ข่าวและกิจกรรม

รูปแบบการเผชิญปัญหา – Coping strategies

 

เมื่อปัญหาเกิดขึ้น และไม่ว่าจะได้รับการประเมินว่าเป็นความท้าทาย ความเจ็บปวด การสูญเสีย หรือการคุกคาม บุคคลก็ต้องจัดการกับปัญหาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การที่บุคคลดำเนินการกับสถานการณ์มักถูกเรียกว่าการเผชิญปัญหา (coping) โดย Lazarus และ Folkman (1984) ได้แบ่งรูปแบบของการเผชิญปัญหาออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

 

 

 

 

 

การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นที่ปัญหา (problem-focused coping)

 

เป็นกลวิธีการเผชิญปัญหาที่ใช้เพื่อพยายามแก้ปัญหา อย่างการทำความเข้าใจปัญหาให้ชัดเจน พิจารณาว่าปัญหาคืออะไร สาเหตุอยู่ที่ไหน การมองหาทางแก้ปัญหาต่างๆ พิจารณาน้ำหนักของข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก และเลือกสิ่งที่จะทำไปปฏิบัติในการแก้ปัญหา โดยกลวิธีที่ใช้การมุ่งแก้ไขปรับเปลี่ยนที่สถานการณ์ หรือพฤติกรรมของผู้อื่น หรือมุ่งแก้ที่ตนเอง เช่น พิจารณาทบทวน ปรับเปลี่ยนทัศนคติและความต้องการของตนใหม่ พัฒนาทักษะที่ใช้ในการเผชิญปัญหา เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม การขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ ครู เพื่อน ผู้ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ และการทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดโดยวิธีที่ไม่เป็นโทษด้วย เช่น การฟังเพลง เล่นดนตรี พักผ่อน ออกกำลังกาย (เพิ่มทรัพยากรให้กับตัวเองในการแก้ปัญหา)

 

การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นที่อารมณ์ (emotion-focused coping)

 

เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางความคิดเพื่อจัดการกับอารมณ์ทางลบทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความโกรธ ความเศร้า ความสงสัยไม่แน่ใจ คับข้องใจ ความวิตกกังวล ความไม่สบายใจต่างๆ กลวิธีที่ใช้อาจเป็นการระบายออกทางอารมณ์ การแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมเพื่อได้รับกำลังใจ การนำเอาความเชื่อทางศาสนามาจัดการกับปัญหา อย่างการสวดมนต์ขอพรพระ การคิดหวังว่าเหตุการณ์จะกลับร้ายกลายดี จะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น รวมถึงกลวิธีอย่างการหลีกเลี่ยง การลด การหนีห่าง การเลือกสนใจรับรู้ การเปรียบเทียบเชิงบวกหรือคิดถึงคนที่โชคร้ายกว่าตนเองเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น และการยึดคุณค่าด้านบวกจากเหตุการณ์ด้านลบ

 

 

โดยทั่วไปบุคคลจะใช้การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหาในกรณีที่เห็นว่าตนสามารถจะจัดการกับปัญหาได้ และมักจะใช้การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับอารมณ์เมื่อเห็นว่าปัญหานั้นเกินกว่าจะแก้ไขได้ ซึ่งการเผชิญปัญหาที่ให้ผลอย่างดีที่สุด คือการใช้กลวิธีทั้ง 2 แบบให้ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่การจัดการกับปัญหาได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

 

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการเผชิญปัญหา


 

อย่างไรก็ดี วิธีการเผชิญปัญหาของแต่ละบุคคลก็มีความแตกต่างกันออกไป และจะประสบความสำเร็จในการเผชิญปัญหามากน้อยเพียงใด ซึ่งอยู่กับแหล่งสนับสนุนของบุคคลนั้น ซึ่งมีทั้งที่เป็นแหล่งภายในของบุคคลและแหล่งภายนอกของบุคคล ได้แก่

 

 

1. ภาวะสุขภาพและพละกำลัง

บุคคลที่มีสุขภาพดี มีพละกำลังแข็งแรง ย่อมมีความเข้มแข็งและทนต่อภาวะความเครียดได้มากกว่าบุคคลที่เจ็บป่วย เหนื่อยล้า หรืออยู่ในภาวะอ่อนเพลีย

 

2. ความเชื่อในทางบวก

มุมมองต่อตนเองในทางบวกเป็นแหล่งทรัพยากรทางจิตใจที่สำคัญอย่างมากในการเผชิญปัญหา โดยเป็นรากฐานของความหวังและการสนับสนุนความสามารถในการเผชิญปัญหา ทั้งนี้ บุคคลที่มีความเชื่อในความสามารถของตน หรือเชื่ออำนาจภายในตน มักจะใช้กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นที่ปัญหา ส่วนบุคคลที่เชื่ออำนาจภายนอกตนมักจะใช้วิธีเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นอารมณ์

 

3. ทักษะในการแก้ปัญหา

ประกอบด้วยความสามารถในการต้นหาข้อมูล การวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อระบุปัญหาสำหรับการสร้างทางเลือกในการลงมือจัดการปัญหา การชั่งน้ำหนักของแต่ละทางเลือกในการจัดการปัญหา และการเลือกดำเนินการตามแผนการที่เหมาะสม

 

4. ทักษะด้านสังคม

ความสามารถที่จะติดต่อสื่อสารและการปฏิบัติตนกับผู้อื่นอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทักษะทางสังคมนั้นช่วยการแก้ไขปัญหาในการร่วมมือกับผู้อื่น เพิ่มแนวโน้มของการเข้ามาร่วมมือหรือสนับสนุน และทำให้สามารถควบคุมการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้มากยิ่งขึ้น

 

5. การสนับสนุนทางสังคม

การมีบุคคลที่ให้การสนับสนุนทางอารมณ์ ให้ข้อมูลความรู้ หรือให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม

 

6. แหล่งทรัพยากรทางด้านวัตถุ

การมีเงินทอง สิ่งของ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงความสามารถที่จะใช้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยให้เข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย การรักษาพยาบาล การเงิน และตัวผู้เชี่ยวชาญได้มากขึ้น

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

แววนภา โกศลดิลก. (2556). ประสบการณ์ทางจิตใจของวัยรุ่นที่ปรับตัวได้จากครอบครัวที่มีความขัดแย้งสูง [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42681

 

เปรมพร มั่นเสมอ. (2545). การปรับตัว กลวิธีการเผชิญปัญหา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/10263

 

 

เมื่อลูกวัยรุ่นมีแฟน ชวนพ่อแม่มองข้อดีต่อพัฒนาการและการเป็นพื้นที่ปลอดภัย

 

คงปฏิเสธได้ยากว่าความรักของลูกวัยรุ่นนำพามาซึ่งความเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย การรักษาความสมดุลในความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่อื่น ๆ และเผชิญกับความรู้สึกผิดหวัง ยิ่งถ้าบ้านไหนพบว่าแฟนของลูกไม่ตรงใจความเป็นห่วงอาจยิ่งเท่าทวีคูณ อย่างไรก็ตาม การเลือกและจัดการความสัมพันธ์โรแมนติกเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่สำคัญในช่วงวัยรุ่น ซึ่งช่วยให้ลูกสร้างความเป็นตัวเอง ฝึกทักษะชีวิต และเตรียมพร้อมสู่ความเป็นผู้ใหญ่ บทความนี้จะชวนพ่อแม่เรียนรู้ที่จะเปิดใจ เห็นประโยชน์ของการสนับสนุนลูก และสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกที่จะส่งผลดีทั้งในปัจจุบันและอนาคตค่ะ

 

 

ความรักเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ


 

เมื่อพูดว่าสิ่งใดเป็น “พัฒนาการมนุษย์” แปลว่าสิ่งนั้น “ต้องเกิดขึ้น” เมื่อถึงเวลาที่สมควร เช่น เมื่อทารกเข้าสู่ขวบปีที่สอง เราจะได้เห็นกลไกของความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) เริ่มทำงาน (และไม่น่าแปลกใจที่วัยนี้จะวิ่งหนีแม่ตอนถูกป้อนข้าว) เพราะธรรมชาติได้ตั้งโปรแกรมให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหว สำรวจและคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และสมองที่ทำงานได้อย่างว่องไวและซับซ้อน เด็กที่ได้รับการสนับสนุนให้เบ่งบานเป็นตัวเองจึงได้รับผลในทางบวก คือ กล้าตัดสินใจ ไม่กลัวผิด เริ่มใหม่ได้เสมอ ในทางกลับกันการไม่สนับสนุนให้เด็กได้มี autonomy แม้จะไม่ตั้งใจก็ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กได้ เด็กที่ไม่มี autonomy จะไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวทำผิด กลัวถูกดุ ดูเผิน ๆ พ่อแม่อาจดีใจที่ลูกไม่เคยมีปากเสียง ยอมตามคำสั่ง แต่เมื่อเขาต้องไปตัดสินใจคนเดียวในโลก ภายในใจเขาอาจเต็มไปด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจและวิตกกังวล

 

การมีความรักแบบโรแมนติกเองก็เป็นหนึ่งในพัฒนาการปกติของมนุษย์ที่เข้าสู่วัยหนุ่มสาว เมื่อเด็กน้อยของเราเติบโตเป็นวัยรุ่น เขาจะแยกตัวเป็นอิสระจากพ่อแม่ (independence) และมีความรัก นี่เป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดไว้เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลตัวเอง และสร้างครอบครัวในวัยผู้ใหญ่สืบเนื่องต่อไปเป็นวงจร ดังนั้นการมีความรักแบบโรแมนติกจึงเป็นกระแสของธรรมชาติที่ต้านทานได้ยาก หากไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติก็อาจปิดกั้นลูกจากทักษะชีวิตในเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ การประเมินสถานการณ์ทางความสัมพันธ์ และการจัดการอารมณ์ใหม่ ๆ ได้

 

วัยรุ่นที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นอิสระ มีแนวโน้มจะค้นพบอัตลักษณ์ (identity) ของตัวเองได้ไว ซึ่งทำให้เขาเข้าใจว่าตัวเองคือใคร ต้องการอะไร มีความชอบแบบไหน มีงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนว่าความรักแบบโรแมนติกช่วยส่งเสริมการค้นพบอัตลักษณ์ของวัยรุ่นได้ เพราะวัยรุ่นจะได้สำรวจและทดสอบค่านิยมที่ตัวเองมี จัดการความขัดแย้ง เรียนรู้การสื่อสาร การสร้างขอบเขตในความสัมพันธ์ และการสร้างสมดุลระหว่างการมีอิสระให้ตนเองและความผูกพันทางอารมณ์ (Gómez-López และคณะ, 2019)

 

ถึงตรงนี้ อาจจะพอเห็นภาพคร่าว ๆ แล้วว่าโจทย์ยากของผู้เป็นพ่อแม่คือ แม้ความรู้สึกเป็นห่วงจะท่วมท้นเพียงใด แต่หน้าที่ในการสนับสนุนพัฒนาการตามวัยของลูกก็ยังเป็นสิ่งสำคัญไม่ย่อหย่อนไปจากวันแรกที่ลูกลืมตาดูโลก การที่ลูกจะแยกตัวเป็นอิสระและมีความรักแบบโรแมนติกได้อย่างประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพ่อแม่เป็นทัพหลังคอยช่วยช่วยเหลือ การมีพ่อแม่ที่ “เปิดโอกาส” และ “ประคองอยู่เคียงข้าง” ไปพร้อม ๆ กับการสั่งสอน จึงถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าที่ลูกจะหาไม่ได้จากใครอื่น

 

 

ภารกิจหลักของพ่อแม่เมื่อลูกมีแฟน


 

พ่อแม่ที่สร้างสมดุลในการสั่งสอน เปิดโอกาส และประคับประคองอยู่ข้าง ๆ ได้ จะได้รางวัลจากธรรมชาติให้ได้อยู่ใน “พื้นที่แห่งความไว้วางใจ” ของลูก มีส่วนรับรู้ทุกข์สุขและเรื่องราวของลูกเมื่อเขาสำเร็จและล้มเหลวโดยที่ลูกไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตำหนิหรือตัดสิน เพราะรู้สึกว่ายังไง “พ่อแม่ก็เป็นทีมเดียวกับฉัน” ภารกิจสำคัญของพ่อแม่เมื่อลูกมีแฟน จึงไม่ใช่โฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ของลูกกับแฟน แต่โฟกัสที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับลูก เพื่อให้พ่อแม่เป็นบุคคลที่เขาไว้ใจเพียงพอที่จะเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง และเปิดใจพิจารณาคำแนะนำที่พ่อแม่มอบให้ การแสดงออกให้ลูกรู้ว่าเราเป็นทีมเดียวกันมีหัวใจหลักคือการทำให้ลูกรู้สึกเป็นที่รักและปลอดภัย ซึ่งอาจทำได้ผ่านวิธีการหลากหลายและควรทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นเรื่องปกติของครอบครัว

 

  • ระลึกว่าลูกเป็นวัยรุ่นแล้ว

ละทิ้งความเคยชินว่าลูกของเรายังเป็นเด็ก และปรับใจและวิธีการสื่อสารและความคาดหวังให้ตรงกับวัยของลูกสักนิด ทำความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่นที่ไม่ชอบฟังการพูดที่ยืดเยื้อ ซ้ำ เป็นผู้ฟังอยู่ฝ่ายเดียว และปรับวิธีการพูดให้กระชับ พูดครั้งเดียว และเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดตอบ

 

  • สร้างบรรยากาศของการพูดที่ผ่อนคลาย

เรื่องที่ยากควรจะพูดในเวลาที่ทุกคนอารมณ์ดี การพูดเรื่องความสัมพันธ์ของลูกควรจะเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ตั้งใจจนเกินไป คล้ายนึกขึ้นได้จึงขอชวนคุย แต่หากทำให้เป็นเรื่องจริงจัง “ขอคุยด้วยหน่อย” จะกระตุ้นให้ลูกรู้สึกหวั่นใจและอาจปกป้องตัวเองจนไม่ได้ฟังสิ่งที่พ่อแม่อยากจะสื่อ

 

  • ให้ข้อมูลที่จำเป็น

แม้ว่าการเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดสอบทดลองด้วยตัวเองจะเป็นหัวใจของการเติบโต แต่การให้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้ลูกมีพื้นฐานในการใช้วิจารณญาณก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เมื่อมีแฟน พ่อแม่ควรแนะนำให้ลูกสังเกตว่าคู่รักที่ดีควรเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องของการให้เกียรติกันและกัน การสื่อสาร ควบคุมอารมณ์ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจ การแชร์ประสบการณ์ของพ่อแม่ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ได้อีกด้วย

 

  • สื่อสารกับลูกอย่างเปิดกว้าง

เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดถึงความสัมพันธ์ของเขาโดยไม่ต้องกลัวการตัดสิน ควรเลี่ยงคำถามที่แสดงถึงการกล่าวโทษเช่น “ทำไมทำแบบนี้” และเปลี่ยนมาใช้คำถามปลายเปิดแทนเช่น “หนูตัดสินใจยังไง” “เรื่องนี้ทำให้หนูรู้สึกยังไงบ้าง” หรือ “เรื่องนี้ทำให้หนูรู้อะไรมากขึ้นบ้าง” รวมถึงยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างโดยอาจะไม่ต้องตัดสินว่าความคิดเห็นของใครถูกผิด

 

  • ดูแลอารมณ์ของลูก

การรับรู้และแสดงออกว่าเข้าใจอารมณ์ของลูกโดยไม่ตัดสินเป็นการแสดงออกว่าพ่อแม่มีความรักให้อย่างไม่มีเงื่อนไข และเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างดี ปลอบใจเมื่อลูกต้องผ่านเรื่องที่ยากลำบากโดยไม่สั่งสอนและวิจารณ์ ใช้การสะท้อนอารมณ์ เช่น “หนูรู้สึกน้อยใจ ที่เขาไม่ทำตามสัญญา” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความรู้สึกภายในออกมา ในขณะเดียวกันก็ยินดีกับลูกในความสำเร็จหรือเรื่องดี ๆ โดยไม่หยอก แซว หรือทำให้รู้สึกอาย

 

 

แม้ว่าความรักในวัยรุ่นอาจจะทำให้พ่อแม่ต้องวุ่นวายใจอยู่บ้าง แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างดี บทบาทของพ่อแม่ในช่วงเวลานี้คือการเป็นการสร้าง “ฐานที่มั่นคง” ที่ทำให้ลูกมั่นใจว่าจะมีพ่อแม่อยู่เคียงข้างเสมอในทุกช่วงเวลา การสื่อสารอย่างเปิดกว้างและความรักที่ไม่มีเงื่อนไข คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกพร้อมรับมือกับความสัมพันธ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ขอให้พ่อแม่เชื่อมั่นในศักยภาพและความสำคัญของตนเองและลูกและเติบโตทางจิตใจไปพร้อม ๆ กันนะคะ

 

 

 

อ้างอิง

 

Gómez-López, M., Viejo, C., & Ortega-Ruiz, R. (2019). Well-Being and Romantic Relationships: A Systematic Review in Adolescence and Emerging Adulthood. International journal of environmental research and public health, 16(13), 2415. https://doi.org/10.3390/ijerph16132415

 

 

 


 

 

 

บทความโดย

อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

โครงการการฝึกอบรมด้านจิตวิทยา เรื่อง “พื้นฐานและมุมมองทางจิตวิทยาสําหรับการร่วมมือข้ามศาสตร์”

 

เนื่องจากศาสตร์จิตวิทยามีความเกี่ยวเนื่องกับศาสตร์อื่น ๆ ค่อนข้างมาก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ในหลากหลายกรณี ซึ่งที่ผ่านมา ศาสตร์จิตวิทยาได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากผู้ที่ทำงานในศาสตร์อื่น ๆ เพื่อที่จะสร้างสรรค์งานที่ใช้องค์ความรู้ระหว่างศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การผลิตผลงานระหว่างศาสตร์อาจมีอุปสรรคหากผู้ที่ทำงานในศาสตร์อื่น ๆ ขาดมุมมองเชิงกว้างของศาสตร์จิตวิทยาและยังไม่สามารถระบุความต้องการของตนและบทบาทของศาสตร์จิตวิทยาได้อย่างชัดเจน เพื่อให้การบูรณาการระหว่างจิตวิทยาและศาสตร์ต่าง ๆ ได้รับผลลัพธ์ที่น่าสนใจและมีประโยชน์ การอบรมความรู้ที่เปิดมุมมองเชิงกว้างที่สะท้อน “ความร่วมกัน” จากความหลากหลายของศาสตร์จิตวิทยา จะช่วยให้ผู้ที่ทำงานในศาสตร์อื่น ๆ ระบุความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยระยะเวลาที่จำกัด (6 ชั่วโมง) โครงการอบรมจึงตีกรอบให้แคบขึ้น โดยเนื้อหาจะตั้งอยู่บนความพยายามของนักจิตวิทยาและนักวิชาการที่จะ “รวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่ง” (unification of psychology) และได้นำเสนอมุมมองต่าง ๆ ที่ทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาในมุมกว้าง และสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น ๆ ได้อย่างน่าสนใจ

 

 

ชื่อโครงการ

โครงการอบรมทางจิตวิทยา “พื้นฐานและมุมมองทางจิตวิทยาสำหรับการร่วมมือข้ามศาสตร์ (Bridging Disciplines: Incorporate Psychology into Your Endeavor)”

 

 

วิทยากร

รองศาสตราจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

รูปแบบการจัดกิจกรรม

บรรยายความรู้ ระยะเวลา 6 ชั่วโมง

ในวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 เวลา 09.00 – 16.00 น. ในรูปแบบไฮบริด

 

โครงการอบรมนี้เหมาะสำหรับ
  • ผู้ที่มีความต้องการที่จะบูรณาการศาสตร์จิตวิทยาเพื่อการทํางาน/การเรียน/การดําเนินกิจกรรมต่าง ๆ
  • ผู้ที่ทํางานร่วมกับบุคคลในอาชีพด้านจิตวิทยา และ
  • ผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการเห็นภาพรวมของศาสตร์จิตวิทยาด้วยมุมมองที่กระชับ

 

 

ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเกียรติบัตรการเข้าร่วมโครงการจากคณะจิตวิทยา

โดยผู้เข้าร่วมแบบ on-site จะได้รับเกียรติบัตรแบบ Hard copy และผู้เข้าร่วมแบบ online จะได้รับเกียรติบัตรแบบ e-certificate ทางอีเมล

 

 

 

สําหรับผู้ที่เข้าร่วมแบบ On-Site ราคานี้รวมอาหารกลางวัน อาหารว่าง เอกสารประกอบการอบรม และเกียรติบัตรเข้าร่วมโครงการ 

 

 

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน

  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  2. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางอีเมลที่กรอกมาในแบบฟอร์มลงทะเบียน (กรุณาตรวจสอบอีเมลของท่านให้ถูกต้อง)
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี โทร. 02-218-1307 E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

 

 

 


 

 

 

คำอธิบายเกี่ยวกับโครงการอบรมฯ

 

 

จิตวิทยาสำหรับสหวิทยาการ

 

โครงการอบรม “พื้นฐานและมุมมองทางจิตวิทยาสำหรับการร่วมมือข้ามศาสตร์ (Bridging Disciplines: Incorporate Psychology into Your Endeavor)” เหมาะสำหรับ

    1. ผู้ที่ศึกษา/ทำงานอยู่นอกศาสตร์จิตวิทยา แต่ต้องการที่จะสร้างสรรค์งานระหว่างศาสตร์ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบการประยุกต์ใช้จิตวิทยาด้วยตัวเอง หรืออยู่ในรูปแบบการร่วมมือกับบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา
    2. ผู้ที่ศึกษา/ทำงานด้านจิตวิทยา และอาจมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอบทบาทของจิตวิทยาในการสร้างสรรค์งานระหว่างศาสตร์ และ
    3. บุคคลทั่วไปที่สนใจจิตวิทยา และต้องการที่จะเห็น “ภาพรวม” ของศาสตร์ด้วยมุมมองที่กระชับ

 

อุปสรรคสำคัญที่หลายคนสัมผัสได้เมื่อผนวกจิตวิทยาเข้ากับศาสตร์ของตนเองอาจอยู่ที่ความหลากหลายของจิตวิทยา ที่มีสาขา/แขนงจำนวนมาก มีทฤษฎี/แนวคิดจำนวนมาก มีลักษณะทางจิตวิทยาจำนวนมาก และ/หรือ มีเครื่องมือจำนวนมาก จนยากที่จะมั่นใจได้ว่า เมื่อตัดสินใจเลือก “จิตวิทยา” มาใช้แล้ว อย่างน้อยเราไม่ได้ตกหล่น (สิ่งที่จิตวิทยามีอยู่ แต่เราไม่รู้) หรือไม่ได้พิจารณาลักษณะสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ข้างต้น (สิ่งที่จิตวิทยาให้ความสำคัญ แต่เราคิดว่าไม่สำคัญ) อย่างที่ควรจะเป็น

 

ด้วยเหตุนี้ โครงการอบรมนี้จึงประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

    1. ไวยากรณ์ (บางส่วน) ของจิตวิทยา (a [partial] grammar of psychology)
    2. การใช้งานจิตวิทยาผ่านมุมมอง “การรวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่ง” (unification of psychology) และ
    3. จิตวิทยาและการบูรณาการระหว่างศาสตร์

โดยเนื้อหาส่วนแรกจะเป็นการนำเสนอ “โครงสร้างพื้นฐาน” ของจิตวิทยาที่เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่กระจัดกระจาย ซึ่งจะถูกนำมารวมกันในเนื้อหาส่วนที่สอง และเนื้อหาส่วนสุดท้ายจะพูดถึงบทบาทของโครงสร้างพื้นฐานและภาพรวม เพื่อใช้งานจิตวิทยาอย่างเหมาะสมสำหรับการทำงานระหว่างศาสตร์

 

ไวยากรณ์บางส่วนของจิตวิทยาจะพูดถึง “หน่วยโครงสร้าง” (building block) และ “ฟังก์ชั่น” (psychological function) ของลักษณะทางจิตวิทยา ที่จะประกอบไปเป็นลักษณะทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนมากขึ้น เปรียบได้กับไวยากรณ์ทางภาษา ที่อาจมีคำนาม คำกริยา คำคุณศัพท์ ฯลฯ ซึ่งเราจะนำคำเหล่านี้มาร้อยเรียงกันเป็นประโยค ลักษณะทางจิตวิทยาก็เช่นเดียวกัน ที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา เช่น อารมณ์เป็นหน่วยโครงสร้างทางจิตวิทยา และความฉลาดทางอารมณ์เป็นลักษณะทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอาจมีอารมณ์เป็นหน่วยโครงสร้างหลัก (แน่นอนว่าจะประกอบเข้ากับหน่วยโครงสร้างอื่น ๆ) นอกจากนั้น นักจิตวิทยาบางกลุ่มได้พยายามที่จะจัดหมวดหมู่ฟังก์ชั่นของลักษณะทางจิตวิทยาต่าง ๆ (เพื่อตอบคำถามที่ว่า “เรามีสิ่งนี้ไว้เพื่ออะไร”) เป็น 4 ฟังก์ชั่นใหญ่ ๆ ซึ่งลักษณะทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนอาจมีฟังก์ชั่นมากกว่า 1 ฟังก์ชั่น เช่น อารมณ์อาจมีฟังก์ชั่นหนึ่ง ๆ และความฉลาดทางอารมณ์อาจมีฟังก์ชั่นหลากหลายมากกว่า ในบางครั้ง เราอาจพบว่า ลักษณะทางจิตวิทยาที่มีชื่อเหมือนกัน กลับมีรายละเอียด (นิยาม) ที่ต่างกัน และลักษณะทางจิตวิทยาที่มีชื่อต่างกัน กลับมีรายละเอียดเหมือนกัน (ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า jingle-jangle fallacies [Lawson & Robins, 2021]) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ในศาสตร์จิตวิทยาเนื่องจากนักจิตวิทยาและนักวิชาการอาจมีมุมมองทางทฤษฎีที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจลักษณะทางจิตวิทยาจากหน่วยโครงสร้างและฟังก์ชั่นจึงมีความสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา

 

เนื่องจากศาสตร์จิตวิทยามีความหลากหลาย ในปัจจุบัน สมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริการะบุไว้ 56 สาขา/แขนง เช่น จิตวิทยาทั่วไป [Division 1] จิตวิทยาสุนทรียภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และศิลปะ [Division 10] จิตวิทยาการฟื้นฟูสภาพ [Division 22] ฯลฯ การทำงานร่วมกันภายในศาสตร์และระหว่างศาสตร์จะติดขัดหากมุ่งเป้าไปที่ความเชี่ยวชาญที่อาจไม่ตรงกับความต้องการของงาน การพยายามทำความเข้าใจความเหมือนและความต่างของศาสตร์จิตวิทยา เพื่อก่อให้เกิดการใช้งานจิตวิทยาอย่างตรงเป้า จึงเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการอบรมนี้ และภายในระยะเวลาสั้น ๆ (6 ชั่วโมง) เราจะใช้เนื้อหาจากนักจิตวิทยาและนักวิชาการที่พยายามจะ “รวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่ง” (unification of psychology) ถึงแม้ว่าการรวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่งอาจเป็น “ความท้าทายที่เป็นไปไม่ได้” จากมุมมองของนักจิตวิทยาบางกลุ่ม (เนื่องจากจิตวิทยาสาขา/แขนงต่าง ๆ อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในหลายประเด็น ตั้งแต่มุมมองทางปรัชญา ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ความรู้) และในตอนนี้ก็ยังไม่มีผู้ที่ทำได้สำเร็จ (ความท้าทายนี้มีวารสารทางวิชาการที่เฉพาะเจาะจง เช่น Integrative Psychological and Behavioral Science หรือแม้แต่ Review of General Psychology และ New Ideas of Psychology) แต่ในระหว่างที่นักจิตวิทยาและนักวิชาการร่วมกันเดินทางเพื่อวาดแผนที่ของศาสตร์จิตวิทยา เราก็พอที่จะได้เห็นภาพของศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาพนี้อาจยังไม่สามารถพูดได้ว่า “ถูกต้อง” แต่จะมีประโยชน์อย่างแน่นอน โครงการอบรมนี้จะคัดสรรภาพที่เข้าใจง่ายและมีประโยชน์สำหรับการเริ่มต้นที่จะผนวกจิตวิทยาให้ตรงกับความต้องการระหว่างศาสตร์ที่หลากหลาย

 

สำหรับผู้ที่รู้จักทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาอยู่แล้ว อาจสังเกตได้ว่า ลักษณะทางจิตวิทยาบางลักษณะอาจ ดูเหมือน มีความใกล้เคียงกัน เช่น ความเชื่อในความสามารถของตน (self-efficacy) และมโนทัศน์แห่งตน (self-concept) หรือทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาอาจ ดูเหมือน มีความใกล้เคียงกัน เช่น ความคลาดเคลื่อนในการอนุมานสาเหตุ (fundamental attribution error) และความลำเอียงเข้าข้างตนเอง (self-serving bias) ซึ่งหลัก ๆ ก็เป็นการอนุมานสาเหตุเหมือนกัน เราอาจเห็นความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นเมื่อพิจารณาทฤษฎี/แนวคิดเหล่านี้พร้อมกัน แต่ถ้าเราสามารถวิเคราะห์ลักษณะทางจิตวิทยาและทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาด้วยความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ก็น่าจะช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ก็น่าจะช่วยให้การทำงานระหว่างศาสตร์เป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้นเช่นกัน โครงการอบรมนี้จึงไม่ได้นำเสนอทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยา (สิ่งเหล่านี้หาได้จากโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยาฯ และโครงการอบรมความรู้จากสาขา/แขนงต่าง ๆ) แต่โครงการอบรมนี้จะนำเสนอ “โครงสร้างพื้นฐาน” ทางจิตวิทยา ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของลักษณะทางจิตวิทยาและทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาที่มีอยู่ หากเปรียบได้กับการปรุงอาหาร ทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาก็อาจเหมือนสูตรอาหาร ส่วนโครงสร้างพื้นฐานทางจิตวิทยาก็อาจเหมือนวัตถุดิบและกระบวนการปรุงอาหาร ถ้ารู้แต่สูตรอาหาร การดัดแปลงให้เข้ากับวัตถุประสงค์และบริบทต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้ารู้วัตถุดิบและกระบวนการปรุงอาหารด้วย การดัดแปลงก็อาจทำได้ง่ายกว่า

 

และสุดท้าย เราจะขมวดเนื้อหาทั้งหมดเข้าด้วยกันในส่วนของ “จิตวิทยาและการบูรณาการณ์ระหว่างศาสตร์” โดยจะนำเสนอบทบาทของจิตวิทยาที่อาจแตกต่างกันระหว่างการประยุกต์ใช้ การร่วมมือ และการอำนวยความสะดวก ซึ่งน่าจะทำให้การทำงานระหว่างศาสตร์ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะเน้นที่การใช้งานจิตวิทยาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals) ที่จิตวิทยาอาจมีส่วนร่วมในหลากหลายเป้าหมาย แต่ก็ยากที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ได้หากปราศจากความร่วมมือระหว่างศาสตร์ โครงการอบรมจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 เวลา 9:00-16:00 ที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มีระบบออนไลน์)

 

 

รายการอ้างอิง

 

Lawson, K. M., & Robins, R. W. (2021). Sibling constructs: What are they, why do they matter, and how should you handle them? Personality and Social Psychology Review, 25, 344-366.

 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 38 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬา

 

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณเวณิกา บวรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และคุณกษิดินทร์ บุญขำ บุคลากรคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนันท์ บุญยงมณีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ และคณะผู้บริหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 38 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุม ชั้น 11 อาคารวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมีและสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ

 

 

หลักเกณฑ์ และวิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

 

ประกาศ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

 

 

ด้วย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสรรทุนอุดหนุนการศึกษาสำหรับนิสิตระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต เพื่อดึงดูดผู้สมัครที่มีศักยภาพทางวิชาการและการวิจัยสูงให้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิตของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผลิตผลงานวิชาการและผลงานวิจัยคุณภาพสูงร่วมกับคณาจารย์

 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารคณะจิตวิทยา ครั้งที่ 21/2567 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 จึงกําหนดรายละเอียดการขอรับทุนอุดหนุนการศึกษา ไว้ดังนี้

 

 

1. ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง หลักเกณฑ์ และ วิธีการรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568”

 

 

2. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป

 

 

3. ผู้มีสิทธิ์ขอรับทุน

 

3.1 วุฒิการศึกษา ตรงตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

3.1.1 จบการศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือ

3.1.2 กําลังศึกษาปีสุดท้ายในสาขาวิชาจิตวิทยาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือ

3.1.3 นิสิตปริญญาโทคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สอบวัดคุณสมบัติระดับปริญญาเอกผ่าน และเปลี่ยนระดับเป็นปริญญาเอกภายในปีการศึกษา 2567

 

3.2 มีผลการเรียนสะสมไม่ต่ํากว่า 3.50 ณ วันที่สมัคร และเมื่อสําเร็จการศึกษา

 

3.3 ต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ CU-TEP ตั้งแต่ 75 ขึ้นไป หรือ TOEFL ตั้งแต่ 550 ขึ้น ไป หรือ IELTS ตั้งแต่ 6.5 ขึ้นไป หรือสําเร็จการศึกษาหรือกําลังศึกษาในหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ

 

3.4 นิสิตต้องมีโครงร่างวิทยานิพนธ์ โดยมีจํานวนคํา ไม่น้อยกว่า 1,000-1,500 คํา

 

3.5 นิสิตต้องมีอาจารย์ประจําคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตกลงรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ตามแบบฟอร์ม

 

 

4. ผู้มีสิทธิ์รับทุน

 

4.1 มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 3 และ

4.2 คณะกรรมการบริหารหลักสูตรที่นิสิตสมัครเข้าศึกษาพิจารณาเห็นชอบให้ได้รับทุนนี้ และ

4.3 ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตของคณะจิตวิทยาในปีการศึกษา 2568

 

 

5. เงื่อนไขการรับทุน

 

5.1 นิสิตผู้ได้รับทุนอุดหนุนการศึกษาก่อนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานทางด้านวิชาการหรือวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาของการรับทุน (โดยอาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องใส่ชื่อนิสิตร่วมในการตีพิมพ์บทความทางวิชาการด้วย)

 

5.2 นิสิตผู้ได้รับทุนอุดหนุนการศึกษาหลังสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานทางด้านวิชาการหรือวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา สัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง และต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ หรือได้รับตอบรับให้ตีพิมพ์อย่างน้อย 1 ฉบับ อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 1 ปีหลังวันที่จบการศึกษา โดยผลงานดังกล่าวต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้

 

(1) ผลงานวิจัยตีพิมพ์ต้องได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติอยู่ในฐานข้อมูล ISI/SCOPUS จัดอยู่ในลําดับควอไทล์ที่ 2 หรือเหนือกว่า ตามประกาศฉบับล่าสุดในการจัดลําดับวารสารของ Journal Citation Report – Clarivate Analytics (JCR) หรือ Scimago Journal & country (SJR)

 

(2) ในบทความที่ตีพิมพ์ นิสิตต้องระบุชื่อนิสิตผู้รับทุนเป็นชื่อแรก อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักเป็น corresponding author และระบุสังกัดว่า สังกัดคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

5.3 นิสิตต้องรายงานความก้าวหน้าทางการศึกษา การทําวิทยานิพนธ์ และการทําวิจัย โดยผ่านการพิจารณาจากอาจารย์ที่ปรึกษา ต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ เพื่อพิจารณาการให้ทุนสนับสนุนในภาคการศึกษาถัดไป

 

5.4 นิสิตต้องระบุการได้รับทุนสนับสนุนการศึกษา ในกิตติกรรมประกาศ ดังนี้

 

กิตติกรรมประกาศ ในวิทยานิพนธ์ ระบุดังนี้ “ขอขอบพระคุณคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สําหรับการสนับสนุนทุนการศึกษา อันเป็นประโยชน์และ เป็นส่วนสําคัญที่ช่วยให้การศึกษาวิจัยในครั้งนี้สําเร็จลุล่วงได้ด้วยดี”

 

กิตติกรรมประกาศ ในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการทุกประเภท ระบุดังนี้ “บทความวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง………………………………………….. โดยได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

 

 

6. จํานวนเงินทุน และระยะเวลาการรับทุน

 

6.1 จัดสรรเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาก่อนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ จํานวน 3 ทุน เมื่อนิสิตเข้าศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรละ 1 ทุน โดยจัดสรรให้ไม่เกิน 4 ภาคการศึกษา ดังนี้

    • ค่าธรรมเนียมการศึกษา  ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย)   35,000 บาท
    • ค่าธรรมเนียมพิเศษ       ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย)   50,000 บาท

ผู้ได้รับทุนสามารถลงทะเบียนเรียนในรายวิชาระดับบัณฑิตศึกษาในระหว่างที่กําลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีได้ โดยได้รับการยกเว้นการชําระค่าธรรมเนียมการศึกษาผู้เข้าร่วมฟัง

 

6.2 จัดสรรเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาหลังสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ จํานวน 3 ทุน เมื่อนิสิตสอบผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถยื่นขอรับทุนได้ในภาคการศึกษาถัดไป จากที่ได้รับอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ โดยจัดสรรให้ไม่เกิน 2 ภาคการศึกษา ดังนี้

    • ค่าธรรมเนียมการศึกษา  ภาคการศึกษาละ (ต้น-ปลาย)   35,000 บาท

 

 

7. การระงับทุน

คณะจิตวิทยาจะระงับการให้ทุน ดังนี้

 

7.1 พ้นสถานภาพการเป็นนิสิต

 

7.2 ทุจริตในการสอบหรือคัดลอกผลงานวิชาการ

 

7.3 อยู่ในระหว่างการลาพักการศึกษา

 

7.4 นิสิตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับทุนตามข้อ 5

 

7.5 คณะจิตวิทยา เห็นสมควรให้ระงับทุน

 

 

8. การสมัครขอรับทุน

ให้นิสิตติดต่อฝ่ายวิชาการ คณะจิตวิทยา นับตั้งแต่วันที่ประกาศ ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568

 

 

จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

ประกาศ ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

คณบดีคณะจิตวิทยา

 

 

ประกาศทุน

 

 


 

 

 

ใบสมัครขอรับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีศักยภาพสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – ทุนอุดหนุนการศึกษาก่อนสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์

 

 


 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 47 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันภาษา จุฬาฯ

 

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยบุคลากรคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.จิรดา วุฑฒยากร ผู้อำนวยการสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสครบรอบ 47 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารเปรมบุรฉัตร

 

 

 

 

 

โครงการจิตวิทยา จุฬาฯ “ฮีลใจผู้ประสบภัย”

 

คณะจิตวิทยาเล็งเห็นถึงความสำคัญในช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยและอุบัติเหตุเพลิงไหม้รถบัสโดยสารคณะทัศนศึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต จึงจัดให้มีโครงการจิตวิทยา จุฬาฯ “ฮีลใจผู้ประสบภัย” โดยมีรูปแบบการให้บริการดูแลจิตใจ
เบื้องต้น (Psychological First Aid) ผ่านสายด่วนโทรศัพท์ 02-2180810 ในช่วงวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ) จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นี้ บริการฟรี บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

 

 

ทั้งนี้นิสิตอาสาในโครงการได้ผ่านการอบรมจากคณาจารย์ของศูนย์สุขภาวะทางจิตไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567

 

 

 

ก้าวข้ามความแตกต่าง: เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย (ตอนที่ 2/2)

 


 

 

อ่านตอนที่ 1/2 

 

 


 

 

ตัวอย่างสถานการณ์ช่องว่างระหว่างวัยในบ้านและในที่ทำงาน

 

ในครอบครัวที่มีสมาชิกหลากหลายยุค เช่น ปู่ย่าเป็น Gen Baby Boomers, พ่อแม่เป็น Gen X และลูกหลานเป็น Gen Millennials และ Gen Z ความท้าทายคือการปรับตัวเข้าหากัน เนื่องจากแต่ละรุ่นมีความสนใจ ความชอบ รูปแบบการสื่อสาร และค่านิยมที่ต่างกัน

 

 

 

บริษัทนวัตกรรมชุมชนคนเมือง เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีพนักงานประจำเต็มเวลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่งเรียนจบ และพนักงานบางส่วนที่ทำงานพาร์ทไทม์หลังเกษียณจากงานประจำ เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทได้เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่หลายตัว โดยมุ่งหวังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของชุมชน

 

 

 

หัวใจ 2 ข้อในการ “เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย”

 

ข้อแรก ลดช่องว่างด้วยการสื่อสารที่สร้างสรรค์

  • หลีกเลี่ยงการกระแนะกระแหนหรือแซะกัน : พยายามลดคำพูดที่อาจสร้างบรรยากาศเชิงลบ แทนที่จะวิจารณ์หรือเหน็บแนมกัน
  • เปลี่ยนมุมมองมาเป็นการแบ่งปันและรับฟัง : ส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์ ความคิด และฟังกันอย่างตั้งใจ ให้แต่ละคนมีพื้นที่แสดงออกและเรียนรู้จากกัน

 

ข้อที่สอง เติมเต็มความแตกต่างด้วยกิจกรรมร่วมกัน

  • ทำกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ : หากการพูดคุยกันยังไม่คุ้นเคย ลองหากิจกรรมที่ทำด้วยกัน เช่น เดินเลือกซื้อของ ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร หรือออกกำลังกายร่วมกัน ซึ่งช่วยเชื่อมโยงกันผ่านการทำสิ่งสร้างสรรค์และการลงมือทำไปพร้อมกัน
  • ใช้เวลาให้กันอย่างสม่ำเสมอ : ไม่จำเป็นต้องนาน แต่การใช้เวลาคุณภาพร่วมกันและอัปเดตชีวิตกันสั้นๆ ช่วยให้แต่ละฝ่ายรู้สึกผูกพันต่อกัน
  • สร้างพื้นที่หรือหาเป้าหมายร่วมกัน : ค้นหาสิ่งที่ทุกคนให้คุณค่าร่วมกัน เช่น การทำแปลงผักสวนรวมหลายเจนที่แต่ละวัยสามารถร่วมปลูกและดูแล หรือเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้สมาชิกในบ้านรู้สึกเชื่อมโยงและรับผิดชอบต่อสิ่งเดียวกัน

 

 

ตัวอย่าง การเติมเต็มความแตกต่างในสถานการณ์ช่องว่างระหว่างวัยในบ้านและที่ทำงาน

 

 

 

 

กฎ Platinum 3 ข้อ สำหรับ เตือนใจ เชื่อมใจคนต่างยุคกัน

 

  • ข้อแรก : เปิดใจ – ไม่ว่ารุ่นไหนหรือวัยไหน ทุกคนต่างมีความสามารถและความถนัดในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตน การแก้ปัญหาเป็นหน้าที่ของทุกคน
  • ข้อที่สอง : ปิดช่องว่างระหว่างวัย – ควรมองหาสิ่งที่เรามีร่วมกันเพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมโยงระหว่างกัน
  • ข้อสุดท้าย : หลีกเลี่ยงความคาดหวังเกินจริง – ควรรักษาความสม่ำเสมอในการสื่อสารและการทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่ตั้งความหวังที่สูงเกินไป

 

 

 

 

 

ขอบคุณทุกท่านที่เห็นความสำคัญของ “การลดความแตกต่างและเติมเต็มช่องว่างระหว่างรุ่นวัย” สิ่งนี้จะช่วยลดภาพเหมารวม (stereotypes) ของแต่ละรุ่น ทำให้เราเห็นคุณค่าในความหลากหลาย และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนวิธีการอยู่ร่วมกันในสังคม การเชื่อมโยงนี้ช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางใจ เพิ่มความเข้าใจ รู้ทันโลก รู้จักคนรอบข้าง อีกทั้งเป็นการกระตุ้นความคิด ลดอารมณ์ทางลบ และช่วยรักษาทักษะทางสังคมในทุกช่วงวัย

 

 

 


 

 

บทความโดย

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์
ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา
ประธานแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์
และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก้าวข้ามความแตกต่าง: เติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย (ตอนที่ 1/2)

 

คนแต่ละยุคซึมซับประสบการณ์และค่านิยมทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่ต่างกัน จึงพัฒนามุมมอง แนวคิด และค่านิยมเฉพาะตัวที่สะท้อนยุคสมัยของตนเอง ทำให้พวกเขามีลักษณะและมุมมองร่วมกันมากกว่าที่จะคล้ายคลึงกับคนรุ่นก่อน สิ่งนี้เป็นรากฐานของ “ช่องว่างระหว่างวัย” หรือ generation gap คาร์ล มันไฮม์ (Karl Mannheim) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน เป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยเขาได้พัฒนา “ทฤษฎีรุ่นวัย” (Theory of Generations) ในผลงาน “The Problem of Generations” ที่ตีพิมพ์ในปี 1928

 

 

ช่องว่างระหว่างวัย — ความแตกต่างที่เกิดจาก “ขอบเขตของอายุ” (age boundaries)

 

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คนที่เกิดในยุคเดียวกันมักมีมุมมองและให้ความสำคัญต่อสิ่งต่าง ๆ ในทิศทางคล้ายคลึงกัน การเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีข้อสังเกตว่า:

  • คนแต่ละยุคได้ซึมซับและสะสมประสบการณ์เฉพาะของยุคสมัยของตนเอง
  • คนแต่ละยุคมีลักษณะร่วมและความคล้ายคลึงกันกับคนในยุคเดียวกันมากกว่าที่จะเหมือนกับคนในรุ่นพ่อแม่

 

 

ถอดรหัสลักษณะเฉพาะของคนแต่ละยุคในสังคมปัจจุบัน

 

 

 

กลุ่มคนตามช่วงอายุ

  • ยุคปู่ย่าตายาย หรือ Silent Generation คนที่เกิดปี พ.ศ. 2468 – 2485 อายุ 80 ปี ขึ้นไป
  • ยุคลุง ป้า พ่อและแม่ หรือ Baby Boomers คนที่เกิดปี พ.ศ 2489 – 2507 อายุ 58-76 ปี
  • ยุค พ่อและแม่ น้า อา Generation X คนที่เกิดปี พ.ศ. 2508 – 2522 อายุ 43-57 ปี
  • ยุค น้า อา พี่ น้อง Generation Y คนที่เกิดปี พ.ศ. 2523 – 2540 อายุ 25-42 ปี
  • ยุค พี่ น้อง Generation Z คนที่เกิดปี พ.ศ 2539 ปี อายุต่ำกว่า 25 ปี
  • ยุค หลาน เหลน Generation Alpha คนที่เกิดปี พ.ศ. 2553 ปี อายุต่ำกว่า 12 ปี

 

ลักษณะเฉพาะของกลุ่มคนแต่ละยุค โดยแบ่งตามคุณลักษณะเด่น และการใช้เทคโนโลยี อาจแบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

 

 

 

 

ช่องว่างระหว่างวัย มีแนวโน้มเป็นภัยเงียบ อาจก่อให้เกิดปัญหา เมื่อคนเรา…

 

  1. ขาดความเข้าใจธรรมชาติของแต่ละวัย ทำให้เกิดการคาดหวังที่เกินจริง
    • เมื่อคนต่างวัยให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน จึงเกิดความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับพฤติกรรมและความเชื่อที่แต่ละวัย “ควรจะมี”
    • คนรุ่นสร้างเนื้อสร้างตัวหลังสงคราม (รุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย) มองว่าควรทำงานที่เดียวตลอดชีวิตและมีความภักดี ในขณะที่คนยุคใหม่หรือเจนวาย (Gen Y) มองหาความท้าทายและโอกาสจากหลากหลายองค์กร ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง
  2. ให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ทำให้คนมองต่างกันได้ง่ายขึ้น
  3. ใช้ชีวิตที่เร่งรีบ มีธุระเยอะ ไม่มีเวลาให้กันเท่าที่ควร
  4. อยู่ในครอบครัว สถานที่ทำงาน ชุมชน ที่มีความหลากหลายของคนต่างรุ่นวัย (คนมักเข้าใจคนรุ่นใกล้ตัวและเห็นต่างกับคนรุ่นที่ห่างจากตน)

 

 

ปัญหาคือ พอคุยกันไม่ได้ เลยไม่เข้าหากัน หนีหน้ากันเพียงเพราะไม่อยากมีปัญหา ไม่อยากโต้เถียงกัน ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน ช่องว่างยิ่งห่างขึ้น

 

 

 


 

 

อ่านต่อตอนที่ 2/2

 

 


 

 

บทความโดย

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์
ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยา
ประธานแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์
และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การประชุมรับฟังความเห็นเพื่อการจัดทำคู่มือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม สำหรับผู้ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2567 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration; IOM) ในการจัดการประชุมรับฟังความเห็นเพื่อการจัดทำคู่มือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม สำหรับผู้ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ณ Psyche Space ชั้น 3 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การประชุมนี้เป็นการนำเสนอเนื่อหาของคู่มือการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคม สำหรับผู้ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัย เรื่อง “Mapping of Available MHPSS services for Vulnerable Migrants in Thailand and Development of a Handbook for Shelter Staff in Designing and Delivering MHPSS Support for Victims of Trafficking during the NRM Reflection Period” โดยคู่มือดังกล่าวมีเนื้อหาประกอบด้วยหลักการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมแก่บุคคลเปราะบางในกระบวนการค้ามนุษย์ ตลอดจนการดูแลจัดการบาดแผลทางจิตใจแบบทุติยภูมิและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลตนเองของผู้ปฏิบัติงาน พร้อมนำเสนอตัวอย่างการนำทฤษฎีไปใช้ในทางปฏิบัติ

 

การประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณซัสเกีย ก๊อก หัวหน้าฝ่ายคุ้มครอง องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน มาเป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ตัวแทนจากสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตัวแทนจากบ้านพักเด็กและครอบครัว และตัวแทนจากองค์กรที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมในบริบทต่าง ๆ มาร่วมรับฟังเนื้อหาและแสดงความเห็นเพื่อใช้ในการพัฒนาคู่มือให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และผู้ปฏิบัติงานต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

อัลบั้มภาพ