่าผู้ชายในการวางตัวหรือทำพฤติกรรมต่างๆ เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นจึงมีความคิดในแนวทางที่ว่า ไม่น่าทำสิ่งนั้นลงไปเลย

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

 

“บทบาทของเพศ บทบาททางเพศ และความเป็นปัจเจกนิยม-คติรวมหมู่ ต่อการเสียใจภายหลัง และเป้าหมายการควบคุม”
“The roles of sex, gender-role, and degrees of individualism-collectivism in regret and regulatory focus”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา (2550)
โดย นางสาวสินีรัตน์ โชติญาณนนท์
ที่ปรึกษา อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20415

ประสบการณ์ด้านจิตใจของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

 

ประสบการณ์ด้านจิตใจของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

 

 

: เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงดูบุตรตามลำพัง อันมีสาเหตุมาจากการหย่าร้างหรือคู่ครองเสียชีวิต ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 10 ราย

 

จากข้อมูลพบว่า ในระยะแรกหลังการสูญเสียคู่ครองไป พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญกับปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตหลายๆ ด้าน โดยเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดนั้นส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกอย่างมาก

พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตในทุกด้าน ทั้งการเลี้ยงดูบุตรตามลำพัง การทำงานบ้าน การทำงานเลี้ยงชีพ และการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของครอบครัวให้เพียงพอ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด ด้วยเหตุนี้ การดูแลตนเองของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในด้านจิตใจที่จะต้องให้มีความเข็มแข็งมั่นคงเพื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ

 

เมื่อพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถเยียวยารักษาจิตใจของตนจนนำพาครอบครัวก้าวพ้นวิกฤตมาได้แล้ว การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิต ส่งผลให้พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีความงอกงามเกิดขึ้นภายในใจ คือมีความคิดและมุมมองที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและใช้ชีวิตอยู่กับความจริงในปัจจุบันได้

 

 

สามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็นหลักต่อไปนี้

 

 

1. ความทุกข์ใจจากการสูญเสียคู่ครอง

 

  • การทำใจยอมรับไม่ได้
  • ความผิดหวัง/เสียใจ
  • ความน้อยใจในโชคชะตา
  • ความกังวลใจเกี่ยวกับอนาคต

 

 

2. การดูแลจิตใจให้คลายความทุกข์ใจ

 

การหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

  • ธรรมะเป็นที่พึ่งทางใจ
  • ข้อความ/คติเตือนใจ

การฝึกจิตใจให้สงบ

  • การนั่งสมาธิ
  • การปล่อยวาง

การมุ่งความสนใจไปที่งาน/กิจกรรม

  • การทำงานเพิ่ม
  • การทำกิจกรรมที่ชอบ
  • การทำกิจกรรมร่วมกับบุตร

การแสวงหา/ได้รับความช่วยเหลือด้านจิตใจ

  • เพื่อน
  • ครอบครัว
  • นักจิตวิทยา
  • ชมรม/เครือข่าย

 

 

3. ความงอกงามหลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครอบครัว

 

การใช้ชีวิตอยู่กับความจริง

  • การยอมรับความจริง
  • การอยู่กับปัจจุบัน

การเปลี่ยนความคิดและมุมมองไป

  • การมองตนในทางบวก
  • ความเข้มแข็ง อดทน
  • ความภาคภูมิใจในตนเอง
  • ความมั่นใจในความสามารถของตน
  • การมองสถานการณ์ในทางบวก
  • การมองวิกฤตเป็นโอกาส
  • การมองเห็นทางออกของปัญหา

 

 

ผลการศึกษาวิจัยนี้ทำให้เกิดความเข้าใจประสบการณ์ด้านจิตใจของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับนักจิตวิทยาการปรึกษา ในการช่วยเหลือฟื้นฟูด้านจิตใจแก่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต่อไป

 

 


 

 

“ประสบการณ์ด้านจิตใจของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวในการเลี้ยงดูบุตร : การศึกษาเชิงคุณภาพ”
“Psychological experiences of single parents in child rearing : a qualitative study”

โดย นางสาวสุชาดา สร้อยสน
ที่ปรึกษา ผศ. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2553)
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21058

ความรุนแรงในคู่รัก

 

ความรุนแรงในคู่รัก

 

: ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวนทั้งหมด 1,010 คน เพศชาย 454 คน และเพศหญิง 556 คน มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ทำงานอยู่ในหน่วยงานราชการและองค์กรเอกชน อาศัยอยู่ในภาคเหนือ 299 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 300 คน ภาคกลาง 251 คนและภาคใต้ 160 คน โดยมีคู่รักเป็นเพศตรงกันข้ามที่คบหากันมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือไม่มีคู่รักหรือคู่สมรสในปัจจุบันแต่เคยมีในอดีตที่คบหากันมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

 

 

รูปแบบของการกระทำความรุนแรงต่อคู่รักมี 4 รูปแบบ


 

คือ

  • ความรุนแรงทางจิตใจ (psychological aggression) คือ พฤติกรรมหรือคำพูดที่ทำร้ายอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงการทำให้คู่รักรู้สึกเจ็บปวด เสียใจ อับอาย
  • การทำร้ายทางร่างกาย (physical assault) คือ พฤติกรรมที่ทำร้ายหรือทำอันตรายด้านร่างกายของคู่รัก รวมถึงการใช้วัตถุหรืออาวุธเพื่อทำร้ายคู่รัก
  • การคุกคามทางเพศ (sexual coercion) คือ พฤติกรรมรวมถึงการใช้คำพูด การบังคับขู่เข็ญและการใช้กำลังเพื่อบังคับให้คู่รักมีเพศสัมพันธ์กับตนเองโดยไม่เต็มใจ
  • การบาดเจ็บ (injury) คือ การบาดเจ็บทางร่างกายอันเกิดจากการกระทำของคู่รักโดยพิจารณาจากความบอบช้ำของร่างกายหรือการแตกหักของกระดูก ความจำเป็นในการส่งไปรักษาพยาบาลหรือความเจ็บปวดที่เกิดต่อเนื่องมากกว่า 1 วัน

 

ผลการวิจัย พบว่า เพศชายและหญิงไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 75 เคยกระทำความรุนแรงต่อคู่รักอย่างน้อยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

 

ทั้งนี้ เพศชายมี “อัตราส่วนการกระทำความรุนแรง” มากกว่าเพศหญิงโดยรวม ซึ่งทางจิตใจมีค่าใกล้เคียงกัน แต่เพศชายมากกว่าเพศหญิงในการกระทำความรุนแรงทางกาย ทางเพศ และการทำร้ายจนบาดเจ็บ

 

แต่เมื่อพิจารณา “ระดับของการกระทำความรุนแรง” แล้ว พบว่า เพศชายมีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงโดยรวมสูงกว่าเพศหญิงเล็กน้อย ขณะที่เพศหญิงมีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงทางจิตใจสูงกว่าเพศชายเล็กน้อย และมีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงทางกายสูงกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเพศชายมีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงทางเพศสูงกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญ และมีค่าเฉลี่ยการทำร้ายจนบาดเจ็บสูงกว่าเพศหญิงเล็กน้อย

 

ส่วนคุณลักษณะที่พบความแตกต่างระหว่างชายหญิงที่มีความแตกต่างในการกระทำความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ คือ เพศชายที่มีรายได้ต่ำกว่า และเพศหญิงที่มีรายได้เท่ากับคู่รัก มีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงต่อคู่รักสูงสุด ในขณะที่ทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีรายได้สูงกว่าคู่รักมีค่าเฉลี่ยการกระทำความรุนแรงต่อคู่รักต่ำสุด

 

 

อัตราส่วนการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รัก


 

เพศชาย ร้อยละ 74 รายงานว่าเคยถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยมีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงทางจิตใจสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ทางกายและทางเพศที่มีคะแนนใกล้เคียงกัน และถูกทำร้ายจนบาดเจ็บต่ำที่สุด

 

ส่วนเพศหญิงมีอัตราส่วนการถูกกระทำความรุนแรง ร้อยละ 70 รายงานว่าเคยถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยมีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงทางจิตใจสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ทางเพศ ทางกายและถูกทำร้ายจนบาดเจ็บต่ำที่สุด

 

โดยเพศชายมีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักสูงกว่าเพศหญิงในทุกด้านอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นการได้รับความรุนแรงทางเพศที่มีค่าเฉลี่ยเท่ากับเพศหญิง

 

 

 

สำหรับตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อความแตกต่างในการถูกกระทำความรุนแรงระหว่างชายหญิง ได้แก่ สถานภาพสมรสของกลุ่มคนทำงานพบว่า เพศชายที่มีสถานภาพโสด และเพศหญิงที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรส มีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักสูงสุด ส่วนกลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักต่ำสุดได้แก่ เพศชายที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรส และเพศหญิงที่ไม่ได้แต่งงานแต่อยู่ร่วมกันกับคู่รัก

 

นอกจากนี้ เพศชายที่มีรายได้ต่ำกว่า และเพศหญิงที่มีรายได้เท่ากับคู่รัก มีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักสูงสุด แต่เพศชายที่มีรายได้สูงกว่า และเพศหญิงที่มีรายได้ต่ำกว่าคู่รัก มีค่าเฉลี่ยการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักต่ำสุด

 

 

ผลการวิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงในคู่รัก


 

ประสบการณ์ความรุนแรงในวัยเด็กจากพ่อแม่ “มีอิทธิพลทางตรง” ต่อการกระทำและการถูกกระทำความรุนแรงในคู่รัก เนื่องจากเด็กเรียนรู้ว่าพฤติกรรมความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และยังขาดทักษะการใช้เหตุผลตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด จึงใช้พ่อแม่ของตนเองเป็นแบบอย่างสำหรับการทำสิ่งที่ถูกต้อง

 

นอกจากนี้ ประสบการณ์ความรุนแรง และการสนับสนุนจากพ่อแม่ “มีอิทธิพลทางอ้อม” ต่อการกระทำความรุนแรงต่อคู่รัก “ผ่านความวิตกกังวลในความผูกพันต่อคู่รัก” เพราะประสบการณ์วัยเด็กที่รุนแรงหรือได้รับการสนับสนุนน้อยเกินไปจากพ่อแม่ มีผลต่อการสร้างรูปแบบความผูกพันที่ไม่มั่นคงต่อคู่รัก คนที่วิตกกังวลในความผูกพันสูงมักแสดงอารมณ์ความรู้สึกทางลบ มุ่งร้าย แสดงความกลัวและความโกรธอย่างมาก พวกเขาต้องการใกล้ชิดกับคู่รัก แต่กังวลถึงคุณค่าและการเป็นที่รัก คิดทางลบต่อตนเอง กลัวถูกทอดทิ้ง มีแนวโน้มชอบตำหนิและจับผิด จึงมีการกระทำความรุนแรงต่อคู่รักเพื่อบังคับให้คู่รักสนใจมาที่พวกเขา

 

ยิ่งไปกว่านั้น ประสบการณ์ความรุนแรง และประสบการณ์การสนับสนุนจากพ่อแม่ “มีอิทธิพลทางอ้อม” ต่อการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รัก “ผ่านการหลีกหนี” และ “ความวิตกกังวลในความผูกพัน” ต่อคู่รัก เนื่องจากคนที่มีการหลีกหนีในความผูกพันมักทำพฤติกรรมออกห่างหรือหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับคู่รัก ทำให้คู่รักที่มีความวิตกกังวลในความผูกพันเข้าใจว่าเป็นสัญญาณเตือนของการยุติความสัมพันธ์ ซึ่งกระตุ้นให้คู่รักกระทำความรุนแรงเพื่อควบคุมหรือรักษาความสัมพันธ์ของตนไว้ และมักตีความสถานการณ์ผิดเพราะวิตกกังวลในความผูกพัน และรับรู้ไม่ถูกต้องเมื่อคู่รักทำพฤติกรรมถอนตัว รับรู้ว่าการถอนตัวของคู่รักคือการจะยุติความสัมพันธ์ จึงอาจตอบโต้โดยการกระทำความรุนแรง ดังนั้นคนที่มีการหลีกหนีในความผูกพันจึงมักกลายเป็นเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รัก ส่วนคนที่วิตกกังวลในความผูกพันที่มักใช้ความรุนแรงในการดึงความสนใจหรือควบคุมคู่รักก็อาจถูกใช้วิธีเดียวกันตอบโต้กลับมาซึ่งเป็นธรรมดาของการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน

 

 

 

 

ประสบการณ์ความรุนแรงและการสนับสนุนจากพ่อแม่ “มีอิทธิพลทางอ้อม” ต่อการกระทำความรุนแรงต่อคู่รัก “ผ่านความหลงตนเอง” อีกด้วย เนื่องจากความหลงตนเองเป็นผลของการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่มีต่อลูกโดยได้รับการให้ค่าสูงเกินไปหรือถูกปฏิเสธ รวมถึงการเลี้ยงดูที่เย็นชา การไม่แสดงออกของพ่อแม่แต่มีเจตคติที่ไม่ดีต่อเด็ก ทำให้คนที่มีความหลงตนเองพยายามรักษาภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งถูกแผ่ขยายไปรวมถึงความสัมพันธ์ในภายหลังเพื่อปกป้องตัวตน ดังนั้นคนที่หลงตนเองจึงแสดงออกเพื่อป้องกันตัวจากความรู้สึกที่ไม่ดีและการถูกทอดทิ้งจากการถูกปฏิเสธในวัยเด็ก คนที่มีความหลงตนเองจะมีความไม่ไว้วางใจผู้อื่นสูงและไม่สามารถพึ่งพาผู้อื่นได้อย่างสมบูรณ์ ความสัมพันธ์กับคู่รักจึงมีลักษณะของความหึงหวง การควบคุมและการถอนตัวจากคู่รัก จึงมีการกระทำความรุนแรงต่อคู่รัก

 

 

ข้อแนะนำของผู้วิจัยเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงระหว่างคู่รัก


 

1. การไม่ให้ประสบการณ์ความรุนแรงต่อเด็กของพ่อแม่ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำความรุนแรงในคู่รักหรือคู่สมรสในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการกระทำความรุนแรงทางจิตใจโดยการทำร้ายความรู้สึก ดูถูก และสร้างความอับอายจากพ่อแม่ ที่มักถูกละเลยและมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นเพียงการระงับการพัฒนาไปสู่รูปแบบความผูกพันที่ไม่มั่นคง โดยเฉพาะความวิตกกังวลในความผูกพันและบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อความรุนแรงในคู่รัก แต่การให้ประสบการณ์การสนับสนุนของพ่อแม่ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการเป็นตัวแบบที่ดีและให้ความเป็นธรรมแก่ลูก เป็นวิธีการสอนที่ดีกว่า โดยใช้การปฏิบัติให้มากกว่าใช้คำพูดเพียงอย่างเดียว จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและเด็กได้มีตัวแบบที่ได้ในการพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสมเพื่อสุขสภาวะที่ดีต่อไป

 

2. แม้จะมีประสบการณ์ความรุนแรงจากพ่อแม่หรือมีประสบการณ์การสนับสนุนจากผู้เลี้ยงดูมาน้อยแต่ถ้าบุคคลรู้จักการหลีกเลี่ยงในความสัมพันธ์ โอกาสที่จะกระทำความรุนแรงต่อคู่รักจะน้อยลง ดังนั้นผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ขัดความแย้งหรือมีอารมณ์โกรธกับคู่รักอย่างรุนแรงควรพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือถอยห่างจากคู่รักจนกว่าจะใจเย็นลง อย่างไรก็ตามการถอยห่างจากคู่รักควรทำด้วยความสงบเพื่อไม่เป็นการยั่วยุคู่รักของตนเอง และควรสังเกตสัญญาณที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งก่อนที่จะเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น

 

3. คนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเองแบบแสดงออก โดยเฉพาะความหลงตนเองด้านการแสวงหาผลประโยชน์ มีแนวโน้มกระทำความรุนแรงต่อคู่รักโดยเฉพาะการกระทำความรุนแรงทางเพศ เนื่องจากมีความอดทนต่ำต่อสถานการณ์คุกคาม ไม่ไว้วางใจผู้อื่น มีความไม่มั่นคงสูง จึงควรส่งเสริมความสัมพันธ์ในคู่รักโดยไม่คิดเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ การได้เปรียบเสียเปรียบในคู่รักมากเกินไป แต่ความหลงตนเองแบบความหวั่นไหวมากกว่าปกติจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในการถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รัก เนื่องจากกลัวการไม่ยอมรับและการถูกปฏิเสธจากคนอื่นจึงเป็นฝ่ายถูกกระทำความรุนแรงจากคู่รักโดยเฉพาะความรุนแรงทางกาย ดังนั้นแนวทางที่จะช่วยลดความกลัวการถูกปฏิเสธ คือการพยายามให้การสนับสนุนความสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อลดความหลงตนเองแบบไม่แสดงออกลง

 

4. หากเกิดความรุนแรงขึ้นในครอบครัวแล้วต้องพยายามยุติโดยเร็วที่สุด เพราะจะมีผลต่อคนในครอบครัวโดยเฉพาะบุตรหลานที่สามารถรับรู้ถึงความรุนแรงนั้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในการกระทำความรุนแรงต่อเด็กที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็กเสียไป ส่งผลต่อการพัฒนาความผูกพัน บุคลิกภาพ และความสัมพันธ์กับผู้อื่นในอนาคต

 

5. ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีผลต่อการเกิดความรุนแรงในคู่รัก อาทิ ความเหลื่อมล้ำของรายได้ สถานภาพสมรส การแต่งงานใหม่ของเพศหญิง รวมถึงภาพความรุนแรงระหว่างพ่อแม่ที่ลูกรับรู้ ดังนั้นการเลือกคู่รักหรือคู่สมรส รวมถึงการจัดการความขัดแย้งภายในครอบครัวแบบไม่ใช้ความรุนแรง คือสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“การพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของการกระทำความรุนแรงและการถูกกระทำความรุนแรงในคู่รัก”
“A development of the causal models of perpetration and victimization of intimate partner violence”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ด.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2557)
โดย นางสาวศรัญญา ศรีโยธิน
ที่ปรึกษา ผศ. ดร.คัคนางค์ มณีศรี

http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44394

ประสบการณ์ด้านจิตใจของผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย

 

ประสบการณ์ด้านจิตใจของผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย

 

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้หญิงที่มีประสบการณ์ถูกสามีทำร้ายร่างกาย และเข้ามาพักพิงอยู่ในบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ จำนวน 9 ราย

 

1. ความรู้สึกที่ถูกทำร้าย

ประกอบด้วย ความไม่คาดคิด กลัวและหวาดระแวง อายที่จะบอกเรื่องราวให้คนอื่นได้รับรู้ เหน็ดเหนื่อยกับความยากลำบากในชีวิต โกรธแค้นเกลียดชังสามี และต้องการก้าวออกไปจากความสัมพันธ์

 

2. เหตุผลของการคงอยู่ในความสัมพันธ์

ความรัก ความคาดหวังว่าสามีจะเปลี่ยนพฤติกรรม ความรักลูก และหมดหนทางไป

 

3. ความรู้สึกของการทนอยู่ในความสัมพันธ์

โทษและสมน้ำหน้าตนเอง จำต้องอดทนต่อความเจ็บปวดที่ได้รับ และใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ

 

4. จุดแตกหัก

เป็นความรู้สึกที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจออกไปจากความสัมพันธ์ ซึ่งมาจากการหมดความเชื่อมั่น และความคาดหวังในตัวสามี และหมดสิ้นความอดทนต่อความรุนแรงที่ได้รับ

 

5. ความรู้สึกที่ตกค้างจากการถูกทำร้าย

ประกอบด้วยความกลัวและระแวงว่าจะเกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำ เสียดายและผิดหวังกับชีวิตที่ต้องตกต่ำ และคิดว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเวรกรรมของตน

 

6. จิตใจที่ได้รับการฟื้นพลัง

เป็นภาวะจิตใจที่ได้รับกำลังใจต่อการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตอย่างมีคุณค่า ด้วยความรอบคอบ และระมัดระวังมากขึ้น

 

 

เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอน การเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ดี ไม่จำเป็นที่จะคงสิ่งดีนั้นไว้ตลอด จากความสุภาพอ่อนโยน ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นความก้าวร้าว แข็งกระด้าง ที่ไม่ทันได้ตั้งรับและไม่คาดคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับตน

ถึงจะมีความเหน็ดเหนื่อย น้อยใจ โกรธแค้นเกลียดชัง รวมถึงต้องการออกไปจากความสัมพันธ์ที่รุนแรง แต่ผู้หญิงก็ไม่เคยหยุดการทำหน้าที่ภรรยาและแม่ โดยไม่ได้คิดว่าจะมีสิ่งที่เลวร้ายกว่าตามมาในอนาคต

 

ความสุขกับการได้อยู่ร่วมการชายคนรักค่อย ๆ ถูกแทรกซึมด้วยความทุกข์ แม้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ความทุกข์หมดไปและคงความสุขไว้เช่นเดิม แต่ยิ่งพยายามเท่าใด ก็ยิ่งเหนื่อยหน่ายกับความพยายามของตัวเอง ความโหดร้ายที่เกิดซ้ำๆ บ่งบอกว่าความพยายามที่ทำไปนั้นไร้ความหมาย ถึงกระนั้นผู้หญิงก็ไม่สามารถถอยออกไปจากความสัมพันธ์ได้โดยง่าย ด้วยเงื่อนไขต่างๆ นานาที่บีบคั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะความรักที่ยังคงมีต่อสามีและลูก และความไม่รู้ว่าจะไปไหน ทำอย่างไร จึงต้องจำยอมทนรับกับสิ่งโหดร้ายที่เกิดขึ้น

 

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำเพื่อประคับประคองล้วนแล้วแต่ทำด้วยความเป็นห่วงความรู้สึกและสวัสดิภาพของคนอื่น แต่วันหนึ่งก็มีเหตุที่ทำให้ถึงจุดแตกหัก วันที่ได้มองย้อนกลับเข้ามาในตัวเอง พิจารณาว่าตนเองได้อะไรตอบแทนจากความพยายาม คำตอบที่ได้คือมีแต่ความสูญเสีย สูญเสียสิ่งต่างๆ มากมายและอาจแม้กระทั่งชีวิตของตน ซึ่งตะหนักได้ว่านั่นคือสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ดังนั้นผู้หญิงจึงตัดสินใจก้าวเดินออกมาจากความสัมพันธ์ และเข้ามาพักฟื้นเยียวยารักษาจิตใจที่บอบช้ำ เตรียมความพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง ได้เรียนรู้และเห็นถึงคุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ และบอกกับตัวเองว่าจะไม่ทำให้ตนตกไปอยู่ในภาวะของความทุกข์ยากอีก การใช้ชีวิตในวันข้างหน้าจะต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

 

 

งานวิจัยนี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจประสบการณ์ด้านจิตใจของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย เพื่อช่วยให้นักจิตวิทยาการปรึกษาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องด้านอื่นๆ สามารถช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสม

 

 


 

 

“ประสบการณ์ด้านจิตใจของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย”
“Psychological experiences of physically abused women”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2552)
โดย นางสาวศศิพันธุ์ กันยอง
ที่ปรึกษา : ผศ. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/15897

 

 

เพศและการเลือกผู้นำองค์การ

 

งานวิจัยนี้เป็นการการวิจัยเชิงทดลอง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานบริษัทเอกชนขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 200 คน อายุเฉลี่ย 29.67 ปี ส่วนใหญ่เป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ และมีอายุงานในองค์การปัจจุบัน 1-3 ปี

 

เมื่อให้ผู้ร่วมวิจัยเลือกผู้นำ โดยมีตัวเลือกเป็นผู้ชายและผู้หญิงที่มีคุณสมบัติพอ ๆ กัน ในกรณีที่องค์การประสบความสำเร็จ และกรณีที่องค์การประสบภาวะวิกฤต ผลปรากฏว่า ผู้ชายถูกเลือกเป็นผู้นำมากกว่าผู้หญิงทั้งใน 2 กรณี แต่ในกรณีที่องค์การประสบภาวะวิกฤต ผู้หญิงได้รับเลือกมากขึ้น

 

สอดคล้องกับผลการประเมิน “การรับรู้ความเหมาะสมของผู้นำ” ซึ่งมาจากการประเมิน 2 ด้าน ได้แก่ ด้าน “การรับรู้ความเหมาะสมต่อตำแหน่งผู้นำ” และ ด้าน “การรับรู้ความสามารถในการเป็นผู้นำ”

ในกรณีที่องค์การประสบความสำเร็จ ผู้นำชายได้คะแนนรวมมากกว่าผู้นำหญิง
แต่ในกรณีที่องค์การประสบภาวะวิกฤต ผู้ชายและผู้หญิงได้คะแนนรวมไม่ต่างกัน

และเมื่อพิจารณาแยกรายด้าน พบว่า ด้านความเหมาะสมต่อตำแหน่งผู้นำ ผู้ชายได้คะแนนสูงกว่าผู้หญิง แต่ในด้านความสามารถในการเป็นผู้นำ ผู้ชายและผู้หญิงได้คะแนนไม่ต่างกัน

 

 

 

จากผลที่ปรากฏจะเห็นได้ว่า แม้ตัวเลือกจะมีคุณสมบัติเท่าเทียมกันอย่างเป็นที่รับรู้ แต่ในสังคมไทย ผู้ชายมีโอกาสได้รับตำแหน่งผู้นำมากกว่าผู้หญิงเสมอ เว้นแต่เพียงในกรณีที่องค์การประสบภาวะวิกฤต ผู้หญิงจะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำมากขึ้น (โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับข้อมูลว่าผู้นำคนก่อนเป็นชายและองค์การประสบภาวะวิกฤต และในกลุ่มที่คิดว่าลักษณะของผู้นำที่ดีควรเป็นแบบเน้นสัมพันธ์) นั่นแสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์ผู้นำหญิงบนหน้าผาแก้ว (Glass cliff effect) ในองค์การไทย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวหมายถึง เมื่อองค์การประสบปัญหา ผู้หญิงมักได้รับเลือกให้เป็นผู้นำ ผู้นำหญิงจึงต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อความล้มเหลว จึงนับเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของผู้หญิงอย่างหนึ่ง

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในบริบทการทำงาน ผู้ที่มีหน้าที่คัดเลือกบุคลากรเข้ารับตำแหน่งผู้นำ ควรพิจารณาจากความเหมาะสมต่อลักษณะงานและศักยภาพของบุคคลเป็นหลัก และควรให้โอกาสพนักงานหญิงได้รับผิดชอบงานในตำแหน่งผู้นำเมื่อองค์การกำลังดำเนินงานไปได้ด้วยดี เพื่อเพิ่มการรับรู้แก่พนักงานทุกคนว่า ผู้หญิงสามารถทำงานในตำแหน่งผู้นำได้ และทำให้พนักงานหญิงเองมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาศักยภาพของตนให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น

 

 

 

 

“อิทธิพลเชิงสาเหตุของผลงานขององค์การต่อการเลือกผู้นำจากเพศ และการรับรู้ความเหมาะสมของผู้นำ โดยมีลักษณะนิสัยของผู้นำและเพศของผู้นำในอดีตเป็นตัวแปรกำกับ”
“Causal effects of organizational performance on choosing of leader’s gender and perceived suitability of leader as moderated by trait and history of leader”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาจิตวิทยาประยุกต์ (2556)
โดย นางสาวอาริยา บุญสม
ที่ปรึกษา ผศ. ดร.คัคนางค์ มณีศรี
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42943