หน่วยวิจัยทางจิตวิทยาด้านภัยพิบัติและสุขภาวะ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งมั่นจะเป็นหน่วยวิจัยทางด้านจิตวิทยาที่บูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ทางจิตวิทยา อาทิ จิตวิทยาสังคมและพฤติกรรม จิตวิทยาพัฒนาการของช่วงวัยต่าง ๆ โดยเฉพาะวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย รวมทั้งสถิติขั้นสูงในการวิจัย เพื่อสร้างงานวิจัยที่อธิบายปรากฎการณ์เชิงลึก (insight) ของพฤติกรรมมนุษย์ในช่วงภัยพิบัติ นำไปสู่การสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบต่อสังคม เสนอแนวทางเพื่อป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาวะของบุคคลทุกกลุ่มและทุกช่วงวัยให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตของชีวิตอันเนื่องมาจากภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ
ผลงานของนักวิจัยและนักวิจัยที่ปรึกษาของหน่วยวิจัยนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการสร้างผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง และมีการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยกับหลากหลายประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ (ร่วมกับ Prof. Robin Goodwin จาก Warwick University ผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคม และสุขภาวะของชาวไทยในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19) ประเทศสหรัฐอเมริกา (รศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ ร่วมกับ Prof. Nancy Fielder, Rutgers University) ผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาวะของเด็กและแม่ที่สัมผัสจับต้องยาฆ่าแมลง ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ร่วมกับนักวิจัยจากประเทศโปรตุเกสในการศึกษาเรื่องจิตวิทยากับความกลัว (รศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ ร่วมกับ Dr. Carlos M. Coelhe, University of Azore) นอกจากนี้ผู้ร่วมวิจัยในหน่วยยังมีความร่วมมือด้านการวิจัยกับสมาคมสร้างเสริมสุขภาพแห่งประเทศไทย (สสส.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
เป้าหมายของหน่วยวิจัย
(1) สร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงในวงการวิชาการในด้านพฤติกรรมศาสตร์ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ
(2) ขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์และการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งในประเทศและเครือข่ายระดับนานาชาติ
For Research Collaboration, Please email: Juthatip.W@chula.ac.th