ปริญญาบัณฑิต

ภาพรวมหลักสูตร ∙ ปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา ∙ หลักสูตรภาษาไทย

อธิบายหลักสูตร

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาเป็นหลักสูตรแบบเอกเดี่ยว ใช้เวลาศึกษา 4 ปี รวม 135 หน่วยกิต หลักสูตรมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างบัณฑิตที่มีความรอบรู้ทางจิตวิทยา มีความคิดในการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และค้นหาคำตอบอย่างเป็นวิทยศาสตร์ สามารถประยุกต์ความรู้จิตวิทยาเข้ากับความรู้อื่น ๆ และชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีทักษะทางจิตวิทยาในการทำงานและใช้ชีวิต 

 

ในช่วงปี 1-2 นิสิตจะได้เรียนรู้รายวิชาพื้นฐานทางจิตวิทยา รายวิชาการศึกษาทั่วไป และรายวิชาด้านระเบียบวิธีวิจัยและสถิติ เพื่อให้รู้พื้นฐานจิตวิทยาในแนวกว้าง และมีทักษะการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล


ในช่วงปี 3-4 นิสิตจะได้จัดแผนการเรียนเพื่อพัฒนาความรู้ในศาสตร์จิตวิทยาที่สนใจอย่างผสมผสาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันของผู้เรียนแต่ละคน ด้วยเหตุนี้หลักสูตรจึงไม่ได้มีการแบ่งวิชาเอกเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ แต่ให้นิสิตได้เรียนรู้การศึกษาพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์จากหลากหลายแนวคิดและแง่มุม


ช่วงระหว่างปี 3 และ 4 ยังเป็นช่วงเวลาที่นิสิตจะต้องออกไปฝึกงานในหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้และประยุกต์จิตวิทยาเข้ากับการทำงานจริง

 

นอกจากนี้ในปี 4 นิสิตจะได้บูรณาการความรู้ทั้งหมดผ่านการทำโครงงานทางจิตวิทยา ซึ่งอาจเป็นโครงการวิจัยหรืองานสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาโดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  รวมทั้งนำเสนอผลงานวิจัยของตนต่อสาธารณะก่อนจบการศึกษา

ชีวิตนิสิต

ชีวิตในมหาวิทยาลัยมีมากกว่าแค่ในห้องเรียน นอกเหนือจากการเรียนรายวิชาตามหลักสูตรแล้ว นิสิตยังมีโอกาสเรียนรู้จากวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญผ่านกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ของทางคณะจิตวิทยาและมหาวิทยาลัย 

 

ในด้านกิจกรรม นิสิตสามารถเข้าร่วมกิจกรรมของทางคณะกรรมการนิสิต คณะจิตวิทยา (กนจว.) ชมรมทั้งในและนอกคณะ หรือ สภานิสิตและองค์กรบริหารนิสิตจุฬาฯ (อบจ.)

 

นอกจากนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพและประกันสุขภาพให้แก่นิสิต อาทิ ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ หน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต และสำหรับนิสิตคณะจิตวิทยา สามารถขอรับบริการที่ศูนย์สุขภาวะทางจิตของคณะจิตวิทยาได้อีกด้วย

อาชีพในอนาคต

หลักสูตรมุ่งหมายที่จะพัฒนาบัณฑิตให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพจึงได้ออกแบบหลักสูตรให้รองรับต่อเส้นทางอาชีพที่หลากหลายของผู้เรียน

 

บัณฑิตที่มีสนใจในวิชาชีพจิตวิทยาสามารถประกอบอาชีพเป็นนักจิตวิทยาในสาขาที่ไม่ต้องใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ อาทิเช่น นักจิตวิทยาในศูนย์พัฒนาการเด็ก ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์  นักวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค ในขณะเดียวกันหลักสูตรก็มีรายวิชาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับการศึกษาต่อขั้นบัณฑิตศึกษาในวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น จิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาคลินิก เป็นต้น

 

สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาจิตวิทยาในขั้นสูงต่อไป หลักสูตรได้เตรียมความพร้อมด้านวิชาการและการวิจัยผ่านกระบวนการคิด แสวงหาความรู้ และทดสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงความรู้ในสาขาวิชาระดับแนวหน้า เพื่อส่งเสริมให้บัณฑิตพร้อมต่อการศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ

 

ในขณะเดียวกันหลักสูตรได้ตระหนักถึงความสนใจและเส้นทางอาชีพที่หลากหลาย บัณฑิตที่ไม่ได้ประกอบอาชีพในสายงานด้านจิตวิทยา สามารถนำความรู้ที่ได้รับเกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจมนุษย์ไปปรับใช้กับงานของตนเองได้ อีกทั้งหลักสูตรยังเตรียมพร้อมให้นิสิตทำงานเป็นทีม และรู้จักจัดการกับความแตกต่าง บัณฑิตของคณะจิตวิทยาจึงนำความรู้ออกไปประกอบกับความรู้ในวิชาชีพได้หลากหลาย อาทิ เจ้าของกิจการ นักการตลาด นักวิเคราะห์การลงทุน นักวิเคราะห์ข้อมูล ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ฯลฯ

ติดต่อสอบถาม

Email: psy.undergrad@chula.ac.th