ข่าวและกิจกรรม

เลือกของขวัญอย่างไรให้ถูกใจคนรับ

 

คุณเคยประสบปัญหาในการเลือกซื้อของขวัญให้กับคนพิเศษ ในโอกาสต่าง ๆ หรือไม่?

 

โดยเฉพาะหากผู้รับมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคุณ เช่น คู่รัก หลายคนอาจใช้เวลานานนับเดือน กว่าจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกซื้อของขวัญชิ้นใด ปัญหาเหล่านี้อาจทุเลาลงได้ด้วยแนวคิดทางจิตวิทยาในการเลือกซื้อของขวัญเพื่อให้เกิดความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับค่ะ

 

 

ของขวัญนั้น สำคัญไฉน?


 

การให้ของขวัญแก่กันและกันนั้น ถือเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนกันทางพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ และเป็นลักษณะของการต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เช่น การให้ของบรรณาการในสมัยโบราณ หรือการให้ของขวัญในปัจจุบัน ที่มุ่งแสดงถึงความมั่งคั่ง ความเคารพ หรือความสำคัญระหว่างคนสองกลุ่มที่พยายามสร้างความสัมพันธ์กัน

 

นอกจากนี้ การให้ของขวัญยังถือเป็นการแสดงถึงการรับรู้ของผู้ที่รับของนั้น ๆ ด้วยว่ามีความต้องการและรสนิยมอย่างไร อีกทั้งยังสามารถบ่งบอกถึงระยะความสัมพันธ์ การสัญญาในอนาคต การเป็นตัวแทนของความรัก หรือความห่วงใย

 

อย่างไรก็ตาม ในความสัมพันธ์แบบคู่รัก การให้ของขวัญมีความสำคัญและมีความพิเศษกว่าความสัมพันธ์อื่น ๆ อยู่ค่อนข้างมาก เพราะถือเป็นเครื่องมือในการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ ช่วยให้ผู้ให้มั่นใจในความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นใจได้ หรือทำให้ตนเองเป็นที่ชื่นชอบของคนรับได้ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายเพื่อบอกให้ผู้รับรู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกอย่างไร การให้ของขวัญ การรับของขวัญ และการให้ของขวัญกลับคืนนั้นจึงถือเป็นการทำให้ความสัมพันธ์นั้นแข็งแรงขึ้น ผ่านการสร้างความไว้ใจและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันที่มีในชีวิตประจำวันนั่นเอง

 

 

แล้วของขวัญแบบใดที่จะถูกใจผู้รับมากที่สุด ใช่ของขวัญที่มีราคาแพงหรือเปล่า?


 

เมื่อต้องซื้อของขวัญให้กับคนรู้ใจ หลายคนวิตกกังวลมากกับการเลือกซื้อของที่จะให้ ราคาของขวัญ จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากคนเรามักมีความเชื่อว่า หากให้ของขวัญราคาแพง ผู้รับน่าจะเกิดความซาบซึ้งใจและประทับใจมากที่สุด

 

งานวิจัยของ Schiffman และ Cohn (2008) พบว่า ของขวัญคริสต์มาสระหว่างคู่สามีภรรยานั้น มีความคาดหวังว่าจะต้องแพง และมีลักษณะเฉพาะมากกว่าลักษณะความสัมพันธ์อื่นที่มีการให้ของขวัญกัน นอกจากความคาดหวังของผู้รับแล้ว ผู้ให้เองก็มีความคาดหวังเกี่ยวกับท่าทีของผู้รับเมื่อได้รับของขวัญชิ้นนั้นเช่นกัน กล่าวคือคาดหวังว่าของนั้นจะทำให้ผู้รับซาบซึ้งใจหรือประหลาดใจ ผู้ให้ส่วนใหญ่จึงมักจะรับรู้การให้ของขวัญที่แพงแก่คนรักน่าจะเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกได้ดีที่สุด คำถามที่น่าสนใจคือ ของขวัญที่ดีต้องมีราคาแพงเท่านั้นจริงหรือ ผู้รับจึงจะประทับใจ

 

จากงานวิจัยของ Adams และ Flynn (2009) เปิดเผยผลการวิจัยที่น่าสนใจว่า ผู้รับของขวัญไม่ได้รู้สึกประทับใจมากขึ้น เมื่อได้รับของขวัญที่มีราคาแพง สาเหตุก็เพราะผู้รับไม่ต้องลงทุนลงแรงทางความคิดมากนัก หมายถึงผู้รับจะเผชิญทางเลือกอยู่เพียงแค่ 2 ทาง คือ ได้รับของขวัญหรือไม่ได้รับของขวัญเท่านั้น ตรงกันข้ามกับผู้ให้ที่ต้องเผชิญกับตัวเลือกมากมายว่าตนจะให้อะไรกับอีกฝ่าย จึงต้องลงทุนลงแรงทั้งกำลังกายและกำลังสมองในการคิด นำไปสู่ความคาดหวังต่อท่าทีของผู้รับ ดังนั้น การให้ของขวัญนั้น ไม่ว่าจะของขวัญราคาแพง หรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เราได้ให้ของขวัญแก่คนที่เรารักหรือเปล่า

 

 

ของขวัญให้เพื่อน VS. ให้คนรัก


 

หลายคนมักให้ความสำคัญกับคนรักมากกว่าเพื่อน หลายคนให้ความสำคัญกับเพื่อนมากกว่าคนรัก ขณะที่บางคนให้ความสำคัญกับเพื่อนและคนรักมากเท่า ๆ กัน แล้วคุณล่ะเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่ประสบปัญหาต้องมอบขวัญให้กับทั้งเพื่อนและคนรักในโอกาสพิเศษ เช่น เทศกาลต่าง ๆ แล้วตัดสินใจไม่ได้ว่า จะเลือกของขวัญแบบใดให้ผู้รับซาบซึ้งใจมากที่สุด

 

วิมลรัตน์ ตั้งมั่นวิทยศักดิ์, อติชาต ตันติโสภณวนิช, และ อัญญพร วงศ์วุฒิอนันต์ จัดทำโครงงานวิจัยทางจิตวิทยาระดับปริญญาตรี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความซาบซึ้งใจเมื่อได้รับของขวัญ และความคาดหวังความซาบซึ้งใจเมื่อมอบของขวัญ: เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างรูปแบบความสัมพันธ์แบบเพื่อน กับรูปแบบความสัมพันธ์แบบโรแมนติก

 

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ บุคคลที่มีคนรัก ในวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยมีช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี แบ่งเป็นเพศชาย 100 คน และเพศหญิง 100 คน โดยกลุ่มตัวอย่างจะต้องตอบแบบสอบถามที่ใช้วัดแนวโน้มในการเลือกซื้อของขวัญให้กับเพื่อนและคนรัก โดยให้จินตนาการว่า หากตนเองให้ของขวัญที่มีราคาถูกหรือแพง แก่เพื่อนหรือคนรัก ตนเองจะคาดหวังความซาบซึ้งใจจากผู้รับมากน้อยเพียงใด และหากตนเองได้รับของขวัญที่มีราคาถูกหรือแพง จากเพื่อนหรือคนรัก ตนเองจะมีความซาบซึ้งใจมากน้อยเพียงใด

 

ผลการวิจัยพบว่า ในฐานะผู้ให้ หากบุคคลให้ของขวัญราคาแพงแก่คนรัก แต่ให้ของขวัญราคาถูกแก่เพื่อน บุคคลจะคาดการณ์ว่าเพื่อนจะซาบซึ้งใจน้อยกว่า กับการได้รับของขวัญราคาถูกนั้น ในทางกลับกัน หากบุคคลให้ของขวัญราคาแพงกับเพื่อน แต่ให้ของขวัญราคาถูกกับคนรัก บุคคลกลับประเมินว่า คนรักจะรู้สึกซาบซึ้งใจมากพอ ๆ กับที่เพื่อนน่าจะรู้สึก

 

ส่วนในฐานะผู้รับ เมื่อได้รับของขวัญจากคนรัก ไม่ว่าของขวัญชิ้นนั้นจะมีราคาถูกหรือแพง บุคคลเกิดความซาบซึ้งใจมากกว่าได้รับของขวัญจากเพื่อน ไม่ว่าของขวัญจากเพื่อนจะมีราคาถูกหรือแพงก็ตาม กล่าวคือ หากได้รับของขวัญราคาแพงจากเพื่อน แต่ได้รับของขวัญราคาถูกจากคนรัก บุคคลก็ยังรู้สึกซาบซึ้งใจ และประทับใจกับของขวัญจากคนรัก มากกว่าของขวัญจากเพื่อนอยู่ดี

 

สรุปผลจากการศึกษาอาจกล่าวได้ว่า ในฐานะผู้รับ รูปแบบความสัมพันธ์ส่งผลต่อความซาบซึ้งใจมากกว่าราคาของของขวัญ นั่นคือ ไม่ว่าคนรักจะให้ของอะไรเรามาก็ตาม เราก็จะยังรู้สึกประทับใจ ดีใจ และซาบซึ้งใจ มากกว่าได้รับของขวัญจากเพื่อนนั่นเอง

 

 


 

 

คราวนี้คุณคงพอจะเห็นช่องทางในการให้ของขวัญแก่คนรัก เพื่อให้เกิดความประทับใจแล้วว่า แม้เราซึ่งอยู่ในฐานะผู้ให้ของขวัญจะคาดหวังความรู้สึกซาบซึ้งใจจากผู้รับ เมื่อของขวัญที่ให้มีราคาแพง เพราะคิดว่าของขวัญราคาแพงแสดงถึงความไตร่ตรองในการซื้อ แต่ผู้ที่อยู่ในฐานะผู้รับ ไม่ว่าจะได้รับของขวัญราคาแพงหรือถูกก็จะประเมินระดับความซาบซึ้งใจไม่แตกต่างกัน ในทางกลับกันผู้ที่อยู่ในฐานะผู้รับอาจรู้สึกติดหนี้เมื่อได้รับของขวัญราคาแพงด้วยซ้ำ

 

สิ่งที่สำคัญกว่าจึงอาจไม่ใช่เรื่องของราคาของขวัญ ดังงานวิจัยของ Rodden และ Verhallen (1994) ที่พบว่าผู้รับของขวัญคิดว่า การลงทุนทางกาย, การลงทุนทางใจ, และเวลาที่เสียไปจากการเลือกซื้อของขวัญต่างหาก ที่มีผลต่อความพึงพอใจในของขวัญมากกว่า กล่าวคือการรับรู้ถึงความตั้งใจของผู้ให้ในการเลือกของขวัญที่พิเศษส่งผลต่อความพึงพอใจมากกว่า ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการรับรู้ว่า ผู้ให้นั้นใช้เวลามากในการเลือกด้วย กล่าวได้ว่า การลงทุนทางกำลังทรัพย์เพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้สร้างความรู้สึกประทับใจ มากเท่ากับการลงทุนลงแรงทางจิตใจ และการวางแผนในการเลือกซื้อของขวัญ

 

ดังนั้นแล้ว หากในโอกาสอันใกล้นี้ คุณต้องเลือกซื้อของขวัญให้กับคนพิเศษ ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งถือเอาราคาสินค้าเป็นเกณฑ์ในการเลือกเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้คำนึงถึงการลงทุนลงแรงในการเลือกซื้อ ความพิถีพิถัน และการวางแผนในการเลือกซื้อของขวัญด้วย เพราะของราคาไม่แพง แต่เป็นงานแฮนด์เมด หรือประดิษฐ์ขึ้นเองด้วยความตั้งใจ อาจจะทำให้ผู้รับเกิดความประทับใจมากกว่าของขวัญราคาแพงที่หาซื้อได้ทั่วไปในซูปเปอร์มาร์เก็ตด้วยซ้ำไปค่ะ

 

…..Happy Giving Gifts!…..

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การสารภาพเท็จ: จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

มีข่าวการจับแพะในคดีใหญ่คดีหนึ่งของประเทศไทยที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และค่อนข้างได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก คือ ข่าวการจับแพะในคดีฆาตกรรมนางสาวเชอรี่ แอน ดันแคน ในคดีนี้มีผู้บริสุทธิ์ 4 คนได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องหา และถูกคุมขังเป็นเวลาถึง 6 ปี บางรายถึงขั้นเสียชีวิตในคุก กระทั่งภายหลังมีการรื้อฟื้นคดีและตามจับอาชญากรตัวจริงได้ ผู้ต้องหาที่ยังมีชีวิตอยู่จึงได้รับการปล่อยตัว คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างมาก แต่แม้ว่าในปัจจุบันนี้ การพิสูจน์หลักฐานในกระบวนการสอบสวนของไทยจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่คดีจับแพะก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ได้ เช่น คดีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือคดีที่ นายวินัย นวลจีน ถูกจับกุมตัวในฐานะผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม และตำรวจได้แถลงข่าวผลการสอบสวนว่านายวินัย นวลจีน ได้ให้การสารภาพว่าเขากระทำความผิดแต่เพียงผู้เดียว แต่หลังจากนั้นไม่นานกลับมีการจับอาชญากรตัวจริงได้ กอปรกับผลการพิสูจน์หลักฐานออกมายืนยันว่านายวินัย นวลจีน มิได้เป็นผู้กระทำผิดอย่างที่ถูกตั้งข้อหาไว้ในตอนแรก นายวินัย จึงได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

 

ภายหลังการปล่อยตัว นายวินัยได้ออกมาให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่าสาเหตุที่เขายอมรับสารภาพไปในตอนแรกที่ถูกจับ เป็นเพราะในช่วงระหว่างกระบวนการสอบสวนนั้น เขาถูกกักตัวเป็นเวลานานจนเกิดความเครียดและกดดันมาก ประกอบกับไม่เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อนในชีวิต และตำรวจยังให้เขาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพทั้งที่ตัวเขามิใช่ผู้กระทำผิด เขาจึงเกิดความคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว นอกจากต้องยอมรับสารภาพไป

 

สำหรับสองข่าวที่กล่าวถึง จะเห็นได้ว่าการยอมรับสารภาพทั้งที่ตนเองไม่ได้ผิด หรือที่เราเรียกว่า “การรับสารภาพเท็จ” นั้นเกิดขึ้นได้จริง และสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ “การรับสารภาพเท็จ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า false confession หมายถึง การยอมรับว่าตนเองได้เป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาชญากรรม ทั้งที่ตัวผู้รับสารภาพไม่ได้กระทำพฤติกรรมเหล่านั้น หรือไม่มีส่วนร่วมเกี่ยวกับการกระทำผิดเลย ซึ่งการรับสารภาพเท็จนี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ถูกสอบสวนถูกกดดันหรือถูกถามคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดของการกระทำผิดว่ากระทำอะไร กระทำที่ไหน และกระทำอย่างไรจนกระทั่งผู้ถูกสอบสวน ยอมรับสารภาพออกมาในที่สุด

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลเกิดการรับสารภาพเท็จนี้มีปัจจัยใดบ้าง?


 

ต้องบอกก่อนว่าพฤติกรรมการยอมรับสารภาพเท็จนั้นเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นในสังคม และการรับสารภาพเท็จจะเกิดเพิ่มขึ้นภายใต้การปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในสังคม ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกบุคคลหรือภายในบุคคลก็ได้ โดยตัวอย่างของประวัติภายนอกก็ได้แก่วิธีการรสอบสวนและวิธีการให้หลักฐานเท็จ

 

สำหรับปัจจัยภายในคือปัจจัยส่วนบุคคล เช่น บุคคลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low self-esteem) บุคคลที่มีแนวโน้มที่จะเกิดการยอมตาม (compliance) หรือคล้อยตามการชี้นำจากผู้อื่น เช่น ผู้สอบสวน เป็นต้น ซึ่งสองปัจจัยหลังนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นปัจจัยทางบุคลิกภาพที่ส่งผลให้คนเกิดการรับสารภาพเท็จได้ค่อนข้างมาก

 

การเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบยอมตาม หรือคล้อยตามการชี้นำได้ง่ายนั้นก็จะส่งผลให้เกิดการรับสารภาพเท็จในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น บางคนยอมรับสารภาพเพราะรู้สึกว่าถูกกดดันให้ต้องสารภาพก็จะยอมสารภาพ แต่บางคนก็ยอมรับสารภาพโดยมีความเชื่อจากภายในจิตใจว่าตนเองได้กระทำความผิดลงไปจริง ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาไม่ได้กระทำผิด แต่การสารภาพเท็จแบบที่สองนี้ก็จะเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย

 

เมื่อพูดถึงการยอมตามและการคล้อยตามแล้ว หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกันคือการยอมทำตามสิ่งที่ผู้อื่นบอกหรือเชื่อตามสิ่งที่ผู้อื่นบอก แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีความแตกต่างอยู่ โดยการยอมตามหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า compliance นั้น จะหมายถึงการที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะยอมรับการชี้นำจากบุคคลอื่นซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการที่บุคคลถูกเรียกร้องให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการที่บุคคลต้องเคารพเชื่อฟังในคำสั่งของบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลอาจยอมตามคำสั่งหรือข้อเรียกร้องของคนอื่นเพื่อต้องการให้ผู้อื่นยอมรับตนเอง หรืออาจจะเพื่อลดความขัดแย้งก็ได้ ส่วนการคล้อยตามนั้นหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า conformity นั้นหมายถึงการที่บุคคลได้รับอิทธิพลทางจิตใจจากผู้อื่น และอิทธิพลนั้นก่อให้เกิดความคิดหรือความรู้สึกที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้อื่นต้องการให้เกิดขึ้น ทั้งนี้การคล้อยตามนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการถูกชี้นำจากผู้อื่น ความแตกต่างระหว่าง 2 ลักษณะนี้ ได้แก่ ความรู้สึกส่วนตัวที่ยอมรับสิ่งที่ตนเองถูกชี้นำ โดยการยอมตามนั้นจะเป็นการตอบสนองทางพฤติกรรมภายนอกเป็นหลัก แต่ในความคิดตนเอง บุคคลอาจจะไม่ได้เชื่อว่าสิ่งที่ตนเองยอมตามไปนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ เช่น การยอมทำตามคำสั่งของหัวหน้าเพื่อที่จะไม่โดนหัวหน้าต่อว่า หรือถ้าในบริบทของการสอบสวนก็จะเป็นการที่บุคคลยอมรับสารภาพเท็จเพื่อให้บุคคลไม่ต้องรับแรงกดดันจากการสอบสวนอีกต่อไป แต่สำหรับการคล้อยตามจะเป็นการทำพฤติกรรมตามที่ถูกชี้นำ โดยที่ตนเองก็มีการยอมรับสิ่งที่ถูกชี้นำด้วยว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรจะทำ และบุคคลก็จะเชื่อสิ่งเหล่านั้นไปด้วย เช่น การยอมรับสารภาพเท็จโดยที่บุคคลเองก็เชื่อว่าตนเองน่าจะกระทำผิด ซึ่งกรณีนี้มักจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความกำกวมหรือไม่ชัดเจน

 

สำหรับปัจจัยภายนอกบุคคลหรือปัจจัยด้านสถานการณ์ที่ส่งผลให้เกิดการสารภาพเท็จได้นั้นมีอยู่ 2 สิ่งหลัก ๆ ได้แก่

 

ปัจจัยที่หนึ่ง คือ ปัจจัยด้านการมีหลักฐานทางวัตถุหรือพยานบุคคล ที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลเป็นผู้กระทำผิดจริง เช่น การพบรอยนิ้วมือของผู้ต้องหาอยู่บนอาวุธสังหาร การพบยาเสพติดในกระเป๋าของผู้ต้องหา หรือมีพยานบอกว่าเห็นผู้ต้องหากำลังกระทำผิดอยู่เป็นต้น ซึ่งหากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในความเป็นจริง ผู้ต้องหาจะรู้สึกว่าตนเองถูกมัดตัวโดยไม่มีหนทางใดแล้วที่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาได้ ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ไม่ได้กระทำผิด เพราะบุคคลจะรับรู้ว่าการมีหลักฐานหรือพยานบุคคลถือเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากในชั้นศาลว่าตนเองได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา

 

ปัจจัยที่สอง คือ การใช้เทคนิคการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งก็มีมากมายหลายเทคนิค ในที่นี้จะเลือกนำมาพูดถึงเฉพาะเทคนิคที่น่าสนใจ คือ เทคนิคการสอบสวนแบบลดความรุนแรง หมายถึง การสอบสวนที่ผู้สอบสวนอาจกล่าวในเชิงลดโทษให้ผู้ต้องหา หรือลดความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดลง ผู้สอบสวนจะทำเหมือนตนยืนอยู่ข้างเดียวกับผู้ต้องหา เพื่อสร้างความรู้สึกไว้วางใจแก่ผู้ต้องหา หรืออีกเทคนิคหนึ่งคือ เทคนิคการสอบสวนแบบเพิ่มความรุนแรง คือ ผู้สอบสวนต้องการให้ผู้ต้องหารับสารภาพจึงกดดันเพิ่มความรุนแรง เช่น ทำให้เรื่องราวดูใหญ่โต หรือเพิ่มโทษให้ดูรุนแรงกว่าที่ควรเป็น และอาจมีการคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ผู้ต้องหาเกิดความเครียดและวิตกกังวล ซึ่งบางครั้งผู้สอบสวนก็อาจโกหก หรือสร้างเรื่องราวการกระทำความผิดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นการรับสารภาพผิด

 

 

ในบริบทของสังคมไทย ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการยอมรับสารภาพเท็จมากที่สุด?


 

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการสารภาพเท็จมากที่สุดในบริบทของคนไทย คุณภัทรา พิทักษานนท์ นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยในการวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยเชิงทดลองที่ศึกษาอิทธิพลของปัจจัยภายในและภายนอกของบุคคล ที่ส่งผลต่อการรับสารภาพเท็จ ปัจจัยภายใน ได้แก่ ลักษณะทางบุคลิกภาพคือการยอมตาม และการคล้อยตาม และปัจจัยภายนอกของบุคคล ได้แก่ เทคนิคการสอบสวนแบบเพิ่มความรุนแรงและลดความรุนแรง และการได้รับหลักฐานเท็จ ผลการวิจัยพบว่า ในสถานการณ์จำลองที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นนั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นนิสิตนักศึกษายอมรับสารภาพเท็จทั้งหมดถึงร้อยละ 64.8 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเกิดการรับสารภาพเท็จนั้นได้แก่ เทคนิคการสอบสวน การได้รับหลักฐานเท็จ และการมีบุคลิกภาพแบบยอมตาม

 

สำหรับเทคนิคการสอบสวนนั้นพบว่า เทคนิคลดความรุนแรง หรือการทำเรื่องผิดให้เล็กลงนั้น ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการทดลองยอมรับสารภาพเท็จมากกว่าเทคนิคเพิ่มความรุนแรง และเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกแล้ว ผลการวิจัยพบว่า สำหรับการสารภาพเท็จนั้น ปัจจัยภายนอกบุคคลเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อบุคคลมากกว่าปัจจัยภายในบุคคล ทั้งนี้เนื่องจากในสถานการณ์ของการสอบสวนมีการจัดกระทำสภาพแวดล้อมให้มีความกดดันค่อนข้างมาก และการได้รับหลักฐานว่าตนเองทำผิดนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่หนักแน่นมาก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจยอมรับผิดอย่างมาก

 

เนื่องการวิจัยครั้งนี้ เป็นเพียงแค่สถานการณ์จำลองขึ้น ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากสถานการณ์จริงอยู่บ้าง โดยเฉพาะสิ่งที่กระทำผิด ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่าในสถานการณ์จริงอาจจะมีผลแตกต่างกันไปได้ อย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าการได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนยอมรับสารภาพเท็จกันอยู่ในปัจจุบัน

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ธนวัต ปุณยกนก

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จิตวิทยาการกีฬา

“จิตวิทยาการกีฬา” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Sport Psychology” เป็นสาขาวิชาที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการกีฬาของชาติเป็นอย่างมาก ยิ่งในช่วงเวลานี้คนไทยเราสนใจกีฬาและการออกกำลังกายมากขึ้น เรามีนักกีฬาที่เป็นแชมป์ระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น น้องเมย์ (รัชนก อินทนนท์) โปรเมย์ (เอรียา จุฑานุกาล) และ น้องณี (สุธิยา จิวเฉลิมมิตร) รวมถึงกีฬาประเภททีมที่ไทยเราติดอันดับโลกหลายประเภท เช่น วอลเลย์บอลหญิง ฟุตซอลชาย ลีกกีฬาในประเทศหลายประเภทก็กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ จึงน่าที่จะถึงเวลาที่เราจะหันมาสนใจในเรื่องของจิตวิทยาการกีฬาอย่างจริงจังเสียที

 

เมื่อก่อนนี้ เรามักจะคิดกันว่านักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์จะเป็นผู้ชนะเสมอ เราจึงไปเน้นที่การฝึกฝนทางร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว นักกีฬาในยุคนั้นจึงถูกมองว่ามีแต่ความแข็งแรง ในส่วนของความฉลาดหรือความสามารถด้านอื่น ๆ ได้ถูกมองข้ามไป แต่หลังจากที่สาขาวิชาทางจิตวิทยาการกีฬาเกิดขึ้น ทำให้มุมมองเรื่องการฝึกนักกีฬาเปลี่ยนไป นักกีฬาที่มีแต่ความแข็งแรงของร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่มีโอกาสที่จะชนะในการแข่งขันได้เลย ถ้าไม่รู้จักใช้ปัญญาในการวางแผนในการแข่งขัน จะเห็นจากตัวอย่าง เช่น โมฮัมมัท อาลี อดีตแชมป์นักมวยรุ่น เฮฟวีเวท ที่ใช้ปัญญาในการวางแผนชกกับคู่ต่อสู้ที่ตัวใหญ่กว่า โดยการพูดยั่วยุให้คู่ต่อสู้สูญเสียสมาธิ เมื่อคู่ต่อสู้สูญเสียสมาธิ โอกาสที่อาลีจะชนะก็มากขึ้น หรืออย่างเช่นถ้าเราดูการแข่งขันเทนนิสระดับโลก เราจะสังเกตเห็นว่านักเทนนิสที่ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่า มักตีได้ดีกว่าผิดพลาดน้อยกว่า จึงมีโอกาสชนะได้มากกว่า ในกรณีที่มีฝีมือไม่ต่างกันมากนัก

 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นักกีฬาก็คือคน คนก็จะต้องมีทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งร่างกายและจิตใจย่อมมีผลต่อกันและกัน ร่างกายที่อ่อนแอย่อมทำให้จิตหดหู่ ขณะเดียวกัน จิตใจที่เบิกบานย่อมทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าเช่นกัน และถ้าจะถามว่า ร่างกายที่แข็งแรงแต่มีจิตใจที่หดหู่ มีโอกาสเป็นไปได้ไหม แล้วคนที่มีร่างกายที่อ่อนแอจะมีจิตใจที่เข้มแข็งเป็นไปได้ไหม คำตอบคือเป็นไปได้ ถ้าเป็นไปได้คำถามที่ตามมาคือ คนที่อ่อนแอกว่าแต่มีจิตใจที่เข้มแข็งก็จะมีโอกาสที่จะชนะคนที่แข็งแรงกว่าแต่มีจิตใจที่หดหู่ ได้หรือไม่ คำตอบคือเป็นไปได้ ถ้าอย่างนั้นสภาพจิตใจของนักกีฬาก็สำคัญกว่าสภาพของร่างกายอย่างนั้นสิ ก็ไม่เชิง ความจริงแล้วทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬาควรจะต้องสอดคล้องกัน โอกาสที่จะชนะในการแข่งขันจึงจะเกิดขึ้นได้

 

Coaches concept illustration

 

ในประเทศไทยเรานั้น มีโรงเรียนกีฬา มีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และสาขาวิชาพลศึกษาที่ดีมากมาย ดังนั้นถ้าพูดในด้านการพัฒนาทางด้านร่างกายก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะเรามีองค์ความรู้ และเราทำได้ดี แต่ถ้ามองในแง่ของการพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจแล้ว เรายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากวงการกีฬาในบ้าน เรายังให้ความใส่ใจในเรื่องทางด้านจิตวิทยาน้อยไป แต่ก็น่าเป็นที่ยินดีได้ในระดับหนึ่งที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้พยายามหานักจิตวิทยาไว้ประจำทีมนักกีฬาไทยในช่วงการเตรียมความพร้อมเพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติ ถึงแม้ว่างบประมาณในด้านนี้ยังค่อนข้างน้อย ประกอบกับการที่เรามีนักจิตวิทยาที่สนใจทางด้านการกีฬาไม่มากนัก จึงทำให้นักจิตวิทยาหนึ่งคนต้องดูแลนักกีฬาจำนวนมากและดูแลหลายประเภทของกีฬา แต่ก็หวังว่าวันหนึ่งเราจะมีนักจิตวิทยาหนึ่งคนต่อหนึ่งทีมเป็นอย่างน้อย เมื่อถึงเวลานั้นนักกีฬาของเราก็คงจะมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่จะแข่งขันและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของเราเป็นอย่างมาก

 

 

ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาการกีฬาพัฒนามาได้ราว ๆ 50 กว่าปีแล้ว โดยเริ่มจากทั้งทางยุโรปและอเมริกา โดยที่ศาสตร์นี้ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ที่มีผลต่อการเข้าร่วมและการแสดงออกในการแข่งขันกีฬา และการออกกำลังกาย รวมถึงผลทางจิตวิทยาที่เกิดจากการแข่งขันกีฬาและการออกกำลังกายที่มีต่อนักกีฬาและผู้ที่ออกกำลังกาย ในช่วงต้น (ทศวรรษที่ 1960) ได้มีการตั้งสมาคมระดับนานาชาติขึ้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เรียกสมาคมนั้นว่า ISSP (International Society of Sport Psychology) โดยมี Dr. Ferruccio Antonelli จิตแพทย์ชาวอิตาลีเป็นนายกสมาคมคนแรก และในปี 1968 ได้มีการจัดประชุมของสมาคมขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และในปีนั้นเองนักจิตวิทยาการกีฬาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งสมาคมของตนเองขึ้นเรียกชื่อสมาคมว่า North America Society for the Psychology of Sport and Physical Activity จากวันนั้นเองจิตวิทยาการกีฬาก็เริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้น ได้มีการวิจัยเกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งในระยะแรกของการวิจัยนั้นนักจิตวิทยาการกีฬาจะให้ความสนใจปัจจัยทางด้านบุคคลิกภาพที่มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา แต่ต่อมาความสนใจเรื่องดังกล่าวเริ่มลดหายไป มาสนใจในประเด็นของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น โดยมีความเชื่อว่า ปัจจัยทางด้านปัญญาหรือความคิดของบุคคลที่มีต่อสภาพแวดล้อมนั้น น่าจะมีผลต่อการแสดงออกในการเล่นกีฬา

 

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1980 จึงมีการให้ความสนใจศึกษาถึงปัจจัยทางด้านความคิดและจินตภาคของนักกีฬาที่มีผลต่อการแข่งขันของนักกีฬา โดยตั้งคำถามว่า นักกีฬาควรคิดอย่างไร ที่จะส่งผลต่อการแสดงออกในการแข่งขันกีฬาได้เป็นอย่างดี จากการวิจัยในระยะนั้นพบว่านักกีฬาที่มีความคิดว่า “ฉันทำไม่ได้” มีผลทำให้นักกีฬาเหล่านั้นประสบความล้มแหลวในการแสดงออกในการแข่งขัน ในทางกลับกันว่านักกีฬาที่มีความคิดว่าเขาสามารถทำได้ ก็มักจะมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันกีฬาเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลนี้เองจึงมีความเชื่อว่าความคิดทางบวกน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญประเด็นหนึ่ง ที่จะทำให้นักกีฬาสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผลจากการที่นักกีฬาเหล่านี้มีความคิดทางบวกต่อตนเองและประสบชัยชนะในการแข่งขัน ก็ทำให้นักกีฬาเหล่านี้มีการรับรู้ความสามารถของตนเองมากขึ้น และนักกีฬาที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลทำให้นักกีฬาเหล่านั้นสามารถที่จะแสดงออกถึงความสามารถของตนเองได้เต็มศักยภาพที่ตนมีอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่นักกีฬาเหล่านี้เริ่มสงสัยในความสามารถของตน นักกีฬาเหล่านี้ก็จะแสดงออกในการแข่งขันกีฬาได้ไม่เต็มศักยภาพ อย่างที่เราจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า นักกีฬาก็มีวันที่ฟอร์มดีและฟอร์มตกนั่นเอง

 

 

ปัจจุบันนี้นักจิตวิทยาการกีฬาให้ความสำคัญถึงปัจจัยทางปัญญา ที่จะส่งผลต่อการแสดงออกในการซ้อมและการแข่งขัน ปัจจัยทางปัญญาที่พวกนักจิตวิทยาการกีฬาให้ความสนใจคือความคิดและความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดทางบวก ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก ไม่เฉพาะกับนักกีฬาเท่านั้น หากแต่จะเป็นประโยชน์แก่การใช้ชีวิตของบุคคลทั่วไปอีกด้วย

 

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้นักกีฬามีการแสดงออกในการแข่งขันได้สม่ำเสมอนั้น คือการที่พวกเขาประสบความสำเร็จ หรืออีกนัยหนึ่งคือชัยชนะในการแข่งขันนั่นเอง และด้วยปัจจัยนี้ การศึกษาวิจัยทางจิตวิทยาทำให้เราสามารถนำมาประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้ นั่นคือถ้าเราเกิดความล้มเหลวในชีวิตหรือในการกระทำสิ่งต่าง ๆ เราควรหยุดคิดและหยุดทำสักพัก มาตั้งหลักใหม่ โดยการทำกิจกรรมที่เราสามารถทำได้และจะต้องสำเร็จแน่นอน การทำเช่นนี้จะทำให้ความเชื่อในความสามารถของเราเพิ่มมากขึ้น และเราค่อย ๆ ขยับระดับความยากของงานให้สูงขึ้นอย่างไม่รีบร้อน ก็จะทำให้เราทำงานได้เต็มความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความเชื่อในความสามารถของตนเองในเรื่องนั้น ๆ ก็จะสูงขึ้นตามมาเช่นกัน

 

Junior football team stacking hands before a match

 

นอกจากปัจจัยทางด้านความสำเร็จในการกระทำจะส่งผลต่อการเพิ่มความเชื่อในความสามารถของตนเองในเรื่องนั้น ๆ แล้วยังมีอีกอย่างน้อย 3 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อความเชื่อในความสามารถของตนเอง ได้แก่ การพูดของโค้ชที่บอกแก่นักกีฬาว่าพวกเขาสามารถทำได้ก็จะทำให้นักกีฬาเหล่านั้นทำได้ดีในช่วงเวลาการแข่งขันเช่นกัน อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะส่งผลคือ การเห็นต้นแบบ นั่นคือถ้าเราได้เห็นบุคคลอื่นทำได้หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลอื่นว่าเขาทำได้ ก็จะทำให้เราเชื่อว่าเราทำได้เช่นกัน ดังนั้นการอ่านหนังสือเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของผู้มีชื่อเสียง ก็จะทำให้เกิดเป็นแรงผลักดันให้เราสามารถเกิดความเชื่อว่าเราทำได้ นอกจากนี้ความไม่วิตกกังวลในการแข่งขันก็จะช่วยให้ความเชื่อในความสามารถของตนเองสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นนักกีฬาน่าจะได้มีการฝึกสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้นักกีฬาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี

 

 

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าจิตวิทยาการกีฬามิได้มุ่งไปที่นักกีฬาแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ให้ความสนใจในบุคคลทั่วไปที่ออกกำลังกายอีกด้วย ดังนั้นพวกฟิตเนสทั้งหลายที่เปิดกันอย่างมากมาย น่าจะมีนักจิตวิทยาการกีฬาประจำศูนย์ด้วยก็จะเป็นการดี

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

จิตวิทยาการปรึกษา

“จิตวิทยาการปรึกษา” หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Counseling Psychology นั้น เป็นศาสตร์หนึ่งด้านจิตวิทยา ที่มุ่งเน้นในการให้บริการแก่บุคคลทั่วไป เพื่อให้บุคคลสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มศักยภาพในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตส่วนตัว และด้านการทำงาน โดยเราจะเรียกบุคคลที่ประกอบวิชาชีพในด้านจิตวิทยาการปรึกษาว่า “นักจิตวิทยาการปรึกษา”

 

การทำงานของนักจิตวิทยาการปรึกษา เป็นกระบวนการที่นักจิตวิทยาการปรึกษาทำหน้าที่ในฐานะผู้เอื้ออำนวยให้บุคคลที่มารับบริการ ได้เข้าใจปัญหาของตนเองได้อย่างชัดเจน ผ่านกระบวนการสำรวจภายในตนเอง จนสามารถตระหนักรู้ในตนเองตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่ตนมี และนำไปสู่การพัฒนาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคคล

 

จากความหมายดังกล่าวจะสรุปได้ว่าศาสตร์ด้านจิตวิทยาการปรึกษาเป็นศาสตร์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจและเอื้ออำนวยบุคคลให้พัฒนาตนอย่างเต็มศักยภาพ

 

ชมรมจิตวิทยาการปรึกษา (Society of Counseling Psychology) สังกัดสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับความเฉพาะทางของจิตวิทยาการปรึกษาในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

 

  1. มุมมองต่อผู้มารับบริการ บุคคลในวิชาชีพจิตวิทยาการปรึกษามีการมองผู้มารับบริการอย่างให้คุณค่าและความสำคัญในความเป็นมนุษย์ อันจะสะท้อนต่อมาที่แนวทางในการทำงานร่วมกับผู้มารับบริการของนักจิตวิทยาการปรึกษา จะมุ่งเน้นในการพัฒนาความเข้มแข็งของบุคคล นอกจากนี้นักจิตวิทยาการปรึกษาจะทำความเข้าใจปัญหาของผู้มารับบริการผ่านมุมมองด้านการพัฒนาการ
  2. เป้าหมายของการทำงานในด้านจิตวิทยาการปรึกษานั้น สามารถทำงานทั้งในลักษณะการมุ่งป้องกันการเกิดขึ้นของปัญหาในอนาคต โดยส่งเสริมให้มีผู้มารับบริการมีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีสุขภาวะ หรือที่เรียกกันว่างานในลักษณะการป้องกันและส่งเสริม และการให้การช่วยเหลือเพื่อเยียวยาปัญหาต่าง ๆ ในจิตใจ หรือที่เรียกกันว่างานในลักษณะการบำบัดเยียวยา

 

Psychology, therapy, psychiatry, mental health and counseling concept. candid shot of nervous self conscious young male in glasses telling middle aged female counselor about his problems at work

 

 

เมื่อนึกถึงคำว่านักจิตวิทยา คนทั่วไปอาจมีภาพในใจว่า การปรึกษาเชิงจิตวิทยามีลักษณะเดียวกับภาพที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ ที่มีตัวละครนอนบนโซฟายาว แล้วเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ตัวละครที่นั่งอยู่ด้านหลังฟัง ซึ่งภาพในใจจากฉากในภาพยนตร์ที่เราเห็นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งในการให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวทางของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง โดยในปัจจุบันอาจยังมีนักจิตวิทยาการปรึกษาบางท่านใช้รูปแบบเช่นในภาพยนตร์อยู่ หรืออาจใช้รูปแบบอื่น ๆ ในการพูดคุยกับผู้มารับบริการ โดยรูปแบบการปรึกษาเชิงจิตวิทยา จะเป็นการนั่งพูดคุยกันระหว่างนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้รับบริการ และจะแตกต่างกันออกไปตามกรอบความคิดทางทฤษฏีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่นักจิตวิทยาการปรึกษาเข้าใจและยึดถือ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาออกไปอย่างมากมาย

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นกระบวนการของสัมพันธภาพที่พิเศษที่มุ่งให้ผู้ที่มีปัญหาได้มีโอกาสหยุดกระบวนการคิดที่ไม่เหมาะสม และได้มีโอกาสเพ่งพิจารณาและทำความเข้าใจปัญหาของตน ด้วยสติปัญญาชัดเจน จนมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาของตนด้วยตนเอง กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นการเอื้อให้บุคคลได้พัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ โดยมีนักจิตวิทยาการปรึกษาเป็นผู้เอื้ออำนวยในกระบวนการ นักจิตวิทยาการปรึกษาไม่ใช่ผู้แก้ปัญหา และจะไม่เข้าไปบงการแนะนำ หรือ แทรกแซงผู้รับบริการ แต่จะเป็นผู้ที่ใช้ความชำนาญที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษในการช่วยให้ผู้รับบริการสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วยตนเอง

 

 

ความเหมือนและแตกต่างระหว่างนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้ที่ทำงานให้บริการด้านสุขภาพจิตในวิชาชีพต่าง ๆ

 

 

นักจิตวิทยาการปรึกษา VS จิตแพทย์

 

นักจิตวิทยาการปรึกษาไม่ใช่จิตแพทย์ แม้จะมีการทำงานอยู่ในเส้นทางเดียวกันในการดูแลสุขภาพจิตของบุคคล ให้การบำบัดรักษาปัญหาจิตใจ หรือมีเรื่องที่กระทบกระเทือนทางจิตใจ อันส่งผลต่อการดำเนินชีวิต แต่ความแตกต่างกันคือ จิตแพทย์ซึ่งเรียนทางด้านการแพทย์ เน้นการให้บริการกับผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิต และสามารถใช้ยาประกอบในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ ในขณะที่นักจิตวิทยาการปรึกษาจะใช้การบำบัดรักษาทางจิต หรือการปรึกษาเชิงจิตวิทยา เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน และให้บริการส่วนใหญ่กับผู้ที่มีปัญหากระทบกระเทือนทางจิตใจ และการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดความงอกงามเข้มแข็งทางจิตใจ

 

นักจิตวิทยาการปรึกษา VS นักจิตวิทยาคลินิก

 

ชมรมจิตวิทยาการปรึกษา สังกัดสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน ได้กล่าวเกี่ยวกับความเหมือนและความแตกต่างระหว่างจิตวิทยาการปรึกษาและจิตวิทยาคลินิคไว้ว่า ในบรรดาศาสตร์ด้านจิตวิทยาทั้งหมด งานด้านจิตวิทยาการปรึกษาและจิตวิทยาคลินิคเป็นงานที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่รากฐานในการเริ่มต้นของงานทั้งสองด้านมีความแตกต่างกัน โดยจิตวิทยาคลินิคเริ่มต้นจากการศึกษาความผิดปกติทางจิต หากจิตวิทยาการปรึกษามีจุดเริ่มต้นมาจากการให้คำแนะนำด้านอาชีพ โดยจิตวิทยาการปรึกษายังคงมุ่งเน้นในการให้บริการตลอดทุกช่วงวัยให้มีการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและมุ่งเน้นในการทำงานกับกลุ่มคนทั่วไปในสังคม เพื่อให้บุคคลสามารถพัฒนาตนเองเสริมสร้างความเข้มแข็งและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมในทุกช่วงชีวิต แม้จะมีนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ให้ความสนใจในการศึกษาเรื่องความผิดปกติทางจิตอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้จากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ

 

 

การมารับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษาจะก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวผู้มารับบริการได้อย่างไร?

 

การเข้ารับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษาจะเกิดประโยชน์ต่อผู้มารับบริการในด้านการจัดการกับปัญหา คลายความไม่สบายใจ และมีแนวทางในการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ โดยเกิดความเข้าใจในตนเอง ซึ่งความเข้าใจในตนเองนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสามารถวางแนวทางการดำเนินชีวิตของตนได้อย่างเหมาะสม โดยผู้มารับบริการจะสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างมั่นคง และสามารถจัดการปัญหาของตนได้อย่างสอดคล้อง และเหมาะสมกับความเป็นจริง ผู้มารับบริการจะสามารถค้นพบศักยภาพของตนเองและใช้ศักยภาพนั้นได้อย่างเต็มที่ ในการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ และขยายทัศนะในการมองโลก และชีวิตก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดี

 

ผู้ที่จะมารับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษาคงจะไม่จำกัดแค่เพียงผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วคนทั่ว ๆ ไปสามารถมารับบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาได้เมื่อเขามีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจและส่งผลต่อการดำเนินชีวิต หรือไม่ได้มีปัญหาอะไรก็สามารถพบนักจิตวิทยาการปรึกษาเพื่อให้ตนมีชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น การปรึกษาเชิงจิตวิทยา ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่เฉพาะผู้ที่มีปัญหาในชีวิตเท่านั้น เพราะนอกเหนือจากช่วยเหลือคนเหล่านี้แล้ว การปรึกษาเชิงจิตวิทยายังเน้นการส่งเสริมให้บุคคลทั่วไปพัฒนาศักยภาพของตนในด้านต่าง ๆ และช่วยให้คนเหล่านั้นเข้าใจตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น

 

 

รูปแบบในการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา

 

การบริการปรึกษารายบุคคล (Individual Counseling)

 

จะเป็นรูปแบบในการบริการที่นักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้มารับบริการมาพบกันเป็นรายบุคคล โดยผู้มารับบริการ 1 ท่านจะพบกับนักจิตวิทยาการปรึกษา 1 ท่านอย่างเป็นส่วนตัวเพื่อบอกเล่าถึงปัญหา หรือเรื่องราวที่อยากพัฒนาให้นักจิตวิทยาการปรึกษารับฟังและร่วมกันหาหนทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยรูปแบบในการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบรายบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้วผู้มารับบริการและนักจิตวิทยาการปรึกษาจะพบกันเป็นรายสัปดาห์ สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ครั้งละประมาณหนึ่งชั่วโมง

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม (Group Counseling)

 

จะมีรูปแบบในการบริการที่ผู้มารับบริการประมาณ 6-12 คน หรือในกรณีที่เป็นกลุ่มจิตศึกษา (Psychoeducation group) อาจมีสมาชิกมากกว่านี้ได้ ทั้งนี้สมาชิกที่เข้ามาร่วมกลุ่มต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ที่มีการกำหนดเฉพาะในแต่ละกลุ่ม ซึ่งวัตถุประสงค์ของกลุ่มจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้มารับบริการที่เป็นสมาชิกกลุ่ม เช่น กลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเอง กลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวหย่าร้าง โดยการดำเนินกลุ่มจะมีนักจิตวิทยาการปรึกษาที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่ม 1 – 2 ท่าน ทั้งนี้บทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษาในฐานะผู้นำกลุ่มจะเป็นผู้เอื้อให้บรรยากาศของกลุ่มเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเอื้ออำนวยของการพัฒนาตนอย่างเต็มศักยภาพของสมาชิกกลุ่มแต่ละคน ทั้งนี้รูปแบบในการบริการกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาจะมีทั้งรูปแบบการนัดเป็นรายสัปดาห์ หรือการนัดเป็นช่วงยาวต่อเนื่อง

 

People conversing at a group therapy session

 

นอกจากการบริการในรูปแบบหลัก ๆ 2 รูปแบบดังกล่าวแล้ว ยังมีการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยารูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น ครอบครัวบำบัด คู่สมรสบำบัด และยังมีรูปแบบในการบริการที่เป็นไปเพื่อการเข้าถึงผู้มารับบริการให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริการผ่านสายด่วนเยียวยาจิตใจ การบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาออนไลน์ เป็นต้น

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com

 

จิตวิทยาสังคม

“จิตวิทยาสังคม” หรือ “Social Psychology” เป็นจิตวิทยาสาขาหนึ่งในหลากหลายสาขาทางจิตวิทยา โดยจุดเน้นของจิตวิทยาสังคมคือ การศึกษาพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึกของคนเรา ที่ได้รับอิทธิพลจากคนอื่น ๆ รอบตัวเรา เพราะคนเราอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและเกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ อยู่เสมอ ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว ครูอาจารย์ เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนที่ทำงานและเจ้านาย หรือกระทั่งพนักงานขายอาหาร และคนแปลกหน้าที่เราพบเจอ หรือคนที่เราไปติดต่อธุระด้วยในแต่ละวัน

 

จิตวิทยาสังคมเป็นศาสตร์ที่ศึกษาว่า รูปร่างท่าทาง การกระทำต่าง ๆ การแสดงออกของคนเหล่านั้น ส่งผลต่อการตอบสนองของเราอย่างไรบ้าง และในทางกลับกัน ท่าทีและการกระทำของเราส่งผลอย่างไรต่อคนรอบข้างเรา

 

ยกตัวอย่างเช่น การที่เราแต่งตัวปอน ๆ เดินเข้าไปในร้านอาหาร อาจจะทำให้พนักงานบริการเราไม่ดี เทียบกับเมื่อเราแต่งตัวภูมิฐานเข้าไปใช้บริการ และการที่บริกรพูดกับเราไม่ดี ก็อาจจะทำให้เราตอบโต้ด้วยท่าทางไม่เป็นมิตร กลายเป็นวัฎจักรของการส่งอิทธิพลต่อกันและกันได้

 

นักจิตวิทยาสังคมจึงมีหัวข้อให้ศึกษามากมาย ตั้งแต่เรื่องการตีความและตัดสินบุคคลอื่น เช่น ในการสัมภาษณ์งานเราควรจะแต่งกายและนำเสนอตัวเองอย่างไร จึงจะสร้างความประทับใจได้ ความคิดความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเอง ส่งผลต่อการไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่นอย่างไร เช่น คนที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำอาจจะพยายามโพสต์แต่สิ่งดี ๆ เกี่ยวกับตัวเองให้คนอื่นเห็นในเฟซบุ๊ก ไปจนถึงเรื่องการโน้มน้าวใจผู้อื่น การคล้อยตาม และเทคนิคการขอร้องให้ได้ผล การตัดสินใจเกี่ยวกับผู้อื่น ความชอบ / ไม่ชอบสิ่งต่าง ๆ การช่วยเหลือกัน การทำร้ายกันหรือการแสดงความก้าวร้าว ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้ง พฤติกรรมในกลุ่ม ความรักและความชอบพอดึงดูดใจ การเป็นผู้นำหรือหัวหน้า เป็นต้น

 

จิตวิทยาสังคมมักจะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ

  1. การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่น
  2. การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น
  3. ความสัมพันธ์กับผู้อื่น

 

หัวข้อแรกคือ การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่นนั้น เป็นการศึกษาว่าคนเราตัดสินผู้อื่นและเรื่องต่าง ๆ อย่างไร ดูจากตรงไหน เราสรุปได้อย่างไรว่าคน ๆ หนึ่งน่าจะใจดีหรือไม่น่าไว้ใจ ข้อค้นพบที่น่าสนใจก็เช่น คนเราได้รับอิทธิพลจากเรื่องลบ ๆ หรือลักษณะที่ไม่ดีของอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าลักษณะดี ๆ ของเขา คนเรายังตัดสินคนจากประสบการณ์ในครั้งแรก ๆ หรือช่วงแรก ๆ ที่พบกัน หรือที่เรียกว่าความประทับใจแรกพบนั่นเอง แถมเรายังมีความลำเอียงในการตัดสินคนอื่น ๆ อีกหลายประการ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้โดยตรงในการสัมภาษณ์งานเพื่อคัดเลือกบุคคลหรือการประเมินบุคคลในสถานการณ์ต่าง ๆ

 

การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่นยังหมายถึง การที่เราตัดสินเหตุผลในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ของผู้อื่นและตัวเราเองด้วย เช่น เราสอบตก ตกเพราะอะไร ตกเพราะเราไม่เก่งหรือเพราะเราอ่านหนังสือไม่มากพอ การอธิบายเหตุการณ์สมหวังและผิดหวังนี้ อาจส่งผลถึงสุขภาพจิตของเราได้ การนึกคิดเกี่ยวกับผู้อื่นยังรวมถึงเวลาที่เราตัดสินว่าอะไรดีไม่ดี สิ่งใดหรือสินค้าใดเข้าท่าน่าซื้อหรือไม่อีกด้วย เรียกว่าการศึกษาเจตคติ ซึ่งสามารถประยุกต์ไปใช้ในเรื่องการสร้างความชอบต่อสินค้าหรือโฆษณาในแวดวงการตลาด หรือแม้แต่การชอบพรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้

 

 

การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น ในหัวข้อนี้นักจิตวิทยาสังคมจะเน้นศึกษาว่า คนเราสามารถทำให้อีกคนหนึ่งเปลี่ยนใจ เปลี่ยนความเชื่อ หรือเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างไร และมีเทคนิคอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าวใจว่ามีทฤษฎีหรือขั้นตอนวิธีการให้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง การขอร้องให้คนอื่นทำอะไรให้เรา ควรจะพูดอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ เมื่อไรควรจะใช้พรีเซนเตอร์หรือผู้เชี่ยวชาญมาโฆษณาสินค้าของเรา ดังนั้น หัวข้อทางด้านการโน้มน้าวใจจึงเป็นที่นิยมและสามารถประยุกต์ใช้ได้ ทั้งในด้านการตลาด การสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์ และในทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น หันมาออกกำลังกายมากขึ้น เลิกสูบบุหรี่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือหันมาประหยัดพลังงาน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็ได้ การมีอิทธิพลต่อผู้อื่นยังรวมถึงเรื่องการคล้อยตามแรงกดดันของคนในกลุ่ม หรือผู้มีอำนาจ เพื่อศึกษาว่าคนเราจะยอมทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจเหนือกว่าหรือไม่ เมื่อใดเราจึงมักจะคล้อยตามผู้อื่น และยังศึกษาถึงการกระทำของคนเมื่ออยู่ในกลุ่ม เช่น เมื่อเราทำงานร่วมกับผู้อื่นคนเรามักจะอู้งาน นักจิตวิทยาสังคมจะศึกษาว่าทำไมคนเราอู้งาน และจะป้องกันการอู้งานได้อย่างไร ในการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มยังอาจจะมีหัวหน้า นักจิตวิทยาสังคมก็จะศึกษาเรื่องการเป็นผู้นำ คืออะไร ผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่าหัวข้อเหล่านี้ สามารถประยุกต์ไปใช้ประโยชน์ในบริบทต่าง ๆ ได้มาก โดยเฉพาะการทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นทีม การมีหัวหน้างานที่เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการออกแบบแคมเปญรณรงค์ให้คนไทยหันมาทำสิ่งดี ๆ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา หรือโตไปไม่โกง เป็นต้นค่ะ นี่คือหนทางหนึ่งที่นักจิตวิทยาสังคมสามารถช่วยสังคมแก้ปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ ได้

 

Millennial group of young businesspeople asia businessman and businesswoman celebrate giving five after dealing feeling happy and signing contract or agreement at meeting room in small modern office.

 

 

ความสัมพันธ์กับผู้อื่น แน่นอนว่าเราสามารถมีความรัก เกลียด ช่วยเหลือเกื้อกูล และทำร้ายผู้อื่นได้ นักจิตวิทยาสังคมศึกษาสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเพราะเป็นเรื่องที่ว่าด้วยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันระหว่างคนกับคน นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเรื่องความรักและความสัมพันธ์ ตั้งแต่ความรักคืออะไร มีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้คนเราชอบพอกัน การรักษาความสัมพันธ์ของคู่รักทำได้อย่างไร การแก้ไขปัญหาในความสัมพันธ์ทำได้อย่างไรบ้าง รักแล้วก็มีเกลียด นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเรื่องการรังเกียจกลุ่ม ซึ่งหมายถึงการไม่ชอบใครสักคนหรือกลุ่มคนสักกลุ่มเพียงเพราะเขามาจากกลุ่ม ๆ นี้อันเป็นการเหมารวมที่ไม่ยุติธรรม เช่น การดูถูกเพศหญิง อาจทำให้ผู้หญิงถูกกีดกันไม่ให้ขึ้นเป็นหัวหน้าในหน่วยงาน การดูถูกคนจากประเทศที่เรามองว่าด้อยความเจริญ เป็นต้น และแน่นอนว่านักจิตวิทยาสังคมศึกษาเทคนิควิธีที่จะเอาชนะการรังเกียจกลุ่ม ที่ช่วยให้คนเราลดอคติ และอยู่ร่วมกันได้แม้จะแตกต่างกัน

 

นักจิตวิทยาสังคมยังวิจัยว่าทำไมคนเราจึงช่วยเหลือกัน อะไรเป็นปัจจัยทำให้เราทำเพื่อผู้อื่น เช่น บริจาคเงิน ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท หรือเสี่ยงอันตรายช่วยเหลือคนอื่นในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสุดท้ายจิตวิทยาสังคมยังทำความเข้าใจ การจงใจทำร้ายผู้อื่นหรือการแสดงความก้าวร้าว ว่าทำไมคนเราจึงทำร้ายกัน เช่น ตกลงว่าการเล่นวีดีโอเกม ที่มีเนื้อหารุนแรงเช่นการต่อสู้และการฆ่ากันนั้น ส่งผลให้ผู้เล่นออกมาทำร้ายผู้อื่นโลกความจริง อันมักจะเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ นั้นเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า จะเห็นได้ว่าเนื้อหาของจิตวิทยาสังคมนั้นกว้างขวาง เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

 

Upset couple sitting back to back and ignoring each other. couple sitting on couch.

 

 

นักจิตวิทยาสังคมสามารถเลือกศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคู่รัก การทำงานร่วมกันในกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ เทคนิคการโน้มน้าวใจที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแวดวงโฆษณาและการตลาดได้ ไปจนถึงการศึกษาเรื่องความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปกำหนดแนวนโยบายระดับสังคมได้

 

วิธีที่นักจิตวิทยาสังคมใช้ทำวิจัยพฤติกรรมต่าง ๆ มีลักษณะเน้นการทดลอง และใช้การศึกษาวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ รอบคอบและเป็นระบบ นักจิตวิทยาสังคมจึงมีทักษะทางด้านการวิจัยและสถิติอีกด้วย โดยทักษะเหล่านี้จะทำให้นักจิตวิทยาสังคม สามารถทำงานได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการในสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ผู้ออกแบบแคมเปญทางด้านการตลาดและนักวิจัยทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและการสร้างมาตรวัด ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน ผู้อบรมและพัฒนาทักษะด้านการโน้มน้าวใจและการเจรจาต่อรอง อีกทั้งยังสามารถเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามบริษัทต่าง ๆ เช่น การพัฒนาความเป็นผู้นำแก่หัวหน้าหน่วยงาน เป็นต้น นอกจากนี้ นักจิตวิทยาสังคมยังสามารถทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น การสอบปากคำผู้ต้องหา การชี้ตัวผู้ต้องหา การวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม เป็นต้น

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

น้อมนำทำตามพระบรมราโชวาท “บทเรียนจากการฟัง”

 

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๕ นั้น มีเนื้อความตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของการฟัง ดังเนื้อความที่ว่า

 

“การศึกษาเพิ่มเติมที่แต่ละคนพึงกระทำนั้น กล่าวได้ว่ามีอยู่สองทาง ทางหนึ่งคือศึกษาค้นคว้าจากตำรับตำรา และวิเคราะห์วิจัยตามระบบและวิธีการ ที่ปฏิบัติกันในมหาวิทยาลัย อีกทางหนึ่งคือสดับตรับฟัง สังเกต จดจำจากการกระทำคำพูดของบุคคล รวมทั้งเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้ประสบผ่าน แม้แต่อุปสรรคความผิด พลาดของตนเอง ก็อาจนำมาคิดพิจารณาให้เป็นบทเรียนที่ทำให้เกิดความรู้ ความคิด ความฉลาด ได้ทั้งสิ้น”

 

ดังที่ปรากฏในพระบรมราโชวาท การฟังเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งที่เอื้ออำนวยให้คนเราได้พัฒนาตนเอง เกิดการรู้คิดและสติปัญญา เนื่องจากชีวิตประจำวันของเรานั้นมีการฟังเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตลอด การทบทวนถึงแนวทางที่จะใช้ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากการฟัง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้จึงมีความสำคัญ แนวทางเหล่านี้อาศัย “การเปิด” ในหลาย ๆ ด้าน ดังตัวอย่าง “การเปิด” สามด้านต่อไปนี้ค่ะ

 

 

“เปิดโอกาสในการเรียนรู้”

 

การไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว แล้วเปิดพื้นที่ให้ตัวเองได้เรียนรู้พัฒนาในด้านต่างๆ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ประโยชน์จากการฟัง บางครั้งบางหน หลายคนอาจลังเลที่จะใช้ประโยชน์นี้ในการเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะรู้สึกราวกับว่าตนเองดีพอ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ส่งผลให้เกิดการปิดกั้น ไม่รับฟัง พลอยทำให้ขาดโอกาสในการใช้ฟังให้เกิดประโยชน์สุดสูง

 

“เปิดใจให้ลดอคติ”

 

ภายหลังจากการเปิดโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากการฟัง การเปิดใจรับข้อมูลใหม่โดยไม่นำเอาอคติหรืออารมณ์ความรู้สึกเข้ามามีผลต่อการประเมินข้อมูลก็มีความสำคัญมากๆ ค่ะ เพราะอคติ ทั้งทางบวกหรือลบ ไม่ว่าจะเป็นความลุ่มหลงศรัทธาหรือความชิงชังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจผู้พูด หรืออารมณ์ความรู้สึกต่าง เช่น ความกลัวเกรงใจหรือความรู้สึกหงุดหงิดขัดใจกับข้อมูลที่แตกต่างไปจากความคิดของตนเอง จะเข้ามามีผลแทรกแซงทำให้คนเราไม่ได้มีโอกาสคิดใคร่ครวญถึงความสมเหตุสมผลของข้อมูลที่ได้รับ ดังที่จะกล่าวถึงในลำดับต่อไปค่ะ

 

“เปิดการคิดไตร่ตรอง”

 

การเปิดสุดท้ายที่ขาดไปเสียไม่ได้คือการเปิดโอกาสทำการคิดไตร่ตรองถึงข้อมูลที่ได้รับ โดยเฉพาะในแง่ของความสมเหตุสมผลว่าสมควรหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด ที่จะเก็บไว้ในคลังการเรียนรู้ของเราเองดังที่กล่าวไปในข้างต้น การที่จะคิดไตร่ตรองใช้วิจารณญาณนี้ได้เต็มที่ต้องอาศัยการเปิดใจไม่ใช้อคติในการฟังค่ะ

 

 

จากการเปิดทั้งสามด้านข้างต้น เราแต่ละคนน่าที่จะพร้อมในการใช้ประโยชน์จากการฟังได้มากขึ้น เพื่อที่จะมาซึ่งการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพัฒนาตนเอง เสริมสร้างการรู้คิดและสติปัญญาดังพระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมาค่ะ

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รักครั้งแรกไม่ยั่งยืนจริงหรือ?

 

คุณยังจำความรักครั้งแรกกันได้หรือไม่?

 

เด็กสาวตากลมโตที่เรียนอยู่ห้องข้าง ๆ ผู้มียิ้มแสนน่ารัก เวลาเดินสวนกัน เราจะต้องแกล้งหันมองไปทางอื่น แต่พอเดินผ่านแล้ว เราก็ต้องเหลียวหลังกลับมาแอบมอง หรือ ชายหนุ่มรุ่นพี่มาดคมเข้ม ที่เราแอบปลื้ม ฝันว่าสักวันเขาจะมาสนใจเรา ความรักครั้งแรกสำหรับบางคนก็อาจเป็นการแอบชอบอยู่ฝ่ายเดียว แต่สำหรับบางคนเมล็ดพันธุ์ความรักนี้ก็ผลิดอกออกผล

 

อย่างไรก็ดีความรักครั้งแรกมักถูกมองว่า ไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้นเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เป็นความรักของเด็ก ๆ ขาดเหตุผล ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อสมัยเรายังเด็ก ผู้ใหญ่มักจะสอนให้เราระมัดระวังตัว อย่าจริงจังทุ่มเทกับความรักจนมากเกินไป ระวังจะน้ำตาเช็ดหัวเข่า แม้กระนั้นเราก็ยังคงได้ยินได้ฟังเรื่องราวของคู่รักที่พบรักกันครั้งแรกและประคับประคอง ดูแลรักษาความรักนั้นจนได้แต่งงานอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 

เหตุใดความรักครั้งแรกของบางคนจึงร้างลา ในขณะที่บางคนสามารถรักษาความรักครั้งแรกนั้นไว้ได้ แท้จริงแล้วความรักครั้งแรกไม่ยั่งยืนจริงหรือ? เพื่อตอบคำถามนี้เราต้องทำความรู้จักความรักกันก่อน

 

 

ความรักคืออะไร?


 

เมื่อเราถามว่าความรักคืออะไร เรามักได้ยินคำนิยามหลากหลายแบบ นักจิตวิทยาได้พยายามวิเคราะห์ว่าความรักนั้นคืออะไร แม้จะยังไม่มีคำนิยามที่แน่ชัด แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าความรักนั้นเป็นมากกว่าความเป็นเพื่อนและมากกว่าความพิศวาสหรือความดึงดูดใจระหว่างเพศ นักจิตวิทยาจึงเสนอว่าความรักนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบใกล้ชิด เนื่องจากความรักเกิดจากการผสมผสานของอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรม ความรักจึงมีได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับส่วนผสมของความรักนั้น ๆ

 

รูปแบบความรักที่มักกล่าวถึงกันมีสองรูปแบบใหญ่ แบบแรกคือความรักแบบเสน่หา เป็นความรักที่ประกอบไปด้วยอารมณ์ที่เข้มข้น รุนแรง ความรักแบบเสน่หานี้มักเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว การหลงรักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นความรู้สึกที่เอ่อล้นขึ้นมา และรุนแรงจนควบคุมความรู้สึกนั้นไม่อยู่ ความรักแบบนี้มีอารมณ์เป็นส่วนผสมหลัก โลกทั้งใบจึงกลายเป็นสีชมพู เหมือนตัวเราจะล่องลอยไปในความรัก ทุกสิ่งดูสดใสและมีชีวิตชีวา แต่ในขณะเดียวกันอารมณ์ที่เป็นใหญ่ก็มักทำให้มองสิ่งต่าง ๆ ไม่ตรงตามความเป็นจริง ใช้เหตุผลตัดสินใจน้อยลง และมักไม่เชื่อว่าความรักนี้จะสิ้นสุดลง เมื่อผิดหวัง อารมณ์เสียใจที่รุนแรงจึงตามมา อย่างไรก็ตามความเสน่หานี้ก็เป็นสิ่งที่เหมือนตัวชูรสให้ความรักสดใสอยู่เสมอ

 

แบบที่สองคือความรักแบบมิตรภาพผูกพัน ความรักแบบนี้แตกต่างออกไปจากความรักแบบเสน่หา ความรักแบบมิตรภาพผูกพันเกิดจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างลึกซึ้งระหว่างคนสองคน คู่รักแบบมิตรภาพผูกพันมีสิ่งที่คล้ายคลึงกันหลายอย่าง คอยดูแลใส่ใจอีกฝ่ายหนึ่ง และแสดงออกถึงความชอบและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ความรักแบบนี้จึงไม่หวือหวา รุนแรง แตกต่างจากความรักที่เรามักพบเห็นตามภาพยนตร์ หรือนิยายรักหวานซึ้ง ในขณะที่ ความรักในแบบเสน่หานั้นชวนให้หลงใหลอยู่ในภวังค์ ความรักแบบมิตรภาพผูกพันนั้นเกิดจากสายใยมิตรภาพและความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ไม่จำเป็นต้องหวานซึ้งเหมือนในละคร แต่คือความรักที่มองตาก็รู้ใจ คือความเป็นเพื่อนที่ลึกซึ้งที่กว่าเพื่อนใด ๆ

 

 

ความรักแบบไหนที่น่าจะยืนยาวกว่ากัน?


 

นักจิตวิทยาเชื่อว่าความรักแบบมิตรภาพผูกพันจะเป็นความรักที่ยั่งยืนกว่า เพราะเป็นความรักที่มีส่วนประกอบของการคิด การใช้เหตุผลมากกว่าความรักแบบเสน่หา เรามักพบเห็นอยู่เสมอว่าความรักครั้งแรกเป็นความรักแบบเสน่หา ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล มักเกิดขึ้นจากความพึงตาต้องใจและความใกล้ชิดมากกว่าความสนิทสนมและเข้ากันได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะสรุปได้เลยหรือไม่ว่าความรักครั้งแรกนั้นไม่ยั่งยืน ก่อนจะตอบคำถามนี้เราคงต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น วัยที่เริ่มมีความรักกันก่อนดีกว่า

 

วัยรุ่นเป็นวัยที่ร่างกายและจิตใจพร้อมและเริ่มสนใจผู้อื่นในเชิงโรแมนติก ความรักครั้งแรกก็จึงมักเริ่มผลิดอกออกผลในช่วงวัยนี้ เมื่อสรีระและจิตใจก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ความใกล้ชิดและความดึงดูดใจทางเพศก็ทำให้คนสองคนเริ่มอยากทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องความรักผ่านสื่อ ผ่านเรื่องเล่า ผ่านบทเพลง วัยรุ่นจึงเริ่มสนใจความรักและความสัมพันธ์มากขึ้น เมื่อประสบพบกับโอกาสอันเหมาะสม ความใกล้ชิดก็จะนำมาให้คนสองคนมารู้จักกัน เริ่มศึกษาซึ่งกันและกัน ดึงดูดใจซึ่งกันและกัน และพัฒนาความสัมพันธ์

 

วัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มสนใจเรื่องความรัก ความรักครั้งแรกก็มักเกิดขึ้นในวัยนี้ และที่สำคัญความรักที่เกิดขึ้นในวัยนี้ก็มักถูกมองว่าไม่จีรังยั่งยืน ยังขาดเหตุผล เพ้อฝันและเปราะบางยิ่งนัก

 

เมื่อวัยรุ่นได้ใกล้ชิดสนิทสนมกัน ความคุ้นเคยก็ย่อมเกิดขึ้น การสร้างความสัมพันธ์จึงตามมา ในช่วงแรกความสัมพันธ์อาจเริ่มจากการกล่าวทักทายตามมารยาท แต่เมื่อคนสองคนได้พบปะกันบ่อยขึ้น ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และมีประสบการณ์ดี ๆ ร่วมกัน เช่น ไปเที่ยวเล่นด้วยกัน ทานอาหารด้วยกัน ติวหนังสือสอบให้กัน คนสองคนก็ยิ่งสนิทสนมกันมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็มองหาสิ่งที่เหมือนกันในตัวของอีกฝ่าย ความชอบพอที่มีให้แก่กันก็เพิ่มพูน ก่อให้เกิดเป็นความรักขึ้นได้ การพัฒนาความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่สำหรับวัยรุ่นนั้นกระบวนการนี้มักจะรวดเร็ว และถ้าอีกฝ่ายมีลักษณะน่าดึงดูดใจ เช่น สวย น่ารัก หล่อ เท่ ใจดี อบอุ่น ชอบช่วยเหลือ การตกหลุมรักก็ยิ่งรวดเร็วขึ้นอีก

 

 

คนสองคนตัดสินใจมีความรักครั้งแรกอย่างไร?


 

เหตุที่วัยรุ่นมักตกหลุมรักได้อย่างรวดเร็วนั้นเป็นเพราะปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ปัจจัยแรก คือ วัยรุ่นแม้เป็นวัยที่เริ่มใช้เหตุผลได้มากขึ้น แต่ก็เป็นวัยที่มีอารมณ์รุนแรง และมักชอบค้นหาท้าทายสิ่งต่าง ๆ อารมณ์ที่วัยรุ่นประสบนั้นจึงเข้มข้นอย่างมาก ความรักแบบเสน่หาจะเกิดขึ้นได้ง่าย ด้วยเหตุที่วัยรุ่นมีโอกาสประสบกับอารมณ์ที่รุนแรงได้ง่าย จึงมีแนวโน้มที่จะตีความอารมณ์เหล่านั้นผิดไป บางครั้งการที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่เราสนใจ สร้างความตื่นเต้น ทำให้หัวใจเต้นแรง กลิ่นหอม ๆ จากเส้นผมของอีกฝ่ายทำให้จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แต่ความรู้สึกเหล่านี้อาจเป็นเพียงความตื่นตัวจากการที่คนสองคนได้อยู่ใกล้ชิดกัน บางครั้งการที่เราได้พบเจอใครสักคนในเวลาที่เรากำลังอารมณ์ดีหรือประสบกับเรื่องดี ๆ ทำให้เราเชื่อมโยงอารมณ์ดีกับคนที่เราพบ แล้วเราก็ตีความผิดว่าความตื่นเต้นหรืออารมณ์ดีที่เกิดขึ้นนั้นคือ “ความรัก”

 

ปัจจัยที่สองมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ประสบการณ์ทางอ้อมจากภาพยนตร์ หนังสือ บทเพลง เนื้อหาในสื่อเหล่านี้มักเกี่ยวกับความรักแบบเสน่หา ความรักแรกพบ วัยรุ่นได้ซึมซับประสบการณ์เหล่านั้นและอยากจะประสบกับความรักเช่นนั้นบ้าง ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้าวัยรุ่นจะมีความฝันจะได้พบกับความรักสักครั้ง และเมื่อมีโอกาส จึงยอมให้ความรักเข้ามาจับจองพื้นที่ในหัวใจ

 

ปัจจัยที่สามเป็นปัจจัยส่วนบุคคล คนแต่ละคนมีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์แตกต่างกันไป ใครที่ชอบปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด ชอบได้รับการเอาใจใส่จากผู้อื่น ชอบมีเพื่อนฝูงมากมาย ก็มีโอกาสจะเริ่มต้นความรักได้ง่ายกว่าคนที่ชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร

 

ในความรักครั้งแรก โดยเฉพาะเมื่อเป็นความรักแบบเสน่หา คู่รักย่อมรู้สึกว่าอีกฝ่ายคือ “คนที่ใช่” ความรักที่ท่วมท้นอยู่ในใจจะทำให้คู่รักทุ่มเทให้กันและกัน โดยเชื่อว่าความรักนี้จะยั่งยืน เราทั้งสองคนจะได้อยู่เป็นคู่กันไปตลอด ความรู้สึกดังกล่าวอาจฟังดูเหมือนความรักในนิยายหวานซึ้ง ที่พระเอกนางเอกฝ่าฝันความรักไปด้วยกัน แต่ความรู้สึกดังกล่าวเปรียนเสมือนดาบสองคม เมื่อความรักแบบเสน่หาเข้มข้นมาก คู่รักมักเชื่อเกินจริงว่าความรักของตัวเองจะยั่งยืน มั่นคง และไม่พิจารณากันและกันให้ถี่ถ้วน คู่รักมักจะคิดว่าตนและคู่ของตนมีอะไรที่คล้ายกันหลายอย่าง มองเห็นเฉพาะข้อดีของอีกฝ่าย และละเลยที่จะพิจารณาข้อเสียของกันและกัน

 

 

แล้วความรักนั้นจะยั่งยืนหรือไม่?


 

เป็นธรรมดาของโลกที่ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่และก็ดับไป อารมณ์ความรักแบบเสน่หานั้นก็มีวันเสื่อมคลาย จากความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้พบหน้า เริ่มเปลี่ยนเป็นความคุ้นเคย จากอารมณ์วาบหวามเร้าใจที่ได้เมื่ออยู่ชิดใกล้ กลายเป็นความอบอุ่นสบายใจ และในขณะเดียวกันคู่รักก็เริ่มปรับระดับความใกล้ชิดให้เหมาะสมเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและบทบาทอื่น ๆ ด้วย ในจุดนี้เองที่คู่รักจะเริ่มใช้สติ ใช้ความคิดมากขึ้นกับความรัก

 

สิ่งที่เกิดขึ้นมากในความรักครั้งแรกคือ คู่รักใช้อารมณ์ในความรักมากเกิดไปจนมองข้ามเรื่องสำคัญไปหลายประการ เช่น เราทั้งสองคนชอบอะไรเหมือนกันหรือไม่ มีเส้นทางชีวิตแบบเดียวกันหรือไม่ สามารถยอมรับข้อเสียของอีกฝ่ายได้ตลอดไปจริงหรือ นิสัยขี้ออดอ้อนที่เรามองดูว่าน่ารักจะกลายเป็นน่ารำคาญในเวลาต่อมา นอกจากนี้ความรักแบบเสน่หาจะเรียกร้องให้คนสองคนใช้เวลาด้วยกันอย่างมาก แต่วัยรุ่นที่กำลังเริ่มต้นชีวิตมีภาระหน้าที่และความฝันอีกหลากหลายรอคอยอยู่ เมื่อถึงจุดนี้แล้วความขัดแย้งก็เริ่มแสดงตัวชัดเจนขึ้น เรื่องที่เคยยอมให้กันในวันที่ความรักความเสน่หาบังตา อาจกลายเป็นเรื่องสุดแสนจะเหลือทนเมื่อสติกลับคืนมา

 

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งจากนิสัยที่เข้ากันไม่ได้ ความฝันที่ไม่ตรงกัน ภาระหน้าที่ที่ต้องกระทำ หรือความจืดจางของความเสน่หา สิ่งที่คู่รักมือใหม่ต้องประสบก็คือ การทะเลาะเบาะแว้ง การประชดประชัน การค่อนแขวะ การง้องอน โดยเชื่อว่าการกระทำเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีเลย ความไร้ประสบการณ์ในความรักและการแก้ปัญหาจึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความรักครั้งแรกไปไม่ถึงฝั่งฝัน อย่างไรก็ดี ยังมีคู่รักอีกหลายคู่ที่สามารถประคับประคองความรักไปจนตลอดรอดฝั่ง

 

 

ทำอย่างไรจึงรักษาความรักครั้งแรกไว้ได้?


 

ความรักครั้งแรกมักเป็นความทรงจำอันหอมหวาน ชุ่มชื่นหัวใจ ทำให้โลกดูสดใส แต่เราพบว่าความด้อยประสบการณ์และการใช้อารมณ์มากเกินไปในความรัก ทำให้ความสัมพันธ์นั้นไม่ยั่งยืนตามที่วาดฝันไว้ ในความรักครั้งแรก หลายคู่ต้องประสบกับความขัดแย้ง บางคู่พบว่าอีกฝ่ายมีลักษณะนิสัยที่เข้ากันไม่ได้หลายอย่าง บางคู่มีความรักไปตามอารมณ์นำพา พอรักจืดจางจึงปันไปใจหาความตื่นเต้นกับคนรักใหม่เมื่อความรักดำเนินมาใกล้ถึงจุดแตกหัก คู่รักมือใหม่มักไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม แทนที่จะร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ กลับใช้อารมณ์แก้ปัญหา ต้องการจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายชนะในการโต้เถียง คู่รักจึงทำลายความสัมพันธ์นั้นไปด้วยตัวเอง ความรักที่จบลงในลักษณะนี้จะขาดความเข้าใจ การยอมรับ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ความรักที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความใกล้ชิดสนิทสนม ความเข้าใจ และความเหมือนซึ่งกันและกัน มักไม่สามารถผ่านพ้นอุปสรรคไปได้

 

แม้กระนั้น คู่รักหลายคู่ก็สามารถประคับประคองความรักให้ผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ ถ้าหากความรักครั้งแรกที่เกิดขึ้นเป็นความรักแบบมิตรภาพผูกพัน ก็จะประกอบไปด้วยความคล้ายคลึงระหว่างคนรัก เช่น ชอบสิ่งใดเหมือน ๆ กัน มีค่านิยม แนวคิดคล้าย ๆ กัน ใช้ชีวิตคล้าย ๆ กัน ความรักจึงเกิดขึ้นจากการค่อย ๆ พิจารณาไตร่ตรองซึ่งกันและกัน จนพบว่าอีกฝ่ายสามารถเป็นคู่ของตนได้ ความรักจึงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่อารมณ์เพียงชั่วแล่น

 

สำหรับคู่ที่ความรักแบบเสน่หา เมื่ออำนาจของอารมณ์ลดทอนลง ต่างฝ่ายต่างก็พิจารณาซึ่งกันและกันมากขึ้น เรื่องใดที่ทำให้อีกฝ่ายขัดเคืองใจก็ลดละเลิกไปเสีย ค่อย ๆ เริ่มปรับตัวเข้าหากัน พื้นฐานที่สำคัญคือคู่รักจะต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์ในระดับหนึ่ง และต้องมีความผูกพันซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องนำพาไปสู่การหาทางออกเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้

 

นักจิตวิทยาได้เสนอไว้ว่า สิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นคือ

 

  1. ต้องหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย
  2. แสดงความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน
  3. เปิดเผยต่อกัน กล้าเผชิญปัญหา และ
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำหรือการกระทำให้อีกฝ่ายเจ็บช้ำ

 

แม้ความรักแบบมิตรภาพผูกพันจะเป็นความรักที่ยืนยาว แต่นานวันเข้าความรักก็อาจจืดจางลงไปได้ เคล็ดลับหนึ่งในการรักษาความรักให้ไม่จืดจาง คือ การสร้างความแปลกใหม่และอารมณ์ทางบวกให้กับชีวิตคู่ ในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนย่อมต้องมีสุขมีทุกข์ปนกันไป แต่เมื่อคนสองคนมาอยู่ด้วยกันแล้วก็ควรนำแต่สิ่งดีๆมามอบให้แก่กัน คอยสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้กับทุกวัน ลองหากิจกรรมใหม่ ๆ ทำร่วมกัน ลองไปเที่ยวในที่ที่ไม่เคยไป ลองเปลี่ยนร้านอาหาร หรือช่วยกันจัดบ้านใหม่ สร้างบรรยากาศแห่งความสุขอยู่สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรักแรกหรือรักครั้งไหนจะได้หวานชื่นอยู่เสมอ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช: The King RAMA-IX, The Great man from Jungian Perspective of Archetypes

 

นับจากวันนี้อีกเพียงไม่กี่วัน จะเป็นวาระสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของคนไทย เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเราต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 

เหตุการณ์ในครั้งนี้ นำมาซึ่งความโศกเศร้าอาดูรอย่างแสนสาหัสให้กับคนไทยทั้งชาติ หากแต่ท่ามกลางความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่นี้ หากเราได้มีโอกาสพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่าพระจริยวัตรหรือบุคลิกลักษณะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ตลอดช่วงระยะเวลาที่พระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น เป็นแบบอย่างแห่งความเป็นมหาบุรุษอย่างแท้จริง สะท้อนถึงความเป็นสุภาพบุรุษหรือมหาบุรุษตามแนวคิดภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำ (Archetypes) ของ Carl Jung จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังจะขออธิบายในบทความนี้

 

กลุ่มนักจิตวิทยาผู้ศึกษาและสืบสานต่อแนวคิดบุคลิกภาพของ Carl Jung ได้อธิบายว่า ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำ (Archetypes) เป็นโครงสร้างทางจิตใจที่มีในทุกคน โดยภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำนี้จะส่งผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล โดยนักจิตวิทยากลุ่ม Jungian พยายามอธิบายภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำของบุคคลที่สมควรยกย่องแห่งการเป็นสุภาพบุรุษไว้ดังนี้

 

กลุ่มนักจิตวิทยาผู้ศึกษาและสืบสานต่อแนวคิดบุคลิกภาพของ Carl Jung เชื่อว่าทุกคนมีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำ (Archetypes) ที่สำคัญ 4 แบบได้แก่

 

  1. ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งกษัตริย์ (King)
  2. ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักรบ (Warrior)
  3. ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักมายากล-นักปราชญ์ (Magician-Philosopher)
  4. ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งผู้เข้าถึงสุนทรียะ (Lover)

 

โดยนักจิตวิทยากลุ่ม Jungian เชื่อว่า หากบุคคลมีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำทั้ง 4 สมบูรณ์และสมดุล บุคคลจะพัฒนาบุคลิกภาพแห่งการเป็นมหาบุรุษ

 

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำกษัตริย์ (King)

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งกษัตริย์ (King) เป็นภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการดูแล อุปถัมภ์ ค้ำชูและเกื้อกูลให้บุคคลในอาณาจักรของตนนั้นดำเนินชีวิตด้วยความผาสุก เมื่อภาพสัญลักษณ์แห่งกษัตริย์ถ่ายทอดสู่บุคคล บุคคลที่มีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งกษัตริย์ (King) ที่สมบูรณ์จะกระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อผู้อื่น เช่น บุคคลจะดูแลคนในครอบครัว คนรอบข้าง ด้วยความรักและความเมตตา โดยมีเป้าหมายให้บุคคลรอบข้างมีความสุข หากบุคคลเป็นหัวหน้าองค์กร บุคคลก็จะดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยการใช้อำนาจผ่านเมตตาธรรม ไม่ใช้อำนาจแห่งตนทำร้ายผู้อื่น ไม่ละเลยที่จะดูผู้คนรอบข้าง

 

หากจะพิจารณาพระจริยวัตรและพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา-ภูมิพลอดุลยตลอดช่วงระยะเวลาการครองราชย์ ๗๐ ปีนั้น สะท้อนให้เห็นภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งกษัตริย์ของพระองค์นั้น สมบูรณ์อย่างแท้จริงด้วยโครงการตามแนวพระราชดำริน้อยใหญ่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการให้พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ได้ดำรงชีวิตอย่างผาสุก รวมถึงการปกครองประเทศไทย ด้วยหลักธรรมในการทรงงานอย่างหลักทศพิธราชธรรม เพื่อประโยชน์สุขของเหล่าอาณาประชาราษฎร ตลอดจนการดูแลพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ด้วยความรักเมตตา ทั้งหมดสะท้อนถึงการที่พระองค์ มีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งกษัตริย์ที่สมบูรณ์

 

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักรบ (Warrior)

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักรบ (Warrior) เป็นภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การมีวินัยในการฝึกฝนความแข็งแกร่งแห่งตนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การยึดมั่นในคุณธรรม การอดทนต่อสิ่งยั่วยุที่เกิดจากสิ่งรอบตัว ไม่รังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า บุคคลที่มีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักรบที่สมบูรณ์จะแสดงออกถึงการฝึกฝนพัฒนาตนเองทั้งร่างกายและจิตใจให้เข็มแข็ง การยืนหยัดในการกระทำแห่งตนตามอุดมการณ์และความถูกต้องเพื่อความยุติธรรม

 

หากพิจารณาพระจริยวัตรและการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับการดูแลพระวรกายรอบด้านทั้งภายนอกและภายใน ตั้งแต่การออกกำลังพระวรกาย ไปถึงทรงฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ผลแห่งการฝึกฝนตนเองให้เข้มแข็งทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลทำให้พระองค์สามารถตั้งอยู่ในความเพียร การมีวิริยะอุตสาหะด้วยพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ที่จะเผยแพร่หลักการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่ย่อท้อ

 

ที่กล่าวมานี้เป็นพียงตัวอย่างที่สะท้อนภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักรบที่สมบูรณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักมายากล – นักปราชญ์ (Magician-Philosopher)

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักมายากล-นักปราชญ์ (Magician-Philosopher) เป็นภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงปัญญาและแสงสว่างแห่งปัญญา-ความรู้ จนเกิดความเข้าใจธรรมชาติและสิ่งรอบตัว เมื่อภาพสัญลักษณ์แห่งนักมายากล-นักปราชญ์ ถ่ายทอดสู่บุคคลอย่างเหมาะสม บุคคลจะแสดงออกถึงลักษณะการใฝ่หาความรู้ การศึกษาสิ่งต่าง ๆ จนแตกฉาน การมีจิตใจที่เปิดกว้างกับองค์ความรู้ที่มีอยู่รอบตัวอย่างไม่จำกัดเสมอ ๆ พร้อมนำปัญญา-ความรู้นั้นมาสร้างสรรค์เพื่อผู้อื่นและไม่ใช้ความรู้ของตนนั้นบิดเบือนผู้อื่นหรือหาประโยชน์เข้าตน

 

ที่ผ่านมาสังคมไทยและสังคมโลกได้เห็นถึงพระอัจริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา-ภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะปราชญ์ของโลก โครงการตามแนวพระราชดำริทุกโครงการ พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยในการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและชาญฉลาดด้วยหลักการทางวิชาการชั้นสูง ตกผลึกองค์ความรู้-ปัญญาแห่งปราชญ์ของพระองค์ จนเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริต่าง ๆ เช่น โครงการพระราชดำริฝนหลวง โครงการพระราชดำริแกล้งดิน และโครงการพระราชดำริไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์จากพืชของไทย เป็นต้น โครงการพระราชดำริทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อคนไทยเป็นที่ตั้ง ซึ่งพระอัจริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโลกนี้ สะท้อนถึงบุคคลที่มีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักมายากล-นักปราชญ์ที่สมบูรณ์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งแห่งผู้เข้าถึงสุนทรียะ (Lover)

 

เป็นภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความสามารถของบุคคลที่เข้าถึงความงามตามธรรมชาติและสุนทรียศาสตร์อย่างสมดุล บุคคลที่มีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งผู้เข้าถึงสุนทรียะ (Lover) จะเข้าถึงความงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และน้อมนอบต่อธรรมชาติ เนื่องด้วยตนไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นเองได้ บุคคลจะมีความสุขที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และดื่มด่ำความสุขจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้อย่างเหมาะสม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นเลิศทางด้านงานศิลปะในหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านดนตรี ด้านการถ่ายภาพ ด้านจิตรกรรม ด้านวรรณกรรม และหัตถกรรม ทรงได้รับการถวายการยกย่องสดุดีพระเกียรติคุณ ในฐานะ “อัครศิลปิน” จนเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลกในพระปรีชาสามารถ และสะท้อนถึงความละเอียดอ่อนแห่งพระองค์ที่เข้าถึงสุนทรียศาสตร์อย่างสมดุล อันสะท้อนถึงภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งผู้เข้าถึงสุนทรียะที่สมบูรณ์

 

 

กลุ่มนักจิตวิทยาผู้ศึกษาและสืบสานต่อแนวคิดบุคลิกภาพของ Carl Jung เชื่อว่าหากบุคคลสามารถบูรณาการภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำ (Archetypes) ทั้ง 4 ได้อย่างสมบูรณ์ บุคลิกภาพของบุคคลจะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษ จากที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีคุณลักษณะแห่งมหาบุรุษครบทุกประการตามแนวคิดบุคลิกภาพของ Carl Jung อย่างแท้จริง

 

นับจากวันที่ 26 ตุลาคม 2560 นี้ไป พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพก็คงเสร็จสิ้น หากสิ่งที่ประจักษ์ในใจพสกนิกรชาวไทยคงเป็นภาพจริยวัตรอันงดงาม หลักการทรงงานและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริน้อยใหญ่ เปรียบเสมือนรอยทางแห่งการเป็นมหาบุรุษที่ให้ไว้กับปวงชนชาวไทยได้เรียนรู้และน้อมนำคำสอนมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อความสุขที่ยิ่งยืนต่อไป

 

 

รายการอ้างอิง

 

Tallman, B. (2003). The organization leader as king, warrior, magician and lover: How Jungian archetypes affect the way men lead organizations. Organization Development Journal, 21(3), 19-30.

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

อาจารย์ ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี และ นางสาววรกัญ รัตนพันธ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จิตวิทยาพัฒนาการ

“จิตวิทยาพัฒนาการ” คือ ศาสตร์แห่งการเข้าใจมนุษย์ โดยใช้องค์ความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์มาช่วยอธิบาย

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการมองว่า พัฒนาการมนุษย์นี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกที่ชีวิตเกิดขึ้น ก็คือตั้งแต่เมื่อเซลล์จากทางพ่อ และรังไข่จากทางแม่ผสมกันสำเร็จเป็นเซลล์แรกของชีวิตใหม่ ดังนั้น พัฒนาการของชีวิตหนึ่งชีวิต จะเริ่มดูกันตั้งแต่ภายในครรภ์มารดาเลยว่า มีความสมบูรณ์ในระดับโครโมโซมหรือไม่ ระดับฮอร์โมนเพศอย่างไรที่ทำให้เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย มลภาวะ หรือสารพิษ อะไรบ้างที่ไม่เป็นผลดีต่อเด็กในครรภ์ เป็นต้น เพื่อให้เข้าใจพัฒนาการในช่วงนี้ ต้องอาศัยศาสตร์ทางชีววิทยาเข้ามาช่วยอธิบาย ประกอบกับดูปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย จากนั้นเมื่อทารกเกิด นักวิจัยทางจิตวิทยาพัฒนาการจะทำการศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจ และอธิบายพัฒนาการทารก ในช่วง 0 – 2 ปี เช่นว่าบุคลิกภาพที่ติดตัวมากับทารกแรกเกิดแต่ละคน มีทั้งแบบที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย บางคนก็ปรับตัวได้ปานกลาง บางคนก็ปรับตัวได้ยาก พ่อแม่บางคนจึงอาจรู้สึกท้อใจว่าบุคลิกภาพนี้จะติดตัวเด็กคนหนึ่งไปตลอดชีวิต

 

จากผลการวิจัยที่ติดตามพัฒนาการระยะยาวของทารกไปจนถึงวัยรุ่น พบว่า เด็กทารกจะเติบโตมาเป็นอย่างไรนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพแรกเกิดเท่าใดนัก เพราะการเลี้ยงดูและประสบการณ์ที่พ่อแม่สร้างกับลูก ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้เช่นกัน จึงไม่จำเป็นว่าเด็กทารกที่เลี้ยงยาก จะเติบโตมาเป็นเด็กที่มีพัฒนาการไม่ดีเสมอไป หากทารกได้รับความรัก ความใส่ใจ และการตอบสนองที่เหมาะสม ก็จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสร้างสรรค์สังคมได้ นอกจากนี้ นักจิตวิทยาพัฒนาการยังสนใจว่าทารกมีความสามารถในการรับรู้และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร เช่น ผลจากการศึกษาที่พบว่า ทารกสามารถแยกแยะเสียงของแม่กับเสียงของคนแปลกหน้าได้ หรือการศึกษาที่พบว่าทารกชอบมองภาพที่มีลายเส้น มากกว่าภาพพื้น ๆ เป็นต้น

 

Baby doing his first steps

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการยังศึกษากระบวนการที่แม่มีปฎิสัมพันธ์กับลูกทารกเพื่อช่วยส่งเสริมความรู้สึกผูกพันของแม่และลูก และให้ลูกทารกรู้สึกปลอดภัย ซึ่งความรู้สึกอุ่นใจจากการที่มีคนดูแลนี้ ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญขั้นแรกของทารก ดังนั้น เด็กจะมีพัฒนาการใน 2 ขวบปีแรกได้ดีเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความรัก ความเอาใจใส่ที่คนในครอบครัวมอบให้ลูกน้อย

 

จะเห็นได้ว่า จิตวิทยาพัฒนาการเป็นศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจ และอธิบายพัฒนาการมนุษย์ ผลที่ได้การศึกษาและวิจัยในศาสตร์นี้ จะช่วยให้เรารู้ว่า พัฒนาการเช่นไรที่ถือว่าเป็นปกติ และอย่างไรที่ถือว่าผิดปกติ การที่เรารู้ว่าพัฒนาการที่ปกติเป็นเช่นไร จะช่วยเป็นแนวทางให้เราเลี้ยงดูลูกหลานและปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างเป็นปกติสุข และการที่เรารู้ว่าพัฒนาการที่ไม่ปกติเป็นเช่นไร จะช่วยไม่ให้เราไปเลี้ยงดูลูกหรือแนะนำคนอื่น ๆ แบบผิด ๆ หรือหากผิดพลาดไปแล้ว ก็จะต้องศึกษารายละเอียดของความผิดปกตินั้น เพื่อแก้ไขปัญหานั้นต่อไป

 

มีการศึกษามากมาย ที่ช่วยอธิบายว่าทารก 0 – 2 ปีแรก ควรมีพัฒนาการเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางให้พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูได้เข้าใจว่า เด็กวัยทารกนี้ทำอะไรได้บ้าง มีความสามารถทางกาย ทางการเรียนรู้ และทางอารมณ์สังคมเป็นเช่นไร และในช่วงนี้เราจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้ทารกมีพัฒนาการไปในทางที่ดี นักจิตวิทยาพัฒนาการจึงมักศึกษาพัฒนาการที่เป็นปกติ ที่สามารถใช้อธิบายประชากรส่วนใหญ่ได้ เช่น พัฒนาการทางร่างกาย นักจิตวิทยาพัฒนาการ ก็จะศึกษารวบรวมข้อมูลพัฒนาการจนสรุปออกมาเป็นตารางได้ว่า เด็กโดยทั่วไปจะลุกนั่งทรงตัวหลังตรงโดยไม่ต้องมีพนักพิงได้ตอนช่วงอายุกี่เดือน ตั้งไข่ได้ตอนช่วงอายุกี่เดือน เป็นต้น โดยช่วงอายุที่แสดงก็จะเป็นช่วงกว้าง ๆ เพราะเด็กแต่ละคนอาจเริ่มมีพัฒนาการเร็วช้าต่างกัน แต่ตราบใดที่เด็กมีพัฒนาการในช่วงนี้ ก็ยังถือว่ามีพัฒนาการที่เป็นปกติ

 

ประเด็นวิจัยที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กก็คือ การศึกษาว่าสินค้าและโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการต่าง ๆ ที่บอกว่า ช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการเร็วกว่าเด็กคนอื่น ๆ ที่อายุเท่ากันได้นั้น สามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาการได้เร็วขึ้นจริงตามที่โฆษณาไว้หรือไม่? …เพื่อตอบประเด็นนี้ นักจิตวิทยาพัฒนาการก็จะทำการศึกษาเชิงทดลอง เปรียบเทียบกลุ่มเด็กที่ได้ใช้สินค้าหรือที่ได้รับโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการ กับเด็กวัยเดียวกันที่ไม่ได้ใช้สินค้าหรือโปรแกรมใด ๆ ผลจากการทดลองรูปแบบนี้ก็จะช่วยทำไขข้อข้องใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ โดยรวมแล้ว สินค้าหรือโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการสำหรับเด็กบางอย่าง ก็ช่วยส่งเสริมความสามารถของเด็กได้จริง แต่บางอย่างก็เป็นอวดอ้างที่เกินจริง

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการบางกลุ่มตั้งคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กคนหนึ่งพูดได้เร็ว ท่องคำศัพท์ หรือบวกลบคูณหารได้ก่อนใคร ๆ ทั้ง ๆ ที่ถ้าเราให้เวลาเล่นหรือทำกิจกรรมกับเด็ก ให้ความรักความอบอุ่น เด็กก็จะเติบโตมาได้ มีพัฒนาการเป็นปกติตามธรรมชาติอยู่แล้ว บางทีความสุขของเด็ก อาจไม่ได้อยู่ที่ทำสิ่งใดได้เร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน แต่เป็นที่การได้เล่นกับพ่อแม่และคนในครอบครัวก็เป็นได้ แต่ถ้าประเมินดูแล้วว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้า อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องนึง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ต้องไปขอคำปรึกษาจากนักกระตุ้นพัฒนาการ

“นักกระตุ้นพัฒนาการ” ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งของนักจิตวิทยาพัฒนาการเช่นกัน นักพัฒนาการกลุ่มนี้ไม่เน้นการทำวิจัย หรือเน้นการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย แต่เน้นในทางปฏิบัติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางพัฒนาการให้แก่เด็ก และช่วยแนะนำการดูแลลูกให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้

นอกจากนี้ผู้ที่เรียนจบทางจิตวิทยาพัฒนาการหลายคน ก็ได้เอาความรู้ ไปประยุกต์ในสถาบันส่งเสริมพัฒนาการเด็กของตน หรือสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ช่วยให้เด็กมีกิจกรรมวันหยุด และได้ประสบการณ์ความรู้ใหม่ ๆ ไปด้วย

 

 

การส่งเสริมหรือกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กมีทักษะหรือความสามารถเร็วกว่าคนอื่นนั้นจำเป็นหรือไม่?

 

คำตอบก็คือ ถ้าเป็นความสามารถที่เด็กจะเรียนรู้ และทำได้อยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาที่สมควร เช่น การพูด การเดิน การวิ่งก็อาจจะไม่ต้องไปกระตุ้นพัฒนาการอะไรมาก แต่ถ้าเด็กมีภาวะที่ผิดปกติ เป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น อายุ 3 ขวบกว่าแล้วแต่ยังพูดเพียงไม่กี่คำ เป็นต้น ก็จะต้องพาเด็กไปพบกับผู้เชี่ยวชาญทางการกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อประเมินพัฒนาการทางการพูดของเด็ก และวางแผนช่วยกระตุ้นพัฒนาการ

 

 

พัฒนาการของเด็กวัยเรียน

 

พัฒนาการของเด็กวัยเรียนที่สำคัญประการหนึ่งคือ การปรับตัวให้เข้ากับสังคมนอกบ้าน การพิสูจน์ตนเองให้พ่อแม่เห็นว่าตนสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และการพยายามทำความรู้จักกับตนเอง ว่าตนเองถนัดอะไร ทำอะไรได้ดีหรือแย่กว่าเพื่อนในชั้นเรียนบ้าง เด็กจะเริ่มมีสังคมเพื่อน เริ่มมีความสนใจกิจกรรมนอกชั้นเรียนต่าง ๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ หรือกีฬาเป็นต้น

 

จากการวิจัยเรื่องการเลี้ยงดูและการปรับตัวของเด็กวัยเรียน ก็จะแนะให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ทำหน้าที่คอยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กรู้จักตนเอง ยิ่งเด็กโตมากขึ้น ก็จะเริ่มรับรู้ตนเองในทางที่เป็นจริงมากขึ้น เช่น รู้ว่าตนเก่งภาษาอังกฤษ แต่อ่อนวิชาเลข ชอบวิชาพละ แต่ไม่ค่อยถนัดวิชาศิลปะ เป็นต้น เด็กโตจะมีการรู้คุณค่าในตนเองแบบแยกเป็นเรื่อง ๆ ได้ เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่า แม้ว่าตนจะทำได้ไม่ดีในทุกเรื่อง แต่ก็มีบางเรื่องที่ทำได้ดี ซึ่งถ้าเด็กคิดได้เช่นนี้ ก็จะมีความภาคภูมิใจในตนเอง สามารถรู้จุดเด่น เอาจุดเด่นมาเป็นคุณค่าในตนเองได้ และมีความสุขกับสิ่งที่ตนชอบทำ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องไปกดดันลูกให้เก่งและดีในทุกเรื่องก็ได้ ให้เค้าทำอะไรได้ดีซักวิชานึง แล้วสอนให้เค้าพยายามให้เต็มที่กับวิชาที่ไม่ถนัด ค่อย ๆ สอนเค้าให้เห็นคุณค่าของทุกวิชาที่เรียน ว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตของเค้า บอกให้เค้าลองตั้งใจเรียนวิชาที่ไม่ชอบให้ถึงที่สุดก่อน เด็กบางคนไม่ชอบเรียนเลข แต่ฝันอยากเป็นวิศวกร เราก็ต้องช่วยอธิบายว่าวิชาเลขเกี่ยวข้องกับการเป็นวิศวกรอย่างไร เด็กหลาย ๆ คน พอได้ลองตั้งใจกับวิชาที่ไม่ชอบแล้ว กลับทำได้ดี กลายเป็นอีกวิชาหนึ่งที่ชื่นชอบก็ได้ ต้องอย่าลืมว่า เด็กแต่ละคนทำความเข้าใจต่อเรื่องต่าง ๆ ช้าเร็วไม่เท่ากัน เด็กที่เข้าใจความรู้บางเรื่องช้า ไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง แต่เพราะยังไม่พร้อม หากได้รับการสนับสนุนและความเข้าใจจากพ่อแม่และครู เด็กคนนั้นก็จะพัฒนาตนเองได้ เด็กวัยนี้โตพอที่จะเข้าใจหลักการของเหตุผล พ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้ด้วยเหตุผล ขอเพียงเราดูแลเขาด้วยความเข้าใจ และให้ความรัก ก็ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุดแล้ว

 

มนุษย์เราทุกคนล้วนมีพัฒนาการ เกิด เรียนรู้ ปรับตัว เติบโต พัฒนาการจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา และอยู่กับเราตั้งแต่เด็กจนโต ดังนั้นถ้าเราเข้าใจพัฒนาการมนุษย์ เราก็จะเข้าใจตนอง และเข้าใจคนอื่น และสามารถนำความรู้ไปช่วยคนอื่น ๆ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้

หลายคนเข้าใจว่าจิตวิทยาพัฒนาการเน้นที่พัฒนาการเด็ก และสอนเรื่องการเลี้ยงลูกเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว ยังมีนักจิตวิทยาพัฒนาการอีกมากมายที่ไม่ได้สนใจพัฒนาการเด็ก แต่สนใจพัฒนาการวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัยก็มี

 

 

พัฒนาการของวัยรุ่น

 

สำหรับวัยรุ่นแล้ว การมีกลุ่มเพื่อน และได้รับการยอมรับจากเพื่อนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ วัยรุ่นจะใช้เวลาอยู่กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่เสียอีก แม้เมื่อกลับบ้านแล้ว ก็ยังแชทคุยกับเพื่อนอยู่ตลอด

 

พ่อแม่ของลูกวัยรุ่นต้องเข้าใจธรรมชาตินี้ให้มาก ๆ พยายามคอยดูอยู่ห่าง ๆ ให้สิทธิลูกวัยรุ่นในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญเราต้องทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยที่จะคุยกับเราในเวลาที่เขามีปัญหา คนวัยนี้ ถ้าเราไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้เขาได้ เขาอาจจะไปได้รับคำแนะนำที่ผิด ๆ จากคนอื่นนอกครอบครัว

 

นอกจากเรื่องเพื่อน ก็อาจจะมีเรื่องความสัมพันธ์ด้วย วัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มคิดเรื่องการมีแฟน หรือการดูแลให้ตัวเองดูดีเพื่อให้เป็นที่สนใจต่อคนรอบข้าง วัยรุ่นมักมีความเชื่อว่าตนเองเป็นจุดสนใจของผู้อื่น เช่น ถ้ามีสิว หรือผมยุ่ง หรือใส่เสื้อตัวที่เคยใส่มาก่อน คนจะจำได้

 

ถ้าอยากให้ลูกวัยรุ่นไว้ใจเรา คุยกับเรา ในฐานะพ่อแม่เราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น หากลูกแต่งตัวหรือทำตัวไม่เหมาะสม เราก็สามารถตักเตือนได้ด้วยความรักความหวังดี แต่ไม่ควรไปต่อว่าให้ลูกรู้สึกอาย หรือไม่เป็นตัวของตัวเอง วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาความชอบความสนใจของตนเอง เพียงเราคอยดูอยู่ห่าง ๆ ให้เขาได้ลองทำ ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยที่ยังอยู่ในกรอบที่เราวางไว้ ขอเพียงเราสื่อให้ลูกวัยรุ่นรู้ว่า เขามีเราเป็นที่พึ่งคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ เมื่อมีปัญหาเขาก็จะเข้ามาหาเรา มาเล่าให้เราฟังเอง จะเห็นว่าการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่นนี้เป็นเรื่องสำคัญ คิดเสียว่า ลูกวัยรุ่นกำลังฝึกการเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ และเรามีหน้าที่เป็นครูผู้ฝึกชั้นดี มีอะไรที่เราเคยเรียนรู้ เคยผ่านมาก่อน ก็เอามาเล่ามาเตือนให้ลูกฟังได้

 

พ่อแม่บางคนมองว่าลูกของเรา ต่อให้โตยังไงอายุเท่าไหร่ เราก็ยังเห็นเขาเป็นเด็กอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าอยากให้ลูกไว้ใจ และสนิทกับเราไปนาน ๆ เราก็ต้องค่อย ๆ ปรับบทบาทให้เข้ากับวัยของลูกที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะอีกไม่นาน เขาก็จะต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ที่ต้องดูแลตนเอง และรับผิดชอบตนเองอย่างเต็มตัว

 

 

พัฒนาการวัยผู้ใหญ่

 

นักจิตวิทยาพัฒนาการแบ่งพัฒนาการช่วงวัยผู้ใหญ่ออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ ผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้ใหญ่ตอนกลาง และผู้ใหญ่ตอนปลาย

 

Medium shot happy people together

 

เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว เราต่างคนก็จะมีทางชีวิตที่แตกต่างกันไป บางคนมีสถานการณ์ในชีวิต เช่น ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว หรือมีลูกเร็ว ตั้งแต่อายุ 18 ก็จะทำให้คนผู้นั้นได้ชื่อว่ามีความเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าคนอื่น ๆ ในช่วงอายุเดียวกัน ในขณะที่บางคน ฐานะทางบ้านดี ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว พ่อแม่สามารถส่งเสียค่าเล่าเรียนได้สูงที่สุดเท่าที่คนคนนั้นจะทำได้ คนบางคนในกลุ่มนี้ บางทีอายุ 30 กว่าแล้ว แต่ยังไม่มีอาชีพแน่นอน ยังเรียนต่อไปเรื่อย ๆ เพราะยังหาความสนใจของตนเองไม่เจอ จะเห็นได้ว่าอายุ ไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่จะบ่งชี้ความเป็นผู้ใหญ่ แต่ละคนจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นมาสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นสั้นยาวไม่เท่ากัน

 

ช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น ถือเป็นก้าวแรกของเราในการมีหน้าที่รับผิดชอบของตนเอง มีรายได้เป็นของตนเอง มีหน้าที่การงานหรืออาชีพที่แน่นอน หรือเริ่มใช้ชีวิตคู่ มีครอบครัวมีลูก ช่วงวัยนี้ก็จะเน้นสร้างความก้าวหน้าในงานที่ตนทำ พยายามพิสูจน์ความสามารถของตนเองให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานยอมรับ ในขณะเดียวกันก็สร้างฐานะ เพื่อความมั่นคงในชีวิตของตนเองและครอบครัว

 

พอมาถึงวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง ก็จะเริ่มมีลูกโตขึ้น เรียนมัธยมหรือเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ส่วนหน้าที่การงานก็จะเริ่มมั่นคงอยู่ตัว ได้เป็นหัวหน้างานที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้น ส่วนใหญ่มีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในองค์กร หรือหน่วยงานที่ทำอยู่ ถือเป็นรุ่นพี่ ที่ต้องทำหน้าที่สอนงานให้รุ่นน้อง ผู้ใหญ่วัยกลางคนในที่ทำงานมักเริ่มรู้สึกว่าอีกไม่กี่ปี ตนก็ต้องเกษียณอายุออกไป ดังนั้นเพื่อให้รู้สึกว่าตนได้ทิ้งอะไรที่เป็นประโยชน์ก่อนไป ก็มักจะแชร์ประสบการณ์ในงานให้คนรุ่นหลัง

 

ผู้ใหญ่ตอนกลางถือเป็นวัยแห่งการให้ เพราะถือว่าต้องดูแลใส่ใจความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวอีกถึง 2 รุ่นด้วยกัน คือลูกวัยรุ่น และพ่อแม่ผู้สูงวัยของตน เป็นวัยที่พอตนประสบความสำเร็จด้านการเงินการงานในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มคิดถึงการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น เช่นงานอาสา งานบุญ การช่วยเหลือสังคม เป็นต้น

 

มาถึงวัยหลังเกษียณที่มักจะกำหนดด้วยอายุ 60 ปี ก็จะถือว่าเป็นวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย เป็นวัยที่หลาย ๆ คน มักเชื่อมโยงคนวัยนี้เข้ากับความเชื่องช้า ความเสื่อมถอย แต่แท้จริงแล้ว มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้สูงวัยแต่ละคน มีระดับความเสื่อมถอยช้าเร็วแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาสุขภาพและการออกกำลังกายที่สะสมมาตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น การออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะคล้ายกับการสะสมบุญ เพราะหากเราเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ก็จะไปมีผลส่งให้เราเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรงในวันข้างหน้า

 

นอกจากนี้ เนื่องจากแนวโน้มการดูแลสุขภาพของคนเราในยุคปัจจุบัน เรามีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวมากขึ้น และยังคงความสามารถในการเรียนรู้ และการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป เราคงจะตัดสินคนจากแค่อายุ ไม่ได้อีกแล้ว คุณค่าของคน ไม่ควรอยู่ที่ว่าเขามีอายุเท่าไหร่ แต่สามารถทำอะไรให้กับสังคมได้บ้าง

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/

จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

…ทำไมคุณถึงทำงาน?…

 

หลายท่านคงรีบตอบอย่างไม่ลังเลว่า ก็ทำงานเพื่อเงินน่ะสิ ซึ่งก็อาจไม่จริงเสมอไป แต่ละคนอาจมองหางานที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น บางท่านอาจจะบอกว่าต้องการทำงานที่ให้อิสระในการควบคุมและกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ในขณะที่บางท่านอาจจะบอกว่าชอบงานที่ทำให้เรามีอิทธิพลต่อผู้อื่น มีอำนาจ

 

จากผลการสำรวจ National Research Council survey (1999) พบว่า ร้อยละ 70 ของคนอเมริกันตอบว่ายังคงทำงานต่อไป แม้ว่าจะถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ จนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้สบาย ๆ โดยไม่ต้องทำงาน นั่นก็สะท้อนว่าคนเราทำงานเพื่อสิ่งอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงแค่เงิน ซึ่งสิ่งที่นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การสนใจศึกษาก็คือ อะไรที่ทำให้คนเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีสุขภาวะที่ดีในการทำงาน

 

“จิตวิทยาอุตสหกรรมและองค์การ” หรือ I/O Psychology จัดเป็นสาขาวิชาหนึ่งของศาสตร์จิตวิทยา จิตวิทยาเป็นการศึกษาพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตของมนุษย์อย่างเป็นระบบด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ อาจจะทำโดยการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม การสังเกตพฤติกรรม หรือปรากฎการณ์ตามสภาพแวดล้อมจริง เพื่อทำความเข้าใจ ทำนาย หรือจัดกระทำปรากฎการณ์ต่าง ๆ จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การเป็นการประยุกต์แนวคิดและทฤษฎีทางจิตวิทยา มาอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ในบริบทการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งเสริมสุขภาวะขององค์การและคนในองค์การ

 

 

นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ไม่เพียงแต่สนใจแค่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างความพึงพอใจในการทำงานเท่านั้น นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยังคงสนใจปัจจัยภายนอกที่ทำงาน ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของพนักงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านครอบครัว บุคลิกภาพ และสถานการณ์ทางสังคมอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น หากคุณมีลูกเล็ก แล้ววันนี้ก่อนที่คุณจะออกจากบ้านไปทำงาน ลูกของคุณร้องไห้โยเยเพราะ ไข้ขึ้น ไม่สบาย สิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของคุณก็ได้ ส่วนปัจจัยทางบุคลิกภาพนั้นก็ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานเช่นเดียวกัน เช่น คนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดตัว (extroverted person) กับคนที่มีบุคลิกภาพปิดตัว (introverted person) มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการทำงานที่แตกต่างกัน คนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดตัวมักชอบสังคมและแสดงความคิดเห็น ก็มักชอบทำงานเป็นทีม พรีเซนต์งาน หรือออกสื่อ มากกว่าคนที่บุคลิกภาพแบบปิดตัว นอกจากนี้ คนที่บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ สูง มักมีอารมณ์ทางบวกมากกว่าคนที่บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ต่ำ

 

นอกจากนี้นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยังสนใจปัจจัยด้านสถานการณ์อีกด้วย เช่น อุทกภัยน้ำท่วม การชุมนุมประท้วงทางการเมือง เป็นต้น ล้วนส่งผลต่อความรู้สึกและพฤติกรรมของคนจำนวนมาก ในหลาย ๆ องค์การ ในการที่ต้องพยายามบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การ และทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การต่างต้องคำนึงถึงปัจจัยมากมายดังกล่าว ที่อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการการทำงานของคนในองค์การ

 

ในขณะเดียวกัน นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยังสนใจว่า งานจะส่งผลอย่างไรต่อพฤติกรรมอื่นที่นอกเหนือจากการทำงาน (nonwork behaviors) อีกด้วย หลาย ๆ คนคงเคยรู้สึกเครียดหากหัวหน้าขอให้เอางานกลับไปทำต่อที่บ้าน แน่นอนเรามักรู้สึกหงุดหงิดและวิตกกังวล จนส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นแฟน พี่น้อง หรือลูก ๆ อีกทั้งงานยังมีอิทธิพลต่อสุขภายกาย และสุขภาพจิตใจของเราอย่างไม่ต้องสงสัย หลาย ๆ ครั้งที่เรามักรู้สึกเครียดกับงานจนล้มป่วย หรือรู้สึกอารมณ์ขุ่นมัว หากบางคนติดอยู่กับอารมณ์ลบ ๆ นาน ๆ มีการคิดวนเวียนกับความเครียดคงค้างเดิม ๆ จากงาน เช่น ทะเลาะกับหัวหน้า หัวหน้าไม่เคยรับฟังความคิดเห็น แล้วยังให้งานล้นอีก บางรายถึงขั้นเครียดจากงานจนเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีอาการทางจิตอื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ

 

จะเห็นได้ว่านักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การสนใจทั้งอิทธิพลของชีวิตต่องาน และอิทธิพลของงานต่อชีวิตของพนักงาน เนื่องจากงานและชีวิตนอกเหนือจากงานต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน

 

ดังนั้นการที่เราจะพยายามเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมการทำงาน เพื่อที่จะจูงใจคนให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน หรือรักษาระดับความพึงพอใจในการทำงานนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยภายนอกงานของพนักงานและควรตระหนักถึงผลกระทบของงานต่อสุขภาวะของพนักงานอีกด้วย การส่งเสริมการพัฒนาโปรแกรมการจัดการกับความเครียด และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของพนักงาน จัดเป็นงานที่สำคัญของนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

 

 

Millennial group of young businesspeople asia businessman and businesswoman celebrate giving five after dealing feeling happy and signing contract or agreement at meeting room in small modern office.

 

 

 

สาขาย่อยของจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

 

1. จิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial psychology) หรือด้าน “I”

 

บางครั้งก็เรียกว่า จิตวิทยาบุคลากร (Personnel Psychology) สาขานี้จะมุ่งเน้นกิจกรรมของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Human Resource) ตั้งแต่การสรรหา คัดเลือกบุคลากร การประเมินผลการปฏิบัติงาน ไปจนถึงการเลื่อนขั้นพนักงาน การจัดอบรมพนักงาน และการยุติการว่าจ้าง โดยรวมแล้ว ด้าน I หรือจิตวิทยาอุตสาหกรรมมุ่งสนใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล พนักงานแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร แล้วความแตกต่างนั้นทำนายหรืออธิบายพฤติกรรมการทำงานอย่างไร ความแตกต่างระหว่างบุคคลในที่นี้อาจจะหมายถึงความฉลาดทางปัญญา ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับความสามารถในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งการที่สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างบุคคลได้นั้น จะเป็นประโยชน์ในการคัดเลือกพนักงานให้เหมาะสมกับตำแหน่ง เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

 

หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า นักจิตวิทยาบุคลากรนั้นแตกต่างอย่างไรกับคนที่เรียนด้าน Human resource management (HRM) นักจิตวิทยาบุคลากรนั้นจะเป็นการประยุกต์งานวิจัย แนวคิดทางจิตวิทยาไปใช้กับการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์การ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการทำงาน ซึ่งเรื่องที่สนใจจะมีความคาบเกี่ยวกับ HRM แต่นักจิตวิทยาบุคลากรนั้นจะไม่เน้นเรื่อง กฎหมายแรงงาน การบริหารเงินชดเชย (compensation) ต่าง ๆ นักจิตวิทยาบุคลากรจะเน้นการวิเคราะห์งาน เพื่อกำหนดว่างานแต่ละตำแหน่งหรือประเภทควรจะมีหน้าที่อะไรบ้าง และคนที่จะมาทำงานนั้น ต้องมีความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะอะไรบ้าง หากพนักงานมีความสามารถไม่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ ต้องจัดอบรมทักษะ หรือความสามารถด้านใด โดยใช้ความรู้ทางจิตวิทยาและการวิจัยอย่างเป็นระบบ

 

 

2. จิตวิทยาองค์การ (Organization Psychology) หรือ ด้าน “O”

 

นักจิตวิทยาองค์การนั้นจะสนใจด้านอารมณ์และการจูงใจในการทำงาน เช่น จะทำอย่างไรเพื่อจูงใจพนักงานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ส่งผลต่อเจตคติในการทำงานของพนักงาน เจตคติในการทำงานในที่นี้ เช่น ความพึงพอใจในการทำงาน ความผูกพันกับองค์การ อยากอยู่ต่อกับองค์การไปนาน ๆ เป็นต้น นอกจากนี้นักจิตวิทยาองค์การยังสนใจเรื่องภาวะผู้นำ ผู้นำแบบใดจึงจะเหมาะกับสถานการณ์แต่ละอย่าง เช่น ในสถานการณ์ที่มีความคลุมเครือ พนักงานไม่รู้ว่าจะทำงานให้ลุล่วงได้อย่างไร อาจต้องอาศัยผู้นำที่มาคอยกำกับชี้แจงโครงสร้างของงานให้ชัดเจน ในขณะที่บางสถานการณ์ที่วิกฤต บริษัทกำลังจะเจ๊ง ยอดขายตกจนพนักงานเสียขวัญ อาจต้องการผู้นำแบบมีวิสัยทัศน์และมีทักษะในการพูด มาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พนักงาน และชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายที่สำคัญขององค์การ พร้อมกลยุกต์ในการไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ๆ

 

ในปัจจุบันทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่า พนักงานในหลาย ๆ องค์การ ต่างเผชิญกับระดับความเครียดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากข้อเรียกร้องจากงานค่อนข้างสูงเพื่อตอบสนองต่อสภาวะการแข่งขันที่สูง นักจิตวิทยาองค์การต่างให้ความสำคัญเรื่องการลดความเครียดของพนักงาน ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจส่งผลให้พนักงานเกิดความเครียด เช่น โครงสร้างงานไม่ชัดเจน บทบาทการทำงานกำกวม ความขัดแย้งระหว่างบุคคลในที่ทำงาน ปัญหาครอบครัว หรือมีบุคลิกภาพที่หวั่นไหวหรือไวต่อสิ่งเร้าง่าย นอกจากนี้ นักจิตวิทยาองค์การยังสนใจเรื่องกระบวนการกลุ่ม คนเราจะทำงานกับคนอื่นเป็นทีมต้องทำอย่างไร มีปัจจัยอะไรต้องคำนึงถึงบ้าง และการพัฒนาองค์การ

 

Group of asia young creative people in smart casual wear discussing business celebrate giving five after dealing feeling happy and signing contract or agreement in office. coworker teamwork concept.

 

โดยสรุปจะเห็นได้ว่าหน้าที่หลัก ๆ ของนักจิตวิทยา I/O นั้นคือ การพยายามที่จะสร้างการงานที่ดีแก่พนักงาน ว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานนั้นรู้สึกมีความสุขในการทำงาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยจับคู่คนให้เหมาะกับงาน การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การลดความกำกวมและความขัดแย้งในบทบาทการทำงาน ทั้งนี้ ทำได้ด้วยการวิเคราะห์งานอย่างเป็นระบบ และอาศัยงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่ออธิบายพฤติกรรมการทำงาน

 

 


 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/